fbpx

ความยินดีที่หายไป

เรื่อง : อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์

Lost of ‘Joy’

ในช่วงชีวิตคนเรามักมีสิ่งหนึ่งที่เราอยากให้อยู่กับเราเสมอ นั่นคือ ‘ความยินดี’ ใครบ้างอยากที่จะปฏิเสธความยินดีออกไปจากชีวิตคงไม่มี แต่ก็คงไม่บ่อยที่เหตุการณ์ในชีวิตจะพัดพา ‘ความยินดี’ มาหาเรา

ผมเองครุ่นคิดกับคำคำนี้อยู่มากในตลอดปีที่ผ่านมา เพราะเรื่องราวในชีวิตประกอบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้ผมทบทวนตนเองถึงความรู้สึกและความยินดีในใจเรา จนมาวันหนึ่งผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่งจากมิตรสหายแดนไกลที่เขียนหน้าปกไว้ว่า ‘Joy’

The book of Joy

ผมจำได้ว่าตลอดเดือนมิถุนายน เป็นช่วงที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้วนไปมาหลายครั้ง ด้วยความที่หนังสือมีการเขียนและถ่ายทอดผ่านประสบการณ์และบทสนทนาระหว่างองค์ดาไลลามะและอารค์บิชอปตูตู ซึ่งเป็นสหายสนิทที่ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตกันตลอดช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เขาพบกัน

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสามส่วน แน่นอนผมคงไม่ได้ตั้งใจจะรีวิวหนังสือเล่มนี้ แต่คงอดไม่ได้ที่จะเล่าบางส่วนบางตอนที่สัมผัสกับผมและทำให้ช่วงเวลาในชีวิตนั้นมีความหมาย ซึ่งความหมายนี้เองที่ผมอยากจะแบ่งปัน เพราะ ‘ความยินดี’  คือธรรมชาติของชีวิตเราแต่ละคน

หนังสือเล่มนี้นั้น เริ่มต้นด้วยการเดินทางของเพื่อนรักสองคนคือองค์ดาไลลามะและอาร์คบิชอปตูตูที่ไม่ได้พบกันมานานหลายปี และกำลังจะมาพบกันในงานฉลองวันเกิดขององค์ดาไลลามะ โดยเรื่องราวนั้นได้ถูกบันทึกไว้โดย โดกราซ อับรามส์ ซึ่งได้รวบรวมและเขียนเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้น

พวกเราคือสิ่งสร้างอันเปราะบาง

ระหว่างที่อาร์คบิชอปและอับรามส์นั่งเครื่องบินไปยัง Dharamsala เพื่อไปเยือนองค์อาไลลามะ อาร์คบิชอปตูตูบอกว่า “พวกเราคือสิ่งสร้างอันเปราะบาง แต่จากความเปราะบางนี้เอง ที่ทำให้เราค้นพบความเป็นไปของความยินดีที่แท้จริง”

อาร์คบิชอปได้พูดต่อว่า “ชีวิตแฝงไปด้วยความท้าทายและอุปสรรค และความกลัวนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนกับความเจ็บปวดและการสูญเสียชีวิต ซึ่งการค้นพบความยินดีที่มากขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้เราหลีกหนีจากความทุกข์ยากและความเศร้าได้ ในทางตรงกันข้าม เราอาจร้องไห้ง่ายขึ้นแต่เราก็จะหัวเราะได้ง่ายขึ้นเช่นกัน มันเปรียบเสมือนว่าเรามีชีวิตมากขึ้น ซึ่งในขณะที่เราค้นพบความยินดีที่มากขึ้น มันทำให้เสามารถเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดในแบบที่สวยงามมากกว่าในแบบที่ขมขื่น เราจะเผชิญกับความทุกข์ยากในแบบที่ไม่ยาก เราจะอกหักแต่ใจเราจะไม่แตกสลาย”

คำพูดข้างต้นนี้สำหรับผมแล้วมันไม่ง่ายเลยที่เราจะจินตนาการคำพูดเหล่านี้ เพราะล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับความรู้สึกของเราเองที่มีต่อสังคมและคนรอบข้าง ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ชีวิตไม่ใช่สิ่งง่ายดาย แต่การเข้าใจแก่นแท้ของชีวิตนั้นคือสิ่งสำคัญ

อับรามส์เล่าว่าองค์ดาไลลามะเคยพูดไว้ว่า “คำถามที่สำคัญที่ขีดเส้นใต้การมีอยู่ของชีวิตคือ อะไรคือจุดประสงค์ของชีวิต? ซึ่งสิ่งนี้เอง ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราเป็นชาวพุทธ ชาวคริสต์ หรือศาสนาใด ๆ หรือไม่มีศาสนา แต่ในขณะที่เราเกิดมา ทุกชีวิตต้องการที่จะค้นพบความสุขและหลีกเลี่ยงกับการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด แต่ไม่มีข้อโต้แย้งใดเลยในวัฒนธรรม การศึกษาหรือศาสนาที่ส่งผลถึงเรื่องนี้ หากแต่ในก้นบึ้งของทุกชีวิต เราล้วนปรารถนาถึงความยินดีและความพึงพอใจ ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง ความรู้สึกเหล่านี้มักจะผ่านไปอย่างรวดเร็วและยากที่จะคว้าไว้ เหมือนกับผีเสื้อที่มาหยุดต่อหน้าเราและก็โผบินจากไป”

“จุดกำเนิดอันไม่มีที่สิ้นสุดของความสุขนั้น อยู่ภายในใจเรา ซึ่งไม่ใช่เงินทอง อำนาจหรือสถานะทางสังคม เพื่อนของฉันหลายคนเป็นมหาเศรษฐี แต่พวกเขากับไม่ความสุข สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าอำนาจและเงินทองล้มเหลวในการนำสันติสุขภายในมาสู่เรา” องค์ดาไลลามะ ได้ยกตัวอย่างสั้นๆ นี้ เพื่อบอกว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ทำลายความสุขและความยินดีภายในใจเราคือเราเองที่เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา

ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง มันมักจะมาจากความคิดแง่ลบภายในใจ ปฏิกิริยาทางอารมณ์ หรือแม้กระทั่งการไม่สามารถเข้าใจสภาพที่แท้จริงภายในตัวเราเอง บ่อยครั้งหลายเหตุการณ์ที่เผชิญในชีวิต ทำให้เราสร้างความเจ็บปวดภายในใจเราเอง แต่ด้วยเหตุนี้เอง เราเองก็สามารถสร้างความยินดีภายในใจได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งง่ายดายที่ขึ้นอยู่กับทัศนคติ มุมมอง และปฏิกิริยาที่เราตอบสนองต่อเหตุการณ์และความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น และเมื่อเรื่องราวเดินทางมาถึงความสุขภายในตัวเรา มีหนทางมากมายที่ตัวเราเองจะสร้างขึ้นมาได้

ธรรมชาติของความยินดี

ผมชอบตอนหนึ่งของหนังสือที่บอกไว้ว่า “Nothing Beautiful Comes Without Some Suffering” คงไม่มีความงดงามใดที่ได้มาโดยปราศจากความทุกข์ (ทรมาน)

อ่านคำนี้ดูแล้ว สำหรับผมมันช่างตรงกับช่วงเวลาในชีวิตเหลือเกิน บางครั้งเราอาจคิดว่า ทำไมเราถึงต้องเจอเรื่องยากลำบากในชีวิต ทำไมเราทำสิ่งนี้ไม่สำเร็จ อาร์คบิชอปตูตูได้บอกไว้ช่วงหนึ่งในหนังสือว่า ‘หากคุณอยากเป็นนักเขียนที่ดี สิ่งนี้มันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการดูหนังและนั่งกินขนมแสนอร่อย แต่ในทางตรงกันข้ามเราอาจต้องนั่งลงและลงมือเขียน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเรื่องที่น่าท้อแท้ แต่หากปราศจากวิธีนี้ เราจะไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีได้เลย’

หากลองนึกมองดูตัวเรา หรือสังคมรอบข้าง เราจะพบว่า ความจริงมันช่างแสนลำบาก การได้มาซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราคาดหวังดูไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่สิ่งสำคัญที่อาร์คบิชอปตูตูบอกไว้ในเรื่องนี้คือ “การยอมรับ” เช่น เมื่อความเจ็บปวดเข้ามาในชีวิตเรา เราไม่ควรรู้สึกผิดกับความเจ็บปวดนั้น แต่เราควรยอมรับว่านี่คือความเจ็บปวด และที่สำคัญในท่ามกลางความเจ็บปวด เรายังสามารถมองเห็นความอ่อนโยนของคนรอบข้างที่ดีต่อเรา ทั้งนางพยาบาล ที่คอยดูแลเรา คุณหมอที่กำลังจะผ่าตัดช่วยชีวิตเรา แต่ในบางครั้งความเจ็บปวดอาจเป็นเรื่องที่รุนแรงจนเราอาจไม่สามารถที่จะรับมือได้

เรื่องนี้เองอาร์คบิชอปตูตูได้เผชิญกับความเจ็บปวดโดยตรงกับมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก แต่ด้วยการยอมรับและที่สำคัญคือการเข้าใจความเจ็บปวด การร่วมทุกข์ไปกับเหตุการณ์นั้น และมองหาสิ่งดี ๆ ในเหตุการณ์นี้ทำให้อาร์คบิชอปตูตูผ่านพ้นมาได้ สิ่งที่สำคัญคืออาร์คบิชอปสัมผัสได้ว่า เขาไม่ใช่คนเดียวที่เจ็บปวด ซึ่งอาจมีคนอื่น ที่เผชิญความเจ็บปวดมากกว่า ดังนั้นการคิดถึงคนอื่นมากขึ้น ก็ทำให้เราสามารถยอมรับตัวเราเองและสิ่งที่เราเผชิญหน้าได้ดีมากขึ้นเช่นกัน

องค์ดาไลลามะ ได้เน้นย้ำความจริงที่ว่า “การคิดถึงแต่ตนเองคือที่มาของความเจ็บปวด แต่ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นคือแหล่งกำเนิดความสุข” 

อัมบรามส์เล่าต่อว่า จากงานวิจัยล่าสุดของนักจิตวิทยา Sonja Lyubomirsky ได้บอกว่า อาจเพียงแค่ 50% ของความสุขที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยที่ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นยีน อารมณ์ หรือจุดตั้งต้นของเรา แต่อีก 50% นั้นถูกกำหนดโดยสถาณการณ์ที่เราอาจควบคุมได้อย่างจำกัด ทัศนคติ และการกระทำของเรา

โดย Sonja ได้เสนอว่า มีปัจจัยสามประการที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของความสุข นั่นคือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อสถาณการณ์ในทางบวกมากขึ้น ความสามารถในการสัมผัสถึงความกรุณา และความสามารถที่จะเลือกเป็นคนอ่อนโยนและมีเมตตา ซึ่งเรื่องเหล่านี้เองสอดคล้องกับทัศนคติที่อาร์คบิชอปตูตูและองค์ดาไลลามะได้พูดในบทสนทนา ซึ่งมันจะกลายเป็นเสาหลักของความยินดีที่ผมจะเล่าถึงต่อไป

เคราะห์กรรมและความเจ็บปวด

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากของบทสนทนาระหว่างกูรูทั้งสองในหนังสือเล่มนี้คือ ประสบการณ์ที่ทั้งสองท่านแบ่งปันกัน และนั่นไม่ใช่เพียงประสบการณ์ทั่วไป แต่เป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและเคราะห์กรรม แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นสำหรับผมคือ ทำไมทั้งสองถึงเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยความยินดี

เราลองมาดูเรื่องราวขององค์ดาไลลามะกันบ้างนะครับ ตอนที่องค์ดาไลลามะอายุ 16 ปี เขาสูญเสียอิสรภาพโดยสิ้นเชิงจากการเข้าควบคุมของเจ้าหน้าที่จีน ตอนอายุ 24 ปี ขณะที่องค์ดาไลลามะหลบหนีไปยังประเทศอินเดียในปี ค.ศ. 1959 ท่านสูญเสียประเทศของท่าน ในทางหนึ่งมันทำให้ท่านเศร้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเศร้าใจในเรื่องที่วัฒนธรรมทิเบตจะหายสาปสูญไปหรือไม่ ท่านไม่สามารถรู้ได้ ซึ่งวัฒนธรรมทิเบตนี้เองอยู่มากว่าหนึ่งพันปี นอกจากนั้นบางแห่งที่ชาวทิเบตอาศัยอยู่มีอารยธรรมมายาวนานกว่าสามพันปี แต่ในวันนั้นสถาณการณ์ดูจะเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

ในช่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรม ในตอนนั้นเจ้าหน้าที่รัฐของจีนบางคนบอกว่าในอีก 50 ปี ภาษาทิเบตจะต้องถูกทำให้สาบสูญ พวกเขาเผาหนังสือ อาทิ หนังสือทางศาสนาของทิเบตกว่า 300 ชุด ที่แปลมาจากอินเดีย และหนังสือหลายพันชุดที่ถูกเขียนขึ้นโดยชาวทิเบตเอง องค์ดาไลลามะได้ยินว่า หนังสือเหล่านั้นใช้เวลาเผานานกว่าสองสัปดาห์ รูปปั้นและสถานที่ทางศาสนาถูกทำลาย ซึ่งสถานณการณ์นี้เป็นสถาณการณ์ที่ตรึงเครียดอย่างมาก

เมื่อองค์ดาไลลามะมาถึงอินเดียในปี ค.ศ. 1959 ท่านเป็นคนแปลกหน้าในสถานที่ใหม่ มีเพียงสิ่งเดียวที่คุ้นชินคือ ท้องฟ้า และแผ่นดิน แต่แล้วในประเทศอินเดีย ท่านก็ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลรวมถึงองค์กรต่างๆ ของนานาชาติและศาสนาคริสต์ ทำให้ท่านสามารถตั้งชุมชนชาวทิเบตขึ้นที่ซึ่งสามารถรักษาวัฒนธรรม ภาษา และองค์ความรู้ให้อยู่รอดได้

มันคือความยากลำบากอย่างมากที่สุด มีปัญหามากมาย แต่ในเวลาที่ท่านทำงานหนัก และเผชิญกับความยากลำบาก ซึ่งจากความยากลำบากเหล่านี้เองที่ทำให้ท่านเห็นผลลัพธ์ ซึ่งนั่นก็คือความยินดีอันยิ่งใหญ่ ซึ่งท่านมองว่า การที่ท่านต้องหลบหนีออกจากประเทศของตนเอง เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ ซึ่งท่านมักกล่าวว่า “เวลาเราเป็นผู้อพยพ เราเข้าใกล้ชีวิตมากขึ้น”

จินปะ ศิษย์ขององค์ดาไลลามะได้กล่าวว่า “ด้วยเหตุนี้เองเราจึงไม่มีพื้นที่ที่จะเสแสร้งจึงทำให้เราเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น”

เหตุการณ์ขององค์ดาไลลามะเองดูจะไม่ต่างจาก เนลสัน แมนเดลา ซึ่งขณะที่ถูกจองจำอยู่นั้น เขารู้สึกว่า เป็นธรรมดาที่จะสัมผัสความยากลำบากแสนเข็น แต่จากประสบการณ์นี้เอง หากเรามองในทางที่ถูกต้อง มันจะนำพาเราไปสู่ขุมพลังอันยิ่งใหญ่ในตัวเรา ซึ่งสิ่งนี้เองคือประโยชน์ที่สำคัญโดยเฉพาะเวลาที่เรากำลังก้าวข้ามความยากลำบาก

ในห้วงแห่งความยากลำบากนี้เอง ที่เมื่อเรามองในอีกมุมหนึ่ง มันจะนำพาเราทุกคนเห็นมุมมองจากห้วงลึกแห่งความทรมานและเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นผลลัพธ์แห่งความยินดีในตัวเรา

มาถึงตรงนี้ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครที่เราเห็นเป็นแบบอย่างของความสำเร็จหรือคนสำคัญคนไหนของโลกที่ไม่เคยเผชิญหน้ากับเคราะห์กรรมและความลำบาก หากแต่พวกเขาสามารถที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านั้น ด้วยมุมมองใหม่ ทั้งการยอมรับ การมองในทางบวก และความพยายามในการเปลี่ยนพลังงานลบให้เป็นหนทางที่นำพาพวกเขาไปสู่ความยินดีภายในใจและในที่สุดก็แบ่งปันสู่คนรอบข้างต่อไป

Lots of Joy

ในหนังสือเล่มนี้ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ เมื่อเราอ่านไปถึงบทสุดท้าย จะเป็นเรื่องราวของแก่นทั้ง 8 อย่าง ที่จะช่วยให้เราบรรลุถึงความยินดีได้ ซึ่งจะออกแนวปฏิบัติสักหน่อย แต่สำหรับผมซึ่งเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยไม่ชอบฝึกฝนอะไรสักเท่าไหร่ ผมจึงอยากแบ่งปันแนวความคิดย่อๆ ของบทสุดท้ายนี้ ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับเรื่องราวที่เล่าก่อนหน้า เพื่อว่า เมื่อเราเผชิญความยากลำบากในชีวิต เราจะได้รู้วิธีที่จะสร้างความยินดีให้กลับคืนมาในใจเราได้

Perspectives หลากหลายมุมมอง

หลายครั้งที่เราเผชิญปัญหาและความเจ็บปวด เรามัก มองมันจากมุมหนึ่ง ซึ่งแน่นอน ยิ่งมองลึกลงไป เราก็ยิ่งเห็นความเจ็บปวดมากขึ้น แต่การเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อโลก เราสามารถเปลี่ยนวิถีทางที่เรารู้สึก และการกระทำของเรา โดยในมุมมองอื่นนี้เองจะมอบโอกาสใหม่ให้กับเรา

องค์ดาไลลามะได้กล่าวไว้ว่า “เราควรมองทุกเหตุการณ์ที่เราเผชิญผ่านมุมต่าง ๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้าง ด้านบนและด้านล่าง อย่างน้อย 6 มุมมอง สิ่งนี้จะทำให้เราเห็นมุมมองของความจริงที่ครบและกว้างมากขึ้น และสิ่งนี้เองจะช่วยให้การตอบสนองของเราสร้างสรรค์มากขึ้น”

Humility ความนอบน้อม

“หลายต่อหลายคนดูเหมือนจะต่อสู้กับการกรุณาต่อตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเศร้า หากคนเราปราศจากความรักที่แท้จริงและความใจดีต่อตนเอง เราจะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปสู่คนอื่นได้อย่างไร” องค์ดาไลลามะกล่าวไว้

เราต้องเตือนคนอื่นว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือความดี การมองในแง่บวก ซึ่งจะช่วยสร้างความกล้าหาญและความมั่นใจในตัวเรา แต่ในทางตรงกันข้าม การยึดติดกับตนเองนำพาไปสู่ความกลัว ความไม่ปลอดภัย และความกังวล จงจำไว้ว่า เราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เราเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนบนโลกและเป็นความหวังของมนุษยชาติในยุคนี้ ด้วยวิธีนี้ เราจะค้นพบความกล้าหาญและจุดประสงค์ของชีวิต

Humor การมีอารมณ์ขัน

ใครหลายคนเมื่ออ่านคำนี้ อาจแปลว่า ตลก อารมณ์ขัน แต่ในความจริงแล้ว มันคือการที่เราสามารถยิ้มให้กับตัวเองได้และไม่ปล่อยให้ตัวเราเครียดจนเกิดนไป ความตลกขบขันนี้ ไม่ใช่การหัวเราะเยาะข่มเหงทำให้คนอื่นต่ำลงและยกตัวเราสูงขึ้น แต่มันคือการทำให้ผู้คนสามารถอยู่บนพื้นที่เดียวกันได้อย่างเสมอภาค อารมณ์ดีนี้เอง จะทำให้คนเราสามารถเข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกันและมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน

Acceptance การยอมรับ

การยอมรับนั้น เป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุด อาร์คบิชอปตูตูได้บอกว่าว่า “การมีชีวิตอยู่ในความยินดีไม่ได้หมายความว่าชีวิตนั้นจะง่ายดายหรือปราศจากความเจ็บปวด แต่มันหมายถึงการที่เราสามารถหันหน้าของเราเข้าหาลมกระโชก และยอมรับว่านี่คือพายุที่เราจะต้องผ่านไปให้ได้”

ซึ่งการยอมรับความเป็นปัจจุบันนี้เอง ไม่ได้มีอะไรน้อยหรือมากไปกว่าการยอมรับความอ่อนแอ ความไม่สะดวกสบาย และความกังวลในทุกๆ วันของชีวิตนั่นเอง ดังนั้นการยอมรับจึงเป็นแก่นแท้ของความคิดที่นำพาเราไปสู่แก่นแท้ของหัวใจ คือการให้อภัย ในเวลาที่เรายอมรับอดีต เราก็สามารถให้อภัยและปลดปล่อยความต้องการในอดีตลงได้

Forgiveness การให้อภัย

หนทางเดียวที่จะปลดปล่อยตัวเราให้หลุดพ้นจากอดีตได้ คือการให้อภัย มันเป็นยารักษาที่สำคัญ ปราศจากการให้อภัย เราเปรียบเสมือนถูกล่ามไว้กับคนที่ทำร้ายเรา แต่เมื่อไรที่เราให้อภัย คนคนนั้นเองจะนำพากุญแจสำคัญสู่ความสุขมาสู่เรา และเขาจะกลายเป็นผู้ปลดปล่อยเรา

Gratitude ความรู้สึกขอบคุณ

“คนเรามักไม่เคยเข้าใจคุณค่าของอิสรภาพจนกว่าจะถูกพรากจากไป

Anthony Ray Hinton ได้กล่าวภายหลังได้รับการปลดปล่อยจากการถูกจองจำนานกว่า 30 ปี ในข้อหาที่เขาไม่ได้แม้แต่ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง

ซึ่งเมื่อเขาได้รับการปล่อยตัว เขาบอกว่า เขาได้ให้อภัยกับทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เขาต้องติดคุก มีคนบางคนถามเขาว่า พวกนั้นพรากเวลากว่า 30 ปี ไปจากคุณ ทำไมคุณถึงไม่โกรธ?

Hinton ตอบสั้น ๆ เพียงแค่ว่า ถ้าเขาโกรธ และไม่ให้อภัย คนเหล่านั้นจะแย่งชีวิตที่เหลือของเขาไป อะไรก็ตามที่ชีวิตให้แก่เรา เราสามารถตอบสนองได้ด้วยความยินดี ซึ่งความยินดีนี้เอง คือความสุขที่ไม่ได้เกี่ยวกับว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น มันคือความรู้สึกขอบคุณสำหรับโอกาสที่ชีวิตได้มอบให้แก่เราให้ห้วงเวลานั้นเอง นอกจากนั้นเวลาที่เรารู้สึกขอบคุณ เราจะไม่กลัว และเมื่อเราปราศจากความกลัวเราจะไม่โหดร้าย ซึ่งการฝึกมองเรื่องราวดี ๆ ในชีวิต จะช่วยให้เราเข้าใจความหมายของชีวิต และมองโลกในแง่บวกมากขึ้น

Compassion ความเมตตา

ความเมตตาในตัวเองนั้นมีความใกล้ชิดอย่างมากกับการยอมรับในตนเอง แต่ความเมตตาเป็นมากกว่านั้น ซึ่งก็คือการยอมรับในความอ่อนแอของมนุษย์และการเข้าใจว่า เรานั้นก็อ่อนแอและมีข้อจำกัดเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้เองจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ความเมตตาต่อผู้อื่น มันเป็นการยากที่จะรักผู้อื่นเท่ากับที่เรารักตัวเองหากเราไม่รักตัวเองก่อน

ตลอดเวลาหลายวันของบทสนทนาระหว่างองค์ดาไลลามะและอาร์คบิชอปตูตูที่ได้เล่าผ่านหนังสือ มีสิ่งหนึ่งที่เป็นของคู่ขนานกับความสุข นั่นคือความยินดี ซึ่งพวกเราทุกคนจะมีความยินดีเมื่อเราจดจ่ออยู่กับผู้อื่นมากกว่าตัวเราเอง

การติดคุกของ Hinton ในช่วงแรกนั้น เขาปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและทำใจได้ยาก สี่ปีแรกของเขา เขาจดจ่ออยู่กับความทุกข์ของตนเอง จนมันพัฒนาไปทำให้เขาเป็นคนเก็บตัวและไม่พูดกับใคร

แต่แล้ววันหนึ่งในคุกนั้นเอง เขาก็ได้ยินเสียงร้องไห้ของนักโทษอีกคน ความรักและความเมตตาที่เขาได้รับจากแม่ของเขาพูดผ่านเขาทำให้เขาหันไปถามนักโทษคนนั้นว่า เกิดอะไรขึ้นกับคุณ นักโทษคนนั้นตอบว่า เค้าพึ่งรู้ว่าแม่ของเขาจากไปแล้ว Hinton จึงบอกเขาว่า ตอนนี้คุณมีบางคนอยู่บนสวรรค์ คนที่จะช่วยแก้ต่างความผิดของคุณต่อพระเจ้า และเขาก็เล่าเรื่องตลกให้นักโทษคนนั้นฟัง และเขาก็หัวเราะ

จากเหตุการณ์นั้นเอง ทำให้เสียงของเขาและความรื่นเริงของเขากลับมาก และทำให้ 26 ปีหลังจากนั้นในคุกเป็นการอยู่เพื่อคนอื่น ทุกๆ วัน เขาจะจดจ่ออยู่กับปัญหาของคนอื่น ๆ และบอกตนเองทุกวันก่อนจบวันว่า เขาจะไม่นึกถึงตนเอง Hinton ได้นำความรักและความเมตตาไปสู่สถานที่ที่ปราศจากความรัก และเขาเองก็ได้นำความยินดีไปยังสถานที่ที่ปราศจากความยินดีมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกนี้

Generosity ความกรุณา

ความกรุณานั้น เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่แท้จริงไปสู่ความยินดี เปรียบเสมือนข้อสรุปซึ่งอาร์คบิชอปตูตูได้ให้ความหมายไว้ว่า “ความกรุณาเปรียบเสมือนโอเอซีสแห่งสันติ บ่อน้ำแห่งความสงัดที่กระเพื่อมไปสู่ผู้คนรอบข้างเรา” ผ่านความกรุณานี้เอง ที่จะทำให้เราค้นพบวิถีทางไปสู่ความยินดีและความสุขในชีวิตของเรา

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลงผมเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้ใกล้ ๆ ตัว เพื่อบอกตัวเองว่า หนทางไปสู่ความยินดีที่แท้จริงนั้น มันคงไม่ง่าย แต่สิ่งที่ไม่ง่ายนี้เอง หากเราฝึกฝนอย่างจริงจัง มันจะอยู่ไปกับเราในชีวิตอีกนาน และเมื่อวันใดวันหนึ่ง ชีวิตของเราถูกพัดพาให้พบกับความเจ็บปวด เคราะห์กรรม และความผิดหวัง เราจะสามารถยิ้มให้กับมันได้

ประหนึ่งว่าเหตุการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นจะช่วยให้เราเข้าใจความหมายและสัมผัสถึงความยินดีที่อยู่ภายในใจของเราแต่ละคน…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ