fbpx

จาก ‘เสียง’ สู่ ‘สี’ และเส้นทางศิลปะกับดนตรีของ ป๊อด ธนชัย อุชชิน

สำหรับแฟนเพลงอายุขึ้นเลขสามเป็นต้นมา เชื่อเหลือเกินว่า คงไม่มีใครที่ไม่คุ้นเคยกับ ‘โมเดิร์นด็อก’ วงร็อคอัลเทอร์เนทีฟระดับตำนานแห่งแวดวงเพลงไทย ที่เต็มไปด้วยบทความที่น่าจดจำ และลีลาอันไม่ธรรมดาของ ธนชัย อุชชิน หรือ ‘ป๊อด โมเดิร์นด็อก’ ที่ใส่เต็มเหนี่ยวในทุกครั้งอย่างไม่มียั้ง มากด้วยพลังที่ส่งผ่านออกมา

กระนั้นแล้ว เวลาแห่งความสนุกระห่ำก็ได้ผ่านพ้นไป วันนี้ เราได้รับเกียรติจาก ‘พี่ป๊อด’ ที่สลัดคราบความเป็น ‘โมเดิร์นด็อก’ เป็นเพียง ธนชัย อุชชิน คนทำงานสร้างสรรค์ที่มีความหลงใหลในงานศิลปะจนเปิดโรงเรียนเวิร์คช็อปขนาดเล็ก ‘POD ART’ และใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น

ในวันที่พี่ป๊อดดูสุขุม ก่อนที่เวลาไม่นานเดือน จะผลักตัวเลขนำหน้าให้เขากลายเป็นคนหมายเลข 5 พี่ป๊อดมีแนวคิด ความเชื่อ หรือคำแนะนำกับการพิจารณาชีวิตแก่เราอย่างไร เราขอเชิญคุณผู้อ่านไปร่วมอ่านกันในหน้าบทความชิ้นนี้

-ปกติทำงานศิลปะมาตลอดก่อนจะอยู่ในแวดวงดนตรี แต่ช่วงที่ตัดสินใจกลับมาทำศิลปะจริงจังอีกทีคือตอนไหน?

เป็นช่วงที่ทำอัลบั้มชุด ‘ต๊อด-โป้ง-เมธี’ เสร็จแล้ว ผมก็เริ่มรู้สึกตันกับงานเขียนเพลงครับ คือเราทำงานเขียนเพลงมาหกอัลบั้มเข้าไปแล้ว ยังไม่มีไอเดียสำหรับเพลงใหม่สักที เราก็เลยไม่ฝืนดีกว่า กลับมาทำงานศิลปะสาย Abstract ที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ มีเส้นกับสี ไม่ต้องห่วงเรื่องการเล่าเรื่อง แค่ใส่ความรู้สึกลงไปในงานเท่านั้นเอง

-นอกเหนือจากแนว Abstract และ Collage แล้ว มีแนวทางศิลปะแบบอื่นที่พี่ป๊อดสนใจบ้างหรือไม่?

อีกแนวคือ Portrait ครับ ชอบมาก และคิดว่าจะพัฒนาในแนวนี้ขึ้นด้วย เอาเข้าจริงความสนใจของผมมันค่อนข้างกว้างมากๆ นี่ก็เริ่มเขียนด้วยสีน้ำมันและเขียนภาพ Landscape ไปด้วย ไม่ได้จำกัดว่าเราเขียน Abstract แล้วจะอยู่แค่จุดนั้นอย่างเดียว

-เป็นคนมีความสนใจที่กว้างขวางในด้านศิลปะ มีหลักในการเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาอย่างไรบ้าง?

ผมคิดแค่ว่า ผมอยากจะลองไปเรื่อยๆ คือมองว่าตัวเองยังเป็น ‘น้องใหม่’ สำหรับงานศิลปะ ก็ไม่อยากจะไปจำกัดว่าเราจะต้องแนวนี้เท่านั้น และก็ทำความเข้าใจกับตัวเองไปด้วย ผมอยากทำอะไรก็อยากทำน่ะครับ ส่วนตัวตอนนี้ก็มีโชว์เดี่ยวหลักๆ 4 ครั้ง ครั้งแรกปี 2013 ปี 2017 สองครั้ง และตอนต้นปี 2020 อีกครั้ง

-ในระหว่างการค้นหาตัวเองผ่านศิลปะ ได้ค้นพบอะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้าง?

(นิ่ง) ผมคิดว่าผมเริ่มมองออกถึงความลงตัวในชิ้นงานมากขึ้น เหมือนกับว่าเรามองออก เพราะศิลปะ ยิ่งทำยิ่งเข้าใจ ผมเลยสะสมความเข้าใจที่ว่าผ่านชั่วโมงบิน และผมคิดว่า ผมต้องทำต่อไป ทำไปเรื่อยๆ ไม่หยุด เพื่อความเข้าใจนั้นๆ

-เป้าหมายปลายทางที่ตั้งไว้เกี่ยวกับงานศิลปะและการเดินทางทำความเข้าใจตนเองครั้งนี้?

ผมอยากจะวาดและทำงานศิลปะไปจนแก่ชราเลย เพราะผมมีความเชื่อที่ค้นพบกับตัวเองว่า ยิ่งทำยิ่งเข้าใจ ผมก็อยากจะเข้าใจให้ไกลที่สุด เท่าที่จะทำได้ ไม่ได้ตั้งหลักไมล์ว่าถึงจุดนี้แล้วพอ ผมจะค้นหาต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งมันน่าสนใจนะครับ เพราะเราจะค้นพบตัวเองได้ในทุกๆ วันจากการทำงานศิลปะ ถ้าให้เปรียบคือ ผมคุยกับคนอื่นผ่านเพลง และผมคุยกับตัวเอง ผ่านงานภาพ มันคือโมเมนต์ที่ผมกำลังทำความเข้าใจกับตนเองครับ ซึ่งมันสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของตัวเราในแต่ละวันด้วยนะครับ พอเราอายุมากขึ้น ร่างกายก็เปลี่ยนไป อาหารบางชนิดก็แพ้ทานไม่ได้แล้ว ดังนั้น การทำงานศิลปะก็เหมือนการได้ทบทวนตัวเองในแต่ละวันไปในตัว

-แล้วที่เริ่มเขียนภาพ Portrait มีคนที่อยากจะให้มาเป็น ‘แบบ’ สำหรับการวาดไว้ในใจหรือไม่?

จริงๆ ผมเขียนไว้เยอะมากนะครับ เขียนภาพแม่ เขียนภาพคนจากอินเตอร์เนท (แล้วเคยคิดอยากเขียน ‘ตัวเอง’ หรือไม่?) น่าแปลกนะครับ ผมเป็นคนที่เขียนภาพตัวเองไม่เหมือน เริ่มต้นงานแรกที่ผมเขียนคือปี 2012 ผมตื่นเช้ามา ก็จับปากกาเขียนเลย ไปเที่ยวเสม็ดก็เขียนเพื่อนเขียนน้อง

-การเขียนงานแต่ละสไตล์มันเติมเต็มอะไรในตัวเราได้บ้าง?

ถ้าเป็นงานสาย Abstract ผมใช้คำว่า ‘บำบัด’ ครับ เพราะมันปราศจากความถูกหรือผิด ไม่ต้องห่วงเรื่องรูปทรงหรือกรอบมากีดกั้น

-ช่วงหลังที่พี่ป๊อดกลับมาทำเพลงวง Balloon Boy อันนี้เป็นผลพวงจากการที่ได้กลับมาทำงานศิลปะด้วยหรือไม่?

ใช่ครับ กลายเป็นว่า พอเราเริ่มทำงานศิลปะสักพัก ความรู้สึกที่ตันจากการเขียนเพลงมันคลี่คลาย มันทำให้ผมพบว่า ถ้าเราอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานๆ เราควรจะออกไปหาสิ่งอื่น ก้าวออกจากโลกเดิม มีโลกใบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานประจำที่ทำให้เราได้พักผ่อนสมองจากสิ่งที่เราทำเป็นกิจวัตร แล้วโดยไม่รู้ตัว ไอเดียบางอย่างมันจะวาบขึ้นมาโดยไม่ทันคิดเลยด้วยซ้ำ

-ที่มาที่ไปของชื่อวง Balloon Boy?

ชื่อวงนี้ เริ่มเรื่องจากว่า ผมไปเข้าคลาสโปรแกรมทำเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ แล้วผมก็หัดใช้ ซึ่งมันสามารถจบเพลงได้เลยในโปรแกรมเดียว ทีนี้ พอเราเริ่มใช้อยู่มือปั๊บ เพลงมันมานะ ความเป็นนักแต่งเพลงที่อยู่ในตัวเรามานานมันตื่นขึ้นมา เพียงแต่มันไม่ต้องมีเงื่อนไขว่าต้องแต่งเพลงให้กับวงโมเดิร์นด็อกอีกแล้ว คือมันมาแบบปัจจุบันทันด่วนมากๆ ตอนนั้นคุณครูกำลังสาธิตวิธีการใส่เสียงกลองในโปรแกรม ผมขอเบรคครูเลยว่า ครูหยุดก่อน มีไมโครโฟนมั้ยครับ ขออัดเพลงเลย เรียกว่ามันไหลออกมาไม่ขาดสาย ชนิดที่ไม่ได้เรียนกันเลย แต่งเพลงกันกับคุณครูที่สอน แล้วก็ลุกลามไปแต่งเพลงอื่นๆ (แล้วทำไมถึงใช้ชื่อ Balloon Boy?) ผมมองว่า Balloon Boy คือสัญลักษณ์แห่งความเป็นอิสระ ลอยตัว สบายใจ ล่องลอยครับ

-เกี่ยวกับ POD Art ที่เปิดในช่วง COVID-19 ระบาด อันนี้คือเปิดในแง่ไหนครับ

อ๋อ คือช่วงนั้นรับนักเรียนมาทำเวิร์คช็อปครับ แต่ถ้าพูดถึงตัวโรงเรียนและสถานที่แห่งนี้ ก็เปิดมาโดยตลอดครับ เป็นสถานที่ปลอดภัยของตัวเอง (แต่เปิดช่วง COVID-19 ก็ค่อนข้างเสี่ยงพอสมควร?) เปิดรับนักเรียนมาทำเวิร์คช็อปในช่วงที่เริ่มคลายสถานการณ์ไปบ้างแล้วครับ เลยไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไร

-เท่าที่พูดคุยกันมา ดูพี่ป๊อดเป็นคนที่ไม่หยุดการเรียนรู้เลย มีวิธีจัดระเบียบเวลาและชีวิตอย่างไร?

ด้วยความที่ผมเป็นคนที่สนใจในเรื่องการเรียนรู้สิ่งต่างๆ มาโดยตลอด ไม่หยุดนิ่ง ผมก็จะมีวิธีจัดชีวิตตัวเองให้ ‘สมดุล’ กับตัวเอง คือสังเกตให้ทุกอย่างสมดุล ของเก่าก็สนใจ แต่ของใหม่ก็ไม่ทิ้ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมไม่ได้ทำงานเป็นดีเจรายการ Keep it Mellow คลื่น 97.5 นั้น พอเล่นดนตรีเสร็จเข้าบ้าน ผมแทบไม่อยากจะฟังเพลงเลย ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจกันได้ ว่าเราอยู่กับเสียงและความดัง เราก็ต้องการความเงียบ แต่พอเรามารับหน้าที่ดีเจที่ Mellow เราก็ต้องทำการค้นคว้าละ ต้องหาอะไรใหม่ๆ มาเปิดในรายการ

-ถ้าเราจะมองว่า ความสนใจทุกอย่างของพี่ป๊อดไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่เสริมส่งซึ่งกันและกันได้หรือไม่?

ใช่ครับ มันเสริม จริงๆ มันเป็นกระบวนการที่เราแสวงหาทางไปต่อ ทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว เพียงแต่ไม่ได้จำกัดว่า ถ้าเป็นดนตรีต้องดนตรีเท่านั้น ผมมองว่าการใช้ชีวิตในทางอื่นก็สะท้อนกลับไปมาได้นะ ยิ่งพอมองย้อนกลับไปตอนที่เราเป็นนักเรียนศิลปะ ก็เหมือนจะเห็นภาพชัด ว่าถ้าเราถูกบีบให้อยู่กับอะไรมากๆ เราจะพยายามหาทางออกไปให้ได้ ตอนนั้นอาจารย์ถึงกับเอ่ยปากว่า ธนชัย เธอควรย้ายไปภาคดนตรี เพราะเธอไม่จับพู่กัน ไม่ทำการบ้าน เอาแต่ร้องเพลงใต้ตึก แต่พอเราเป็นนักดนตรี อาการเดิมก็กลับมาอีก ทำยังไงก็ได้ให้เราออกไปจากตรงนี้ (หัวเราะ)

-คิดว่าตัวเองเป็นคนขี้เบื่อรึเปล่า?

มากกก (หัวเราะ) เป็นคนขี้เบื่อมากครับ วันนี้วาดสไตล์คมๆ อยู่ดีๆ อีกวันเราอยากจะวาดกระจายไม่สนใจอะไร แทบจะเรียกว่าเปลี่ยนทุกวัน มันถึงขั้นที่เราเคยไปถามภัณฑารักษ์เลยว่า จำเป็นหรือเปล่าที่เราต้องคงเอกลักษณ์และสไตล์ความเป็นตัวเองเอาไว้ เขาก็บอกว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร ยุคนี้มันเปิดกว้างแล้ว ไม่ได้ว่าต้องจำกัดอยู่แต่แบบใดแบบหนึ่ง

-แล้วงานศิลปะหรือดนตรีแบบไหน ที่บ่งบอกความเป็น ‘ป๊อด ธนชัย อุชชิน’

(นิ่ง) ผมคิดว่ามันยากที่จะออกมาเป็นคำอธิบาย แต่น่าจะเป็นเรื่องของความรู้สึกที่จับได้ ไม่ว่าจะเสียงที่เป็นป็อด หรือมู้ด แต่อย่างหลังมันก็พูดยากนะครับ เพราะผมก็ร้องเพลงอยุ่หลากหลายรูปแบบ ทั้งเพลงช้าๆ เพลงเงียบๆ เพลงโหวกเหวกกระโดดโลดเต้น

-แล้วที่ได้เปิดเวิร์คช็อปศิลปะเพื่อทำความเข้าใจตนเอง และสอนคนเอง พี่ป๊อดได้อะไรจากการผันตัวเองมาเป็น Mentor?

การที่ผมได้สอนศิลปะ ผมหวังอย่างหนึ่งมากๆ คือการเปิดทัศนคติของผู้เรียน ผมไม่ได้คาดหวังว่าใครจะต้องเป็นศิลปินเอก เก่งล้ำเลิศ เชี่ยวชาญชำนาญ ผมแค่อยากให้เขารู้สึกว่า ทุกคนเข้าถึงศิลปะได้นะ ศิลปะเป็นของทุกคน เป็นเรื่องราวของแต่ละคน ไม่มองห่างอย่างกลัวๆ ไม่ถูกยึดติดกับความรู้สึกที่ถูกปลูกฝังผ่านระบบการเรียนการสอนปกติที่ว่า ศิลปะเป็นของสูง ต้องปีนบันไดดู และเวลาที่เห็นทุกคนเรียนเสร็จออกจากคลาสด้วยความรู้สึกสนุก มีความสุข ผมถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากเลยนะครับ

-โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว พี่ป๊อดปรับตัวกับ ‘ความเร็ว’ ที่เพิ่มขึ้นและเข้ามากระทบอย่างไร

ผมคิดว่าผมคงความเป็น ‘นักสำรวจ’ อยู่เสมอนะครับ เป็นคนสังเกตทั้งโลกภายนอก พวกแอพฯ อย่าง TikTok หรือ Instagram เราก็ใช้นะ แต่ในทางหนึ่ง เราก็พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น (มีคนบอกว่า เด็กรุ่นถัดไปจะเชื่อฟังพ่อแม่น้อยลง แต่ใช้การพูดคุยมากขึ้น?) จริงเหรอครับ? แต่เอาเข้าจริงๆ ผมว่าผมก็เป็นนะ คือส่วนตัว ผมก็เชื่อฟังระดับหนึ่ง แต่ก็มีมุมที่เราเองก็ไม่ได้ทำตาม ก็หนักหน่วงใช้ได้อยู่นะตอนเด็กๆ (หัวเราะ)

-ได้ยินว่าสมัยก่อนพี่ป๊อดเป็นเด็กเรียนดี?

ก็พอสมควรนะครับ (หัวเราะ) แต่มันเริ่มมาไม่ดี ตอนที่เราดันได้เข้าไปอยู่ในห้องที่เก่งที่สุด เราเป็นเด็กเรียนดีที่ขี้เกียจ เราก็จะมาทำการบ้านตอนเช้า ทีนี้ ไอ้เราก็กำลังทำอยู่ เพื่อนก็ยกสมุดการบ้านเตรียมเอาไปให้ครู เราก็บอกรอก่อนยังไม่เสร็จ ก็ไม่สนใจ ยกไปหน้าตาเฉย ผมก็เลยคิดว่า จะเอาแบบนั้นก็ได้ เรียนเก่งแล้วทำตัวแบบนี้ใช่มั้ย หลังจากนั้น มือไม่เคยห่างจากกีตาร์ แล้วการเรียนก็ร่วงตามลงมา เพราะมันไม่ใช่เป้าหมายหลักของเราอีกต่อไปแล้ว สุดโต่งไปเลย

-ครอบครัวมีอิทธิพลกับการหาสมดุลชีวิตมากน้อยแค่ไหน?

ครอบครัวมีอิทธิพลกับชีวิตผมในแง่ที่พวกท่านไม่ค่อย ‘เข้ามายุ่ง’ กับชีวิตของผมมากนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเขาไม่ได้เรียนสูงนัก ก็เลยให้อิสระในการจัดการตัวเอง บวกกับที่เราเรียนเก่งมาแต่เดิม ท่านก็เลยไม่ได้มาอะไรกับผมมากนัก

-หลักสำคัญในการใช้ชีวิตในปัจจุบัน

สติครับ ผมพยายามจะมีสติ ฝึกการมีสติในการใช้ชีวิต อันนี้คือหลักใหญ่เลยครับ

-อยู่กับตัวตน ‘ป๊อด โมเดิร์นด็อก’ มาหลายสิบปี ก่อนหันกลับมาสนใจสิ่งอื่นๆ คิดว่าพี่ป๊อด ‘ล้างภาพ’ เดิมของตัวเองทิ้งไปได้หรือไม่?

(ยิ้ม) จริงๆ ทุกอย่างที่เราทำนั้น จะทิ้งตัวตนในประวัติศาสตร์และความทรงจำของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรา แต่โดยส่วนตัวผมกลับคิดว่าเราไม่ควรมีสิ่งเหล่านั้นนะ ไม่ยึดติดกับมัน คือมันเป็นกระบวนการคิดที่เกิดจากภายในของเรา คนอื่นจะจดจำผมแบบไหน อันนั้นแล้วแต่เลย แต่สำหรับตัวเราเอง ต้องไม่ยึดติดกับมัน นี่ต่างหากที่สำคัญ ซึ่งไอ้การที่เราไปยึดติด ว่าเราจะต้องทำท่าแบบนั้น ต้องแสดงออกแบบนี้ มันจะทำให้ชีวิตคุณเหนื่อยมากๆ

-แล้วพี่ป๊อดอยากให้คน ‘จดจำ’ พี่ป๊อดในแบบไหน?

(นิ่ง) คำถามนี้ยากแฮะ สารภาพกันตรงๆ ว่ายังไม่ได้คิด แต่ถ้าเอาเบื้องต้นคร่าวๆ ก็อาจจะเป็น ‘คนทำงานสร้างสรรค์’ น่ะครับ เอาแบบนี้ดีกว่า

-แนวคิดของพี่ป๊อดค่อนข้างจะมีความเป็น ‘เซน’ อยู่สูงมาก เช่นนั้นแล้ว ความ ‘สุขสงบ’ ของพี่ป๊อด เป็นไปในรูปแบบใด?

ความสุขสงบโดยส่วนตัว คือการไม่สร้างสิ่งเดือดร้อน ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น ง่ายๆ แบบนั้นเลย (แล้วทุกวันนี้ทำได้ดีน่าพึงพอใจหรือไม่?) ถ้าถามว่าดีพอไหม ก็คือถ้ารู้ตัวว่าเริ่มจะเบียดเบียนทั้งตัวเองและคนอื่น และเริ่มถอยฉากออกมา และทำได้ดีขึ้นครับ

-หลังจากถอยออกมาทำงานศิลปะ มองย้อนกลับไปยังวงการเพลงของประเทศไทยในปัจจุบัน มีความคิดเห็นอย่างไร?

ผมเห็นการเปลี่ยนผ่านที่ว่องไวมากในยุค 5G คือเพลงจากเดิมเป็นความบันเทิงสายหลัก แต่ในปัจจุบัน มันเป็นแค่อีกสายหนึ่ง ที่มีความสำคัญเท่าๆ กับเรื่องอื่น เพราะทุกอย่างมันเร็ว เอ็มวีบางตัวก็อาจจะมีอายุขัยแค่เพียงนิ้วปัดสไลด์ให้ผ่านไป ไม่ต่างอะไรกับบทความ ที่พอวันพรุ่งนี้ ก็จะผ่านไป

-ด้วยประสบการณ์ที่มี เคยคิดอยากกระโจนไปสู่งานต่างประเทศบ้างหรือไม่?

จริงๆ ผมเคยไปทำที่ญี่ปุ่นมาทีนึงแล้วครับ แต่ถ้าถามว่าคิดจะกลับไปหรือไม่ ผมว่ายังไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้นนะครับ ล่าสุดก็คุยกับแสตมป์ อภิวัชร์ เขาก็ถามเราว่าพี่ พี่จะไปยังไงต่อ ทีนี้มันมีเรื่องตลกสมัยผมทำงานดนตรีใหม่ๆ ผมคุยกับพี่ป้อม อัสนี โชติกุล ว่าพี่ ทำไมพี่ไม่ทำเพลงฝรั่ง พี่เขาก็ตอบกลับมาว่า ‘ … เราแก่ไปแล้ว’ ใจผมแอบค้านตลอด แต่พอมา ณ ขณะนี้ ที่ผมอายุเท่าพี่ป้อม ผมก็ว่าผมแก่ไปแล้วเหมือนกัน (หัวเราะ)

ด้วยอายุที่อีกหนึ่งปีเข้าสู่วัยเลข 5 คิดว่าตัวเองมีความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการใช้ชีวิตอย่างไร?

ผมเริ่มมาคิดเร็วๆ ในหัว และค้นพบความจริงว่า เราไม่ใช่ ‘เด็ก’ แล้วนะ คือโดยส่วนตัวผมมักจะคิดว่าตัวเองเป็นเด็กอยู่ตลอด อาจจะเพราะผมเป็นน้องคนสุดท้อง อาจจะใช้ชีวิตแบบสุดเหวี่ยงในทางดนตรี (ด้วยอายุที่ใกล้เลข 5 คิดว่ายังมีพลังอยู่ในตัวหรือไม่?) ผมคิดว่าผมยังมีพลังล้นเหลืออยู่นะครับ แม้ว่าสุขภาพจะถดถอยลงไปบ้างตามเวลา

-คิดว่า ช่วงวัยไหนที่เราสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองชัดเจนที่สุด?

ในช่วงนี้นี่ล่ะครับที่เริ่มรู้สึก คือเราอยู่กับคุณแม่ เราก็ยังเป็นลูกคนเดิม ยอมให้คุณแม่จัดกระเป๋าให้เรา คือถ้าเป็นเรื่องครอบครัว มันไม่ค่อยมีกำแพงเรื่องอายุเท่าไรนะครับ เพราะคนอายุ 50 จะให้ใครมารื้อมาคุ้ยกระเป๋าจัดระเบียบ มันก็ไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่ว่าเป็นคุณแม่ของเรา แต่ในทางหนึ่ง เราก็เป็นผู้ใหญ่แล้วนะ เวลาไปคุยอะไรกับใคร เราคือ ‘ผู้ใหญ่’ คนหนึ่ง แต่ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ผมสังเกตอยู่โดยตลอดครับ

-แล้วชีวิตใน วันนี้ได้บอกอะไรกับพี่ป๊อดบ้าง?

ผมคิดว่า ผมสนใจ ‘การเรียนรู้ชีวิต’ ที่นอกเหนือจากการไปให้ถึงผลลัพธ์ของการทำงานนะครับ ผมสนใจการเข้าใจจิตใจตัวเอง และกิจกรรมต่างๆ ก็มีไว้เพื่อไปให้ถึงการเข้าใจนั้นๆ แม้แต่การแต่งเพลง มันก็คือการสะท้อนความเข้าใจชีวิต ที่บอกผ่านดนตรี

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ