‘ศักยภาพ และความท้าทายแห่งการยกเครื่องประเทศไทย 4.0’
เรื่อง: อรุณศรี วิชชาวุธ
รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ
การพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากวิสัยทัศน์ของประเทศไทย “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะใช้โมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0
ดังนั้น ระบบราชการจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสอดรับกับบริบทที่จะเกิดขึ้นโดยมุ่งเป็น “ ระบบราชการ 4.0” โดยต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์ เพี่อสร้างนวัตกรรมภาครัฐ ในการยกระดับไปสู่ “ระบบราชการ 4.0” ที่มี
- การทำงานเปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน (Open & Connected Government)
- ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric Government)
- มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart & High Performance Government) โดยอาศัยปัจจัยหลักสำคัญคือ
- การสานพลังทุกภาคส่วน (Collaboration)
- การสร้างนวัตกรรม (Innovation) และ
- การปรับเข้าสู่การเป็นดิจิทัล (Digitization/Digitalization)
ทั้งนี้จากเป้าหมายของการมุ่งพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 โดยเฉพาะในด้าน การมุ่งพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart & High Performance Government) ก่อให้้เกิด ความท้าทายในการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐ ในด้านการมุ่งเน้นบุคลากร (PMQA 4.0 : หมวด 5 ) ที่ได้กำหนด เป้าหมายที่มุ่งเน้นให้ส่วนราชการมีนโยบายและระบบการบริหารจัดการด้านบุคลากรที่มีประสิทธิภาพตอบสนอง ยุทธศาสตร์ และสร้างแรงจูงใจ มีความคล่องตัวและมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ มีการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดี ก่อเกิดความ ร่วมมือ มีระบบการพัฒนาบุคลากร ให้ก้าวทันเทคโนโลยี มีทักษะในการแก้ไขปัญหามีความรอบรู้และมีจริยธรรม เพื่อ รองรับการเปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่และลักษณะงาน มีความคิดริเริ่มที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการสาธารณะ เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีสมรรถนะสูงโดยเน้นการบริการที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ประเด็นความท้าทายในการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐในบริบทการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 ได้แก่
(1) ความท้าทายด้านการการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดี มีประสิทธิภาพ และความร่วมมือ ด้วยความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมในการทำงานที่เป็นมืออาชีพ และเปิดโอกาสในการสร้างความร่วมมือและความรับผิดชอบ เพื่อนำเสนอ ความคิดริเริ่มและสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร โดยมุ่งเน้นการค้นหาปัจจัยที่ทำให้บุคลากรมีความผูกพัน ทุ่มเท มีผลการปฏิบัติงานที่ดีและสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่นำไปสู่ผลลัพธ์ขององค์การ
(2) ความท้าทายด้านการปรับเปลี่ยนค่านิยมของบุคลากรที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen Centric) ด้วยความพยายามในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของบุคลากรเชิงรุกที่ตอบสนองความต้องการและเข้าใจความ คาดหวังของประชาชน (Proactive to Customer Needs) เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในการแก้ไขปัญหาที่กำลัง เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที และเกิดประสิทธิผล มุ่งการปรับเปลี่ยนความคิดในการให้บริการที่มีคุณภาพ เป็นที่พึงพอใจของผู้รับบริการไปสู่การให้บริการในเชิงรุกและการแก้ไขข้อร้องเรียนอย่างมีประสิทธิผล และมีพัฒนา กระบวนการในการแก้ไขข้อร้องเรียนอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก
(3) ความท้าทายด้านการยกระดับมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของบุคลากร ด้วยความพยายามในการสร้างความเป็นกลางและตรงไปตรงมาในการปฏิบัติงาน ทำงานอย่างเปิดเผย โปร่งใส เอื้อให้ บุคคลภายนอกและประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้รวมทั้ง มุ่งเน้นให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ในการกำกับติดตามและ สร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานรวมถึงการรายงานผลต่อสาธารณะ รวมถึง มีการประเมินประสิทธิผลและตัววัดการ ป้องกันทุจริตและการสร้างความโปร่งใสภายในส่วนราชการ และมีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ
(4) ความท้าทายด้านการวางนโยบายและระบบการจัดการด้านบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองยุทธศาสตร์ และสร้างแรงจูงใจ ด้วยความพยายามในการวางระบบการสรรหา ว่าจ้าง บรรจุและการจัดวางคนไปยังตำแหน่งงานที่ตรงกับความถนัดและความต้องการ มีการจัดการด้านบุคลากรรองรับความก้าวหน้าของบุคลากร การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านทักษะ หน้าที่และลักษณะงาน สามารถสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรที่มีความทุ่มเท และทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงตอบสนองยุทธศาสตร์ให้เป็นไปตามกฎหมายด้วยความเป็นธรรม มีความก้าวหน้าของบุคลากรทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งเน้นประโยชน์สุขแก่ประชาชน รวมทั้งพึงมีการนโยบายการจัดการดัานบริหารงานบุคคลที่สนับสนุนการทำงานที่มีความคล่องตัวเพื่อให้เกิดผลงานที่มีสมรรถนะสูง (High Performance)
(5) ความท้าทายด้านการบริหารจัดการระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ด้วยความพยายามการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อให้บุคลากรเกิดสมรรถนะสูงร่วมมือกับเครือข่ายภายนอก โดยครอบคลุม ในทุกมิติทั้งกระบวนงาน คน ระบบงาน และเทคโนโลยี และให้ทุกจุดสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ เชื่อมโยงกันหมด มุ่งให้เกิดการทำงานที่เป็นทีมที่มีสมรรถนะสูง มีความคล่องตัวและสามารถทำงานร่วม กับเครือข่าย ภายนอก เพื่อนำไปสู่แก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนอย่างมีประสิทธิผล
(6) ความท้าทายด้านการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ ก้าวทันเทคโนโลยี แก้ไขปัญหา สร้างความ รอบรู้และความมีจริยธรรม ด้วยความพยายามในการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มพูน สั่งสมทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อสมรรถนะหลักและการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ของส่วนราชการ รวมทั้ง วางระบบการพัฒนาบุคลากร และผู้นำให้มีทักษะสามารถปฏิบัติงานได้หลากหลาย มีความรอบรู้สามารถตัดสินใจและมีความคิดในเชิงวิกฤติ พร้อมรับ ปัญหาที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น (Fluid Intelligence/Complex problem solving) และรองรับทักษะ /ความต้องการ /ความเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต
(7) ความท้าทายในด้านการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในการสานพลังทุกภาคส่วนระหว่างภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ด้วยความพยายามในการยกระดับการทำงานให้สูงขึ้นไปกว่าการประสานงานกันไปสู่ความร่วมมือกัน (Collaboration) อย่างแท้จริง โดยปรับรูปแบบการทำงานให้คล่องตัวรองรับการประสานงานแนวระนาบและในลักษณะเครือข่าย เพื่อพัฒนา ประเทศหรือแก้ปัญหาความต้องการของประชาชนที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จนไม่มีภาคส่วนใดในสังคมจะสามารถ ดำเนินการได้ลุล่วงด้วยตนเองโดยลำพังอีกต่อไป หรือเป็นการบริหารกิจการบ้านเมืองในรูปแบบ “ประชารัฐ” มุ่งทำงาน ร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในทุกระดับได้
(8) ความท้าทายในด้านการกระต้นให้บุคลากรริเริ่ม สร้างนวัตกรรม (Innovation) ด้วยความพยายามในการคิดค้นและแสวงหาวิธีการหรือแนวทาง (Solutions) ใหม่ๆ อันจะเกิดผลกระทบมหาศาล (Big Impact) เพื่อปรับปรุงและออกแบบ กระบวนใหม่ การปรับปรุงการให้บริการสาธารณะและนโยบายสาธารณะให้สามารถตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศ หรือตอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ ด้วยการลดขั้นตอนการบริการให้รวดเร็ว ยิ่งขึ้นเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน รวมทั้ง มุ่งพัฒนานวัตกรรมสู่การให้บริการที่สามารถออกแบบตรงกับความต้องการของประชาชน (Personalized Services) หรือคิดร่วมกันเพื่อสร้างกลไกขึ้นมาใหม่ (Government Lab)
(9) ความท้าทายในด้านการยกระดับความสามารถของบุคลากรต่อการปรับตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัล (Digitalization) ด้วยความพยายามในการกำหนดแนวทางปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด (Mindset) ของบุคลากรให้ตนเองมีทักษะในการใช้ดิจิทัล(Digitalization) เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณค่าในการทำงาน รวมทั้ง มุ่งเน้นให้บุคลากรมี สมรรถนะที่จำเป็นและพร้อมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสู่การปรับตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัล (Digitalization) เพื่อสร้างคุณค่า (Public Value) และประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนที่เหนือความคาดหมายทำให้ประชาชนประทับใจ หรือสามารถติดตาม กระบวนการตั้งแต่ต้นจนถึงปลายได้รวดเร็ว ( Citizen Experience, End to End Process)
สำหรับการก้าวผ่านความท้าทายทั้ง ๙ ประการ ในการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐในบริบทการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 ที่หน่วยงานภาครัฐกำลังเผชิญอยู่ หากอาศัยเพียงความพยายามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะเป็นไปได้ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น จึงเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกภาคส่วนที่จะร่วมมือร่วมใจสานพลังเพื่อสร้างระบบราชการที่เป็นที่พึ่งของประชาชนที่เป็นที่เชื่อถือและไว้ใจได้อย่างยั่งยืนต่อไป