fbpx

ปลูกภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย ก้าวข้ามวิกฤติโควิด 19

ตั้งแต่ต้นปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้สร้างผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งไทย ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใดคำถามสำคัญคือ ทุกภาคส่วนจะก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างไร BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก คุณสินีนาท สวัสดิ์พูน พิธีกรและผู้ประกาศข่าวจากสถานี TNN ช่อง 16 และช่อง NEW18 และ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมพูดคุยถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด 19 และมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้

ตั้งแต่ต้นปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้สร้างผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งไทย ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใดคำถามสำคัญคือ ทุกภาคส่วนจะก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างไร BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก คุณสินีนาท สวัสดิ์พูน พิธีกรและผู้ประกาศข่าวจากสถานี TNN ช่อง 16 และช่อง NEW18 และ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมพูดคุยถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด 19 และมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ 

โควิด 19 กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

คุณสินีนาท : โควิด 19 สร้างความเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจและชีวิตของคนทั่วโลก ท่านผู้ว่าการมองว่า วิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร และอุตสาหกรรมใดบ้าง

ดร.วิรไท : การแพร่ระบาดครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และไม่แน่ใจว่าจะจบลงอย่างไร ผลกระทบเกิดขึ้นหลากหลาย กว้างไกล และกระทบกันเป็นลูกโซ่ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนไทยจำนวนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทางตรง คือ พนักงานสายการบิน ธุรกิจทัวร์ และโรงแรม ที่มีรายได้ลดลงหรือถูกเลิกจ้าง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ผู้ประกอบการที่ส่งอาหารให้โรงแรม หรือผู้ขายสินค้าในตลาด เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวหายไปมาก ความต้องการใช้สินค้าและบริการก็ลดลง สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ถ้ามองย้อนไปในปี 2562 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลงลดเงินค่าล่วงเวลา และลดการจ้างงานใหม่ ทำให้คนมีรายได้น้อยลงแรงงานส่วนหนึ่งย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปภาคบริการ วันนี้แรงงานที่อยากจะย้ายไปสู่ภาคบริการก็ทำได้ยาก เพราะภาคบริการได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด 19  

ขณะเดียวกัน ภาคเกษตรที่เคยรองรับการจ้างงานให้กับคนที่ย้ายกลับไปใช้ชีวิตในภูมิลำเนาก็ทำได้ยากขึ้น เพราะปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องเตรียมรับมือ คือ ผลกระทบกับการจ้างงานที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง

มาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจของ ธปท.  

คุณสินีนาท : ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ระยะสั้น แต่จะส่งผลระยะยาวและขยายกว้างออกไป ท่านผู้ว่าการมองว่า แต่ละภาคส่วนควรตั้งรับอย่างไร และ ธปท. มีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง 

ดร.วิรไท : ปัญหาครั้งนี้ต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะกระทบในวงกว้างมาก และไม่มีใครมองออกว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมจากที่เห็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไรบ้างมีความไม่แน่นอนสูง เช่น จากที่เคยมองว่า วิกฤติน่าจะจบลงถ้าหยุดการระบาดในจีนและประเทศรอบข้างได้  มาวันนี้ การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ หรือแม้ว่าขณะนี้ผู้ติดเชื้อในจีนจะลดลง แต่จีนก็ต้องกลับมาตั้งรับอย่างเข้มงวด เพราะมีคนที่ติดเชื้อเดินทางเข้ามาและทำให้ผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้นอีก เราต้องมองทั้งกว้างและมองไกล มองแบบระมัดระวังให้มาก ให้น้ำหนักกับการลดความเสี่ยง การตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนกจะทำให้เราสามารถเตรียมพร้อมล่วงหน้าได้  

สำหรับ ธปท. เอง เราติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจึงเห็นว่าโควิด 19 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปจึงผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนที่สถานการณ์จะแย่ลง เพื่อไม่ให้สภาพคล่องในระบบการเงินตึงตัวแรงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง มาอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และสถาบันการเงินก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ปรับลดอัตราเงินนำส่งสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) จากเดิมอัตราร้อยละ 0.46 เหลือร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในทันที 

อีกด้านหนึ่ง มาตรการที่ให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีผลข้างเคียงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กิจการร้านค้าต่าง ๆ ทยอยปลดคนงานและปิดกิจการรายได้ลดลงโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีหนี้คงค้างซึ่งมีภาระการผ่อนชำระหนี้แต่ละเดือน ธปท. จึงได้เร่งดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาภาระของลูกหนี้มาเป็นระยะ รวมทั้งมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนควบคู่กันไปด้วย 

คุณสินีนาท : ธปท. มีมาตรการสำคัญอะไรบ้างเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระของประชาชน ทั้งที่เป็นลูกหนี้รายย่อย ผู้ประกอบการขนาดเล็ก รวมไปถึงภาคธุรกิจ  

ดร.วิรไท : ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินอื่น ออกมาตรการชุดแรกซึ่งเป็นมาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำหรือให้ลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำได้กรณีบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน รวมทั้งเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือนหรือพักชำระเงินต้น 6 เดือนโดยไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิตสำหรับสินเชื่อประเภทอื่น เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อธุรกิจ SMEs  ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินจำนวนมากให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากกว่ามาตรการขั้นต่ำที่กำหนด เพราะเห็นความเดือดร้อนของลูกหนี้จริง ๆ 

นอกจากนี้ ธปท. ได้หารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และออกมาตรการชุดที่สอง คือ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและขาดสภาพคล่องโดยผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแล เพื่อให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกได้ ทั้งลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย หรือ NPL (Non-Performing Loan) เพราะต้องการให้การช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ทำได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที 

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ธปท. จึงได้ออกมาตรการอีกชุดหนึ่งเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานหลักของประเทศ ได้แก่ การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ให้กับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน และการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2 ต่อปี และในช่วง 6 เดือนแรก รัฐบาลจะช่วยรับภาระดอกเบี้ยแทน โดย ธปท. จัดสรร soft loan

วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปีให้ธนาคารเป็นเวลา 2 ปี เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ SMEs และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว กระทรวงการคลังจะชดเชยบางส่วนให้แก่ธนาคารด้วย ดังนั้น ทั้ง 2 มาตรการนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับธุรกิจ SMEs ให้มีสภาพคล่องเพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน 

ธปท. คาดหวังว่าในช่วง 6 เดือนที่พักชำระหนี้ สถาบันการเงินจะทำงานร่วมกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกหนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการช่วยเหลือข้างต้นจะช่วยประคองธุรกิจ SMEs ให้ผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปได้ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายธุรกิจ SMEs เหล่านี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทย

การดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน  

คุณสินีนาท : อยากให้ท่านผู้ว่าการช่วยอธิบายเหตุผลที่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือกองทุน BSF ที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้

ดร.วิรไท : ธปท. มองว่าการดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ จะเห็นได้ว่า การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจพร้อม ๆ กับความผันผวนที่สูงขึ้นมากในตลาดการเงินโลก ย่อมส่งผลต่อเนื่องมายังตลาดการเงินและระบบการเงินไทยที่มีความเชื่อมโยงกันสูง ถ้าตลาดการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งมีปัญหา ก็อาจกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งระบบการเงิน ที่ผ่านมาเห็นสัญญาณว่านักลงทุนต้องการเก็บเงินสด จึงเทขายตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนซึ่งเป็นช่องทางการออมที่สำคัญของประชาชนและการระดมทุนของภาคธุรกิจ  ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยมียอดคงค้างประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 20 ของ GDP หากกลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่สามารถทำงานได้ปกติ ก็มีความเสี่ยงที่ปัญหาการขาดสภาพคล่องจะลุกลามในวงกว้าง จนเกิดเป็นปัญหาเชิงระบบตามมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ออมเงินผ่านตัวกลางต่าง ๆ ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน อาทิ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม

ธปท. จึงได้จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) เพื่อช่วยให้ ธปท. มีเครื่องมือใส่กระเป๋าไว้พร้อมใช้ในกรณีจำเป็น ถ้าเปรียบในวิกฤติโควิด 19 ก็เหมือนกับการจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” ไว้รองรับกรณีที่การระบาดเพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลหลักไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียงพอ โรงพยาบาลสนามจะช่วยป้องกันไม่ให้การระบาดลุกลามจนควบคุมได้ยากวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุน BSF ก็เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ถ้ามีคนมาใช้น้อยก็จะยิ่งดี เพราะหมายความว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ 

คุณสินีนาท : ขอให้ท่านผู้ว่าการช่วยอธิบายที่มาที่ไปและความจำเป็นของการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับที่ ธปท. บอกว่าจะมีการดูแลธุรกิจ SMEs และตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนด้วย 

ดร.วิรไท : ที่ผ่านมา ธปท. และกระทรวงการคลังได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและเพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ได้อย่างทันการณ์ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบพ.ร.ก. 2 ฉบับแล้ว ได้แก่ พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ต้องขอเรียนว่า พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับนี้ให้อำนาจ ธปท. บริหารจัดการสภาพคล่องและปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 และมีกลไกที่รัฐบาลจะช่วยรับภาระชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจำเป็นในภาวะที่การแพร่ระบาดยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจจะยืดเยื้อ รวมถึง พ.ร.ก. จะช่วยให้ ธปท. มีเครื่องมือเพิ่มขึ้นสำหรับช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และมีเครื่องมือที่พร้อมใช้ดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนได้อย่างทันการณ์ 

ธปท. เชื่อมั่นว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มาตรการสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ มาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ จะช่วยดูแลประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงินของประเทศให้ทำงานได้ต่อเนื่อง  

นโยบายที่สอดประสานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

คุณสินีนาท : ท่านผู้ว่าการมองว่า ในช่วงต่อไป แต่ละภาคส่วนควรร่วมมือกันอย่างไร เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็ง 

ดร.วิรไท : ธปท. มองว่าปัจจัยสำคัญของการแก้ปัญหา คือ การประสานนโยบาย ประสานความร่วมมือกันทุกภาคส่วนและมีมาตรการที่หลากหลายมารองรับ นโยบายการเงินเป็นนโยบายเสริมที่ช่วยเยียวยาและบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น โดยช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจและรัฐบาล เช่นเดียวกับมาตรการชุดแรกของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี การลดดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ แต่หากเกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมากตามมา มาตรการที่สำคัญต้องเป็น “มาตรการเพิ่มรายได้” เพื่อให้คนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ และคนที่ตกงานได้รับการดูแลผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การจ้างงานชั่วคราว การสนับสนุนให้มีอาชีพใหม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือทางการคลังและเครื่องมือที่เป็นหลักประกันทางสังคม (social safety net) เป็นตัวนำ ดังนั้น การออกแบบนโยบายที่ประสานกันจะช่วยให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด  

การเสพข้อมูลข่าวสารท่ามกลางโควิด 19 

คุณสินีนาท : ในโลก VUCA+1 ที่ข้อมูลข่าวสารซับซ้อนคลุมเครือ จนยากที่จะแยกแยะข้อเท็จจริง ท่านผู้ว่าการจะให้คำแนะนำในการเสพข้อมูลข่าวสารในยุคนี้อย่างไร​ 

ดร.วิรไท : ประการแรก คือ ต้องให้ความสำคัญกับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งเน้นการหาข้อมูลแทนการรอเสพข่าวจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่น เว็บไซต์ทางการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเรื่องการระบาดของโควิด 19 เราก็ควรให้ความสำคัญกับข้อมูลทางการแพทย์ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและทีมแพทย์ไทยทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำและอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดีมากมาอย่างต่อเนื่อง ประการที่สอง คือ ต้องไม่แชร์ข้อมูลที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ในภาวะเช่นนี้ ทุกคนมีหน้าที่ทางสังคมที่จะต้องไม่สร้างความตื่นตระหนกจนเกินควร และควรต้องช่วยกันแชร์ข้อมูลข่าวสารใดที่คิดว่ามีประโยชน์และเชื่อถือได้  เพราะเมื่อสังคมเข้าใจถูกต้องตรงกัน เราก็จะสามารถมองไปในอนาคตด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและรอบด้านมากขึ้น 

การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นการรับมือวิกฤติที่ดีที่สุด 

คุณสินีนาท : ในสถานการณ์เช่นนี้ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรักษา ขอให้ท่านผู้ว่าการฝากกำลังใจถึงคนไทยเพื่อก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน 

ดร.วิรไท : ผมมักจะนึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเรื่อง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้พระราชทานไว้ให้คนไทยตั้งแต่ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 คนส่วนใหญ่มักมองว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจแต่อันที่จริงแล้วสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกอย่างในชีวิต  

ในวิกฤติครั้งนี้ เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผล สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณสอดคล้องกับสถานการณ์ และไม่กลัวจนตื่นตระหนก ขณะเดียวกันต้องไม่ประมาท เพื่อไม่ให้เสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรง  

“การสร้างภูมิคุ้มกัน” เป็นหลักสำคัญสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันทางด้านร่างกายและการเงิน คนที่สุขภาพแข็งแรงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิตน้อยกว่าคนที่สุขภาพไม่ดี ครัวเรือนหรือธุรกิจที่มีเงินออมเพียงพอก็จะมี “กันชน” บรรเทาความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ 

ในโลกข้างหน้าที่จะยิ่งผันผวนเพิ่มสูงขึ้น ธปท. จึงให้ความสำคัญมากกับการลดปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อให้คนไทยมีเงินออมที่เพียงพอและวางแผนทางการเงินได้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ และจะช่วยให้เราก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากเย็นอย่างคราวนี้และในทุกสถานการณ์ในอนาคตสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความมั่นคงทางการเงินเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา 

คุณสินีนาท สวัสดิ์พูน  
พิธีกรและผู้ประกาศข่าวด้านเศรษฐกิจและการลงทุน สถานี TNN ช่อง 16 และช่อง NEW18 อดีต MJ จาก Money Channel

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ