fbpx

‘TASKET’ เมล็ดพันธุ์สตาร์ทอัพเพื่อชาว Gen Z คู่คิดหาที่ฝึกงานให้นักศึกษา ยุคหลังโควิด

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ให้หลายธุรกิจลุกขึ้นมาปรับตัว เพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้อนาคตของ สตาร์ทอัพระดับเมล็ดพันธุ์ ที่เพิ่งจะเริ่มต้นหย่อนเมล็ดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อาจถึงขั้นต้องพับโปรเจ็คต์หรือชะลอการลงทุนชั่วคราว หากแต่ยังมีเมล็ดพันธุ์หนึ่งที่ค่อยๆ เติบโตเป็นต้นกล้าและท้าทายลมพายุที่โหมกระหน่ำอย่างไม่หวั่นเกรง เมล็ดพันธุ์นั้นมีชื่อว่า ‘Tasket’

Tasket  เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยมีธงในการก่อตั้งเว็บไซต์ คือ เพื่อค้นหาสถานที่ฝึกงานในธุรกิจ Tech Startup ให้กับนักเรียนและนักศึกษากลุ่ม Gen Z  ภายใต้การริเริ่มจากไอเดียของ โจทาโร่ เซร่า CEO & Co-Founder ของ Tasket  ก่อนเปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมีนาคมปี 2563 มีหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ ค้นหาสถานที่ฝึกงานที่น่าสนใจทั้งในกลุ่ม Tech Startup และธุรกิจอื่นๆ ให้กับนักศึกษา, พัฒนาทักษะของนักศึกษาให้เป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน และคัดเลือกนักศึกษาที่มีคุณสมบัติโดดเด่นแก่บริษัทชั้นนำของไทย 

แม้การเชื่อมต่อนักศึกษากับองค์กรอาจดูไม่ใช่เรื่องซับซ้อน หากแต่ในความเป็นจริง ‘ช่องว่าง’ ในการตามหาคนให้เหมาะสมกับงานยังเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายองค์กรไม่อาจปฏิเสธได้ บวกกับพิษโควิด-19 ที่ทำให้อัตราการว่างง่านของบัณฑิตจบใหม่มีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 8 แสนคนภายในปีนี้ (อ้างอิงข้อมูลจากสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย) ทำให้โจทาโร่ ตัดสินใจพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา เพื่อเติมเต็มช่องว่างนั้นด้วยใจที่มุ่งหวังว่า Tasket จะสร้างมิติใหม่ให้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวตนและการค้นพบอาชีพในฝันที่เขาเรียกว่า ‘Sand Box’ ของชีวิต

เริ่มต้นจาก ‘Summer Project’ สู่แพลตฟอร์มใหม่ของ Gen Z 

โจทาโร่ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย ด้วยปัญหาคลาสสิคที่เขาพบเจอระหว่างดำรงชีวิตนักศึกษา “สมัยเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 ผมอยากฝึกงานกับบริษัทที่เป็น Tech Startup แต่กลับหายากกว่าที่คิด เลยตัดสินใจส่งอีเมลล์หาผู้ก่อตั้งสตาร์พอัพกว่า 50 เจ้าในเมืองไทย ทำให้รู้ว่า จริงๆ แล้ว Tech Startup มองหาเด็กฝึกงานตลอดเวลา เพียงแต่ไม่มีวิธีโปรโมทนอกจากจะประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของตัวเอง”

กล่าวกันว่า สตาร์ทอัพหลายแห่งบนโลกใบนี้ มักจะเริ่มต้นจากแนวคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสุดล้ำเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน หรือแก้ไขปัญหาให้กับชีวิตของใครสักคนสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 

Tasket จึงเป็นเสมือนพื้นที่ที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสำหรับโจทาโร่และเพื่อนๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน ก่อนจะเปิดกว้างสำหรับนักศึกษาคนอื่นๆ ที่ต้องการค้นหาสถานที่ฝึกงานที่น่าสนใจ เพราะสำหรับเขาโอกาสที่ได้รับจากการฝึกงานจะช่วยให้ค้นหาอาชีพในฝันได้เร็วขึ้น 

เรื่องนี้โจทาโร่ยืนยันว่า เขาไม่ได้กล่าวเกินจริง ยังมีนักศึกษาอีกมากที่ไม่รู้ว่าเรียนจบแล้วจะทำอะไรต่อดี? บางที ‘อาชีพในฝัน’ กับ ‘โลกแห่งความจริง’ อาจไม่เหมือนที่พวกเขาคิดไว้ เช่นนั้นโจทาโร่จึงพัฒนาแพลตฟอร์มแนวใหม่เพื่อช่วยเหลือชาว Gen Z  

“ผมมองว่าการฝึกงานเป็นโอกาสที่เราจะได้พัฒนาทักษะต่างๆ รวมถึงได้รับประสบการณ์ที่มีประโยชน์ หรือแม้แต่ค้นพบอาชีพที่ ‘ใช่’ สำหรับตัวเองในอนาคต ผมเลยทำเว็บไซต์ขึ้นมาเป็น ‘Summer Project’ เริ่มจากชักชวนเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะขยายวงกว้างไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และพระจอมเกล้าฯ” 

“ตัวแพลตฟอร์มไม่จำกัดแค่นักศึกษาปี 3-4 แต่ผมขยายให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 ได้ฝึกงานเพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบเส้นทางของตัวเองเร็วขึ้น ผมมองว่าชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเหมือน Sand Box เป็นช่วงเวลาที่ลองผิดลองถูกได้โดยไม่มีผลกระทบกับชีวิตมากเท่าไหร่ แต่การที่เรียนจบแล้วเปลี่ยนงานบ่อยๆ อาจไม่ใช่เรื่องดี”

นอกจากนี้ Tasket ยังเพิ่มโอกาสในการหางานให้นักศึกษา ด้วยการคัดเลือกคอร์สฝึกอบรมที่น่าสนใจ น่าเชื่อถือและทันสมัย เพื่อช่วยพัฒนาทักษะของนักศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น รวมถึงคอร์สที่มีใบประกาศนียบัตรรับรอง (Certificated) เพื่อช่วยเป็นใบเบิกทางให้นักศึกษาจบใหม่สามารถหางานได้ง่ายขึ้น

ชูความแตกต่างจาก Online Job Board ทั่วไป

ไม่เพียงทำหน้าที่เชื่อมต่อนักศึกษากับองค์กรชั้นนำในเมืองไทย Tasket ยังทำหน้าที่คัดสรรนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถเพื่อช่วยให้การทำงานของ HR เป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น โดยจุดแข็ง 3 ข้อที่ทำให้ Tasket แตกต่างจากเว็บไซต์หางานทั่วไป คือ การคัดสรรนักศึกษาโปรไฟล์ดีจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ผ่านการนำเสนอในรูปแบบ Dashboard Feature และการให้บริการฟรี! โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ 

“เราใช้ Dashboard Feature หรือการสรุปข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับนักศึกษามานำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ช่วยให้ค้นหาได้รวดเร็ว และอัพเดตสถานะอยู่เสมอ จากที่บริษัทต้องจัดการกับผู้สมัครผ่านทางอีเมลล์ ซึ่งค่อนข้างจะยุ่งยากและไม่อัพเดตเท่าไหร่”

“แต่ด้วยแพลตฟอร์มของ Tasket จะช่วยให้บริษัทติดตามสถานะของผู้สมัครผ่านทาง Tasket ได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงสามารถใส่คำถามก่อนสัมภาษณ์งานได้ เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการค้นหาผู้สมัครที่ตรงกับความต้องการของบริษัทมากขึ้น”

แม้ Tasket จะเป็นแพลตฟอร์มที่อายุน้อย แต่ก็มีแผนขยายโซลูชั่นให้มีบริการที่มากขึ้น โดยโมเดลธุรกิจ ของปี 2021 จะเพิ่ม 2 บริการใหม่เพื่อช่วยค้นหาคนที่ ‘ใช่’ สำหรับองค์กรได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ ‘Talent Solution’ หรือการคัดกรองนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นในแต่ละสายงาน ผ่านการทำ Recruitment Solution และบริการระดับเอ็กซ์คลูซีฟหรือเรียกว่า ‘Premium Feature’ ที่จะช่วยกรองผู้สมัครให้เหลือตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการค้นหาพนักงานใหม่ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด 

แม้ปัจจุบัน Tasket เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการฟรีทั้งกับนักศึกษาและองค์กรต่างๆ แต่โจทาโร่เผยว่า ในอนาคตจะหารายได้ผ่าน ‘Learning Platform’ หรือการทำเวิร์คช็อปร่วมกับบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ โดยเก็บส่วนแบ่งจากการโปรโมทคอร์สฝึกอบรมหรือคอร์สออนไลน์ต่างๆ เมื่อนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจสมัครอบรมผ่านทางเว็บไซต์ของ Tasket   

โอกาสของนักศึกษาฝึกงานยุค Business Tech

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจออฟไลน์อย่างมาก สวนทางกับธุรกิจออนไลน์ที่บางรายเติบโตแบบก้าวกระโดด Tasket ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจออนไลน์ที่ไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่ากับธุรกิจอื่นๆ แม้จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับค้นหาสถานที่ฝึกงานและการรับสมัครงานก็ตามที เพราะอย่างที่พอจะได้ยินข่าวคราวกันว่าตลาดงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่ค่อยสู้ดีนัก บางองค์กรลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานออกบางส่วน ถ้าหนักหน่อยคือบริษัทไปต่อไม่ได้ ชะตากรรมของพนักงานไม่พ้นตกงานระนาว 

“ช่วงแรกเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากในการทำให้ยูสเซอร์รู้จักเรา ถ้าไม่ใช่ช่วงโควิด-19 เราก็คงไปแนะนำแพลตฟอร์มตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือทำเวิร์คช้อปร่วมกับนักศึกษา ในทางตรงกันข้ามเราก็ไม่สามารถเข้าไปนำเสนอวิชั่นให้กับบริษัทต่างๆ เช่นกัน โชคดีที่บริษัทหลายแห่งให้โอกาสเราได้ร่วมงานกัน รวมถึงนักศึกษาที่ใช้วิธีบอกต่อแบบปากต่อปาก เป็นการเติบโตแบบออร์แกนิกที่ช่วยให้คนรู้จักเรามากขึ้น” 

ส่วนหนึ่งที่หลายองค์กรเลือกใช้แพลตฟอร์ม Tasket ในการหานักศึกษาฝึกงาน โจทาโร่วิเคราะห์ว่าอาจเพราะองค์กรส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพสายพันธุ์เดียวกับ Tasket จึงมีวัฒนธรรมเปิดรับโซลูชั่นใหม่ๆ มากกว่าองค์กรทั่วไป ประกอบกับรูปแบบการฝึกงานเป็นแบบ Work from Home สอดคล้องกับการทำงานช่วงโควิด-19

หนึ่งขวบปีที่ค่อยๆ งอกเงย ราวเพาะเมล็ดพันธุ์

Tasket ต่างจากสตาร์ทอัพทั่วไป เพราะไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดแต่เป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่กับการนำกระแสตอบรับจากยูสเซอร์มาพัฒนาปรับปรุงการให้บริการอยู่เสมอ และการใช้ระบบการประเมินความนิยมของแพลตฟอร์มที่เรียกว่า ‘Monthly Distributor’ หรือการตรวจสอบยูสเซอร์กับจำนวนคนที่เข้ามาใช้งานเป็นประจำทุกเดือน ตลอดจนจำนวนผู้สมัครงานที่มีอัตราการเติบโตถึง 100% ทำให้ปัจจุบัน Tasket มีนักศึกษาเป็นสมาชิกถึงกว่า 4,100 คนจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง รวมถึงบริษัทชั้นนำกว่า 130 แห่งในประเทศไทย 

“หนึ่งปีที่ผ่านมาแพลตฟอร์มของเราขยายกว้างมากขึ้น นอกจากบริษัทชั้นนำในเมืองไทย เรายังได้รับความไว้วางใจจากบริษัทต่างชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองไทยและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ อย่างบริษัทที่เป็น Business Tech เช่น Shopee, Line Man ก็เข้ามาใช้บริการเช่นกัน” 

“การที่เราเปิดตัวในจังหวะเวลาที่ไม่ค่อยดีเพราะเป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด เราจึงติดต่อกับบริษัทที่พร้อมรับคนทำงานออนไลน์จริงๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มของเรา และถือเป็นความโชคดีที่บางบริษัทก็เปิดโอกาสให้ฝึกงานแบบ Work from Home Internship หรือการฝึกงานผ่านออนไลน์ได้ด้วย”

ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาว Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของ Tasket ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจาก ‘โจทาโร่’ พร้อมทีมงานเบื้องหลังที่ผ่านประสบการณ์แบบเดียวกัน จึงทำให้เข้าใจปัญหาของนักศึกษาและบริษัทต่างๆ เป็นอย่างดี ทั้งยังนำความรู้ความสามารถมาใช้ในการพัฒนาสังคมไทยผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ 

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า Tasket เป็นสตาร์ทอัพน้องใหม่สำหรับคน Gen Z ที่กำลังเติบโตจากต้นกล้าสู่ต้นไม้ใหญ่ ที่แผ่กิ่งก้านสาขา สู่อนาคตอันยาวไกลไม่น้อยเลยทีเดียว

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ