fbpx

อรรณวุฒิ ลีไพศาลสุวรรณา พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน

TALK WIT TEDX BANGKOK

การประชุมว่าด้วยเทคโนโลยี ความบันเทิง และการออกแบบ หรือ TED (Techno-logy Entertainment and Design) กลายเป็นปรากฏการณ์ในสังคมออนไลน์ และแวดวงปัญญาชนทั่วโลก กำหนดเวลา 18 นาทีสำหรับแต่ละทอล์กบนเวที เปิดโอกาสให้ผู้คนจากทุกมุมโลก ได้ขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวในชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับสายงานหรือความรู้ที่เขาแตกฉาน ความหลงใหล ข้อมูลแปลกใหม่ และสำนวนโวหารอันเร้าใจ กิจกรรมการทอล์กกลายเป็นเทรนด์ และกลายเป็นแพลตฟอร์มในการถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ที่ได้รับความนิยมสุดๆ สถิติตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เฉพาะในเว็บไซต์ทางการของ TED มีคลิปการบรรยายมากกว่า 1,900 รายการ มียอดวิวสะสมมากกว่า 500 ล้านครั้ง โดยเฉลี่ยเรื่องที่ได้รับความสนใจ มักมียอดวิวอยู่ที่ 1 ล้านขึ้นไป ในตอนนี้ TED ยังได้แตกตัวเองออกไป เป็นอีเวนท์การบรรยายย่อยๆ TEDx ในประเทศต่างๆ อยู่ทุกเดือน ส่งต่อแพลตฟอร์มการจัดงาน และจิตวิญญาณของความสร้างสรรค์บันดาลใจออกไปทั่วโลก และมันกำลังจะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในชื่อ TEDxBangkok

อรรณวุฒิ ลีไพศาลสุวรรณา หนุ่มน้อยผู้ริเริ่มงานนี้ และเป็นผู้ติดต่อขอฟรีไลเซนส์ พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน หนุ่มน้อยอีกคน ทำหน้าที่เป็นออร์แกไนเซอร์และเทรนสปีคเกอร์ พวกเขารวมตัวกับเพื่อนๆ อาสาสมัครอีกยี่สิบกว่าชีวิต เพื่อมาจัดงานนี้กันแบบทุ่มสุดตัวหลังจากเปิดจองบัตรไปไม่กี่วัน จำนวนผู้สนใจก็มากจนล้นหอประชุมยักษ์ ทั้งที่ค่าบัตรไม่ใช่ถูกๆ แถมเขาไม่ได้ประกาศชื่อสปีคเกอร์ในงานนี้ด้วยซ้ำทุกอย่างล้วนมีเหตุผล ทำไมพวกเขามาร่วมกันทำงานนี้ฟรีๆ ทำไมงานนี้จึงจับจิตจับใจคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจได้มากพวกเขาอายุน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ และก็มีไอเดียน่าสนใจมากอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกันนอกจากเราจะคุยกันเรื่องปรากฏการณ์คลั่ง TED ในตอนนี้แล้ว เรายังคุยกันถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยรอบๆ ตัว และได้สัมผัสถึงสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มใหม่ เนื้อหาใหม่ คุณค่าใหม่ เมื่อคลื่นลูกใหม่ถาโถมเข้ามาถึง สังคมนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลไม่มีความคิดที่ถูกกักขังไว้อีกต่อไป แต่มันจะถูกแพร่กระจายออกไปเหมือนหยดน้ำเล็กๆ ที่สร้างวงกระเพื่อมใหญ่โตขึ้นไปเรื่อยๆ

How to organize a TEDx

GM : พวกคุณเป็นใคร มาจัดงานนี้ได้อย่างไร ตอนแรกเรานึกว่าจะเป็นนักธุรกิจพันล้านที่ไปซื้อไลเซนส์งานใหญ่แบบนี้มา

อรรณวุฒิ : (หัวเราะ) พวกเราทุกคนก็ทำงานประจำของตนเอง อย่างตัวผมทำด้าน Software Development เขียนโปรแกรม เขียนเว็บไซต์ เป็นพนักงานของบริษัท MAQE Bangkok ส่วนใหญ่เราจะทำโปรเจ็กต์สตาร์ทอัพ รับงานจากลูกค้าต่างประเทศ เช่นตอนนี้ทำให้กับสวีเดน เราก็รับ Requirement มาเขียนโปรแกรม มาสร้างระบบให้เขา ด้าน e-Learning ด้าน Financial

พิริยะ : ของผมเพิ่งเรียนจบมาด้านจีนศึกษา งานแรกที่ทำคือไปเป็น Event Manager ของ TEDxChiang Mai ซึ่งเป็น TEDx ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดในไทย ทำงานโปรเจ็กต์นั้นอยู่ประมาณ 3-4 เดือน ทำทุกอย่าง ตั้งแต่คุยกับคนงานชาวไทใหญ่ที่ขนไม้ไผ่มาทำฉาก ไปจนถึงการเทรนสปีคเกอร์ที่มาร่วมงาน จนได้เจอทีมอาสาสมัครจากกรุงเทพฯ ด้วยกัน ก็เลยชวนกันกลับมาทำงานคราวนี้ที่กรุงเทพฯ ตอนนี้ทำงานประจำอยู่ที่ Hubba Co-working Space

อรรณวุฒิ : ผมทำงานแบบอาสาสมัครกับ TED มาประมาณ 4 ปี ในโครงการ Open Translation Project ที่คอยแปลซับไทยใน TED.com ก็แปลไปน่าจะเกือบๆ 200 ทอล์กแล้วมั้ง ก็ได้คุยกับทาง TED บ่อย จนเขาเคยชวนไปร่วมงาน TED 2 ครั้ง คือที่แคลิฟอเนียร์และที่สกอตแลนด์ ก็เริ่มต้นมาจากตรงนั้น

GM : เท่าที่ทราบมาคือไลเซนส์งานนี้ฟรีใช่ไหม

อรรณวุฒิ : ใช่ครับ และงานนี้ก็มีหลายระดับ ระดับที่ง่ายที่สุดก็คือคนทั่วไปสามารถขอไลเซนส์ได้ แต่จำกัดขนาดการจัดงานอยู่ที่จำนวนผู้เข้าร่วมไม่เกิน 100 คน แล้วก็ไม่สามารถจะตั้งชื่องานตัวเองเป็นงานระดับเมืองได้ ที่ผ่านมาในกรุงเทพฯ ก็มีงาน TEDx เกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น TEDxLumpini, TEDxISB ซึ่งเป็นงานขนาดเล็ก สำหรับการจัดงานของเราคราวนี้ เป็นการจัดในระดับเมือง สามารถใช้ชื่อ TEDxBangkok ข้อพิจารณาของเขาก็จะมีเพิ่มเติมขึ้นไป หลักๆ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือผู้ขอไลเซนส์ต้องเคยไปงาน TED ใหญ่มาก่อน ขั้นตอนการขอก็คือกรอกข้อมูลต่างๆ ออนไลน์ กรอกประวัติส่วนตัว พอผ่านตรงนั้นได้ปุ๊บ เขาจะสอบสัมภาษณ์ผม คือผมก็ต้องคุยสไกป์กับทางเจ้าหน้าที่ของ TED ที่นิวยอร์ก เราคุยกันประมาณหนึ่งชั่วโมง และอีเมลแลกเปลี่ยนข้อมูลกันสักพักใหญ่ ก่อนที่จะได้ไลเซนส์มา

GM : เขาถามอะไรคุณบ้าง

อรรณวุฒิ : ถามว่าทำอะไรมาก่อน ปัจจุบันทำอะไรอยู่ ทำไมถึงอยากจัดงาน ถามถึงคอนเซ็ปต์ของงาน ด้วยความที่ตัวอีเวนท์ของ TED ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์ เขาก็พยายามจะเช็กว่าเราเข้าใจตรงนั้นดีหรือเปล่า ตอนนั้นเรายังไม่สามารถที่จะทาบทามสปีคเกอร์ได้ จนกว่าที่เราจะได้รับอนุมัติไลเซนส์แล้ว เขาแค่ถามว่าถ้าเราได้จัด สปีคเกอร์น่าจะเป็นใคร คนแบบไหน ทำไมถึงเลือกคนแบบนี้ ซึ่งก็พอเข้าใจว่าเกณฑ์พิจารณาของเขาน่าจะดูฟีลลิ่งบางอย่าง ว่าแนวทางสปีคเกอร์ของเราตรงกับที่ TED คิดหรือเปล่า

GM : แล้วคุณยกชื่อใครไปเป็นตัวอย่างบ้าง คนดัง ดารา อดีตนายกรัฐมนตรี ฯลฯ

อรรณวุฒิ : ไม่ใช่เลยครับ ซึ่งนี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมเองนะ คือทาง TED ก็ไม่เคยระบุหรอกว่าเกณฑ์พิจารณาเลือกสปีคเกอร์ของเขาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผมจับทางได้คือ จริงๆ แล้ว TED ไม่ใช่งานประเภทที่เชิญบิ๊กเนมมาพูด สปีคเกอร์ของ TED ส่วนใหญ่เป็นคนที่เราแทบจะไม่รู้จักมาก่อน อาจจะมีบางคนที่โด่งดังมากๆ อย่าง บิล เกตส์ ริชาร์ด แบรนสัน แต่คนอื่นอีกเป็นพันๆ คน แทบจะเป็นคนที่ไม่ได้รู้จัก ซึ่งผมก็เข้าใจว่าตรงนี้น่าจะเป็นเกณฑ์หนึ่ง ที่เขามองว่าเราเห็นภาพตรงกันหรือเปล่า สิ่งหนึ่งที่ผมคุยกับทาง TED แล้วสัมผัสได้ คือเขาย้ำเสมอว่ามันไม่ได้อยู่ที่ตัวสปีคเกอร์ว่าเป็นใคร แต่อยู่ที่ไอเดียที่เขานำเสนอมากกว่า

GM : ทำให้ตอนประกาศขายบัตร คุณประกาศแค่หัวข้อเรื่องที่จะพูด แต่ไม่ยอมประกาศรายชื่อสปีคเกอร์เสียที

อรรณวุฒิ : ใช่ครับ เราคอนเฟิร์มตัวสปีคเกอร์ทุกคนตั้งแต่เดือนมกราฯ แล้ว แต่เรายังไม่เปิดเผยตัว เพราะเราอยากให้การขายตั๋วเสร็จสิ้นก่อน เหตุผลที่ทำอย่างนี้ก็คือ เราต้องการเปิดรับคนที่ใจกว้าง คนที่จะรับไอเดียใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าสปีคเกอร์เป็นใคร มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะเลยว่าอะไรเนี่ย คุณขายบัตร 1,500 บาท โดยที่ไม่บอกชื่อสปีคเกอร์ ซึ่งเราก็พยายามชี้แจง แม้แต่งานใหญ่ของ TED เขาเปิดให้คนสมัครเข้าฟังล่วงหน้า 1-2 ปีด้วยซ้ำ และเขาจึงจะเปิดเผยชื่อสปีคเกอร์ประมาณ 1 เดือนก่อนงาน เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ที่ไปฟัง ก็ต้องเป็นคนที่ Open-minded มากๆ คือไปเพื่อจะไปรับฟังไอเดียใหม่ ไปพบเจอผู้คนที่ Open-minded เหมือนกัน

การจัดงาน TEDx อย่างคราวนี้ มีความจำเป็นที่ผู้จัดต้องรู้บรรยากาศที่เกิดขึ้นในงาน TED จริงๆ คือต้องรู้ว่ามันมีอะไรมากกว่าตัวสปีคเกอร์บนเวที อย่างงานแรกที่ผมเคยไปคือ TED Active ปี 2012 เป็นงานที่ค่อนข้างแปลกพอสมควร คือในเวลาเดียวกันนั้น เขามีงาน TED ใหญ่เกิดขึ้นในอีกเมืองหนึ่ง มีสปีคเกอร์มาขึ้นเวทีพูดๆ แต่ว่างาน TEDActive ที่ผมไป

เป็นงานที่ไม่มีผู้พูดขึ้นพูด แต่จัดพร้อมกับ TED ใหญ่ สิ่งเดียวที่มีในงานคือเป็นการถ่ายทอดสดภาพจากงานใหญ่มาที่งานนี้ แต่ก็ยังมีคนยอมจ่ายเงินเพื่อไปเข้าร่วม ซึ่งตอนแรกผมก็

แปลกใจว่ามาทำไมกันเยอะแยะ

GM : เหมือนโรงเรียนกวดวิชาสมัยนี้ ที่เด็กไปนั่งเรียนกับหน้าจอทีวี

อรรณวุฒิ : (หัวเราะ) ใช่ๆ คือผมจะบอกว่างาน TED เนี่ย สปีคเกอร์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของงาน แต่สิ่งที่พิเศษจริงๆ ก็คือตัวผู้ที่มาร่วมงาน อย่างงานที่เป็นการถ่ายทอดสด เท่าที่ผมได้ยินมา เรตติ้งคนประทับใจงานนี้มากกว่างานใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะมันอยู่ที่ตัวผู้มาร่วมงานเอง การคัดสรรผู้ร่วมงานที่มีความน่าสนใจ ทำให้แต่ละคนได้แลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ผมคิดว่านี่เป็นการเติมเต็มคำว่า Idea Worth Spreading จริงๆ เพราะว่ามันไม่ใช่แค่สปีคเกอร์ 18 คนบนเวที มาพูดให้เราฟัง 18 ไอเดีย แต่มันเป็นการที่เราได้แชร์ไอเดียของตัวเอง แล้วก็มารับฟัง

คนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเราอีกหลายร้อยคน

งาน TED ครั้งที่สองที่ไปร่วมในปี 2013 บรรยากาศก็จะแตกต่างไปอีก คอนเซ็ปต์หลายๆ อย่างที่ถ้าไม่ได้ไปร่วมงานจริงมาก่อน ก็จะไม่มีทางรู้เลย อย่างเรื่องสปอนเซอร์ของงาน

ทาง TED ก็ค่อนข้างจะจำกัดว่าไม่สามารถที่จะมาขายของในงานได้ คุณจะต้องมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแชร์ไอเดียเหล่านั้น ถ้าไม่ใช่ไอเดียของคุณเอง คุณก็ต้องมาสนับสนุนไอเดียของสปีคเกอร์ ตัวอย่างที่เห็นคือทวิตเตอร์ที่มาร่วมภายในงาน แทนที่เขาจะมาโฆษณาทวิตเตอร์ เขามาสร้างไอเดียบอร์ดให้กับสปีคเกอร์คนหนึ่ง ที่พูดถึง City of the Future หรือ City 2.0 ทวิตเตอร์มา Facilitate ไอเดียบอร์ดให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมออกความเห็น ซึ่งเราก็พยายามจะทำให้ภาพนั้นเกิดขึ้นในงาน TEDxBangkok ด้วยเช่นกัน

GM : ในบรรดาคนที่มาซื้อบัตร แล้วกรอกแบบสอบถามให้คุณ คนแบบไหนที่จะถูกเขี่ยออกไป

อรรณวุฒิ : เดี๋ยวๆ (หัวเราะ) คือต้องบอกว่าเราไม่ได้เขี่ยออกนะ เพียงแต่ว่าเราก็จะมีเกณฑ์คร่าวๆ อยู่ คือการรักษาสัดส่วนของอาชีพที่หลากหลายเป็นหลัก รองลงมาคือประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่าง ที่เราเชื่อว่าจะทำให้มุมมองความคิดในงานมีความหลากหลายมากที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่องจำนวนที่นั่งที่มีจำกัดนั้นมีผลมาก มีอีกหลายคนที่เราอยากจะเชิญมาร่วมงาน แต่ไม่สามารถจะทำได้ ต้องบอกว่าเราประเมินผลตอบรับคลาดเคลื่อนไปเยอะ ไม่คิดว่าจะมีคนสนใจเยอะขนาดนี้ ที่นั่งเรามีประมาณ 550 ที่ มีผู้สมัครเข้ามา 1,382 คน ในเวลา 1 อาทิตย์ เพราะฉะนั้นเราก็จำเป็นที่จะต้องปฏิเสธคนเยอะมาก ซึ่งเรารู้สึกแย่พอสมควรนะ

พิริยะ : แต่เราจะทำ Live Streaming ให้ด้วยนะครับ เราจะปล่อยลิงค์ตัวนี้ออกไป เพราะฉะนั้นใครก็สามารถเปิดดูฟรีได้เลย แล้วสุดท้าย มันก็จะถูกอัพโหลดใส่ยูทูบอยู่แล้ว แต่ที่เราต้องคัดเลือก เพราะที่นั่งเป็นเรื่อง Physical จริงๆ คือมันมีจำกัด เกณฑ์พิจารณาผู้เข้าฟัง ก็จะเป็นเรื่องของความหลากหลายในอาชีพ เรามีทั้งนักบิน ตำรวจ ครูจากต่างจังหวัด นักธุรกิจ นักดนตรี ทุกคนได้รับเมสเสจจากงานไป ก็จะตีความไปในรูปแบบที่ต่างกัน นี่จึงเป็นการใช้พื้นที่ได้คุ้มค่ามากที่สุด

TEDxBangkok และพันธมิตร ขอเชิญร่วมโลดแล่นไปกับแรงกระเพื่อมทางความคิดกับงาน TEDxBangkok 2015 ร่วมรับชมการถ่ายทอดสด วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายนนี้ เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ผ่านช่องทางดังนี้ :

• รับชมผ่านเว็บไซต์ http://www.tedxbangkok.net

   /live

•  รับชมผ่านมือถือและแท็บเล็ตด้วย AIS LINE OFFICIAL

•  ร่วมแลกเปลี่ยนพลังความคิด ผ่านทางแอพฯ ‘C.A.M.P. 

   AIS’

GM : เท่าที่ดู TED Talks ผ่านคลิปวิดีโอ ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าผู้ฟังก็มีส่วนร่วมอย่างอื่นด้วย นอกจากเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือ

อรรณวุฒิ : ในการที่เราไปนั่งร่วมกัน โอเค ผมมาจากสายวิทยาศาสตร์ แต่คนข้างๆ นี่เป็นนักจิตวิทยา อีกข้างหนึ่งเป็นคนทำงานศิลปะ เมื่อเรานั่งดูทอล์กหนึ่งด้วยกัน สามคนนี้จะมีความเห็นต่างกัน ก็จะมีโอกาสได้คุยกัน อาจจะอาศัยช่วงเบรก เราจึงจัดระยะเวลาในการเบรกให้ยาวพอสมควร เบรกครั้งหนึ่งยาวประมาณ 40 นาที ถ้าเป็นช่วงพักเที่ยงก็จะยาวประมาณ

1 ชั่วโมง อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ การที่คนจะไปนั่งฟังในออดิทอเรียมยาวเหยียดตั้งแต่เก้าโมงเช้ายันหกโมงเย็น มันเป็นเรื่องที่ยากมาก สิ่งที่ผมเห็นในงาน TED ที่เมืองนอก คือเขาจัดพื้นที่บริเวณรอบๆ มีทีวีตั้งไว้เพื่อถ่ายทอดสดออกมาด้วย มีบีนแบ็กวางไว้ให้คนได้เดินออกมาผ่อนคลาย หรือมาพบเจอผู้ร่วมงานคนอื่น

GM : ถ้าไปงาน TED กับแฟน เราก็เสียโอกาสที่จะได้แชร์ไอเดียกับคนข้างหนึ่งไปเลย

พิริยะ : (หัวเราะ) ก็ขึ้นอยู่กับว่าแฟนเป็นคนแบบไหน

GM : นึกว่าคนที่ไปงาน TED จะมีแต่พวกเนิร์ดๆ สายเทค ที่ไม่ค่อยชอบมีปฏิสัมพันธ์กับใคร

พิริยะ : ก็ไม่ได้เนิร์ดทั้งหมดนะ (หัวเราะ) ผมเคยไป TEDxKL ที่มาเลเซีย แล้วตอนที่จัด TEDxChiang Mai ก็รับรู้ถึงบรรยากาศนะว่าพอคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กันมาอยู่ด้วยกัน มันส่งพลังถึงกันได้จริงๆ ตอนงานที่เชียงใหม่จะมีชาวต่างชาติเยอะ เขามีวัฒนธรรมชอบคุย ชอบแชร์อยู่แล้ว มางานกรุงเทพฯ คราวนี้ เราโฟกัสกลุ่มคนไทยเป็นหลัก ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าคนไทยอาจจะไม่ได้ชอบแชร์หรือพูดคุยความคิดของตัวเองมากนัก แต่ด้วยการรักษาความหลากหลายของคนเข้ามาร่วม ซึ่งเป็นแนวทางของ TED พอมีคนที่มีของมาแล้ว เขาก็อยากจะแชร์ ตรงนี้เราอยากจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงๆ อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของ Networking ด้วยครับ เราจัดกิจกรรมและบรรยากาศให้เอื้อกับการมีปฏิสัมพันธ์กัน นอกจากจะมาแล้วนั่งฟังในห้องเฉยๆ อยากให้เดินออกมานอกห้อง ไปเข้าห้องน้ำ ไปหาที่นั่งเล่น เพื่อให้รู้จักกับคนข้างๆ ได้มากที่สุดเหมือนกัน นี่ก็เป็นจุดประสงค์หลักอีกอย่างหนึ่ง

FYI (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

TED เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1984 ทีแรกตั้งใจให้เป็นงานจัดครั้งเดียว ต่อมาจึงเริ่มจัดงานประจำปีในปี ค.ศ. 1990

งานประชุมหลักของ TED จัดขึ้นทุกปี และงานคู่กันคือ TEDActive ปัจจุบัน TED ยังถูกจัดขึ้นทั่วอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย โดยเสนอการบรรยายสดผ่านสตรีมมิ่ง

สปีคเกอร์จะมีเวลาอย่างมาก 18 นาทีในการนำเสนอแนวคิด

ผู้ดูแล TED คนปัจจุบันคืออดีตนักหนังสือพิมพ์และนักตีพิมพ์นิตยสารชาวอังกฤษ คริส แอนเดอร์สัน

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2006 การบรรยายมีให้ชมทางออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย Attribution-NonCommercial-NoDerivs Creative Commons ในเว็บไซต์ TED.com

TEDx อีเวนท์ทอล์กรูปแบบเดียวกับ TED จัดขึ้นทั่วโลก โดยกลุ่มคนที่ถือฟรีไลเซนส์อนุญาตโดย TED ต้องทำตามเงื่อนไขต่างๆ

Free Economy,

GM : พวกคุณมาจัดงานนี้ แล้วเรียกตัวเองว่าเป็นอาสาสมัคร มันหมายความว่าคุณไม่ได้ค่าจ้างเลยเหรอ

อรรณวุฒิ : ใช่ครับ จากการทำงานร่วมกันในทีมมากว่า 7 เดือน ผมเชื่อว่าทุกคนที่มาร่วมสร้างงานนี้มาด้วยใจ อยากให้แพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในกรุงเทพฯ จริงๆ ครับ การทำงานแบบอาสาสมัครเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้

เราสามารถวางรากฐานของงาน TEDxBangkok ครั้งแรกนี้ได้โดยไม่มี

ผลประโยชน์ด้านเงินทองมาเกี่ยวข้องด้วยครับ

: แล้วพวกคุณทำงานนี้เพื่ออะไร

อรรณวุฒิ : แน่นอนว่าได้ประสบการณ์ตรงนี้ไปปรับใช้ในการทำงานประจำ แล้วก็อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าทุกคนในทีมเห็นตรงกัน ก็คือเราเชื่อว่าไอเดีย

เหล่านี้ควรจะถูกเผยแพร่ออกไปในสังคมมากกว่านี้ แล้วเชื่อว่าไอเดียเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

: เวลาที่พวกคุณนัดมาประชุม TEDx มันสนุกกว่า น่ากระตือ-รือร้นกว่าตอนที่พวกคุณทำงานประจำหรือเปล่า

อรรณวุฒิ : โอ้โฮ! นี่เป็นคำถามที่สุ่มเสี่ยงมาก (หัวเราะ) ส่วนตัวผมก็ต้องบอกว่า ผมยังชอบบริษัทที่ผมทำอยู่นะครับ อันนี้พูดจากใจเลย (หัวเราะ) เพราะผมใช้ทรัพยากรของบริษัทเยอะมาก และบริษัทก็เปิดโอกาสให้ผมทำงาน TEDx อย่างเต็มที่ ทีมงาน 20 กว่าคนก็นัดมาประชุมกันที่ห้องประชุมของบริษัทผม

ในอีกแง่หนึ่ง คำถามของคุณก็อาจจะสะท้อนถึงคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบทำงานประจำ ผมมองว่าพวกผู้ใหญ่มักจะเปรียบเรากับยุคพ่อแม่ของพวกเรา แล้วก็มองว่าคนสมัยก่อนเอางานเอาการกว่า ทำไมคนรุ่นเราถึงไม่หางานที่มั่นคง ไม่สนใจเรื่องการเติบโตในสายอาชีพ ไม่สนในเรื่องเงินเดือนรายได้ ซึ่งผมก็มองตรงนี้ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของช่วงเวลา ยุคของพ่อแม่ผมต้องขวนขวายในการหาเงินเพื่อให้ครอบครัวมีความมั่นคง แต่โจทย์ในยุคของเรา เรื่องของการเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด มันกลับเป็นเรื่องอนาคตของสังคม ของบ้านเมืองมากกว่า โจทย์ของเราคือเราจะอยู่ในสังคมนี้อย่างมีความสุขไปได้อีกนานแค่ไหน

GM : มีบางคนบอกว่าพวก Me Generation สนใจแต่ตัวเอง ถ่ายเซลฟี่ สุขนิยม จริงๆ แล้วเขามีความหวังต่อสังคม เขาช่วยกันผลักดันสังคมกันได้จริงหรือ

พิริยะ : เรื่องของปากท้องเราได้รับการรองรับจากครอบครัวอยู่แล้ว เราจึงเริ่มมองหาสิ่งอื่นที่ต่างออกไป บางกลุ่มอาจจะไปหาเรื่องวัตถุ แต่ก็มีอีกบางกลุ่มที่อยากทำอะไรที่มีประโยชน์ อย่างน้องๆ อาสาสมัครในทีมตอนนี้ ก็ต้องใช้เวลาช่วงใกล้สอบมาทำงานให้เรา ต้องทุ่มเทเวลามากมาย เขาเข้ามาก็เพราะเขาเชื่อว่าศักยภาพของตัวเขา สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเจเนอเรชั่นนี้ไม่จำเป็นต้องมีแค่เด็กเห็นแก่ตัว แต่เด็กกลุ่มนี้มีศักยภาพมากเกินวัยตัวเองด้วยซ้ำ

อรรณวุฒิ : สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบจากการแปล TED Talks มานานหลายปี คือพบว่าคนรุ่นใหม่มีความกระหายต่อเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์  เราไม่ได้มีแต่เสพสิ่งไร้สาระ ตอนที่ผมเริ่มต้นมาแปลซับไทยกับเนื้อหาสาระแบบนี้ ผมก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าจะมีคนดูเหรอ มีคนเขาสบประมาทกันว่าคนไทยไม่ชอบหรอกพวกเรื่องที่มีสาระแบบนี้ คนไทยชอบดูแต่อะไรตลกโปกฮา

แต่สิ่งที่ผมค้นพบคือจริงๆ แล้วคนไทยเรากระหายในการหาความรู้ ตอนทำซับไตเติลใหม่ๆ ผมเปิดเฟซบุ๊คแฟนเพจขึ้นมาเพื่อแชร์คลิปที่แปลแล้ว ปรากฏว่ามีคนเข้ามาขอบคุณเยอะมาก บางคนหลังไมค์มาบอกว่าขอบคุณมากเลยนะคะที่ช่วยแปลซับไตเติล มันเป็นกำลังใจให้กับเด็กๆ อย่างหนู มีบางคนที่ผมไปส่องดูในเฟซบุ๊คของเขา อาจจะดูเป็นเด็กกะโปโลทั่วไป

อยู่ดีๆ เขาก็ส่งเมสเสจเข้ามา บอกว่าช่วยแปลทอล์กนี้ให้ผมหน่อยครับ มันเป็นทอล์กเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือ คุณรู้จักเว็บ catdumb.com ไหม สำนักข่าวแมวเหมียว เขาแชร์ TED Talks ด้วยนะ ผมเห็นเขาเอารูปจาก TED : Thai Translators ที่เราปล่อยแชร์อยู่แล้ว ไปแปะพร้อมกับคำบรรยาย เป็นเรื่องของผู้หญิงเกาหลีเหนือที่ลี้ภัยออกมา เป็นอะไรที่ผมประทับใจ ไม่คาดคิดว่าสำนักข่าวแมวเหมียว ซึ่งปกติจะแชร์เรื่องเบาสมองทั่วไป เริ่มแชร์ TED Talks ผมเลยมองว่าจริงๆ แล้ว อาจจะเป็นเพราะอยู่ในช่วงที่เรากำลังตื่นตัวเรื่องของอาหารสมองมากขึ้น แต่ว่ามันยังใช้เวลา ต้องค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในสังคม

GM : คุณมีความคิดเห็นกับสื่อมวลชนในปัจจุบันอย่างไร คุณเสพข่าวสารทางไหนบ้าง

พิริยะ : ผมไม่ดูทีวี และก็ไม่ได้อ่านนิตยสารมาหลายปีแล้วครับ อะไรที่มีโฆษณาอยู่ในนั้น ผมแทบจะไม่เปิดเลย

อรรณวุฒิ : ผมก็เพิ่งรู้นะว่าพิก็ไม่ดูทีวีเหมือนกัน แล้วผมเคยถามเพื่อนหลายคน เขาก็ไม่ได้เปิดทีวีกันมานานแล้ว ซึ่งน่าสนใจนะ อาจจะเป็นเทรนด์ใหม่ อย่างตัวผมเองตอนแรกนึกว่ามีแค่ผมเองที่แปลกจากคนอื่น เฮ้ย! มึงก็ไม่ดูทีวีเหรอ ทีวีก็มีตั้งอยู่ในห้องนอนนะ แต่ว่า โอ้โฮ! คือนับเป็นปีได้แล้วมั้ง ที่ไม่ได้ไปแตะปุ่มเปิดเลย

พิริยะ : ผมว่าทุกวันนี้เรามีสื่อใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาหลายแบบ อย่างผมเองชอบฟัง Audio Book ช่วงนี้กำลังอินสามก๊ก มันก็จะมีสามก๊กฉบับคนขายชาติ เป็นหนังสือเสียง ก็เอามาเปิดฟังไปเรื่อยๆ ช่วงขับรถ ไม่งั้นก็เปิดเพลงฟัง แต่พอมีเพลง คสช. ดังขึ้นมาก็ปิด เพราะรู้สึกแปลกๆ เวลากำลังโดน Propaganda อะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา หรือเพลงปลุกใจที่เปิดซ้ำๆ จะรู้สึกไม่ดี เดี๋ยวนี้คิดว่าถ้าอยากรู้เรื่องอะไร เราก็ไปเปิดยูทูบหาเอา

อรรณวุฒิ : พวกเราใช้สื่อออนไลน์กันเยอะขึ้นมาก สิ่งสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับทีวีที่ผมยังดูอยู่ก็คือ The Voice แต่ไม่ได้เปิดดูทางทีวีนะ ผมดูผ่านยูทูบ เวลาเขาปล่อยทีวีปุ๊บ แป๊บเดียวก็จะขึ้นยูทูบแล้ว

GM : ทีวีดิจิทัลที่เขาประมูลกันมาเป็นพันๆ ล้าน เขาไม่สามารถจะเข้าถึงพวกคุณได้เลยสิ

อรรณวุฒิ : ไม่รู้เหมือนกันว่าคนอื่นๆ ในวัยนี้เขาเป็นแบบนี้กันทั้งหมดหรือเปล่า มันเหมือนโลกทุกวันนี้มีเลือกมากขึ้นด้วยแหละ เราอยากดูอะไร เราก็ค่อยเปิดไปดูเอาเอง ไม่ใช่การเปิดทีวีทิ้งไว้แล้วปล่อยให้มันฉายไปเรื่อยๆ เขาเสนออะไรมา ก็คอยดูแค่นั้น ไม่ใช่แล้ว

พิริยะ : ผมโตมากับทีวียุคเกมโชว์รุ่งเรือง พวกสาระแนโชว์ ชิงร้อยชิงล้าน ทไวไลท์โชว์ แต่ทุกวันนี้ ถ้าเป็นรายการที่ผมยังอยากเสพอยู่ ก็คงจะเป็นพวกรายการคนค้นฅน หรือว่าแบบรายการทอล์กของทางไทยพีบีเอส

อรรณวุฒิ : ใช่ๆ ผมชอบพวกรายการตอบโจทย์ มีสาระดี เป็นการประชันกันทางความคิด ทางวิธีการพูดมากกว่า อะไรแบบนี้

พิริยะ : พวกเพื่อนๆ ที่มานั่งทำงานใน Hubba ผมก็เห็นเขาเสพข่าวสารจากยูทูบนะครับ

อรรณวุฒิ : ตอนนี้สื่อที่ผมเปิดรับมากที่สุด ก็น่าจะเป็นนี่ (ชี้ไปที่ Kindle บนโต๊ะ) แล้วก็พวกเว็บไซต์ต่างๆ ผมเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่แต่ละคนจะมีเว็บไซต์ข่าวสารที่เขาติดตามประจำตัวอยู่ อย่างผมที่ทำงานสายเทค ก็จะมีเว็บไซต์ อย่างเช่น The Next Web หรือถ้าจะติดตามข่าวสารเพื่อสังคมก็จะมี good.is อะไรอย่างนี้ ก็จะเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสายนั้นๆ โดยตรงไปเลย แล้วก็เนื้อหาค่อนข้างจะเจาะลึกในระดับที่เราไม่ได้เห็นตามสื่อทั่วไป

พิริยะ : อย่างคนรุ่นพ่อผมก็เริ่มเสพข่าวทางไลน์แล้วนะ แต่ก่อนพ่อยังรับหนังสือพิมพ์ทุกวัน เดี๋ยวนี้ไม่รับแล้ว พอเขาเปิดเว็บเป็น อ่านข่าวจากไลน์เป็น ผมคิดว่ามันเร็วมากๆ ขนาดเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองที่พ่อยังบ่นผมเรื่องเล่นคอมพ์เยอะอยู่เลย เดี๋ยวนี้มันกลับกันแล้ว คิดว่าถ้าสื่อปรับตัวไม่ทัน ก็จะล้มหายตายจากกันไป

GM : แบบนี้พวกนักโฆษณาจะเข้าถึงคุณได้อย่างไร

อรรณวุฒิ : ต้องบอกว่าตัวผมเองไม่ดูทีวีก็จริง แต่ผมชอบดูโฆษณานะ โฆษณาที่ผมจะดู ก็คือพวกที่เข้าไปในเว็บไซต์ ADintrend โฆษณาตัวไหนเป็น Popular View ในวีคนี้ ผมเจาะจงดูโฆษณาเลยละ ว่าเขาถ่ายทอดอะไรออกมาบ้าง เนื้อหาที่เขาสื่อมา แต่ไม่ได้อยากโดนยัดเยียดบอกว่าสินค้าตัวนี้ดีนะ ราคาถูกนะ ต้องซื้อนะ ผมอยากจะรู้ว่าการซื้อสินค้าหรือซื้อบริการชิ้นหนึ่งของแบรนด์นี้ มันมีความหมายอะไรต่อชีวิตผม โฆษณาหลายๆ ตัวที่ผมชอบ ก็เช่น พวกบริษัทประกันชีวิต หรือพวกค่ายโทรคมนาคม เขาก็มีคอนเทนต์ที่รณรงค์เรื่องครอบครัว เรื่องการสื่อสารของมนุษย์ ซึ่งประเด็นนี้ ผมก็อยากจะโยงกลับมาหา TED ว่าจริงๆ แล้วคุณภาพของเนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสื่อสาร สุดท้ายมันคือคอนเทนต์ที่เราเสพแล้วรู้สึกว่ามีความหมาย แล้วก็ให้อะไรแก่ชีวิตเราด้วย

GM : แปลว่าคอนเทนต์ที่เป็นคอนเทนต์จริงๆ ถึงจะอยู่ได้ใช่มั้ย ถึงแม้ว่ามันจะเป็นโฆษณา ก็ต้องเป็นโฆษณาที่มีคอนเทนต์ที่ดีพอ

อรรณวุฒิ : ครับ จริงๆ บทความหลายชิ้นที่เป็นแอดเวอร์ทอเรียลในเว็บไซต์ของพวกสายเทคทั้งหลาย ผมก็อยากเปิดอ่านนะ อย่างเว็บ Blognone บางอันที่เป็นแอดเวอร์ทอเรียล ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่า เออ…แบบนี้ไม่อ่านดีกว่า แต่ผมกลับรู้สึกอยากอ่าน เพราะคิดว่าสิ่งที่เขาเขียนมาเป็นคอนเทนต์ที่มีข้อมูลจริงๆ แล้วก็คนตั้งใจเขียนจริงๆ ก็ทำให้เรายังอยากอ่านอยู่

พิริยะ : แล้วถึงสื่อฟรีจะมีเยอะ แต่สื่อฟรีก็มีเครดิตความน่าเชื่อถือต่างกัน อย่างเช่น Thai Publica อย่างนี้ก็จะเป็นความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง เช่น Ohozaa ก็จะมีความต่าง เครดิตของคนทำสื่อสมัยนี้จะถูกทำลายเร็วมาก ยิ่งเขาผลิตคอนเทนต์คุณภาพแย่ออกมาเท่าไร โอกาสที่เขาจะถูกลดเครดิตก็มีมากเท่านั้น คนอ่านเลือกได้ เรามีชอยส์เยอะ

GM : คนรุ่นคุณไปเอา Media Literacy แบบนี้มาจากไหน สมัยนี้เขามีสอนกันในโรงเรียนเหรอ

พิริยะ : ความรู้พวกนี้ก็มาจากอินเทอร์เน็ตแหละครับ พอเราเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ได้เร็วขึ้น อย่างเฟซบุ๊คถ้าเราติดตามหน้าฟีดอยู่ตลอด เราก็จะรู้ว่าคนยุคนี้เสพสื่อจากไหนกันบ้าง

อรรณวุฒิ : แต่ของผมนี่เคยเรียนเรื่องนี้สมัยตอนชั้นมัธยม อยู่ที่ประเทศเนปาล ผมติดตามครอบครัวที่ไปรับราชการที่นั่น ผมไปเข้าเรียนโรงเรียน

ที่เขาใช้หลักสูตรของประเทศอังกฤษ มีอยู่วิชาหนึ่งที่ตอนแรกผมก็ไม่ชอบเรียนเลย คือวิชาประวัติศาสตร์ แต่ในทุกวันนี้ ผมพบว่านี่เป็นวิชาที่สำคัญที่สุดในชีวิต เป็นวิชาที่สร้างวิธีคิดให้ผมเยอะมาก สิ่งที่จำได้แม่น คือตอนที่ครูสอนช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงเวลากึ่งกลางระหว่างนั้น ยาวนานประมาณ 20 ปี ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทำไมจากประเทศที่เพิ่งแพ้สงครามไป กลับกลายเป็นคนที่เริ่มต้นสงครามครั้งใหม่ ซึ่งเป็นครั้งที่ร้ายแรงกว่าเดิม ครูเป็นชาวอังกฤษ เขาบอกว่าประเทศพันธมิตรนั่นแหละเป็นผู้ผิด ที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น เขาบอกว่าประเทศของเขาที่เป็นฝ่ายพันธมิตรพลาด พอชนะสงครามแล้วก็กลับไปซ้ำเติมย่ำยีผู้แพ้ ไปเรียกเงินค่าเสียหายค่าอะไรต่ออะไรเรื่องของสื่อมวลชน เขาก็สอนในช่วงนี้แหละ ตัวอย่างข้อสอบข้อหนึ่ง เขาโยนภาพสมัยสงครามตอนนั้นมาให้เราดู พร้อมมีแคปชั่นคำบรรยาย และระบุว่าเอามาจากหนังสือพิมพ์อะไร เป็นภาพของร้านชาวยิวที่โดนทุบทำลาย แล้วก็มีสัญลักษณ์ต่อต้านยิวระบายไว้ที่หน้าร้าน มีทหารเยอรมันยืนอยู่ ติดตราสวัสติกะอยู่ตรงต้นแขน แล้วเขาก็ให้เราอธิบายรูปนี้ คุณสามารถตีความได้ไหมว่าภาพนี้สื่ออะไรกับคุณ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือคุณจะต้องบอกได้ว่าสิ่งที่คุณตีความนั้น อาจตีความผิดโดยสิ้นเชิงก็ได้

สิ่งแรกที่ตีความได้คือพวกทหารนาซีมาบุกเผาทำลายร้านชาวยิว แต่คุณก็ต้องเข้าใจด้วย ว่าเฮ้ย! จริงๆ แล้วภาพนี้อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ โดยดูจากแหล่งที่มาของข่าว มันมาจากหนังสือพิมพ์ใต้ดินของกลุ่มต่อต้านฮิตเลอร์ คุณก็ต้องบอกได้ว่า มันอาจจะไม่ใช่ทหารกลุ่มนี้ที่เข้าไปบุกทำลายร้านชาวยิว แต่เกิดมีการบุกทำลายขึ้นมาก่อน แล้วทหารพวกนี้อาจจะได้รัคำสั่งให้ไปสำรวจความเสียหาย ซึ่งอาจเป็นขบวนการต่อต้านฮิตเลอร์ที่สร้างข่าวเท็จเพื่อดิสเครดิตฮิตเลอร์ก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าทักษะการเสพสื่อให้ได้ทั้งสองด้านเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเลย

GM : คิดอย่างไรกับบทบาทของสื่อเก่าต่อประเด็นการเมืองในประเทศไทยที่ผ่านมา

พิริยะ : การเทคไซด์มากเกินไป สุดท้ายจะเป็นการทำลายตัวสื่อเองนะ เพราะว่าพอคนเสพเริ่มฉลาดมากขึ้น มีชอยส์มากขึ้น ใครที่เทคไซด์ชัดเจน วันที่เหตุการณ์สงบลง ผมว่าเขาก็จะหัวเน่านะ ผมว่าเด็กสมัยนี้รู้อยู่แล้วว่าสื่อไหนเทคไซด์ นำเสนอข้อมูลบิดเบือน และเด็กๆ อย่างเราก็เบื่อมากครับ มีแต่คนรุ่นพ่อแม่ของเราเท่านั้นแหละที่ยังติดตามสื่อพวกนี้ตลอด เราก็จะงงๆ ว่าพ่อจะดูอะไรนักหนา เปิดทีวีช่องนี้แช่ไว้ทั้งวัน

GM : มี TED Talks ตอนหนึ่ง พูดถึง Filter Bubbles ที่บอกว่าโซเชียลมีเดียและเสิร์ชเอนจิน มีอัลกอริทึมบางอย่างที่อาจจะคัดกรองเฉพาะสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว มานำเสนอให้เราดูเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้คนรุ่นใหม่มีนิสัยสุดลิ่มทิ่มประตูไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากขึ้นไปเรื่อยๆ

พิริยะ : มีสปีคเกอร์ของเราคนหนึ่งชื่อพี่พล หุยประเสริฐ เขาเป็นคอนเสิร์ตดีไซเนอร์ เขาก็เล่าประเด็นนี้ให้ผมฟัง บอกว่าเขาไม่เชื่อนะที่คนบอกว่าโลกเรากว้างขึ้น เขาบอกว่าโลกเราแคบลง มันแคบแค่หน้านิวส์ฟีดของเราเท่านั้นเอง เราเลือกที่จะเป็นเฟรนด์กับคนที่เหมือนเรา และรับข้อมูลเฉพาะที่เราชอบ นั่นแปลว่าสิ่งที่เราได้เปิดรับในแต่ละวันๆ และเราเชื่อว่า

ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันยังมีอะไรอีกนอกเหนือจากนั้นอีกเยอะ แต่ผมคิดว่าด้วยความง่ายที่จะหาข้อมูล จริงๆ แล้วมันใช้แรงแค่คลิกเดียวเท่านั้นเองนะ ที่เราจะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลหรือความเห็นของฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นมันเป็นโอกาสมากกว่า เทียบกับสมัยก่อนที่พอมีปฏิวัติขึ้นมา เราก็จะได้เห็นแค่คนนี้พูดคนเดียวไป หรือว่าทีวีก็ดูได้แต่ช่องนี้ช่องเดียว

•  Eli Pariser :  Beware online ‘filter bubbles’ – TED2011

GM : ทำยังไงให้เรามีจิตใจที่เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลาย เราต้องฝึกตัวเองยังไง

อรรณวุฒิ : ต้องดู TED บ่อยๆ ครับ (หัวเราะ) ล้อเล่นนะครับ แต่การยอมรับความคิดที่หลากหลายก็คือจิตวิญญาณของ TED เลย

พิริยะ : อย่างของผมเรียนโรงเรียนรัฐบาล ตอนเด็กๆ เราก็ถูกสอนให้ทำอะไรเหมือนกัน อย่างตอนเรียนภาษาไทย อาจารย์บอกว่าให้วาดรูปบุเรงนอง ผู้ชนะสิบทิศ แล้วก็เอาหนังสือแบบเรียนให้วาดก๊อบปี้ให้เหมือนกัน ตอนเด็กๆ ผมเคยชอบวาดการ์ตูน ก็เลยวาดแบบมุมมองอื่น ใส่สี ใส่ลายการ์ตูน แล้วก็ส่งด้วยความภาคภูมิใจ อาจารย์ก็บอกให้ไปทำมาใหม่ ผมก็ถามว่าทำไม อาจารย์ก็บอกว่ามันไม่เหมือนที่สั่งไป ไม่เหมือนเพื่อน ตอนนั้นโมโหมาก ผมเลยตั้งคำถามมาตลอดว่า เราต้องเหมือนกันจริงๆ เหรอ เราแตกต่างกันไม่ได้เหรอ ถ้าเรามีเหตุผลในการต่าง

The Search For Ultimate Truth

GM : เรื่องราวที่ควรจะขึ้นไปพูดบนเวที ควรจะเป็นเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเมืองหรือศาสนาใช่มั้ย

อรรณวุฒิ : สำหรับ TED จะซีเรียสกับการฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า จริงๆ มันมีหลายทอล์กที่พูดถึงเรื่องการเมือง แต่เป็นลักษณะของโครงสร้างทางการเมือง เขาหลีกเลี่ยงการพูดโน้มน้าวให้คนไปเชื่อในฝั่งหนึ่ง มีทอล์กหนึ่งเป็นเรื่องระบบการเมืองในอเมริกา ว่าสุดท้ายแล้ว การที่คุณจะเลือกประธานาธิบดี มันจะผ่านการเลือกของคนกลุ่มหนึ่งมาก่อนแล้ว เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจ เป็นคนที่มีเงินเท่านั้นที่จะสามารถโปรโมตโปรไฟล์นักการเมืองคนนี้ออกไปสู่วงกว้าง เพื่อให้เรามาเลือกอีกที สุดท้ายแล้วเรากำลังผิดสัญญากับ Declaration of Independence ที่บอกว่าทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นระบบการเลือกตั้งของอเมริกาก็ควรจะมี

การเปลี่ยนแปลง นี่ก็เป็นการพูดเรื่องการเมือง แต่ไม่ได้ชี้นำไปข้างใดข้างหนึ่ง

: ทำไมเรื่องการเมืองกับเรื่องศาสนาเป็นเรื่องที่เราไม่ควรจะมาคุยกัน

อรรณวุฒิ : เรามีสิทธิที่จะพูดสิ่งที่เราเชื่่อนะ ตราบเท่าที่มันไม่ได้ไปทำร้ายผู้อื่น ถ้าเกิดเราอยากจะชักจูงให้คนอื่นเชื่อแบบเรา แล้วเรามีหลักฐานประกอบ มันก็พอรับได้นะ แต่ถ้าเราไปด่าว่าความเชื่ออีกอย่างหนึ่งไม่ดี โดยไม่มีหลักฐานอะไรประกอบเลย ผมว่ามันเป็นการล่วงล้ำพื้นที่ของคนอื่นมากเกินไป

GM : สิ่งที่สปีคเกอร์ของ TED ทั้งโลกพูดไว้ มีคอนเซ็ปต์ร่วมกันหนึ่งเดียวไหม

พิริยะ : ผมคิดว่าสิ่งนั้นคือความแตกต่างนี่แหละ เพราะว่า TED มีความแตกต่างและหลากหลายมากๆ มันจึงทำให้ TED มาถึงทุกวันนี้ได้ ถ้า TED ทำเพื่อเสิร์ฟคนกลุ่มเดียว สมมุติเป็นทอล์กสำหรับนักธุรกิจอย่างเดียว มันก็คงแคบลงเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่ TED แตกออกไปเป็น TED อีกหลายอย่าง คนจากหลากหลายสาขาเข้ามาฟังด้วยกัน

GM : คุณกำลังจะบอกว่า ความจริงแท้หนึ่งเดียวในโลก คือความแตกต่างหลากหลายเหรอ

พิริยะ : ใช่ครับ แล้วเราจะอยู่กับความแตกต่างนั้นอย่างไรด้วยครับ ผมคิดว่าปัญหาของสังคมนี้ หลักๆ มันก็คือเราคิดว่าต้องเหมือนกันไปตลอด

GM : โลกเราขาดความแตกต่างตั้งแต่เมื่อไหร่

อรรณวุฒิ : สิ่งที่เราขาดคือการยอมรับและเปิดใจรับฟังความแตกต่างมากกว่าหรือเปล่าครับ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ความแตกต่างนั้นมีอยู่แล้ว อย่างสปีคเกอร์ของเราหลายคน บางคนทำงานสายวิทย์แล้วไปสนใจเรื่องศิลปะ บางคนทำงานสายศิลปะแต่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ประยุกต์ อย่างคุณพิเชษฐ์ กลั่นชื่น เขาทำงานศิลปะร่วมสมัย เขาบอกว่ากำลังวิจัยเรื่องการเดินของปู แล้วเขาก็จะเอาตรงนั้นมาทำเป็นนาฏศิลป์ของเขา ในการประชุมครั้งหนึ่งของพวกเรา คุณพิเชษฐ์มาเจอกับสปีคเกอร์อีกท่านหนึ่งที่ทำด้านชีวเคมีมา กำลังโฟกัสเรื่องของเอนไซม์ คุณพิเชษฐ์เขาก็พูดว่า มันจะมีวิธีไหนที่เราจะแปลงเอนไซม์ให้กลายมาเป็นรูปแบบของการเคลื่อนไหว นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเรามีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่อาจจะด้วยสื่อหรืออะไรก็ตาม ที่เคยทำให้เราปิดรับความแตกต่างเหล่านั้น ทั้งที่เรามีศักยภาพอยู่อีกมากที่จะต่อยอด

พิริยะ : ผมคิดว่างานทอล์กอีเวนท์แบบ TED เป็นแพลตฟอร์มชนิดหนึ่ง เป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจากฝั่งตะวันตก ที่เราเอามาปรับใช้กับฝั่งตะวันออก เพื่อเชื่อมความแตกต่างของเราได้ มีอะไรหลายๆ อย่างที่คนตะวันตกเองก็ตะลึง อย่างทอล์กของ โจน จันได มีคนต่างชาติเข้ามาเปิดดูและแสดงความเห็นมากที่สุดอันหนึ่ง คนตะวันตกเองก็ไม่เข้าใจว่า เฮ้ย! มันมีคอนเซ็ปต์แบบนี้อยู่บนโลกนี้ ในขณะที่พวกเรากันเองเวลาดูทอล์กนี้ ก็ค่อนข้างจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ดีอยู่แล้ว Slow Life เรื่องการอยู่กับตัวเอง แต่กับพวกฝรั่ง พอได้เจอความคิดแบบนี้ เขากลับเซอร์ไพรส์มาก มันไม่ใช่เรื่องใครดีกว่าใคร แต่แพลตฟอร์มแบบ TED เป็นเหมือนสะพานที่ทำให้ความคิดไหลไปมา

อรรณวุฒิ : มีอยู่ทอล์กหนึ่งซึ่งผมประทับใจมาก ตอนนั้นไปนั่งฟังตรงเวทีเลย ที่เอดินบะระ สกอตแลนด์ Eric X. Li เป็นคนจีนที่โตในอเมริกา เขาบอกว่าทุนนิยมไม่ใช่ทางออกเดียว แล้วในงานวันนั้น เขาก็พูดให้กับกลุ่มที่เกือบจะรวยที่สุดในโลกตะวันตก มีพลังที่สุดในโลกตะวันตก เขาบอกว่าระบอบการปกครองแบบจีนก็มีผลดีของมัน ซึ่งทอล์กนั้นคนฟังก็ลุกขึ้นมา Standing Ovation ให้เขาเยอะ เป็นการเอาความแตกต่างมาอยู่ในงานเดียวกัน

•  Jon Jandai : Life is easy. Why do we make it so hard?

– TEDxDoiSuthep

Eric X. Li : A tale of two political systems

– TEDGlobal 2013

GM : สิ่งที่ TED ทำนั้นแตกต่างจากสื่อเก่าอย่างไร อย่าง GM Magazine เราก็ทำ

บทสัมภาษณ์คนหนุ่มสาวที่มีแนวคิดดีๆ มาตลอดเหมือนกัน

อรรณวุฒิ : เห็นด้วยครับ สื่อต่างๆ เขาก็ทำเหมือนกันนะ ผมว่าเนื้อหาเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป มีเนื้อหาสาระเน้นๆ ออกมา จุดประสงค์ของเราน่าจะเหมือนกัน คือการเผยแพร่ความคิด เผยแพร่มุมมองจากแต่ละคนออกไป แต่สิ่งที่ต่างกันคือตรงแพลตฟอร์มมากกว่า อย่างพวกผมใช้วิธีการสร้างอีเวนท์ ซึ่งสุดท้ายแล้ว เรื่อง Circulation เรื่องของการเข้าถึงก็ยังจำกัดอยู่ ยังได้ไม่มากเท่ากับสื่อทั่วไป งานเรารับได้แค่ 550 คน แม้กระทั่ง TED ใหญ่ งานที่ผมไปสูงสุดก็น่าจะอยู่ประมาณแค่ 800-900 คนด้วยซ้ำ แล้วก็โฟกัสที่การเอาคนที่หลากหลายเข้ามาร่วมงานเพื่อให้ได้แลกเปลี่ยนความคิด ก็เลยมองว่าแพลตฟอร์มของเรามีข้อด้อยข้อดีต่างกัน

GM : สงสัยว่าถ้าพวกคุณไม่ดูทีวี ไม่อ่านนิตยสาร เปิดดูคลิป TED เปิดอ่านข่าวจากเว็บ ไลฟ์สไตล์ของพวกคุณมาจากไหน คุณเลือกแต่งตัวได้อย่างไร

อรรณวุฒิ : โอ้โฮ! ผมก็สายเนิร์ดเลยครับ (หัวเราะ) เวลาจะซื้อเสื้อ หรือซื้อรองเท้าอย่างนี้ ผมเปิดกูเกิล อ่านรีวิวในเว็บบอร์ดพันทิปว่ายี่ห้อไหนดี เช่น รองเท้าใส่เดินต้องเป็นโอนิซึกะ อะไรอย่างนี้ จะออกแนว Functional มากกว่า ฟังความเห็นจากคนอื่น

พิริยะ : อย่างตอนเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ช่วงนั้นก็จะอินเรื่องประชาชน ผมก็จะใส่เสื้อกล้าม หรือเสื้อม่อฮ่อมบ้าง คีบแตะตราช้างดาวไปเรียน ช่วงนั้นก็จะคิดแบบ ทำไมเราต้องใส่เสื้อเชิ้ตหล่อๆ ไปเรียนด้วย ทั้งๆ ที่ประชาชนเขากำลังลำบาก ช่วงนั้นก็จะอินอะไรแบบนั้นครับ

GM : คิดว่าในยุคต่อไป โลกเราจะถูกปกครองโดยพวกเนิร์ดๆ อย่างคุณมั้ย

พิริยะ : คงไม่ใช่ส่วนใหญ่หรอกครับ ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังมองที่ภาพลักษณ์ภายนอกกันอยู่

อรรณวุฒิ : เนิร์ดนี่คือจำกัดความยังไง

GM : ก็อย่างพวกคุณนี่แหละ

อรรณวุฒิ : (หัวเราะ) ผมก็จะมองภาพแบบคนที่อ่านหนังสือหนาๆ ไม่ชอบแต่งตัว เฉยๆ กับการเข้าสังคม ไม่จำเป็นต้องไปปาร์ตี้ อะไรต่ออะไร ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามีนัยสำคัญในการปกครองโลกอย่างไรนะ

พิริยะ : ผมเป็นสายชิลล์ๆ มากกว่าครับ ผมชอบนั่งร้านชิลล์ๆ นั่งคุยกัน ผมสนใจ Deep Conversation รู้สึกว่าการได้นั่งคุยกับใครสักคนนานๆ เราได้เห็นตัวตนของเขาในเชิงลึก ยิ่งถ้ามีเหล้า มันก็จะแบบทำให้เขาเปิดมาได้เร็วขึ้น ก็จะชอบแนวนั้นมากกว่า การไปเต้น แต่งตัวหล่อๆ ไปดูสาวๆ จะไม่ค่อยอินเท่าไหร่

GM : เวลาเทคโนโลยีใหม่ๆ จะกระจายตัวออก มันจะมีคนแบบพวกคุณที่เปิดรับเป็น

กลุ่มแรก

อรรณวุฒิ : แต่ผมนี่ Lag มากเลยนะ อย่างพวกแก็ดเจ็ตอะไรก็ไม่เคยใช้ตามเทรนด์ 2-3 ปีเปลี่ยนมือถือที คอมพิวเตอร์เครื่องล่าสุดใช้อยู่ 6 ปี จะเปลี่ยนก็เมื่อรู้สึกว่าสิ่งใหม่มันมีความหมายมากขึ้นสำหรับเรา ผมชอบเปิดรับความหมายใหม่ๆ ในทุกสิ่ง มากกว่าการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่นะ

พิริยะ : มันมีทอล์กที่ชื่อว่า How to start a movement เขาเล่าถึงทุ่งหญ้าแห่งหนึ่ง จู่ๆ ก็มีคนหนึ่งลุกขึ้นมาเต้น สปีคเกอร์บอกว่าคนที่สำคัญที่สุดน่ะ ไม่ใช่คนแรกที่ลุกขึ้นมาเต้น แต่คือคนที่สองที่กล้าเต้นตามคนแรกต่างหาก

•  Derek Sivers : How to start a movement – TED2010

GM : แปลว่าพวกคุณก็คือคนกลุ่มที่สองที่ลุกขึ้นเต้น

อรรณวุฒิ : จริงๆ แล้ว ก่อนหน้าพวกเรา ก็มีคนสนใจจะเอา TEDx เข้ามาจัดเยอะมาก แต่ในบริบทของเมืองไทย มันก็จะมีแค่เฉพาะที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ก็ยังไม่เคยเกิดสเกลนี้ขึ้น

: คนเชียงใหม่เปิดรับสิ่งใหม่เร็วกว่าคนกรุงเทพฯ เสียอีก

พิริยะ : ใช่ครับ ผมว่าเพราะเขามีชุมชนที่เหนียวแน่นกว่า กรุงเทพฯ เราหลากหลายมากจนต่อติดยาก เชียงใหม่เขาจะมีความภูมิใจในท้องถิ่น พอจะจัดงานอะไรขึ้นมาก็ร่วมแรงร่วมใจ แต่พอมาจัดกรุงเทพฯ เราจะรู้สึกว่ามีแรงเสียดทานเยอะกว่า เพราะกรุงเทพฯ น่าจะมีความเห็นต่างเยอะ พอมีแรงเสียดทานเยอะ ก็ยากสำหรับคนกลุ่มแรกที่จะมาเปิดงาน TEDx สเกลนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ

แต่สุดท้ายแล้ว เราไม่ได้ต้องการงานนี้ให้สเกลมันใหญ่ขึ้น คนเยอะขึ้น ตั๋วแพงขึ้น สุดท้ายแล้วเราแค่อยากจะบอกทุกคนว่า ถ้าไอ้เด็กพวกนี้มันจัดงาน TED สเกลนี้ได้ คุณก็จัดได้เหมือนกัน สุดท้าย ถ้าปีต่อๆ ไป TEDxBangkok จะดร็อปไป คนอาจจะไม่ได้ฮือฮากับกระแสเหมือนคราวนี้แล้ว แต่พวกเราเชื่อว่ามันจะผุดเป็นดอกเห็ดไปทั่วประเทศ คนรุ่นใหม่จะมีทางเลือกมากขึ้น อ๋อ…ฉันไม่ต้องเปิดนมก็ได้ยอดไลค์ ฉันไม่ต้องเป็นนักเลงไปต่อยกันแล้วอัดคลิปเพื่อยอดไลค์ ฉันตั้งใจทำอะไรสักอย่างให้มันดี มีโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ ผมคิดว่าตรงนี้งานของเราจะแสดงให้เห็นทางเลือกในชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้เยอะเหมือนกัน

GM : วินาทีที่พวกคุณปิ๊ง เฮ้ย! พวกเราลุกขึ้นมาเต้นตามคนบ้าที่เต้นคนแรกกันเถอะ วินาทีนั้นมันคืออะไร

อรรณวุฒิ : อย่างที่เล่าไป ว่าผมเริ่มมาตั้งแต่แปลซับไตเติล มันมีมุมมองที่ตัวผมเองดู TED แล้วได้ แล้วรู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงเรา แล้วก็อยากจะแชร์ต่อ คลิปแรกที่แปลคือของ Barry Schwartz พอแชร์ออกไปให้เพื่อนๆ แล้วเพื่อนดูไม่รู้เรื่อง ผมก็เลยแปลซับไปให้ แล้วปรากฏว่าเขาสนใจและแชร์ต่อ ก็เลยรู้สึกว่าตรงนั้นเป็นแรงผลักดัน เราได้รับมุมมองที่แปลกใหม่ที่เปลี่ยนความคิดเราจาก TED แล้วเราอยากจะแชร์ต่อให้คนอื่น

•  Barry Schwartz : The paradox of choice – TEDGlobal 2005

GM : มันไม่ใช่วินาทีมหัศจรรย์

เหมือนฟ้าผ่าลงมากลางกบาลอะไรประมาณนั้นเหรอ

อรรณวุฒิ : นั่นแหละครั้งสำคัญเลยนะ เมื่อคุณรู้ว่าคุณแปลซับไทย ณ วินาทีนั้น คุณไม่ใช่แค่คนแปลแล้ว คุณเป็นกระบอกเสียงของสปีคเกอร์เลย แล้วสมมุติคุณแปลออกมา200 คลิป คุณก็เป็นเสมือนร่างทรงสปีคเกอร์ 200 คนนั้น ที่มาพูดเนื้อหาในภาษาไทย สำหรับผมเอง จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่วินาทีที่เปลี่ยนแปลงให้ชีวิตผมดีขึ้น แต่มันเป็นวินาที

ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าได้มองเห็นอนาคต เห็นแพลตฟอร์มอะไรบางอย่าง ที่มันมีโอกาสจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ สำหรับผม นั่นคือฟ้าผ่าเปรี้ยงใหญ่

GM : แปล TED ตอนหนึ่ง คุณต้องใช้เวลานานแค่ไหน

อรรณวุฒิ : ประมาณ 6-8 ชั่วโมง บางคลิปอาจจะนานกว่านั้น ไปถึง 15 ชั่วโมง ต่อความยาวคลิป 10 กว่านาที วันหนึ่งก็ใช้เวลาว่างมานั่งแปลสัก 3-4 ชั่วโมง คลิปหนึ่งก็ทำอยู่ 3-4 วัน เหตุผลที่ยากคือทุกเรื่องที่พูดใน TED มันมีความใหม่ในตัวเอง เรื่องศัพท์ พวกสปีคเกอร์นี่ก็เป็นอะไรไม่รู้ ช่างสรรหาผลิตศัพท์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็เป็นปัญหากับเราแล้ว จะทำยังไงให้มันเป็นภาษาไทยแล้วยังเข้าใจได้อยู่ และสั้นพอที่จะอยู่บนจอวิดีโอ

GM : ทำไมไม่เอาเวลาว่างไปดูหนัง ไปเดินศูนย์การค้า อรรณวุฒิ : ผมก็ไปเดินห้าง ดูหนังเป็นประจำนะ

GM : แล้วสำหรับคุณ การมาทำ TEDx มันให้ความรู้สึกเหมือนการทำงานเพื่อมวลชนอะไรแบบนี้ใช่ไหม

พิริยะ : คิดว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันเลยครับ เพราะเรารู้สึกว่าการที่เราทุ่มแรง ทุ่มเวลา ทำอะไรบางอย่าง แล้วมีคนที่ได้พัฒนาขึ้น ผมจะรู้สึกฟินมากๆ ตอนที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัยปีสาม ก็นั่งกินเหล้ากับเพื่อน เราก็คุยกันว่า เราทำอะไรได้มากกว่าการนั่งกินเหล้าหรือเปล่าวะ เออ…ไปทำค่ายอาสาฯ กัน ตอนนั้นไม่เคยทำ ไม่มีเงิน ไม่มีทีม ก็ลองออกไปช่วยกันหาเงินสิ ทั้งๆ ที่มีผู้ใหญ่หลายคนบอกว่า เด็กค่ายอาสาฯ พวกนี้เป็นการเอาเงินไปโยนทิ้ง เอาเงินไปสร้างอิฐสร้างปูน แต่พอเราได้ลงมือทำจริงๆ เราเห็นว่ามีความแตกต่างอยู่ในสังคมจริงๆ สภาพความเป็นอยู่ของชีวิตต่างจังหวัด จนถึงวันสุดท้ายของการทำค่าย ตัวผมก็จะคลุกคลีกับเด็กๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว มีน้องคนหนึ่งชื่อน้องมายด์ เรียนอยู่ ป.2 เธอเดินเข้ามากอดผมแน่นมาก

พูดว่าถ้าโตขึ้นหนูจะเข้ามหาวิทยาลัยของพี่ให้ได้ โห! เขาพูดประโยคนั้น ด้วยแววตาแบบนั้น จุดนี้ทำให้ผมกับเพื่อนเชื่อว่า เราทุกคนสามารถทำอะไรเพื่อสังคมได้ เช่นเดียวกันกับ TEDx ด้วยแพลตฟอร์มนี้ มันก็สามารถทำให้เด็กๆ ที่อาจจะใช้มือถือไอโมบายอยู่ที่ต่างจังหวัดไกลๆ สามารถดูคอนเทนต์ของเรา แล้วผมคิดว่ามันจะสามารถเปลี่ยนชีวิตเขาได้ มันเป็นสิ่งเดียวกัน

การช่วยคนในเชิงของการพัฒนาปัญญา ผมรู้สึกว่านี่คือการให้ที่น่าจะดีที่สุดแล้วครับ

GM : เนื้อหาจาก TED สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงแค่ไหน

พิริยะ : ผมว่ามันเป็นการศึกษารูปแบบใหม่ จากสมัยก่อนเราจะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากครูอาจารย์ ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่เขาได้เรียนมา แต่ TED ด้วยรูปแบบที่สั้นกระชับ สามารถเสพได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ นักดับเพลิง ผู้ลี้ภัย หรือว่าคนพิการ ก็สามารถถ่ายทอดความรู้ของเขาได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนของประเทศ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ คุณสามารถได้ความรู้ที่คุณต้องการ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินเรียนแพงๆ หรือว่าต้องสอบติดมหาวิทยาลัยดังๆ

ผมคิดว่าเมืองไทยมีดีมานด์ของคนที่อยากได้ความรู้ ถ้าต่อไปมี TED Talks มากขึ้นเรื่อยๆ ผมว่าคนไทยก็จะสามารถเสพมันได้ง่ายขึ้น แล้ววันที่คนหันมาเสพเนื้อหาแบบนี้กันมากขึ้น คนก็จะเริ่มปรับแอตติจูดตัวเอง การเข้าใจมุมมองความคิดที่แตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้มันส่งผลไปถึงการลดความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมได้ด้วย แล้วเมื่อวันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ เมื่อมันมีความเท่าเทียมกันทางด้านความรู้ ผมคิดว่าความเหลื่อมล้ำหรือว่าปัญหาต่างๆ ในสังคม มันจะค่อยๆ ลดลงไปเอง เพราะสิ่งที่เราขาดตอนนี้ก็เป็นเรื่องการศึกษา

GM : แล้วเนื้อหาจาก TED เปลี่ยนแปลงตัวเราเองได้จริงแค่ไหน มันเหมือนการอ่านหนังสือ Self-Help หรือเปล่า

อรรณวุฒิ : ผมไม่ได้มองว่า TED เป็น Self-Help ที่จะบอกว่าคุณต้องทำอะไร แต่รูปแบบของ TED ทำให้คนได้เปิดเข้าไปสู่เรื่องราวที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งมันเป็นเรื่องของการเปิดใจยอมรับความแตกต่างมากกว่า คนหนึ่งมาพูดว่าโลกเรากำลังจะแตก เรากำลังจะอยู่บนโลกนี้ไม่ได้ แล้วต่อจากนั้นก็อาจจะมีอีกคนมาบอกว่าโลกยังมีความหวังอยู่ ซึ่งมันขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง แต่มุมมองทั้งคู่ก็ Valid พอๆ กัน เราไม่ควรมีสิทธิ์ชี้ขาดว่าอันใดอันหนึ่งมีความเป็น ‘ความคิดที่ควรค่าแก่การเผยแพร่’ มากกว่ากัน ซึ่งผมว่าการเปิดใจรับสิ่งแปลกใหม่นี่เอง ที่จะสามารถเปลี่ยนคนฟังได้ในระดับลึก อาจจะไม่ได้เห็นผลในทันที ตรงๆ แบบการอ่านหนังสือ Self-Helpแต่มันก็มีทอล์กที่สอนเราตรงๆ เหมือนกันนะ มีอันหนึ่งผมชอบมากเกี่ยวกับการใช้ทิชชู ที่มาบอกว่าเราควรใช้ทิชชูอย่างไรให้ช่วยโลกได้มากที่สุด เขาก็สอนว่าพอล้างมือเสร็จ สะบัดสิบสองที เสร็จแล้วใช้กระดาษทิชชูเช็ดอย่างไร ต้องพับอย่างไร แล้วค่อยทิ้ง ปรากฏว่ามันใช้ได้จริง แล้วก็เป็นอะไรที่ง่ายมาก ติดตรึงใจมาก ทุกวันนี้เวลาจะล้างมือ ผมก็จะสะบัดสิบสองทีแบบที่เขาสอนประมาณนั้น

•  Joe Smith : How to use a paper towel

– TEDxConcordiaUPortland

How to

talk like TED

GM : คนไทยเราสามารถขึ้นพูดบนเวทีได้เก่งๆ มี Creativity มี Inspire แบบนี้ได้มั้ย

พิริยะ : มันเป็นกระบวนการที่เราต้องทำงานร่วมกัน งาน TEDx จะไม่เหมือนกับงานอีเวนท์สัมมนาอื่นๆ ที่พอจะเชิญใคร เราก็โทรฯ ไปหา บอกว่าพี่ครับ งานจัดวันนี้นะครับ พี่ช่วยมาพูดเรื่องนี้ให้หน่อยนะครับ แล้วพอถึงวันงานก็ค่อยมาเจอกัน แต่สำหรับงาน TEDx เราต้องมานั่งคุยกัน พี่ช่วยเล่าชีวิตของพี่ให้ผมฟังหน่อย โตมายังไง ทำไมพี่ถึงสนใจเรื่องกลิ่น ทำไมพี่ถึงมาอินเรื่องหุ่นยนต์ พอผ่านกระบวนการนั่งคุยกันแล้ว สปีคเกอร์ก็จะพบคีย์เมสเสจอะไรบางอย่างของตัวเขาเอง แล้วสุดท้าย ด้วยแพสชั่นของพวกเขา แนวทางที่ TED แนะนำผู้จัดงาน ก็คือบอกว่าเราไม่ต้องไปหา Professional Speaker หรอก ให้มองหาเรื่องเล่า มองหาแพสชั่นมากกว่า พอเริ่มจากแพสชั่น แล้วเราค่อยๆ ขุดเรื่องเล่า ค่อยๆ พาเขาเข้าไปดูว่า จริงๆ แล้วแพสชั่นของเขาคืออะไร เราช่วยเขาเชพประเด็น ช่วยเขาส่องไฟว่ามุมนี้น่าสนใจนะ ทุกคนอาจจะไม่ใช่นักพูดที่พูดคล่อง ดูดีมีเสน่ห์ แต่ถ้าพูดออกมาจากแพสชั่นจริงๆ ผมเชื่อว่าคนดูจะสามารถสัมผัสได้

GM : เราต้องอาศัยหนังสืออย่าง Talk like TED หรือว่า How to deliver a TED Talk หรือเปล่า

อรรณวุฒิ : ไม่ต้องเลยครับ TED มีไกด์ไลน์ส่งมาให้ผู้จัดงานอยู่แล้ว ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วหนังสือพวกนั้น พอเป็นแนวทางได้ แต่เป็นการวิเคราะห์จากมุมมองบุคคลภายนอก TED ซึ่งอาจจะไม่ได้ตรงกับทาง TED คิดเสมอไป อย่างการจัด TEDx เขาก็จะมีแหล่งข้อมูลมาให้ มี Google Hang Out ที่เป็นการร่วมประชุมกันระหว่าง TEDx Organizer ทั่วโลก มาแลกเปลี่ยน มาช่วยให้คำแนะนำกัน เราสามารถนัดคุยกันออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ก็จะมีการเก็บข้อมูลทั้งไกด์ไลน์ ทั้งการพูดคุยระหว่างกันเอาไว้

GM : พวกคุณเรียนการพูดมาจากไหน จึงสามารถไปโค้ชให้เขาขึ้นเวที TED ได้

พิริยะ : ผมเคยผ่านการโต้วาทีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาก่อน และเป็นพิธีกรในงานกิจกรรมนักศึกษา จัดงานสันทนาการต่างๆ ซึ่งเราไม่ได้ไปโค้ช ไม่ได้เป็นครูให้กับสปีคเกอร์ อย่างที่บอกถึงกระบวนการ ว่าเราไปนั่งคุยเพื่อตกตะกอนเรื่องราวของเขา เพื่อค้นหาว่าจริงๆ แล้วเขาอยากจะสื่ออะไรให้คนดู องค์ประกอบของทอล์กที่ดี ประกอบด้วย Storytelling และ Call to Action นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องพยายามให้เกิดขึ้น Storytelling หมายถึงการยกตัวอย่างด้วยการเล่าเรื่องที่ได้ไปประสบพบเจอมา ส่วน Call to Action ก็คือเมสเสจของทอล์กนั้นๆ ว่าคนฟังได้อะไรกลับไป แล้วเขาจะได้ลงมือ Action จริงๆ ที่น่าดีใจก็คือสปีคเกอร์ทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก คือทุกท่านยุ่งในงานของตัวเองอยู่แล้ว แต่ว่าต้องใช้เวลาในการทำสคริปต์ เตรียมทอล์กตรงนี้เยอะมาก เขาก็ต้องซ้อมแล้วซ้อมอีก อย่างที่เท็ดใหญ่ รู้สึกจะประมาณ 6-8 เดือนต่อหนึ่งทอล์ก

อรรณวุฒิ : ส่วนตัวผมต้องบอกเลยว่าผมไม่ใช่นักพูด แต่ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีกับ TED มากว่า 4 ปีในหลายแง่มุม ทั้งเป็นนักแปล ผู้ประสานงานนักแปล และผู้เข้าร่วมงาน TED ทำให้ผมสามารถเสนอคำแนะนำในแง่ของรูปแบบเนื้อหาของ TED ได้

GM : พนักงานบริษัทสักคนหนึ่ง จะค้นพบแพสชั่นตัวเองได้ยังไง เวลาเขาจะขึ้นเวที TED เขาจะเล่าเรื่องอะไร

พิริยะ : ก็ค่อนข้างยากนะครับ คือนี่พูดตามตรง อย่างสปีคเกอร์ของเรา เราก็ดูจากผลงานเก่าๆ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเป็นใครก็ตาม อาจจะยังไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จ โด่งดัง แต่ถ้าว่าได้เริ่มลงมือทำอะไรบางอย่าง ผมว่าคนกลุ่มนี้น่าจะมีอยู่เยอะพอสมควรแล้ว

GM : ทำไมเดี๋ยวนี้คำว่า ‘แพสชั่น’ มันช่างสำคัญเหลือเกิน

พิริยะ : ปัจจัยสี่เรามีพร้อมแล้ว เรากินอิ่ม มีที่นอน ความสุขของเราจึงล้ำขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ที่ว่าเราต้องการอาหารในเชิงของจิตใจมากขึ้น เพราะด้วยความเครียดของสังคม การทำงาน เดี๋ยวนี้แค่ขึ้นบีทีเอสก็เครียดแล้ว ผมเลยคิดว่าแพสชั่นเป็นอาหารใจ ที่มันจะขับเคลื่อนชีวิตเราไปได้ เพราะว่า

ถ้าทุกวันนี้ เราทำงานกันเพื่อเงินอย่างเดียว เราก็รู้ๆ กันแล้วว่าเงินไม่ใช่ทางออกของความสุขจริงๆ เพราะฉะนั้นการทำอะไรที่เลี้ยงดูทั้งตัวเอง ครอบครัว แล้วก็หล่อเลี้ยงหัวใจไปได้ด้วย น่าจะเป็นรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ต่อๆ ไป

GM  ถ้าต้องตื่นตีห้า อาบน้ำแต่งตัวออกจากบ้าน ฝ่ารถติดไปออฟฟิศ นั่งทำงานจนถึงหกโมงเย็นจึงค่อยฝ่ารถติดกลับถึงบ้านสองทุ่ม สิ้นเดือนก็มารับเงินเดือน คงไม่มีเวลาจะมาถามเรื่องแพสชั่น

อรรณวุฒิ : แต่กิจวัตรผมต่างจากภาพที่คุณว่ามามากเลยครับ ผมเข้างาน 11 โมงเช้า เลิกงานบางทีก็โดดออกมาบ้าง (หัวเราะ)

HM  นี่ไม่ใช่บริษัทของบ้านคุณเองใช่มั้ย

อรรณวุฒิ : ไม่ใช่ๆ เป็นบริษัทที่ผมไปสมัครตามปกติ ทำมาประมาณสองปีแล้ว

GM : เจ้าของบริษัทนี้เข้าออฟฟิศตอนเที่ยงใช่ไหม

อรรณวุฒิ : (หัวเราะ) ไม่ๆ เจ้าของบริษัทเข้าตรงเวลา มีผมเองนี่แหละที่เข้าสาย แต่มองว่ารูปแบบของชีวิตมันเปลี่ยนไปหมดแล้วนะ การทำงานในยุคนี้ คือขอแค่ให้คุณทำงานเสร็จ ได้คุณภาพในระดับที่ตกลงกันไว้ ก็โอเคแล้ว มันไม่ได้เป็นงานแบบสายพานลำเลียง ที่เราต้องผลิตจำนวนเท่านี้ๆ ต่อชั่วโมง พอลักษณะการทำงานเปลี่ยน ก็เลยทำให้การใช้เวลาของเราเปลี่ยน ถ้าเราสามารถจัดการตัวเองได้ จัดการเวลาได้ มันก็เปิดกว้างให้เราสามารถไปทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย

พิริยะ : อย่างผมเลือกสมัครงานประจำตามแพสชั่นตัวเองตั้งแต่เรียนจบมาเลย คือจริงๆ เรียนจีนศึกษามา ก็พูดจีนได้ อังกฤษได้ ที่บ้านมีธุรกิจ งานที่น่าจะทำได้ก็คือเป็นล่าม เป็นจัดซื้อต่างประเทศ แต่ก็ถามตัวเองอยู่ตลอด ว่าเราอยากตื่นขึ้นมาทุกเช้าๆ เพื่อทำสิ่งนี้จริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เดือนแรกที่เรียนจบ ก็ไปสัมภาษณงานไว้หลายที่ และก็ไปสัมภาษณ์ TEDx

ChiangMai ด้วย พอทาง TEDxChiangMai ตอบกลับมา ก็รู้ชัดแล้วว่า เราอยากทำสิ่งนี้

G: เพราะ TED มีชื่อเสียงในระดับโลก คนหนุ่มสาวจึงอยากมาทำงานอาสาสมัครภายใต้ชื่อแบรนด์นี้ มันอาจจะเป็นเรื่องชื่อเสียง มากกว่าเรื่องแพสชั่น

พิริยะ : อย่างตัวผมเองก่อนทำงานกับ TEDx กับหลังทำงานกับ TEDx ความรู้สึกที่มีกับ TED เปลี่ยนไป เมื่อก่อนมองว่า TED เป็นเหมือนสมมติเทพเลยนะ มันเป็นสถานที่สำหรับคนเท่ๆ ต้องเป็นคนเก่งเท่านั้นจึงเข้าไปได้ แต่พอเข้ามาทำจริงๆ แล้ว TEDx ก็เป็นแค่โลโก้หนึ่ง แบรนดิ้งหนึ่ง สุดท้ายแล้วจึงรู้ว่าเสน่ห์ที่แท้จริงของ TEDx ก็คือผู้คนอย่างพวกเรานี่แหละ

คนเก่งๆ ที่มารวมตัวกันเป็นอาสาสมัคร ทั้งที่ต่อไปเราอาจจะไม่ได้ทำ TEDx แล้วก็ได้ แต่คนกลุ่มนี้มีศักยภาพที่จะไปสร้างอะไรดีๆ ต่อสังคมต่อไป ตอนนี้ผมจึงไม่ได้อินกับแบรนด์ TED แล้ว แต่ผมอินกับทีมพวกเรามากกว่า บางทีทำงานออฟฟิศเหนื่อยๆ แต่พอได้ไปประชุมกับพวกเราทุกวันพุธ ผมกระตือรือร้นมากมีทอล์กหนึ่งซึ่งติดอยู่ในใจผมตลอดเวลา ของ Larry Smith เขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า Good Career กับ Great Career ต่างกัน เขายกตัวอย่างหนึ่งแล้วผมจำมาได้ตลอดว่า มีคนพวกหนึ่งที่ใช้ครอบครัว

เป็นตัวประกัน อ้างว่าเราจำเป็นต้องทำงานอะไรที่ไม่ชอบ เพื่อความมั่นคง เพื่อครอบครัว แต่คุณลองนึกภาพดูว่าวันหนึ่งคุณมีลูก ลูกคุณเรียนคณิตศาสตร์เก่ง วันหนึ่งลูกมาบอกว่าพ่อครับผมอยากเป็นนักมายากล คุณบอกลูกว่าไม่ได้นะ เป็นนักมายากลมันไม่มั่นคงหรอก แต่ลูกบอกว่านี่มันเป็นความฝันของผมนะครับ คุณจะบอกเขาว่าอย่างไร คุณจะบอกว่าความฝันน่ะเหรอ พ่อก็เคยมี…แต่หลังจากที่มีเอ็งนี่แหละ เพราะมีเอ็งไง ข้าเลยไม่ได้ทำตามความฝัน คุณจะบอกกับลูกแบบนี้เหรอ

• Larry Smith : Why you will fail to have a great career – TEDxUW

GM : ในการจัดงานคราวนี้ คุณได้สปอนเซอร์เต็มครบแล้วใช่มั้ย

อรรณวุฒิ : ใช่ครับ

GM : ถ้าสปอนเซอร์ไม่ครบ พวกคุณจะช่วยกันควักตังค์ตัวเองไหม

อรรณวุฒิ : ตอนนี้ผมเองก็สำรองจ่ายไปก่อนเป็นเลขหกหลักแล้วนะครับ

พิริยะ : การเดินทางมาประชุมแต่ละครั้ง หรือค่าน้ำ ค่ากาแฟ เราก็จ่ายกันเอง

อรรณวุฒิ : คงไม่ถึงขั้นต้องมาหารตังค์กัน แต่เราก็อาจจะต้องลดสเกล

ลงมา ตอนแรกก็เตรียมใจไว้เหมือนกันว่าหาสปอนเซอร์ไม่ครบ ต้องควัก

ขึ้นมา ก็อาจจะต้องยอม เพราะความเชื่อในทีมงานด้วยครับ ถ้าไม่ใช่ทีมนี้ โอกาสที่ทำออกมาได้สำเร็จก็น้อยมาก ทำออกมาโดยที่เราใช้โมเดลของ TED มากที่สุดขนาดนี้ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง ผมว่าโอกาส

มันยากมาก ผมก็เลยรู้สึกอยากจะใช้โอกาสนี้ให้มันเกิดขึ้นได้

GM : ค่าใช้จ่ายหลักๆ คืออะไร

อรรณวุฒิ : ค่าเช่าที่ ค่าโปรดักชั่น ค่าอาหารของคนที่มาร่วม โปรดักชั่นเรื่องกล้อง เรื่อง Live Streaming รวมไปถึงการที่ต้องมี Post-Production

GM: ทำไมพวกนี้เขาไม่เป็นอาสาสมัครเข้ามาด้วยนะ

พิริยะ : ต้นทุนค่อนข้างสูงครับ มันเป็นหลักแสน การที่เขาต้องเอาทีมงานเข้ามา เอาอุปกรณ์เข้ามา ค่าเช่าวันหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะมาก แต่หลายๆ เจ้าก็ช่วยลดให้เราเยอะ เขาอยากที่จะให้เวทีนี้เกิดขึ้นเหมือนกัน เลยลดราคาให้เรา งานนี้ไม่ใช่แค่สปีคเกอร์ คนร่วมงาน และทีมงานอาสาสมัครเท่านั้น

เรารู้สึกว่าสปอนเซอร์ที่เข้ามาก็ต้องมีใจให้เราส่วนหนึ่ง ด้วยกฎที่ค่อนข้างจะหฤโหด ถ้าเป็นอีเวนท์ปกติ โลโก้ต้องติด บูธต้องเอาไปลง ต้องส่งชื่อสปีคเกอร์ไปให้เขาพิจารณา ขอเอาซีอีโอเราไปพูดด้วยได้ไหม เมนชั่นชื่อบริษัทบนเวทีได้ไหม ในงาน TED คราวนี้ คุณต้องลบภาพทุกอย่างที่คนอื่นทำกันมาก่อน ไม่มีสปีคเกอร์ของคุณหรอก และคุณห้ามมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอนเทนต์

ของเราเลย โลโก้จะอยู่ในฮอลล์ที่เป็นออดิทอเรียมไม่ได้ เพราะฉะนั้น

สปอนเซอร์ที่เขาไม่ได้อยากจะช่วยสร้างงานนี้ ไม่อยากเป็น Thought Leader เขาก็จะไม่สนใจอีเวนท์แบบนี้ สุดท้ายแล้วสปอนเซอร์ที่เข้ามา เพราะเขา

อยากเข้ามาซัพพอร์ตไอเดียของคนกลุ่มนี้จริงๆ

: คุณคิดว่าเทรนด์ของการจัดงานอีเวนท์ทอล์ก จะเฟื่องฟูขึ้นหรือจะซบเซาลงอย่างไร

พิริยะ : ผมคิดว่าก็คงเป็นเหมือนกับสื่ออื่นๆ ด้วยรูปแบบของชีวิต ด้วยความเบื่อหน่าย เบื่ออะไรซ้ำๆ ของมนุษย์ อย่าง TED ในฝั่งตะวันตกก็ผ่านมา 30 ปีแล้ว ก็น่าจะถึงจุดอิ่มตัวระดับหนึ่งแล้ว

อรรณวุฒิ : นึกถึงสปีคเกอร์ของเราท่านหนึ่งที่บอกว่า สุดท้ายแล้ว ไม่ว่า

ทุกอย่างมันจะดีแค่ไหน เราไม่สามารถห้ามความรู้สึกของคนได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดอาการเบื่อหน่ายกับอะไรๆ ก็ได้ เขาก็ยกตัวอย่างถึงตลกคาเฟ่

ตลกก็ยังเล่นอยู่ มุกตลกของเขาก็ยังตลกอยู่ แต่พอเราดูบ่อยๆ จุดหนึ่งก็อาจจะพอแล้ว อยากได้อะไรใหม่ๆ เข้ามา

พิริยะ : สักวันหนึ่งแพลตฟอร์มอาจจะตาย แต่หัวใจจะยังอยู่ TED เป็น

การศึกษารูปแบบใหม่ ในรูปแบบการเล่าเรื่องราวจากมนุษย์สู่มนุษย์ มันมีมาตั้งแต่ยุคหินแล้ว เขาเขียนผนังถ้ำเพื่อจะเล่าเรื่อง พ่อเล่านิทานให้ลูกฟัง

วันหนึ่งมนุษย์เราก็รู้จักการพิมพ์หนังสือ เราพิมพ์ไบเบิลแจกจ่าย ต่อมาก็กลายเป็นวิทยุ เป็นทีวี วันหนึ่งมันกลายเป็นแมกกาซีน วันนี้มันได้กลาย

มาเป็น TED สังเกตดูจะเห็นว่าแพลตฟอร์มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ Storytelling

ยังดำเนินต่อไป เพราะมันเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้มนุษย์อยู่บนโลกนี้ มันคือการส่งต่อความรู้ไปเรื่อยๆ

สุดท้าย มันก็เป็นใบเบิกทางให้คุณได้เข้ามารับรู้ในไอเดียใหม่ๆ ผมคิดว่ามันทำหน้าที่ได้ดีมากในการเปลี่ยนมุมมองผู้คน แต่ก็ยังไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุด ที่จะสร้างให้การกระทำเกิดขึ้น เรายังการันตีไม่ได้ว่าไอเดียเหล่านี้จะมีคนเอาไปทำต่อจริง ผมไม่รู้หรอกว่าจะมีเทคโนโลยีอะไร หรือสื่ออะไร ประเด็นมันอยู่ที่ว่าความรู้หลากหลายเหล่านี้จะมีใครเอาอะไรไปต่อยอดในชีวิตจริงได้ ผมว่าตรงนี้น่าสนใจกว่า

GM : จุดหมายของความรู้ที่ถ่ายทอดถึงกัน คือการลงมือทำจริงๆ ใช่ไหม

พิริยะ : นั่นแหละครับ คนที่ยังไม่รู้ว่าแพสชั่นของตัวเองคืออะไร อยากตื่นมาทุกเช้าเพื่อทำอะไร การได้เริ่มต้นเสพไอเดียหลากหลายตรงนี้ คงจะมีโอกาสที่ได้อะไรตรงใจ เฮ้ย! ฉันชอบอันนี้ว่ะ ทีนี้มันจะนำไปสู่จุดของการลงมือทำ จึงไม่ใช่แค่ 18 นาทีที่คุณมาเปิด TED แล้วจะกลายเป็น Expert แต่มันขึ้นอยู่กับเวลาอีกเนิ่นนานหลังจากนั้น คุณไปอ่านหนังสือค้นคว้าเพิ่มเติม

ไปร่วมทำเวิร์กช็อป ไปลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง หรืออย่างน้อยที่สุด พื้นที่ตรงนี้อาจจะทำให้คนที่อยากจะเริ่มต้นลงมือทำอะไรสักอย่าง ได้มาเจอกัน แล้วเกิดการเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย กลายเป็นพื้นที่ใหม่ กลายเป็นโอกาสที่จะได้ทำสิ่งใหม่จริงๆ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ