fbpx

สำรวจโทษประหารทั่วโลกในวันที่ไทยใช้ยาแรงกับคดีข่มขืน

คิดเห็นกันอย่างไรกับยาแรงคดีข่มขืน ประมวลกฎหมายอาญาฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต ก่อนอื่นลองไปส่องดูประเทศอื่นกันก่อนดีกว่าว่าเขามีกฎหมายในเรื่องนี้อย่างไร แล้วค่อยมาแสดงความคิดเห็นกันถึงประเด็นนี้กัน

Reasons to Read

  • ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประมวลกฎหมายอาญาฉบับแก้ไขใหม่ให้เพิ่มโทษคดีข่มขืน ในกรณีที่ทำให้เหยื่อถึงแก่ความตาย โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
  • แอมเนสตี้รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2561 พบว่าการประหารชีวิตทั่วโลกลดลงเกือบ 1 ใน 3

‘ข่มขืน = ประหาร’ คือแคมเปญรณรงค์ในโลกออนไลน์ให้เพิ่มบทลงโทษในคดีข่มขืนเป็นการประหารชีวิตที่เป็นกระแสเมื่อหลายปีก่อน หลังมีคดีพนักงานบนรถไฟฆ่าข่มขืนผู้โดยสารซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงแล้วโยนร่างลงข้างทาง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ต่อเนื่องด้วยคดีฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า เมื่อเดือนกันยายนในปีเดียวกัน และอีกหลายๆ คดีข่มขืนที่ปรากฏไม่เว้นแต่ะละวัน

อาจเรียกได้ว่าแคมเปญดังกล่าวประสบความสำเร็จแล้ว เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประมวลกฎหมายอาญา คดีข่มขืน ฉบับแก้ไขใหม่ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีการปรับความหมายให้ครอบคลุมขึ้นในหลายกรณี และมีการเพิ่มระวางโทษ ซึ่งในบางกรณีนั้นมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต

ทว่าแม้ว่าจะมีเสียงสนับสนุนจำนวนมากในการเพิ่มโทษให้ข่มขืนเท่ากับประหาร เนื่องจากแต่ละครั้งที่มีข่าวลักษณะนี้ปรากฏออกสื่อ มักจะสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนในสังคมอยู่เสมอ แต่ถ้ามองผ่านแว่นของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนก็จะเห็นว่าโทษประหารนั้นควรถูกยกเลิกไปมากกว่า

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย เป็นองค์การนอกภาครัฐที่ทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการสนับสนุนโทษประหารมาโดยตลอด ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2561 พบว่าการประหารชีวิตทั่วโลกลดลงเกือบ 1 ใน 3 โดยจากเดิมที่ในปี 2560 มีการประหารชีวิต 993 ครั้ง เหลือ 690 ครั้งในปี 2561 นับเป็นตัวเลขต่ำสุดอย่างน้อยในรอบทศวรรษ สถิติเหล่านี้ครอบคลุมการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นทั่วโลกยกเว้นในประเทศจีน ซึ่งทางการถือว่าข้อมูลการประหารชีวิตหลายพันครั้งเป็นความลับทางราชการ

ด้าน ‘คูมี นายดู’ (Kumi Naidoo) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า จำนวนการประหารชีวิตที่ลดลงอย่างมากทั่วโลก เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าแม้แต่ประเทศที่มีแนวโน้มสนับสนุนโทษประหารชีวิต ยังเริ่มเปลี่ยนแนวทางและตระหนักว่าโทษประหารไม่ใช่คำตอบ และแม้จะมีการถดถอยอยู่บ้างในบางประเทศ แต่จำนวนการประหารชีวิตในประเทศเป็นแถวหน้าที่นิยมใช้การประหารชีวิตก็ยังลดลงอย่างมาก นั่นเป็นสัญญาณของความหวังที่ว่าอีกไม่นานการลงโทษที่โหดร้ายเช่นนี้จะกลายเป็นเพียงแค่หน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น

สำหรับคดีข่มขืนในประเทศส่วนใหญ่ โทษที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับคือการจำคุก และการตัดอัณฑะในบางประเทศ แต่นอกจากบ้านเราแล้วก็ยังมีหลายประเทศที่ใช้บทลงโทษในคดีข่มขืนด้วยการประหารชีวิตอยู่ ได้แก่

จีน

ในประเทศจีนผู้ข่มขืนได้รับโทษประหารชีวิตโดยการยิงกระสุนที่เส้นประสาทไขสันหลังใต้คอ ซึ่งนำไปสู่ความตาย อัตราการดำเนินการสูงเกินไป การฟ้องร้องดำเนินไปเร็วมาก จนเคยมีเคสที่ชายสี่คนที่ถูกประหารชีวิตในคดีข่มขืน ก่อนจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์หลังจากเวลาผ่านไปสองปี

อีกหนึ่งวิธีที่จีนใช้เป็นบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดในคดีข่มขืนก็คือ การตัดลูกอัณฑะ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้กระทำความผิดเป็นหมันและไม่สามารถกลับมาก่อเหตุซ้ำได้อีก

อิหร่าน

อิหร่านให้ความยุติธรรมแก่เหยื่อข่มขืนโดยใช้โทษประหารแก่ผู้ข่มขืนด้วยการแขวนคอ ซึ่ง 10-15 เปอร์เซ็นต์ของการประหารชีวิตในอิหร่านเป็นคดีข่มขืน ทั้งนี้ โทษประหารชีวิตของคดีข่มขืนในอิหร่านนั้น สามารถทดแทนได้ด้วยการจ่ายค่าเสียหาย โดยจะให้มีการจำคุก การโบย หรือไม่มีก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้เสียหายจะเลือกลงโทษอย่างไร

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอียิปต์

สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอียิปต์ โทษสูงสุดในคดีข่มขืนก็คือการประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ โดยไม่อนุญาตให้มีการอภัยโทษใดๆ

ซาอุดีอาระเบีย

เมื่อพูดถึงการลงโทษ ซาอุดีอาระเบียถือว่าเป็นประเทศที่เข้มงวดจริงจังมากที่สุดประเทศหนึ่ง ด้วยความที่เป็นประเทศอิสลาม กฎหมายและระเบียบปฏิบัติทั้งหมดจึงเป็นไปตามกฎหมายอิสลาม และหากพบว่าบุคคลใดมีความผิดฐานข่มขืนหรือการคุกคามทางเพศใดๆ ก็ตาม จะต้องได้รับโทษประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะในที่สาธารณะ จากนั้นร่างกายและศีรษะจะถูกเย็บเข้าด้วยกันอีกครั้งแล้วฝังในหลุมศพ ซึ่งโทษจะเหมือนกันทั้งชายและหญิงที่กระทำความผิด

นอกจากนี้ ก็ยังมีการประหารด้วยการปาหินอีกวิธีหนึ่ง โดยผู้ที่กระทำการข่มขืนจะถูกปาหินใส่จนกว่าจะตาย ซึ่งวิธีนี้ผู้กระทำความผิดจะต้องเจ็บปวดและทนทุกข์จนกว่าจะตาย

อัฟกานิสถาน

อัฟกานิสถานก็เป็นประเทศหนึ่งที่ปกครองด้วยกฎหมายอิสลาม บทลงโทษจึงมีความเข้มงวดไม่แพ้ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งบทลงโทษเดียวสำหรับผู้ล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นก็คือการประหารชีวิตด้วยการยิงหัว ภายใน 4 วัน หลังถูกจับกุม

อินเดีย

ในอินเดียเคยถือว่าการข่มขืนไม่ใช่อาชญากรรมที่สำคัญ ผู้ที่ข่มขืนผู้อื่นจะได้รับการลงโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี แต่หลังจากร่างกฎหมายต่อต้านการข่มขืนที่ผ่านรัฐสภาอินเดียเมื่อเดือนเมษายน ปี 2556 ผู้ข่มขืนสามารถถูกจำคุกตลอดชีวิตหรือแม้แต่ถูกแขวนคอจนตาย

ทั้งนี้ ในอินเดีย การข่มขืนจะมีโทษถึงตายก็ต่อเมื่อเหยื่อตายหรืออยู่ในภาวะตื่นโดยไม่มีสติรู้ตัว หรือเรียกว่า สภาวะผักเรื้อรัง (Persistent Vegetative State) หรือต่อเมื่อผู้ลงมือข่มขืนเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำซาก

อย่างไรก็ตาม คดีข่มขืนมีความละเอียดอ่อนมาก และในบางกรณีผู้หญิงบางคนก็ใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือในการรีดไถผู้ชาย โดยสถิติในประเทศอินเดียระหว่างเดือนเมษายน 2556 ถึงกรกฎาคม 2557 มีคดีข่มขืนทั้งหมด 2,753 และในจำนวนนี้มี 1,466 คดีที่เป็นเท็จ

FYI :

ระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
(ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562
ซึ่งใช้กับคดีข่มขืน มีสาระสำคัญที่สรุปได้ดังนี้

ความหมายครอบคลุมขึ้น

มาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ‘กระทำชำเรา’ หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้ อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น

แก้ไขมาตรา 276

ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000-4000,000 บาท ถ้าผู้กระทำมีอาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี และปรับตั้งแต่ 140,000-400,000 บาท ถ้ามีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือใช้อาวุธ หรือรุมโทรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี และปรับตั้งแต่ 300,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

แก้ไขมาตรา 277

ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี และปรับตั้งแต่ 140,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้ากระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธหรือรุมโทรม ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

เพิ่มโทษการกระทำอนาจาร

การกระทำโดยใช้วัตถุอื่นใดซึ่งไม่ใช่อวัยวะเพศ ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ-ทวารหนัก มีโทษจำคุก 4-20 ปี และปรับ 80,000-400,000 บาท หากขู่ว่ามีอาวุธเพิ่มโทษเป็นจำคุก 7-20 ปี และปรับ 140,000-400,000 บาท หากมีอาวุธหรือรุมโทรมมีโทษจำคุก 15-20 ปี ปรับ 300,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

กรณีกระทำอนาจารเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เพิ่มโทษเป็นจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีที่อ้างว่าไม่ได้ใช้อวัยวะเพศแต่ใช้สิ่งอื่นล้วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศหรือทวารหนัก มีโทษจำคุก 5-20 ปี ปรับ 140,000-400,000 บาท หากขู่ว่ามีอาวุธเพิ่มโทษเป็นจำคุก 10-20 ปี ปรับ 200,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หากเป็นลักษณะรุมโทรม จำคุกตลอดชีวิต

แก้ไขมาตรา 280

กรณีที่เหยื่อบาดเจ็บสาหัส มีโทษจำคุก 5-20 ปี และปรับ 100,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ถ้าเหยื่อเสียชีวิต มีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

แก้ไขเพิ่มเติม อื่นๆ

  • กรณีข่มขืนและถ่ายคลิปรับโทษเพิ่มอีก 1 ใน 3 หากมีการส่งต่อคลิปรับโทษเพิ่มอีกครึ่งหนึ่ง
  • หากเป็นกรณีระหว่างคู่สมรส โดยไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือเหยื่อไม่สาหัส-เสียชีวิต สามารถยอมความได้
  • กรณีกระทำความผิดกับ พ่อ แม่ พี่น้อง เครือญาติ ลูกศิษย์ ลูกน้อง ผู้อยู่ในการปกครอง รับโทษเพิ่มอีก 1 ใน 3
  • กรณีทำความผิดกับผู้ทุพพลภาพ จิตบกพร่อง ฟั่นเฟือน คนป่วย คนเจ็บ คนชรา คนท้อง รับโทษเพิ่ม 1 ใน 3
  • สนองความใคร่โดยการใช้อวัยวะเพศกระทำกับศพ ไม่ว่าจะเป็นทางอวัยวะเพศ ทวาร หรือปาก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ