fbpx

โซเชียลมีเดีย… ต้นตอปัญหาสุขภาพจิตที่แท้จริงหรือแพะรับบาป

คนมักจะตำหนิสิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ก็เคยโยนความผิดไปที่เพลงร็อกแอนด์โรล ต่อมาก็เป็นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรง และในขณะนี้ผู้คนก็กำลังจดจ้องอยู่ที่โซเชียลมีเดีย

Reasons to Read

  • คนมักจะตำหนิสิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ก็เคยโยนความผิดไปที่เพลงร็อกแอนด์โรล ต่อมาก็เป็นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรง และในขณะนี้ผู้คนก็กำลังจดจ้องอยู่ที่โซเชียลมีเดีย
  • เป็นการยากที่จะตัดสินว่าปัญหาสุขภาพจิตสามารถเกิดจากโซเชียลมีเดียได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากวัยรุ่นไม่สามารถเข้าถึงบริการช่วยเหลือได้มากพอ
  • ผู้ปกครองและครูจำนวนมากมีความกังวล เพราะเราไม่ได้เติบโตมากับมัน และแม้ว่าเราเองก็ใช้โซเชียลมีเดียแต่ก็มักจะใช้มันแตกต่างจากวัยรุ่น

ในยุคที่ ‘โซเชียลมีเดีย’ ยังไม่แจ้งเกิด ทั้ง ‘ดนตรีร็อกแอนด์โรล’ และ ‘วิดีโอเกม’ ต่างก็เคยถูกคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ตราหน้าว่าเป็นต้นตอของปัญหาในคนรุ่นลูก แต่ถ้าพูดถึงทุกวันนี้สิ่งที่ตกเป็นเป้าคงหนีไม่พ้น ‘โซเชียลมีเดีย’ ที่สื่อมักจะโหมนำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่ามันอยู่เบื้องหลังปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่น ทำให้พ่อแม่และครูกังวลว่าการใช้เวลาหน้าจอมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายที่สายเกินแก้ได้

ดูเหมือนว่าแทบทุกสัปดาห์จะมีข้อมูลงานวิจัยใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงโซเชียลมีเดียเข้ากับหลายเรื่องๆ เช่น การฆ่าตัวตาย การข่มขู่ การอดนอน การกินผิดปกติ ทำร้ายตนเอง วิตกกังวล และซึมเศร้า ด้วยจำนวนงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่มากมาย เรื่องนี้ควรจะไปไกลเกินกว่าที่จะมาถกเถียงกันแล้วว่าโซเชียลมีเดียกำลังมีผลร้ายต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นหรือเปล่า แต่แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลสกอตแลนด์กลับเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

การเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้จ่ายเงินสำรองในโครงการประกันสุขภาพ หรือ MSP พบว่า บริการด้านสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่นในสกอตแลนด์กำลังเผชิญปัญหาที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่ามีการส่งต่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 22 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลที่ทำให้มีความต้องการบริการด้านจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้นว่าอะไรที่เป็นสาเหตุ จึงนำไปสู่การเรียกร้องให้ทำการวิจัยเกี่ยวกับ ‘ขอบเขตของการใช้โซเชียลมีเดียที่ทำให้มีผลกระทบ’ โดยให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นผู้ดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Sunday National ของสกอตแลนด์ ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องว่า เรื่องดังกล่าวต้องการการวิจัยเพิ่มเติมจริงหรือ และคิดว่ามีการเชื่อมโยงระหว่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์และปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นหรือไม่

ดร. คริส แฮนด์ จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ กล่าวว่า “คนมักจะตำหนิสิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ก็เคยโยนความผิดไปที่เพลงร็อกแอนด์โรล ต่อมาก็เป็นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรง และในขณะนี้ผู้คนก็กำลังพุ่งเป้าไปที่โซเชียลมีเดีย”

“สิ่งที่แย่จริงๆ ก็คือคนจำนวนมากดูเหมือนจะใช้โซเชียลมีเดียเป็นแพะรับบาป และนั่นก็เป็นปัญหา เพราะมันไม่ได้เป็นการนำพาให้คนได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมและถูกเบี่ยงเบนประเด็นจากปัญหาที่ใหญ่กว่าซึ่งเกี่ยวกับข้อกำหนดในการให้บริการ หรือสิ่งที่คนรุ่นใหม่สนใจ”

ดร. คริสเสริมว่า เป็นการยากที่จะตัดสินว่าปัญหาสุขภาพจิตสามารถเกิดจากโซเชียลมีเดียได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากวัยรุ่นไม่สามารถเข้าถึงบริการช่วยเหลือได้มากพอ ซึ่งงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่มีจำนวนมาก ส่วนใหญ่ใช้มาตรการแบบ ‘ทื่อๆ’ โดยวัดผลจากระยะเวลาที่ผู้คนใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าที่จะตรวจสอบถึงเนื้อหา

หนึ่งในปัญหาของการทำวิจัยในพื้นที่นี้ ดร. คริสระบุว่า มันจะผิดจรรยาบรรณหากนักวิจัยพยายามทำการทดลองแบบสุ่มในพื้นที่ที่คนกลุ่มหนึ่งตกอยู่ภายใต้การถูกกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ (Cyber-Bullying) และอีกกลุ่มไม่ได้เป็นอย่างนั้น โดยเขาแนะนำว่า การวิจัยจะต้องทำในระยะยาวเพื่อติดตามพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของผู้คนและดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตพวกเขาบ้าง

‘‘ดูเหมือนว่าเราอยากจะให้โซเชียลมีเดียเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ขณะที่ในความเป็นจริงมันอาจมีปัจจัยอื่นอยู่ก่อนแล้ว อาจเป็นได้ว่าบางคนมีความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้นและโซเชียลมีเดียเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา ซึ่งผู้คนจำนวนมากที่ใช้มันก็ไม่ได้มีปัญหากับความนับถือตัวเองหรือปัญหาสุขภาพจิต”

สุดท้าย ดร. คริสสรุปว่า “ผมคิดว่าเราต้องใจเย็นๆ และรวบรวมงานวิจัยที่วิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์กับสุขภาพจิต แทนการเอาแต่พูดถึงผลกระทบด้านลบของมันเพียงอย่างเดียว เพราะมันอาจจะมีผลกระทบต่อคนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วก็เป็นได้  และแทนที่จะโยนความผิดให้โซเชียลมีเดีย เราควรมองว่า จะสามารถใช้มันเพื่อปกป้องคนที่มีความเสี่ยงได้อย่างไร”

ด้าน ดร. สเตลลา ชาน จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ เมืองหลวงของสกอตแลนด์ เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม โดยเธอกล่าวว่า ขณะนี้ผลการวิจัยมีความหลากหลายมากเกี่ยวกับผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อวัยรุ่น

ในขณะที่งานวิจัยบางงานกลับพบว่าไม่มีการเชื่อมโยงเลย ในขณะที่บางงานพบว่ามี แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบ่งบอกถึงผลกระทบ ทั้งนี้ ไม่ควรถกเถียงกันถึงการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่น แต่ควรจะถกเถียงกันว่าพวกเขาใช้โซเชียลมีเดียอย่างไร และข้อดีข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดีย

“งานวิจัยของฉันที่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า แสดงให้เห็นว่าหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือการแยกตัวจากสังคม และในแง่นี้ ถ้าคุณใช้โซเชียลอย่างเหมาะสม ฉันคิดว่าโซเชียลมีเดียจะมีศักยภาพมากที่จะให้การช่วยเหลือเรื่องการเข้าสังคม”

“หลายครั้งที่เรากังวลเกี่ยวกับวัยรุ่นที่นั่งเล่นโทรศัพท์ตลอดเวลา แต่ความจริงคือการที่โซเชียลมีเดียสามารถใช้งานได้ตลอดเวลาอาจเป็นเรื่องดีก็ได้ เช่น ถ้าคุณมีเรื่องกังวลและตื่นขึ้นมากลางดึก แค่เข้าไปในโซเชียลมีเดียก็อาจจะมีใครบางคนที่คุณคุยด้วยได้ เพราะฉะนั้นมันก็มีบางอย่างที่ดีในด้านการเชื่อมต่อทางสังคมถ้าคุณใช้มันอย่างถูกต้อง” ดร.ชาน กล่าว และเสริมว่า

“หากผู้คนหมกมุ่นในการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป มันก็จะลดเวลาที่พวกเขาจะได้ทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย ซึ่งในกรณีนี้สื่อสังคมออนไลน์อาจเป็นตัวอุปสรรคมากกว่าตัวช่วยของการมีสุขภาพจิตที่ดี ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับว่าคุณใช้มันมากแค่ไหนและใช้มันอย่างไร”

ดร. ชาน กล่าวต่อว่าในขณะที่ครูและผู้ปกครองจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ แต่ความเข้าใจของเธอ จากการวิจัยในประเด็นนี้ คือ คนที่มีแนวโน้มที่จะถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ก็มีแนวโน้มที่จะถูกรังแกในโลกออฟไลน์ (หรือในชีวิตจริง) ด้วย ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องของการปกป้องคุ้มครองกันจากการถูกรังแก มากกว่าที่จะคิดถึงแค่การถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

“ประเด็นสุดท้ายคือ สื่อสังคมออนไลน์นั้นค่อนข้างใหม่สำหรับเรา ผู้ปกครองและครูจำนวนมากจึงมีความกังวล เพราะเราไม่ได้เติบโตมากับมัน และแม้ว่าเราเองก็ใช้โซเชียลมีเดียแต่ก็มักจะใช้มันแตกต่างจากวัยรุ่น เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย”

“แต่ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงก็เป็นโอกาสที่เราสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ เช่น ผู้ให้บริการด้านสุขภาพและบริการต่างๆ สามารถเข้าถึงวัยรุ่นได้จากข้อมูลต่างๆ ในโลกออนไลน์ และยังมีงานวิจัยบางอย่างที่ระบุว่าเราสามารถดูพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของผู้คนและใช้สิ่งนั้นเพื่อช่วยตรวจจับสัญญาณเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพจิตได้ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่เราจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้มากกว่า”

นอกจากนี้ ดร. ฮีทเธอร์ คลีแลนด์ วูดส์ ผู้ดำเนินโครงการ #Sleepyteens จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ยังได้ทำการสำรวจว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในเวลากลางคืนมีผลเสียต่อการนอนหลับจากหรือไม่ ซึ่งการวิจัยของเธอพบว่ามีความสัมพันธ์เล็กน้อย แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีนัยยะสำคัญ ระหว่างการใช้งานโซเชียลมีเดียในช่วงกลางคืนกับความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความนับถือตนเองในระดับต่ำ และคุณภาพการนอนหลับ

ทั้งนี้ ยังไม่อาจสรุปได้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียเป็นสาเหตุที่แท้จริง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลสกอตแลนด์ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยดังกล่าวเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของการมีปฏิสัมพันธ์นี้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ