fbpx

เมธัช อุดมมหันติสุข: SKYFROG อนาคตใหม่สมาร์ทโลจิสติกส์ไทย

ในภาวะที่เศรษฐกิจยังคลุมเครือจากพิษ COVID-19 หลายธุรกิจเข้าสู่ขาลงแบบจำใจ แต่กับธุรกิจขนส่งกลับมีแต่สดใส ส่วนหนึ่งเป็นผลพลอยได้จากการโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและช้อปปิ้งออนไลน์ต่างๆ อย่างที่รู้ๆ กัน ผู้คนเลี่ยงออกจากบ้านเพราะไม่อยากเสี่ยงรับเชื้อ COVID-19 โดยไม่จำเป็น แต่การจับจ่ายยังอยู่

‘ธุรกิจ’ และ ‘ชีวิต’ (สายช้อป) จึงหันมาพึ่งพาบริการ ‘สั่งซื้อสินค้าส่งตรงถึงมือ’ ที่ครั้งหนึ่งเป็น ‘ทางเลือก’ แต่วันนี้กลายเป็น ‘ความเคยชิน’ ไปซะแล้ว จึงไม่แปลกที่ธุรกิจโลจิสติกส์ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งแบบ B2B หรือ B2C จะหันมาเทน้ำหนักในการนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมศักยภาพ ไม่ใช่แค่ส่งสินค้าได้ทันใจความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้วย

SKYFROG จึงเป็นเต็งหนึ่งของซอฟต์แวร์โลจิสติกส์บริหารจัดส่งสินค้า ในรูปแบบแอปพลิเคชันที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้ ด้วยจุดเด่นการเป็น AI การเป็น Vehicle Routing Planning (VRP : ระบบคำนวณหาเส้นทางอัตโนมัติ)

โลจิสติกส์ : ธุรกิจไม่มีวันตาย

ความน่าสนใจของ SKYFROG ไม่ได้โดดเด่นเรื่องระบบเท่านั้น แต่เป็นเทคโนโลยีที่ริเริ่มและพัฒนาโดยฝีมือคนไทย ยืนหยัดในวงการโลจิสติกส์มานานกว่า 7 ปี ตั้งแต่ยุคที่ธุรกิจขนส่งยังไม่บูมเท่าทุกวันนี้ และคำว่า ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ยังไม่ถูกบัญญัติอยู่ในสมองของคนไทยด้วยซ้ำ

ด้วยรูปแบบที่มองการณ์ไกลของ SKYFROG นี้ มาจากวิสัยทัศน์ของ เมธัช อุดมมหันติสุข ผู้ก่อตั้งและพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท สกายฟร็อก จำกัด ควบกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI)

“การขนส่งและโลจิสติกส์เป็นธุรกิจไม่มีวันตาย แม้ว่าจะมีการดิสรัปชัน เพราะต่อให้มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย แต่สินค้ายังคงต้องเคลื่อนที่ คนยังคงต้องเคลื่อน เพราะสินค้าไม่สามารถมีประตูวาร์ปข้ามจากจุดหนึ่งไปอีก

จุดหนึ่งได้ ดังนั้น การส่งของและโลจิสติกส์ยังคงต้องมีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” เมธัชเผยถึงโอกาสของธุรกิจขนส่ง ในยุคที่หลายวงการถูกดิสรัปต์

ก้าวแรกของ SKYFROG

จุดเริ่มต้นของ SKYFROG เกิดมาจากความสนใจของเมธัชที่มีแบ็กกราวนด์อยู่ในวงการไอทีและการผลิตซอฟต์แวร์มาตลอด แต่ช่วงศึกษาปริญญาตรี (ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และปริญญาโท (มหาวิทยาลัยโตเกียว) เมธัชให้ความสนใจด้านโลจิสติกส์ จนนำมาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์และกรณีศึกษาหลากหลายมิติที่เกี่ยวโยงกับการขนส่ง-โลจิสติกส์ อย่างเช่นหัวข้อเด่นๆ อาทิ Estimation of CO2 Reduction for Japanese Domestic Container Transportation Based on Mathematical Models เป็นต้น ตลอดจนกรณีศึกษาของซีเมนต์ไทยโลจิสติกส์ (ชื่อในยุคนั้น) ด้วย จากการศึกษาอย่างเข้มข้นนี้ทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่อยอดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการจัดส่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนต่ำที่สุด

หลังคลุกคลีในวงการซอฟต์แวร์มากว่า 10 ปี ในที่สุดเขาก็มีโอกาสนำแพลตฟอร์ม SKYFROG มานำร่องทดสอบกับธุรกิจขนส่งของญาติผู้บริหารท่านหนึ่งในเครือบริษัท ที่มีบริการรถอยู่ 100 กว่าคัน นำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาระบบ จนตอบโจทย์การใช้งานจริงได้มากที่สุด ไม่ใช่เป็นแค่แนวคิดในแบบร่าง จังหวะนั้นจึงเสมือนเป็นการปูพรมให้เมธัชและ SKYFROG กระโดดมาในแวดวงโลจิสติกส์อย่างเต็มตัว 

Vehicle Routing Planning (VRP) จุดเด่นช่วยลดต้นทุนได้จริง

เวอร์ชันแรกๆ ของ SKYFROG ทำหน้าที่ทรานส์ฟอร์มวิธีการทำงานให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ลดการใช้กระดาษ ลดต้นทุนบริหารจัดการ ตรวจสอบการเดินทางได้แบบเรียลไทม์ มีฟังก์ชันนำทางให้คนขับรถ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้

ไปถึงที่หมายได้อย่างถูกต้อง-แม่นยำมากขึ้น แต่ปัจจุบัน SKYFROG พัฒนามาถึงการนำระบบ VRP (Vehicle Routing Planning) มาช่วยวางแผนจัดการสำหรับการเดินทางอัตโนมัติได้แม่นยำมากขึ้น ทำให้ช่วยลดต้นทุนได้จริงแบบพิสูจน์ได้ราว 10-20%

“ทางบริษัทมีกรณีศึกษา ROI (Return on Investment) กับบริษัทส่งวัตถุดิบอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งใน 1 วันต้องส่งประมาณ 400 ออร์เดอร์ จากคลังสินค้าไปยังโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร โดยใช้รถอยู่ 40 คัน แต่หลังทดลองใช้ระบบการจัดการ SKYFROG พบว่าใช้รถแค่ 35 คันก็พอ

“หลังจากใช้ระบบ ค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการประหยัดไปได้มีหลักๆ อยู่ 3 ส่วน คือ 1. รถที่ไม่จำเป็นต้องใช้งาน 5 คัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่หายไปอย่างค่าผ่อนรถ, ค่าดูแลรักษา 2. บุคลากร จากเดิมที่ใช้พนักงานมาวางแผน

-ประสานงานการเดินรถ และ 3. ค่าน้ำมันรถ เพราะระบบช่วยคำนวณเส้นทางการขนส่งได้แม่นยำมากขึ้น โดยรวมแล้วบริษัทนี้ลดต้นทุนได้ราวเดือนละ 2 แสนบาท อีกทั้งยังเกิดการใช้ระบบถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 7 เดือนแรกด้วย”

เมธัชยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนว่าการใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างไร

เข้าถึงธุรกิจขนส่งเอสเอ็มอี

กว่า 7 ปี ที่ SKYFROG โลดแล่นในธุรกิจขนส่ง จากยูสเซอร์ 100 กว่าราย ค่อยๆ เพิ่มเป็น 4,000 กว่าราย (นับเฉพาะพนักงานขับรถ) มีลูกค้าใช้บริการมากกว่า 100 บริษัท ตอบโจทย์ธุรกิจขนส่งที่มีสเกลจำนวนรถตั้งแต่ 30-1,000 คัน

ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนส่ง B2B ประเภท 3PL (Third-Party Logistics) และบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่มีแผนกขนส่งจำนวนมาก ซึ่งเมธัชเผยว่าเป็นการเติบโตสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดยระยะหลังได้ปัจจัยเสริมจากการเติบโตของธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์

“จากการแพร่ระบาด COVID-19 รอบแรก จะเห็นพฤติกรรมคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เริ่มหันมาสั่งซื้อของออนไลน์มากขึ้น ทำให้ตลาดการขนส่ง B2C โตขึ้นมากกว่าเดิม 30-40% (นับจากจำนวนพัสดุที่ส่ง) แต่สำหรับการขนส่งแบบ B2B มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย เทรนด์การใช้เทคโนโลยีจะเป็นการเปลี่ยนจากระบบการจัดการแบบแมนวลมาสั่งงานผ่านแอปฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่า”

แม้กลุ่มผู้ใช้แอปฯ ส่วนใหญ่จะเป็นสเกลระดับกลาง เพราะจากประสบการณ์ของเมธัชพบว่าสเกลธุรกิจขนาดเล็กที่มีรถ 5-10 คัน ผู้ประกอบการขนส่งระดับนี้จะมองว่าการใช้ระบบแมนวลยังรับไว้ แต่ระยะหลังมีธุรกิจขนส่ง

เอสเอ็มอีไม่น้อยที่มองหาเทคโนโลยีหรือโซลูชันมาช่วยลดต้นทุน ซึ่งทาง SKYFROG มีการดีไซน์แพ็กเกจเป็นแบบระบบ Self Service ให้สามารถทดสอบใช้แอปฯ ได้เอง และชำระเงินผ่านหน้าเว็บแบบอัตโนมัติในราคาที่เอื้อมถึง เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแอปฯ ได้ และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการทางหนึ่งในช่วง COVID-19 ด้วย 

เทรนด์โลกโลจิสติกส์

มานาทีนี้คงกล้าบอกได้ว่า SKYFROG ไม่ใช่แอปฯ น้องใหม่หรือผู้เล่นหน้าใหม่อีกแล้ว โดย SKYFROG มีแผนขยายไปต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว ตลอดจนพัฒนาแอปฯ ในเชิงลึกมากขึ้น เช่น นำ AI

มาช่วยแนะนำคนขับรถ, สามารถอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติ, ระบบวิเคราะห์ภาพเพื่อตรวจสอบการจัดเรียงสินค้า กรณีที่ต้องขนส่งและจัดเรียงสินค้าด้วย

ทิศทางพัฒนาเหล่านี้เกิดจากมุมมองของเมธัชที่เห็นว่าเทรนด์โลจิสติกส์ เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้ประกอบการจะง่ายกว่าเดิมมาก เพราะหันกลับไปมองเมื่อ 7 ปีก่อนที่เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ใหม่ๆ การลงทุนแอปฯ ต้องมีทุนไม่ต่ำกว่า 5-10 ล้านบาท แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ในราคาหลักพันหลักหมื่น โดยไม่ต้องลงทุนเอง แต่ได้ใช้บริการ All in One Service    

“ยกตัวอย่างกลุ่มขนส่ง 3PL ผู้ว่าจ้างเริ่มมีเงื่อนไขว่าจะมาส่งสินค้าให้เขา ผู้รับจ้างต้องมีระบบจัดการมาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการ และเงื่อนไขลักษณะนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะอนาคตเทคโนโลยีจะเป็นเรื่องการสร้างศักยภาพการแข่งขัน ขณะที่ต้นทุนเทคโนโลยีมีแต่ต่ำลง” เมธัชชี้ให้เห็นเทรนด์ธุรกิจที่จะเปลี่ยนไป

สำหรับเทรนด์วงการโลจิสติกส์แบบ B2C ซึ่งเป็นการแข่งขันแบบ Economy of Scale อยู่แล้ว (หมายถึง ยิ่งส่งมาก ค่าส่งต่อชิ้นยิ่งถูก) ส่วนใหญ่จะลงทุนพัฒนาแอปฯ และเทคโนโลยีเอง เนื่องจากธุรกิจมีขนาดใหญ่ จึงมีรถขนส่งที่ต้องบริหารจัดการมากกว่าหลักพันถึงหมื่นคัน จึงต้องมี Core Competency เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขันของโลจิสติกส์กลุ่มนี้

ต่างจากวิธีคิดของวงการโลจิสติกส์แบบ B2B ที่ไม่ใช่เรื่องการทำมากได้มาก แต่เน้นเรื่องบริการและคุณภาพของการส่งมากกว่า เพียงแต่เทรนด์ธุรกิจขนส่ง B2B จะเข้าสู่ลักษณะการส่งของแบบลูกครึ่งมากขึ้น คือปลายทางเป็นทั้งบริษัท ห้างร้าน โมเดิร์นเทรด ผสมกับผู้บริโภคทั่วไป (ลูกค้าปลีกตามบ้าน) เนื่องจากพฤติกรรมซื้อของเปลี่ยนไปสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น

แอปพลิเคชันฝีมือคนไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ในยุคที่ ‘เทคโนโลยี’ กลายเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ เมื่อหันมองเทคโนโลยีไทย เมธัชยืนยันว่า ซอฟต์แวร์และแอปฯ ฝีมือคนไทยถ้าวัดกันหมัดต่อหมัด เทคโนโลยีไทยไม่แพ้ต่างชาติ อยากให้คนไทยลองเปิดใจ

และทดลองใช้เทียบประสิทธิภาพกัน เพราะการสนับสนุนซอฟต์แวร์คนไทยเท่ากับเป็นการนำรายได้กลับมาสู่คนไทยด้วยกัน ไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ

“อย่างแอปฯ SKYFROG การที่บริษัทเขียนโปรแกรมเองได้ พัฒนาโดยคนไทยทั้งหมด ถือเป็นจุดแข็งเวลานำไปเสนอผู้ประกอบการ เพราะเวลาลูกค้ามีความต้องการเพิ่ม เราสื่อสารกันด้วยภาษาไทยทั้งหมด สามารถสร้างฟีเจอร์เพิ่มให้กับลูกค้าได้ตามต้องการ

“เพราะถ้าเป็นเทคโนโลยีต่างประเทศจะเป็นแอปฯ สำเร็จรูป ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือถ้าสั่งฟีเจอร์เพิ่มเติมจะมีราคาสูงมากหลักหลายล้านบาท เพราะต้องให้โปรแกรมเมอร์ที่อยู่ต่างประเทศเป็นคนดำเนินการ ดังนั้น ในแง่การทำงานร่วมกัน การใช้เทคโนโลยีคนไทยด้วยกันก็สะดวกกว่า” เมธัชเล่าจากประสบการณ์ตรง ถึงความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์มสัญชาติไทยเป็นการปิดท้าย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ