fbpx

ชีวิต ความคิด ปรัชญา และดนตรี ตามจังหวะของ ‘สินเจริญ บราเธอร์ส’

เรื่อง :  สุกฤษฏิ์ บูรณสรรค์

ภาพ : สรรค์ภพ จิรวรรณธร

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร GM Magazine ฉบับที่ 516)

ดนตรี คือหน้าต่างแห่งจิตวิญญาณ คือเสียงสะท้านแห่งตัวตน คือหนทางแห่งชีวิต

คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงไปนัก เมื่อพิจารณาถึงวิถีทางแห่งดนตรีของศิลปินรุ่นใหญ่หลายต่อหลายคน หลายต่อหลายวงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งผ่านการเคี่ยวกรำ ผ่านการฝึกฝน บ่มเพาะประสบการณ์ นำเสนอในสไตล์และรูปแบบที่ชัดเจน ทั้งยังเป็นตัวเอง

โดยตลอดระยะเวลาเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา นับจากปี พ.ศ. 2539 บนเส้นทางซึ่งทั้งสามพี่น้อง ตระกูลสินเจริญ   บอม-สุทธิศักดิ์, เบิ้ล-ธีรยุทธ และ บอย-ธนัญชัย ได้ฝากฝีมือ ความสนุกสนานเอาไว้ผ่านบทเพลงและเสียงดนตรีคุณภาพ ภายใต้การกำกับนามแห่งสินเจริญ บราเธอร์ส

ดนตรีอะคูสติกสบายๆ คือลายเซ็นที่เด่นชัด ประกอบกับเคมีที่เข้ากันได้ดีระหว่างสามพี่น้อง ซึ่งมีดนตรีเป็นแก่นหลักของจิตวิญญาณมาตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านช่วงเวลามาอย่างโชกโชน และนำเสนอทั้งความสนุก ความสุข และการตอบแทนที่มีให้แก่สังคม

และในบ่ายอันแสนสงบวันหนึ่ง ณ บ้านสินเจริญ ย่านพระรามเก้า GM Magazine ได้ ‘รับเชิญ’ ให้เข้าไปเป็นแขก ร่วมพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ กับสามพี่น้อง สินเจริญ บราเธอร์ส  ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์แบบ ‘Unplugged’ ถึงที่มาที่ไปแห่งเส้นทางดนตรี ความคิดเห็นที่มีต่อแวดวงดนตรีทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งจังหวะชีวิตที่แตกต่างแต่ลงตัวของทั้งสามพี่น้อง จนถึงภาพในอนาคตที่พวกเขาได้มองเอาไว้ในภายภาคหน้า

สินเจริญ บราเธอร์ส เริ่มต้นขึ้นมาอย่างไร

บอย: เริ่มต้นจากการเป็นวงดนตรีเด็ก ชื่อวงว่า ฟาง ของเราพี่น้องสามคน บอม เบิ้ล และบอย แล้วรวมกับเพื่อนอีกสามคน เป็นวงหกคน ซ้อมกันอย่างจริงจังจนกลายเป็นวงดนตรีเดินสาย จะงานจ้าง งานฟรี ก็ไปหมด มีกลุ่มแฟนๆ ที่ตามไปดูด้วยตลอด อาจเพราะเราเป็นวงดนตรีเด็กเดินสายรุ่นแรกๆ ของเมืองไทยก็ว่าได้ เลยทำให้เกิดความโดดเด่นขึ้นมา พวกเราเด็กกันมาก พี่บอมสิบสาม พี่เบิ้ลสิบเอ็ด ผมสิบขวบ เรียกว่าเด็กกันมากๆ เป็นช่วงเวลาแรกเริ่มของสินเจริญเลยก็ว่าได้

เราจริงจังกันมากๆ เพราะเล่นเพลงแนวเฮฟวีเมทัลที่เป็นแนวที่ผู้ใหญ่เล่นกัน คุยกันจริงจังถึงขั้นที่ว่า จะหยุดเรียนเพื่อมาเล่นดนตรีเต็มตัวกันเลยดีหรือไม่ ได้คุยติดต่องานกับผู้จัดการของวง XYZ รวมถึงได้ไปซ้อมดนตรีที่ห้องซ้อม ชวลิตสตูดิโอ ที่เป็นห้องซ้อมอันดับหนึ่งในช่วงเวลานั้น เป็นห้องซ้อมประจำของพี่หรั่ง ร็อคเคสตร้า อัดเสียงแบบสี่แทร็ค ทันสมัยสุดๆ ในยุคนั้น

แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ อยู่ตรงที่ผมตอนเข้าช่วงวัยรุ่นแล้วเสียงแตก ประกอบกับมองเรื่องการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้วงฟางต้องแยกย้าย เพราะเพื่อนอีกสามคนก็ยังเดินในเส้นทางดนตรีกันต่อ ซึ่งปัจจุบัน ก็ไปได้ดิบได้ดีในสายงานนี้อย่างจริงจัง

จากแนวดนตรีเฮฟวีเมทัลของวง ฟางมาเป็นแนวอคูสติคแบบสินเจริญ บราเธอร์ส ได้อย่างไร

บอม: ในช่วงเริ่มต้นเราไม่มีทางรู้หรอกว่าชีวิตมันจะเป็นอย่างไร จะนำไปสู่อะไร ตรงไหนที่เหมาะกับเรา แต่ท้ายที่สุด เราก็พบว่า แบบนี้แหละเหมาะกับเราสามคนที่สุดแล้ว ที่สำคัญ บุคลิกภาพของนักดนตรีเมทัลกับจิตวิญญาณของเราก็ไม่ได้พ้องกันไปได้มากขนาดนั้น

บอย: คือตอนที่พวกเราเป็นเด็ก เราเล่นดนตรีที่เราฟัง เล่นดนตรีที่เราชอบ เพลงเฮฟวีเมทัล อยากเล่นเพลงที่โตกว่าตัวเรา พอเล่นแล้วมันได้ ก็ยิ่งทำให้อยากเล่นเพลงที่ยากขึ้นไปอีก แต่พอมาเป็นสินเจริญ บราเธอร์ส ก็ผ่อนลงไป สบายขึ้น มีการใช้แทรมโบลีนเครื่องเขย่า กับเครื่องเคาะเพอร์คัสชันมาประกอบ

บอม: กล่าวโดยสรุป ก็คงเหมือนการร่อนตะแกรงนะ ที่สุดท้ายเราได้ข้อสรุป เนื้อแท้ตัวตนของพวกเราคืออะไร

มุมมองของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อการเล่นดนตรีของสามพี่น้องสินเจริญ

บอย: พี่บอมมักจะบอกเสมอว่า พ่อแม่ของพวกเรา สนับสนุนในทุกๆ เรื่อง ประกอบกับดนตรีก็เป็นสิ่งที่ดี ตอนที่ยังเป็นวงฟาง ไม่ว่าจะไปเดินสายเล่นกลับกันมากี่โมง พวกท่านก็จะคอยหาน้ำหาท่ามาให้พวกเราอยู่เสมอ

ในวันนี้ วันที่อยู่ในบทบาทของพ่อ คิดเห็นอย่างไรกับการสนับสนุนด้านดนตรีกับลูก

บอย: ผมมีลูกก่อนพี่บอม ซึ่งมองดูลูกของตัวเองก็พบว่า เป็นเด็กที่อยู่ในวิถีของนักดนตรี ใช้ชีวิตอยู่หลังเวทีข้างเวทีตั้งแต่ยังเด็กๆ เดินทางไปกับผม พี่บอม พี่เบิ้ล เกือบสี่สิบจังหวัดทั่วประเทศเห็นจะได้ ทีนี้พอเริ่มรู้ความ ลูกของผมเริ่มรู้สึกสนุกขึ้นมาบ้าง และพอโตขึ้นมาอีกนิด ผมเริ่มปล่อย ให้มีวิถีทางของตัวเอง จนมาปีนี้ เริ่มจับกีตาร์เล่น ฝึกฝนด้วยตัวเอง ฝึกกับเพลงที่ชอบ ซึ่งพี่บอมพี่เบิ้ลก็แอบมาบอกว่า หน่วยก้านดีใช้ได้เลย

คิดว่าจะผลักดันลูกให้เป็น สินเจริญรุ่นที่สองหรือไม่

บอม: ถ้าว่ากันตามตรง ส่วนตัวก็ไม่ได้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองสายผลักดันลูกให้แจ้งเกิดหรืออะไรขนาดนั้นนะ ไม่เลย อยากจะให้ทุกอย่างดำเนินไปโดยวิถีธรรมชาติ อย่างที่พวกเราสามคนเป็นกันมา อยากให้เป็นไปด้วยความรู้สึกที่สนุก ไม่ถูกบังคับกันมากกว่า

บอย: ไม่มีความคิดทำนองว่า พ่อแม่เป็นนักดนตรี ลูกต้องเป็นนักดนตรี อะไรพวกนี้ ไม่มีเลย ไม่มีการใช้     คอนเนคชัน ไม่มีการวางลู่ทาง ไม่แม้กระทั่งส่งเรียนด้วยซ้ำ อยากให้เขาสนใจจากใจจริง อย่างน้องสินลูกของผม พอถามว่าอยากไปเรียนดนตรีหรือไม่ เขาบอกว่าไม่ แต่อยากมีวงของตัวเองเลย (หัวเราะ)

เทียบแวดวงดนตรีในสมัยก่อนกับปัจจุบัน มีความแตกต่างกันมากน้อยอย่างไรในระยะเวลาเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา

บอม: เคยเห็นพวกต้นไม้ที่เติบโตตามรอยแยกบนทางด่วนหรือไม่ ? น่าสงสัยอยู่นะว่าเติบโตได้ยังไง เอาน้ำมาจากไหน เอาดินมาจากไหน ไม่ใช่ว่าจะเปรียบเทียบให้ฟังดูยาก แต่ในรุ่นของพวกเราสามคน มันหล่อเลี้ยงแบบธรรมชาติ มาด้วยตัวเอง ไม่ค่อยได้ปุ๋ยหรือ ‘โอกาส มาบ่อยครั้งมากนัก ถ้าย้อนกลับมาที่คำถาม ณ วันนี้ มองว่าประตูของโอกาสเปิดขึ้นหลายบาน มีคนหยิบยื่นโอกาสมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับสังคมยุคนี้ เพราะฉะนั้น นักดนตรีในยุคนี้ เมื่อมีโอกาส ก็สามารถก่อเกิดเป็นรายได้ และเป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงตัวเองได้

บอย: อันนี้ขอเสริมจากพี่บอม คือในยุคของพวกเรา ก็มีรูปแบบของการแสวงหาโอกาสแบบหนึ่ง คือเราจะไปเกาะขอบเวทีวงดังๆ ไปอยู่หลังเวทีวงดังๆ คอยไปช่วยงาน ไปศึกษาดูเทคนิควิธีการ แล้วไขว่คว้าทุกโอกาสที่เข้ามา นั่นเป็นรูปแบบของยุคสมัยนั้น แต่ในโลกยุคใหม่ ก็อาจจะมีรูปแบบที่ต่างไป สมัยก่อน มีสูตรในการแต่งเพลงที่ถ้าทำแบบนั้นแบบนี้ ดังแน่ ฮิตชัวร์ แต่สมัยนี้ไม่เลย เอาแน่นอนได้ยาก แต่ถ้าดังแล้วดังเลย แล้วก็แข่งกันที่คุณภาพและยอดวิวประกอบกัน ทั้งหมดนี้ไม่ได้ผิดหรือถูก เป็นเพียงแค่โลกที่ไม่ได้ต้องใช้เวลามากนักในการมี ‘ที่มาที่ไป’ ก่อนที่ใครสักคนจะเป็นที่รู้จัก

สินเจริญ บราเธอร์ส ในวันนี้ แตกต่างจากวันแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 มากน้อยเพียงใด

เบิ้ล: เปลี่ยนไปเยอะนะครับ เยอะมาก สมัยแรกๆ เราทำอะไรก็มักจะเป็นไปด้วยความพลุ่งพล่าน ความสดใหม่ นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ พอเวลาผ่านไป ก็คิดเยอะขึ้น เงื่อนไขชีวิตมากขึ้น อาจจะมีเรื่องที่ไปด้วยกันได้บ้าง ติดขัดบ้าง เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการทำงานร่วมกัน

ร่วมงานในฐานะ พี่น้องมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง สำหรับสินเจริญ บราเธอร์ส

บอม: ก่อนอื่นต้องออกตัวว่า พวกเราคงจะเกาะเกี่ยวกันแบบนี้ตลอดไป เพียงแต่ความเข้มข้น และเนื้องานต่างๆ ก็ต้องดูว่าแต่ละคนว่างตรงกันหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ว่ากันตามความสะดวกเป็นหลัก เพราะจุดร่วมนั้นมีอยู่แล้ว แต่ถ้าเจาะลงในรายละเอียด ก็อย่างที่เบิ้ลกล่าวไป มีปัจจัยความรับผิดชอบของแต่ละคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

บอย: มองว่าสินเจริญเปลี่ยนแปลงไปตามภาระหน้าที่ของชีวิต อย่างผมกับพี่บอมก็มีลูก พี่เบิ้ลก็มีบริษัทที่ทำร่วมกับเพื่อนเป็นของตัวเอง

บอม: ข้อดีก็ว่าไปแล้ว ส่วนข้อเสียของพี่น้องทำงานร่วมกันคือไม่มีรูปแบบ การประชุมงานจนถึงการติติง   คอมเมนต์งาน อาจจะเพราะอยู่ร่วมกันในฐานะพี่น้อง ก็เลยมีการคาบเกี่ยวกันของเรื่องอารมณ์ผสมเข้ามา

เบิ้ล: เป็นสิ่งธรรมดามากๆ ที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัว เป็นสิ่งที่เกิดภายใต้ปัจจัยของการทำงานและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ความขัดแย้ง ถ้าเป็นการทำงานธรรมดาทั่วไป ถกเถียงทะเลาะกัน ตกเย็นกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นกลับมาทำงานกันใหม่ แต่พอเป็นการทำงานกับครอบครัว มันก็มีเรื่องความรู้สึกติดใจ กินแหนงใจ ที่ค่อยๆ สะสมเข้ามาตามระยะเวลาด้วย

สินเจริญ บราเธอร์ส ข้ามผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้อย่างไร

เบิ้ล: ต้องใช้ความเข้าใจอย่างมากๆ คือเลี่ยงไม่ได้ การทำงานกับครอบครัว เวลาทะเลาะเรื่องาน ก็อาจเลยเถิดไปเรื่องอื่น ก็ต้องใช้ความเข้าใจ การให้อภัยซึ่งกันและกัน ในการก้าวข้ามผ่านไป  

บอม: มนุษย์มีหลากหลายวิธีในการที่จะทำให้เกิดรอยปริในหัวใจ ไม่ว่าจะด้วยคำพูดแรงๆ ปฏิกิริยาที่แหนงหน่ายกัน หรือว่าแม้กระทั่งพฤติกรรมที่แสดงความทิ่มแทงใจ ล้วนก่อให้เกิดรอยปริที่ทุกๆ องค์กร ทุกๆ กลุ่ม ต้องแยกจากกัน

เบิ้ล: นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ความเข้าใจ เนี่ย เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการทำงานกับครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงปัญหาของประเทศ ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ต้องใช้ความเข้าใจ การให้อภัย การรู้หน้าที่ของตนเอง การบริหารคนและบริหารใจ รวมถึงการดึงเอาศักยภาพที่มีมาใช้ให้เหมาะสม อาจจะฟังดูยาก แต่เมื่อมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และให้อภัย พอมีปัญหา ทุกอย่างจะคลี่คลายได้โดยง่าย และสามารถกลับมาทำงานร่วมกันได้

บอม: เอาจริงๆ อาจจะถึงขั้นที่ว่า ถ้าหากยังไม่เข้าใจ ยังไม่เคลียร์ใจ ก็อาจจะต้องปล่อยผ่าน ช่างมันไปบ้าง เพราะส่วนตัวมองว่า แนวคิดนี้ น่าจะทำให้สังคมมวลรวมของประเทศสามารถเดินหน้าไปได้ด้วย คือเราอาจจะไม่ได้เข้าใจแนวคิดของน้องๆ รุ่นใหม่มากนัก และเราเองก็มีแนวคิดที่เป็นหลักของเรา แต่ถ้าพยายามอย่างเต็มที่แล้วมันไม่ได้ ก็อาจจะต้องปล่อยผ่าน ช่างมัน หรืออาจจะมองว่านี่เป็นการข้ามผ่านในแบบหนึ่งก็เป็นได้

เหตุการณ์ที่รู้สึกว่ารุนแรงอย่างถึงที่สุดในการทำงานร่วมกันระหว่างพี่น้องของสินเจริญ บราเธอร์ส บ้างหรือไม่

เบิ้ล: เคยสิ ทะเลาะกันบนรถในขณะเดินทางไปเล่นดนตรี แล้วพอถึงที่หมาย ก็ต้องทำตัวให้สนุกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

บอม: สมัยตอนทำงานที่เวิร์คพอยท์ รายการชิงช้าสวรรค์มั้ง คือทะเลาะกันบนรถ พอถึงที่สตูดิโอ ก็ต้องลงไปเล่น เล่นให้สนุก แถมตอนนั้นทางเวิร์คพอยท์ก็เหมือนจะวางบทบาทพวกเราสามคนเป็นรุ่นถัดไปของพี่หม่ำ พี่เท่ง พี่โหน่ง คือนอกจากเล่นดนตรี ก็ต้องมีรับส่งมุก แล้วคิดดูว่า ทะเลาะกันบนรถ แล้วต้องลงไปแต่งหน้า ทำงาน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเนี่ย

เบิ้ล: อย่างที่กล่าวไปนะครับ เมื่อถึงเวลาทำงาน ก็ต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง เข้าใจ และให้อภัย ช่างมันไปบ้างกับบางเรื่อง เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

สินเจริญ บราเธอร์ส มีมุมมองหรือแนวคิดในการทำงานประจำตัวของแต่ละคนอย่างไรบ้าง

บอม: มุมมองของผม อันนี้ฟังจากที่ภรรยาว่ามา อาจจะเป็นเรื่องของความมีชีวิตชีวาเวลาจับกีตาร์เล่นดนตรี คือทำจนเป็นจิตวิญญาณของตัวเอง เป็นบริบทและอุดมการณ์ของตัวเรา ทั้งดนตรีและงานศิลปะ ไม่ใช่ว่าเบิ้ลกับบอยจะมีน้อยไปกว่ากัน แต่ส่วนตัวผมค่อนข้างดื่มกินกับมันอย่างมาก และนำพาให้พี่น้องอีกสองคนได้ร่วมทางกันมาในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาด้วย

เบิ้ล: (นึก) ส่วนตัวเป็นคนไม่ได้มีสไตล์อะไรมากนะ ทำงานก็คือทำงาน ไม่ได้คิดอะไรกับมันนัก พอเริ่มต้นทำงานก็ต้องเต็มที่ พอทำงานร่วมกับคนอื่นก็ต้องปรับตัวตามให้ได้ บางทีอาจจะเป็นคนที่ไม่ชอบการปะทะสักเท่าไร จะชอบการทำงานที่สนับสนุนคนอื่น ยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งเข้าใจว่าวิธีการทำงานกับคนไม่มีรูปแบบตายตัว ต้องผ่านการปรับเปลี่ยน เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

บอย: ผมว่ามุมมองในการทำงานของผม เป็นสิ่งเดียวเท่านั้น คือ สินเจริญ บราเธอร์ส นะ ทุกวันนี้เป็นคนติดต่อประสานงานหลักของวง และเพิ่งคิดอยู่ในช่วงเวลานี้ว่า สุดท้าย เราคงจะใช้ชีวิตและตายจากไปกับคำว่า ‘นักดนตรี’ เช่นนี้เอง และมั่นใจว่า สินเจริญ บราเธอร์ส จะเป็นวงดนตรีพี่น้องที่โลดแล่นไปจนถึงวันสุดท้าย  

สิ่งใดที่ทำให้แนวดนตรีของสินเจริญ บราเธอร์ส ยังคงสไตล์เดิมมาจนถึงทุกวันนี้

เบิ้ล: อืม อย่างพี่บอม ชีวิตของเขาก็เป็นดนตรีมาโดยตลอด ชอบเล่นดนตรี ผมเองก็เล่นดนตรีได้ อย่างบอย ความสามารถของเขาก็ชัดเจน มองว่าวงสินเจริญ บราเธอร์ส เป็นกิจกรรมร่วมกัน ที่ในช่วงเวลาหนึ่ง พวกเราได้สร้างขึ้นมาให้กลายเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่วิธีคิดในตอนนี้ คือการมองว่ามีกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกัน แต่ถ้าในส่วนตัวของผม ผมมีความสุขที่ได้เล่นดนตรีร่วมกับพี่น้อง เล่นกันมาตั้งแต่ยังเด็กจนถึงทุกวันนี้

บอม: ที่เบิ้ลกล่าวไปนั้นก็เป็นชีวิตของพวกเราในหลากหลายมิตินะ ผ่านมาเกือบทั้งหมด ทั้งนักดนตรีรับจ้างกลางคืน ออกเทป เล่นดนตรีริมถนนเปิดหมวก เล่นดนตรีในงานแสดงดนตรี มาทำรายการโทรทัศน์ ทำรายการวิทยุ

วางอนาคตของวงสินเจริญ บราเธอร์ส นับจากนี้อย่างไร

บอม: ก็จะเป็นสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและวงสินเจริญ บราเธอร์ส ที่ต่อยอดออกไป อย่างในตอนนี้ก็มีผลิตภัณฑ์อย่างกีตาร์ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว หรือแม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับต้องการจะทำคอนเทนต์ที่ทำให้กับสังคม ที่ได้ความนิยมและผู้ร่วมอุดมการณ์เป็นกลุ่มเป็นก้อนกลับมา ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการขยายไลน์ของสินเจริญ บราเธอร์ส

แนวคิดการช่วยเหลือสังคมของสินเจริญ บราเธอร์ส เกิดขึ้นมาอย่างไร

บอม: จริงๆ ก่อนหน้านั้น ในช่วงที่พวกเราทำรายการ ‘สินเจริญ เชิญแขก’ ซึ่งตอนท้ายของทุกๆ เทป เราจะทำอะไรนะเบิ้ล

เบิ้ล: พอเรามีรายได้ ก็จะเอารายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน

บอม: อันนี้ถ้ามองในมุมการตลาด สินค้าหนึ่งจะอยู่ทนได้นั้น นอกเหนือจากคุณภาพแล้ว จะต้องใช้ศรัทธาจากผู้คนมาประกอบกันด้วย ดังนั้น นอกจากคุณภาพที่ดี คุณก็ต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้คน นั้นอาจจะเกิดขึ้นจากการที่เรามองเห็นความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม แล้วต้องการมีส่วนในการช่วยเหลือ ในช่วงเวลานั้น ยังไม่มีสื่อ Social Media รายการโทรทัศน์ของเราเป็นสื่อที่ค่อนข้างแข็งแรง ก็เป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนได้รับรู้ว่า ยังมีคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคมนะ คุณพร้อมจะยื่นมือช่วยเหลือเขาเหมือนกับพวกเราหรือไม่ แน่นอนว่าคนที่ต้องการการเยียวยา ก็จะได้การเยียวยาจากคนรอบข้างอย่างมากมาย

สินเจริญ บราเธอร์ส ทำโครงการ ‘Prison Project’ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสภายในเรือนจำ สิ่งที่ได้รับกลับมาจากโครงการนี้

บอย: ผมมองว่าเป็นกำไรชีวิตนะ คือการได้เดินผ่านประตูเหล็กไปอยู่อีกโลกหนึ่งที่เราคงไม่มีโอกาสได้สัมผัส

บอม: เป็นโอกาสพิเศษซึ่งกันและกันนะ ทั้งของเราและของเขา เกิดการถ่ายเทให้แก่กันและกัน เหล่านักโทษในเรือนจำก็เกิดความหวังในชีวิต เกิดคุณค่าในตัวเอง ที่เรามอบให้ด้วยการมองเห็น มอบให้ด้วยคำพูดที่ดีๆ มอบให้ด้วยการยกย่อง คนที่ไม่เคยได้รับเกียรติ แล้วจู่ๆ มีคนมาหยิบยื่นรอยยิ้ม ความหวัง และเกียรติยศที่หายไปจากตัว แค่เราเรียกว่า ‘ทุกๆ ท่าน!’, ‘พี่ๆ เพื่อนๆ’ แค่สิ่งเล็กน้อยเท่านั้น แต่ทำให้คนมีความหวังที่จะมีชีวิตต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราได้รับ คือการที่ได้รู้ว่าพวกเราเองก็มีคุณค่ากับผู้คนด้วยเช่นกัน

เบิ้ล: สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้มองว่าเหลือบ่ากว่าแรงอะไรที่พวกเราจะทำหรือช่วยเหลือซึ่งกันและกันนะครับ

บอย: สุดท้าย ผมมองว่า ถ้าเราทำแล้วเรา ‘มีความสุข’ มันปิดจบทุกอย่างจริงๆ นะ อย่างโครงการ Prison Project เอง เรารู้สึกอยากไปทุกครั้ง พอได้ไป ก็ส่งมอบสิ่งดีๆ ให้แก่กัน ตัวของผู้ต้องขังก็รู้สึกว่า ตัวเองมีคุณค่าขึ้นมาอีกครั้ง ประกายสายตาของพวกเขาเวลาที่สินเจริญเข้าไป ความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน และจบลงด้วยน้ำตาแห่งความอิ่มใจ เป็นก้อนความสุขที่พวกเขาจะเก็บเอาไว้ ให้ชีวิตมีความหมาย

บอม: แล้วที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือมีเครื่องชี้วัดด้วยนะ สำหรับคนที่พ้นโทษออกมาแล้ว อย่างเราไปเดินซื้อโทรศัพท์มือถืออยู่ดีๆ เสียงร้องทักมาเลย ‘พี่!! หนูออกมาแล้ว!’ เหมือนฉากในหนังเลย แถมพอผ่านไปอีกสามสี่เดือน คนเดิมได้ผ่านเทิร์นโปรเป็นผู้จัดการร้าน คือคนที่มาจากติดลบกว่าศูนย์ พอได้โอกาสใหม่ในชีวิตก็ยิ่งไขว้คว้าไม่ปล่อยมันอีก

บอย: ในช่องข้อความของสินเจริญ บราเธอร์ส ก็มีข้อความของคนที่พ้นโทษ ส่งมาหาพวกเราเยอะมาก บางคนส่งมาก่อนส่งให้ครอบครัวเสียอีก สิ่งนี้เอง ที่ตอกย้ำว่า ทำไมเราสามคน ยังคงทำสิ่งนี้อยู่ และทำด้วยความสุข นะครับ

แนวดนตรีที่สินเจริญ บราเธอร์ส ยังไม่เคยทำ และอยากลองทำสักครั้ง

บอย: อยากกลับไปเล่นเพลงร็อคเนอะ (หัวเราะ)

บอม: จริงๆ ต้องสารภาพว่า เราได้ทดลองมาเกือบหมดแล้ว เพียงแต่การทดลองเหล่านั้นไม่ได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณชน (หัวเราะ) คือได้ผ่านการทำงานระดับสุดยอดมาแล้วมากมายผ่านคุณจอห์น วรงค์ วรบุตร ผ่านห้องอัดเสียงชั้นยอด คนทำมาสเตอร์ของแกรมมี่ ซึ่งในช่วงเวลานั้น เราได้ลองทำเกือบทุกแนวเลย เพียงแต่ไม่เคยถูกเผยแพร่ออกไป ก็อดคิดไม่ได้นะ ว่าจะทำอย่างไร ที่คนทั่วไปจะเห็นศักยภาพในช่วงเวลานั้นของพวกเราในวันนี้กันบ้าง

ในฐานะที่เป็นรุ่นใหญ่ในแวดวงดนตรี มีศิลปินรุ่นใหม่ที่รู้สึกเข้าตาบ้างหรือไม่

บอม: ผมว่าหลายวงเลย อย่างไททศมิตร วงขวัญใจ มีเมโลดี้ มีการเขียนเพลงที่น่าสนใจ อีกคนคือไววิทย์ เป็นเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ที่มีการเขียนและท่วงทำนองที่เท่มากๆ พูดแบบตรงๆ ชัดๆ ผมอาจจะไม่ใช่แฟนเพลงของพวกเขา แต่ฟังเป็นกรณีศึกษา พยายามซอกซอนเข้าไปในจิตวิญญาณของพวกเขา และบอกได้คำเดียวว่าเจ๋งเป็นบ้าเลย

เบิ้ล: โบกี้ไลอ้อนก็ด้วย คือส่วนตัวมองว่า เป็นโลกอีกยุคหนึ่ง ที่นักดนตรีมีความสามารถ และเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ถ้าเป็นสมัยก่อน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่นักดนตรีไทยจะสามารถสร้างผลงานให้โด่งดังในระดับสากลได้ แต่ในวันนี้ ได้เกิดขึ้นแล้ว

บอม: หรือแม้กระทั่งเพลงที่มีเนื้อหาไม่ได้เป็นกระแสหลักที่นิยมของตลาด ถ้าเป็นสมัยก่อน จบ จบเลย ขายไม่ได้แน่ๆ เดี๋ยวนี้เหรอ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น

เบิ้ล: ตั้งแต่หลังการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นต้นมา แวดวงดนตรีก็แทบไม่มีแบ่งแล้วว่าเป็นบนดินหรือใต้ดิน ทุกอย่างเชื่อมถึงกันไปหมดด้วยเทคโนโลยี ทุกคนเป็นสื่อได้หมด

บอม: คำว่าใต้ดินหรือ Underground กลายเป็น ‘ประเภท’ ของดนตรีไปแล้ว กล่าวคือ เพลงไหนที่แปะป้ายว่าเป็น Underground ก็จะเป็นอยู่แบบนั้น ได้รับการยกย่องไว้ว่าเป็นแบบนั้นนั่นล่ะ

บอย: อีกอย่างในสมัยนี้ กระแสการออกเพลงเดี่ยวๆ หรือ ‘EP’ เริ่มกลับมาอีกครั้ง สมัยนี้ต้องการแค่เพลงที่ปังจริงๆ หนึ่งเพลง ก็เรียบร้อยแล้ว

เคยคิดไว้หรือไม่ว่าสื่อดนตรียุคเก่าๆ อย่างเทปคาสเซทต์ แผ่นซีดี จะกลับมาอีกครั้ง

บอม: กลับมาแน่นอน สัญญาณต่างๆ เริ่มบ่งชี้มาแล้ว ไม่ว่าจะการรีมาสเตอร์ของศิลปินรุ่นเก่า สั่งซื้อแบบจองก่อนหรือ ‘Preorder’ เทปคาสเซทต์ ม้วนละหกร้อย เต็มหมด

บอย: เทปคาสเซทต์ แผ่นซีดี กลับมาแน่ๆ ถึงเวลาของมันแล้ว

เบิ้ล: ผมว่าก็เหมือนแผ่นเสียงไวนิลนะ มันมีอารมณ์ของการได้จับต้อง ได้สะสม ซึ่งถ้าเทปคาสเซทต์ แผ่นซีดีจะกลับมา ก็คงจะกลับมาด้วยอารมณ์เหล่านั้น ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบพอสมควร แต่สุดท้ายโลกก็ยังคงพัฒนาไปตามเทคโนโลยี เราก็ยังคงเปิดเพลงแบบ Streaming ในการฟังเพลงเป็นหลักอยู่

บอม: คิดว่าข้อสรุปของโลกในปัจจุบัน มั่นใจว่าจะเป็นแบบนี้ ผมกลับไปหาคุณจอห์น ณรงค์ ไปขอบคุณแก ซึ่งคุณจอห์น ณรงค์ได้หล่นประโยคหนึ่งที่ดีมากๆ ว่า บอม ทำอะไรก็ทำเลย เพราะยังไงก็ได้กลุ่มก้อนของตัวเองแน่นอน กลุ่มใหญ่ๆ แบบทั้งประเทศมันไม่มีอีกต่อไปแล้ว…’ พอเรามองย้อนกลับมาก็เห็นว่า เออ จริงนะ คือกลุ่มก้อนที่ว่าอาจจะไม่ได้ใหญ่แบบคนทั้งประเทศเหมือนเมื่อก่อน แต่จะมีกลุ่มที่ตามติดแน่ๆ ไม่ต้องท้อใจอะไรเลย เพราะสุดท้ายขึ้นกับว่า คุณจะมีความถี่ในการสร้างผลงานมากน้อยแค่ไหน และจะพัฒนากลุ่มก้อนนั้นให้มากขึ้นไปได้หรือไม่

เคยรู้สึกท้อหรือไม่

บอม: เวลาเดินในเส้นทางความฝัน ก็ต้องบริหารไปควบคู่กับความเป็นจริงด้วย มีท้อมั้ย มี  มันมีต้นทุนในการดำเนินชีวิตต่อไปอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ค่อยอยากจะพูดถึงมาก ให้คิดคนเดียวได้ เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องเผชิญหน้าอยู่แล้ว ก็ค่อยๆ คิดแก้ปัญหากันไป หวั่นไหวบ้าง แต่ยังเห็นศักยภาพตัวเองในเวลานี้อยู่

อยากฝากอะไรถึงนักดนตรีรุ่นใหม่ ในฐานะที่เป็นรุ่นใหญ่ของแวดวง

บอย: ผมยังคงรู้สึกว่า ทุกสิ่งจะสำเร็จได้ ถ้าทำแล้วรู้สึกว่า เราสนุก เรามีความสุข อันนั้นเป็นจุดที่สำคัญที่สุด ว่าเรามาได้ถูกทาง ถ้ารู้สึกว่าอยากจะทำสิ่งนั้น อยากจะทำอีก ผมเชื่อว่าน้องๆ ในทุกวันนี้มีความสามารถ มีช่องทางที่ได้เรียนรู้กว้างขวางมากกว่ารุ่นก่อน อยากเห็นน้องๆ เล่นดนตรีด้วยความสุข และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาจะได้ค้นพบตัวเอง พวกเราคนรุ่นที่ผ่านมาก่อน อยากให้กำลังใจ และให้พลังใจน้องๆ ทุกคน ดนตรีไม่มียุคสมัย แล้วก็ขอให้ทุกคน ได้เจอจุดที่เป็นตัวเองได้ดีที่สุด และเร็วที่สุดครับ

เบิ้ล: ฝากความชื่นชมนักดนตรียุคนี้ซึ่งมีความสามารถมากขึ้น รักษาความสนุกและความสุขในการเล่นดนตรีอยู่เสมอ ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จครับ

บอม: เคล็ดลับความสำเร็จคือการถ่อมตนถ่อมใจ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง รวบถึงความเคารพ ความเป็นมิตร คนที่ประสบความสำเร็จคือแนวคิด เปิดใจ เก่งแค่ไหนก็แล้วแต่ ก็ต้องเริ่มต้นเปิดเข้าหาผู้คนและถ่อมตนถ่อมใจ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ