fbpx

ถ่ายภาพ สถานที่ และความผูกพันนิทรรศการ SENSE OF PLACEโดย ADD พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

ช่างภาพสตรีทหนุ่มมากฝีมือ ดีกรี Leica Ambassador กับ ‘SENSE OF PLACE’ นิทรรศการใหม่ล่าสุดที่กำลังจัดแสดง และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานของเขา

Reasons to Read

  • ช่างภาพสตรีทหนุ่มมากฝีมือ ดีกรี Leica Ambassador กับ ‘SENSE OF PLACE’  นิทรรศการใหม่ล่าสุดที่กำลังจัดแสดง และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานของเขา

SENSE OF PLACE

บางที่… เรียบง่ายถ่อมตน

บางที่… แฝงพลัง เต็มไปด้วยความหวัง ความฝัน

บางที่… มีความอิสระเสรี (ทางความคิด)

บางที่… คือที่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

และในบางที่ ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ไม่มีอะไรไร้ความหมาย หากว่าเราสามารถเรียนรู้ได้จากมัน

แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ ช่างภาพสายสตรีทที่เราผ่านตาฝีมือของเขามานาน ได้จัดนิทรรศการภาพถ่าย รวมผลงานเดี่ยว ‘SENSE OF PLACE’ ที่เขาถ่ายทอดภาพถ่ายในสถานที่ต่างๆ ที่เขาเลือกมาแล้วว่าตัวเองมีความผูกพัน มีความรู้สึกบางอย่างกับแต่ละภาพ เราจึงถือโอกาสมาชมภาพถ่ายและพูดคุยถึงเรื่องราวเบื้องหลังของชีวิตช่างภาพคนหนึ่งที่เลือกถือกล้องออกไปบันทึกความทรงจำให้กับทั้งตัวเขาเองและผู้คนรอบข้าง ใครที่ยังไม่ได้ไปชมภาพถ่ายของจริง ณ Leica Gallery Bangkok Gaysorn Village สามารถแวะไปได้ถึงวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย

GM : ก่อนจะมาเป็นนิทรรศการ SENSE OF PLACE

พีรพัฒน์ : ตั้งแต่เราเริ่มเป็น Leica Ambassador เมื่อปี 2016 ก็มีโจทย์แล้วว่าเราต้องมีนิทรรศการ เราก็จะเก็บรูปเวลาเราไปทริป แต่ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องรวมรูปจากทริปเดียว ประเทศเดียว แต่เราจะค่อยๆ เก็บหลายๆ มุม หลายๆ ที่ ทั้งจากการเดินทางท่องเที่ยว เดินทางไปทำงาน การเดินเล่น ถ่ายรูป เราจะมีคีย์เวิร์ดอยู่แล้วในใจว่าอยากได้ภาพประมาณไหน ในแต่ละวันบางอารมณ์เราอาจจะอยากถ่ายภาพแบบนี้ บางวันเราอาจจะอยากถ่ายภาพอีกแบบ ขึ้นอยู่กับโชคหรือดวง ที่เราจะเจอกับ subject นั้น แล้วเก็บบันทึก มันแตกต่างกันในแต่ละวัน แต่อยู่ที่ว่าสุดท้ายแล้วเรามาอิดิตให้มันอยู่ในคีย์เวิร์ดเดียวกัน SENSE OF PLACE ที่ตั้งชื่อนี้เพราะรู้สึกว่ามีมันมีความผูกพันตั้งแต่สมัยที่เราเรียน มันเป็นคำทางสถาปัตยกรรมในการพูดถึงสถานที่นั้น รู้สึกสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น คนที่อยู่บริเวณนั้นรู้สึกอะไรบางอย่างได้เป็นพิเศษกับสถานที่นั้น ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึก ก็เลยเลือกใช้คำนี้

GM : ถ่ายรูปทำไม ทำไมถึงต้องถ่าย

พีรพัฒน์ : แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพของเรา ก็อย่างเช่น บางครั้งเดินผ่านแล้วสวยดี ก็ถ่าย แต่ภาพที่สวย ก็อาจจะไม่ใช่ภาพที่เราเลือกมาใช้จัดแสดง เพราะบางภาพที่สวย มันอาจจะไม่ได้มีความหมายกับชีวิตเรา เพราะรู้สึกว่ามันไม่มีเรื่องเล่าของเราเลย บางภาพที่สวยบางทีเราไม่สามารถเล่าต่อได้ว่าก่อนหน้านั้นเกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมเราถึงเลือกรูปนี้มา นิทรรศการนี้มีสถานที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เพราะว่าเราจัดนิทรรศการที่ Leica Gallery Bangkok เราจึงอยากได้รูปที่จัดแสดงครึ่งหนึ่งเป็นรูปที่อยู่ในประเทศไทย อย่างกรุงเทพฯ เรามองว่ามันมี subject ให้หยิบจับเยอะว่าเราจะเลือกหยิบจับอะไรมานำเสนอ นำเสนอแบบไหนที่ไม่ซ้ำใคร และเป็นสไตล์ของเราเอง อย่างรูปที่อยู่ในโปสเตอร์ โปสการ์ด ที่ทำพีอาร์ก็ใช้รูปกรุงเทพฯ ส่วนอีกเมืองหนึ่งก็คือปารีส ซึ่งเป็นเมืองที่เราหลงรักตั้งแต่เด็ก เราชอบมาก แล้วก็มีญี่ปุ่น คือเมืองนาโงย่า แล้วก็มีอินเดีย อย่างในไทยก็จะมีต่างจังหวัดสองที่ แล้วก็จะเป็นรูปสัตว์ทั้งสองที่เลย ก็คือแม่กลอง ตลาดร่มหุบ จ.สมุทรสงคราม แล้วก็เขาใหญ่

GM : ดูภาพถ่าย แล้วได้อะไร

พีรพัฒน์ : ความรู้สึกต่อรูปแต่ละรูปมีความรู้สึกไม่เท่ากัน แต่ละที่เป็นที่ที่เราคุ้นชิน เราอยากนำเสนอส่วนที่ตัวเราเองได้ผ่าน สัมผัส เรียนรู้ มีประวัติศาสตร์ มีความทรงจำในชีวิตเราจริงๆ อย่างเช่น ถนนราชดำเนิน มีประวัติศาสตร์ มีความสวยงาม มีความสำคัญระดับประเทศ แต่ถนนเส้นนี้มีความสำคัญกับเราเพราะว่าเป็นสถานที่ที่เราเลือกทำธีสิส เราผูกพันและเราอยากนำเสนอในแบบของเรา ให้คนอื่นมาร่วมตีความ เพราะการมาดูนิทรรศการก็เหมือนกับได้มาเรียนรู้มุมมองของศิลปิน การจัดวางรูป บรรยากาศ สามารถดูเพื่อนำไปพัฒนาใช้กับตัวเอง บางคนอาจจะเป็นช่างภาพ ศิลปิน บางคนชอบดูงานศิลปะ เขาก็เอาไปต่อยอดในงานของเขาได้ แต่ละคนเลือกดูดีเทลในภาพต่างกัน บางคนเลือกดูกรอบ บางคนเลือกดูภาพ บางคนดูแสง บางคนเลือกดูแม้กระทั่งว่าเขียนแคปชันว่าอะไร ถ้าคนที่เป็นนักศึกษาเขาอาจจะดูเพื่อคิดต่อยอดไปถึงอนาคตของเขา ระหว่างเรียน ไปจนถึงเรียนจบว่าเขาจะทำอะไร

GM : สาเหตุที่เลือกเป็นช่างภาพ แต่ไม่ทำงานสถาปัตย์ตามที่เรียนจบมา

พีรพัฒน์ : เหตุผลที่ชอบถ่ายรูป เนื่องจากตอนที่เรียนสถาปัตย์ เราวาดรูปไม่เก่งเท่าเพื่อนๆ ในรุ่น เขาก็วาดรูปกันสวยๆ เวลาเราส่งงานอาจารย์เราต้องสเกตช์ภาพ เราก็รู้สึกว่ามันไม่สวย ยังไม่ดีพอ ก็เลยใช้รูปเป็นตัวเล่าเรื่อง ใช้เทคนิค photo collage แล้วก็ photo montage ในการพรีเซนต์ แล้วพอมาเป็นช่างภาพก็ชอบถ่าย outdoor เพราะว่าชอบออกข้างนอก ชอบปะทะกับลม ชอบโดนลม ไม่ชอบนั่งอยู่กับที่ แล้วที่เราไม่ทำงานสถาปัตย์ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าเราไม่ชอบนั่งอยู่กับที่ เพราะเวลาส่วนใหญ่ก็จะหมดไปกับการทำแบบ เราจึงเลือกที่จะทิ้งงานสถาปัตย์ไว้ แล้วออกไปทำงานถ่ายภาพ เพราะเราอยากเดิน เราอยากเก็บก้าว เราอยากออกไปดูชีวิตจริงๆ ส่วนอีกแรงบันดาลใจในการเป็นช่างภาพของเราก็คือ พระบรมฉายาลักษณ์ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ตอนที่ท่านทรงงาน ซึ่งเป็นภาพที่ดีมาก แล้วก็ป๊าของเรา ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาชอบถ่ายรูป ไม่เคยฉุกคิดว่า อัลบั้มรูปตอนเด็กๆ ของเราใครเป็นคนถ่าย แล้วมารู้ทีหลังว่าพ่อเรานี่เอง เขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาเป็นช่างภาพ แต่เขาแค่ชอบถ่ายรูป เราก็เลยเลือกที่จะเป็นช่างภาพ

GM : ทุกวันนี้ที่คนถ่ายภาพกันได้จากสมาร์ตโฟน การจะเป็นช่างภาพมืออาชีพหรือช่างภาพที่มีผลงานโดดเด่น ควรจะฝึกฝนตัวเองอย่างไร

พีรพัฒน์ : อยากเอาดีทางอาชีพช่างภาพ ต้องมีความอดทน เรียนรู้เยอะๆ เรียนรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ที่สำคัญจะต้องรู้ว่าตัวเองชอบรูปแบบไหน ชอบโทนสีแบบไหน ชอบสไตล์แบบไหน แต่ละคนที่มาของแรงบันดาลใจแตกต่างกัน บางคนชอบดนตรี ชอบอ่านหนังสือ บางคนชอบนั่งสมาธิ การเกิดไอเดียในหัวก็ต่างกัน ดังนั้น ถ้าสนใจอะไรก็ไปลอง ถ้าไม่ลองก็ไม่มีทางรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ถ้าคิดแล้วไม่ได้ทำก็ได้แค่คิด ไม่มีทางรู้ เหมือนที่เราบอกว่าเราไม่ชอบถ่ายภาพในสตูดิโอขนาดนั้น แต่ถามว่าทำได้ไหม ก็ทำได้ แต่เราก็ไม่ได้เลือกเป็นช่างภาพในสตูดิโอ

อย่างการถ่ายรูปคนแบบแคนดิด แล้วเราไปใกล้กับคน อย่างแรก ก็ต้องดูที่อุปกรณ์ก่อน ว่าคุณใช้อุปกรณ์ที่ดูเป็นมิตรไหม ไม่เป็นกล้องที่ใหญ่ ดูคุกคาม อย่างคนต่างชาติ เขาก็จะมีระดับความเป็นส่วนตัวที่แตกต่างกัน อย่างการไปเที่ยวแล้วเจอชอตที่น่าสนใจ ก็ต้องคิดก่อนว่าเราอยากได้รูปนั้นจริงไหม เพราะมันจะเป็นการข้ามเส้นความเป็นส่วนตัวของเขา เราต้องตัดสินใจว่าเราอยากได้ เราถึงถ่าย เพราะเราเคยรู้สึกอยากได้ แต่ไม่รู้ว่าจะได้รูปไหม มันมีความก้ำกึ่ง ก็ต้องชั่งใจ ก็ต้องคิดว่าเมื่อเราเห็น subject นี้ เราอยากจะสื่อสารอะไร ถ้าเราจะทำ ก็ต้องทำให้มันดีจนกระทั่งคนที่โดนถ่ายชอบรูปของเขาเอง มันควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะเราเคยมีกรณีที่ว่า เราถ่ายไปแล้ว แล้วเดินหนีไป เขาก็เดินตามมากระชากกล้อง แล้วถีบ ดังนั้น การถ่ายภาพคนเราต้องมองด้านบวกของเขา ต้องส่งเสริมให้เขาดูดี ลองคิดในมุมกลับกันว่าถ้าเราโดนคนอื่นถ่ายรูปในจังหวะที่ไม่ดี หน้าตาไม่ดี เหยเก เราก็ไม่ชอบ แล้วเราก็จะไม่ทำอย่างนั้นกับคนอื่น ทั้งหมดมันอยู่ที่การเลือกรูป  

GM : ความผูกพันกับ Leica

พีรพัฒน์ : เราว่าแบรนด์ Leica มันมีความแข็งแรง และทุกคนก็มีความภูมิใจที่ได้ใช้แบรนด์นี้ อย่างตัวเรา หรือคนอื่นๆ ก็ตาม เราเชื่อว่าเมื่อได้จับกล้องยี่ห้อนี้แล้วก็ไม่อยากจะผันตัวไปใช้แบรนด์อื่นๆ อย่างแรก ด้วยรูปลักษณ์ อย่างที่สอง คุณสมบัติ เรารู้สึกว่ามันเหมาะกับงานที่เราถ่าย เพราะว่ากล้อง Leica ไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่เกินไป อย่างกล้องที่เราใช้คือ Leica M เรารู้สึกว่ากล้องมันเป็นมิตรกับคนทั่วไป มัน freindly for people หน้าตามันไม่ได้เหมือนกล้องแบบ professional เวลาไปถ่ายใคร เดินเข้าไปก็ไม่ตกใจ การที่เราเอากล้องไปจ่อหน้าคนอื่น แล้วการที่เป็นกล้องขนาดใหญ่มาก มันจะทำให้คนตกใจ การที่กล้องขนาดกำลังน่ารัก และมีรูปร่างหน้าตาน่าสนใจ ก็จะทำให้เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับแบบได้อีก เขาก็จะทักเราว่าใช้กล้องรุ่นอะไร ขอดูได้ไหม เราก็ให้เขาจับกล้องเราดู เราว่ากล้องมันมีเสน่ห์ในตัวของมันอยู่แล้ว

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ