fbpx

sacit Craft Power หัตถกรรมร่วมสมัย ศิลปหัตถกรรมไทย สู่เวทีโลก

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit หนุนนโยบาย Soft Power ติวเข้มผู้ผลิตสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยปรับตัวรับแนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัยของโลก ผ่านการจัดงาน “sacit Craft Power : แนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัย” ตั้งเป้าเจาะลึกแนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัยในอนาคต เพื่อปรับปรุงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นที่ต้องการของคนรุ่นใหม่ เผย ปี 66 สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3.4 แสนล้านบาท

นางสาวนฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit กล่าวว่า ที่ผ่านมาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยเป็นหนึ่งในสินค้า Soft Power ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติและชุมชนอย่างมหาศาล  ซึ่งจากการส่งเสริมสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2566 ยอดการส่งออกสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยมีมูลค่าสูงถึง 340,820 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่ส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1. เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง 91,161 ล้านบาท 2. เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน 56,060 ล้านบาท 3.เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 46,850 ล้านบาท 4. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง 22,982 ล้านบาท และ5. เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย 17,719 ล้านบาท

ส่วนประเทศที่นำเข้าสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยมากที่สุด อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการส่งออก 94,203 ล้านบาท อันดับที่ 2 ฮ่องกง มีมูลค่าการส่งออก 26,764 ล้านบาท อันดับที่ 3 ญี่ปุ่น มีมูลค่าการส่งออก 21,232 ล้านบาท อันดับที่ 4 เยอรมนี  มีมูลค่าการส่งออก 20,147 ล้านบาท และอันดับที่ 5 สหราชอาณาจักร    มีมูลค่าการส่งออก 16,357.ล้านบาท

สำหรับในปี 2566 ที่ผ่านมา มียอดจำหน่ายสินค้าศิลปหัตกรรมไทยผ่านช่องทางของ sacit มูลค่ากว่า   291 ล้านบาท และมีการจำหน่ายสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย ตามโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์  ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่ง (ไม่รวมอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารและยา) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (รวม OFFLINE, ONLINE)  รวมกว่า 116,199,235,666 บาท

และจากจุดเด่นทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายของประเทศไทย ทำให้รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power แห่งชาติ โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ 11 สาขา โดยมีสาขาศิลปะ ออกแบบ เป็นหนึ่งสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรม Soft Power เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งจากการสำรวจของสื่อระดับโลก US.News ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านมรดก   ทางวัฒนธรรมในอันดับที่ 9 ของโลก จากทั้งหมด 87 ประเทศ และที่ 2 ของเอเชีย และมีอิทธิพลทางวัฒนธรรม  ในอันดับที่ 20 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ และควรพัฒนาศักยภาพให้ดียิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นจึงได้เร่งส่งเสริมในสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้ปรับตัวรับกับกระแสความนิยมวัฒนธรรมไทย ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมสำคัญของนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล โดยการเร่งพัฒนาศักยภาพสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยการจัดงาน “sacit Craft Power” ซึ่งจะรวบรวมทิศทางการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในทุกสาขา เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

แต่ทั้งนี้ การที่จะยกระดับสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยไปสู่การเติบโตในตลาดโลกอย่างยั่งยืน จำเป็นที่ต้องรู้แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต ทั้งในเรื่องของรูปแบบ การนำไปใช้งาน และเทคโนโลยีในการผลิต ดจึงได้จัดงาน sacit Craft Power ซึ่งจะรวบรวมผูู้้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในแต่ละด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาระดมสมองวิเคราะห์ถึงทิศทางแนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัยในอนาคตว่าจะไปทางใด ซึ่งจะนำแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตมาวิเคราะห์ถึงให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภค และไลฟ์สไตล์ที่จะเปลี่ยนไป รวมไปถึงข้อจำกัดทางการค้า และสิ่งแวดล้อม มาสังเคราะห์ เพื่อให้มองแนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัยในอนาคตได้อย่างชัดเจนและรอบด้าน ซึ่ง sacit จะนำข้อมูลที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบกิจการสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ใช้เป็นแนวทางนำไปปรับปรุงสินค้า เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่มในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญของงานที่จะนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยให้โดดเด่นในเวทีโลก  

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มหัตถกรรมร่วมสมัยของตลาดโลก จะมุ่งไปสู่กระแสความต้องการสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติและที่ปราศจากสารเคมี เช่น เครื่องแต่งกายที่ผลิตจากเส้นใยและสีย้อมตกแต่งจากธรรมชาติ  ซึ่งประเทศไทยก็มีความโดดเด่นในงานสิ่งทอจากฝ้ายและไหม การแกะสลักไม้ งานจักสาน งานเซรามิก รวมทั้งการผลิตตามหลักการของ BCG (บีซีจี) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยก็ยึดแนวทางนี้เป็นหลักแต่ผู้ซื้อยังขาดความเข้าใจ โดยหลังจากนี้จะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ และเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มาจากธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความนิยม และมั่นใจว่าสินค้าเหล่านี้มีความทนทานและใช้งานได้ดี

นอกจากนี้ sacit ยังได้เริ่มจัดทำมาตรฐานสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยขึ้น โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมจัดทำมาตรฐานสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยในทุกกลุ่ม เพื่อให้ผู้ซื้อได้มีความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน ปี 2570 ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย

โดยสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยยังมีโอกาสอีกมากทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าในภูมิภาคนี้จะมีวัตถุดิบในการสร้างสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยคล้าย ๆ กัน เช่น งานไม้ งานเซรามิก งานจักสาน หรือสิ่งทอ     แต่ไทยก็มีความโดดเด่นในเรื่องของลวดลาย การตกแต่ง ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่ไม่เหมือนที่อื่น เช่น งานแกะสลัก เครื่องเงินมาลัยกลอนดอกมะลิ มาลัยสาน งานแทงหยวกกล้วย งานลงรักปิดทอง และงานเครื่องเบญจรงค์ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความโด่งดังของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นจุดดึงดูดให้ทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมชมในด้านวัฒนธรรมไทยเป็นจำนวนมาก  ซึ่งจะเกิดกระแสความต้องการของสินค้าที่สะท้อนวัฒนธรรมไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็น  สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ และควรพัฒนาศักยภาพให้ดียิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง sacit มีนโยบายเข้าไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้กับสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยเหล่านี้ ให้สามารถสนับสนุนนโยบายด้านอาหาร เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ออกแบบการผลิตให้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น เช่น การถอดเอาบางส่วนของงานชั้นสูงเหล่านี้มาประกอบเป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน เพิ่ม Function การใช้งานหรือ     ย่อขนาดให้เล็กลง เพื่อให้คนทั่วไปรู้จักในวงกว้าง และคนรุ่นใหม่นำไปใช้ได้ในชีวิตจริง และร่วมผลักดันประเทศไทยในด้าน Hospitality รวมทั้งการผลิตสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยเหล่านี้ให้เกื้อหนุน Soft Power ในด้านอาหารไทย เช่น จาน ชาม เครื่องใช้ และของตกแต่งบนโต๊ะอาหาร การนำไปใช้งานเป็นของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น รวมทั้งยังได้ใช้โอกาสที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นมาก จัดกิจกรรมกับหน่วยงานท้องถิ่น นำสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยไปร่วมจำหน่ายในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ โดยในปีนี้จะจัดกิจกรรมการจำหน่ายในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดกระแสความนิยมสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยเพิ่มขึ้น

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ