fbpx

Right to be Forgotten: เพราะ ‘การถูกลืม’ คือ ‘สิทธิ’ ที่สามารถเรียกร้องได้

ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมโยงถึงกัน เครือข่ายอินเตอร์เนทและพื้นที่ไซเบอร์ แม้จะไม่ได้ดำรงอยู่อย่างมี ‘ตัวตนจริง’ ที่สามารถจับต้องได้ แต่เรื่องราว รายละเอียด รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและได้รับการเผยแพร่ จะยังคงอยู่ต่อไป อาจจะถึงระดับที่ว่า ชั่วนิรันดร์ ถ้าหากพื้นที่นั้นๆ ไม่ได้ล่มสลาย หรือข้อมูลใดๆ ยังคงถูกส่งต่อ เผยแพร่ และกล่าวถึง (และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันถูกกล่าวถึงในอัตราความเร็วที่เป็นทวีคูณอย่างในปัจจุบัน….)

กระนั้นแล้ว นั่นคือเรื่องของ ‘ความเร็ว’ ไม่ใช่ ‘ความถูกต้อง’ และถ้าหากข้อมูล หรือเรื่องราวมีความเปลี่ยนแปลง และ/หรือ ผู้เป็นเจ้าของข้อมูล มีความประสงค์ที่จะ ‘ลบ’ ข้อมูลดังกล่าวออกจากพื้นที่ มันสามารถทำได้หรือไม่?

นี่คือคำถามสำคัญที่ได้รับการถกเถียงและพูดคุยกันมาอย่างยาวนาน จนมาถึงข้อสรุปเกี่ยวกับ ‘สิทธิที่จะถูกลืม (Right to be Forgotten)’ ที่ได้รับการปฏิบัติในระดับสากลแล้วระยะหนึ่ง และเป็นสิทธิที่เราควรจะทำความเข้าใจเสียแต่เนิ่นๆ ท่ามกลางการเติบโตของโลกข่าวสารที่ไหลบ่าอย่างไม่หยุดยั้งนี้

สิทธิที่จะถูกลืมคืออะไร? กล่าวโดยสรุป นี่คือสิทธิที่ปัจเจกบุคคล จะสามารถทำการเรียกร้องให้อีกฝ่าย ไม่ว่าจะในฐานะปัจเจกบุคคล หรือองค์กร ที่มี ‘ข้อมูลส่วนตัว’ ไว้ในครอบครอง ให้ทำการ ‘ลบ’ ข้อมูลดังกล่าวออกไปจากระบบ ไม่ว่าจะในฐานข้อมูล โซเชียลมีเดีย หรืออื่นๆ เพราะไม่ปรารถนาที่จะให้เอาข้อมูลนั้นๆ ไปใช้อีกต่อไป ด้วยเหตุผลด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการเรียกร้องความเป็นธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ อาจจะน่าสงสัยว่า เรื่องราวหรือข้อมูลส่วนตัว ทำไมต้องกลายเป็นสิทธิที่จะถูกลืม ต้องให้กลายเป็นเรื่องใหญ่? ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความรวดเร็วและความ ‘คงทน’ ของข้อมูลที่อยู่บนเครือข่ายนั้น มีระยะเวลาที่ยาวนาน และสามารถส่งต่อกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว เรื่องราวหนึ่งๆ ที่อาจจะจบสิ้นลง เช่น คดีความ หรือข้อพิพาท ที่ไปถึงบทสรุป อาจจะถูกสืบค้น และถูกเข้าใจผิด จากข้อมูลชุดเก่าที่ยังตกค้าง สร้างความเสียหายให้กับปัจเจกบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้นๆ

แน่นอน เรื่องราวบางอย่าง ก็ไม่ได้ถูกลบเลือนหายไปได้ง่ายขนาดนั้น แต่สิทธิที่จะถูกลืม ก็เป็นประเด็นสำคัญ เพราะในขณะที่โลกยุคปัจจุบัน สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล คือหนึ่งในสิทธิที่ประชาชนพึงได้พึงมี แต่ ‘ความเป็นส่วนตัว’ หรือ Privacy ก็เป็นสิทธิอีกเช่นกัน ดังนั้น มันจึงกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับผู้ที่ทำงานกฎหมายด้านสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในพื้นที่ไซเบอร์ ที่เป็นของใหม่ที่ยังต้องหาข้อสรุปที่ชัดเจน เหมาะสมกับทุกฝ่าย

อนึ่ง สิทธิที่จะถูกลืม สามารถแยกออกเป็นหัวข้อย่อยได้อีกหนึ่งทางนั่นคือ ‘สิทธิในการขอลบข้อมูล (Right to Erasure)’ สำหรับกรณีที่ปัจเจกบุคคล พิจารณาแล้วว่า ไม่ปรารถนาให้มีข้อมูลส่วนบุคคลอยู่บนฐานข้อมูลหรือระบบขององค์กรใดๆ ซึ่งเจ้าของข้อมูลโดยนิตินัย สามารถเรียกร้องขอลบข้อมูลดังกล่าวได้

สำหรับประเทศไทย สิทธิที่จะถูกลืม ยังเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการถกเถียงและวินิจฉัยกันอยู่ไม่น้อย เพราะในส่วนของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ถูกร่างขึ้นมา ก็ผ่านการปรับแก้ ผ่านการทบทวน ผ่านการพิจารณากันมาโดยตลอด แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังตามความก้าวหน้า และปัญหาของสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารกับสิทธิส่วนบุคคลได้ไม่ดีนัก แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ยังคงมุ่งหน้าและทำงานในส่วนนี้ต่อไป เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว เรื่องราวและสิทธิดังกล่าว จะกลายเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการพิจารณาในท้ายที่สุดอยู่ดี

สุดท้ายนี้ ถ้าว่ากันตามพฤตินัยแล้ว เรื่องราว ข้อมูล พฤติกรรม และสิ่งที่ได้กระทำ มันคงไม่ได้เลือนหายไป เพียงแค่กดปุ่ม หรือถอนออกจากระบบหรือพื้นที่ไซเบอร์ และการเข้าถึงข้อมูลที่พึงมีพึงได้ ก็เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

หากแต่ท่ามกลางความเสียงดังกึกก้อง และแสงไฟสอดส่องที่คนจะโดดเด่นขึ้นบนพื้นที่ไซเบอร์ชั่วข้ามคืน ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากจะ ‘หายไป’ จากโลกแห่งนั้น และคำถามสำคัญที่อาจจะช่วยให้เราสามารถกำหนดเส้นแบ่งที่พอดี ระหว่างสองสิทธิที่ดูจะคาบเกี่ยวกันอย่างแยกไม่ขาดนั้น ก็คงเป็นอะไรที่ง่าย ได้ใจความ เพียงประโยคเดียว ….

ว่าถ้าลองชั่งน้ำหนักระหว่าง ‘การมีอยู่ของข้อมูล’ นั้นบนโลกไซเบอร์ กับการที่มันจะ ‘หายไป’ ความสำคัญและความเสียหายมากน้อยแค่ไหนในแง่ประโยชน์สาธารณะ?

เมื่อนั้น เราก็คงตอบได้ ว่ามันเหมาะสมหรือไม่ ที่เราจะมีตัวตน หรือจะจางไป ในโลกที่ทุกอย่างท่วมท้นไหลบ่า และวุ่นวายเกินกว่าจะใส่ใจกับเรื่องราวใดๆ เกินกว่าสอง หรือสามวัน…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ