fbpx

Recent News: สรุปข่าวประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2023

“เอ็นไอเอ – ยูเอ็น วูเมน” เปิดทางผู้นำนวัตกรรมหญิงสู่ความเท่าเทียมในระบบจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมกระตุ้นพลังสตรีทวีบทบาทเศรษฐกิจ ผ่าน 9 นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งวงการ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) มุ่งยกระดับความสามารถและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการผู้หญิงในภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยการนำหลักสูตรยกระดับความสามารถผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรม รุ่นที่ 3 (SME to IBE 3) และกิจกรรม Accelerator Pitching Day เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ WE RISE Together เพื่อยกย่องผู้ประกอบการหญิงที่เป็นเจ้าของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSMEs) ที่โดดเด่นที่สุด 9 ท่าน สู่การเป็นต้นแบบและแรงผลักดันที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผู้หญิงสามารถเข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชนอย่างเท่าเทียม พร้อมเพิ่มโอกาสทางการตลาด สร้างโอกาสการต่อยอดธุรกิจ ตลอดจนเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรรมผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจฐานนวัตกรรมของ NIA และ UN Women โดยมีรัฐบาลออสเตรเลียให้การสนับสนุนผ่านโครงการความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง-ออสเตรเลีย

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อํานวยการสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้หญิงมีบทบาททางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น องค์กรทั้งในและต่างประเทศมีผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นบุคคลสำคัญ ผู้นำประเทศ และใน “ภาคส่วนนวัตกรรม” ก็มีผลงานด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมที่มีผู้หญิงเป็นผู้ขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นทุกปี NIA เข้าใจถึงเทรนด์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลก และให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม จึงได้นำหลักสูตรยกระดับความสามารถผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรม รุ่นที่ 3 (SME to IBE 3) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ WE RISE Together เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการผู้หญิง ผลักดันการเข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชนอย่างเท่าเทียมเพื่อช่วยขยายโอกาสทางการตลาด รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรรมของ NIA และองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women ที่จะเป็นโอกาสการต่อยอดธุรกิจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจฐานนวัตกรรม ในปีนี้มีผู้ประกอบการสนใจโครงการนี้มากกว่า 200 บริษัท และผ่านเข้าสู่ Accelerator Program จำนวน 41 บริษัท และได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการหญิงที่ศักยภาพ 9 บริษัท มานำเสนอแผนเพื่อให้เห็นโอกาสและการเติบโตก่อนเข้าสู่ตลาดต่อไป ได้แก่

คุณณกัญญ์ศิริ สิงทอง จากบริษัท คินเซน 2019 (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์เส้นโปรตีนอกไก่นุ่ม  คุณพีรดา ศุภรพันธ์ จากบริษัท เทสเต็ดเบ็ตเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์แป้งเสริมอาหารน้ำตาลต่ำ

  • คุณกชพร จันทร์แก้ว จากบริษัท เอสเคซีเฮ้าส์แลนด์เอ็กซ์พอร์ตกาดผัดเทรด จำกัด ผู้ผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอ แปรรูปสิ่งทอผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น
  • คุณทรงกลด วิมลรัตน์ จากบริษัท จีรัง คอร์เปอเรชั่น จำกัด ผู้คิดค้นโปรแกรมบริหารงานบุคคลแบบมืออาชีพ  คุณณัชชา วงษ์วิฑิต จากบริษัท โซลบาวด์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ไออุ่น ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและออร์แกนิคสำหรับเด็ก
  • พท.ว.ภ.รังษิยา จิวะรังสรรค์ จากบริษัท กู๊ดแกนิค จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรกู๊ดแกนิค
  • คุณสุนันทา ตั้งอรุณฉาย จากบริษัท ทราฟฟิก อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ชุดชั้นใน Clover
  • คุณศิริกาญจน์ พลแดง จากบริษัท ฟิวเจอร์ บั๊กส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์เอราวัณคริสปี้ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากแมลง
  • และคุณกาญจนา ศรีเดช จากบริษัท อินโน แลป สตูดิโอ จำกัด ผู้ผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสทจากดักแด้ไหม

“งาน Accelerator Pitching Day เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ WE RISE Together ซึ่งส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้าง
ที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ (Gender-Responsive Procurement) ในประเทศไทยและเวียดนาม เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างให้แก่ธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของ ดังนั้น กิจกรรมที่จัดขึ้นจึงเป็นมากกว่างานเฉลิมฉลอง แต่ยังเป็นการยกย่องความมุ่งมั่น นวัตกรรม และความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการหญิง ซึ่งผู้ประกอบการหญิงที่โดดเด่นทั้ง 9 ท่าน นี้มีทักษะทางธุรกิจที่เฉียบแหลม อีกทั้งยังมีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในฐานะนักธุรกิจที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศในโลกของการทำงาน และเพื่อเป็นการสนับสนุน MSMEs ทั้ง 9 บริษัทนี้ให้เติบโตต่อเนื่อง โดยทั้ง 9 บริษัทจะได้รับการสนับสนุนด้านการจับคู่ธุรกิจจากโครงการเพื่อผลักดันให้บริษัทเหล่านี้ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการหญิงที่มีศักยภาพให้มีโอกาสทางการตลาดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม”

ดร.กริชผกา กล่าวทิ้งท้ายว่า การผลักดันกิจกรรมนี้ยังสอดรับกับเทรนด์ SHEconomy หรือ เศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิง ซึ่งเป็นหนึ่งใน Global Mega-trends ที่กำลังมาแรง และโตขึ้นในทุก ๆ ปี จากทั้งผู้พัฒนาธุรกิจ และกำลังซื้อผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น โดยในอีกราว 7 ปี หรือปี 2573 คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่ราว 46 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0% และนวัตกรรม – เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะขับเคลื่อนให้เทรนด์นี้เติบโตมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างให้ผู้หญิงได้กลายเป็นผู้กำหนดเทรนด์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย

ด้าน คุณศุภพิมพ์ วัณโณภาศ ผู้ประสานงานโครงการ WE RISE Together, องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า โครงการนี้มีพันธกิจอย่างแน่วแน่ในการจัดการกับความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจ การตลาด และการจัดซื้อจัดจ้างทั่วโลก อย่างที่หลาย ๆ ท่านทราบกันดีอยู่แล้วว่ากิจการที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของได้รับส่วนแบ่งเพียงร้อยละหนึ่ง ร้อยละ 1 เท่านั้นจากมูลค่าตลาดของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชนทั่วโลก UN Women และ WE RISE Together จึงมุ่งหวังที่จะเสริมศักยภาพสตรีในประเทศไทยและเวียดนาม เพื่อการเข้าถึงตลาดอย่างเท่าเทียม กระจายความเป็นผู้นำทางการตลาด และได้รับประโยชน์จากโอกาสทางการตลาดอันกว้างใหญ่นี้อย่างทั่วถึง

TCELS หนุน SME ไทยส่งออก 45 ประเทศสมาชิก OECD ชูจุดเด่นเข้าถึงแล็บง่าย ได้เงินคืนผ่านระบบ BDS

TCELS ผนึกกำลัง สสว.หนุนศักยภาพ SME ไทยสู่ระดับสากล ด้วยระบบ BDS รับบทพี่เลี้ยงแบบ One Stop Service ตรวจทดสอบผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เคมีเกษตรและเคมีอุตสาหกรรม ผ่านห้องแล็บเครือข่าย TOPT ภายใต้มาตรฐานการรับรองของ OECD ส่งออก 45 ประเทศโดยไม่ต้องทดสอบซ้ำ ลดขั้นตอนยุ่งยากได้ถึง 2 ปี  พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 – 80 ช่วยลดข้อกีดกันทางการค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยนวัตกรรมอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS: Thailand Center of Excellence for Life Sciences) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนทั่วโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังมี SME จำนวนไม่น้อยที่ยังมีอุปสรรคด้านการส่งออก เนื่องจากการตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ต้องอาศัยขั้นตอนและระยะเวลา รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายสูง

TCELS จึงร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ผ่านระบบ Business Development Services หรือ BDS ภายใต้แนวคิด “SME ปัง ได้ตังคืน” เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการพัฒนาและก้าวเข้าสู่ระดับสากล โดยสามารถเข้ารับบริการตรวจทดสอบผ่านห้องปฏิบัติการในเครือข่ายพันธมิตรการทดสอบความปลอดภัยและทดสอบประสิทธิภาพประสิทธิผลผลิตภัณฑ์ระดับก่อนคลินิก หรือ Thailand OECD GLP/Non-GLP Preclinical Testing Network (TOPT) ซึ่งมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ในการผลักดันงานทดสอบความปลอดภัย วิจัย ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลิตภัณฑ์ระดับก่อนคลินิกสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ ที่รองรับบริการทดสอบในระดับนานาชาติ ในการส่งเสริม SME กลุ่มอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ให้เข้าถึงบริการการทดสอบของเครือข่าย รวมทั้งยังสามารถขอรับเงินคืนจากสิทธิประโยชน์นี้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับเงินสนับสนุนในการใช้บริการห้องปฏิบัติการในเครือข่ายของ TCELS ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SME) รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี สสว. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 80% ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ผู้ประกอบการรายเล็ก (Small SME) ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อปี และภาคอื่น ๆ รายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี จะได้รับการสนับสนุนร้อยละ 80 วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลาง ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และภาคอื่น ๆ รายได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท โดยผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้จำนวน 2 ครั้งต่อราย วงเงินสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th

ดร.จิตติ์พร กล่าวต่อว่า “ผู้ประกอบการ SME สามารถเลือกรับการบริการหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตน พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจาก TCELS ในการดูแลและช่วยเหลือในฐานะทีมพี่เลี้ยง ตั้งแต่การลงทะเบียน พร้อมรับเงินสนับสนุนจาก สสว. ผ่านระบบ BDS ในสัดส่วนร้อยละ 50-80% ของค่าใช้จ่ายบริการตามขนาดของธุรกิจ พร้อมได้รับรายงานผลทางวิทยาศาสตร์สำหรับประกอบการขึ้นทะเบียนสินค้าในระดับสากล ผ่านเครือข่ายพันธมิตรการทดสอบความปลอดภัยและทดสอบประสิทธิภาพประสิทธิผลผลิตภัณฑ์ระดับก่อนคลินิก หรือ Thailand OECD GLP/Non-GLP Preclinical Testing Network (TOPT) ซึ่งมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการทดสอบทั่วประเทศที่ผ่านการรับรองขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ครอบคลุมทั้ง ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและเอเชีย กลุ่มประเทศ OECD และประเทศสมาชิกสมทบ 45 ประเทศทั่วโลก โดยไม่ต้องตรวจซ้ำในประเทศคู่ค้า ช่วยลดขั้นตอนในการดำเนินการได้ถึง 2 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับการการดำเนินงานโดยตรงกับประเทศคู่ค้าในกลุ่มประเทศสมาชิก”

ปัจจุบัน TCELS มีเครือข่ายห้องปฏิบัติการ TOPT ภายใต้มาตรฐานการยอมรับของ OECD ทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและห้องปฏิบัติการอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการที่อยู่ในขั้นตอนขอการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามหลักการ OECD อีก 2 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  และศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ  วว.

โดยเปิดให้บริการทดสอบทั้งหมด 5 หมวด ได้แก่ 1. การทดสอบวิเคราะห์คุณภาพและสารสำคัญยา สารสกัดสมุนไพร และเคมีใหม่ 2. การทดสอบในเซลล์ 3. การทดสอบในสัตว์ทดลอง (ปลา หนู ไพรเมท) 4. การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และ 5. การทดสอบ Biocompatibility ของกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ประเภทผลิตภัณฑ์ที่สามารถรับบริการ TOPT ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน เครื่องสำอาง อาหาร อาหารใหม่ สารเคมีในอุตสาหกรรม วัตถุเจือปนอาหาร วัตถุเติมในอาหารสัตว์ เคมีเกษตร ยาฆ่าแมลง และเครื่องมือแพทย์

TCELS มุ่งขับเคลื่อนเป้าหมาย “ธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์เติบโตเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนและสิ่งแวดล้อม “TCELS MAKE EVERY LIFE BETTER”  ศึกษารายละเอียดและบริการของ TCELS ได้ที่ www.tcels.or.th  Facebook: TCELS THAILAND

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ