fbpx

ความท้าทายใต้พื้นโลกกับการค้นหาแหล่งพลังงานใต้ดิน

  • ราปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตขึ้นนั้นจำเป็นต้องอาศัยอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแสวงหาแหล่งพลังงาน เช่น น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ในการคมนาคม เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่แปรรูปมาเป็นวัสดุและอุปกรณ์เครื่องใช้มากมายในครัวเรือน
  • ทว่าการจะได้ทรัพยากรปิโตรเลียมที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินถึง 2-3 กิโลเมตร ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องอาศัยการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ที่ถูกต้องและแม่นยำ การขุดเจาะหลุมสำรวจและหลุมผลิต การก่อสร้างแท่นผลิต ซึ่งทุกขั้นตอนต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เม็ดเงินจำนวนมากและเหนือสิ่งอื่นใด คือ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรเฉพาะด้าน ที่ต้องร่วมมือด้วยเป้าหมายเดียวกันในการนำทรัพยากรเหล่านี้ขึ้นมาจากใต้ดิน
  • ‘นักธรณีวิทยา’ และ ‘นักธรณีฟิสิกส์’ นับเป็นอีกสองบทบาทหลักซึ่งอยู่เบื้องหลังการแสวงหาทรัพยากรปิโตรเลียมก่อนที่จะผ่านเข้าสู่กระบวนการขุดเจาะสำรวจและผลิต เพื่อนำเอาปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจต่อไป
  • บทบาทของคนเหล่านี้ต้องพบเจอกับความท้าทายมากน้อยแค่ไหน? GM ฉบับนี้จะพาไปพูดคุยกับ 2 นักค้นหาปิโตรเลียมของประเทศนี้กันดู

นักแปลความจักรวาลใต้พื้นโลก

โกมล ภิญโญ นักธรณีวิทยาอาวุโส (Senior Geologist) 

โกมล เป็นนักธรณีวิทยาที่อยู่ในสายงานนี้มากว่า 16 ปี กับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เขามักอธิบายสิ่งที่ถูกถามเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ว่า… “งานของนักธรณีวิทยาที่ผมมักจะใช้อธิบายคนที่มาถาม คือ ‘นักแปลความ’ ก็หมายถึงเวลาที่เราจะค้นหาปิโตรเลียมใต้พื้นดิน เราต้องอาศัยความรู้ทั้งศาสตร์ด้านธรณีวิทยา บวกกับจินตนาการที่สั่งสมจากประสบการณ์ เพื่อที่จะแปลความว่า ลึกลงไปใต้พื้นดินที่เรามองไม่เห็นนั้น มีสภาพเป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจากสภาพบนดินที่เห็นอย่างไร และมีโอกาสหรือไม่ที่ในบริเวณนั้นๆ จะมีปิโตรเลียมอยู่ ซึ่งเราก็จะมีการใช้เครื่องมือต่างๆ มาช่วยในการแปลความ เช่น การสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนหรือ Seismic รวมถึงการศึกษาข้อมูลตัวอย่างหินจากหลุมเจาะสำรวจ และการวิเคราะห์ลำดับชั้นหินใต้ดินจากการหยั่งธรณี เป็นต้น

“พูดให้เห็นภาพก็คือ เครื่องมือและข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราจินตนาการออกมาเป็นแบบจำลองหรือโมเดลได้ว่าในพื้นที่นั้นๆ เป็นชั้นหินแบบไหนและเกิดภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบใด เช่น เป็นหินตะกอนตกทับถมในแม่น้ำเป็นหินปูนที่เกิดบริเวณน้ำตื้น หรือเป็นหินตะกอนที่เกิดจากการพัดพาจากที่ตื้นไปยังน้ำทะเลลึก และหินเหล่านี้อยู่ที่ความลึกเท่าไร จากนั้นก็แปลความสิ่งที่เราพบโดยวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิด ‘แหล่งกักเก็บปิโตรเลียม’ ซึ่งแม้ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นอยู่ใต้พื้นโลกที่เรามองไม่เห็น และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนแต่เมื่อเรามีความรู้และประสบการณ์ การวิเคราะห์ที่ละเอียด บวกกับทฤษฎีทางธรณีวิทยา และหลักการทางวิทยาศาสตร์ เราก็สามารถลดความไม่แน่นอนนั้นลงได้ ผมจึงมองว่างานนี้เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ผสมผสานกันอย่างลงตัว

“นั่นคือกระบวนการทำงานหลักๆ ของนักธรณีวิทยา ที่จำเป็นต้องนำข้อมูลที่ได้มาแปลความถึงความเป็นไปได้ในการเกิดและกักเก็บปิโตรเลียม ปริมาณที่มีอยู่และความเสี่ยงที่จะเจอหรือไม่เจอแหล่งปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล เพื่อส่งต่อข้อมูลการตัดสินใจว่าพื้นที่บริเวณนั้นๆ คุ้มค่ากับการลงทุนขุดเจาะสำรวจหรือไม่ต่อไป”

ความท้าทายจากสิ่งที่มองไม่เห็น

การก้าวเข้ามาสู่สายอาชีพนี้ของโกมล เพราะเขารู้สึกท้าทายทุกครั้งที่ทำการวิเคราะห์สิ่งที่อยู่ใต้ดิน และถ้าเขาค้นหามันได้จะเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องทำงานบนพื้นฐานของความรอบคอบ ต้องใช้ข้อมูล และการวิเคราะห์ที่ผ่านประสบการณ์นานนับหลายปีมาเป็นตัวช่วยตัดสินใจ

“นักธรณีวิทยาปิโตรเลียมทุกคน มักจะมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกัน คือ พวกเรารู้สึกท้าทายในสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา ซึ่งทำให้เราต้องทำงานในภาคของการวิเคราะห์หนักมาก ต้องใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะในการวิเคราะห์ชุดข้อมูลต่างๆ รวมถึงงานจากภาคสนามที่ได้มา เพื่อทำให้เกิดเป็นโมเดล 3 มิติในสภาพพื้นที่นั้นๆ อย่างแม่นยำ เพราะถ้าหากเราสามารถแปลความทุกๆ ชั้นหินในแต่ละสภาวะแวดล้อมได้อย่างแม่นยำ ก็จะเพิ่มความเป็นไปได้ในการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ

“บางท่านอาจเข้าใจผิดว่าปิโตรเลียมมีอยู่ทุกที่ ขุดตรงไหนก็ได้ เจอก็คือเจอไม่เจอก็ขุดใหม่ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะปิโตรเลียมมีรูปแบบการเกิดและการกักเก็บของมัน และเราจะไม่มีวันรู้ได้ หากไม่วิเคราะห์สภาพพื้นที่ ชั้นหิน และกระบวนการที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด จนแน่ใจที่จะกล้าตัดสินใจลงทุนเจาะสำรวจและผลิตในพื้นที่นั้นจริงๆ อย่างในประเทศไทย ก็ไม่ใช่จะพบเจอแหล่งปิโตรเลียมกันได้ง่ายๆ เราต้องสำรวจและวิเคราะห์กันมาแรมปีด้วยทีมงานหลายชีวิต จนได้พบว่ามีแหล่งปิโตรเลียมจริง ถ้าเราแปลความได้ไม่ดีพอ ก็จะหาไม่พบ เท่ากับไม่สามารถหาทรัพยากรมาช่วยตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของประเทศได้”

‘Gulf of Thailand Model’ คิดค้นเพื่อเอาชนะความท้าทาย

“แต่ละพื้นที่บนโลกแตกต่างกัน ใต้ดินก็เช่นกัน ทำให้แหล่งกักเก็บปิโตรเลียมใต้ดินมีลักษณะแตกต่างกันไปตามลักษณะทางธรณีวิทยา บางที่มีแหล่งขนาดใหญ่ แต่บางที่ก็มีขนาดเล็ก อย่างเช่นในอ่าวไทยซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของไทย ชั้นหินใต้อ่าวไทยมีรอยเลื่อนเป็นจำนวนมาก ทำให้แหล่งปิโตรเลียมใต้ดินถูกตัดออกจากกันเป็นกระเปาะเล็กๆ กระจายตัวกันอยู่ ยากต่อการสำรวจและผลิต ซึ่งนี่เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในอ่าวไทย“

จากประสบการณ์ของ ปตท.สผ. ที่มีมาถึง 35 ปีทำให้เราคิดค้นโมเดลการทำงานที่เรียกว่า ‘Gulf of Thailand Model’ ที่มีการทำงานเป็นขั้นตอน แม่นยำและลดต้นทุนได้มากขึ้น เพื่อรองรับลักษณะทางธรณีที่ซับซ้อนเช่นในอ่าวไทย

โมเดลนี้จะช่วยทำให้การประเมินศักยภาพ การเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียม และการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีเทคโนโลยีในการช่วยขุดเจาะที่ทำให้ต้นทุนลดลงและใช้เวลาสั้นลง โดยทางธรณีวิทยาแล้ว สภาพแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมในอ่าวไทยไม่ได้ขุดเจาะได้ง่ายๆ เหมือนในตะวันออกกลางที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่และกว้าง เปรียบเป็นภาพก็เหมือนกับแตงโมผ่าครึ่งที่มีเนื้อสีแดงต่อเนื่องกัน แต่ใต้อ่าวไทยจะเป็นลักษณะกระเปาะย่อยๆ กระจายตัวเหมือนพวงองุ่น ซึ่งหากเจาะลงไปทีเดียวยังไงก็เข้าถึงปิโตรเลียมได้เป็นบางส่วนเท่านั้น แต่ด้วยแนวทาง Gulf of Thailand Model เราสามารถพัฒนาให้การขุดเจาะแต่ละหลุมสามารถร้อยไปยังกระเปาะข้างเคียงได้ด้วย สามารถเจาะตรงลงไปแล้วเอียงไปหากระเปาะแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมอื่นๆ เพื่อเข้าถึงแหล่งปิโตรเลียมได้มากขึ้น โดยบางหลุมเราเจาะหลุมเป็นแนวนอนเลยทีเดียว ทำให้สามารถนำทรัพยากรใต้อ่าวไทยขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“Gulf of Thailand Model จึงเปรียบเหมือนเครื่องมือสำคัญในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งพัฒนามาจากความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาของนักธรณีวิทยาปิโตรเลียม และเพื่อนๆ ในสาขาวิชาชีพอื่นร่วมกัน ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างมาก โจทย์ต่อไปคือการนำแนวคิดนี้ไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งในเบื้องต้นเราได้นำโมเดลนี้ไปใช้กับการสำรวจในบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องทางตอนล่างของอ่าวไทย ในน่านน้ำมาเลเซีย”

ตลอดการเข้าสู่บทบาทของนักธรณีวิทยา แม้จะเป็นงานที่หนักและต้องแบกรับความเสี่ยงหลายๆ อย่างแต่เขาได้บอกกับ GM ว่าทำงานด้วยความสนุกและรักในวิชาชีพนี้มากขึ้นทุกวัน ยิ่งได้โอกาสในการทำงานที่ท้าทาย พิสูจน์ตนเองกับงานยากๆ แล้วทำมันได้สำเร็จยิ่งทำให้ตกหลุมรักในงานมากขึ้น

“การที่ได้มีส่วนร่วมค้นหาทรัพยากรปิโตรเลียมในแหล่งใหม่ๆ เป็นความภูมิใจของผมอย่างมาก ยกตัวอย่างที่โครงการซอติก้า ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา ซึ่งผมได้รับโอกาสทำงานในโครงการนี้ และมีโอกาสได้กำหนดหลุมเจาะสำรวจเอง ซึ่งเราก็ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ จนสามารถนำก๊าซฯ ขึ้นมาผลิตได้ แม้จะไม่ใช่การค้นพบแหล่งพลังงานในบ้านเกิดของเรา แต่ก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้าส่วนหนึ่งก็ได้ถูกนำเข้ามาใช้เป็นพลังงานในประเทศไทยด้วย ประสบการณ์ที่เมียนมาของผมจึงเต็มไปด้วยความท้าทายและเป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้และเติบโตอย่างมาก อีกโอกาสหนึ่งเมื่อปีที่แล้วก็คือ แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ที่พิษณุโลก ซึ่งเป็นการระดมความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ ทั้งทีมงานนักธรณีวิทยาปิโตรเลียม และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จนสามารถเพิ่มอัตราการผลิตได้เป็นผลสำเร็จ มากกว่าผู้รับสัมปทานรายเดิมถึง 2 เท่าตัว โดยปีที่แล้ว เราสามารถผลิตน้ำมันได้มากกว่า 4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในประวัติศาสตร์ของโครงการเลยทีเดียว ทำให้สามารถนำน้ำมันดิบขึ้นมาเป็นพลังงานให้กับประเทศได้มากขึ้น”

ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของโกมล ทำให้เขากลายเป็นอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาประมาท เพราะในทุกวันนี้ เขายังคงบทบาทของ ‘นักแปลความ’ ที่อาศัยองค์ประกอบของข้อมูล ทฤษฎีเฉพาะ และการตัดสินใจที่ต้องแม่นยำก่อนชี้เป้าปักหมุดเสมอ เพราะเขารู้ดีว่าบทบาทและหน้าที่ที่ได้ทำอยู่นั้น เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการหล่อเลี้ยงและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่องนั่นเอง 

วาดภาพใต้ผืนโลกด้วยศาสตร์ธรณีฟิสิกส์

เดชชัย อิฐรัตน์ นักธรณีฟิสิกส์ (Geophysicist) 

อีกหนึ่งสายงานด้านธรณีศาสตร์ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านักธรณีวิทยาเลยนั้น ได้ถูกเรียกกันในชื่อ ‘นักธรณีฟิสิกส์’ ที่นับเป็นบทบาทคู่ผสานแบบแยกลมหายใจกันได้ยาก

นักธรณีฟิสิกส์และนักธรณีวิทยาคู่หูค้นหาใต้พื้นโลก

ต้นกำเนิดของนักธรณีฟิสิกส์ คือ Geo + Physic หรือ ‘การศึกษาเกี่ยวกับโลก’ กับ ‘การเคลื่อนที่เกี่ยวกับแรงที่มีการกระทำ’ ที่นำมาสู่สมการด้านการศึกษาเปลือกโลกที่เกิดจากการกระทำของแรงใดๆ ที่เกิดขึ้นก็ตาม โดยนักธรณีฟิสิกส์เพื่อการสำรวจปิโตรเลียมจะมีเครื่องมือในการทำงานหลักๆ ได้แก่ การศึกษาเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การศึกษาด้วยวิธี Seismic หรือคลื่นไหวสะเทือน

สำหรับการทำงานของนักธรณีฟิสิกส์นั้น เดชชัย ซึ่งเป็นนักธรณีฟิสิกส์ ปตท.สผ. บอกว่า มีความเกี่ยวพันกับ ‘นักธรณีวิทยา’ แบบแยกกันไม่ได้ อาจจะแบ่งแยกเพื่อความเจาะจงในแง่ของการใช้เครื่องมือวิเคราะห์พื้นที่และแหล่งปิโตรเลียม แต่สุดท้ายแล้วทั้งสองทีมก็จะมาทำงานร่วมกัน

“หากจะยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายที่สุด งานธรณีวิทยาจะศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบที่จะทำให้เกิดแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ส่วนนักธรณีฟิสิกส์จะบอกว่าโครงสร้างของแหล่งกักเก็บที่ได้มานี้อยู่ในความลึกระดับไหน ความใหญ่ ความหนา และขนาดเท่าใด”

เดชชัยเล่าว่า “เทคโนโลยีทางธรณีฟิสิกส์ มีการใช้งานมาตั้งแต่ปี1920 เริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ยกตัวอย่างการทำ Seismic จะมีองค์ประกอบอย่างตัวส่งและตัวรับสัญญาณที่ติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ที่กำหนด โดยหลักการของ Seismic คือการศึกษาและประมวลผลคลื่นเสียงที่วิ่งผ่านตัวกลาง จะมีการหักเหและการสะท้อนกลับ โดยในทางปิโตรเลียมนั้น การหักเหและสะท้อนกลับจะทำให้เรารู้ว่าชั้นหินใต้ดินเป็นประเภทใด และลึกระดับไหน แล้วเราก็นำคลื่นเสียงที่ได้มาก่อกำเนิดเป็นรูปภาพ 3 มิติใต้ดิน เพื่อมองภาพโครงสร้างต่างๆ ใต้พื้นผิวนั้นๆ ให้ออก เปรียบเทียบก็เหมือนกับเครื่อง CT Scan ที่ทำให้คุณหมอสามารถเห็นภาพโครงสร้างภายในร่างกายมนุษย์ โดยที่ไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งเป็นคลื่นชนิดเดียวกันในการสร้างภาพเสมือน แต่สิ่งที่นักธรณีฟิสิกส์ทำอยู่นั้นมันใหญ่กว่ามาก ยกตัวอย่างในอดีตถ้ามีภูเขาลูกใหญ่อยู่ใต้ดิน เราสามารถใช้ Seismic ช่วยจำกัดขอบเขตว่าภูเขานั้นมีขนาดใหญ่เท่าไร สูงเท่าไรได้

“ฉะนั้นนักธรณีฟิสิกส์ จึงเป็นคนที่ใช้เครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์ เพื่ออธิบายความเข้าใจทางธรณีวิทยา และส่งต่อให้กับส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

จินตนาการกับความแม่นยำ

เดชชัยขยายความถึงบทบาทของตนต่ออีกว่า “หากให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองเปรียบเทียบว่าแหล่งกักเก็บที่มีน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติเป็นสถานีหัวลำโพงแล้ววันหนึ่งกรุงเทพฯ จมน้ำลงไป และมีชั้นหินชั้นดินทับถมกันสูงประมาณ 3 กิโลเมตร หน้าที่ของนักธรณีฟิสิกส์คือต้องหาว่าหัวลำโพงอยู่ตรงไหน ซึ่งในความเป็นจริงมันจะมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ จากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกหรือกระแสน้ำและลมที่พัดพาไปในแต่ละยุค และนี่แหละคือความท้าทายอย่างมาก เพราะสิ่งที่อยู่ใต้ดินตรงนั้นมันเคลื่อนตัวตลอดเวลา ทำให้ผมต้องลองจินตนาการว่า ลึกลงไป 3 กิโลเมตรจะมีอะไรอยู่บ้าง

“แน่นอนว่าถ้าอยู่บนพื้นดิน หรือบนพื้นที่ตื้น เรายังพอจะเห็นภาพจากการสแกน เช่น สีของภาพจะเข้มขึ้นถ้ามีก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น แต่ถ้าลงไปลึกมากกว่านั้น อย่างลึกลงไป 3 กิโลเมตร ก็แทบจะมองไม่เห็นภาพอะไรเลย ทำให้เราต้องใช้เทคโนโลยีอย่างอื่นเพิ่มเข้าไปเพื่อนำมาประมวลผล และประมาณการในเชิงของแบบจำลองเฉพาะ จนสามารถแจ้งบอกตำแหน่งชัดเจนแก่ทีมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นแล้วเราต้องระบุพิกัดเป็นค่า XY ที่แม่นยำด้วย ไม่ใช่แค่การคาดคะเน เนื่องจากการขุดเจาะลงไปในแต่ละหลุมมีทั้งต้นทุนสูงหลักร้อยล้านถึงพันล้านบาท และยังมีความเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น ความร้อน ความดัน ซึ่งตรงนี้เป็นงานที่มีความท้าทายมากจริงๆ”

ด้วยความที่ชื่นชอบเรื่องราวของฟิสิกส์ รวมถึงตัวเดชชัยก็มีโอกาสได้รับทุนจาก ปตท.สผ. ตั้งแต่มัธยมฯ ปลายผ่านการจัดสอบของ ก.พ. ได้ไปเรียนปริญญาตรีและโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในศาสตร์ด้านนี้ ก่อนก้าวเข้ามาทำงานที่ ปตท.สผ. เป็นเวลา 7 ปีมาแล้ว ทำให้เขากลายเป็นคนที่มุ่งมั่นอยู่กับเป้าหมายในการ ‘พิชิต’ แหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ที่มีโอกาสเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานของโลก โดยหนึ่งในผลงานที่น่าสนใจของเขา คือ การเป็นหนึ่งในทีมนักธรณีฟิสิกส์และทีมสำรวจที่ไปค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่จากหลุมสำรวจ ‘ลัง เลอบาห์-1อาร์ดีอาร์2’ (Lang Lebah-1RDR2) นอกชายฝั่งรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย เมื่อปีก่อน

“ตอนนั้นทีมงานธรณีฟิสิกส์ได้ทำการสำรวจคลื่นไหวสะเทือนขนาด 1,500 ตารางกิโลเมตร พวกเราใช้เวลาสำรวจพื้นที่นั้น 1-2 เดือน จนได้ภาพใต้ดิน 3 มิติที่ขนาดใหญ่พอๆ กับกรุงเทพฯ จากนั้นก็นำข้อมูลนั้นมาแปลความหมายทางธรณีวิทยาและทำการศึกษาทางด้านลักษณะของชั้นหินทั้งหมดว่าจะมีบริเวณไหนบ้างที่น่าจะมีปิโตรเลียมอยู่ แล้วก็กำหนดตำแหน่งให้กับทีมขุดเจาะ ซึ่งเราได้เจาะลึกลงไปราว 3,500 เมตร และพบแหล่งกักเก็บที่เป็นหินปูนขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อปีที่แล้ว ใหญ่ขนาดที่ต้องจินตนาการความสูงของแหล่งกักเก็บก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์ทราบครั้งนี้เท่ากับความสูงของตึกแฝดปิโตรนาส (Petronas Twin Towers) ของประเทศมาเลเซียพอดี และเป็นการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของ ปตท.สผ. เลยทีเดียว และนี่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการสำรวจนอกประเทศของบริษัทไทยด้วย และเป็นความภาคภูมิใจของผมอย่างมากที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

“ก่อนหน้านี้ 10 กว่าปี ยังไม่มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่เช่นนี้ในพื้นที่นี้มาก่อน แต่เราเข้ามาในพื้นที่นี้แค่ 3 ปี ก็สามารถค้นพบแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ซาราวักได้ และยังเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้กับบริษัท จากการสนับสนุนและร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนในองค์กร (One Team One Goal) ตลอดจนบริษัทร่วมทุน และหน่วยงานกำกับดูแล ตามแนวทาง Energy Partner of Choice อีกด้วย”

มาถึงบรรทัดนี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงความคล้ายกันของ โกมล และ เดชชัย คือ พวกเขาสนุกกับความท้าทายของงานนี้เป็นอย่างมาก ทั้งการวิเคราะห์สิ่งที่มองไม่เห็น มีโจทย์ให้ตีความอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ต้องอยู่กับมันอย่างไม่ประมาท เพราะความเสี่ยงของอาชีพนี้มีสูง เนื่องจากใต้ผิวโลกตั้งแต่ระดับ 1 กิโลเมตรลงไป มีแรงดันมหาศาล ถึงขนาดที่พวกเขาทั้งสองได้พูดให้เห็นภาพเลยว่า “เรากำลังเล่นกับแรงดันอยู่ ลองคิดภาพของการคว่ำขันน้ำ แล้วกดลงไปในน้ำ ความดันของน้ำจะเพิ่มขึ้นตามความแรงที่เรากดคว่ำขันลงไป นั่นก็คือสิ่งเดียวกันกับการขุดเจาะลงไปในชั้นใต้ดิน ที่เราต้องเจอกับแรงดันมหาศาล ซึ่งเป็นความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งในงานของพวกเรา และเราต้องจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ให้ดีที่สุด”

งานของพวกเขา จึงมีทั้งความสนุก-เชี่ยวชาญ-ความเสี่ยง-ความรับผิดชอบ-ความภูมิใจ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีวันได้มาซึ่งทรัพยากรปิโตรเลียมให้พวกเราได้ใช้กัน ดั่งเช่นทุกวันนี้เป็นแน่

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ