ข่าวดีมีเฮ! นักวิทยาศาสตร์ค้นพบโปรตีนในปลาหมึก นำมาสร้างวัสดุใช้แทนพลาสติกได้
โปรตีนที่พบในปุ่มดูดจับเหยื่อของปลาหมึกสามารถนำมาเป็นต้นแบบสร้างวัสดุใช้ทดแทนพลาสติกเพื่อช่วยลดขยะย่อยสลายยากได้
จากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า โปรตีนที่สามารถพบได้ในปลาหมึกสามารถนำมาสร้างเป็นวัสดุใช้ทดแทนพลาสติกได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการใช้พลาสติกที่เป็นสาเหตุสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยวัสดุที่ได้จากโปรตีนปลาหมึกสามารถย่อยสลายได้เอง จึงเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าโดยที่เราไม่ต้องพรากชีวิตหมึกสักตัวเดียว
ศาสตราจารย์เมลิก เดมิเรล (Melik Demirel) จากมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย ผู้นำการศึกษาครั้งนี้รายงานว่า โปรตีนที่พบนั้นอยู่ในปุ่มดูดจับเหยื่อหรืออาหารบนหนวดปลาหมึก ซึ่งในปุ่มเหล่านั้นจะมีฟันที่แหลมคมอยู่เพื่อใช้ยึดเหยื่อที่เป็นอาหารให้อยู่นิ่ง และฟันเล็กๆ เหล่านั้นเองที่เป็นกุญแจสำคัญของการศึกษาครั้งนี้ เพราะพวกมันทำขึ้นจากโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายกับวัสดุชนิดเส้นไหม ทีมค้นคว้าของศาตราจารย์เดมิเรลจึงค้นคว้าเกี่ยวกับโปรตีนชนิดนี้และผลิตวัสดุเส้นใยต้นแบบที่ทำขึ้นจากโปรตีนในปลาหมึกขึ้นมา โดยที่ไม่ได้คร่าชีวิตหมึกเลยสักตัวเดียว
วัสดุต้นแบบสร้างขึ้นในห้องทดลองโดยใช้แบคทีเรียดัดแปลงพันธุกรรมและกระบวนการหมักที่ใช้เพียงน้ำ น้ำตาล และออกซิเจนเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ทำให้ได้วัสดุจากธรรมชาติที่มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ทนความร้อนได้ดี และสามารถใช้ทดแทนพลาสติกเจ้าปัญหาสร้างภาวะโลกร้อนได้ดีเยี่ยมเช่นกัน อีกทั้งอาจมีการนำไปต่อยอดใช้เป็นเส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่มที่ปราศจากสารเคมีได้อีกด้วย
แม้วัสดุนี้จำต้องมีการศึกษาพัฒนาเพิ่มเติม แต่คงเป็นการดีหากสามารถนำมาใช้ทดแทนพลาสติกได้โดยเร็ว เพราะจะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้มาก ทั้งลดขยะย่อยสลายยากไปจนถึงลดมลพิษจากกระบวนการผลิตต่างๆ ที่ส่งผลเสียต่อโลก