การเมืองเรื่องภาพลักษณ์ วิเคราะห์เจาะลึกจุดอ่อนพรรคพลังประชารัฐ
Reasons to Read
- โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งที่หลายคนมองว่าเป็น ‘หวยล็อก’ ให้ทหารได้สืบทอดอำนาจผ่านพรรคพลังประชารัฐ และให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
- แต่หากพิจารณากันจริงๆ พรรคพลังประชารัฐจะมีจุดอ่อนในเรื่องใดบ้าง และสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ในสายตาประชาชนอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการลงคะแนนเสียงของประชาชน
ใกล้จะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายต่างก็เห็นว่า ‘เดิมพันสูง’ เนื่องจากเป็นการเลือกระหว่างเอาหรือไม่เอารัฐบาลทหารต่อไป เมื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นพรรคที่ประกาศชู พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ทำให้พรรคหลีกเลี่ยงภาพการเป็นแคนดิเดตของทหารไม่พ้น ทั้งที่พยายามพูดมาตลอดว่าพรรคไม่ได้สืบทอดอำนาจ
ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐถูกมองว่า ‘มีแต้มต่อ’ มากที่สุด ตั้งแต่การมีข่าว ‘พลังดูด’ ที่มีการกว้านเอาอดีต ส.ส. ที่มีฐานเสียงในมือจำนวนมากเข้ามาร่วมพรรค และถูกโจมตีว่า เดินหน้าทำคะแนนนิยมหาเสียงก่อนในขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ยังถูกแช่แข็งไม่ให้ทำกิจกรรมการเมือง โดยการใช้ข้ออ้าง ลงพื้นที่เพื่อพบปะรับฟังความเห็นประชาชนในนามกลุ่มสามมิตรไม่ใช่ในนามพรรค ไปจนถึงการโจมตีว่าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค (ซึ่งแบไต๋มาตั้งนานก่อนที่จะตกปากรับคำ) ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเต็ม ที่สามารถออกนโยบายมาสร้างคะแนนนิยมได้ เช่น การจ่ายเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน การจ่ายเงินในโครงการไทยนิยม
กฎหมายก็เป็นแต้มต่อที่สำคัญ จนขนาดมีข่าวว่า แกนนำพรรคบางคนไปพูดในทำนองว่า ‘รัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อพวกเรา’ เรื่องนั้นคือเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีอายุ 5 ปี มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ทำให้หาก ส.ว. หนุน คสช. จริง การเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็มีเสียงตุนไว้ในมือแล้ว 250 เสียง จากการต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภา คือ 376 เสียงขึ้นไป
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการเดิมพันค่อนข้างชัดว่า ‘จะเอารัฐบาลทหารต่อไปหรือไม่’ หลายคนมองว่าเป็นการเลือกตั้งสองขั้ว (แต่บางพรรคก็มองไปถึงสามขั้ว คือ ทหาร ทักษิณ หรือฝ่ายประชาธิปไตย หรือประชาชนอีกส่วนมองว่า ฝ่ายที่สามคือฝ่ายแทงกั๊กรอดูการต่อรองไปร่วมรัฐบาล) ภาพลักษณ์ของพรรค ภาพลักษณ์ของผู้นำจึงเป็นตัวแปรสำคัญ แล้ว ‘ผู้นำทหาร’ จะเป็นแต้มต่อให้พลังประชารัฐได้หรือไม่ หรือมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นแต้มลบอีก ที่ควรนำมาพิจารณาดูกันก็คือ
1. ภาพลักษณ์ของทหารในปัจจุบัน ที่แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะยืนยันว่าไม่มีการสืบทอดอำนาจให้รัฐบาลทหาร แต่ชื่อของ พล.อ. ประยุทธ์ก็หลีกไม่พ้นที่ว่ากันว่าทำให้รัฐบาลทหารกลับมาอีก ซึ่งภาพลักษณ์ของทหารในระยะหลัง เปลี่ยนไปจากภาพในอุดมคติของคนไทยค่อนข้างมาก เราเคยมองกันว่า ทหารต้องเป็นคนที่เคร่งวินัย เคร่งกฎเกณฑ์ พูดน้อย ทำงานหนัก แบบภาพจำที่วรรณกรรมเกี่ยวกับทหารมักจะเพียรสร้างกันออกมา
แต่ภาพของรัฐบาลทหารที่ปรากฏผ่านสื่อ กลายเป็นภาพของทหารที่ชอบพูดในทำนองชี้นิ้วสั่งให้เชื่อหรือทำตาม (ตั้งแต่เรื่องค่านิยม 12 ประการ และเรื่องอื่นๆ ประเภท ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’) ชอบพูดในทำนองทวงบุญคุณ (เช่น ไม่ได้อยากเข้ามา แต่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาให้ประเทศชาติที่กำลังแตกแยกทางความคิด) ไปจนถึงภาพของการเอาพวกพ้องเดียวกัน (เช่น การเอาผิด สนช. สายทหารบางคนที่โดดประชุมถี่ๆ ไม่ได้) อีกทั้งภาพที่กระเทือนต่อความรู้สึกประชาชนค่อนข้างมากคือภาพของความไม่โปร่งใส ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทหารมักจะพยายามจัดการให้เสร็จในองค์กรตัวเองเพื่อรักษาเกียรติ เช่น กรณีข่าวการทำร้ายทหารเกณฑ์ หรือข่าวนักเรียนเตรียมทหารเสียชีวิตก็ไม่ได้เปิดเผยผลสอบชัดนัก
ภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากภาพอุดมคตินี้เองที่เป็นตัวลดทอนความนิยมหากทหารจะกลับมาเป็นรัฐบาล อีกทั้งยังมีข้อเกรงกันว่าจะไม่มีการตรวจสอบหรือปฏิรูปฝ่ายที่เป็นพวกพ้องรัฐบาล หรือฝ่ายกองทัพได้จริง
2. ปัญหาในการสื่อสารของทหาร ที่ผู้นำรัฐบาลทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว. กลาโหม ยังมีลักษณะการตอบคำถามห้วน ใช้อารมณ์ ทำให้ถูกนำไปขยายความในเชิงลบได้ง่าย ซึ่งหลายคนคงจะเห็นผ่านตาว่ามีการนำคำตอบไปทำมีมล้อเลียนเต็มไปหมด ทั้งการตอบเรื่องเรือนักท่องเที่ยวจีนล่ม หรือเรื่องเหตุกราดยิงโรงแรมไทยในเคนยา มันยิ่งย้ำความไม่ชอบใจที่คนมีต่อทหาร และคิดว่าหากมีผู้นำลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อเกียรติภูมิของประเทศ
หลายเรื่องที่รัฐบาลทำก็ไม่ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจและยอมรับอย่างถ่องแท้ อย่างล่าสุดที่เพิ่งออกมาคือ พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ ที่ปล่อยให้เกิดเหตุข่าวลือแพร่สะพัดว่ารัฐบาลจะเจาะเข้าไปดูการใช้งานอินเทอร์เน็ต ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้ ทั้งที่ความจริงมันคือเรื่องการป้องกันภัยคุกคามระบบ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังมีผู้ไม่เข้าใจว่า การเจาะเข้าระบบใครต้องใช้คำสั่งศาล และไม่ได้เอาผิดเรื่องการนำเข้าข้อมูล (ซึ่งเรื่องนี้อยู่ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ )
ภาพลักษณ์ที่ทหารยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้ที่สำคัญคือ เรื่องความจำเป็นในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างเรือดำน้ำหรือรถถัง ที่ไม่สามารถอธิบายถึงความจำเป็นของแสนยานุภาพกองทัพได้ดีนัก แต่กลับตอบปัดๆ ไปในทำนอง ‘เผื่อมีสงคราม’ ยังมีภาพของความพยายามเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำห้าสาย ก็ไม่ได้ช่วยชี้แจงว่าทำไมต้องให้อำนาจ ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งมาเลือกนายกฯ ทั้งที่กระแสเรื่องนี้ในช่วงนี้แรงมาก คำตอบจากคนฝั่งรัฐบาลที่เราได้ยินกันกลับเป็นแค่คำตอบประเภท ‘ก็ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ’
3. การชิงความได้เปรียบก็ส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าการจัดการเลือกตั้งไม่ได้เป็นธรรม และพร้อมจะเทคะแนนเสียงให้ฝั่งตรงข้ามเพื่อเป็นการ ‘สั่งสอน’ ความได้เปรียบเสียเปรียบที่ถูกพรรคการเมืองเอามาขึงประจานก็ตั้งแต่เรื่องที่ พล.อ. ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ ที่มีอำนาจเต็มในช่วงเลือกตั้ง ที่จะทำโครงการอะไรมาเพิ่มคะแนนเสียงก็ได้ และการที่ พล.อ. ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่ได้รับการเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ยังถูกวิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ จะอ้างว่า คสช. คือองค์กรชั่วคราว แต่นายกฯ ก็ไม่ใช่ตำแหน่งชั่วคราวแน่นอน
ยิ่งหากการแสดงความได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้นแล้วองค์กรตรวจสอบยังเฉย ทำช้า ก็ไม่พ้นที่จะเกิดภาพของการถูกมองว่ารวบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แบบที่สมัยรัฐบาลทักษิณโดนครหา และประชาชนที่เบื่อหน่ายเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลทำได้ไม่เต็มที่ก็จะไม่ให้ความนิยมได้อีกทางหนึ่ง ว่าชูภาพไม่โกงแต่ได้เปรียบมันย้อนแย้ง
4. พรรคพลังประชารัฐไม่มี ‘ตัวขาย’ อื่นที่แข็งแรงพอ การปราศรัยหาเสียงต่างๆ ต้องมีลูกล่อลูกชน มีตัวดึงความสนใจ แต่แกนนำ ‘4 ยอดกุมาร’ ตามสมญานามของสื่อมวลชน อาจเป็นนักบริหาร แต่ไม่มีภาพของคนรุ่นใหม่ หรือนักการเมืองที่สร้างความน่าสนใจนัก ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์เท่าตัว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ (ที่ออกมาแสดงท่าทีหนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์อยู่ต่อเป็นคนแรกๆ และว่ากันว่าเป็นผู้ผลักดัน 4 รัฐมนตรีให้มานำพรรค ) แกนนำคนสำคัญรายอื่นอย่าง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ นายอนุชา นาคาศัย ก็ยังมีภาพลักษณ์ของนักการเมืองแบบเก่า แถมเคยอยู่กับทักษิณ จนถึงนักการเมืองเก่าที่มีข่าวว่า ‘ถูกดูด’ มาก็ยังถูกตั้งคำถามไม่เสร็จว่า ‘มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน’ กันหรือไม่ หรือ ‘ลืมอุดมการณ์เดิม’ เพราะคนไทยก็ยังมีอคติต่อนักการเมืองที่ย้ายพรรค
5. พรรคไม่มีพลังคนรุ่นใหม่ที่มากพอ นอกจากตัว พล.อ. ประยุทธ์ที่เป็นตัวขาย และอดีต ส.ส. เก่าที่ย้ายเข้ามาอยู่ด้วยที่จะดึงคะแนนจาก ส.ส. เขต ก็ไม่มีตัวขายที่ดึงความสนใจให้คนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ชัดเจน (เหมือนตัวคนรุ่นใหม่ที่พรรคชูขึ้นมาแทบจะเห็นแค่ มาดามเดียร์-นางวทันยา วงศ์โอภาสี) ซึ่งพลังคนรุ่นใหม่หรือคนชั้นกลางเป็นกลุ่มคนที่ใช้สื่อมวลชนมาก และสามารถสร้างกระแสต่อสังคมได้ เช่นที่เคยเกิดกรณี #ฟ้ารักพ่อ ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ และกระแส ‘รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย
มีมเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอารมณ์ขันเจือปนอยู่ด้วยเหล่านี้ ช่วยเป็นสีสันดึงความสนใจและสร้างความรู้สึกที่เป็นบวกต่อพรรคการเมืองได้ โดยเฉพาะในแง่ของความใกล้ชิด เข้าถึง ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกว่า เป็นรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่การบริหารงานแบบเป็นผู้ออกคำสั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว การไม่มีคนรุ่นใหม่ใช้สื่อที่เป็นตัวสร้างสีสันเชิงบวกทำให้พรรคพลังประชารัฐถูกย้ำการนำเสนออยู่ที่ภาพลักษณ์อันเป็นลบเสียมาก โดยเฉพาะไปผูกโยงกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหาร
ในการเลือกตั้งที่จะถึง การเสนอนโยบายแต่ละพรรคก็เป็นไปอย่างน่าสนใจ พลังประชารัฐเองก็มีจุดขายที่แข็งแรงมากคือบัตรคนจน แต่เรื่องภาพลักษณ์ก็เป็นตัวแปรต่อคะแนนเสียงที่สำคัญ โดยเฉพาะหากภาพลักษณ์รัฐบาลทหารเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างปรับเปลี่ยนไม่ได้ โค้งสุดท้ายอาจต้องดูว่าเมื่อ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ. ประยุทธ์ลงพื้นที่ช่วยหาเสียง จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นบวกเพื่อช่วยพรรคได้แค่ไหน แค่คำถามเรื่องการไม่สืบทอดอำนาจก็น่ารอฟังแล้ว