‘บุหรี่ไฟฟ้า กับปัญหาสังคมที่ไม่อาจมองข้าม’

เมื่อกล่าวกันถึงปัญหาด้าน ‘สุขภาพ’ โดยเฉพาะโรคที่ ‘ไม่ติดต่อเรื้อรัง’ แล้วนั้น อันดับหนึ่งที่วิ่งมาถึงแถวหน้าอย่าง ‘โรคมะเร็ง’ น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาได้อย่างหลากหลายมิติมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม และโรคมะเร็งที่พบเจอได้ง่ายที่สุดนั้น ก็คงหนีไม่พ้น ‘มะเร็งปอด’ อันเกิดจากการสูดควันพิษ และสูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก สามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่กับคนที่ไม่ได้เสพติดบุหรี่ หรือดูแลตัวเองเป็นอย่างดี แต่สภาพแวดล้อมอยู่ในระดับที่น่ากังวลเช่น ฝุ่นพิษ เป็นต้น
และดูเหมือนว่าระดับอายุของการเสพติดบุหรี่ในปัจจุบัน ก็รวดเร็วขึ้นอย่างน่าใจหาย จากการมาถึงของ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ที่ในตอนนี้ ได้กลายเป็นปัญหาที่ต้องผ่านการเฝ้าระวังอย่างหนักหน่วง เพราะสามารถซื้อหาได้ง่าย และเริ่มมุ่งเน้นขายให้กับ ‘เด็กและเยาวชน’ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมากขึ้นไปทุกขณะ
บุหรี่ไฟฟ้าที่ขายให้กับเด็กปฐมวัย หรือที่เรียกกันว่ ‘พ็อด’ นั้น มีราคาเริ่มต้นที่ถูก มีหลากรสหลายกลิ่น สามารถสูบได้นาน และมีความเข้มข้นของนิโคตินในระดับที่สูง ซ้ำยังหาซื้อได้ง่าย เพราะมีผู้ขายที่เปิดร้านไม่ห่างจากสถานศึกษา อันนำมาซึ่งมาตรการอย่างเด็ดขาดจากทางภาครัฐ ที่มุ่งหมายจะกำจัดการซื้อขายที่ผิดกฏหมายและมุ่งเน้นทำลายเยาวชนอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม การจัดการปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ และยังมีผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอีกหลายรายที่ทำการหลบซ่อน เพื่อเปิดช่องขายในจังหวะที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่ได้สอดส่องติดตามอย่างใกล้ชิด และเชื่อว่า ปัญหาดังกล่าว น่าจะเรื้อรัง และกลายเป็นปัญหาในเชิงสังคมได้ในระยะยาว หากปล่อยให้บานปลายต่อไป
บางที แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้านั้น อาจจะไม่ใช่การกำจัดให้หมดสิ้น….
แต่อาจจะเป็นการ ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้บุหรี่ไฟฟ้านั้น ‘กลายเป็นของถูกกฏหมาย’ ….
แต่บุหรี่ไฟฟ้าเป็นปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสาธารณสุข ทำไมจะต้องทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฏหมาย?? ในแง่นี้ อยากให้ลองมองย้อนกลับไปที่บุหรี่ที่ขายกันตามร้านค้าทั่วไป ที่อยู่ในการควบคุมของกรมสรรพามิต อันเป็นหน่วยงานภาครัฐ พร้อมการกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะช่วยให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น
การซื้อขายนั้น อาจจะไม่สามารถทำการกำจัดให้หมดสิ้นไปได้อย่างราบคาบ แต่ถ้าภาครัฐ ทำการกำกับ ควบคุมดูแล และกำหนดกฏเกณฑ์ให้สามารถซื้อขายได้อย่างถูกกฏหมาย ‘ภายใต้การกำกับ’ ที่เหมาะสม จะช่วยตีวงของปัญหาให้แคบลง และอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมความเสียหายได้
บุหรี่ไฟฟ้า ถ้าอยู่ในการกำกับของหน่วยงานภาครัฐ มีการเสียภาษีถูกต้อง มีการกำหนดอายุของผู้เสพและผู้ซื้อได้อย่างชัดเจน และกำหนดปริมาณส่วนประกอบอย่างนิโคตินให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะพอดี นอกจากจะทำให้การซื้อขายอย่างผิดกฏหมายลดลงไปแล้ว ยังง่ายต่อเจ้าหน้าที่ ในการตรวจสอบ ควบคุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฏหมาย ซ้ำยังเป็นรายได้ให้กับภาครัฐนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ
มาถึงตรงนี้ การเสนอแนะดังที่กล่าวไปข้างต้น อาจจะดูขัดแย้งกับสิ่งที่สามัญสำนึกได้บอกเอาไว้ ว่าถ้าหากสิ่งใดที่เป็นปัญหา ก็ควรจำกัดทิ้งให้สิ้นซาก ราบคาบ แต่เราต้องมองดูในภาพกว้าง ว่าถ้าหากบุหรี่ไฟฟ้าเป็น ‘สินค้า’ ชนิดหนึ่ง เราจะพบว่า ไม่ว่าจะพยายามกำจัดมันมากเท่าไร แต่มันก็จะต้องมีคนที่พยายามหากำไรจากมัน และยิ่งผิดกฏหมาย การค้าขายหากำไรก็ยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้นเท่านั้น
เราอาจจะต้องปรับแนวคิดเสียใหม่ ว่าสิ่งที่เป็นปัญหา ก็ควรแก้ไขมันอย่างมีขั้นตอน และ ‘อยู่ร่วมกับมันให้ได้’ อย่างถูกต้องเหมาะสม มีแนวทางที่ชัดเจน มีการปราบปรามที่จริงจัง นั่นจึงจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคมได้ในระยะยาว
