ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ : วันวานของประชาธิปไตยไทยในขวดแก้ว
GM คุยกับ ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ ว่าด้วยการเป็นนักการเมืองของคนรุ่น Millennials ว่าแตกต่างจากนักการเมืองรุ่นเก่าๆ อย่างไร
สัมภาษณ์โดย ณัฐกานต์ อมาตยกุล
ก่อนวันที่สมาชิกรัฐสภาจะเลือกนายกรัฐมนตรีเพียงสองวัน ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเองระหว่างให้สัมภาษณ์กับ GM ว่า ตอนนี้ยังคิดทบทวนบทบาทตัวเองอยู่ แต่ยังบอกอะไรไม่ได้
“ถ้าพรรคชัด ผมก็ชัด”
ผลปรากฏออกมาว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เทคะแนนให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ขัดกับคำมั่นที่อดีตหัวหน้าพรรคได้กล่าวไว้หนักแน่นก่อนเลือกตั้ง พริษฐ์ก็ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคทันที
พริษฐ์เล่าว่าเขาสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ชอบอาสาเป็นตัวแทนกลุ่มทำงานต่างๆ รับหน้าที่เป็น ‘กระบอกเสียง’ให้กับคนอื่นๆ เมื่อได้ทุนไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมฯ อีตัน ก็เห็นแง่มุมที่ดีของสหราชอาณาจักร อย่างคุณภาพการศึกษาที่กระจายอย่างเท่าเทียมกันมากกว่า คุณภาพการรักษาพยาบาล และระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมกว่า ซึ่งไทยก็น่าจะพัฒนาตามอย่างได้
“การชอบเป็นตัวแทนและมุมมองที่เรามี และอยากจะพัฒนาประเทศ มารวมกันแล้วพบว่า อาชีพที่ตอบโจทย์ที่สุดคืองานการเมือง ก็เลยตัดสินใจเรียนด้านการเมือง ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ (Philosophy, Politics and Economics (PPE)) ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แล้วไปทำงานเป็นที่ปรึกษานโยบายให้รัฐบาลต่างประเทศ 3 ปี ก่อนที่จะกระโดดเข้ามาทำงานการเมืองไทย”
GM : ทำไมคุณถึงเริ่มลงสนามด้วยการไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองเก่าแก่ ในขณะที่มีพรรคที่นิยามตัวเองชัดเจนว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ เกิดขึ้นมา
พริษฐ์: การที่คนรุ่นใหม่อยากนำเสนออะไรใหม่ๆ มันมีหลายวิธีการ ผมเลือกที่จะเข้ามาในพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด เนื่องจากมีความเชื่อตอนที่เข้ามาว่า ถ้าเราสามารถนำเสนออะไรใหม่ๆ ภายในโครงสร้างของพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะเป็นบทพิสูจน์ที่ดีว่าเราสามารถทำได้ในระดับประเทศ
ผมมองว่าประชาธิปัตย์เหมือนประเทศไทยจำลอง เป็นประเทศไทยในขวด เพราะมันเป็นพื้นที่ที่มีคนทุกวัยจริงๆ และเป็นเอกลักษณ์ของพรรคที่ยังมีคนทุกวัย ทั้งที่มีประสบการณ์และคนที่ใหม่มาก มีหลายๆ อย่างที่อยากจะเปลี่ยน มีโครงสร้างที่ยาวนานหลายสิบปี อาจจะเคยมีเหตุผลที่รับรองมัน ตอนนี้ผมอาจจะมองไม่ค่อยเห็นเหตุผลนั้น แต่บางคนก็ยังเห็นเหตุผลนั้นอยู่
นี่เป็นบททดสอบที่ดี เพราะว่าเวลาเราเป็นคนหน้าใหม่เข้าไปทำการเมือง คำถามที่เจอบ่อยสุดก็คือ “คุณจะเปลี่ยนอะไรได้” หรือว่า “โอ๊ย! คุณก็พูดไปอย่างนี้แหละ พอคุณเจอของจริง เขามีระบบโครงสร้างอาวุโสของเขา” พอเราได้เข้าไปสัมผัสประชาธิปัตย์ เราเลยรู้ว่า ถ้าเราเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างได้ในพรรคนี้ พอเข้าไปในการเมืองจริงๆ แล้วต้องทำงานคู่กับระบบราชการ ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ที่นำมาประยุกต์ใช้ได้
GM : ไม่คิดว่าต้องไปเหนื่อยดิ้นรนเล่นการเมืองในพรรคก่อนหรือ
พริษฐ์ : ไม่อยากใช้คำว่า เล่นการเมือง ไม่ว่าในพรรคหรือในระดับไหน เราไม่ยึดติดกับการมองว่ามันเป็นเกม
หรือทำอย่างไรให้มีตำแหน่งโน้นตำแหน่งนี้ สิ่งสำคัญคือเราผลักเรื่องเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในนโยบายได้อย่างไร มันไม่ใช่การเล่นเพื่อตำแหน่ง แต่คือการผลักดันไอเดียเข้าไป รอบนี้ประชาธิปัตย์ก็พยายามจะปรับตัว มีหลายๆ อย่างที่เรานำเสนอเข้าไปและพรรคเองก็นำไปประยุกต์ใช้โดยปรับตามความเหมาะสมตามที่เขามอง
GM : แต่เหตุการณ์ตอนนี้ทำให้คนอดพูดไม่ได้ว่า ประชาธิปัตย์ ‘เล่น’ การเมืองอีกแล้ว
พริษฐ์: ผมเข้าใจมุมมองของสังคมครับ สำหรับผม ก็อยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นอุดมการณ์ที่พรรคได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ 73 ปี เราอยากเห็นพรรครักษาคำพูด การตัดสินใจครั้งนี้เป็นอะไรที่สำคัญมากสำหรับทิศทางของพรรค และมันก็สะท้อนหลายๆ อย่างว่าพรรคให้คุณค่ากับเรื่องอะไรมากกว่ากัน
ถ้าพรรคเข้าร่วมกับพลังประชารัฐ ก็ต้องยอมรับว่าความคิดต่างกันมาก แต่กระบวนการหรือความเปิดกว้างที่จะให้เราแสดงความคิดเห็น ผมยอมรับว่าประชาธิปัตย์ให้เต็มที่
GM : คุณมองเห็นความหวังอะไรในตัวคนรุ่นเดียวกัน
พริษฐ์: ความหวังหรือครับ… ผมคิดว่าสังคมที่จะสะท้อนความต้องการของคนทุกกลุ่ม จำเป็นต้องให้คนทุกกลุ่มมีบทบาท เรื่องอายุก็เหมือนกับเรื่องอื่นที่เราควบคุมไม่ได้ สมัยก่อนคนเคยไม่พอใจที่สังคมไม่ให้บทบาทกับผู้หญิง และในเวลานี้ก็เช่นกัน เราต้องเปิดบทบาทให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ไม่ควรจะมีปัจจัยอะไรที่เราควบคุมไม่ได้มาหยุดให้เราไม่สามารถทำได้เต็มศักยภาพของเรา
ในโลกสมัยใหม่ บทบาทของคนรุ่นใหม่ยิ่งสำคัญ เพราะว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของโลกเร็วขึ้น เทคโนโลยี
เกิดขึ้นตลอด แต่มันเกิดเร็วขึ้น ยิ่งเพิ่มโอกาสที่คนรุ่นใหม่สามารถเป็นผู้นำทางความคิด เป็นผู้เชี่ยวชาญในบางเรื่อง และไม่เฉพาะงานการเมือง ในทุกแวดวงอาชีพ เรายิ่งคาดหวังให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
GM : ในแวดวงการเมืองไทยที่ดูเหมือนระบบอาวุโสยังแข็งแรงอยู่ เจอแรงเสียดทานอะไรไหม
พริษฐ์: เจอเป็นเรื่องปกตินะครับ ถ้าเราพยายามจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างแล้วเราไม่เจอแรงเสียดทานเลย นั่นแสดงว่าเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่หลวงขนาดนั้น คติที่ผมบอกกับตัวเองเวลาเจอใครที่ดูไม่รับฟังเรา คือต้องรับฟังเขา ผมพยายามฟังเยอะๆ ว่าแรงเสียดทานที่มานั้นเป็นเพราะอะไร
ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง พอผมพูดเรื่องฝ่ายค้านอิสระ ก็เจอแรงเสียดทานค่อนข้างเยอะ และส่วนมากก็เป็นคนที่อายุมาก ประสบการณ์มากหน่อย ผมก็รับฟัง บางครั้งมีโทรศัพท์เข้ามา ไม่รู้เขาเอาเบอร์ผมมาจากไหนเหมือนกัน ถามว่า “อ้าว! ไอติมไม่รักชาติแล้วเหรอ” ผมก็พยายามอธิบายว่า เอ้อ! ไม่ใช่นะ การรักชาติไม่ได้หมายความว่าต้องไปกับพลเอกประยุทธ์
มีคุณป้าคนหนึ่งเขาโทรฯ มา ตอนแรกเขาโวยวายใหญ่เลย ผมก็เงียบ ฟังอย่างเดียว พอผ่านไปสักพัก ผมก็พยายามอธิบายและถามว่า เขาไม่เห็นหรือว่า สูตรคำนวณบัญชีรายชื่อของ กกต. มันดูไม่เป็นกลาง เขาก็บอกว่า “แน่นอน! มันไม่เป็นกลาง” ได้ยินแล้วผมก็ตกใจ (เอามือทาบอก) แต่เขาบอกว่า “มันจำเป็น” ก็เลยมาจบที่ว่า โอเค เราเห็นต่างกันแล้วแหละ เขาอาจจะให้คุณค่ากับการต่อสู้กับอะไรบางอย่างโดยที่ไม่คำนึงว่ากฎกติกาต้องเป็นกลาง ในขณะที่ผมให้คุณค่ากับอีกอย่างหนึ่ง ถึงจุดนี้ไม่จำเป็นต้องเถียงกันแล้ว เรารู้แล้วละว่าความคิดที่ต่างมันคืออะไร แต่สำคัญที่สุดคือพยายามฟังและอธิบายด้วยเหตุผล
GM : อาจจะมีคนที่อาวุโสแล้วบางท่านแสดงความเห็นว่า คุณเป็นคนรุ่นที่ไม่ได้ผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองที่รุนแรงในอดีต จะมองโลกอย่างไร้เดียงสาไปหรือเปล่า
พริษฐ์: ประเด็นแรกเป็นประเด็นที่ในฐานะคนอายุน้อยกว่าไม่สามารถเถียง เถียงทั้งวันก็ไม่จบ เพราะแน่นอน เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ถามว่าเราจำเป็นต้องอยู่ในเหตุการณ์หรือถึงจะศึกษาเรื่องพวกนั้นได้ ผมสนใการเมืองและศึกษาเรื่องนี้มาตลอด ไม่ใช่แค่จากทฤษฎีนะครับ เราเรียนรู้ได้จากการพูดคุยกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น
อย่างที่สอง การมีประสบการณ์ในอดีตมันก็ช่วย แต่ไม่ควรมาจำกัดว่าเราไม่สามารถตัดสินใจเพื่ออนาคตได้ ผมเองไม่ได้มองแค่อดีต แต่คิดถึงปัจจุบันและมองไปยังอนาคตด้วย นี่ไม่ควรจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมแสดงความคิดเห็นไม่ได้ คนในพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีใครออกมาพูดกับสื่อว่าความคิดเห็นของผมมันไร้เดียงสา ส่วนมากเป็นคนนอกพรรคหรืออดีตสมาชิกพรรคที่ออกไปแล้วที่แสดงความเห็นแบบนี้
GM : อะไรที่ทำให้คุณยังมีความหวังกับการเมืองไทย ทั้งๆ ที่หลายคนบอกว่าพอแล้ว
โอ้!! ผมมีความหวังมากเลยครับ เวลาเราไปหาเสียง เคาะประตูตามบ้าน บางทีพ่อแม่เขาออกมา บอกว่า “แป๊บนึงๆ กำลังทะเลาะกับลูกอยู่ เรื่องการเมืองพอดีเลย เนี่ย! เถียงไม่จบสิ้นสักที มันจะไปโหวตให้อะไรไม่รู้ อนาคตใหม่ ผมพยายามจะบอกให้เขาโหวต ‘ประชารัฐ’ (หัวเราะ)
เราเห็นแบบนี้แล้วเรามีความหวังนะครับ เพราะว่าเรารู้สึกว่าสมัยก่อน เพื่อนๆ เราเลือกตั้งครั้งแรกเขาก็เลือกตามพ่อแม่ เพราะรู้สึกว่าเลือกไปแล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรขนาดนั้น แต่ตอนนี้เริ่มมีความคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มติดตามข่าวสารการเมืองมากขึ้น วันที่เลือกประธานรัฐสภา คนก็ดูไลฟ์ในเพจนั้นเป็นหลักหมื่น ซึ่งผมเป็นเด็กที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยมีเพื่อนคนไหนมาสนใจกับผมเลย แต่รอบนี้เด็กและเยาวชนสนใจการเมืองกันมาก ซึ่งมันเป็นรากฐานที่ดีมากสำหรับสังคมประชาธิปไตย
ที่พ่อแม่กับเด็กในบ้านเลือกคนละพรรค สะท้อนให้เห็นว่าในบ้านของเขาเองยังมีสังคมประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าพ่อแม่เขาก็คงไม่ได้เตะเขาออก ลูกก็คงไม่ได้เกลียดพ่อแม่ ทะเลาะกันเต็มที่เลยก็ได้ว่าใครจะดีที่สุดสำหรับประเทศ แต่ในท้ายที่สุด เขาก็ยังเป็นครอบครัวเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ผมอยากเห็นในประเทศไทย ผมมีความหวังมากว่าเรากำลังไปสู่ตรงนั้น
แต่แน่นอนว่า ข้อกังวลอย่างหนึ่งคือความแตกแยกระหว่างช่วงอายุ ตอนที่ผมเข้ามาทำงานการเมืองปีที่แล้ว มันมีกระแส ‘คนรุ่นใหม่’ มาแรงมาก แล้วเขาก็ถามผมว่า “ผมกังวลอะไรไหมกับกระแสคนรุ่นใหม่” ผมบอกว่า ถ้าเราไม่ระวังหรือไม่ทำให้คนเข้าใจว่าเราคิดต่างกันได้ จะกลายเป็นว่าประเทศไทยแตกแยกกันเรื่องสีมาแล้ว ก็ต้องมาแตกแยกเรื่องอายุอีก ซึ่งเราไม่อยากเห็น สิ่งที่เราเห็นในโซเชียลมีเดียช่วงนี้ก็คือ คุณจะต้องเป็นอะไรสักอย่าง ไม่ไดโนเสาร์ก็เด็กเมื่อวานซืน
GM : ซึ่งมันก็ดูยาก เพราะต่างฝ่ายก็ต้องหงายการ์ดว่าอีกฝ่าย ‘โดนล้างสมอง’
เราก็เลยต้องมุ่งมั่นในการให้ข้อมูลเต็มที่ ผมคิดว่าเราในฐานะนักการเมือง หรือหลายคนในฐานะสื่อ นักวิชาการ หรือแม้กระทั่งในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เป็นหน้าที่ของเราที่จะไม่ปล่อยให้สังคมไหลไปตามอารมณ์ เราก็แค่ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่อประเด็นที่เรารู้สึกว่าเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เราไม่ได้ว่าอยู่แล้วหากคุณจะชอบหรือไม่ชอบใคร มันเป็นสิทธิ์ของคุณ เป็นสีสันของประเทศด้วย แต่ว่าให้ทุกคนอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเดียวกัน อันนี้สำคัญที่สุด
อย่างที่สอง ผมคิดว่าในอนาคต เราก็ต้องพัฒนาเรื่องนี้มาตั้งแต่ระบบการศึกษา เวลาผมไปต่างประเทศ ผมคิดว่าถ้าเราอยากรู้ว่าสังคมนั้นมีความคิดเป็นอย่างไร ให้ไปดูห้องเรียนของเขา ว่าเขาออกแบบเป็นอย่างไร บางประเทศ ในห้องเรียนของเขา ครูจะยืนบนแท่นยืนแล้วพูดลงมาให้นักเรียนนั่งฟังอย่างเดียว และเราก็จะเห็นระบบการเมืองของเขามีความเป็นประชาธิปไตยน้อย ยอมรับความเห็นที่แตกต่างน้อย แต่อย่างเราไปประเทศอังกฤษ หลายแห่งนั่งล้อมวงคุยกัน ครูอยู่ในระดับเดียวกับนักเรียน สะท้อนให้เห็นบริบทของห้องเรียนคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุย และรับฟังมากขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการปลูกฝังความเข้าใจในการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือการถกเถียงกันบนพื้นฐานของเหตุผล หากปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กให้เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิกัน สามารถวิพากษ์-วิจารณ์ได้ ในที่สุดก็จะเติบโตกันมาเป็นอย่างนั้น
GM : แต่คนที่ควบคุมระบบการศึกษาอยู่ตอนนี้ คือคนที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
พริษฐ์ : ครับ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมอยากให้สภาฯ สะท้อนความหลากหลายของสังคม ไม่ควรจะมีแค่เด็กหรือคนอายุมาก หรือมีแต่อดีตทหาร หมอ ฯลฯ มันควรจะสะท้อนความหลากหลายเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย
GM : ในวันที่ไปเคาะประตูบ้าน ไม่น้อยใจหรือว่าชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ระหว่างตัวเลือกของพ่อ-แม่-ลูกแล้ว
พริษฐ์ : ไม่ครับ เข้าใจมากกว่า นักการเมืองเราต้องเรียนรู้สิ่งที่คนมองเราได้ ทั้งในแง่บวกแง่ลบ นอกจากนิด้าโพลก็มีการวิเคราะห์ภายในพรรคด้วย ผมคิดว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง ‘ความชัดเจน’ เราไม่ได้เป็นที่ 1 ของอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อารมณ์แรกคืออารมณ์เกลียด คสช. ประชาธิปัตย์ต่อต้าน คสช. ไหม ผมว่าคุณอภิสิทธิ์ก็ต่อต้าน รัฐธรรมนูญก็ไม่รับ เรื่องนโยบายเศรษฐกิจ เราก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เห็นด้วย แต่เราไม่ได้เป็นที่ 1 สำหรับคนที่เกลียด คสช. อย่างที่สองคือ อารมณ์กลัว กลัวทักษิณ กลัวความขัดแย้งเก่าๆ ต้องการความสงบ เราก็ไม่ได้เป็นที่ 1 ของคนกลุ่มนั้นเหมือนกัน เขาก็ยังมีความเชื่อว่าถ้าจะไม่กลับไปสู่ความขัดแย้งตรงนั้น ต้องเป็นลุงตู่ เราก็พยายามอธิบายนะว่า มันต่างกันนะ ลุงตู่ในบริบทที่มีมาตรา 44 ที่เป็นเผด็จการกับบริบทประชาธิปไตย การเมืองแบบเรานี่แหละที่น่าจะนำมาสู่ความสงบที่สุด เพราะเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่พยายามจะแบ่งสังคมให้แตกแยก …ก็ไม่เป็นไร เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะไม่เชื่ออย่างนั้น ท้ายที่สุดเลยไม่มีชื่อปรากฏในตัวเลือกที่เขาจะกา
GM : คนรุ่นใหม่พูดเสมอว่าอยากเปลี่ยน-แปลงประเทศ แต่คนรุ่นก่อนอาจย้อนถามว่า เปลี่ยนแปลงอะไรล่ะ สำหรับคุณ 3 เรื่องสำคัญที่ต้องแก้เร่งด่วนที่สุดคืออะไร
พริษฐ์: สำหรับผม หนึ่ง, คือต้องกระจายความเจริญไปให้ทุกๆ จังหวัด ทำให้คนสามารถหางานที่รายได้ดีได้ทั่วประเทศ จะแก้ปัญหารถติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะที่กระจุกในเมือง และกระจายความเจริญไปสู่ที่อื่นๆ ด้วย เรียกว่าเป็นเป้าหมายดีกว่า วิธีการมีหลายอย่าง ผมไม่อยากลงรายละเอียดนโยบาย
สอง, ผมคิดว่าต้องพัฒนาการศึกษา ทั้งปัญหาที่มีมานานแล้ว บวกกับโลกที่เปลี่ยนไปด้วย ปัญหาการศึกษาด้านแรกคือความเท่าเทียม โรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเมืองกับโรงเรียนที่อยู่ห่างออกไป โอกาสที่เด็กได้รับมันต่างกันมาก เมื่อความเหลื่อมล้ำมีมาตั้งแต่ระบบการศึกษา โตขึ้นมาแล้ว ความเหลื่อมล้ำก็เลยยิ่งทวีคูณ เพราะเมื่อเด็กคนหนึ่งได้รับการศึกษาดีกว่าเด็กอีกคน บริษัทมีโอกาสจะจ้างเขามากกว่า
ส่วนเรื่องคุณภาพ พอเทคโนโลยีเข้ามา เด็กหาข้อมูลได้แล้ว ห้องเรียนไม่ใช่พื้นที่ที่ครูจะมาเล่าให้ฟังว่าข้อเท็จจริงคืออะไร แต่ต้องกลายเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนความเห็น ฝึกทักษะการคิดมากขึ้น หรือทักษะต่างๆ ที่ในที่สุดแล้วจะสำคัญในการเติบโตขึ้นมามีงานทำ
เรื่องที่สาม, ผมเคยพูดไปหลายรอบว่าอยากยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร เพราะมันสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้ใครๆ จะบอกว่าชายไทยทุกคนต้องเกณฑ์ทหาร แต่ว่าเพื่อนผมในค่ายสงสัยว่า “ทำไมกูไม่เคยเห็นลูกคนรวยสักคนในค่าย” กลายเป็นว่าคนที่มีโอกาสน้อยต้องเข้ามาแบกรับภาระทางราชการทหาร คนที่อยู่ในระบบการศึกษามัธยมปลายกลับมีช่องทางอื่นอย่างการเรียน รด. และถ้าไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องมีจำนวนกำลังพลเยอะขนาดนั้น ทำไมจะต้องดึงเยาวชนออกจากตลาดแรงงาน 2 ปี ทำให้เขาเสียโอกาสหารายได้ และความห่างเหิน 2 ปีทำให้ครอบครัวแตกแยกเหมือนกัน เราต้องเสียสละทั้งทางเศรษฐกิจและชีวิตส่วนตัวกันขนาดนั้นเลยหรือเปล่า
ผมไม่ได้บอกว่าไม่ให้มีทหารเลยนะ แต่ให้เหลือแค่ระบบสมัครใจ ซึ่งตอนนี้เขาต้องการกำลังพลทั้งหมด 100,000 คนต่อปี มีคนสมัครใจ 50,000 คน ลบกันออกมาเป็นจำนวนที่ต้องเกณฑ์ด้วยระบบใบแดง เรามาหาจุดสมดุลตรงกลางได้ไหม ดูว่า 100,000 คน เขาเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง ผมบอกเลยว่าการเป็นทหารรับใช้ไม่ได้ทำให้เขาสู้ข้าศึกได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้ผ่านระบบเกณฑ์ทหาร อาจเหลือที่จำเป็นสัก 70,000 คน เราทำให้คนกลุ่มที่สมัครใจนี้เพิ่มขึ้นได้ไหม ทำให้ค่าแรงและสวัสดิการเหมาะสมกับการใช้ชีวิต หรือลดความรุนแรงอันเกินเลยซึ่งเกิดขึ้นในค่ายทหารแล้วทำให้คนที่อยากปกป้องประเทศไม่กล้ามาสมัคร ถ้าเราปรับเรื่องพวกนี้ได้ ก็น่าจะเกิดความสมดุลที่จะทำให้กำลังพลเพียงพอต่อความมั่นคงของประเทศ
GM : ระหว่างรอลุ้นผลการเลือกตั้งนายกฯ คุณกำลังทำอะไรอยู่
พริษฐ์: อยู่ในช่วงทบทวนตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อ ความต้องการที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมหลายๆ อย่างซึ่งสั่งสมมาจนทำให้ผมกลายไปเป็นผู้สมัคร ส.ส. ในครั้งนี้ มันยังมีอยู่ แต่ก็ต้องมาประเมินว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จากตรงไหนมากที่สุด อย่างแรกคือต้องตัดสินใจว่า จะทำงานการเมืองต่อไหม เราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านอาชีพอื่นได้เหมือนกัน ไปทำวิสาหกิจเพื่อสังคมของตัวเอง หรือไปเป็นครูอาจารย์ก็เปลี่ยนแปลงสังคมได้ เป็นหมอก็ได้เหมือนกัน แต่ตัวผมอาจจะเป็นหมอไม่ได้แล้ว (ยิ้ม)
แต่ถ้าเกิดยังอยากจะทำงานการเมืองอยู่ ก็ต้องถามว่าจะทำในฐานะอะไร พรรคอะไร หรือไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเลย เพราะผมเชื่อว่าพรรคต้องเป็นที่ที่รวบรวมคนที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน สำคัญที่สุดคือ ต้องมีพรรคที่เป็นตัวแทนอุดมการณ์ออกไป