fbpx

One Day in Hong Kong : “เราจะไม่สิ้นหวัง”

One Day in Hong Kong รายงานการประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อยาวนาน ไปดูกันว่า อะไรทำให้ผู้คนออกมาอยู่บนถนน และอะไรทำให้พวกเขาแข็งแกร่ง

เรื่องและภาพ : โตมร ศุขปรีชา

“Hong Kong is not China.”

-ผู้ประท้วงคนหนึ่ง

1

ฝนตกหนัก – ผมสวมชุดสีดำ กางร่มสีดำ เดินไปกับเด็กหนุ่มสาวและชายหญิงวัยกลางคนที่ต่างก็ใส่สีดำ

คนจำนวนมากมีหน้ากากคลุมปิดครึ่งหน้า แต่บางคนก็ใช้ผ้าบัฟคลุมจนเกือบหมด มองไม่เห็นอะไรเลยแม้กระทั่งนัยน์ตา เพราะมีแว่นกันแดดคลุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง

พวกเขาไม่ใช่ไม่กลัว – ผมบอกตัวเองอย่างนั้น ขณะที่เราเดินไปบนถนน Lower Albert ที่จะทอดคดเคี้ยวขึ้นไปสู่ที่ชุมนุมในสวนข้างบน

ผมมากับ โจล อันเดรียส (Joel Andreas) เพื่อนอาจารย์ที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮ็อปกินส์ ในบัลติมอร์ 

เรารู้จักกันตั้งแต่สมัยเขาเรียนปริญญาเอกที่แคลิฟอร์เนีย โชคดีมาก ที่โจลมาสอนอยู่ที่ Hong Kong University of Science and Technology หนึ่งเทอมพอดี และพอดีกับความหุนหันพลันแล่นของผมที่จะมาที่นี่ ก็ประจวบกับเขาและครอบครัว (คือเอ๋ – ซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่บัลติมอร์ กับมาร์ลีย์, ลูกสาว) เพิ่งเดินทางมาถึงได้วันสองวันเท่านั้น

เรานัดเจอกัน 

เราเคยประท้วงต่อต้านสงครามอิรักในอเมริกา เคยไปร่วมขบวนที่วอชิงตันประท้วงเรื่อง Proposition 8 อันเป็นเรื่องของ LGBT และการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน แต่ที่จริงแล้ว โจลสนใจเรื่องการเมือง ความไม่เท่าเทียมทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในจีนโดยเฉพาะ

การมีเขาเป็นเพื่อนร่วมทางจึงอุ่นใจยิ่งนัก เพราะอีกอย่างหนึ่ง – เขาพูดภาษาจีนแมนดารินได้ แม้ชาวฮ่องกงจะพูดกวางตุ้ง แตก็ดูเหมือนจะสื่อสารกันได้ง่ายกว่าใช้ภาษาอังกฤษ

2

ฝนตกหนัก – การใส่ชุดดำเดินมากับฝรั่งชาวอเมริกัน ทำให้ผมอดขำไม่ได้ เพราะนี่คือ ‘สูตร’ ความ ‘ชังชาติ’ คล้ายที่ใครหลายคนในเมืองไทยบอก นั่นคือ ‘เด็กๆ’ ฮ่องกงยังไม่รู้อะไร เป็นพวกหลงผิด หลงเชื่อการยุแยงของต่างชาติในอันที่จะ ‘แบ่งแยกดินแดน’ ทั้งที่จริงๆ แล้ว จีนกับฮ่องกงควรจะเป็น ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ตามที่ได้ ‘สัญญา’ เอาไว้ทั้งกับมหาอำนาจตะวันตกอย่างอังกฤษ และที่สำคัญเหนือกว่านั้น – ก็คือได้สัญญาเอาไว้กับผู้คนชาวฮ่องกง

แต่ก็คล้ายว่า คำสัญญานั้นเริ่มจางหายไปกับสายลม

3

ตอนเด็กๆ ผมจำข่าวหนึ่งได้แม่นยำ ที่จำได้ก็เพราะสงสัยเหลือเกินว่าทำไมผู้คนถึงต้องตื่นเต้นกันนัก

มันคือข่าวนายกรัฐมนตรีอังกฤษ – มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ เดินทางไปเยือนฮ่องกง นั่นเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ย่างเท้าลงบนดินแดนของฮ่องกง

ผมไม่ชอบลัทธิล่าอาณานิคม ไม่ชอบการที่อังกฤษเที่ยวไล่ล่าบุกยึดดินแดนของใครต่อใคร ซึ่งก็รวมไปถึงฮ่องกงที่จีนต้องยอมยกให้หลังเกิดสงครามฝิ่นครั้งแรกในปี 1842 ด้วย

ดังนั้น การที่แธ็ตเชอร์มาฮ่องกงแล้วผู้คนตื่นเต้นกัน จึงเป็นเรื่องที่ผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่นัก

ต่อมาอีกเนิ่นนาน เมื่อโตขึ้น และผ่านพ้นเหตุการณ์ ‘ส่งมอบเกาะฮ่องกง’ (Handover of Hong Kong) คืนให้กับจีนแล้ว โลกจึงได้ล่วงรู้เรื่องราวมากมาย เช่น อังกฤษเองไม่ได้อยากคืนเกาะฮ่องกงเท่าไหร่หรอก แต่ลำพังฮ่องกงอันเป็นดินแดนเล็กๆ นั้นถือว่ามีทรัพยากรไม่เพียงพอจะหล่อเลี้ยงตัวได้ ดังนั้น ในเวลาที่ยังมีอำนาจล้นเหลือครองโลกอยู่ อังกฤษจึงทำสัญญาต่างๆ กับจีนถึงสามฉบับ ตั้งแต่สัญญาให้จีนยกฮ่องกงเป็นของอังกฤษ, สัญญายกเกาลูนและเกาะในอ่าววิคตอเรียให้อังกฤษ รวมถึงสัญญาล่าสุดที่ทำขึ้นในปี 1898 ซึ่งพูดได้ง่ายๆ ว่าคือ ‘สัญญาเช่า’ ดินแดนที่เรียกว่า New Terrotories และเกาะต่างๆ เป็นเวลานาน 99 ปี

แน่นอน เมื่อสัญญาใกล้จะหมดลงในปี 1997 แธ็ตเชอร์ย่อมอยากขอเจรจากับจีน เพราะถ้าจะให้ฮ่องกงยังคงอยู่ได้ ก็ต้องขอเช่า New Territories ต่อ ไม่อย่างนั้นฮ่องกงก็อยู่ไม่ได้

การเจรจาลือลั่นสนั่นโลกระหว่างนางสิงห์เหล็กอย่าง มาร์กาเร็ต แธ็ตเชอร์ และบุรุษเหล็กหลังม่านไม้ไผ่อย่าง เติ้งเสี่ยวผิง จึงเกิดขึ้น

แธ็ตเชอร์แสดงความจำนงจะขอเช่าดินแดนต่อ (โปรดอย่าลืมว่า ฮ่องกงและเกาลูนนั้น ถือเป็นของอังกฤษแล้ว ที่เธออยากเช่าต่อคือ New Territories เท่านั้น) แต่เติ้งเสี่ยวผิง แสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะไม่ขอเจรจาเรื่องการเช่าต่อ จีนจะขอดินแดนคืนทั้งหมด ไม่ใช่แค่ New Territories เท่านั้น แต่รวมไปถึงฮ่องกงและเกาลูนด้วย

มีบันทึกชัดเจนใน The Sunday Times บอกว่า จีนเห็นว่าสัญญาทั้งสามฉบับนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ไม่ได้เกิดขึ้นบนฐานของความเท่าเทียม ดังนั้น จีนจึงปฏิเสธที่จะต่อสัญญาอะไรทั้งนั้น 

มาร์กาเร็ต แธ็ตเชอร์ บอกว่า จีนบอกด้วยว่า ถ้าหากการเจรจาต่อรองทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในฮ่องกง จีนก็พร้อมจะบุกยึดฮ่องกงกลับมาเป็นของจีน เธอเล่าว่า เติ้งเสี่ยวผิง บอกกับเธอว่า “I could walk in and take the whole lot this afternoon.” ซึ่งก็คือการ ‘ขู่’ ว่าสามารทำสิ่งนี้ได้ในทันที

แธ็ตเชอร์ตอบเพียงว่า “There is nothing I could do to stop you, but the eyes of the world would no know what China is like.”

โชคดีที่การเจรจาต่อรอง และการส่งคืนเกาะฮ่องกง (ซึ่งเป็นเรื่องเปราะบางเหลือเกิน) ไม่ได้เกิดเหตุร้ายอะไรขึ้นอย่างที่ทุกคนกลัว เนื่องจากก่อนหน้านั้น ในปี 1989 เกิดเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมิน ทำให้ชาวฮ่องกงหลายคนไม่อยากอยู่ฮ่องกงต่อ จึงเกิดคลื่นการอพยพนับแสนคน จำนวนหนึ่งไปอยู่สิงคโปร์ อีกจำนวนหนึ่งไปอยู่แคนาดา รวมไปถึงอังกฤษ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาด้วย

นั่นจึงเป็นคำตอบได้ว่า – ทำไมชาวแคนาดา อังกฤษ และออสเตรเลีย ถึงได้ลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นเข้ามาทำอะไรสักอย่างกับฮ่องกงในเวลานี้, แต่การเรียกร้องเหล่านี้ ก็ทำให้หลายคนมองว่านี่คือ ‘การแทรกแซงจากต่างชาติ’ ไป

คริส แพทเทน (Chris Patten) ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงคนสุดท้ายที่เป็นชาวอังกฤษ ปราศรัยในวันส่งมอบเกาะว่า “คนฮ่องกงต้องปกครองฮ่องกงเอง” เพราะเขาเชื่อมั่น ว่าจีนจะทำตามคำมั่นสัญญา ในการจัดการให้จีนเป็น ‘หนึ่งประเทศ – สองระบบ’ นั่นทำให้ฮ่องกงมีสิทธิอำนาจ (Autonomy) ในการดูแลจัดการตัวเอง ทั้งในเรื่องการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และระบบกฎหมายต่างๆ เพื่อจะได้ตอบสนองต่อคนฮ่องกงเองจริงๆ

การประท้วงในฮ่องกงที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นมรดกตกทอดนานยาว ของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม จนกระทั่งถึงยุคส่งมอบคืนเกาะฮ่องกง และต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ทุกอย่างล้วนคือ ‘ผลพวง’ แห่งประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น!

4

มาร์ชในช่วงเช้าของวันที่ 17 สิงหาคม 2019 คือมาร์ชที่เรียกว่า Walk with the Teachers ซึ่งทั้งผมและโจลต่างไม่แน่ใจด้วยกันทั้งคู่ ว่ามันคือการเดินอะไร และครูมาเกี่ยวข้องอะไรด้วย

แม้ฝนจะตกหนักจนเราต้องหลบฝนอยู่ที่ชายคาตึก ทั้งที่ยังเดินไปไม่ถึงจุดรวมพลที่ Charter Garden ใกล้ๆ กับที่ทำการของรัฐบาลดีนัก แต่ก็เห็นได้ชัดเลยว่า ผู้คนที่มาร่วมเดินนั้นมีมากมาย แต่คะเนเป็นจำนวนออกมาไม่ได้ เพราะคนไม่ได้อยู่นิ่ง ต่างเดินไหลกันไปบนถนน ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางเดินแคบๆ คดเคี้ยวลับหายขึ้นไปบนเนินเขา

คนที่มาไม่ได้มีแต่คนหนุ่มสาวประเภทที่จะ ‘ถูกหลอก’ ได้ง่ายๆ (ตามที่บางคนปรามาส) แต่เนื่องจากนี่คือการเดินของ ‘ครู’ ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดของสังคมฮ่องกง เราจึงเห็นทั้งคนหนุ่มสาวที่อาจเป็นครูและศิษย์ รวมไปถึงคนวัยเลยสามสิบสี่สิบปี และไล่เลยไปกระทั่งถึงครูสูงวัยผมขาวโพลน 

ผมสังเกตเห็นว่า คนเหล่านี้ไม่เหมือนม็อบไทยบางม็อบยอมรับว่าส่วนหนึ่งไปชุมนุมกันเพราะได้พบปะเพื่อนฝูง เหมือนไปทำอะไรสนุกๆ กัน เช่น วาดรูป ขายเสื้อยืด แล้วก็เอาเงินไปมอบให้กับฝักฝ่ายทางการเมืองของตัวเอง แต่ม็อบฮ่องกงมาแบบคนที่ไม่ได้รู้จักกัน มีจำนวนมากเลยที่มาแบบคนเดียว เดินมาโดดเดี่ยว รวมกลุ่มกับคนอื่น แล้วเดินไป ร้องตะโกนภาษาจีนที่ผมฟังไม่รู้เรื่องไป

ผมบอกโจลว่า ผมรู้สึกว่ามีคนที่มาคนเดียวเยอะเลย แต่โจลบอกว่า ที่เยอะกว่าก็คือคนที่มากันเป็นกลุ่มเล็กๆ ส่วนใหญ่มากันสองคน อาจเป็นเพื่อนผู้ชายด้วยกัน เพื่อนผู้หญิงด้วยกัน หรือที่มาแบบคู่รัก ยืนโอบกอดกางเสื้อฝนกั้นเป็นร่มให้กันก็มี อย่างมากที่สุดก็มากันเป็นกลุ่มสามสี่คน แต่ไม่มีที่จะมากันแบบ ‘แห่มา’ เหมือนถูกจัดตั้ง

ผมคิดว่านี่เป็นม็อบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

“สถานที่ก็น่าสนใจ” โจลบอก “มันประหลาดมาก”

ใช่ – ผมเห็นด้วย เพราะเส้นทางเดินนั้นเป็นเส้นทางเดินในสวนที่คดเคี้ยวและแคบ ผู้คนแออัดเบียดเสียด แต่ก็มีระเบียบซ่อนอยู่ในนั้น เป็นระเบียบแบบเกิดขึ้นเอง เช่น ไม่มีใครเอาศอกถองกระแทกใคร ผู้คนรักษาระยะห่างเอาไว้หลวมๆ ซึ่งผมแอบคิดไปเองว่า มันช่างดูเป็นการรวมกันของคนที่คุ้นเคยกับระบบสังคมแบบ ‘ปัจเจก’ เหลือเกิน

แต่ยิ่งเป็นปัจเจกเท่าไหร่ ยิ่งไม่ผ่านการ ‘จัดต้ัง’ (ในความหมายของ Organized) มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ผมสงสัยมากขึ้นเรื่อยๆ

มันคือความสงสัยที่คาใจตัวเองมาเนิ่นนานหลายเดือนแล้ว

คำถามนั้นก็คือ – อะไรทำให้พวกเขา ‘สตรอง’ กันได้ขนาดนี้!

ชาวฮ่องกงออกมาประท้วงกันตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว กิจกรรมนี้ค่อยๆ แผ่ขยายออกไป และจนบัดนี้ก็ดูคล้ายไม่หยุดหย่อน เหมือนพวกเขาไม่อ่อนล้าโรยแรง แต่พร้อมสู้อยู่ตลอดเวลาไม่ท้อถอย – ทั้งๆ ที่, ใช่ – ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีใครเป็นหัวหน้า ไม่มีผู้นำ ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีแม้กระทั่งคนเดินนำม็อบ

“มันคือเรื่องของเรา” ครูคนหนึ่งที่เราได้พบในม็อบบอก “มันคือการต่อสู้ของเรา คุณรู้ไหมว่ามีความไม่ยุติธรรมซ่อนอยู่ในการปกครองของจีนมากมาย”

เขาเล่าถึงการ ‘เขียนประวัติศาสตร์ใหม่’ ที่ครูฮ่องกงถูกจีนแผ่นดินใหญ่ร่างหลักสูตรออกมา เป็นหลักสูตรสอนประวัติศาสตร์แบบ ‘โปรจีน’ ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือเรื่องเดียวกันกับที่ South China Morning Post เพิ่งวิเคราะห์ไปในเช้าวันนั้นและผมบังเอิญได้อ่าน – นั่นคือจีนบังคับให้ครูต้องทำงานหนักขึ้น ต้องไปอบรมตามที่จีนแผ่นดินใหญ่ต้องการ แต่ในเวลาเดียวกันก็ขาดความ ‘ไว้ใจ’ ว่าครูเหล่านี้ ‘สยบยอม’ กับความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่มากพอแล้วหรือยัง นั่นทำให้ครูจำนวนมากไม่ได้รับการบรรจุเป็นครูที่มีสัญญาจ้าง ทว่าได้เป็นเพียงครูผู้ช่วย หรือครูที่อาจเสียงานไปเมื่อไหร่ก็ได้

เรื่องของครูทำให้เราเห็นชัดเจนเลยว่า ทั้งเรื่องของ ‘อุดมการณ์’ (เช่นการสยบยอมให้กับการเขียนประวัติศาสตร์แบบใหม่) และเรื่องของ ‘ปากท้อง’ (คือการที่ครูไม่ได้บรรจุ และไม่ได้รับค่าจ้างที่ดีมากพอในเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง) โดยเนื้อแท้มันผนวกรวมเป็นเรื่องเดียวกันได้

“การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้าย” ผู้ประท้วงอีกคนหนึ่งบอกผมในตอนบ่าย “สิ่งที่เรายอมไม่ได้ ก็คือการไม่รักษาสัญญาประชาคม และจีนก็ทำอย่างนั้นต่อเนื่อง”

The Economist วิเคราะห์ว่า ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของจีนก่อนยุคสีจิ้นผิง มือที่คอย ‘ควบคุม’ ฮ่องกงอยู่เงียบๆ ตอนนี้เร่ิม ‘มองเห็น’ ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะเอื้อมเข้ามายึดกุมและควบคุมบังคับผู้คนชาวฮ่องกงอย่างไรบ้าง

“แต่ฮ่องกงไม่ใช่จีน” ผู้ประท้วงอีกคนหนึ่งบอก 

ฮ่องกงต้องการปกครองตัวเอง ต้องการระบบเศรษฐกิจของตัวเอง และต้องการเป็นผู้ ‘ควบคุม’ ระบบกฎหมายต่างๆ ของตัวเอง เพื่อจะได้เป็นนิติรัฐในแบบที่ตัวเองเป็นจริงๆ

แต่แน่นอน – เรื่องเหล่านี้, จีนให้ไม่ได้

5

“ดูนั่นสิ” โจลส่งเสียงตื่นเต้น เขาชี้มือไปที่ผู้ประท้วงคนหนึ่งที่กำลังโบกธงอยู่

มันคือธง ‘บริติชฮ่องกง’ (British Hong Kong) ซึ่งเป็นธงสีน้ำเงินเข้ม มุมหนึ่งมีรูปธงชาติของสหราชอาณาจักร อีกด้านหนึ่งเป็น Coat of Arms ที่บ่งบอกถึงความเป็นฮ่องกง ฟอร์แมตนั้นเป็นแบบเดียวกับธงของประเทศในเครือจักรภพอังกฤษอื่นๆ

การหยิบธงนี้มาโบก บอกอะไรเราหลายอย่างมาก

มันคือสัญลักษณ์แห่งอดีต บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจมีนัยเรียกร้องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงด้วย

ในบ่ายวันนั้น ผมเห็นด้วยกับโจล – ว่านี่เป็นเรื่องอันตรายไม่น้อย เพราะมันสุ่มเสี่ยงยิ่ง กับการทำให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาแทรกแซง

เปล่า – ไม่ใช่รัฐบาลอังกฤษ แคนาดา อเมริกา หรือออสเตรเลียหรอก

แต่คือรัฐบาลจีนนี่แหละ

6

“คุณรู้ใช่ไหม ว่าพวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่” ผู้ประท้วงอีกคนหนึ่งบอกผม เมื่อผมกำลังถ่ายรูปอยู่

ผมพยักหน้า

“แล้วคุณรู้ใช่ไหม ว่าพวกเราอาจเป็นอันตรายจากรัฐบาลได้ พวกเราจึงต้องใส่หน้ากากคลุมใบหน้า”

ผมพยักหน้า

“ถ้าอย่างนั้น คุณก็ไม่ควรถ่ายรูปพวกเราให้เห็นใบหน้านะครับ เพราะพวกเราอาจเป็นอันตรายได้”

ผมพยักหน้าอีกครั้ง แต่คราวนี้เอ่ยขอโทษเขาด้วย และสัญญากับเขาว่าจะไม่มีภาพใบหน้าของใครปรากฏทั้งสิ้น

เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ทำให้ผู้ประท้วงในจีนต้องป้องกันตัว พวกเขารู้ทันเทคโนโลยี และรู้ว่ามีวิธีง่ายๆ ที่จะต่อกรกับอำนาจขนาดใหญ่นั้น

เอมิลี่ ลอ (Emily Lau) นักการเมืองฮ่องกงหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงมายาวนาน บอกว่าการประท้วงทำให้จีนมีทางเลือกน้อยลงเรื่อยๆ

เธอบอก The Economist ว่า ทุกอย่างถดถอยลง โดยเฉพาะหลังสีจิ้นผิง ขึ้นครองอำนาจ คนต้องการเสรีภาพ ความปลอดภัยส่วนตัว และต้องการนิติรัฐ แต่สีจิ้นผิง ให้ไม่ได้

หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า โมเดลแบบเทียนอันเหมินจะเกิดขึ้นได้ในฮ่องกงหรือเปล่า จะมีการล้อมปราบ มีความรุนแรงเกิดขึ้นยิ่งกว่านี้ และทำให้ฮ่องกงไม่มีวันเป็นฮ่องกงเหมือนเดิมไหม แต่เอมิลี ลอ ไม่คิดอย่างนั้น เธอบอกว่าถ้ารัฐบาลปักกิ่งทำอย่างนั้นเป็นเรื่องเสี่ยงมาก เพราะฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการค้า มีชาวต่างชาติอยู่อาศัยและติดต่อค้าขายมากมาย การส่งทหารเข้ามาจะก่อหายนะทางเศรษฐกิจ

ในปี 1993 GDP ของฮ่องกงมีมูลค่าเท่ากับหนึ่งในสี่ของจีนทั้งประเทศ แต่เมื่อจีนเจริญขึ้น สัดส่วน GDP ของฮ่องกงลดลงมาเหลือไม่ถึง 3% แต่กระนั้น ฮ่องกงก็ยังสำคัญมากๆ กับจีน เพราะเป็นประตูสู่จีน เป็นตัวเชื่อมต่อกับโลกทั้งใบ ถ้าจีนจะปราบฮ่องกงด้วยวิธีที่รุนแรง ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลก

เพราะฮ่องกงไม่ใช่จีน – ผมนึกถึงคำพูดนั้นตลอดเวลาที่เดินไปกับผู้คนชุดดำในช่วงบ่าย ช่วงที่แยกกันเดินกับโจล

ฝนพรำแล้วหยุดแล้วพรำ อากาศร้อนและชื้น ตัวเหนียว อบอ้าว แต่ไม่มีใครหยุดเดิน

7

“พวกคุณจะไปที่ไหนกัน” ผมหยุดถามผู้ประท้วง เมื่อเห็นพวกเขาเดินกันไปเรื่อยๆ เป็นสาย เดินไปบนถนน เดินไปเงียบๆ นานทีถึงจะมีเสียงตะโกนบางอย่างออกมา

“เราก็ไม่รู้เหมือนกัน” ผู้ประท้วงบอก “เราเดินไปเรื่อยๆ อาจจะไปถึงสถานีรถใต้ดิน” เขาบอกชื่อ – แต่ผมจำไม่ได้ “แต่พอไปถึงตรงนั้นแล้ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะยังไงต่อ”

ผมถามใครอีกหลายคนว่าพวกเขาจะไปไหน แต่ก็ได้คำตอบคล้ายๆ กัน – นั่นคือไม่แน่ใจนัก คำตอบของพวกเขาทำให้เห็นชัดเลยว่า นี่เป็นการรวมตัวกันที่ ‘หลวม’ อย่างยิ่ง ใครจะมา ใครจะไป ใครจะเดิน ใครจะหยุด – ก็ทำได้ตามใจ ไม่มีการเกณฑ์กันมา แม้จะมีจุดแจกน้ำอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใส่ใจจะเข้าไปรับขวดน้ำนั่น

ที่จุดหนึ่ง ผู้ประท้วงขว้างไข่สดใส่อาคารหลังหนึ่ง พร้อมทั้งฉายแสงเลเซอร์เป็นจุดเล็กๆ สีเขียว กวัดไกวไปมาตรงบานหน้าต่าง

ความที่ไม่รู้ภาษาจีน จึงต้องเข้าไปถามเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เขาเล่าว่าตึกนี้เป็นที่อยู่ของผู้หญิงสองคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในทางการเมือง แต่เป็นคนที่สนับสนุนรัฐบาลจีน ทำให้ผู้ประท้วงไม่พอใจ จึงเอาไข่มาปา ร้องตะโกนไล่ และฉายเลเซอร์ใส่

เย็นนั้น ตอนดูข่าว ผมเห็นคนทำแบบนี้กับที่อื่นอีก นั่นคือการปาไข่และฉายเลเซอร์ในเป้าหมายที่มีความเชื่อทางการเมืองคนละแบบ

นี่เป็นความรุนแรงไหม – หลายคนอาจตั้งคำถาม

“ผมไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงแบบนี้” ครูที่อยู่ในขบวนประท้วงช่วงเช้าบอก “ตอนปิดสนามบินผมก็ไม่เห็นด้วย เรามีสิทธิเล่าเรื่องของเราให้คนอื่นฟัง เรามีสิทธิขอร้องให้พวกเขาช่วย แต่เราไม่มีสิทธิไปปิดสนามบิน บังคับพวกเขาไม่ให้ขึ้นบิน ไม่ให้บอร์ดดิ้ง นั่นคือเรื่องที่ผมยอมรับไม่ได้”

เปลือกไข่ที่บอบบางแตกเละอยู่บนทางเท้า ฝนไม่แรงพอจะไหลมาชะมันไป เปลือกไข่จึงถูกทิ้งอยู่ตรงนั้นให้เราเห็น รอให้เกิดการเก็บกวาดทำความสะอาด – ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่

การประท้วงในฮ่องกงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เต็มไปด้วยความซับซ้อน และมีรากลึกย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์

ทุกอย่างคือการต่อสู้ต่อรองทางอำนาจ เมื่ออังกฤษแข็งแกร่ง อังกฤษจะบังคับให้จีนทำอะไรก็ได้ ชั้นแต่ลงนามให้ยกดินแดนให้ก็ยังทำได้ แต่เมื่อจีนเริ่มแข็งแกร่งมากขึ้น จีนก็โต้กลับในจังหวะที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้อังกฤษต้องยอมคืนเกาะฮ่องกงและดินแดนข้างเคียงกลับไปสู่จีน พร้อมคำมั่นสัญญาเรื่องหนึ่งประเทศสองระบบ

แต่แล้วจีนก็ยิ่งใหญ่ขึ้น แข็งแกร่งขึ้น สำหรับจีนแล้ว ฮ่องกงมีความหมายทางเศรษฐกิจลดน้อยลงเรื่อยๆ ความแข็งแกร่งของเมืองใหญ่อื่นๆ ในจีนทำให้ฮ่องกงไม่ใช่เมืองเดียวที่เป็นสุดยอดในทางเศรษฐกิจอีกต่อไป

ฮ่องกงไม่ใช่จีน

แต่นั่นอาจเป็นเพียงความเห็นของคนฮ่องกงเท่านั้น – ไม่ใช่ความเห็นของจีน

“ผมเชื่อว่า เดือนหน้า เมื่อเปิดเทอม เด็กมัธยมจะออกมา” ครูผู้ประท้วงบอก “พวกเขาจะไม่ทำอะไร เป็นไปได้ว่า ในหนึ่งสัปดาห์ จะมีอยู่หนึ่งวันที่พวกเขาจะไม่ทำอะไร ไม่เรียน และครูก็จะไม่สอน”

เราไม่รู้แน่ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก เราไม่รู้แน่ ว่าข่าวการระดมกองกำลังของจีนที่เสิ่นเจิ้นเป็นอย่างไร และเป็นไปเพื่ออะไร และเราย่อมไม่รู้แน่ – ว่าสุดท้ายแล้วฮ่องกงจะเป็นอย่างไรต่อไป

“แต่เราจะไม่สิ้นหวัง” ครูคนนั้นบอกผม “เราสิ้นหวังไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม

“คุณก็ด้วยนะ” เขายิ้ม – ก่อนเดินจากไปในความอบอ้าวของสายวันนั้น

ผมเริ่มเข้าใจแล้ว – อะไรทำให้พวกเขา ‘สตรอง’ กันเหลือเกิน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ