fbpx

สมชาย อัศวปิยานนท์: ความมั่นคงทางอาหาร กับธุรกิจ ‘แช่เย็นพร้อมทาน’ ของเครือ NSL

เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ในชีวิตประจำวันนั้น เรื่องของ ‘อาหาร’ คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในทุกสภาวะ ไม่ว่าสภาพสังคมหรือเศรษฐกิจจะดำเนินไปอย่างไร แต่ความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคก็ยังคงเป็นธุรกิจที่ไม่มีทางที่จะซบเซา ตราบเท่าที่เรายังต้องใช้ชีวิตอยู่ และในสังคมที่เร่งรีบ ทุกอย่างต้องรวดเร็ว เสร็จได้ในเวลาจำกัด ‘อาหารแช่เย็น’ ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ทวีบทบาทสำคัญขึ้นไม่น้อย

ซึ่ง GM Magazine ได้รับเกียรติจาก คุณสมชาย อัศวปิยานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NSL Foods ผู้คร่ำหวอดในแวดวงอาหารแช่เย็นพร้อมทาน โดยเฉพาะหมวด ‘เบเกอรี’ มายาวนานกว่าสองทศวรรษ ถึงภาพรวมของธุรกิจ ทิศทางของบริษัทที่จะดำเนินไป รวมถึงเป้าหมายของบริษัทที่พร้อมจะสนับสนุนให้ความมั่นคงทางอาหารนั้น ยั่งยืนและเติบโตอย่างมั่นคงสืบไป

GM Magazine: ในส่วนของ NSL เปิดมาประมาณกี่ปีแล้ว

ถ้าทำในส่วนของเบเกอรี ก็เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 มาจนถึงวันนี้ ก็จะครบ 18 ปี ในวันที่ 27 มีนาคม ในช่วงแรกเราเป็นบริษัท Dough-Maker แล้วค่อยมาเป็น NSL ในปี พ.ศ. 2549 ครับ

GM Magazine: ทำไมถึงเลือกที่จะมาจับตลาดอาหารเบเกอรีกึ่งสำเร็จรูปแช่แข็ง?

สมชาย: ก่อนหน้านั้น เราทำอาหารแบบกึ่งสำเร็จรูป แบบอุ่นร้อนพร้อมทาน ที่ส่งให้กับร้าน 7-11 ในปัจจุบัน ตอนนั้นก็มองว่า ธุรกิจเบเกอรีนั้นมีความน่าสนใจ เพราะเปรียบเทียบกับอาหารแช่แข็งแล้ว เบเกอรีหรือขนมเป็นอาหารที่คนส่วนใหญ่ทั่วไปรู้จักกันอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับอาหารแช่แข็งซึ่งถือว่าเป็นของใหม่ และตลาดที่โตขึ้นทุกปี มี Market Size ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เลยตัดสินใจกระโดดเข้ามาทำในส่วนนี้เต็มตัว

GM Magazine: ในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้ประกอบการรายอื่นที่อยู่ในตลาดก่อนหน้านั้นหรือเปล่า?

สมชาย: ธุรกิจขนมและเบเกอรีนั้นค่อนข้างจะเป็นตลาดที่กว้างครับ ต้องมาดูกันว่าเป็นอาหารชนิดเบเกอรีกลุ่มไหน ซึ่งในเวลานั้น ก็จะมีผู้เล่นในตลาดค่อนข้างเยอะ (ในที่นี่หมายถึงเบเกอรีแช่แข็ง มีผู้เล่นในตลาดอยู่บ้างหรือไม่ในเวลานั้น?) ตอนนั้น เรา NSL เข้ามาจับตลาดในกลุ่มเบเกอรีแช่เย็น ซึ่งคู่แข่งในตลาดยังมีไม่มาก เพราะส่วนมากยังเป็นเบเกอรีในแบบปกติ ระยะเวลาในการเก็บรักษาแค่เพียง 7 วันสูงสุดไม่เกินนี้ ดังนั้น คนที่กระโดดเข้ามาในกลุ่มนี้อาจจะไม่มาก โดยเฉพาะกลุ่มแช่เย็น เพราะมีขั้นตอนในการบำรุงรักษาสินค้าที่ค่อนข้างเยอะและยุ่งยาก และนั่นเป็นจุดที่เราได้มองว่า เราสามารถเข้าไปเสริมในส่วนที่ขาดตรงนี้ได้

GM Magazine: แล้วในตอนนั้น วิธีการและกระบวนการในการทำเบเกอรีแช่เย็น ได้มาจากทางไหนบ้าง?

สมชาย: เราผสมผสาน Know-How จากหลายแหล่งครับ ทั้งจากตอนที่ทำอาหารกล่องแช่แข็ง ซึ่งพื้นฐานของการดูแลและการเก็บรักษาก็จะไม่ต่างกัน (แล้วจุดต่างระหว่างกระบวนการเก็บรักษาอาหารแช่แข็ง กับเบเกอรีแช่แข็ง ในเชิงเทคนิค?) จริงๆ ไม่ได้ต่างกันมากนะครับ ทั้งการรักษาสินค้าไม่ให้มีการปนเปื้อน รักษาความสะอาดสินค้า เพียงแต่ผู้เล่นในตลาดตอนนั้นยังเห็นน้อยมาก ยังเป็นเบเกอรีอุณหภูมิปกติ เพียงแต่ว่าคนที่ไม่เคยผ่านธุรกิจอาหารแช่แข็ง อาจจะไม่คุ้นเคย ด้วยกระบวนการต่างๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ว่าจะตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บรักษา การดูแลความสะอาด การจัดส่ง และการควบคุมอุณหภูมิ

GM Magazine: แล้วในแง่การตลาด เบเกอรีเป็นสินค้าที่มีอายุบนชั้นวางค่อนข้างจำกัดแม้จะเป็นแบบแช่เย็น อะไรที่ทำให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดสินค้าตกค้าง และมีการหมุนเวียนและสามารถทำกำไรได้?

สมชาย: ณ เวลานั้น ถ้าเป็นเบเกอรีแช่เย็น มันมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ เป็นอาหารที่สามารถ ‘ทานทั้งที่เย็นๆ’ ได้ คือไม่ต้องอุ่นร้อนก็ทานได้ แต่ถ้าอุ่นให้ร้อน มันจะสด ขนมปังด้านนอกกรอบ มีชีสที่สด เหมือนทำใหม่ๆ ซึ่งเป็นของใหม่มากๆ ในตลาด ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยการที่สามารถทานได้ทั้งสองแบบ ทั้งทานทันที หรืออุ่นแล้วอร่อยเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่าอายุบนชั้นวางจำเท่าเดิมคือประมาณ 7 วัน แต่การมีข้อดีดังกล่าว ก็ทำให้เป็นข้อได้เปรียบทางการตลาดของสินค้าไปในตัวด้วย

GM Magazine: จากประสบการณ์เกือบสองทศวรรษ ทิศทางของเบเกอรีแช่เย็นและกึ่งแช่เย็น มีทิศทางการเติบโตเป็นไปในลักษณะใด?

สมชาย: ที่ผ่านมา ประมาณสิบปีสำหรับสินค้าอุ่นร้อนหมวดเบเกอรีก็ยังเติบโตขึ้นอยู่ในทุกๆ ปีนะครับ อาจจะด้วยสินค้าตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน ที่สามารถทานตอนไหน แบบใดก็ได้ ซึ่งนั่นทำให้ตลาดภาพรวมโตขึ้นในทุกๆ ปี แต่เราก็ต้องมองด้วยว่า แต่ละชนิดสินค้า ต่างมีช่วงเวลาของมัน เราก็ต่อยอดแปลกใหม่ในทุกๆ ปี เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งจะพิจารณาว่าเทรนด์ในอนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไร จะตอบสนองความต้องการจะเป็นแบบไหน

GM Magazine: พอจะบอกได้ไหมว่า ‘เทรนด์ในอนาคต’ ของตลาดเบเกอรีแช่เย็นนั้น จะเป็นไปในทิศทางใด?

สมชาย: ส่วนหนึ่งก็คือหาความแปลกใหม่ด้วย อีกหนึ่งก็คือการทำให้สินค้ามีความสด ทานแล้วอร่อย รวมถึงอุปกรณ์ในการทำให้ร้อนที่อาจจะแตกต่างออกไปจากเดิม มีคุณสมบัติที่ทำให้เนื้อสินค้ามีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจ ผมมองว่าเป็นรายละเอียดที่ไม่ได้พลิกโฉมไปแบบกลับหัวกลับหาง แต่มาช่วยเสริมสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ต่อยอดได้มากยิ่งขึ้น

GM Magazine: นอกเหนือจาก 7-11 แล้ว ได้ไปวางสินค้าของ NSL ที่อื่นด้วยหรือไม่?

สมชาย: ครับ ในส่วนสินค้าเบเกอรีนั้นค่อนข้างจะกว้าง ในส่วนที่เราทำร่วมกับ 7-11 ก็จะเน้นหนักไปที่เบเกอรีแช่เย็นมากหน่อย แต่กับ Chain Store อื่นๆ เราก็ทำในส่วนของเบเกอรีทั่วไปอย่างขนมปังโฮลวีตแถวที่วางขายในเครือเซ็นทรัลและแฟมิลีมาร์ท รวมถึงกลุ่มอาหารวางหรือ Snack ที่วางขายทั่วไป

GM Magazine: แล้วกลุ่มตลาดของ NSL เน้น Segment ของกลุ่มตลาดส่วนไหนเป็นพิเศษ?

สมชาย: ที่ผ่านมา เราเน้นในกลุ่มตลาดวัยทำงานเป็นส่วนมากครับ ไม่ได้ไต่ไปถึงระดับ High-End มากนัก แต่เราก็ขยับขึ้นไปบ้าง ด้วยการใส่สินค้าบางชนิดให้ตรงกับกลุ่มตลาดนั้นๆ เช่น ตลาดสุขภาพ เราก็มีแบรนด์ Naturalbites แล้วก็มีขนมที่ทำจากพริกกรอบที่เป็นกับแกล้มแอลกอฮอล์ เราก็แตกไลน์ให้ตรงกับกลุ่มอื่นๆ ครับ

GM Magazine: แล้ว NSL ได้ขยับไปกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากเบเกอรีบ้างหรือไม่?

สมชาย: เราขยับไปในส่วนของ Food Service ในปี พ.ศ. 2562 แล้วก็มีแผนกที่นำอาหารทะเลต่างๆ เข้าสู่ตลาด Restaurant Chain ตามโรงแรม และพัฒนาอาหารแช่แข็งสำเร็จรูปที่ส่งตามร้านอาหาร Chain ต่างๆ เช่น ทำซอสคาโบนาร่า ทำซอสหมู ซอสเนื้อ ที่เป็นแช่แข็ง ส่งเข้าหลังร้าน เพื่อใช้ประกอบอาหารได้ เราก็แตกออกไปอีกหนึ่งกลุ่ม

GM Magazine: ในรอบปีที่ผ่านมา เราอยู่กับวิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบกับธุรกิจของ NSL ในหมวดต่างๆ มากน้อยแค่ไหน?

สมชาย: ก็พอมีบ้างครับ มีบางช่วงที่กำลังซื้อลดลง แต่ก็กระทบไม่ได้มาก แต่มันก็ทำให้เราได้มองถึงอนาคตไปพร้อมกัน ว่าจะต้องมีสินค้าที่จะต้องแตกไลน์ไปในหมวดต่างๆ มากขึ้น อย่างเช่น การทำอาหาร Ready to Eat ในแบบแช่แข็ง และแบบอุณหภูมิปกติ เช่น กะเพราที่สามารถทานได้เลยเมื่อฉีกซองโดยไม่ต้องแช่เย็น ซึ่งเป็นกลุ่มที่กว้างมาก และเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าสินค้าหมวดนี้จะขายดีมากในช่วงที่ผ่านมา และมีขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้นในทุกๆ ปี

GM Magazine: มีแผนที่จะขยับไปสู่ระดับ High-End หรือ Luxury Market บ้างหรือไม่?

สมชาย: ถ้าเป็นหมวดอาหารแช่เย็น คิดว่าอาจจะไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น แต่ถ้าเป็นอาหารแบบ Ready Meal นั้น พอจะมีความเป็นไปได้ นั่นเพราะในอนาคต ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีกำลังซื้อมากขึ้น ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น นี่คือกลุ่ม High-End ที่เรากำลังพัฒนาสินค้าเพื่อกลุ่มนี้

GM Magazine: ทิศทางของ NSL ที่จะย่างก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สอง จะเป็นไปในรูปแบบใด

สมชาย: เราใช้แนวคิด Nutrition Sustainable for Life หรือนวัตกรรมอาหารในทุกกลุ่มที่มีโอกาส เพื่อเพิ่มช่องทางของกลุ่มลูกค้า ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงกลุ่มเบเกอรี เพราะเราได้เข้าไปสู่ในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ทีนี้ เราจะมองในส่วนของอาหารพร้อมทาน ดังนั้น มันจะต้องแตกไลน์ไป เพราะคนต้องบริโภคอาหาร ซึ่งต้องมาดูกันว่า เราจะไปในทิศทางไหน และจะสร้างนวัตกรรมเพื่อกลุ่มนั้นอย่างไร เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แค่ตลาดอาหารและ NSL ครับ

GM Magazine: พอพูดถึงอาหาร ‘ในเครือโรงแรม’ กับอาหารแช่แข็ง มันค่อนข้างจะขัดแย้งกันพอสมควร?

สมชาย: จริงๆ ถ้าศึกษากันลงลึก เราไม่ได้ไปแค่ Chain โรงแรม แต่รวมถึง Chain ร้านอาหาร ที่จะทำอย่างไร ให้คุณภาพของอาหารในแต่ละสาขาเท่ากัน ซึ่งถ้าไม่ได้มีครัวกลาง การจะรักษามาตรฐานโดยการพึ่งเชฟนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ซึ่งเอาเข้าจริง ตลาดในแบบกึ่งสำเร็จสำหรับ Chain ร้านอาหารนั้นก็มีมาอยู่แล้ว เพียงแต่มันจะอยู่หลังฉาก ไม่ได้ออกมาให้เห็น ดังนั้น กลไกในการเตรียมความพร้อม มันจะมีเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งในเครือโรงแรมเอง ก็ใช้กลวิธีนี้ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ในกระบวนการทั้งหมด อาจจะเป็นเพียงแค่บางส่วนที่ทำให้เชฟทำงานง่ายขึ้น ควบคุมต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น

GM Magazine: ได้ยินมาว่าทาง NSL จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจผันผวนสูงเช่นนี้ อะไรเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจเช่นนั้น?

สมชาย: อันที่จริง เรื่องการเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น เราวางแผนกันมานานมากแล้วล่ะครับ น่าจะเป็นช่วงปี พ.ศ. 2560 เลย และใช้เวลาเตรียมการอย่างจริงจัง รวมถึงได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งน่าจะเริ่มเข้าสู่ตลาดได้ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

และถ้าถามว่าทำไมถึงตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในจุดนี้ ผมมองว่า ธุรกิจอาหาร ไม่ใช่ธุรกิจที่ขึ้นสูงลงต่ำสวิงแบบสุดเหวี่ยง มันอาจจะมีความผันผวนบ้าง แต่มันก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกธุรกิจ อย่างไรเสีย ธุรกิจอาหารก็เป็นธุรกิจที่ดำเนินต่อไปได้ เพราะคนต้องบริโภคเป็นปกติ และเป้าหมายที่ต้องการความยั่งยืนของ NSL ซึ่งจะมีหลายกลุ่มตลาดที่เรากำลังจะไป แล้วตลาดมันโตขึ้น การได้ทุนมาเสริมเพื่อขยายในจุดนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยได้ อันที่จริง ตอนแรก เราไม่ได้คิดว่าจะเจอวิกฤติ COVID-19 หนักหน่วงขนาดนี้ แต่พอเจอกับมัน เราก็ปรับตัวอะไรหลายๆ อย่าง

GM Magazine: ในกรณีของ NSL คาดหวังสิ่งใดจากการระดมทุนด้วยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้?

สมชาย: เบื้องต้นคือความยั่งยืนเป็นอย่างแรก เพราะการจะหามืออาชีพเข้ามาเสริมทีมบริหารงาน ออกจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก และการเตรียมบริษัทให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น จะทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพ ทำให้ได้เห็นจุดเด่น ข้อด้อย ส่วนที่ต้องปรับปรุงของภาพรวมการทำงาน ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็น่าจะช่วยในเรื่องของทุนที่จะเข้ามาเสริมสำหรับบุคลากร และพัฒนาระบบต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น

GM Magazine: มีแผนที่จะขยายฐานการผลิตไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคบ้างหรือไม่?

สมชาย: ไม่ครับ เรายังไม่ได้มองในจุดนี้ เรายังเน้นฐานการผลิตภายในประเทศอยู่ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการส่งออกสินค้าไปยังประเทศรอบๆ ในภูมิภาคมีส่งออกบ้าง เพราะเรามองว่าความสามารถของคนทำงานในบ้านเราหาได้ง่ายกว่า รวมไปถึงวัตถุดิบหลายๆ ชนิดก็ไม่ได้เป็นรอง ค่าแรงอาจจะสูงบ้าง แต่ในรายละเอียดเรื่องวัฒนธรรม กฎหมาย ความคุ้นเคย NSL อาจจะปรับตัวกับประเทศเพื่อนบ้านลำบากมากกว่า และเรามองว่า ถ้าอะไรที่เราไม่ชำนาญ เราไม่เสี่ยงในจุดนี้จะดีที่สุด

GM Magazine: คำถามสุดท้าย อยู่กับผลิตภัณฑ์กับเบเกอรีมาไม่น้อย อะไรเป็นของโปรด?

สมชาย: แซนด์วิชแฮมชีสครับ ต้องแบบอุ่นร้อน กรอบๆ มีชีสละลายข้างใน จะอร่อยมาก เมื่อก่อนจะชอบมากเลย แต่ตอนนี้ พออายุมากขึ้น ก็เบาลงครับ ทานชีสเยอะมากไปก็ไม่ค่อยจะดี แต่ก็ยังกินเป็นพักๆ อยู่นะ (หัวเราะ)

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ