fbpx

Nostalgic Effects: เพราะวันวานในความทรงจำ ยังหวานล้ำตลอดกาล…

ในห้วงเวลาและการใช้ชีวิตที่ผันผ่านไปในแต่ละวัน การงานที่วุ่นวาย คนรอบตัวที่ยุ่งยาก เหตุปัจจัยที่ไม่เป็นไปตามที่หวัง รวมถึงปัญหามากมายสารพันที่สุมทับกันเข้ามาให้ใช้สมองและเวลาในการแก้ไขจนราวกับไม่รู้จบสิ้น เพียงชั่วขณะที่ความยุ่งเหยิงต่างๆ หลบหายไป แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่เชื่อว่ามีไม่น้อย ที่จะคิดถึง ‘วันเก่าๆ’ ช่วงเวลาดีๆ ที่ทุกอย่างเรียบง่าย เป็นไปอย่างใจ และ … มีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ในปัจจุบัน

จะมีอะไรที่มีความสุข เท่ากับความทรงจำที่ดี เรื่องราวในอดีตที่สมหวัง การอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา และชีวิตที่ความรับผิดชอบกับปัญหา ยังดูเป็นเรื่องที่ห่างไกลจนแทบไม่ต้องห่วงกังวล

แต่อย่างที่เราทราบกันดี ว่าเวลาไม่สามารถย้อนถอยหลังกลับไปได้ ความคาดหวังใดๆ ที่จะกลับไปสู่ช่วงเวลาในอดีต ก็เป็นเพียงความ ‘ปรารถนา’ ที่ซุกซ่อนอยู่ข้างใน ที่พอจะทำให้นึกระลึกขึ้นมาได้ เป็นครั้งคราว

…. หรือไม่ก็อาจจะถูกแปลงสภาพให้กลายเป็น ‘สินค้า’ ที่ซื้อหาได้ โดยไม่เกี่ยวว่าจะเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ ตราบเท่าที่หัวใจเรียกร้อง?

ความโหยหาช่วงเวลาในอดีตอันแสนสุข และการระลึกภาพจำช่วงเวลาแห่งวันวาน ที่ถูกเรียกขานกันว่า ‘นอสทัลเจีย (Nostalgia)’ นั้น คือสภาพทางจิตใจที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเป็นกระบวนการกับกลไกป้องกันตนเอง เพื่อหลีกหนีจากความเจ็บปวดจากสภาวะเหนื่อยยากทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นในเวลาปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม กลวิธานแห่งการป้องกันตนเอง ก็กลายมาเป็นสิ่งที่นักการตลาด และบริษัทผลิตภัณฑ์ ได้หยิบจับมาใช้เป็นเครื่องมือและกลยุทธ์ ภายใต้สภาวะ ‘Nostalgic Effect’ เพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคให้เกินกว่าขอบเขตของข้อจำกัดในสิ่งที่จำเป็น

แล้วสถานการณ์แบบใดที่บ่งบอกว่า Nostalgic Effect เริ่มต้นการทำงาน? ถ้าลองสังเกตความต้องการของตนเองที่มีต่อสินค้าหรือโฆษณาชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แล้วเกิดความรู้สึกระลึกถึงวันเวลาเก่าๆ ที่มีความสุข กระตุ้นภาพจำที่ดี การย้อนกลับไปสู่ขวบปีที่ความรับผิดชอบและปัญหาต่างๆ เป็นเพียงเรื่องรอง โดยไม่ได้สัมพันธ์ว่าสินค้านั้นๆ คือสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันทางด้านอุปโภคบริโภค นั่นเอง ที่กระบวนการที่ว่า ได้เริ่มทำงานในสมองของผู้รับสาร

และมักจะมีปลายทางอยู่ที่การจับจ่ายใช้สอย โดยข้ามกระบวนการและขั้นตอนของการพิจารณาด้านความจำเป็นใดๆ โดยสิ้นเชิง…

มีการทดลองผลของ Nostalgic Effect ที่มีต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่หลายชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่ ให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกันว่า เมื่อกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในสมองของมนุษย์ ความสามารถและวิจารณญาณในการใช้จ่าย จะถูกลดประสิทธิภาพลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน

อันที่จริง การระลึกถึงช่วงเวลาที่ดีในอดีต ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในฝั่งของผู้บริโภค หรือจะถูกใช้ในฝั่งของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้า มันคือการตอบสนองต่อสิ่งที่เบื้องลึกในหัวใจปรารถนาและต้องการ สุขสมหวังทั้งสองฝ่าย ฝ่ายจำหน่ายก็ได้กำไร ฝ่ายซื้อไปก็สุขใจกับช่วงเวลาเล็กๆ ที่ได้ย้อนกลับไปสู่อดีตที่น่าคิดถึงเหล่านั้น

กระนั้นแล้ว คงจะเช่นเดียวกับที่ต่างประเทศกล่าวเอาไว้ว่า ‘Removed the Rose-Tinted Glasses’ หรือ ‘ถอดแว่นเลนส์สีกุหลาบออก’ อันหมายถึง ลดฟิลเตอร์ทางความรู้สึกลง แล้วมองโลกในแง่ที่เป็นจริงมากขึ้น ทุกช่วงเวลา ต่างมีทั้งสุขและทุกข์ มีทั้งผิดหวังและสมหวัง และหลายครั้ง ความทรงจำ ที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ที่สุด ก็กลับเป็นสิ่งที่ถูกบิดเบือนและมีอคติทางการ ‘เลือก’ ที่จะจดจำได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การย้อนกลับไปสู่อดีตไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ถ้ามันถูกใช้ เพื่อหวังผลประโยชน์ในการดึงเงินออกจากกระเป๋าโดยไม่จำเป็นแล้ว อดีต ก็อาจจะทำให้สภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เกิดปัญหาได้ หากไม่เฝ้าระวัง ‘เลนส์สีกุหลาบ’ ที่ว่า ด้วยสติที่กำกับอย่างแน่นหนา

เพราะสมองจดจำช่วงเวลาดีๆ ของอดีตอย่างไม่เคยลืม คงอยู่ ประทับไว้ในใจตลอดกาล ….

แต่เรื่องที่เหนื่อยยากที่ผันผ่าน มันกลับเป็นเพียงเศษเสี้ยวที่ถูกมองข้าม และจะกลับมาหลอกหลอน ถ้าหากไม่เผชิญหน้า และเรียนรู้จากมันมากเพียงพอ…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ