fbpx

Non Fungible Token (NFT): ประทับ ‘ตรา’ แบบ ‘ดิจิตอล’ และทิศทางของโลกลิขสิทธิ์ยุคใหม่

ในโลกแห่งการเงินดิจิตอลหรือ Cryptocurrency ที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ไม่รวมศูนย์ (Decentralized) นั้น สร้างโอกาสและความเป็นไปได้อันมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อิสรภาพทางการเงิน การลงทุนแนวใหม่ ไปจนถึง ‘การค้าขาย’ ที่ได้อานิสงส์จากการเข้ามาของการเงินสายใหม่ดังกล่าวนี้

เช่นเดียวกับ ‘ลิขสิทธิ์’ ของสินทรัพย์ทางปัญญาและงานสร้างสรรค์ ที่เคยเป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติและกฎหมาย จนถึงการพาณิช ก็ได้รับประโยชน์จากแนวทางของ Decentralized Finance หรือ DeFi แต่ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เพราะมันไม่ได้เป็นเพียงแค่การซื้อขายด้วยหน่วยสกุลเงินดิจิตอล หากแต่เป็นการ ‘แปลงตัวมันเอง’ เป็น ‘สินทรัพย์ทางดิจิตอล’ ที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ลอกเลียนแบบไม่ได้ ทำซ้ำไม่ได้ มีเพียง ‘หนึ่งเดียวในโลก’ และนั่นคือที่มาของ ‘Non Fungible Tokens (NFT)’

อะไรคือ Non Fungible Token (NFT)

Non Fungible Token (NFT) คือ ‘สินทรัพย์ทางดิจิตอล’ ที่เจ้าของสินทรัพย์ ได้ทำการแสดงความเป็นเจ้าของ ด้วยการแปลงสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินทางปัญญา ให้กลายเป็นหนึ่งหน่วยใน Blockchain ที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่สามารถมีอะไรมาแทนที่หรือ ‘ทำซ้ำ’ ได้

เช่นนั้นแล้ว NFT แตกต่างจากหน่วยเงิน Cryptocurrency อื่นๆ อย่างไร? ถ้าอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ คือ หากนาย A ทำการขอกู้ยืมเงินนาย B เป็นจำนวน 1 Bitcoin ถ้วน มีการลงลายลักษณ์อักษรทางกฎหมายชัดเจน เมื่อถึงเวลาใช้คืน นาย A สามารถหา Bitcoin จากแหล่งใดก็ได้มาชำระหนี้ (ซึ่งอาจจะรวมอัตราดอกเบี้ย) เพราะ Bitcoin นั้นเป็น ‘หน่วยเงิน’ ที่ไม่มีความต่าง เหมือนเวลาการยืมเงินทั่วไป

แต่ NFT มีรูปแบบที่ต่างกัน ถ้ามีผู้สร้างภาพวาด หรืองานศิลปะ แล้วทำการแปลงหรือ ‘ลงลายเซ็น’ แบบดิจิตอล งานชิ้นนั้นถือว่าเป็น ‘ชิ้นเดียวในโลก’ และเป็นสินทรัพย์เฉพาะ ไม่สามารถปลอมแปลง คัดลอก หรือหาจากที่ใดได้อีกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของผลงาน และหลักฐานความเป็นเจ้าของ จะคงอยู่อย่างแน่นหนาติดทน บนเครือข่ายแห่ง Blockchain ที่ไม่รวมศูนย์ และแน่นอน สินทรัพย์ดิจิตอลชิ้นนี้ คือ ‘หนึ่งหน่วย’ ไม่สามารถแบ่งซื้อได้เหมือน Cryptocurrency อื่นๆ ได้ทั่วไป

NFT กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีแบบ Decentralized และความแพร่หลายของการใช้งานหน่วยเงิน Cryptocurrency ทำให้เหล่านักสร้างสรรค์ ได้มอง NFT เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ในการสร้างมูลค่าให้กับผลงานของตนเอง และมีอยู่ไม่น้อย ที่สามารถไปได้สวยกับการมาถึงของแนวทางดังกล่าว เช่น Mike Winkenmann หรือชื่อในแวดวง ‘Beeple’ ที่ใช้เวลา 13 ปี สร้างสรรค์ผลงาน ก่อนจะรวบรวมและแปลงเป็น NFT ในชื่อ ‘Everydays: The First 5000 Days’ ที่ถูกประมูลไปด้วยมูลค่าสูงถึง 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจัดว่าเป็นผลงาน NFT ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

หรือแม้แต่ภาพที่เคยเป็น ‘Meme’ อย่าง ‘Diaster Girl’ ที่เป็นเด็กหญิงยิ้มกริ่มหน้าบ้านที่ถูกไฟไหม้ ของ Zoe Roth ที่ตอนนี้ เป็นนักศึกษาในวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ก็ได้ถูกแปลงมาเป็น NFT และประมูลขายไปที่ 495,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจ่ายหนี้การศึกษา และบริจาคเพื่อการกุศล เป็นต้น

อีกทั้ง NFT ยังก้าวเข้ามาในโลกแห่งวิดีโอเกม เพราะชิ้นงานเกมต่างๆ ที่บรรดา ‘ไอเทม’ หายาก ได้ถูกแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิตอล ได้สร้างมูลค่าและการหมุนเวียนของเม็ดเงินจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และก่อให้เกิดแนวทางแบบ ‘Play to Earn (P2E)’ อย่างมากในปัจจุบัน

วูบไหว ไม่คงที่ ในโลก NFT ที่ ‘มูลค่า’ สั่นคลอน

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ NFT หรือสินทรัพย์ทางดิจิตอลแบบหนึ่งเดียวนั้น เป็นสิ่งที่ใหม่มากแม้แต่ในโลกแห่ง DeFi ทำให้มีข้อถกเถียงกันว่า มัน ‘คุ้มค่า’ แค่ไหน กับทั้งผู้สร้างสรรค์ และสำหรับผู้ลงทุน เพราะในฝั่งผู้สร้างสรรค์ผลงาน แม้ว่าการแปลงสินทรัพย์เป็น NFT จะทำให้งานนั้นๆ ‘เป็นเพียงหนึ่งเดียว’ ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้

แต่นั่นเป็นการกำกับ ‘ลักษณะเฉพาะ’ ไม่ใช่การ ‘ประกันราคา’ มูลค่าของผลงาน ขึ้นกับการให้คุณค่าจากฝั่งผู้ซื้อเป็นสำคัญ และท่ามกลางผู้สร้างสรรค์ที่กระโดดลงสู่สนาม NFT การแข่งขันก็ยิ่งสูงขึ้น ผู้ซื้อเท่าเดิม ผู้สร้างมากขึ้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถอยู่รอดและเติบโตได้จากตลาดดังกล่าว

และไม่ทุกคนที่รู้สึกตื่นเต้นหรือยินดีกับการมาถึงของ NFT เพราะมีศิลปินและนักสร้างสรรค์จำนวนไม่น้อย ที่มองว่าแนวคิดดังกล่าว ทำให้การสร้างผลงาน มุ่งเน้นแต่เป้าหมายเพื่อการค้าขาย และผลิตผลที่ออกมา กลายเป็นสิ่งที่เกือบจะไม่มีคุณค่าในเชิงศิลป์ และที่ร้ายแรงไปกว่านั้นคือ ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับ NFT ที่ผลงาน กลับไม่ได้ถูกใส่ไว้ใน Blockchain แต่เป็นเพียงข้อมูลบนเว็บไซต์ ที่สามารถสูญหายและหมดมูลค่าได้ จนกลายเป็นที่มาของ ‘NFT Bay’ เว็บไซต์บิตทอร์เรนท์ของ Geoffrey Huntley ที่ปล่อยภาพ NFT ที่อยู่บนเครือข่าย Blockchain ของ Ethereum และ Solana ขนาดกว่า 20 เทราไบต์ เพื่อย้ำเตือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ยังไม่มีความปลอดภัย และเป็นปรากฏการณ์วูบไหวที่ต้องพึงระวัง

ในฝั่งของผู้ลงทุน NFT ไม่ต่างอะไรกับการ ‘เก็งกำไร’ นั่นเพราะสินทรัพย์ชิ้นหนึ่ง ที่เคยมีมูลค่าสูง อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่เหลือมูลค่า และเป็น ‘ทุนจม’ ที่สลัดไม่ไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือเกมที่เอาระบบ NFT เข้ามาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของระบบ มีหลายเกมที่เปิดตัว และมียอดเงินหมุนเวียนสะพัดเป็นหลักล้าน ไอเทมชนิดพิเศษ อาจจะมีราคาสูงในระดับที่แลกมาด้วยสินทรัพย์ ‘จริงๆ’ อย่างอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์

และก็เป็นเกมเหล่านี้ (และตลาด NFT บางส่วน) อีกเช่นกัน ที่มีโอกาสที่ ‘เจ้าจะล้มโต๊ะ’ หรือในภาษานักลงทุน DeFi เรียกกันว่า ‘Rug Pull’ ที่ผู้ระดมทุน ผู้เปิดให้บริการเกม หรือผู้สร้างผลงาน จะปิดตัว หนีหายไปพร้อมกับเงินจำนวนมหาศาล มันจึงมีความเสี่ยงที่ NFT จะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับ Money Game ซึ่งในทางกฎหมาย อาจจะยังไม่ครอบคลุม และไม่รวดเร็วพอที่จะดำเนินการกับสิ่งเหล่านี้  

โอกาสและความเป็นไปได้ บนก้าวต่อไปของ NFT

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โลกแห่งการเงินสายดิจิตอลหรือ Decentralized Finance หรือ DeFi ก็ยังเปิดกว้าง และ Non Fungible Token ก็คือผลิตผลจากการมาถึงของเทคโนโลยีที่ความเป็นไปได้ยังมีอยู่อย่างไม่สิ้นสุด สิ่งที่อาจจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างมากในเวลาถัดจากนี้ คงจะเป็นการทำอย่างไร ที่จะให้กระบวนการซื้อขาย ทำสัญญา และช่องทางเครือข่าย Decentralized ที่มีความโปร่งใส และมีค่าดำเนินการที่เข้าถึงได้สำหรับผู้สร้างสรรค์ทุกคน

ส่วนเรื่องมูลค่า ก็คงต้องใช้คำกล่าวที่ว่า ให้ผลงานมันสำแดงคุณค่าด้วยตัวของมัน อันเป็นวจนะของงานสร้างสรรค์ เป็นตัวหมุนเวียนให้เกิดตลาดพาณิช ที่จะวัดกันด้วยฝีมือ โดยไม่มีปัจจัยอื่นใดมาแทรกแซง ซึ่งนั่นคงจะเป็นแวดล้อมที่อุดมคติโดยแท้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ