fbpx

จบนะดราม่า! นาโอมิ โอซากะ กับ ชัยชนะที่มีค่ามากกว่าการคว้าแชมป์

อะไรคือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ นาโอมิ โอซากะ ก้าวข้ามผ่านชัยชนะสุดอัปยศเหนือ เซเรนา วิลเลียมส์ เทนนิสไอดอลของเธอในรอบชิง US Open ปี 2018 ที่สร้างตราบาปในใจเด็กสาววัยเพียง 20 ผู้นี้ได้

Reasons to Read

  • เพราะอะไรที่เราต้องปรบมือดังๆ ให้ นาโอมิ โอซากะ เจ้าของแชมป์เทนนิสหญิงเดี่ยว ออสเตรเลียน โอเพ่น 2019 ที่พ่วงด้วยตำแหน่งนักเทนนิสหญิงอันดับ 1 ของโลกคนล่าสุด
  • อะไรคือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ นาโอมิ โอซากะ ก้าวข้ามผ่านชัยชนะสุดอัปยศเหนือ เซเรนา วิลเลียมส์ เทนนิสไอดอลของเธอในรอบชิง US Open ปี 2018 ที่สร้างตราบาปในใจเด็กสาววัยเพียง 20 ผู้นี้ได้
  • แรงบันดาลใจแห่งความสำเร็จที่ส่งผ่านจาก ‘ริชาร์ด วิลเลียมส์’ สู่ ‘เลโอนาร์ด ฟรองซัวร์’ ผู้ให้กำเนิดดาวดวงใหม่ในวงการลูกสักหลาดโลก ซึ่งเป็น ‘ฮาฟุ’ หรือลูกครึ่งผิวสีที่สังคมญี่ปุ่นเคยไม่ยอมรับ

ลองคิดตามนะครับ… ถ้าคุณหัดตีเทนนิสตั้งแต่มือจับแร็กเก็ตได้ จากนั้นก็ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการฝึกซ้อม ฝันว่าจะคว้าแชมป์แกรนด์สแลมสักครั้ง แต่เมื่อวันมาถึง คุณต้องขึ้นไปรับรางวัลพร้อมกับเสียงโห่ของกองเชียร์ทั้งสนาม คุณจะรู้สึกอย่างไร?

นั่นคือเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อนของ นาโอมิ โอซากะ หลังจากที่เธอเอาชนะ เซเรนา วิลเลียมส์ ในการแข่งขันยูเอส โอเพน 2018 พร้อมกระแสดราม่าที่กลายเป็นประเด็นร้อนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในช่วงเวลานั้น แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ชัยชนะที่นาโอมิฝันถึง แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ครั้งแรกที่นาโอมิและครอบครัวของเธอได้เจอ

ย้อนกลับไปในวันแรกของชีวิต นาโอมิ โอซากะ มีแม่เป็นชาวญี่ปุ่น (ทามาอิ โอซากะ) ส่วนพ่อ (เลโอนาร์ด ฟรองซัวร์) เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเฮติ ในช่วงแรกที่คบหากัน ทั้งคู่ต้องเก็บความสัมพันธ์เป็นความลับนานหลายปี เพราะครอบครัวของทามาอิไม่ปลื้มคนต่างชาติ กระทั่งวันหนึ่งที่คุณพ่อบอกให้เธอเข้าร่วมพิธีโอมิไอ (ประเพณีจับคู่ของคนญี่ปุ่น) ทามาอิจึงต้องเล่าเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งทำให้พ่อของเธอโกรธสุดๆ พร้อมทั้งด่าสาดว่า เธอคือความอัปยศของครอบครัว

เหตุการณ์นั้นทำให้ทามาอิกับฟรองซัวร์ ย้ายไปอยู่เมืองโอซาก้า และให้กำเนิดลูกสาว 2 คน นั่นคือ มาริกับนาโอมิ ก่อนที่พรหมลิขิตแรกจะถูกเขียนขึ้นในคืนที่ ‘วีนัส’ กับ ‘เซเรนา’ สองพี่น้องตระกูลวิลเลียมส์คว้าแชมป์หญิงคู่ในการแข่งขัน เฟรนช์ โอเพน ปี 1999 ฟรองซัวร์ได้ดูการแข่งขันในเกมนั้น และได้รู้ว่าพ่อของวีนัสและเซเรนาไม่เคยเล่นเทนนิส แต่สอนให้ลูกๆ คว้าแชมป์ได้ สิ่งนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มสอนเทนนิสให้กับลูกๆ พร้อมทั้งตัดสินใจย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมในการเล่นเทนนิสมากกว่า

นับจากวันนั้น ชีวิตของนาโอมิก็ค่อยๆ กลายเป็นหนึ่งเดียวกับเทนนิส ฝีมือของเธอก้าวกระโดดแซงหน้าเพื่อนรุ่นเดียวกันแบบไม่เห็นฝุ่น ก่อนจะเริ่มเล่นเทนนิสอาชีพในปี 2013 และชื่อของนาโอมิก็เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในฐานะดาวรุ่งพุ่งแรงที่มีสไตล์การเล่นแบบยืนปักหลักที่ท้ายคอร์ด แล้วโจมตีด้วยโฟร์แฮนด์ที่ทรงพลังและแม่นยำ ซึ่งเป็นสไตล์เดียวกับไอดอลของเธอนั่นคือ เซเรนา วิลเลียมส์

ปี 2018 นาโอมิก้าวขึ้นมายืนที่อันดับ 20 ของโลก และเป็นนักเทนนิสชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้เข้าชิงรายการยูเอส โอเพน รายการระดับแกรนด์สแลมที่เธอฝันถึงมาตลอด แถมคู่แข่งยังเป็นอีโร่ของเธอ… เซเรนา วิลเลียมส์

ระหว่างการแข่งขันในเซ็ตที่ 2 (เซ็ตแรกนาโอมิชนะขาด 6-2 ) ผู้ตัดสินเตือนเซเรนาหลังเห็นว่า โค้ชของเธอทำท่าเหมือนสอน หรือส่งสัญญาณบางอย่างให้ คำพูดนั้นทำให้เซเรนาตบะแตก แล้วตะโกนตอบกลับว่า“ฉันไม่เคยโกงการแข่งขัน ถ้าจะโกงขอเป็นฝ่ายแพ้ดีกว่า” หลังจากนั้นเมื่อถูกเบรกเกมเสิร์ฟอีก เซเรนาก็ยิ่งหัวเสีย และขว้างไม้เทนนิสลงพื้นจนหัก ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎ ผู้ตัดสินจึงสั่งตัดคะแนน ทำให้บรรยากาศในสนามยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นอีก เพราะกองเชียร์ส่วนใหญ่เป็นแฟนๆ  ของเซเรนา และที่สุด นาโอมิที่เล่นได้ดีกว่าก็เป็นฝ่ายชนะ แต่บรรยากาศตอนมอบถ้วยแชมป์กลับย่ำแย่ เพราะมีเสียงโห่จากแฟนเทนนิสในสนามต่อผู้ตัดสินดังขึ้นเป็นระยะ สิ่งที่คนดูทั่วโลกเห็นจากการถ่ายทอดสดคือ ใบหน้าที่ตึงเครียด และหยดน้ำตาของนาโอมิที่พูดผ่านไมโครโฟนว่า “ฉันขอโทษที่มันจบลงแบบนี้ แต่ก็อยากจะขอบคุณที่ทุกคนดู มันเป็นความฝันที่ได้เล่นกับเซเรนาในรอบชิง” 

หลังเกมวันนั้น กระแสในโลกออนไลน์เต็มไปด้วยกระแสดราม่า บ้างที่บอกว่านาโอมิเล่นได้ดีกว่า และอีกฝั่งที่บอกว่า ถ้ากรรมการไม่ตัดสินแบบนั้น เธอไม่มีวันคว้าแชมป์ ความกดดันทั้งหมดถาโถมไปยังเด็กสาวที่อายุเพียง 20 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นบั่นทอนจิตใจของนาโอมิพอสมควร แต่อีกมุมหนึ่งก็กลายเป็นพลังที่ทำให้เธออยากพิสูจน์ว่า ชัยชนะในศึกยูเอส โอเพน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะโชคหรือเรื่องบังเอิญเท่านั้น

นาโอมิไม่ต้องรอนาน เพราะในการแข่งขันออสเตรเลียน โอเพน แกรนด์สแลมแรกของปี 2019 ที่เพิ่งจบลงเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2019 นาโอมิในฐานะมือวางอันดับ 4 ของโลก สามารถฝ่าฝันจนถึงรอบชิง และเอาชนะ เปตรา ควิโตวา มือวางอันดับ 6 ของโลกไป 2 ต่อ 1 เซต คว้าแชมป์แกรนด์สแลมที่ 2 ของตัวเอง พร้อมทำคะแนนสะสมขึ้นเป็นนักเทนนิสหญิงมือวางอันดับ 1 ของโลกเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น พร้อมกับเสียงชื่นชมจากแฟนเทนนิสทั่วโลก

แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น สาวน้อยคนนี้ยังมีเวลาสร้างประวัติศาสตร์บนคอร์ตเทนนิสอีกนานหลายปี แต่นาโอมิจะไม่มีทางลืมการคว้าแชมป์ในครั้งนี้แน่นอน เช่นเดียวกับรูปภาพที่เธอโพสต์ในอินสตาแกรมส่วนตัวหลังจากจบเกม เป็นรูปที่เธอโอบกอดและจูบถ้วยรางวัล พร้อมแคปชันที่อธิบายความรู้สึกทั้งหมดได้เป็นอย่างดี

“Words can’t describe this feeling” 

นักเขียน : นักเขียนใส่แว่น

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ