fbpx

ธุรกิจจาก ‘ของเหลือ’ Moreloop ร้านขายผ้าออนไลน์ที่ช่วยกำจัดขยะอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมสิ่งทอปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1,200 ล้านตันต่อปี มีการใช้สารเคมีกว่า 2,000 ชนิด และใช้น้ำมากถึง 1-2 หมื่นลิตร เพื่อให้ได้มาซึ่งฝ้าย 1 กิโลกรัมที่สามารถนำไปผลิตเสื้อได้ประมาณ 5 ตัว

Reason to Read

  • อุตสาหกรรมสิ่งทอปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1,200 ล้านตันต่อปี มีการใช้สารเคมีกว่า 2,000 ชนิด และใช้น้ำมากถึง 1-2 หมื่นลิตร เพื่อให้ได้มาซึ่งฝ้าย 1 กิโลกรัมที่สามารถนำไปผลิตเสื้อได้ประมาณ 5 ตัว

ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โลกของเรามีการบริโภคเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นถึง 400% หรือมีการซื้อเสื้อผ้าประมาณ 80-100 พันล้านชิ้นต่อปีในปัจจุบัน ทั้งที่ประชากรโลกมีจำนวน 7.7 พันล้านคนเท่านั้น และนอกจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนสร้างผลกระทบ อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่เคยรู้ก็คือ การผลิตผ้าในแต่ละครั้งเป็นการเพิ่มปริมาณ ‘ขยะอุตสาหกรรม’ หรือเกิด ‘ผ้าเหลือ’ ที่จะไม่ถูกนำไปใช้งาน ซึ่งผ้าเหล่านั้นไม่ใช่ ‘ขยะ’ หรือเศษผ้าอย่างที่หลายคนเข้าใจเลย

ในทางตรงกันข้าม ผ้าเหลือเหล่านั้นกลับช่วยเราแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าที่คิด ด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วเราจำเป็นต้องใช้ผ้าเหลือมากแค่ไหน? จะต่างจากการซื้อเสื้อผ้าใหม่อย่างไร? เราขอให้ฟังจากปากของ คุณแอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ และ คุณพล-อมรพล หุวะนันทน์ สองผู้ก่อตั้ง Moreloop ร้านขายผ้า (เหลือ) ออนไลน์กันเสียเอง

GM Live : การผลิตเสื้อผ้าครั้งหนึ่ง สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

คุณพล : การผลิตผ้าแต่ละครั้งกินทรัพยากรค่อนข้างเยอะ เพราะกว่าเราจะได้ผ้า มาตัดเป็นเสื้อผ้าก็ต้องผ่านหลายคน หลายมือ มีการใช้พลังงานและก่อให้เกิดมลพิษต่างๆ ภายในกระบวนการผลิตทั้งสิ้น อย่างการปลูกฝ้ายก็ใช้สารเคมีค่อนข้างเยอะ คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ยาฆ่าแมลงทั่วโลก ขั้นตอนการปั่นด้ายและทอผ้าก็ใช้พลังงานเยอะมาก มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างสูง 

ซึ่งในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมามีการผลิตเครื่องนุ่งห่มในปริมาณที่มากขึ้น จากตอนปี 2000 ผลิตประมาณ 5 หมื่นล้านชิ้น ปัจจุบันนี้อยู่ที่ 1 แสนล้านชิ้นต่อปีแล้ว ก็คือเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะฉะนั้น ผลกระทบที่เกิดจากการผลิตผ้าทั้งหมดก็จะเยอะขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย

GM Live : แรงบันดาลใจในการก่อตั้ง Moreloop ของพวกคุณคืออะไร 

คุณแอ๋ม : Moreloop เกิดจาก 2 ส่วนผสม ส่วนหนึ่งคือ Pain (ความเจ็บปวด) อีกส่วนหนึ่งคือ Passion (ความสนใจ) ซึ่งส่วน Pain ก็จะมาจากแอ๋ม เพราะเราเป็นโรงงาน Garment (เสื้อผ้า) อยู่แล้ว เวลาผลิตเสื้อแต่ละลอต บางครั้งจะมีผ้าเหลือเกินขึ้นมา เรามองเห็นผ้ากองนี้ที่เราเป็นคนสเปกเองทั้งหมด เรารู้ว่ามันเป็นของดี เรารู้ว่ามันไม่ใช่ราคาที่ขายกันแบบชั่งกิโล เราเลยทำใจไม่ได้ เรารู้ว่ามันมีมูลค่ามากกว่านั้น อย่างเช่น ผ้าบางอย่างเป็นผ้าฟังก์ชันเนื้อดีๆ เรารู้สึกว่ามันควรจะได้ใช้ในบริบทที่เหมาะสมตามมูลค่าของมัน 

คุณพล : ผมสนใจเกี่ยวกับเรื่อง Waste (ของเหลือ) อยู่แล้ว เพราะเห็นว่าเป็นทรัพยากรใหม่ที่ผลิตขึ้นตลอดเวลา บางคนมองขยะเป็นขยะ แต่ผมมองว่าของพวกนี้ก่อนเป็นขยะก็เคยเป็นของสำคัญของคนบางคน เพราะฉะนั้น สำหรับผม ของที่เป็นขยะทั้งหลายเป็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ เป็นวัสดุ เป็น Resource ใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกนี้ ผมเลยอยากบริหารจัดการผ่านการทำธุรกิจออนไลน์ 

ซึ่งการทำธุรกิจสตาร์ทอัพต้องเริ่มจากการหา Pain และผมเชื่อว่าขยะเป็น Pain ของใครสักคน ของเหลือพวกนี้มาจากทั้งครัวเรือนและอุตสาหกรรม ซึ่งในมุมอุตสาหกรรมเราพบว่าเป็นปัญหาใหญ่กว่าครัวเรือนด้วยซ้ำ มีของเหลือเต็มไปหมดจากสายการผลิต ซึ่งอยู่ในสภาพดีและเป็นวัตถุดิบทั้งสิ้น และการที่เราสองคนเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว คุยเรื่องธุรกิจกันตลอดเวลา คุณแอ๋มมาบอกว่าถ้าสนใจเรื่องพวกนี้เขามีผ้าเหลือ ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจว่าผ้าเหลือที่เขาพูดถึงคือผ้าแบบไหน ในหัวจินตนาการไปแล้วว่าคือเศษตัด ไม่มีทางเอาไปทำอะไรต่อได้ แต่พอเราเข้ามาดูก็เห็นเลยว่าสิ่งนี้น่าสนใจ 

GM Live : ปกติโรงงานมีวิธีจัดการผ้าเหลืออย่างไร

คุณแอ๋ม : ปกติโรงงานมีวิธีจัดเก็บง่ายๆ อยู่ 2 วิธีคือ แบบแรก เราเก็บไว้ในโรงงานเพื่อจะทยอยขายในอนาคต หรือเพื่อรอลูกค้าที่มีความต้องการตรงกับผ้าชนิดนั้น แบบที่สองคือขายทิ้ง ซึ่งแบบนี้ผ้าจะถูกเหมาไปในราคาที่เป็นขยะ คือชั่งกิโลขายแบบถูกมาก ทำให้หลายๆ โรงงานไม่สามารถรับราคานั้นได้ สุดท้ายก็เลือกที่จะเก็บไว้ในโรงงาน

GM Live : Moreloop ทำหน้าที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องผ้าเหลืออย่างไรบ้าง

คุณแอ๋ม: ผ้าเหลือแล้วมีหลายเกรด แล้วแต่โรงงานที่เราไปรวบรวมผลิตสินค้าในกลุ่มไหนด้วย อย่างตอนนี้ Moreloop มีโรงงานที่เข้าร่วมกับเราน่าจะเกิน 20 โรงงาน และเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานส่งออก เพราะฉะนั้น ผ้าเหลือในสต๊อกของพวกเขาจะเป็นผ้าคุณภาพดี เป็นผ้าที่เขาสเปกเอง เช่น จะใช้เส้นใยอะไร มีฟังก์ชันอะไร ดังนั้นเกรดของผ้าส่วนใหญ่ที่เรามีจะเป็นผ้าเกรด A 

ส่วนการทำงานของ Moreloop คือ เราเป็นตัวกลางรวบรวมผ้าจากโรงงานต่างๆ พอได้ผ้ามาอย่างน้อยก็จะชั่งน้ำหนัก ลองดึงผ้าดูว่าคุณภาพได้ไหม ผ้าทุกพับที่เราจะส่งไปให้ลูกค้า เราได้เห็นได้จับ อีกมุมหนึ่งคือโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมีวิธีจัดเก็บวัตถุดิบอยู่แล้ว เพราะของพวกนี้เป็นต้นทุนทั้งหมด ดังนั้น เขามีวิธีเก็บดีกว่าที่เราคิดไว้มาก 

คุณพล : ที่สำคัญ ผ้าที่มาจากโรงงานที่ได้คุณภาพ เขาจะสั่งทอแบบพิเศษเพื่อแต่ละงานที่นำไปใช้ ดังนั้น เขาจะมีข้อมูลเยอะ ซึ่งเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะในฐานะที่เราต้องนำขึ้นไปขายบนออนไลน์ ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้ลูกค้าตัดสินใจ ตรงนี้เลยเป็นความพิเศษของ Moreloop ด้วย

GM Live : ผ้าเหลือ ‘สำคัญ’ อย่างไร ทำไมเราต้องใช้ผ้าพวกนี้

คุณแอ๋ม : มันมีความสำคัญเท่ากับตอนที่มันเพิ่งเกิดเลย ของทุกอย่างมีอายุการใช้งานของมัน ถ้าเราไม่ใช้ตอนที่มันยังใช้ได้ มันก็จะเสื่อมสภาพลง ตอนจบมันก็จะไปอยู่ตาม Landfill (การฝังกลบขยะ) แต่คนที่สนใจอยากจะใช้ผ้าของ Moreloop ต้องทำความเข้าใจก่อน เพราะคุณกำลังเล่นอยู่กับของที่มีอยู่แล้ว ฉะนั้น คุณต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป คุณต้องมีความอะลุ่มอล่วยพอสมควรถึงจะใช้ได้

คุณพล : ถ้าเกิดให้เปรียบเทียบวัสดุทั้งหลายที่ผลิตขึ้นมา ผ้าเป็นหนึ่งในวัสดุที่กินพลังงาน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้น้ำ ใช้สารเคมีและคนเยอะมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การที่เราลงมือทำเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า การใช้ของที่มีอยู่แล้ว หรือของที่บางคนมองว่าเป็นปัญหา ทำให้ได้เห็นผลที่เกิดจากการไม่ใช้ฟุ่มเฟือย และถ้าเราเห็นความสำคัญตรงนี้ก็ทำให้เราช่วยกันเปลี่ยนวิธีบริโภคหรือความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบพวกนี้ 

เพราะพวกเรานี่แหละที่เป็นคนทำให้เกิดโลกร้อน เราเป็นต้นเหตุของปัญหา แต่ก็สามารถเป็นคำตอบของเรื่องนี้ได้พร้อมๆ กัน แค่เปลี่ยนมุมมอง เพราะฉะนั้น Moreloop ก็พยายามส่งสารนี้ออกไปผ่านการทำให้เห็นว่า ของพวกนี้เกิดใหม่ได้ เกิดเป็นของที่มีคุณภาพได้ และการทำธุรกิจแบบนี้ก็ช่วยลดปัญหาโลกร้อน ลดปัญหาของเหลือไปได้พร้อมๆ กันได้ 

GM Live : กระแสแฟชั่น ทำให้คนซื้อเสื้อผ้าฟุ่มเฟือยขึ้นจริงไหม?

คุณแอ๋ม : ในมุมของ Moreloop ใช่ค่ะ อย่างที่พี่พลเกริ่นตอนแรก โลกใบนี้ผลิตเสื้อผ้าเยอะขึ้นมากในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมันเยอะกว่าจำนวนประชากรบนโลกอีก มันเกิดจากกระแส Fast Fashion หรือเทรนด์การเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย มันส่งผลกระทบในหลายมุมมากๆ เพราะการที่คนเราจะเปลี่ยนเสื้อผ้าได้บ่อย แปลว่าราคาต้องจูงใจ ซึ่งราคาที่จูงใจจะกระทบทั้งด้านกระบวนการผลิต คือกดราคาแรงงาน ราคาวัตถุดิบ คุณภาพวัตถุดิบ และคุณภาพแรงงาน 

เรามองว่ากระแสพวกนี้ทำให้เกิดการ Over Produce หรือการผลิตมากเกินไป แล้วอย่างที่คุณพลบอก มันสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และใช้ทรัพยากร ใช้สารเคมีเยอะมาก 

คุณพล : ในฐานะผู้บริโภค เมื่อก่อนเราซื้อเสื้อผ้าราคาถูก ก็รู้สึกว่าต้องได้มาโดยง่ายแน่นอน แต่จริงๆ แล้วพอกลับไปดูในขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าแต่ละตัว เสื้อยืด 1 ตัวมีการใช้น้ำเยอะมาก คือใช้น้ำถึง 2,600 ลิตร เท่ากับน้ำที่คนดื่มประมาณ 2-3 ปี ไม่น่าเชื่อว่าตั้งแต่ต้นจนจบกว่าจะได้เป็นเสื้อ น้ำเป็นพันๆ ลิตรจะต้องใช้ในการปลูกฝ้าย แต่เราสามารถซื้อเสื้อได้ในราคา 100 บาท 

คุณแอ๋ม : มันทำให้คนไม่เห็นคุณค่าของทรัพยากร สิ่งที่ Moreloop กำลังพยายามทำนอกจากเรื่องทรัพยากรคือ เราอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของการผลิตด้วย เสื้อผ้าไม่ใช่สินค้า Single Use มันควรเป็นสิ่งที่อยู่กับเราได้นานพอสมควร เราควรได้ใส่ซ้ำ อย่างเวลาเราผลิตก็จะใส่ใจเรื่องคุณภาพกับวัตถุดิบว่ามันเหมาะสมกับสินค้าที่ลูกค้าต้องการไหม เพราะฉะนั้น Moreloop ไม่ได้ขายแค่ผ้า บางทีการปล่อยให้ลูกค้าเลือกตามความชอบส่วนตัว เนื้อผ้าก็อาจไม่เหมาะกับสินค้าของเขา ผลิตออกมาก็กลายเป็นขยะแบบ Finished Goods Waste ซึ่งยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะเอาไปแปรรูปยากมาก

GM Live : ทำไมที่ผ่านมาถึงไม่มีใครสนใจแก้ปัญหานี้

คุณแอ๋ม : คนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบธุรกิจนี้ ไม่มีทางที่เขาจะรู้ว่าขยะในแต่ละอุตสาหกรรมมีอะไรบ้าง เผอิญว่าเราอยู่ในธุรกิจนี้ เราเห็นมันตลอด เห็นทุกวัน เราเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้คือ Pain และเราอยากแก้ไข Pain ซึ่งเราไม่ได้เริ่มจากคนอื่น ไม่ได้เริ่มจากโลกนี้ เราเริ่มจากตัวเรา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้

คุณพล : ผมเข้าไปดูประเด็นเกี่ยวกับของเหลือจากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ของรัฐบาลที่ผ่านมาตลอดเวลาทุกรัฐบาล แต่ไม่มีใครสนใจ หรือเขาก็ไม่ได้มีแนวทางการแก้ปัญหา เพราะว่าเกี่ยวกับภาคธุรกิจ ประชาชนไม่ได้เกี่ยวข้องหรือผู้บริโภคไม่ได้เกี่ยวข้องตรงนั้น 

GM Live : กระแสการทำธุรกิจรักษ์โลก คิดว่ายั่งยืนแค่ไหน

คุณแอ๋ม : เทรนด์มันคืออะไรที่มาแล้วก็หายไป แต่ภาวะโลกร้อน (Global Warming) มาแล้วมันไม่หายไปนะ แล้วเราเรียกมันว่าเทรนด์ เรียกมันว่าเป็นกระแส มันทำให้ความเข้าใจของคนผิดเพี้ยนไป เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำตอนนี้มันไม่มีโอกาสได้ทำแล้ว 

คุณพล : เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปีนี้มีนักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนหลายค่ายมากเลย ตั้งแต่บอกว่าเรามีโอกาสอีก 30 ปี แล้วก็เหลืออีก 10 ปี เหลือ 5 ปี เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องเล่นสนุกที่มาแล้วก็ผ่านไป และเราทำธุรกิจนี้โดยไม่ได้คิดว่ามันเป็นกระแส เราอยากทำสิ่งนี้เพื่อสร้างความยั่งยืน สร้างความคิดใหม่ๆ ให้กับคน ให้หันมาใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น เพราะปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเรื่อง Global Warming กับ Waste เป็นปัญหาเดียวกัน คือการบริโภคที่มากเกินไป บริโภคแบบไม่ได้ตระหนักรู้ว่าการบริโภค 1 ครั้งจะทำให้เกิดอะไรบ้าง

คุณแอ๋ม : ถ้าพูดถึงความยั่งยืนกับธุกิจ แน่นอนว่าสิ่งที่เราทำเราไม่ได้เป็น NGOs (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร) เพราะว่าถ้าเราทำแบบฟรีๆ มันไม่ยั่งยืน ฉะนั้น สิ่งที่ Moreloop ทำคือกลไกธุรกิจที่ทุกส่วนได้ผลประโยชน์ คนขายได้ระบายสินค้าคือผ้าส่วนเกินที่ถูกผลิตมาอยู่แล้ว คนซื้อได้ผ้าดีในราคาเหมาะสมในจำนวนที่จับต้องได้ ส่วนโลกก็ไม่โดนผลกระทบ เพราะว่าผ้าไม่ได้ถูกผลิตใหม่

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ