fbpx

มนต์สังข์ ภู่ศิริวัฒน์ : เบื้องหลังการปฏิบัติ กับการขีดเส้น ‘นโยบาย’ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ความตื่นตัวทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่เกิดขึ้นทั่วโลก และประเทศไทยเองก็ให้ความใส่ใจกับทิศทางดังกล่าวอย่างไม่ได้นิ่งนอนใจ

ซึ่งหน่วยงานที่กำหนดแนวทาง รวมถึงนโยบายเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่าง ‘สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ก็ได้ทำหน้าที่นี้อย่างต่อเนื่อง รอบด้าน และพิจารณาทุกปัจจัยอย่างถี่ถ้วน

หากแต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่มีพลวัตซับซ้อน ทิศทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน การใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่จริงจังยิ่งกว่าที่เคย รวมถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้สิ่งที่เคยง่าย ยากขึ้นอย่างทวีคูณ เช่นนั้นแล้ว นโยบายที่ออกไป จึงต้องมีความละเอียดอ่อน และผ่านการคิดอย่างพิเคราะห์ยิ่งกว่าเดิม

และผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นผู้ที่เกี่ยวเนื่องกับการกำหนดนโยบายโดยตรง ซึ่ง GM Magazine ได้รับเกียรติจาก มนต์สังข์ ภู่ศิริวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มาร่วมพูดคุย รวมถึงให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กับแนวทางการกำหนดนโยบาย และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทยในภายภาคหน้า ซึ่งน่าจะช่วยให้เห็นภาพของสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

GM : หน้าที่ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมในส่วนใดบ้าง

 มนต์สังข์ : หลักๆ คือการออกนโยบายให้คนไปปฏิบัติตาม เช่น กรมควบคุมมลพิษ ต้องมีแนวทางที่ทำให้ไม่เหลือขยะตกค้าง เป็น ‘Zero Waste’ โดยแท้จริง หรือว่ากันตามมติรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ ทางสำนักฯ ไม่สามารถไปออกเป็นกฎเพื่อบังคับใช้ได้ ทำได้แค่เพียงกำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งก็ต้องขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ ว่าจะให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใด

GM : ความตื่นตัวต่อ ‘แนวทางและนโยบาย’ ของทางสำนักงานนโยบายฯ ได้การตอบรับมากน้อยแค่ไหน

 มนต์สังข์ : ค่อนข้างจะหลากหลายพอสมควร คือหลายจังหวัดก็มีความตื่นตัว มีการนำไปปฏิบัติ เช่น การแยกขยะ การจัดการให้เป็น ‘Zero Waste’ ที่ได้ยกตัวอย่างไป แต่ถ้าถามว่าจังหวัดไหนที่ทำได้ยากที่สุด ต้องบอกว่า กรุงเทพมหานครนี่ล่ะที่เป็นปัญหา คือระบบไม่เอื้อ อย่างตามชุมชนมีถังขยะแบ่งตามประเภท แต่พอถึงเวลาที่คนเก็บมารับไป ก็เทรวมกัน หรือการทำถุงขยะแยกตามประเภท ก็ยังไม่ทั่วถึง เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่มีการแยกชัดเจนว่าวันนี้จะเก็บขยะประเภทนั้น ประเภทนี้ จะเห็นความต่างอย่างมาก อาจด้วยเหตุผลที่ว่า ยังไม่มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับคนดูแลการจัดเก็บที่มากพอ

GM : นอกเหนือจากการปฏิบัติจากประชาชนแล้ว สาธารณูปโภคเพื่อรองรับกับนโยบายก็มีส่วนสำคัญ ทางภาครัฐได้ส่งเสริมจุดนี้มากน้อยเพียงใด

มนต์สังข์ : กลับมาที่ประเด็นเดิมครับ คือ สำนักงานนโยบายฯ ออกมาตรการและนโยบาย แต่ทางภาคส่วนต่างๆ จะนำไปปฏิบัติตามหรือไม่ ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น บรรดาร้านอาหารตามสั่ง ถ้าให้เลือกระหว่างกล่องกระดาษกับกล่องโฟม ก็เลือกกล่องโฟมเพราะมีราคาที่ถูกกว่า แต่จุดนี้ ถ้าภาครัฐลดต้นทุนโดยให้การสนับสนุนโรงงานที่ผลิตกล่องกระดาษ เช่นการชดเชยส่วนต่าง หรือการอุดหนุนด้านภาษี ก็จะจูงใจผู้ผลิตได้ ในแง่นี้ ถ้าตอบโจทย์ทางด้านสิ่งแวดล้อมกับสังคมก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

GM : ข้อติดขัดที่ทำให้ไม่เกิดการสนับสนุนจากภาครัฐดังที่กล่าวไป คืออะไร

มนต์สังข์ : สำนักนโยบายฯ ขับเคลื่อนฝั่งเดียวไม่ได้ครับ คือสิ่งที่ต้องไปพร้อมๆ กัน กระทรวงการคลังก็ต้องไปด้วย กระทรวงทรัพยากรก็ต้องไปด้วย กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องเอาด้วย ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองและสอดประสานกันให้เกิดเป็นกฏเกณฑ์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง 

GM : เรื่องพลังงาน ทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้วางนโยบายใดสำหรับเทรนด์ที่จะมาในอนาคตไว้บ้าง

มนต์สังข์ : ในจุดนี้ได้มองไปถึงพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดไปแล้ว อย่างเช่น พลังงานลม พลังงานแสงแดด แต่ทั้งนี้แผงพลังงานแสงแดดเมื่อถึงวาระครบอายุการใช้งาน สิ่งที่เหลืออย่างซิลิก้าก็จะกลายเป็นขยะที่รอการถูกทำลายเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาอีกต่อหนึ่ง

อีกปัญหาหนึ่ง คือพื้นที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงแดดที่เหมาะสม ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนซึ่งอาจจะยังมีข้อขัดแย้งกับกลุ่มองค์กรอิสระอยู่บ้างที่ต้องการทำความเข้าใจ

GM : ในส่วนของการผลักดันนโยบายด้านพลังงาน ทางภาคส่วนอื่นๆ มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

มนต์สังข์ : เท่าที่ได้รับทราบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในส่วนภูมิภาคได้ลงมือทำไปแล้ว เป็นโครงการโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดของทางภาคอีสาน มีกำลังผลิตสูงมาก มีเกือบหมื่นแผง ซึ่งตรงนี้ เป็นสิ่งที่เห็นได้ว่า ทางภาคส่วนอื่นๆ เริ่มมีการขับเคลื่อนตามนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมมาบ้าง

GM : ความพร้อมของประเทศไทย ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด มีมากน้อยแค่ไหน

มนต์สังข์ : จริงๆ ประเทศไทยสามารถทำได้ ถ้าหากทุกภาคส่วนมีการบูรณาการ ทำงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในตอนนี้ยังเป็นจังหวะที่ไม่พร้อมกัน ทำให้เกิดการชะงัก หรือสะดุด และไม่เกิดผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจไว้ ว่าอย่างสั้นๆ มีคนกำหนดนโยบาย มีคนรับเรื่อง มีคนปฏิบัติ เป็นขั้นตอนกันไป

GM : นโยบายด้านพลังงานเป็นเรื่องระยะยาวแต่พอขับเคลื่อนช้า ทุกอย่างลากยาวออกไปทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านความมั่นคงทางพลังงานหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

มนต์สังข์ : ในข้อนี้คือจริงแท้แน่นอน จริงๆ คือสิ่งที่ต้องเร่งกระบวนการนี้อย่างเร็วที่สุด ไปพร้อมๆ กัน แต่ไม่รู้เป็นเพราะว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านหรือไม่ ที่ทำให้กระบวนการที่ว่ายังไม่ราบรื่นและมีข้อติดขัดในทางปฏิบัติอยู่พอสมควร

GM : จะแก้ปัญหาหรือย่นระยะความล่าช้า เพื่อให้เท่าทันกับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไร

มนต์สังข์ : ถ้าในกรณีสุดโต่งจริงๆ ก็อาจต้องมอบอำนาจสั่งการให้กับทางผู้นำที่สามารถเปลี่ยนนโยบายเป็นแนวทางปฏิบัติได้เลยในทันที แต่นั่นเป็นเรื่องในเชิงทฤษฏี แต่ในทางปฏิบัติจริงก็ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะสามารถบรรลุผลได้ก็อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านั้น ทุกคนต้องขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกัน มีทิศทางกับเป้าหมายในจุดเดียวกัน

GM : พูดถึงนโยบายทางด้านพลังงาน ประเทศไทยมีความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคใดบ้าง

มนต์สังข์ : ในจุดนี้ทาง ปตท. และ ปตท.สภ. ได้มีการออกสำรวจตามภูมิภาคต่างๆ แต่ถ้าถามว่าประเทศไทยมีการร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ หรือไม่ อาจจะต้องออกตัวว่าไม่แน่ใจในจุดนี้

GM : จากช่วงแรกของการแพร่ระบาดCOVID-19  มาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลต่อการทำงานเชิงนโยบายด้านพลังงานมากน้อยเพียงใด

มนต์สังข์ : ส่งผลอย่างมากครับ เมื่อตราบใดที่ไม่สามารถจัดการการแพร่ระบาดได้ ก็กระทบกับทุกภาคส่วน และภาคพลังงานก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่ประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก ว่ากันง่ายๆ จำนวนคนที่สามารถออกไปทำงานข้างนอกมีเพียงจำนวนหนึ่ง ซึ่งน้อยกว่าเดิม เนื้องานที่ออกมาย่อมไม่สามารถเท่ากับตอนก่อนการแพร่ระบาด ขนาดคนทำงานครบเต็มร้อยยังไม่ได้เนื้องานครบในบางช่วงเลย ไม่นับปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผล กระทบต่อการทำงาน ที่ไม่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดอีก

GM : ในฐานะที่อยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและด้านพลังงาน คิดว่าคนไทยมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนแบบ Energy Transition

มนต์สังข์ : จริงๆ คนไทยพร้อมมากนะ และทางสำนักนโยบายฯ เองก็ปรารถนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย แต่ทุกอย่างไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน และคนที่น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด คือกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลในจุดนี้

GM : ความคืบหน้าของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ไปถึงขั้นใดแล้ว มนต์สังข์ : ในส่วนนี้ ต้องบอกว่าประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีพอสมควร ถ้ามองจากมุมนโยบายและการปฏิบัติที่ออกมา อาจจะด้วยเงื่อนไขที่ประเทศไทยต้องไปลงนามในสัญญาเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาด หรือการสนับสนุนส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นไปได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ