fbpx

Modern China

เรื่อง: ภสรัณญา จิตต์สว่างดี

ด้วยประวัติศาสตร์กว่า 4,000 ปีของประเทศจีน ทำให้เราอาจติดภาพว่าจีนเป็นประเทศเก่าแก่ เต็มไปด้วยโบราณสถานและวัตถุ ซึ่งนั่นก็จริง ในมุมหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ในช่วงทศวรรษหลังมานี้ ประเทศจีนนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทในสังคมโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาเมือง มาดูกันว่าใน Modern China จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

China Railway High-speed หรือ CRH เป็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งเกือบจะทั่วฝั่งตะวันออกของประเทศ เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่กว้างมาก การเดินทางด้วยรถไฟภายในประเทศ เพียงแค่ข้ามจังหวัดหรือข้ามมณฑลใช้เวลานานกว่า 20 ชั่วโมงก็มี แต่เมื่อมีรถไฟ CRH ทำให้การเดินทางในประเทศจีนง่ายขึ้น เราสามารถนั่งรถไฟจากเซี่ยงไฮ้ไปปักกิ่งได้ภายในเวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง

นอกจาก CRH แล้ว จีนยังมีรถไฟ Maglev หรือรถไฟที่วิ่งด้วยการใช้พลังจากแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้รถไฟลอยตัวขึ้นเหนือจากราง ปราศจากล้อ จึงช่วยลดแรงเสียดทานได้ ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันมีให้บริการเพียงเส้นทางเดียว คือไป-กลับระหว่างสถานีหลงหยางกับสนามบินผู่ตง (Pudong Airport) ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเส้นทางนี้หากนั่งรถไฟเมโทรธรรมดาจะใช้เวลา 45 นาที ในขณะที่ Maglev ร่นระยะเวลาเหลือเพียง 8 นาทีเท่านั้น

ห้องน้ำของประเทศจีนคงเป็นอีกหนึ่งภาพจำที่ติดตาเป็นอย่างมากในทางที่ไม่ดีนัก ห้องน้ำสาธารณะในจีนส่วนมากก็ยังคงอยู่ในสภาพที่ไม่น่าอภิรมย์ เว้นแต่ในอาคารที่เพิ่งก่อสร้างใหม่ จะมีการพัฒนาห้องน้ำให้ดีขึ้น อย่างอาคารในเมืองหรือย่านธุรกิจ หรือในห้างสรรพสินค้า ห้องน้ำก็นับว่าดีกว่าแต่ก่อนมาก

เทียนจิน เป็นหนึ่งในเทศบาลนครของจีน หรือเป็นเมืองที่มีระดับเทียบเท่ากับมณฑลนั่นเอง เทียนจินเคยเป็นเมืองอาณานิคมของตะวันตกมาก่อน แต่ด้วยระยะเวลาเพียง 40 ปี เทียนจินได้กลายมาเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่และเป็นเขตอุตสาหกรรมและการค้าที่สำคัญอีกแห่งของจีน ถึงขั้นมีชื่อเล่นว่า ‘เซี่ยงไฮ้ทางเหนือ’ เลยทีเดียว

เมืองฉงชิ่ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ด้วยลักษณะภูมิประเทศส่วนมากของฉงชิ่งเป็นภูเขาและเนินเขา ถนนในเมืองนี้จึงตัดผ่านแนวเขาเป็นทางขึ้นๆ ลงๆ รวมถึงตึกอาคารที่อยู่อาศัยในเมืองนี้ก็เป็นทางผ่านของถนนและทางรถไฟ เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับฉงชิ่งในการมีทางด่วนอยู่ชิดกับหน้าต่างคอนโดฯ ไปจนถึงการตัดทางรถไฟฟ้าผ่านตึกสูง มีสถานีรถไฟอยู่ในตึก และมีรถไฟแล่นทะลุตึกด้วย

เมืองที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศจีนคือ เซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยการทำอุตสาหกรรมและการพัฒนาที่รุดหน้า ทำให้เซินเจิ้นประสบปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก แต่รัฐบาลจีนได้ปฏิรูปเซินเจิ้นอย่างจริงจัง ด้วยการปลูกต้นไม้ตามถนนและในเขตเมือง สร้างสวนขนาดใหญ่ รวมถึงใช้พลังงานไฟฟ้าในการเดินรถบัสสาธารณะ เพื่อให้มลพิษในเมืองลดลง จนเซินเจิ้นได้รับการยกย่องเป็นเมืองที่ยั่งยืนที่สุดในจีนในปี 2016

อีกหนึ่งสถานที่ที่มีชื่อเสียงมากของจีนอย่าง จางเจียเจี้ย ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกัน เพราะที่นี่เป็น
สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Avatar นั่นเอง ถึงแม้จะเป็นอุทยานที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ และภูเขามากมาย แต่จีนก็ได้สร้างสะพานที่ชื่อว่า Zhangjiajie Glass Bridge เป็นสะพานที่พื้นทำจาก ‘กระจก’ เป็นสะพานกระจกที่ยาวและสูงที่สุดในโลก มีนักท่องเที่ยวแห่ไปเยี่ยมชมจำนวนมากจนต้องปิดตัวชั่วคราวในปี 2015 แต่ในปัจจุบันกลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว

อาคารรูปทรงคล้ายที่เปิดขวด ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของเซี่ยงไฮ้นี้คือ Shanghai World Financial Center เป็นอาคารที่สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก ภายในมีทั้งส่วนสำนักงาน พื้นที่ออฟฟิศ โรงแรม ร้านค้า และยังมีชั้นชมวิวให้นักท่องเที่ยวได้มองเมืองเซี่ยงไฮ้จากมุมสูง ตึก SWFC นี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ทางธุรกิจอีกอย่างหนึ่งว่าจีนกำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกอีกประเทศหนึ่ง

จีนมีการใช้แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ในการผลิตพลังงาน ทั้งในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ และในเมืองทางเหนืออย่างชานซี ที่มีโซลาร์ฟาร์มขนาดกว่า 250 เอเคอร์ตั้งอยู่ และแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ถูกติดตั้งเป็นรูปหมีแพนด้าอีกด้วย ถึงแม้ว่าจีนจะเริ่มหันมาใช้พลังงานสะอาดบ้างแล้ว แต่ประเทศจีนก็เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดในโลกอยู่ ณ ทุกวันนี้

ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคงจะเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังอย่าง Xiaomi ที่น่าจะครองใจใครหลายคนไปแล้ว Xiaomi มีสินค้าตั้งแต่สมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมทั้งในและนอกประเทศ มีแล็ปท็อป เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ทั้งเครื่องครัว และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องฟอกอากาศที่เป็นที่นิยมมากในไทย ในปัจจุบัน Xiaomi มีสินค้าวางขายอยู่ใน 90 ประเทศทั่วโลก มีผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019 เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้ถูกจัดอันดับว่าเป็นสมาร์ทโฟนอันดับ 5 ของโลกด้วย

ปัจจุบันจีนเป็นหนึ่งประเทศที่ธุรกิจการบินก้าวหน้าและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไม่เป็นสองรองจากสหรัฐอเมริกา เฉพาะผู้โดยสารที่บินข้ามน่านฟ้าไปมาของจีนในแต่ละวันนั้น มีมากเกินกว่าที่คุณจะจินตนาการ

หนังสือพิมพ์ China Daily เคยรายงานไว้เมื่อปี 2018 ว่า จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการของสายการบินทั้งในและต่างประเทศ ที่บินข้ามน่านฟ้าในประเทศจีนแต่ละวันมีมากถึง 549 ล้านคน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจีนถึงครองตำแหน่งเรื่อง ‘ขนาด’ ของสนามบินที่ใหญ่โตและทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เรียกว่าเป็นมหานครลอยฟ้าก็ไม่ผิดนัก

กันยายนปี 2019 จีนเพิ่งเปิดสนามบินที่ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง-ต้าชิง ซึ่งถือว่าเป็นสนามบินที่มีอาคารผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในตัวอาคารเดียว ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารนั้นมากกว่า 6 อาคารของสนามบินฮีทโธรว์ที่ลอนดอนรวมกันเสียอีก

สนามบินต้าชิงสามารถรองรับผู้โดยสารกว่า 100 ล้านคนต่อปี พื้นที่ใช้สอยกว่า 1 ล้านตารางเมตร มี 2 ชั้นสำหรับการเดินทางขาเข้าและขาออก การเปิดใช้สนามบินต้าชิงจะเปิดเป็นเฟส โดยจะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 6 ปีข้างหน้า ซึ่งถึงเวลานั้น สนามบินแห่งนี้จะมีทั้งหมด 7 รันเวย์ และสามารถรองรับเที่ยวบินได้มากถึง 800,000 เที่ยวบินต่อปีได้สบายๆ

นอกเหนือจากความใหญ่โตแล้ว สนามบินแห่งใหม่นี้ ยังเต็มไปด้วยบริการ ที่แสนไฮเทคและ ‘คิดเผื่อ’ อนาคตไว้หมดแล้ว เช่นเทคโนโลยีการออกแบบอาคารเพื่อสามารถกักเก็บน้ำฝนได้ 100% ออกแบบมาให้ประหยัดพลังงานทั้งการระบายอากาศ การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ รวมถึงระบบขนส่งภายในสนามบินก็จะเป็นระบบที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลน้อยที่สุด

นอกจากนี้เพื่อไม่ให้เสียชื่อว่าเป็นผู้นำเรื่อง AI สนามบินใหม่ของจีนจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความรวดเร็ว อะไรที่ร่นเวลาได้ พวกเขาก็จะทำ จึงมีแผนการจะยกเลิกการใช้กระดาษในการออกตั๋วและเช็กอิน โดยหันมาใช้ตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด มีการนำเอาเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) เพื่อติดตามสัมภาระของผู้โดยสาร ร่วมกับระบบสแกนใบหน้า ลายนิ้วมือและสมาร์ทโฟนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ นับว่าสะดวกสบาย ประหยัดทั้งเวลา ลดการจัดเก็บทั้งหลายแหล่ และแน่นอน สนามบิน (และรัฐบาลจีน) ยังได้บิ๊กดาต้าไปอีกอื้อ

หากคุณเคยใช้บริการการขนส่งมวลชนของจีนเมื่อสักสิบปีก่อน แล้วมาเทียบกับสมัยนี้ คุณจะเห็นพัฒนาการที่ยิ่งกว่าก้าวกระโดดของการเชื่อมต่อของการเดินทาง ที่แทบจะเรียกว่าไร้รอยต่อเข้าไปทุกที ไม่ใช่แค่เพียงบนอากาศเท่านั้น แต่การเดินทางภาคพื้นดินทั้งรถไฟความเร็วสูง​ ระบบรางในการขนส่งทั้งคนและสินค้า ถูกเชื่อมโยงกัน เป็นเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมาก สถานีรถไฟความเร็วสูงทั้ง 7 สถานีที่เชื่อมเมืองใหญ่ๆ ของมณฑลต่างๆ เลยไปถึงการเชื่อมไปถึงเกาะฮ่องกง ทำให้การเดินทางนั้นรวดเร็วมาก ตอนนี้จากสถานี West Kowloon ในฮ่องกง ไปถึงเซินเจิ้น ใช้เวลาเพียง 14 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมง

ในอนาคต จีนมีแผนการจะเชื่อมการเดินทางให้เป็นระบบเดียวกัน เช่นว่าสามารถโหลดกระเป๋าเดินทาง เช็กอินไฟลท์ จากสถานีรถไฟใต้ดินในตัวเมืองได้เลย ช่วยระบายความแออัดของคนที่ต้องแย่งกันเดินทางในช่วงเทศกาล อย่างตรุษจีนหรือช่วงโกลเด้นวีควันฉลองวันชาติของจีน ซึ่งความต้องการในการเดินทางจะสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

อี้ เหว่ย จากกรมก่อสร้างสนามบิน เคยให้สัมภาษณ์กับ BBC ไว้ ต่อคำถามที่ว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จีนจะต้องสร้างสนามบินที่ใหญ่ขนาดนี้ “เราได้ทำการศึกษารอบคอบแล้ว จากการประเมินขั้นต่ำภายในปี 2025 จำนวนผู้โดยสารรวมในกรุงปักกิ่งจะเพิ่มเป็น 170 ล้านคน ฉะนั้นเพื่อรองรับผู้คนจำนวนมากขนาดนั้น จีนจำเป็นต้องพัฒนาการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ”

สำหรับคนจีน ความเชื่อเรื่องการสร้างสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่อยู่ในดีเอ็นเอของพวกเขา แนวความคิดของการแสดงความเป็นชาติผ่านสิ่งก่อสร้างเป็นเรื่องที่พวกเขาทำได้ดี ทำได้ถึง และทำให้ผู้คนตื่นเต้นตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ