fbpx

Unlimited Imagination by ‘AI’: เมื่องานศิลป์ถูกรังสรรค์ ผ่านการขมวดข้อมูลด้วยระบบ AI ใน ‘Midjourney’

ในภาพวาดและการทำงานด้านศิลปะ นับตั้งแต่เริ่มต้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงห้วงเวลาปัจจุบัน มันคือหนึ่งแขนงที่มีการพัฒนา ต่อยอด และเปลี่ยนแปลงแตกสายธารสู่จินตนาการอย่างไร้ขีดจำกัด เพราะไม่ว่าจะเป็นภาพวาดบนผนังถ้ำของมนุษย์ยุคหินโบราณ ภาพวาดบนฝ้าเพดานมหาวิหารซิสทีน จนถึงภาพศิลปะกราฟิตี้บนกำแพงของเมืองใหญ่ มันไม่ได้แค่เพียงตอกย้ำถึงย่างก้าวที่ศิลปะได้มุ่งไป แต่ยังรวมถึงวิวัฒนาการของมันสมองของมนุษย์ที่พร้อมจะเรียนรู้ได้อย่างมากมาย ไม่มีวันสิ้นสุด

ศิลปะ คือสมบัติล้ำค่าของมนุษย์ ….

จนกระทั่งวันนี้ ….

วันที่ ‘AI’ หรือปัญญาประดิษฐ์ ‘สามารถทำงานศิลปะ’ ได้ …

ถ้าใครได้ติดตามกระแสใน Social Media หรือแวดวงงานศิลปะในรอบสี่ถึงห้าวันที่ผ่านมา จะพบกับความเคลื่อนไหวสำคัญที่ดูจะสั่นคลอนความเป็นไปอย่างใหญ่หลวง เมื่อ Leap Motion กลุ่มโปรแกรมเมอร์ที่ก่อตั้งโดย David Holz ได้สร้างอุปกรณ์ปัญญาประดิษฐ์สำหรับ ‘การวาดภาพ’ ในชื่อ ‘Midjourney’ และเปิดให้ใช้งานในเวอร์ชัน Open Beta สำหรับผู้สนใจทั่วไป ที่ผลลัพธ์นั้น ไม่จัดว่าธรรมดา

การทำงานของ Midjourney นั้น แทบไม่มีอะไรยุ่งยาก มันเป็นอุปกรณ์หรือ Tools ที่ทีมวิจัยในชื่อเดียวกันของบริษัท Leap Motion ได้สร้างไว้ เพียงแค่ผู้ใช้งาน ป้อน ‘ข้อความ’ ที่นิยามสิ่งที่จะต้องมีบนงานภาพ เช่น หากคุณต้องการภาพแม่น้ำเจ้าพระยา ยามพระอาทิตย์ตกดิน ฉากหลังวัดอรุณราชวรารามวรวิหาร มีเรือพายยาวอยู่ในฉาก (ต้องเป็นภาษาอังกฤษ)

เท่านี้ ตัวโปรแกรม Midjourney ก็จะทำการคำนวณชุดข้อความ ค้นหาแหล่งอ้างอิง เลือกพาเลทสีที่มี และ ‘เสก’ ภาพตามคำนิยามให้ออกมาตามที่ผู้ใช้งานได้ว่าไว้

แน่นอนว่า ตัวโปรแกรม Midjourney อาจจะไม่ได้สมบูรณ์พร้อม มันยังมีจุดบกพร่อง และผลลัพธ์ที่แปลกต่างออกไป และอาจจะไม่ได้ให้สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการได้อย่างเต็มที่ แต่ด้วยระบบประมวลผลของ AI ที่มีความรวดเร็ว การเข้าถึงแหล่งอ้างอิงที่เพิ่มขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป และจำนวนผู้ใช้งานที่มีนับพันนับหมื่นคน มันก็ค่อยๆ เรียนรู้ และพัฒนาฝีมือ ให้ดีขึ้น หลากหลายขึ้น และ ‘มากจินตนาการ’ ยิ่งขึ้น

อนึ่ง ภาพที่ได้จากการสร้างโดย Midjourney จะอยู่ในข้อบังคับของกฎลิขสิทธิ์แบบ Open Sources ที่ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งถ้าต้องการนำไปใช้งาน จะต้องมีการจ่ายเงินให้กับทีมวิจัย เป็นการ ‘ซื้อขาด’ ผลงานให้กับ ‘แรงงาน’ ที่ตัวโปรแกรมได้ทำขึ้น เช่นเดียวกับหลักการซื้อขายระหว่างศิลปิน และผู้ว่าจ้างโดยทั่วกัน ซึ่งนิตยสาร Economist ฉบับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้ใช้ภาพที่สร้างจาก Midjourney มาประกอบเป็นปก และได้การตอบรับที่ดีอย่างน่าประหลาดใจ

ทั้งนี้ ทาง David Holz กับทีม ก็ยังไม่ได้มอง Midjourney เป็นช่องทางในการทำมาหารายได้อย่างจริงจังมากนัก เพราะสำหรับเขา มันยังค่อนข้างเร็วมากที่ทางทีมจะกระโดดเข้าสู่งานพาณิชย์ศิลป์ และตัวโปรเจ็กต์ เกิดขึ้น เพียงเพื่อตอบคำถามสำคัญข้อหนึ่งในขีดสมรรถนะกับประสิทธิภาพของระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มีมานานข้อหนึ่งที่ว่า ….

‘ระบบปัญญาประดิษฐ์และเครื่องจักร สามารถทำงาน ‘ศิลปะ’ ได้หรือไม่?’

การมาถึงของ Midjourney และเหล่าผลงานที่มีในโลกออนไลน์ขณะนี้ คือความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ และสร้างกระแสที่แตกต่างกันไปในแวดวงศิลปะ ในฝั่งหนึ่งมองว่า นี่คืออันตรายสำหรับคนทำงานสาย Illustrating อย่างมาก เพราะมันจะมีประโยชน์อะไรสำหรับพวกเขา ถ้าหากฝีมือที่เฝ้าฝึกปรือมาค่อนชีวิต สามารถถูกพิชิตลงได้เพียงไม่กี่วินาที และคำสั่งที่ป้อนไปเพียงไม่กี่คำ ชะตากรรมแห่งการตกงานอาจจะรอคอยอยู่ปลายทาง

อย่างไรก็ดี ในอีกฝั่ง ก็มองว่า Midjourney คืออุปกรณ์ที่สามารถ ‘ช่วย’ ลดกระบวนการทำงานที่เคยยุ่งยาก และต้องลงแรงอย่างหนักให้น้อยลง เช่น นักภาพวาดประกอบ ที่แต่เดิม ต้องใช้เวลาในการสร้างภาพพื้นหลัง วาดตัวละคร ลงสี และอื่นๆ แต่เมื่อมี Midjourney ให้ใช้ เพียงแค่ป้อนคำนิยามที่ต้องการ ให้ AI ช่วยสร้าง ‘เค้าโครง’ ที่ต้องการ จากนั้นศิลปินก็ใช้การวาดทับ หรือจรดลายเส้นของตัวเอง ตบแต่งให้สวยงาม โหลดงานที่หายก็น่าจะถูกตัดไปกว่าครึ่ง และสามารถทุ่มสมาธิสำหรับจุดที่มีความสำคัญอื่นๆ ได้มากกว่า

อย่างไรก็ดี ในทัศนะของผู้เขียน ระบบการวาดภาพด้วย AI นั้น แม้จะรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะเรียนรู้รูปแบบ แต่มันก็ยังอยู่ในกรอบและข้อจำกัดของการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์ ที่จินตนาการของมนุษย์ยังคงสามารถก้าวไปข้างหน้า และเหนือชั้นกว่า

แต่คำถามที่ตามมาคือ เราจะนำหน้าเครื่องจักรนี้ ไปได้นานแค่ไหน?  

และเมื่อวันที่มีโปรแกรมหรืออุปกรณ์ที่คล้ายกับ Midjourney ออกสู่ตลาด (โปรดอย่าลืมว่า ตัวโปรแกรมของ Leap Motion นั้น เป็น Open Sources ที่โค้ด สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ ถ้าได้รับอนุญาต…) งานด้านพาณิชย์ศิลป์จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปโดยสิ้นเชิง เพราะบริษัทห้างร้าน หรือหน่วยงานที่ต้องการจะ ‘จ้าง’ นักวาดสักคน ก็คงต้องมีตัวเทียบเปรียบกันแล้ว ว่าระหว่างการจ้าง ที่มีกระบวนการ มีระยะเวลา และมี ‘ค่าใช้จ่าย’ นั้น มันคุ้มค่ากว่าการเลือกใช้ AI หรือไม่ วันหนึ่ง คำถามนี้จะต้องมาถึง

แต่ในตอนนี้ ความก้าวหน้าของ Midjourney ก็อาจจะถือว่าเป็นอีกย่างก้าวสำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงแวดวงแห่งงานคอมพิวเตอร์และการคำนวณ แต่รวมถึงความหมายของคำว่า ‘ศิลปะ’ ที่แม้จะถูกเสกออกมาด้วยเครื่องกล แต่เบื้องหลังสมองทรงพลังเหล่านั้น …. คือจินตนาการ และนิยามที่ถูกป้อนด้วย ‘มนุษยชาติ’ นับหมื่น นับแสน และนับล้านความหมาย

นั่นต่างหาก คือนิยามและพัฒนาการของศิลปะที่แท้จริง

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ