เดี๋ยวนี้โรคภัยไข้เจ็บน่ากลัวขึ้นทุกวัน มีอาการป่วยประหลาดๆ ให้ได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีคุณหมอโพสต์บนเฟซบุ๊กว่าพบผู้ป่วย ‘โรคลายม์’ (Lyme disease) คนแรกของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าติดเชื้อมาจากประเทศตุรกี ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 2 เดือน โชคดีที่คุณหมอช่วยได้อย่างทันท่วงที แต่ก็ทำให้ความทรงจำขาดหายไปชั่วขณะ ทำให้หลายคนหันมาสนใจโรคนี้ว่ามันคืออะไรกันแน่
ถึงแม้ว่าชื่อจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทย แต่ถ้าบอกว่าพาหะของโรคนี้คือ ‘เห็บ’ แล้วล่ะก็ มันคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแน่นอน โดยโรคลายม์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Borrelia spp. สามารถติดต่อได้ผ่านการแพร่เชื้อจากเห็บ โดยเฉพาะเห็บในระยะตัวอ่อนถือว่าเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญที่สุด
วิธีการแพร่เชื้อก็คือเมื่อเห็บไปกินเลือดสัตว์ เช่น สุนัข ม้า กวาง วัว ควาย หนู ที่เป็นตัวกักตุนโรคแล้วมากัดกินเลือดคนต่อก็จะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายคนได้ ซึ่งการที่จะแพร่เชื้อเข้าสู้ร่างกายคนได้นั้นเห็บจะต้องเกาะอยู่บนร่างกายอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
อาการของโรคลายม์ หลังจากถูกเห็บที่มีเชื้อกัดประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาจปรากฏรอยบวมแดงบริเวณที่ถูกกัดแล้วกลายเป็นผื่นวงกลมคล้ายเป้ายิงปืนขนาดใหญ่ แต่ในบางรายก็อาจจะไม่มีอาการนี้ และอาจมีไข้ ปวดตามตัว คอแข็ง ปวดศีรษะ
หากติดเชื้อหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน อาจพบอาการปวดตามข้อแบบปวดๆ หายๆ อาจพบอาการข้อบวมนานเป็นปี ซึ่งในระยะนี้อาจพบเห็นผื่นรูปกลมคล้ายเป้ายิงปืนจำนวนมากขึ้น ในบางรายพบว่ามีการแพร่ของแบคทีเรียไปสู่หัวใจหรือสมองด้วย
คนที่เสี่ยงต่อการติดโรคลายม์ก็คือผู้ที่คลุกคลีอยู่กับสัตว์ตามที่กล่าวไป หรือคนที่ชอบเดินลุยป่า หรือเดินทางในเขตพื้นที่ร้อนชื้น เปียกแฉะ เดินในสนามหญ้า หรือบริเวณที่มีหญ้าขึ้นสูง โดยไม่มีการป้องกันร่างกายที่ดี อาจทำให้โดนเห็บกัด
ถึงจะฟังดูอันตราย แต่เราสามารถป้องกันโรคลายม์ได้โดยการหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีหญ้าสูง สนามหญ้า ป่า หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องสวมเครื่องป้องกัน เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าบู๊ต และถ้ามีความจำเป็นต้องคลุกคลีกับสัตว์ต่างๆ ก็ควรใช้สารกำจัดและป้องกันเห็บ และทำความสะอาดร่างกายหลังไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทันที