fbpx

ลิสบอน : ความทรงจำสีทองและการยึดครองโลก

เรื่อง : โตมร ศุขปรีชา

1

โรงแรมทิโวลีสีทอง ถนนที่ปูลาดด้วยหินบะซอลต์สีดำและหินปูนสีขาว โปสเตอร์เทศกาลปลาซาร์ดีนสีแดง รถรางขึ้นเขาสีทึม ดอกศรีตรังสีม่วง สนามกอล์ฟสีเขียว ฟองคลื่นแอตแลนติกสีขาว เป็นหลากสีละลานตาที่ฝังแน่นในความทรงจำเสมอ – เมื่อนึกถึงเมืองลิสบอน – เมืองหลวงของโปรตุเกส

ใช่…เป็นลิสบอน – เมืองที่ว่ากันว่าฮิปที่สุดในปีที่ผ่านมา เจ้าของตำรับขนมสีส้มจัดราวทองคำที่ทำจากไข่แดงอย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และทาร์ตไข่ที่หลายคนคิดว่าเป็นของมาเก๊า เมืองของโปรตุเกส ประเทศที่เคยยึดครองครึ่งโลกร่วมกับสเปน โปรตุเกสที่เคยส่งทหารมาร่วมรบกับไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา โปรตุเกสที่เคร่งศาสนาจนแม่พระมาประจักษ์ที่ฟาติมา และโปรตุเกสที่ว่ากันว่าเป็นเจ้าของรากของถ้อยคำมากมายในหลายภาษาทั่วโลก

แท้จริงแล้ว ผมไม่ได้มาลิสบอนเพื่อสิ่งอื่นใด นอกจากมาขับรถเลาะเลียบไปตามถนนสายเล็กริมแอตแลนติก ลัดเลาะเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ ตามชายฝั่งและที่แขวนตัวเองอยู่บนหน้าผาพร้อมกับดอกไม้ดอกจิ๋วหลากสีสันตัดกับสีครามเข้มของผืนน้ำโปรตุเกสและลิสบอน เส้นทางแสนสวยที่เต็มไปด้วยขนมแสนอร่อย ที่ฝังศพของวาสโกดากามา – นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ รถรางที่แล่นลัดขึ้นไปบนภูเขา และแม้แต่ความทรุดโทรมของบ้านเมืองที่เริ่มปรากฏเนื่องเพราะพิษเศรษฐกิจ แต่กระนั้นก็ยังหยิ่งทะนงด้วยประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่กระซิบว่า,ครั้งหนึ่ง – เราเคยยึดครองโลก…

2

“ต้องการ ‘กาแฟ’ ไหม?” เขาถามเป็นภาษาอังกฤษ แต่ออกเสียง ‘กาแฟ’ ชัดเจนเป็น ‘กาแฟ’ ไม่ใช่ Coffee นี่คือมรดกแรกที่ได้รับรู้ มันคือมรดกทางภาษาที่โปรตุเกสถ่ายทอดไปทั่วโลก ไม่น่าแปลกใจนักหรอก ที่ภาษาจะถ่ายทอดถึงกัน เหมือนที่เราเรียกกุหลาบว่ากุหลาบตามแบบชาวเปอร์เซีย แต่สำหรับโปรตุเกส คำที่ละม้ายกันมากมายทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง มันมีมากคำเหลือเกิน

เราเรียก Bread ว่าขนมปัง ก็เพราะคนโปรตุเกสเรียกว่า pãoเราเรียก Soap ว่าสบู่ ก็เพราะคนโปรตุเกสเรียกว่า sabão คำพวกนี้ดูพื้นๆ ใช่ไหม แต่นอกเหนือจากนี้ยังมีคำที่เราคิดว่ามันสุดแสนจะเป็นไทยอีกมาก ตั้งแต่กะละแม, กะละมัง ไปจนถึงคำว่ากระดาษ และคำที่เราคิดว่าเป็นไทยเหลือเกินอย่างกระจับปิ้ง, ปั้นเหน่ง, หลา, เหรียญ, เลหลัง และแม้กระทั่งบาทหลวง

ผมตื่นเต้นกับเรื่องพวกนี้เป็นอันมาก แต่เมื่อแสดงความตื่นเต้นนี้ให้หญิงสาวชาวลิสบอนคนหนึ่งรับรู้ เธอกลับไม่ประหลาดใจอะไรสักนิด สีหน้าของเธอเรียบเฉย ก่อนพูดนิ่งๆ ตอบกลับมาว่า “ไม่แปลกหรอก เพราะครั้งหนึ่งเราเคยยึดครองโลก”เธออธิบายต่อไปว่า ที่จริงแล้วโปรตุเกสไม่ได้ยึดครองโลกทั้งใบหรอก เพราะแม้กองเรือโปรตุเกสจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน แม้มีนักสำรวจและนักเดินเรือชั้นเยี่ยมเพียงไร (อย่างวาสโกดากามา) แต่โปรตุเกสก็มีหอกข้างแคร่เป็นประเทศในคาบสมุทรไอบีเรียด้วยกัน ซึ่งก็คือสเปน

หลังจากคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบ ‘โลกใหม่’ (ที่เขาคิดว่าคือเอเชีย) ในปี 1492 ความขัดแย้งระหว่างสเปนกับโปรตุเกสก็ปะทุขึ้น ทั้งสองประเทศต่างเป็นเลิศในเรื่องการเดินเรือสำรวจด้วยกันทั้งคู่ เมื่อความขัดแย้งถึงที่สุด และไม่อาจตัดสินได้ด้วยการสู้รบ ทั้งสองมหาอำนาจจึงต้องลงเอยด้วยการเจรจา ส่งผลให้เกิดสนธิสัญญาแห่งทอร์เดซิยาส์ (Tordesillas) ในปี 1494 สัญญาที่ว่าคือสัญญาอะไรรู้ไหมครับ?

มันคือสัญญาผ่าโลก!สนธิสัญญาที่ว่า ตกลงกันว่าจะแบ่งโลกนอกยุโรปออกเป็นสองส่วน โดยใช้เส้นเมอริเดียนแนวเหนือใต้ที่มีความยาว 1,560 กิโลเมตร แต่เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่ใช้วัดเส้นแวงที่ถูกต้อง ความขัดแย้งที่ว่าจึงยังดำรงอยู่จนกระทั่งถึงปี 1777
“เส้นที่แบ่งโลกออกเป็นสองส่วนอยู่ที่บราซิล” หญิงสาวแห่งลิสบอนบอก ถ้าคุณดูแผนที่ของทวีปอเมริกาใต้ คุณจะพบว่าบราซิลนั้นเหมือนส่วนหน้าอกของแผ่นดินที่ยื่นออกมา บราซิลจึงกลายเป็นสมบัติของโปรตุเกสตามสนธิสัญญาทอร์เดซิยาส์แต่อเมริกาใต้ส่วนอื่นๆ กลายเป็นของสเปน

“สเปนใช้วิธีฆ่าฟัน” หญิงสาวว่า “แต่เราไม่” เธอยิ้ม “เราใช้วิธีผสมผสานเข้าไปกับผู้คน กลมกลืนกับพวกเขาในทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหรอก ที่คำในภาษาโปรตุเกสจะไปปรากฏในภาษาอื่นๆ มากมาย โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ไกลลิบทางตะวันออกอย่างญี่ปุ่น”

บ่ายวันนั้น เมื่อเราสาวเท้าเข้าไปในร้านขนมชื่อดังของลิสบอนอย่าง Casa Pastis de Belm ผมก็พบว่าความเห็นของเธอไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะขนมขึ้นชื่อของโปรตุเกสอย่างทาร์ตไข่นั้น ชาวเอเชียจะคุ้นเคยว่ามันคือทาร์ตของมาเก๊า แต่ที่จริงมาเก๊าก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของโปรตุเกสมาแต่โบราณ ทาร์ตไข่จึงเป็นหลักฐานการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างโปรตุเกสและมาเก๊าได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับฝอยทอง และทองหยิบ ทองหยอดสำหรั
เมืองไทย

ทำไมคนโปรตุเกสถึงชอบทำขนมจากไข่ – ผมถามหญิงสาวคนเดิม“คืออย่างนี้” เธอขยับจะเล่า แต่บอกให้ผมลิ้มลองทาร์ตไข่แกล้มกับพอร์ตไวน์เสียก่อน “ชาวโปรตุเกสเราเคร่งศาสนามากจึงมีคอนแวนต์หรืออารามอยู่มาก ในอารามก็จะมีแม่ชีอยู่ คนทั่วไปมักจะเอาของไปบริจาคให้กับแม่ชี ซึ่งมักจะเป็นแป้งกับไข่เพื่อให้

แม่ชีได้ทำอาหาร ทีนี้เมื่อมีไข่เหลือมากเข้า ก็เลยต้องทำอาหารที่ทำจากไข่ยังไงล่ะคะ ส่วนน้ำตาลนั้นเรามีเยอะ เพราะในบราซิลที่เป็นอาณานิคมของเราปลูกอ้อยได้มาก น้ำตาล ไข่ กับแป้ง เลยกลายเป็นส่วนผสมหลักของขนมโปรตุเกสไป”ร้าน Casa Pastis de Belm คือร้านขายทาร์ตไข่แห่งแรก

ในลิสบอนที่ขายขนมนอกอาราม เปิดขายมาตั้งแต่ปี 1837 โดยชาวบ้านจะมาซื้อทาร์ตร้อนๆ ที่เพิ่งออกจากเตาอบไปกินแกล้มกับชา กาแฟ หรือแม้แต่พอร์ตไวน์ โดยจะโรยน้ำตาลละเอียดและผงอบเชยลงไปบนหน้าทาร์ตก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ร้านนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของโปรตุเกสไปออกแสดงในงานวันยุโรปเดย์ของปี 2006 อีกด้วยแล้วฝอยทองเล่

ผมไม่พบฝอยทองที่ร้านทาร์ตไข่ แต่ในเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อลัดเลาะอยู่ตรงใจกลางเมืองลิสบอน ในย่านนักท่องเที่ยวอย่าง Baixa-Chiado ผมก็พบเห็นเบาะแสของฝอยทองที่วางตัวอยู่บนเพสทรีราดครีมสดคล้ายๆ เอแคลร์ ในร้านกาแฟที่มีชื่อว่า Caf Gelo

ซึ่งบอกว่าเปิดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เช่นเดียวกันเมื่อกินฝอยทองแกล้มกาแฟในเช้าวันนั้น ผมจึงเพิ่งตระหนักกับตัวเองว่า สำหรับผมแล้ว – ฝอยทองไม่ใช่อะไรอื่น – นอกเสียจากสัญลักษณ์แห่งการยึดครองโลกอย่างหนึ่งและโปรตุเกสก็ช่างยิ่งใหญ่นัก!

3

ในวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 1755 ซึ่งเป็นวันฉลองนักบุญทั้งหลายหรือ All Saint’s Day (ชาวโปรตุเกสนั้นเป็นคาทอลิกที่เคร่งศาสนาอย่างยิ่ง) ในช่วงสิบโมงเช้า ปรากฏว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้น มันเป็นแผ่นดินไหวมหึมาที่นักธรณีวิทยาปัจจุบันเชื่อว่าน่าจะวัดได้ถึงระดับ 9 ตามมาตราริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก มันเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนอะซอเรส-ยิบรอลตาร์

ซึ่งเป็นแนวรอยเลื่อนที่แบ่งแผ่นเปลือกโลกแอฟริกาออกจากแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย เชื่อกันว่า แผ่นดินเขย่าตัวเองอยู่นานสามถึงหกนาที ทำให้ใจกลางเมืองเกิดรอยแยกขนาดห้าเมตร ตึกรามถล่มไฟไหม้ ผู้รอดชีวิตพากันหนีตาย ส่วนหนึ่งหนีออกไปที่ท่าเรือ และบางส่วนก็พากันหนีเข้าไปสวดภาวนาอยู่ในโบสถ์ริมฝั่งแม่น้ำและริมทะเลไม่มีใครคิดถึงคลื่นยักษ์ – ไม่มีเลย, แต่มันก็มา…


น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เผยให้เห็นก้นมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งมีเรือเก่าๆ จมอยู่ แล้วราวสี่สิบนาทีหลัง คลื่นยักษ์ก็ถล่มเข้าใส่ มันใหญ่โตจนกลืนกินทั้งอ่าว และพุ่งเข้าสู่แม่น้ำทากัส (Tagus) เร็วจี๋เสียจนชาวบ้านต้องกระโจนขึ้นหลังม้าเพื่อขี่หนีคลื่น แต่กระนั้นหลายรายก็ไม่รอดคลื่นกระแทกเข้ามาอีกสองระลอก และนั่นถือเป็นหายนะของเมืองอย่างแท้จริง ผู้คนที่เข้าไปสวดภาวนาอยู่ในโบสถ์เสียชีวิตมากกว่าที่อื่น ไม่มีเมตตาจากพระเจ้าอีกต่อไปคุชคายช์เองก็ไม่พ้นเงื้อมมือมรณะของสึนามิ เมืองที่อยู่ริมฝั่งเกือบทั้งหมดถูกทำลายอย่างร้ายกาจ แต่โชคดีที่คุชคายช์ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขา เมืองบางส่วนจึงอยู่สูง และไม่ถึงขั้นถูกทำลายไปหมดสิ้นแผ่นดินไหวในวันนั้นรู้สึกได้ไกลถึงฟินแลนด์ และว่ากันว่าคลื่นสึนามินั้นสูงถึง 20 เมตร มีผู้เสียชีวิตราว 30,000-40,000

ผมมองดอกไม้เล็กๆ สีทองที่ขยับตัวล้อกับสายลมอยู่ริมชายฝั่ง มันช่างน่ารักและเล็กจ้อยเสียจนเราอาจคิดว่ามันไม่น่ารอดเงื้อมมือของธรรมชาติได้นานนัก แต่ดอกไม้ชายฝั่งของโปรตุเกสนั้นแข็งแกร่งกว่าที่เราคิดมาก บางทีก็อาจเหมือนลิสบอน เมืองแห่งอำนาจครองครึ่งโลกที่ถูกสาดซัดด้วยอำนาจที่ใหญ่โตกว่าอย่างอำนาจของธรรมชาติลิสบอน โปรตุเกส และคาบสมุทรไอบีเรีย ดินแดนซึ่งกวีและนักเขียนยุคโบราณกล่าวขานกันว่าอยู่ในดินแดนที่สวยที่สุดในโลก, ได้มอบความทรงจำสีทองและการยึดครองโลกเอาไว้ให้กับผู้คนที่นี

แต่แล้วก็พรากมันจากไปด้วยหายนะที่ใหญ่หลวงเกินต้านทานหากนี่มิใช่บทเรียนสำหรับมนุษย์ผู้โอหังก็แล้วจะเป็นอะไรไปได้เล่า

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ