เรื่อง : วิทยากร โสวัตร
กลิ่นของหนังสือแต่ละเล่มไม่เหมือนกัน ผมชอบดมกลิ่นหนังสือ – คงเหมือนคนเขียนรูปเมื่อเวลาหมุนเปิดฝาแล้วบีบสีออกมาจากหลอดมักใช้นิ้วแตะเนื้อสีออกมาดม หนังสือที่มีเรื่องราวและร่องรอยความทรงจำมักมีกลิ่นหอมพิเศษต่อความรู้สึก
ผมเปิดปกสีขาวของ ในอ้อมกอดหิมาลัย ของ พจนา จันทรสันติ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ เข้าไปถึงแผ่นรองปก เห็นเงาลางๆ ของภาพอีกหน้า เมื่อพลิกไปดูภาพนั้นก็ปรากฏ เป็นภาพพิมพ์เส้นง่ายๆ และให้ความรู้สึกอบอุ่นของอ้อมกอดทั้งที่ไม่เห็นวงแขนที่โอบกอดนั้นเลย หน้าคู่กันพิมพ์ข้อความภาษาอังกฤษว่า
“The passing days and months are eternal travellers in time. The years that come and go are travellers too. Life itself is a journey.”
– Basho
ใช่ !
ชีวิตโดยตัวมันเองคือการเดินทาง…
ฤดูหนาวปี 2542 ผมพบหญิงสาวคนหนึ่งที่จบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เธอไม่ยอมสอบเข้าทำงานประจำที่ไหนทั้งที่ผลการเรียนดีมาก เธอรับงานพิเศษเพื่อหาเก็บเงินไปหิมาลัย เธอตื่นเต้นมากเมื่อเห็นผมถือหนังสือในอ้อมหิมาลัยและอ่านมันอย่างจริงจัง มิตรภาพของเราเริ่มต้นจากจุดนั้น
แล้ววันหนึ่งเธอก็ไปเนปาล ได้แทรกตัวและหัวใจเข้าไปในอ้อมกอดหิมาลัย
เสียดายที่เราไม่ได้พบกันอีกเลย ไม่ได้ติดต่อกันอีกภายหลังผมจบการศึกษา ในวันเวลาที่อยู่เงียบๆ บางครั้งผมก็คิดถึงหิมาลัย ที่ที่ผมฝันถึงแต่ไม่เคยได้ไป คิดถึงความหวังที่จะได้ฟังเรื่องเล่าการเดินทางไปสู่ที่นั่นจากเธอ
ผมไม่แน่ใจว่าความฝันถึงการเดินทางเพื่อออกไปเห็นและเผชิญโลกเป็นคำสาปของคนหนุ่มสาวเท่านั้น และไม่กล้ายืนยันว่าจุดหมายปลายทางของการเดินทางแท้จริงนั้นมันคืออะไร และยิ่งไม่กล้าตัดสินใจว่าสถานที่และระยะทางเป็นตัวตัดสินคุณค่าและความหมายของการเดินทาง
แต่ผมรู้ว่ามันมีจุดร่วมบางอย่าง…
ตอนที่อ่าน ในอ้อมกอดหิมาลัย ครั้งแรก ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมผู้เขียนจึงเปิดเล่มด้วยถ้อยคำของบาโช (Basho) แต่ผมรู้สึกได้ถึงความงามของความตายในคำอุทิศ และบทนำนั้นคือวิญญาณอันร้อนแรงของวัยหนุ่ม ผมตื่นเต้นและรู้สึกร่วม
มีหนังสือสารคดีหรือบันทึกการเดินทางไม่กี่เล่มหรอกที่ทำให้เรารู้สึกว่าได้เดินทางไปด้วยจริงๆ แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้ – ในอ้อมกอดหิมาลัย เป็นแบบนั้น แต่ที่แปลกคือพอเดินทางไปได้สักครึ่งทางผมกลับรู้สึกว่าตัวผมหายไป และเมื่อพจนาเข้าใกล้ภูเขาศักดิ์มากเท่าไร ผมยิ่งคิดถึงแม่และการเดินทางทางจิตวิญญาณในวัยสาวของท่าน
“ขึ่นคำนึงเดือนสาม เฮากะออกจากบ้าน ญางอยูเก้ามื่อเก้าคืน”
เรื่องเล่าของแม่เริ่มต้นขึ้นอย่างนี้แทบทุกครั้ง ด้วยน้ำเสียงของผู้ที่ผูกโยงชีวิตไว้กับเวลาของฟ้าดินซึ่งมีเดือนดาวเป็นเข็มสั้นยาว แม่เล่าถึงการเดินทางด้วยเท้าอันยาวไกลจากกาฬสินธุ์ข้ามภูพานไปไหว้ธาตุพนม พุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนิกชนในวัฒนธรรมลาวลุ่มน้ำโขง
เมื่อพจนาพาผมไปถึงบทสุดท้ายของหนังสือ เมื่อเขาไปอยู่ตรงจุดนั้น บนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้น ผมเข้าใจความรู้สึกของเขา เช่นเดียวกับความรู้สึกของแม่เมื่อเดินทางไปถึงธาตุพนม แม่น้อมตัวลงกราบ และขับบทสะระภัญญะออกมาบูชา
มาลาดวงดอกไม้ มาลาดวงดอกไม้ มาตั้งไว้เพื่อบูซา
บูซาคุณพระพุทธ ขอบูซาคุณพระพุทธ ที่ได้ตรัสรู้มา
มาลาดวงดอกไม้ มาลาดวงดอกไม้ มาตั้งไว้เพื่อบูซา
หนังสือบางเล่มพาเรากลับไปสู่เรื่องเล่าอันเก่าแก่ซึ่งเป็นรากแห่งจิตวิญญาณของเรา และเมื่อเรากลับไปอ่านหนังสือเล่มนั้นอีกครั้งและอีกครั้ง และในวันเวลาที่เปลี่ยนไป เราก็พบความหมายที่ซ่อนอยู่ในทุกๆ หน้า
ผมเคยสงสัยว่าแม่ผ่านเวลายาวนานของชีวิตที่ผันผวนแปรเปลี่ยนมากมายเหล่านั้นมาได้อย่างไร บางทีอาจเพราะวิถีแห่งการเดินทางนั้นของแม่ซึ่งถูกนำทางและหล่อหลอมจากพระธุดงค์ตลอดการไปและกลับ
ไม่บ่อยครั้งนักที่แม่จะเล่าถึงการเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์นี้ โดยมากจะเป็นยามค่ำคืนก่อนที่ความหลับจะมาเยือน แต่คืนสุดท้ายของชีวิตแม่เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังอีกครั้ง…
และหลังจากที่ผมบอกพี่ชายคนโตให้ปิดตาแม่ ผมได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกไม้ในจานที่วางอยู่บนหัวนอนและรู้สึกว่าแม่กำลังออกเดินทางอีกครั้ง
ผมไม่รู้ว่าถึงวันนี้หญิงสาวคนนั้นยังคงเดินทางอยู่หรือเปล่า แต่ผมอยากรู้ว่าการเดินทางไปเนปาลสู่ความศักดิ์สิทธิ์แห่งอ้อมกอดหิมาลัยในครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงอะไรเธอหรือส่งแรงสะเทือนให้เธอออกค้นหาเส้นทางใดต่อไป…
ถึงวันนี้ผมยังไม่เคยไปเยือนเนปาลและยังไม่เคยได้สบตากับหิมาลัยไม่ว่าจากมุมไหนของโลก แต่ผมยังคงเดินทางและอ่านหนังสือ และถ้าคุณอยากจะฟังเรื่องราวจากการเดินทางของผม
ผมจะเริ่มต้นเรื่องเล่าของผมว่า –
หนังสือบางเล่มก็เหมือนใครบางคนที่เราไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่ก็เหมือนว่าในใจเรานั้นเฝ้ารอคอยและออกตามหา และเมื่อพบ เราก็รู้ได้เอง และเรื่องราวก็เริ่มต้นขึ้น ณ จุดนั้น
การเดินทางก็เช่นกัน.

