fbpx

วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์: ความหวังใหม่วงการขนไก่ไทย การนับหนึ่งใหม่สู่เส้นทางฝัน

เรื่อง: ศิรกานต์ ผาเจริญ

“ผมอยากเก็บคะแนนเพื่อไปแข่งรายการที่สูงขึ้น อยากมีอันดับโลกที่สูงขึ้น เวลาลงแข่งขันก็จะได้มีโอกาสที่ดี เพราะเป้าหมายของผม คือ อยากเป็นแชมป์โลก , แชมป์โอลิมปิค และ แชมป์ออลอิงแลนด์ ซึ่งเป็นการแข่งขันแบดมินตันรายการที่เก่าแก่ที่สุดในโลกำ

นี่คือเป้าหมายของนักแบดมินตันหนุ่ม ที่พิสูจน์ตัวเองมาแล้วในระดับเยาวชน จากการสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์เยาวชนโลกมาได้ 3 สมัยติดต่อกัน จนทำให้วงการแบดมินตันโลก ต่างจับตามอง กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ในการขยับจากการเป็นดาวรุ่ง สู่การลงเล่นกับนักแบดมินตันระดับพระกาฬ

ลูกขนไก่พาหนีโรค สู่แชมป์เยาวชนโลก

กุลวุฒิ : ตอนเด็ก ผมเป็นโรคภูมิแพ้ครับ อาการค่อนข้างหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาลทุกสัปดาห์ เสียค่าใช้จ่ายเยอะมาก จึงต้องหันมาหัดเล่นกีฬา เพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น โชคดีที่คุณพ่อเป็นครูสอนแบดมินตัน ท่านก็ฝึกให้ผมเล่นแบดมินตัน ตอนแรกไม่ได้จริงจังเลยครับ แค่ฝึกตีลูกให้โดน เล่นกับคุณพ่อ เพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น แต่หลังจากที่เล่นไปแล้วรู้สึกสนุกและเริ่มจริงจังกับการเล่นมากขึ้น จากอยู่ชมรมแบดมินตันแถวบ้าน ก็เลือกย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด และที่นี่แหละครับที่ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น เพราะมีทั้ง โค้ชเป้ ภัทพล เงินศรีสุข ที่เป็นโค้ชให้พี่เมย์ รัชนก อินทนนท์ รวมถึงทีมงานที่เป็นมืออาชีพ

ที่นี่มีครบทุกอย่างครับ ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนการสอนแบดมินตัน แต่มีทั้งนักกายภาพบำบัด นักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักฟิตเนส ทำให้ผมกลายมาเป็นนักแบดมินตันที่เดินไปถูกทาง ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ รู้สึกว่าเกินความคาดหวัง จากการที่จะตีแบดฯเพื่อหนีโรค กลายมาเป็นแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัย

ความรู้สึกตอนที่ไปยืนบนโพเดี้ยมแชมป์เยาวชนโลก ผมรู้สึกเลยว่าเกินจากสิ่งที่คาดหวังไว้พอสมควร จากปีแรกที่ไปร่วมแข่งผมก็หวังว่าจะเข้ารอบ 4 คนสุดท้ายให้ได้ พอได้ครั้งแรก กลับไปอีกครั้งผมก็ยังตั้งเป้าไว้เหมือนเดิม คือ รอบ 4 คนสุดท้ายให้ได้เหมือนเดิม ยิ่งลงแข่งขันในฐานะแชมป์เก่า ความกดดันก็มากขึ้น ส่วนตัวแล้วมองแค่ว่าต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเราตั้งใจฝึกซ้อมมาดี ถ้าแพ้เราก็จะกลับไปพัฒนาต่อ

สำหรับ วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นับเป็นนักแบดมินตันชายคนแรกและคนเดียวที่สามารถคว้าแชมป์โลกรุ่นเยาวชน ติดต่อกันถึง 3 สมัย  ส่วนฝ่ายหญิงนั้นคือรุ่นพี่  เมย์ รัชนก อินทนนท์ ที่เป็นเจ้าของสถิติเดียวกันนี้      

ทิ้งชีวิตวัยรุ่น สู่การเป็นอีกหนึ่งเสาหลักของครอบครัว

กุลวุฒิ : “ไม่เคยเสียดายเลยครับ ที่ต้องใช้เวลาทั้งหมดในการฝึกซ้อมแบดมินตัน แต่กลับเป็นความรู้สึกดีใจเสียอีก เพราะการเล่นแบดมินตันของผมนอกจากช่วยเรื่องสุขภาพแล้วยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้กับครอบครัวได้ด้วย การเล่นแบดมินตันอาชีพทำให้ผมมีรายรับมากขึ้น ถ้าผมไม่ได้เล่นแบดมินตัน ไม่รู้ตอนนี้จะเป็นยังไง ทั้งโรคภูมิแพ้ที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก และเวลาที่ผมเอามาฝึกซ้อม ถ้าเป็นวัยรุ่นทั่วไปก็อาจจะเอาเวลาไปเล่นเกมส์ หรือทำอะไรที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งในตอนนี้รายได้ที่ผมมีก็ช่วยพ่อแม่ในการผ่อนบ้าน แล้วก็ช่วยคุณพ่อซื้อรถ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายส่วนตัวก็สามารถดูแลตัวเองได้ครับ

เรียนรู้จากความพ่ายแพ้

กุลวุฒิ : “พอต้องมาสู้กับนักแบดมินตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่ สิ่งที่ผมต้องเสริม คือ ความแข็งแรง ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่รวมถึงจิตใจด้วย ตอนนี้การมาเจอกับรุ่นพี่ที่เก่งกว่า ในความที่อยากเอาชนะนั่นทำให้ผมพลาดเองได้ง่าย เพราะจะขาดเรื่องความละเอียดในเกมส์แข่งขัน บางจังหวะก็จะเร่งมากเกินไป  สิ่งที่ผมเรียนรู้หลังจากเริ่มลงเล่นในรุ่นทั่วไป คือ ต้องมีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากความพ่ายแพ้ ที่ผมมองว่าเป็นบทเรียนที่ดี

 เส้นทางฝันที่ต้องวาดด้วยตัวเอง

กุลวุฒิ : ผมเดินมาเส้นทางนี้แล้ว ยังไงก็ต้องไปให้สุดทาง สิ่งที่ผมท่องทุกวันในการจับแร็คเก็ต คือ ต้องทำให้ดีที่สุด เป้าหมายของผมเอง ยังไม่เคยมีนักแบดมินตันรุ่นพี่ของไทยคนไหนทำได้ในประเภทชาย ไม่ว่าจะเป็นแชมป์โลก , แชมป์โอลิมปิค หรือ แชมป์ออลอิงแลนด์ แต่ตอนนี้ผมพึ่งก้าวผ่านการเป็นนักกีฬาในระดับเยาวชน สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือ การเริ่มนับหนึ่งใหม่ในเวทีที่ไม่ใช่นักกีฬาในระดับเยาวชน แน่นอนว่าเส้นทางที่ผมผ่านมาในระดับเยาวชนนั่นนับเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ผมเป็นนักแบดมินตันที่ดีขึ้น จากวันแรกที่เริ่มเล่นกีฬานี้  นับจากนี้การนับหนึ่งของผมกำลังจะเริ่มต้นอีกครั้ง ผมไม่รู้หรอกว่าผมจะต้องนับไปอีกไกลเท่าไหร่ และต่อให้ต้องนับไปถึงหนึ่งร้อย เพื่อไปถึงความฝันที่ผมหวังไว้ ผมก็จะพยายามไปถึงตรงนั้นให้ได้ครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ