fbpx

‘Knowcean’ ทะเลความรู้โลกยุค 4.0 เรียนรู้เรียลไทม์ติวเตอร์แบบ one-by-one

ปี 1999 คือ ปีที่ Elliott Masie ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษา บัญญัตินิยามใหม่ของการเรียนออนไลน์ว่า ‘E-Learning’ แต่กว่าการเรียนออนไลน์จะได้รับความนิยมแพร่หลายและเติบโตแบบก้าวกระโดดก็ใช้เวลาเกือบ 18 ปี (2017) กระทั่งโควิด-19 เปลี่ยนโลกแห่งการศึกษาในชั่วข้ามคืน ส่งผลให้การเรียนออนไลน์กลายวิถีใหม่จาก ‘กระดานดำ’ สู่ ‘แท็บเล็ต’ เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพใหม่ในชื่อ ‘Knowcean’ เติบโตอย่างรวดเร็ว

หากเรานำคำว่า ‘Knowledge’ (ความรู้) บวกกับ ‘Ocean’ (มหาสมุทร) จะได้นิยามใหม่แห่งการศึกษาที่เรียกว่า  “มหาสมุทรแห่งความรู้ ” อันเป็นที่มาของชื่อ Knowcean  เว็บไซต์ที่เชื่อมต่อผู้คนในแวดวงการศึกษาเข้าด้วยกัน พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ พื้นที่ออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ “ศิษย์พบครู” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงบุคคลากรทางการศึกษา และความรู้นอกตำราที่ถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ของ “รุ่นพี่สู่รุ่นน้อง” 

Knowcean ก่อตั้งโดย 4 คนรุ่นใหม่อย่าง ปรางฉาย พิลาดิษฐ์ (CEO)  จิโรจ  แก้วมณี (CPO) พรหมพัฒน์ ไชยเดช (CTO) และ ตันติวรากรณ์ ประใจ (CMO) ที่ต่างคนต่างมีงานประจำ หากแต่มีจุดยืนเดียวกัน และใช้ Knowcean เป็นเสมือนจุดนัดฝันที่เพื่อนๆ ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา ด้วยมุ่งมั่นที่จะลดช่องว่างทางโอกาสแห่งการศึกษาระหว่าง ‘เด็กชนบท’ และ ‘เด็กเมือง’

คลื่นความรู้จากครูออนไลน์ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ทุกเวลา

Knowcean เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อคนสองกลุ่มเข้าด้วยกันคือ ‘ผู้อยากเรียน’ และ ‘ผู้อยากสอน’ ผ่านการเรียนออนไลน์ ‘ตัวต่อตัว’ แบบเรียลไทม์ เพื่อให้รุ่นน้องได้พูดคุย กับรุ่นพี่ที่มีทั้งความรู้เฉพาะทางและมากประสบการณ์ พร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม ด้านการวางแผนการศึกษาสำหรับเด็กประถมและเด็กมัธยม ทั้งยังเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน ช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายจิปาถะ โดยเน้นผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง คุณภาพของการศึกษา และยึดผลลัพธ์ของผู้เรียนเป็นเป้าหมายสำคัญ  

ประกายความคิดที่ก่อให้เกิด Knowcean จุดขึ้นครั้งแรกในวันที่ ปรางฉาย พิลาดิษฐ์ หรือ ‘หยิน’ ไปออกค่ายที่หนองคายและบึงกาฬ  ซึ่งเป็นจังหวัดที่หยินเกิดและเติบโตเช่นกัน ทำให้เธอมองเห็นความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางการศึกษามาโดยตลอด เมื่อได้พบเจอกับน้องๆ ตามชนบทห่างไกล เธอจึงเข้าใจถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้นอกตำราจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านความตื่นเต้นที่ฉาบฉายผ่านแววตาของน้องๆ ที่เต็มไปด้วยคำถาม 

“หยินอยากให้น้องๆ เข้าถึงการศึกษาที่ดี ได้รับโอกาสทางการศึกษา และปรึกษาเรื่องเรียนต่อกับรุ่นพี่ ที่มีประสบการณ์จริงได้ เราเลยคิดคอนเซ็ปต์หลักของแพลตฟอร์มขึ้นมา เริ่มต้นจากไอเดียเล็กๆ ที่อยากให้ผู้เรียนและผู้สอนมาเจอกัน โดยช่วงแรกเราจะเน้นสายวิชาการ เช่น คณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่น้องๆ บางคนอยากรู้ว่าคณะในฝันเรียนกันอย่างไร ตรงกับที่น้องๆ คิดไว้จริงหรือเปล่า แพลตฟอร์มของเราก็จะเชื่อมต่อรุ่นพี่ที่จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังต่างๆ มาให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาให้กับน้องๆ ในเวลาเดียวกัน”

Knowcean เปิดตัวในไทม์ไลน์เดียวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก และเป็นช่วงที่โรงเรียนปรับแผนการเรียนการสอนออนไลน์ตามนโยบายของภาครัฐพอดิบพอดี นักเรียนส่วนหนึ่งจึงคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์อยู่บ้าง ต่างก็เพียง Knowcean เป็นการสอนในลักษณะติวเตอร์แบบเรียลไทม์ (Real Time) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนระบุวิชาเรียนและครูที่ต้องการแบบตัวต่อตัว จึงเกิดการสื่อสารแบบ two-way communication ไม่ใช่การเรียนผ่านวิดีโอเหมือนหลักสูตรออนไลน์ทั่วไป

“เริ่มจากนักเรียนจะทำการรีเควสว่า น้องๆ อยากเรียนวิชาอะไรบ้าง แล้วครูจะตอบรับรีเควสของน้องๆ ในส่วนนี้เราจะไม่คิดค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนหรือค่าใช้จ่ายใดๆ แต่จะมีค่าใช้จ่ายในด้านครูผู้สอนในรายวิชานั้นๆ ซึ่งครูแต่ละท่านจะกำหนดอัตราค่าสอนเอง ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงราคาจนเป็นที่พอใจก็จะเริ่มสอนได้เลย โดยทาง Knowcean จะเก็บค่า Fee ตามจำนวนครั้งที่เข้าเรียนผ่านแพลตฟอร์มของเรา”

นอกจากนี้ Knowcean ยังพยายามจะเปิดกว้างทางการศึกษามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนที่มีความสนใจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาษาอังกฤษ จนถึงการให้คำแนะนำ แนวทางในการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ

อุปสรรคยุคตั้งไข่…แพลตฟอร์มดีที่อยากให้คนไทยรู้จัก ‘Knowcean’ 

ทุกการเริ่มต้นย่อมมีอุปสรรค แม้จะเปิดตัว ในช่วงที่การเรียนออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่จะทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม เป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของหุ้นส่วนทั้ง 4 คน

“ช่วงแรกๆ ยังไม่มีใครรู้จัก Knowcean เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายความสามารถของพวกเรามากๆ เราจึงอาศัยการแนะนำให้กับน้องๆ ที่เราคุ้นเคยก่อน ในส่วนของครู เราค่อนข้างโชคดีที่ได้เครือข่ายจากเพื่อนๆ พี่ๆ แต่การจะหาครูจากข้างนอกเข้ามาสอนในแพลตฟอร์มของเรา ก็ต้องอธิบายมากพอสมควร เพื่อให้เขาเข้าใจการทำงานและจุดมุ่งหมายของเรา ซึ่งเราเองก็ให้ความสำคัญอย่างมาก ในการคัดเลือกครูที่มีความรู้และประสบการณ์”

แม้การค้นหา ‘ผู้อยากสอน’ (ครู) จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทีมงาน หากแต่การทำให้แพลตฟอร์มเป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจาก ‘ผู้อยากเรียน’ (นักเรียน) ต้องอาศัยระยะเวลาและการโฆษณา แบบปากต่อปากในช่วงแรกของการตั้งไข่

“ถึงจุดนี้หยินมองว่า กระแสตอบรับเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง นอกจากจะเปลี่ยน mindset การเรียนออนไลน์ และเปลี่ยนพฤติกรรมของน้องๆ กับผู้ปกครอง ให้มาสนใจการเรียนติวพิเศษแบบ ‘Private Class’ ผ่านทางออนไลน์ได้ดีระดับหนึ่ง เรายังสามารถสื่อสารกับน้องๆ ได้ง่ายขึ้น ผ่านคำแนะนำแบบปากต่อปาก ปัจจุบันเรามียูสเซอร์ราว 200 กว่าคน ทั้งฝั่งนักเรียนและครู และเรารับฟังคำแนะนำของน้องด้วยว่า เขาอยากเรียนวิชาไหนบ้าง เราจะสรรหาครูที่ดี มีความสามารถมาสอนน้องๆ ตามที่เขาอยากจะเรียน”

อีกหนึ่งคอนเซ็ปต์หลักในยุคแรกเริ่มของ Knowcean คือเน้นคุณภาพของการศึกษาออนไลน์ พร้อมเปิดให้บริการกับนักเรียนกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ทีมงานจะดูแลน้องๆ ทุกคนที่เป็นยูสเซอร์ของแพลตฟอร์มได้อย่างดีและทั่วถึง โดยมีแผนระยะกลางถึงระยะยาวสู่การเป็นที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือน้องๆ แบบครบวงจร 

“ตอนแรกเรามีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและโฟกัสที่ประเทศไทยเท่านั้น พอเปิดตัวไปสักพัก เรามีนักเรียนไทยในอเมริกาจับคู่กับครูชาวไทยที่สอนจากอังกฤษ ทำให้เราเข้าใจเลยว่า แพลตฟอร์มของเราสามารถขยายไปไกลถึงต่างประเทศ บวกกับมีน้องๆ มาเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์เพื่อสอบ IELTS เพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ” 

“เราจึงเพิ่มบริการการให้คำแนะนำตั้งแต่เริ่มต้น สมัครเรียน และประสานกับทางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ทุกขั้นตอนเราจะไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากนักเรียนเลย โซลูชั่นนี้ เริ่มเมื่อปลายปีที่แล้ว (2020) เราต่อยอดแนวคิดไปสู่ในการพัฒนาการศึกษา และช่วยให้น้องๆ ทำตามความฝันในการเรียนต่อต่างประเทศ”

สร้างสรรค์สังคมใหม่ในแบบ ‘Sharing Community’

หลายคนอาจมองภาพลักษณ์ของ Knowcean เป็นเสมือนแพลตฟอร์ม เพื่อการศึกษาออนไลน์อีกหนึ่งบริการใหม่ที่มีความคล้ายคลึงกับการเป็น ‘ติวเตอร์ออนไลน์’ แต่สำหรับหุ้นส่วนทั้ง 4 คนแล้ว Knowcean เป็นมากกว่าการให้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ของการติวหนังสือแบบตัวต่อตัวผ่านทางออนไลน์ หากแต่เป็นการสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่เรียกว่า ‘Sharing Community’

“ส่วนตัวหยินมองว่า Knowcean ทำหน้าที่เป็น Sharing Community หรือพื้นที่เปิดกว้างให้รุ่นพี่แชร์ประสบการณ์ดีๆ ผ่านแพลตฟอร์มของเรา ขณะเดียวกันน้องๆ ก็ค้นหารุ่นพี่ที่พวกเขาอยากพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นได้ด้วย มันจึงเป็นชุมชนใหม่แห่งการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในโลกแห่งการศึกษา”

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่การเรียนออนไลน์ผ่าน Knowcean กลับเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ 

“ส่วนตัวหยินอยากให้ภาครัฐสนับสนุนแพลตฟอร์มการให้บริการธุรกิจในกลุ่ม Online Education ด้านการให้ความรู้ประชาชน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจทั่วประเทศ ได้รู้จักกับแพลตฟอร์มการให้บริการรูปแบบนี้มากขึ้น เพื่อจะได้ช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาส การเข้าถึงชุมชนเพื่อการแบ่งปันความรู้ที่มีประโยชน์ อาจต่อยอดไปถึงการเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อด้านการศึกษากับต่างชาติได้ด้วย”  

เกือบ 21 ปีแล้วที่โลกได้รู้จักกับ E-Learning ปัจจุบันการเรียนออนไลน์ได้พัฒนารูปแบบ ให้มีสีสันและทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสตาร์ทอัพน้องใหม่ Knowcean ที่เปรียบเสมือนเรือเล็กออกจากฝั่งท่ามกลางคลื่นลมโควิด-19 โหมกระหน่ำ เพื่อแล่นไปสู่มหาสมุทรแห่งความรู้อันกว้างใหญ่ และเชื่อมต่อผู้คนจากแดนไกลเข้าด้วยกัน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ