fbpx

From the Horror of ‘Cosmic’ to the Ink of ‘Illustration’ เต้-กีรติ สัตตาพิสุทธิ์ (Bigeggs Black Pen): เส้นสายลายสยอง กับมุมมองต่องานศิลป์และ ‘NFT’

ถ้าหากจะกล่าวกันถึง ‘งานเขียน’ และ ‘งานภาพ’ แล้วนั้น แม้จะมีวิธีการ และขั้นตอนที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองศาสตร์ ก็มีจุดร่วมแก่นกลางที่คล้ายคลึงกัน คือการเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในมโนสำนึก และจินตภาพ จากสิ่งที่ผู้ทำงานนั้นคุ้นเคย ให้ออกมาอยู่ในสิ่งสำเร็จสุดท้าย ที่ผู้เสพรับ จะสามารถมีส่วนร่วม และนึกตามได้

งานเขียน เขียนเพื่อให้ผู้อ่านนึกภาพตาม และ งานภาพ ลงเส้นเพื่อให้ผู้พบเห็น ได้นึกเรื่องราวที่อยู่ในแต่ละเส้นสายและสีสัน

… แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าหาก ‘งานเขียน’ บางชิ้น ก่อกำเนิดขึ้น จากจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่อยู่ในสำนึกของคนปกติทั่วไป? จะเป็นอย่างไร ถ้าหากผู้เขียนงานชิ้นนั้น ไต่เส้นแห่งความบ้าคลั่ง เดินทางไปสู่ห้วงมหรรณพอนธกาล ที่ไม่เคยมีใครไปถึง?

และจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากจะมีคนพยายามตีความสภาวะอันคลุ้มคลั่งเหล่านั้น ให้ออกมาเป็น ‘เส้นสาย’ แห่งงานภาพ?

ทุกอย่างดูซ้อนทับ สับสน และย้อนแย้ง แต่นั่น อาจจะเป็นคำจำกัดความที่ชัดเจนที่สุด ของงานเขียน และงานภาพในสาย ‘Cosmic Horror’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ความบ้าคลั่งแห่งจักรวาล’ อันเป็นงานสุด Niche ที่เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น จากความนิยมที่มีต่อนวนิยายสายจักรวาลบ้าคลั่งของ ‘Howard Philiph Lovecraft’ หรือ ‘H.P.Lovecraft’ นักเขียนนามอุโฆษ ผู้ถึงมรณกรรมตั้งแต่ทศวรรษที่ 30 ก่อนที่ผลงานของเขา จะข้ามมาท้าทายกาลเวลาในยุคสมัยปัจจุบัน

และ GM Live Thought ในครั้งนี้ ก็ได้สืบค้นในสายธารแห่งงานภาพวาด จนพบ ‘เต้-กีรติ สัตยาพิสุทธิ์’ นักวาดภาพ Illustration ลายเส้นไทย ผู้จับปากกา และถ่ายทอดความคลุ้มคลั่งของ H.P.Lovecraft ให้ออกมาเป็นผลงานที่ได้การยอมรับอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ NFT Portal (Bigeggs Black Pen | Linktree) ที่มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในหลากหลายมุมมอง ทั้งจุดเริ่มต้นของการวาด ความชื่นชอบที่มีต่องานสาย Cosmic Horror จนถึงมุมมองที่มีต่อความคาบเกี่ยวระหว่างงานศิลป์และ ‘NFT’ กับ ‘Midjourney’ อันเป็นที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลายในชั่วโมงนี้

Cosmic Horror: เมื่อจักรวาลคืออนันต์ และมนุษยชาตินั้น ‘ไร้ความหมาย’

แม้ว่าจะได้รับความนิยมอย่างมีนัยสำคัญในปัจจุบัน แต่งานสาย Cosmic Horror นั้น ก็ยังจัดว่าได้เป็นกลุ่มที่จำเพาะมากๆ และไม่ได้เป็นตลาดที่ใหญ่ ความเข้าใจ และการรับรู้ที่มีต่องานสายนี้ ก็มีอยู่ในระดับที่จำกัด แม้ว่ามันจะแทรกตัว และถูกนำมาใช้มาเป็นระยะๆ ตลอดช่วงเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาก็ตาม

เช่นนั้นแล้ว คำถามสำคัญที่ต้องเริ่มต้นในเบื้องแรกสุดคงหนีไม่พ้น… Cosmic Horror ‘คืออะไร?

‘ถ้านับเวลาในช่วงที่ H.P.Lovecraft ผู้ที่เริ่มต้นงานเขียนนวนิยายสายนี้มีชีวิตอยู่ คือต้นศตวรรษที่ 20 หลายสิ่งยังไม่ถูกค้นพบ หลายอย่างยังเป็นที่สงสัย หลายภูมิภาคของโลกยังไม่ถูกเข้าใจ ผสมผสานจนทำให้ภาษาในงานเขียนของเขา เต็มไปด้วยความกลัวและความหวาดระแวงครับ’ เต้-กีรติ สัตยาพิสุทธิ์ นักวาดภาพ Illustrator สาย Cosmic Horror กล่าวถึงที่มาที่ไปของงานสายนี้

‘ต้องเข้าใจว่า ยุคนั้น ต่างจากเวลานี้อย่างมาก ไม่มี Social Media ไม่มีวิธีการรับมือกับสภาวะจิตใจที่หวั่นไหว ไม่มีคำตอบที่สามารถค้นหาได้ง่ายๆ และมันอาจจะเป็นสิ่งที่รุนแรง และเก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ นั่นคือ ‘ความกลัวต่อสิ่งที่ไม่รู้’’ เต้กล่าวเสริม

Howard Phillips Lovecraft ผู้ทุกข์ทน และต้นกำเนิดแห่งนวนิยายสาย ‘Cosmic Horror’

เมื่อดูจากประวัติของ H.P.Lovecraft นักเขียนผู้เริ่มต้นงานในสายนี้ ก็จะพอทำความเข้าใจในหลายๆ สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ (หรือคำสาป…) ที่ทำให้เขาจรดปากกาลงแต่ละตัวอักษร เขาถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดจากทางบ้าน เขามีชีวิตที่ยากลำบาก เขาเหยียดเชื้อชาติอย่างเข้มข้น (ตามวิสัยของคนอเมริกันต้นศตวรรษที่ 20)

ไม่นับรวมกับที่เขาผจญกับความผิดหวัง ชีวิตแต่งงานล่มสลาย ถูกผู้อพยพต่างถิ่นทำร้าย และโศกนาฏกรรมชีวิตบนความทุกข์เข็ญแสนสาหัส และที่สำคัญที่สุด เขาใช้สารเสพติด เพื่อระงับความหวาดกลัวและห้วงความคิดอันเลวร้ายเหล่านั้น จนนำไปสู่ความตายในบั้นปลาย

สำหรับชายผู้น่าสงสารคนหนึ่ง ทุกสิ่งที่ไม่รู้ มันคือจักรวาลอันดำมืดที่ไม่อาจทำความเข้าใจ และตัวของเขา เป็นเพียงมดปลวกที่ไร้ความหมาย เฉกเช่นเดียวกับมนุษยชาติทุกคนที่เดินเคียงข้างกัน นั่นคือแก่นหลักของ Cosmic Horror

‘ผมคิดว่า เสน่ห์ของนวนิยายสาย Cosmic Horror ของ H.P.Lovecraft นั้น อยู่ที่ความเรียบง่าย ชัดเจน ตัวเอกของเรื่อง จะเป็นผู้มีการศึกษาสูง มีอัตตาเปี่ยมล้น ที่ต้องผจญกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือตรรกะและการอธิบายด้วยเหตุผลที่ตนเองมี ก่อนที่การยอมรับใน ‘สิ่งแปลกประหลาด’ ที่พบเจอ จะนำไปสู่จุดจบที่น่าเศร้าในตอนท้ายที่เป็นปลายเปิด กลายเป็นความคลุมเครือ และชะตากรรมของตัวเอก ที่ไม่แน่นอน ว่าพบกับความตาย หรือกลายเป็นบ้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่มีมาในนิยายเกือบทุกเรื่องครับ’ เต้กล่าวทิ้งท้าย

จากงานอดิเรก นำพาเส้นสายสู่ความบ้าคลั่งแห่งจักรวาล

ความสนใจในสิ่งหนึ่งๆ อาจจะถูกจุดประกายได้จากหลากหลายกระบวนการ และสำหรับเต้-กีรติ สัตยาพิสุทธิ์ จุดเริ่มต้นในเส้นทางการวาดภาพของเขา ก็มาจากสิ่งที่เรียบง่าย ไม่หวือหวา …

แต่นำไปสู่โลกกว้างที่ใหญ่กว่า และแวดวงที่จะนำมาซึ่งสไตล์อันเป็นลายเซ็นที่ติดตัวของตนเอง

‘ต้องบอกก่อนว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาจิตรกรรม ปติมากรรมและภาพพิมพ์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แล้ว ไม่ได้ทำงานตรงสายนะครับ คือกลับไปรับช่วงต่อกิจการที่บ้าน ที่เป็นอู่ซ่อมรถ ที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วใช้เวลาว่างหลังการทำงาน ฝึกฝนฝีมือวาดภาพจากที่ได้เรียนมา แต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไร’

All images are courtesy of: Bigeggs Black Pen | Linktree

และด้วยความสนใจที่มีต่อกลุ่มกระดานข่าว ‘Reddit’ อันเป็น Community รวมที่ใหญ่ที่สุด และมีหลากหลายเนื้อหา ในทุกเรื่องที่มีคนสนใจ (ตั้งแต่วิดีโอเกม นวนิยาย จนถึงเรื่องจริงจังอย่างการลงทุน เศรษฐศาสตร์ และปัญหาสุขภาพจิต) เต้ ได้เข้าไปยังกลุ่มของผู้ที่มีความชื่นชอบในนวนิยายของ H.P.Lovecraft และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง … ‘กระดานแลกเปลี่ยนภาพ Fanart’

‘Reddit เป็นกระดานข่าวระดับโลกที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งผมเองก็ได้เข้าไปร่วมกลุ่มของคนที่สนใจในนวนิยายของ Lovecraft และพบว่า มีคนเอาภาพวาดเหล่าเทพเจ้า Cosmic Horror ที่ตีความจากนวนิยายมาแลกเปลี่ยนกันดูบ่อยๆ ก็สนใจ เพราะตัวเองก็วาดภาพอยู่เป็นทุนเดิม และผลตอบรับที่ได้กลับมาก็ถือว่าดี รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราว และเนื้อหาในจักรวาลนิยายของ Lovecraft ไปในตัวด้วย’

All images are courtesy of: Bigeggs Black Pen | Linktree

และเมื่อได้ฝึกฝนฝีมือ เรียนรู้เรื่องราว และค่อยๆ พัฒนาลายเส้นจนเป็นเอกลักษณ์ เต้-กีรติ สัตยาพิสุทธิ์ ก็เริ่มต้นงานเสริมของตนเอง ด้วยการวาดภาพ Illustrator ในสาย Cosmic Horror ภายใต้นามปากกา ‘Bigeggs Black Pen’

แต่แน่นอนว่า การเริ่มต้นในเชิงพาณิชย์ศิลป์ช่วงแรก อาจจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่ราบรื่นนัก แต่สำหรับเขา ที่ทำจากใจรัก และมีงานประจำคอยเป็นฐาน ก็ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นอะไร

‘ช่วงปีแรกที่เริ่มต้น ค่อนข้างลำบากนะครับ เพราะขายไม่ได้เลย แต่ไม่ได้ท้อถอยหมดกำลังใจอะไร เพราะหนึ่งอาจจะด้วยมีงานประจำรองรับ และสอง ที่วาด เพราะชื่นชอบในงานสาย Cosmic Horror และไม่ได้คิดว่าจะต้องร่ำรวยจากการวาดภาพ ก็อาศัยความสม่ำเสมอ ฝึกฝน ลงผลงานขาย จนหลายเดือนผ่านไป คอลเลคชันแรกขายได้หมด มีคนติดตามใน Twitter มากขึ้น จนมีการติดต่องานจากต่างประเทศเข้ามาบ้าง ก็ทำให้สามารถไปได้อย่างราบรื่น’ เต้กล่าวถึงช่วงเวลาที่เริ่มต้นขายผลงาน

All images are courtesy of: Bigeggs Black Pen | Linktree

อย่างไรก็ตาม เต้ก็ยอมรับว่า เมื่อเทียบอัตราส่วนของลูกค้าระหว่างต่างประเทศกับไทยแล้ว การขายผลงานกับต่างชาติดูจะได้การตอบรับที่มากกว่า แม้ในปัจจุบัน แต่ในอีกทาง ความนิยมที่เพิ่มขึ้นในไทย ก็มีมากขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญ

‘ถ้าให้เทียบอัตราส่วนแล้ว… คนที่ซื้อผลงานของผม ประมาณ 80% จะเป็นชาวต่างชาตินะครับ คือส่วนมาก เขาจะรู้ว่าต้องการอะไร มีออเดอร์ที่ชัดเจน และเป็นที่แพร่หลายมากกว่า แต่สำหรับคนไทย ผมจะมีผลงานอีกคอลเลคชันที่เข้าถึงได้ง่าย แต่ความนิยมของงานสาย Cosmic Horror เอง ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น’

ในจุดนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือผลงานภาพวาดของ ‘คธูลู (Cthulhu)’ เทพปิศาจแห่งจักรวาลนิยาย H.P.Lovecraft ของเต้ ที่ได้ถูกใช้เป็นปกของ ‘เสียงเพรียกแห่งคธูลู (The Call of Cthulhu)’ เวอร์ชันแปลไทย โดยสำนักพิมพ์เวลา สำนวนแปลโดย นภ ดารารัตน์ รวมถึงภาพ Illustration ที่แถมสำหรับผู้ซื้อหนังสือ เป็นข้อยืนยันว่า งานสาย Cosmic Horror ก็เริ่มแทรกซึม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้วงสำนึกนักอ่าน และนักเสพคนไทยมากขึ้นด้วยเช่นกัน

NFT ข้อถกเถียงด้าน ‘พาณิชย์ศิลป์’

หากแต่ในการทำงานศิลปะ หนึ่งในข้อถกเถียงที่ดูจะเป็นประเด็นมานับตั้งแต่ยุคเก่าก่อน มาจนถึงปัจจุบัน ที่ยังคงหาข้อสรุปที่แน่นอนไม่ได้ และกลายเป็นเรื่องที่รุนแรงมากขึ้นท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่าน การติดต่อที่มากช่องทาง และการเข้าถึงกับการรับรู้ที่กว้างออกไป ว่าแท้จริง ‘การทำงานเชิงพาณิชย์ศิลป์’ นั้น มีคุณค่า เทียบเท่ากับกับการทำงานศิลปะ ‘เพื่อศิลปะ’ มากแค่ไหน?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่องานศิลปะ สามารถถูกแปลงสภาพ ให้กลายเป็น ‘สินทรัพย์ดิจิตอล’ หรือ ‘NFT (Non-Fungible Token)?

All images are courtesy of: Bigeggs Black Pen | Linktree

‘ประเด็นเรื่อง NFT หรือ Non-Fungible Token นี้ กระทบกระทั่งกันมาพักใหญ่พอสมควรนะครับ เคยรุนแรงถึงขั้นที่มีแคมเปญ ‘สายผลิตไม่เอา NFT’ อยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่า การมาถึงของ NFT มันก่อให้เกิดกระบวนการคัดลอกผลงานผู้อื่น การเอาผลงานที่มีอยู่แล้วไปจดลิขสิทธิ์เป็นของตนเอง สร้างความเสียหายให้เจ้าของงาน การหลอกลวงต้มตุ๋น มันเกิดขึ้นจริงๆ

แต่ในอีกทาง ก็ต้องมองว่า NFT มันคือโอกาสที่ศิลปินและนักสร้างสรรค์หน้าใหม่ จะสามารถสร้างที่ทางและจุดยืนในแวดวงได้ ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ขอเพียงมีผลงาน มีบัญชี Social Media และมีช่องทางรับเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่าการเป็นศิลปินจะง่ายนะครับ มันต้องผ่านการฝึกฝน และการจะเป็นศิลปินที่เลี้ยงชีพตัวเองได้ด้วยการทำงานด้านนี้อย่างเดียว ก็ยิ่งยากกว่ากันมาก’

และเมื่อเราถามต่อว่า อนาคตของโลกศิลปะและ NFT จะเป็นเช่นใด คำตอบที่ได้จากเต้ ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง

‘ผมมองว่า มันมีตลาดที่ชัดเจนในตัวเองนะครับ’ เต้กล่าวให้ความเห็น ‘ศิลปะในโลกความเป็นจริง และศิลปะในโลกดิจิตอล มันเคียงคู่กัน ขนานกันไป และมันอาจจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ในวันข้างหน้า ตราบเท่าที่เทคโนโลยียังคงเดินหน้าไปอย่างทุกวันนี้’

เช่นนั้นแล้ว สำหรับเต้ การทำงานศิลปะ ‘เพื่อศิลปะ’ หรือการทำงานพาณิชย์ศิลป์ อะไรสำคัญกว่ากัน? นี่คือสิ่งที่เราสงสัยใคร่รู้

All images are courtesy of: Bigeggs Black Pen | Linktree

‘คำถามตอบยากนะครับ (หัวเราะ) แต่ถ้าให้พูดกันตามตรง ผมคิดว่า ศิลปะ ไม่ว่ามันจะสูงส่งแค่ไหน มันจะต้องถูกสร้างมา ‘เพื่อรับใช้’ อะไรบางอย่าง นั่นคือสิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้บอกกล่าวกับเรามาโดยตลอด มันเคยรับใช้ศาสนา มันเคยรับใช้ความเชื่อ และในปัจจุบัน โลกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุน ถ้าเราไม่โกหกตัวเองจริงๆ ผมมองว่า เราไม่ควรจะต้องอายนะ ถ้าจะบอกว่า เราทำงานเพื่อเงิน นักสร้างสรรค์ก็ต้องเลี้ยงชีพตัวเอง แต่อยากให้มองว่า เงินที่ได้มา มันจะเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้เราสามารถทำงานได้ต่อไป และทำได้ดียิ่งขึ้นครับ’

บางที สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานเชิงพาณิชย์ศิลป์ และก้าวไปข้างหน้า อาจจะเป็นความสม่ำเสมอ ความพร้อม และการไม่มี ‘อัตตา’ ว่าจะดึงดันโดยไม่สนใจแวดล้อมประกอบ เช่นนั้น ก็จะทำให้สามารถไปถึงผลสัมฤทธิ์ที่เห็นได้จริงก็เป็นได้

‘Midjourney: เมื่อ AI สั่งวาด และความหวาดกลัวของเหล่าศิลปิน’

ถ้าหากใครตามติดโลกแห่งเทคโนโลยี หรือตามข่าวในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คงจะทราบกันดีว่า วิวัฒนาการของ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ ‘Artificial Intelligent (AI)’ ได้ก้าวไปอีกขั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้น สามารถก้าวข้ามกำแพงแห่ง ‘งานรังสรรค์ทางศิลปะ’ ไปกับแพลทฟอร์มอย่าง ‘Midjourney’ ที่แค่เพียงใส่คีย์เวิร์ด ป้อนคำสั่ง โปรแกรม AI ทรงพลัง ก็จะแปลงตัวอักษร เป็นเส้นสายลายสี ก่อกำเนิดเป็นภาพ Illustration ที่งดงามแปลกตาออกมาได้ในฉับพลัน

และมันได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในแวดวงนักวาดอย่างใหญ่หลวง ความตื่นตระหนก ความกังวล และข้อถกเถียงถึง ‘บทบาท’ ของเหล่าศิลปิน แพร่สะพัดเป็นไฟลามทุ่ง ว่าหากเป็นเช่นนี้ หรือว่าวันพรุ่ง เราทั้งผอง จะ ‘ตกงาน’ กันหมดเสียแล้ว ซึ่งเต้ ก็มีมุมมองในเรื่องนี้ที่แตกต่างออกไป

‘เอาเข้าจริงๆ การใช้ AI ทำงานด้าน Illustrator มันมีมาสักพักหนึ่งแล้วน่ะครับ’ เต้กล่าวให้ความเห็น ‘แต่กับ Midjourney นี้ ต้องเรียกว่ามันกระโดดไปอีกขั้นเลย เพราะแค่ใส่คำสั่งแล้วออกมาเป็นภาพ ไม่แปลกใจนะ ว่าทำไมมันกลายเป็นกระแส เพราะมันใช้งานง่าย ใครก็ใช้ได้’

อย่างนั้นแล้ว ศิลปินสาย Illustrator ยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่ในโลกศิลปะ?

‘ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ผมไม่คิดว่า AI จะมาแทนที่ฝีมือการวาดจากคนจริงๆ หรอกครับ งานที่ได้จากจักรกลหรือโปรแกรม มันคือการรวบรวม ประมวลผล และสร้างจากชุดคำสั่ง มันไม่ได้มีความเป็นปัจเจก หรือสไตล์ที่เป็นเฉพาะ อันเป็นสิ่งที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ แต่ในทางหนึ่ง ในอนาคตข้างหน้า ผมคิดว่า งานศิลปะสาย ‘Midjourney’ หรือสาย ‘Ai-Created’ อาจจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้เสพ และคนดูงานศิลป์ก็อาจจะแยกออก ว่าอันไหนคนสร้าง อันไหน AI สร้าง’

ถ้าเป็นอย่างนั้น ในทัศนะของเต้ ในฐานะนักวาด Illustrator มีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับการใช้ Midjourney เราได้หย่อนคำถามลงไปเพิ่มเติม

‘ตอนนี้ ใน Community ต่างประเทศ กำลังมีประเด็นถกเถียงกันยกใหญ่ เรื่องการใช้ Midjourney สร้างภาพ แล้วเอาไปจดลิขสิทธิ์เป็น NFT นี่ล่ะครับ คือต้องเข้าใจก่อนว่า ชิ้นงานที่สร้างจาก Midjourney นั้น ถ้าคุณจะเอาไปใช้ คุณต้องจ่ายเงินค่าผลงานให้กับทางผู้พัฒนาโปรแกรม แต่มีบางส่วน พอสร้างงานเสร็จ ไม่จ่ายเงิน เอาไปทำเป็นสินทรัพย์ดิจิตอลขายเลย เรียกว่าต้นทุนเป็นศูนย์ การลงแรงแทบไม่มี อันนี้ล่ะคือสิ่งที่น่ากังวลมากๆ’

บางที สิ่งที่น่ากลัวว่าเครื่องจักร หรือการมาถึงของเครื่องจักร อาจจะเป็น ‘มนุษย์’ ที่ใช้ระบบหรืออุปกรณ์เพื่อสนองประโยชน์ต่อตนเอง อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ครั้งแล้ว ครั้งเล่า และแทบไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยก็เป็นได้…

นวนิยาย รถมอเตอร์ไซค์วินเทจ ชีวิตอีกด้าน ของเต้-กีรติ สัตยาพิสุทธิ์

ในวันนี้ เต้-กีรติ สัตยาพิสุทธิ์ ยังคงใช้ชีวิตในฐานะศิลปิน NFT สาย Cosmic Horror ที่สร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับใช้เวลาว่างเฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไป อ่านนวนิยาย ฟังเพลง เล่นวิดีโอเกม และ…ขับรถมอเตอร์ไซค์วินเทจ ไปกลับกรุงเทพ-นครราชสีมา เพื่อพบปะเพื่อนฝูง เป็นครั้งคราว

‘มีเพื่อนสนิทสะสมรถคลาสสิคครับ เลยได้ความชอบติดตัวมา รู้ตัวอีกที ก็ชอบอะไรที่วินเทจไปแล้ว เรื่องรถมอเตอร์ไซค์ก็ยังไม่ได้จัดทริปอะไรมากมาย ยังไปกลับแค่กรุงเทพ-โคราช แต่ในอนาคตอาจจะมีไปไกลกว่านี้’

ดูจะเป็นชีวิตที่น่ารื่นรมย์ ลงตัว และสมบูรณ์แบบพอสมควรในมุมมองของใครหลายคน แต่สำหรับเต้ นี่ถือว่าเป็นปลายทางแห่ง ‘ความสำเร็จ’ ที่เขาตั้งใจไว้แล้วหรือไม่?

‘ยังนะครับ ยังคงอีกไกล เพราะหลังจากออกมาเป็นศิลปินเต็มตัว รายได้ยังค่อนข้างแกว่งตามสภาวะของตลาด NFT และโลกของ Cryptocurrency ก็ดีบ้าง แย่บ้างไปตามจังหวะ ยังห่างไกลจากคำว่าสำเร็จพอสมควร ซึ่งผมก็ยังหวังอยู่ในใจว่า สักวันในอนาคตข้างหน้า แม้จะยังทำงานวาดภาพสาย Cosmic Horror แต่จะขยายออกมาจากโลกดิจิตอล ตอนนี้ก็มีโปรเจ็กต์ใหม่ เป็นงานดรอว์อิ้งผสมสีน้ำ คอนเซปต์เหล่าเทพปิศาจในนิยายของ H.P.Lovecraft เช่นเคย’

ดำดิ่ง ดื่มด่ำ ลึกล้ำ … อนธกาล

ก่อนจากลากัน เรายิงคำถามสุดท้ายกับ เต้-กีรติ สัตยาพิสุทธิ์ หนุ่มเมืองโคราช ศิลปินสาย Cosmic Horror และนักวาด NFT Artist ในหัวข้อที่มักจะไม่ได้ถามกันบ่อยๆ แต่อดไม่ได้ ที่อยากจะลองปล่อยให้ความสงสัยได้รับการเฉลยสักครั้ง …

ว่าสิ่งใด คือเสน่ห์ที่ทำให้แฟนๆ ชาวไทย และต่างประเทศ ยอมรับในผลงานภาพวาดสาย Cosmic Horror ของเขา?

‘ถ้าให้พูดกันแบบกำปั้นทุบดิน งานของผมค่อนข้างจะทำลายสุนทรียภาพในสิ่งที่ไม่อาจรู้ ไม่อาจเข้าใจของนวนิยายจาก H.P.Lovecraft พอสมควรนะครับ (หัวเราะ) อาจจะเพราะผมวาดสิ่งที่ ‘อธิบายไม่ได้’ ให้ออกมาเป็นภาพทัศน์ที่ชัดเจน…


All images are courtesy of: Bigeggs Black Pen | Linktree

…แต่ในแง่หนึ่ง ผลงานทุกชิ้นที่ผมวาด ผมก็ไม่ได้วาดเฉพาะตัวละครที่ผู้คนรู้จักอย่างเดียว แต่จะวาดจาก ‘ทุกสิ่ง’ ที่สามารถตีความได้ บางชิ้นก็เริ่มจากศูนย์ บางตัวก็วาดยากมาก เพราะไม่มีการอ้างอิง หรือข้อมูลจากต่างประเทศอะไร แต่ผมก็ลองดู บางทีอาจจะเป็นสิ่งนั้นก็เป็นได้ ที่ทำให้หลายคนรู้สึกประทับใจ เพราะมันคือสิ่งที่ไม่เคยถูกนำเสนอมาก่อน….’

********************************************************************************************

“The most merciful thing in the world, I think, is the inability of the human mind to correlate all its contents. We live on a placid island of ignorance in the midst of black seas of the infinity, and it was not meant that we should voyage far”

สิ่งที่เป็นความเมตตาสูงสุดบนโลกนี้, ในความคิดของข้าพเจ้า, คือการไร้ความสามารถในจิตใจของมนุษย์ ที่จะเชื่อมโยงตีความทุกสรรพสิ่ง เราอาศัยอยู่บนเกาะแห่งความโง่งมที่ล้อมรอบไปด้วยมหาสมุทรสีทมิฬแห่งอนธกาลอันไร้ที่สิ้นสุด ที่ไม่ควรจะก้าวล่วงให้ไกลออกไปจากนี้ – H.P.Lovecraft

All images are courtesy of: Bigeggs Black Pen | Linktree

Ph’nglui mglw’nafh Cthulhu R’lyeh wgah’nagl fhtagn.

ในเคหาแห่งรุ’เยห์ คธูลูผู้สงบนิ่ง กำลังรอคอย … และเฝ้าฝัน…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ