fbpx

 “หน้าที่เด็ก” เพลงนี้เปิดมาแล้ว 70 ปี !

วันเด็ก คือวันสำคัญหลังเทศกาลปีใหม่  วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม  เพลง “หน้าที่เด็ก” หรือเรียกกันว่าเพลง “เด็กเอ๋ยเด็กดี”  มีอายุยาวนานถึง 70 ปีมาแล้ว เปิดตลาดเพลง ตั้งแต่ Gen Boomer จนผ่าน Gen X – Y-Z Alpha จนถึงปีนี้ที่เข้าสู่ Gen Beta (ตั้งแต่ปี 2568-2582)    

 เพลง “หน้าที่เด็ก”  ประพันธ์คำร้อง โดยชอุ่ม ปัญจพรรค์ ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน 

>> https://www.youtube.com/watch?v=Qru64iSRGHE

จัดเป็นเพลงเยาวชนของวงสุนทราภรณ์ ทำหน้าที่เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ทุกปี …. (เช่นเดียวกับเพลงเทศกาลอื่นๆ เช่น งานวันปีใหม่, สงกรานต์, ลอยกระทง) ที่ไหนจัดงานวันเด็ก ได้ยินเพลงนี้แน่นอน  คำร้องสั้นๆ จำง่าย และมีความหมายทุกตัวอักษร

ความเป็นมา “วันเด็กแห่งชาติ”

ในปี พ.ศ. 2498 ทางสหประชาชาติ ได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยหน้าที่เด็ก โดยนาย วี.เอ็ม.กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ได้เชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมจัดงานวันเด็ก เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

N4202_vivi

รัฐบาลไทย ซึ่งมี จอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศ ทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ และศาสนา

ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติคนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้นำเนื้อหา มาแต่งเป็นกลอนให้คล้องจองกัน และขอให้ครูเอื้อแต่งทำนองให้ จากนั้นก็นำเพลงนี้ไปเปิดทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ในวันเด็กทุกปี จนถึงบัดนี้

เนื้อหาดังกล่าวคือ

1. เด็กพึงมีศรัทธาเลื่อมใสในศาสนา
2. เด็กพึงเคารพ และรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมือง
3. เด็กพึงเชื่อฟังบิดามารดา ผู้ปกครองและครูอาจารย์
4. เด็กพึงมีกิริยาวาจาสุภาพต่อคนทั่วไป และเคารพนับถือผู้ใหญ่
5. เด็กพึงมีความกตัญญูกตเวที
6. เด็กพึงเป็นผู้มีระเบียบและรักษาความสะอาดเสมอ
7. เด็กพึงมีความมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร และตั้งใจศึกษาหาความรู้
8. เด็กพึงรู้จักประหยัดและเก็บออมทรัพย์
9. เด็กพึงมีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าพูดกล้าทำในสิ่งที่ควร และมีน้ำใจเป็นนักกีฬา
10. เด็กพึงทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และรู้จักรักษาสาธารณสมบัติของชาติ

วันเด็กแห่งชาติ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2498 กำหนดจัดงานในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม หลายปี

ผ่านไป  จึงได้เปลี่ยนตามความเหมาะสม เพราะ เดือนตุลาคม ยังมีฝนตกอยู่ไม่เหมาะกับการจัดงานเฉลิมฉลอง เริ่มดเปลี่ยนเป็น  “วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม”  ในปี 2508 สมัยรัฐบาล จอมพลถนนอม กิตติขจร

มารู้จัก “ชอุ่ม ปัญจพรรค์” กัน

ชอุ่ม ปัญจพรรค์ หรือ ชอุ่ม แย้มงาม (10 ธันวาคม 2464 – 28 กันยายน 2556) เป็นพี่สาวของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 1 เลขประจำตัวที่ 1 จบอักษรศาสตร์บัณฑิต รุ่นที่ 11 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทั้งนักเขียน นักแต่งเพลง และได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลนราธิป ประจำปี 2546

ทำงานในแผนกและกองต่างๆใน กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) เขียนเรื่องสั้น “ฉันกับกามเทพ” มาให้นิลวรรณ ปิ่นทอง แห่งนิตยสารสตรีสาร  ได้รับการตีพิมพ์เป็นเรื่องแรก เขียนนวนิยายสร้างชื่อหลายเรื่อง เช่น ทัดดาวบุษยา, บ้านนอกเข้ากรุง, เมียนอกกฎหมาย, มารพิศมัย, สร้อยฟ้าขายตัว ฯลฯ

ผลงานเพลงสร้างชื่อในวงสุนทราภรณ์ เช่น ข้องจิต, หนึ่งในดวงใจ (เพลงรับขวัญท่านผู้หญิงวิจิตรา ภริยา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับจากรักษาสุขภาพที่ประเทศอังกฤษ) , ช่อรักซ้อน, วิมานใยบัว, รักเอาบุญ, ดอกพุดตาน , สำคัญที่ใจ , ฝากลมวอน, แผ่นดินทอง , หน้าที่เด็ก”

          ทำงานอยู่ช่อง 3 มายาวนาน ตำแหน่งสุดท้ายคือ กรรมการเซ็นเซอร์ของสถานี คิดค้น เป็นเจ้าของสโลแกน “ คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีช่อง 3” อีกด้วย

          เพลงของวงดนตรีกรมโฆษณาการ (สุนทราภรณ์) มีหลากหลายหลายแนว และส่วนหนึ่งเพื่อสนองนโยบายรัฐ โดยใช้เพลงเป็นสื่อในการเข้าถึงประชาชน ผ่านวิทยุกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์)  เช่น เพลงสดุดีและเพลงปลุกใจ, เพลงสถาบัน,เพลงจากวรรณคดี, เพลงเยาวชน, เพลงเทศกาลและประเพณี, เพลงชาวนา-ชาวประมง, เพลงคติธรรม และปรัชญาชีวิต, เพลงยกย่องสตรีและชมธรรมชาติ, เพลงรักพิศวาส , เพลงสะท้อนสังคม,  เพลงละครและภาพยนตร์ เป็นต้น

เพลงกลุ่มเด็กและเยาวชนของสุนทราภรณ์

ในกลุ่มเพลงเยาวชนของวงสุนทราภรณ์ มีจำนวนไม่มาก บางเพลงสามารถใช้ร่วมในวันเด็กได้  เช่น

  1. เพลง “หน้าที่เด็ก” (ปี 2498) ขับร้องหมู่ โดยคณะนักร้องวงสุนทราภรณ์ (คำร้อง ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน) – “เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน หนึ่งนับถือศาสนา สองรักษาธรรมเนียมมั่น…” (บางคนเรียกตามประโยคขึ้นต้น เด็กเอ๋ยเด็กดี)
  2. เพลง “หนูเอย” (ปี 2488 –  คำร้อง-ทำนอง เวส สุนทรจามร/ เอื้อ สุนทรสนาน) … “หนูเอย หนูจงฟัง พี่จะสอน พี่จะสั่ง หนูจงฟังไว้ให้ดี หนูเอย … สมัยนี้ เป็นสมัยที่เอาดีกันด้วยปัญญา …” บันทึกเสียงครั้งแรกโดย มัณฑนา โมรากุล ครั้งที่สองโดย บุษยา รังสี
  3. เพลง “หนูเล็ก” (ปี 2492-2493 คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล คำร้อง เอื้อ สุนทรสนาน) “พวกหนูเล็กเด็กทั้งหลาย อน่านอนตื่นสายเป็นเด็กเกียจคร้าน … ” บันทึกเสียงครั้งแรก โดย จันทนา โอบายวาทย์ ครั้งที่สอง โดย ศรีสุดา รัชตะวรรณ
  4. มาร์ชเยาวชนชาติไทย (คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ)  ขับร้องหมู่ โดยคณะนักร้องวงสุนทราภรณ์  –  เยาวชนชาติไทย ต้องหยิ่งในความเป็นไทย ชีวิตจิตใจ อย่าให้ใครดูหมิ่น
  5. รำวงเยาวชนไทย (คำร้อง เลิศ ประสมทรัพย์ ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน) “เสียงโทนเย้ายวนหัวใจ เยาวชนไทยพร้อมใจกันรื่นเริง มาร่วมบันเทิง สนุกรื่นเริงด้วยการรำวง…”

อีก 2-3 เพลง แม้จะจัดเป็นเพลงเด็ก และไม่ค่อยได้เปิดในงานวันเด็กสักเท่าไหร่  เช่น ตาอิน

กะตานา (คำร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน)  ,  หนังสือจ๋า ( คำร้อง พรพิรุณ ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน), จงทำดี (ยุคจอมพลถนอม) เป็นต้น

          วันเสาร์นี้ อย่าลืมระลึกความหลังกับเพลงนี้กันนะ !

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ