เรื่อง : วิทยากร โสวัตร
“ฉันเป็นคนที่เกิดมาพร้อมกับร่างกายที่อ่อนแอ แต่สุขภาพของฉันดีเยี่ยมมากเพราะฉันไม่เคยกังวลถึงความเจ็บป่วยนั้น ฉันชอบสูบบุหรี่และดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ หากเธอมาเยี่ยมฉันเวลานี้ เธอจะพบฉันนั่งอยู่ในห้องทำงานท่ามกลางม่านหนาทึบของควันบุหรี่และกลิ่นกาแฟ ฉันชอบทำงาน ดูเหมือนว่าตลอดชีวิตฉันจะไม่เคยปล่อยเวลาให้ล่วงไปแม้ชั่วอึดใจโดยที่ฉันไม่ได้สร้างสรรค์อะไรขึ้นมา…ฉันให้วันเวลาในชีวิตดำเนินไปกับการแต่งหนังสือและเขียนรูป ความสุขอันเกิดจากการได้ทำงานศิลปะสองอย่างนี้เป็นความสุขเหนือกว่าความสุขอื่นใดในชีวิตฉัน วันแล้ววันเล่าที่ประกายไฟแห่งความคิดฝันของฉันได้ถูกหลอมละลายผ่านน้ำหมึกและแผ่นกระดาษ…”
(หนี้ชีวิต A SELF – PORTRAIT, คาลิล ยิบราน, สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง, น.30-31)
ความตายถูกแยกออกจากชีวิตของเราตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
ผมเกิดคำถามนี้ขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง ระหว่างกินกาแฟและจุดบุหรี่สูบ กาแฟนั้นมาจากอเมริกา ส่วนบุหรี่มาจากฝั่งลาว มันเป็นของขวัญแห่งมิตรภาพจากอาจารย์สองท่าน ปกติผมจะไม่สูบบุหรี่เลย แต่สูบเป็น และถ้าจะสูบผมจะสูบ Marlboro LIGHTS หรือไม่ก็ Marlboro silver และต้องมาจากต่างประเทศเท่านั้น ไม่ใช่ซื้อในไทย เหตุผลเดียวคือผมเกลียดฉลากรณรงค์ของไทย
ผมว่าการออกแบบบุหรี่ยี่ห้อนี้สวยงามมาก รูปทรงของซอง สี ตัวหนังสือ การจัดวางองค์ประกอบถือว่าคลาสสิก และถึงแม้ต้องถูกบังคับให้เขียนคำเตือนถึงพิษภัยบุหรี่ การวางคำและตัวหนังสืออย่าง Smoking kills และ Smoking seriously harms you and others around you มันก็รับกันไปหมด ทั้งตัวหนังสือสีดำ รองรับด้วยพื้นสีขาวของซอง ตัวหนังสืออยู่ในกรอบสีดำในสัดส่วน 1:3 ของพื้นที่ ไม่ต้องมีภาพ (อันนี้ผมถือว่าเคารพสติปัญญาและจินตนาการของเรามาก) ทีนี้ลองเทียบกับที่เป็นคำและตัวหนังสือและภาพที่ไทยเราใช้สื่อเพื่อรณรงค์ให้คนไม่สูบบุหรี่สิครับ มันกดทับ กินพื้นที่ และทำลายความงามไปเสียหมด
นี่สะท้อนโครงสร้างศีลธรรมของรัฐชาติอย่างถึงแก่น แต่เวลาเราพูดถึงกรอบคิดด้านศีลธรรม เรามักจะคิดถึงศาสนา ถ้าเป็นไทยก็คือศาสนาพุทธ แต่เราลืมไปหรืออาจไม่รู้ว่าหลักการทางศาสนาพุทธในไทยนั้น ถูกทำให้เป็นแบบไทยๆ มาตั้งแต่สมัย ร.๕ – ร. ๖ เพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งก็แค่เลือกเอาบางหลักการของพุทธมาปรับเพื่อรับใช้อุดมการณ์นี้เท่านั้น แล้วสร้างให้เป็นโครงสร้างศีลธรรม-จริยธรรมหลักของชาติ แล้วแพร่กระจายผ่านการศึกษาทั้งในและนอกระบบมาจนทุกวันนี้
และที่สำคัญมันได้ละเว้นด้านสำคัญที่สุดของพุทธศาสนาไป นั่นคือวิปัสสนา เพราะเห็นว่า วิปัสสนาเป็นวิชาที่ไม่มีหลักจะสอบไล่ได้และยังทำให้คนมุ่งไปสู่การละจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ซึ่งนอกจากจะขัดแย้งกับความรักและความยึดมั่นใน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วยังขัดแย้งกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอีกด้วย ถึงขนาดที่ในยุคพัฒนาประเทศนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้โจมตีการศึกษาทางด้านวิปัสสนาอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นการสอนศาสนาที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศ กรณีวิวาทะกับ พุทธทาสภิกขุ เรื่อง จิตว่าง ยิ่งชัดเจน*
ทั้งๆ ที่ความตายก็คือบทเรียนสูงสุดของวิปัสสนา !
(*อ่านรายละเอียดได้จาก ๑๐ ปัญญาชนสยาม เล่ม ๑ ปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะบทที่ ๔ การสถาปนาความหมายของ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ของ สายชล สัตยานุรักษ์)
ผมมีชีวิตผูกพันกับแม่ (2476-2549) และพี่ชายคนโต (2500-2559) และได้มีโอกาสเฝ้าสังเกตการตายของทั้งสองอย่างใกล้ชิด สำหรับผมการตายของแม่และพี่ชายเป็นความงาม ความทุกข์ทรมานในพิษไข้นั้นมีแน่นอน แต่อาการน้อมรับความตายของทั้งสองนั้นเป็นความงดงามหมดจด เช่นเดียวกับคนในวัฒนธรรมลาวในหมู่บ้านที่ผมเคยพบพานสมัยบวชเณร ซึ่งทำให้ผมนึกไปถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของผู้คนเหล่านั้น ที่สอดรับกับคำผะหยา (ปรัชญกวีแบบลาว) ที่พูดติดปากกันเป็นปกติธรรมดา
ซื่อว่าความตายนี้แขวนคอคู่บาทย่าง
ไผกะแขวนอ้อนต้อนเสมอด้ามดั่งเดียว
อันว่าความตายนี้แขวนคอทุกเซ้าค่ำ
ตื่นมื้อเซ้าเห็นหน้าจังว่ายัง
ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่ก็คือมรณานุสสติทุกๆ ก้าวย่างและลมหายใจนั่นเอง
เรารู้ว่ากาแฟมีโทษ แต่เราก็กินมันด้วยความรื่นรมย์ และเพื่อกระตุ้นประสาทให้ตื่นขึ้นจากความงัวเงียไม่สดชื่นเพื่อทำงานที่เรารักหรืองานแห่งชีวิต
เรารู้ว่าบุหรี่มีภัย แต่เราก็สูบและสืดควันสีละมุนด้วยความรื่นรมย์ ผ่อนคลาย และในบางค่ำคืนที่กรำงานเขียนจนดึกดื่น ควันสีละมุนนั้นก็ทำให้ความตื้อตึงในสมองปลอดโปร่ง
เช้าวันนั้น…
กาแฟดำร้อนอยู่ในถ้วยกาแฟ กลิ่นหอมเผยตัวออกมากับไอสีขาวจางๆ ผมตักน้ำตาลใส่ลงไปหนึ่งช้อนโดยไม่คน ถือเป็นน้ำตาลช้อนพิเศษในโอกาสที่ได้สูบ Marlboro เพื่อกาแฟคำสุดท้ายความหวานจะได้ติดปลายลิ้นและอาบชุ่มในช่องคอรับควันคำสุดท้าย สูดลงในเต็มที่และให้อยู่ในร่างนานที่สุด ก่อนจะค่อยๆ ปล่อยควันสีขาวละมุนหม่นออกมา –
ให้ตายเถอะ ผมชอบสีควันบุหรี่เป็นบ้า !
มันทำให้ผมนึกถึงภาพหญิงสาวคนหนึ่งที่ลอยมาพร้อมกับกลิ่นหอมของยาเส้นกลิ่นเชอรี่
ลีลาของเธอละเมียด ตั้งแต่คลี่กระดาษเปลือกข้าวโพด หยิบยาเส้นออกจากห่อแล้ววางโรยเรี่ยลง เกลี่ยให้เสมอ จังหวะที่เธอพับกระดาษม้วนเข้ามาเหมือนบี้วันเวลาในอดีตและอนาคตให้ป่นสลายลงตรงนั้น
คุณต้องเห็นแววตาตอนที่เธอมวนเสร็จ หญิงสาวรูปหน้าเรียว ผิวสีน้ำผึ้งเข้ม ผมยาวสลวย แววตาหยาดแต่มีประกายขบถต่อทุกกฎเกณฑ์
ผมกลืนน้ำลายตอนที่ไฟวาบขึ้นที่ปลายบุหรี่ ผมเดินเข้าไปนั่งข้างๆ เธอหยิบบุหรี่ออกจากริมฝีปากเฉียบแล้วยื่นมา ผมชอบลีลาควันที่เธอปล่อยออกมาแบบให้มันออกมาเองจากจมูกและปากเรี่ยไล้ไปตามแก้ม ไรขน เนินไหล่ และเรือนผม แล้วก็หายไปในอากาศ
ผมยังจำความรู้สึกในสายควันกลิ่นยาเส้นที่อบร่ำความหอมของเชอรี่จากมือเธอได้
และรสจูบนั้น !
ทุกๆ ครั้งที่สูบบุหรี่ ผมรู้สึกได้ถึงรสจูบนั้น และถ้านั่นเป็นริมฝีปากของความตายผมก็ยินดี.
วิทยากร โสวัตร คนขายหนังสือและคนสวนแห่งฟิลาเดลเฟีย:ร้านหนังสือในสวนดอกไม้