fbpx

เจอร์เก้น คล็อปป์ ชายผู้ใช้หลักหยิน-หยาง เสกให้ลิเวอร์พูลกลับมาสู่ภาวะ Red Machine อีกครั้ง…

เรื่อง: สันทัด โพธิสา

ในอดีต คำว่า Red Machine ซึ่งเป็นฉายาของทีมลิเวอร์พูล ไม่ได้คิดขึ้นมาเท่ๆ หากแต่เมื่อสมัยเกือบ 40 ปีก่อน สไตล์การเล่นของลิเวอร์พูลนั้นไม่ต่างอะไรกับ ‘เครื่องจักรสีแดง’ ที่มีความแข็งแกร่ง เดินหน้าเพื่อทำประตู ก่อนจะปิดจ็อบคว้าชัยชนะมาครั้งแล้วครั้งเล่า

ทว่ากว่า 30 ปีให้หลังมานี้ ลิเวอร์พูลห่างหายจากทีมที่มีสไตล์การเล่นอันน่าเกรงขาม จนกระทั่งการมาของผู้ชายหน้าเปื้อนหนวดสวมแว่นที่ชื่อ เจอร์เก้น คล็อปป์…

คล็อปป์เข้ามาคุมทีมลิเวอร์พูลเมื่อปี 2015 ด้วยความหวังของชาวเดอะค็อปว่า นี่คือคนที่ใช่ เพราะที่ผ่านมา หลังจากขึ้นครองแชมป์ดิวิชั่น 1 ครั้งสุดท้ายเมื่อฤดูกาล 1989-1990 หลังจากนั้น ผู้จัดการทีมคนแล้วคนเล่า ก็ไม่สามารถทำทีมที่เคยได้ชื่อว่าเป็น ‘เครื่องจักรสีแดง’ ประเภทเล่นเกมรุกอันตื่นตาตื่นใจได้อีกเลย กระทั่งการมาของผู้จัดการทีมชาวเยอรมันคนนี้

ถามว่า ทำไมคล็อปป์ถึงเป็นคนที่ใช่ เขาเคยประกาศกร้าวตั้งแต่มาคุมทีมลิเวอร์พูลใหม่ๆ ไว้แล้วว่า “สิ่งที่ผมรักนั้นไม่ใช่ฟุตบอลแบบราบเรียบ แต่เป็นฟุตบอลแบบนักสู้ที่ผมชื่นชอบ”

นั่นเอง จึงเป็นที่มาของการติดตั้งสไตล์การเล่นให้นักเตะลิเวอร์พูลยุคใหม่ ที่ผู้คนในโลกฟุตบอลตั้งฉายาว่า ‘เฮฟวี่ เมทัลฟุตบอล’ พูดให้เห็นภาพ คือการวิ่งไล่ล่ากดดันคู่ต่อสู้ ชนิดไม่ให้หายใจ แล้วก็เปิดเกมบุกใส่ชนิดสายฟ้าแล่บ

สิ่งที่คล็อปป์ทำ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เขาเคยใช้วิธีการทำทีมแบบนี้มาตั้งแต่สมัยคุมทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในบุนเดสลีกา เยอรมัน คล็อปป์สั่งให้ลูกทีมเล่นกันด้วยความรวดเร็ว เปิดเกมบุก วิ่งสู้ฟัด

จากทีมอันดับ 13 ก่อนคล็อปป์เข้ามาคุมในปี 2008  จบฤดูกาลนั้น ดอร์ทมุนด์ขึ้นไปอยู่ที่ 6 ของตาราง และอีก 2 ปีต่อมา คล็อปป์ก็พาดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์บุนเดสลีกา ก่อนจะป้องกันแชมป์ได้อีกสมัยในปีถัดมา

แน่นอนว่า สไตล์การทำทีมของเขา นักเตะต้องตอบโจทย์เรื่องพละกำลังและความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่งสมัยเป็นกุนซือกับทีมไมนซ์ 05 ในเยอรมัน คล็อปป์พาลูกทีมไปฝึกซ้อมที่ remote lake ประเทศสวีเดน

ซึ่งที่นั่นไม่มีไฟฟ้าใช้ คล็อปป์กับลูกทีมไปใช้ชีวิตฝึกซ้อมอยู่ที่นั่นแบบไม่มีอาหารติดตัวไปเสียอีก ใครอาจจะคิดว่านี่เป็นการฝึกทหารอยู่หรือเปล่า เปล่าเลย! นี่คือการฝึกซ้อมฟุตบอล และสิ่งที่ได้กลับมาจากการฝึกครั้งนั้นก็คือ ความแข็งแกร่ง และความสามัคคีของทีม

จากไมนซ์ 05 มาสู่โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จนมาถึงลิเวอร์พูล ไม่แปลกที่คล็อป์จะใช้วิธีเดียวกัน ซึ่งตอนย้ายมาคุมลิเวอร์พูลใหม่ๆ ก็มีข่าวเล็ดรอดจากแคมป์ฝึกซ้อมว่า บรรดานักเตะซ้อมกันปางตาย บ้างก็ว่าคล็อปป์ทำนักเตะสภาพร่างกายกรอบ ส่งผลให้ในเกมช่วง 10 นาทีสุดท้าย ลิเวอร์พูลมักจะแผ่วปลายเป็นประจำ

แต่คล็อปป์จะมีช่วงเวลาฟูมฟัก ‘ทีมของเขา’ อยู่ราวๆ 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้นักเตะตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาต้องการ หลังจากนั้น ทุกคนจะวิ่งและเล่นในเกมที่ได้ดังใจเขา พิสูจน์ได้จากฟอร์มโดยรวมของนักเตะลิเวอร์พูลในวันนี้นั่นเอง

ในสนามซ้อม เขาโหด เข้ม สร้างความจริงจังให้ลูกทีม ทว่าภายใต้แว่นตากรอบหนา หนวดเคราสีทองรกครึ้ม คล็อปป์มีวิธียืดหยุ่นต่อวิธีการเข้มๆ ของเขา กุญแจสำคัญในที่นี้ มันคือ ‘ความสบายใจ’

ผู้จัดการทีมคนนี้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้นักเตะในการดูแลของตัวเอง มีความสบายใจ วิธีการหนึ่งของเขาคือ ‘การซื้อใจนักเตะ’

ครั้งหนึ่งเคยมีนักเตะต้องการขอลาซ้อม เพื่อกลับไปร่วมงานวันเกิดแม่และใช้เวลากับครอบครัว ซึ่งเรื่องทำนองนี้มันอยู่นอกเหนือกฎกติกาของการซ้อมอยู่แล้ว แต่คล็อปป์อนุญาตแบบไม่ลังเล

เพราะรู้ว่าหากห้ามปราม หรือยื่นกฎเหล็กไป นักเตะคนนั้นก็จะเกิดความเครียดเสียเปล่าๆ เขาคิดแค่เพียงว่า เมื่อ ‘ซื้อใจ’ นักเตะได้ เขาก็จะพร้อม ‘ให้ใจ’ กลับมา ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ

ไม่ใช่แค่นักเตะ แต่คล็อปป์ยังซื้อใจแฟนบอลอีกด้วย ครั้งหนึ่ง ช่วงสมัยคุมทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คล็อปป์ใจป้ำลงทุนปิดผับ แล้วพาบรรดาแฟนบอลไปเลี้ยงเบียร์ฉลองคริสมาสต์ จนต่อมา แฟนๆ ถึงกับทำป้ายที่เขียนคำว่า Danke Jurgen แปลว่า ขอบคุณเจอร์เก้น ไปติดยังสนามเลยทีเดียว

ถึงวันนี้ วิธีการเอา ‘ใจ’ แลก ‘ใจ’ ทั้งในสนามและนอกสนามของเขา นำมาซึ่งความทุ่มเทของนักเตะ รวมทั้งเสียงเชียร์ที่หนุนหลังเขาตลอดมา และแน่นอนว่า มันส่งผลไปถึงความสำเร็จที่ตามมาด้วย

โดยเฉพาะกับทีมล่าสุดอย่างลิเวอร์พูล ที่ถึงตรงนี้ เรียกว่ากว่า 90% ไปแล้ว กับโอกาสการหยิบถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นสมัยแรก หลังห่างเหินมากว่า 30 ปี (ได้ถ้วยแชมป์ดิวิชั่น 1 อังกฤษเมื่อปี 1989-1990 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นพรีเมียร์ลีก)

เจอร์เก้น คล็อปป์ อาจจะไม่ใช่ผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดในโลก แต่การจะก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการที่ต้องควบคุมคนให้เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ จำเป็นต้องใช้หลักจิตวิทยา ‘มีหนัก..มีเบา’

ซึ่งผู้ชายคนนี้ทำได้ดี ดีจนเห็นเป็นภาพผลงานของลูกทีม ที่วิ่งพล่านอยู่ในสนามแบบนั้นนั่นยังไง…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ