หกข้อว่าด้วยการแปรอักษรงานจตุรมิตรสามัคคี
เรื่อง: ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ – สำนักกิจการและสื่อสารองค์กร บมจ. บีอีซี เวิลด์
ช่วงนี้มีคนพูดเรื่องนี้เยอะมาก ยิ่งพอรู้ว่าผมเป็นเด็กสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นหนึ่งในจตุมิตรสามัคคี ก็มีคนทั้งถามทั้งแหย่เรื่องนี้มากกว่าสิบคนในช่วงไม่กี่วันนี้ งานผมก็ยุ่งมากเสียด้วยแต่คำถามเหล่านั้นก็ทำให้ผมได้ทบทวนเรื่องนี้ เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่มีใครก็ไม่รู้ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลยพยายามสร้างกระแสให้ยกเลิกบ้างล่ะ ต่อต้านการแปรอักษรบ้างล่ะ ผมได้แต่ใช้เวลาล้มตัวลงนอนก่อนจะหลับ 2-3 คืนที่ผ่านมาคิดเรื่องนี้ หลังจากคิดถึงช่วงเวลาการแปรอักษรทำให้จำได้ว่า
1. การเข้าแปรอักษรเป็นการแสดงการมีส่วนร่วมสำหรับ เด็กผอม ๆ แห้ง ๆ เตะบอลไม่เก่งอย่างผม ซึ่งอยากทำอะไรให้โรงเรียนบ้าง ที่สำคัญการมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่การแปรอักษรนะครับ ผมเข้าร่วมตั้งแต่ “ลงโค๊ด” ลงโค๊ต คือการเขียนลงในช่องว่ารูปที่จะแปรนี้ เพลทอันนี้ต้องใช้สีอะไรบ้าง เป็นงานละเอียดมาก จำได้ใช้เวลาลงโค๊ดกันเป็นเดือน อาสากันมาทำ ทำกันตอนเช้าและเย็น ก่อน-หลังการเรียน และช่วงใกล้วันก็แอบโดดเรียนมาทำ มีคุณครูมาตามนะ แต่ครูก็ไม่ตีที่โดดเรียน … สิ่งที่ทำเป็นกระบวนการซึ่งทำให้เรามีการวางแผนเวลาทำงาน มีความละเอียดแบบไม่สามารถผิดพลาดได้เลย เพราะความผิดพลาดจะทำให้ส่วนรวมเสียหายได้
2. ในวันงานการแปรอักษร เป็นการเรียนรู้ที่จะทำตามคำสั่งของพี่ ๆ และพี่ ๆ เชียร์ลีดเดอร์ ผมรู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเพื่อน ๆ ทั้งหมดบนอัฒจันทร์ รู้ว่าพวกเราทุกคนต้องทำพร้อมกันมันถึงจะสำเร็จ คนเดียวจะไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้เลย แต่คนเดียวสร้างความเสียหายได้ ถ้าไม่ทำพร้อมและเหมือนคนอื่น เราจึงตั้งใจกันมาก
3. ความสุข คือเมื่อรุ่นพี่สั่งให้เรายกเพลทพร้อมกัน แล้วได้ยินเสียงที่คนดูบนฝั่งตรงข้ามปรบมือให้ด้วยความชื่นชม นั่นคือความภูมิใจ เติมความฮึกเหิมของพวกเราที่มีเกือบเต็มตลอดเวลาอยู่แล้ว ยิ่งเต็มล้นไปอีก จำได้มีการแปรเป็นรูป “วัดพระแก้ว” ที่มีเทคนิคพิเศษ โดยเป็นหน้าที่ของคนที่ได้นั่งตรงที่แปรในส่วนของหลังคาพระอุโบสถ ซึ่งพอพวกเรายกเพลทแล้วเราก็ได้ยินเสียงปรบมือดังเกรียวกราวเพราะความสวยงาม แค่นี้พวกเราก็สุขใจสุด ๆ แล้ว โดยผมเป็นกลุ่มคนที่ได้กระจกเงาเล็ก ๆ ที่มีหน้าที่ในการเอากระจกสะท้อนแดดกลับไปยังผู้ชมให้เห็นเป็นแสงระยิบระยับของหลังคาอุโบสถ (เป็นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กสมัยนั้น) ซึ่งจำได้ว่าพอพวกเรานำกระจกเงาสะท้อนแสงแล้วจะได้ยินเสียงปรบมือที่ยาวนานมาก ๆ พร้อมเสียงวิ๊ดวิ้วตลอด และนั่นแหละคือความสุข ความภูมิใจ ความตื้นตันที่สุด ๆ จริง ๆ ครับ
4. ปีที่ผมแปร ผมเจอฝนลงมาห่าใหญ่ แต่เชื่อไหมครับ ผมไม่มีความกลัวแฉะเลย จำได้แต่กลัวว่าเพลทจะแฉะ เพราะถ้าเพลทแฉะแล้วเราจะแปรอักษรต่อไม่ได้ จำได้พวกเราปกป้องเพลทกันสุดฤทธิ์ ที่สำคัญวันนั้นกลับบ้านแบบโทรม ๆ แฉะ ๆ แต่ผมโชคดีที่พ่อผมไม่ว่าอะไรเลย ไม่มีการตำหนิโรงเรียนที่ปล่อยนักเรียนตากฝน มีแต่ความชื่นชมและภูมิใจลูกชายคนนี้ … สรุปคือ ฝน ร้อน ไม่ใช่ปัญหาของผมเลยครับ
5. ปีต่อ ๆ มาที่ไม่ได้แปรอักษร ผมก็มาเป็นคนดูแลน้อง ๆ เสริฟอาหารให้น้อง ๆ ปฐมพยาบาลน้อง เข้าไปแปรแทนตอนน้องไปเข้าห้องน้ำ คือแม้ไม่ได้แปรอักษร แต่พวกเราก็มา เชียร์บอลอ่ะชัวร์อยู่แล้ว แต่รู้ตัวว่ามีหน้าที่ มากกว่านั้น คือการให้กำลังใจพี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อน ๆ ของเราทุกคน
6. การแข่งขันฟุตบอล ตอนเชียร์ก็เต็มที่ มีจิกกัดเพื่อนต่างโรงเรียนบ้าง (ที่จริงไม่ใช่แค่บ้าง แต่จิกกัดกันมาตลอด) มีปีที่สวนกุหลาบเป็นแชมป์ เราก็ดีใจยิ่งกว่าแมนยูฯ เป็นแชมป์ (หมายถึงแมนยูปีนั้นนะ คงไม่ใช่ปีนี้) ถ้าเราแพ้เราก็ดราม่ากันสุด ๆ ร้องไห้ก็สุด ๆ แต่เราก็เรียนรู้ว่า ชนะก็ดี แพ้ก็เป็นไปได้ ทำให้เรายอมรับผลการแข่งขันทุกอย่างได้ดี ขอแค่ทำเต็มที่ก็พอ
ฉะนัั้นการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตร ไม่ใช่แค่การเตะบอลของนักเรียนนะครับ มันคือ ‘มหกรรมการฝึกบุคลากรของประเทศไทย’ ช่วงเวลานั้น ๆ เป็นช่วงที่พวกเราเริ่มวัยรุ่นเป็นวัยกำลังเรียนรู้ ทุกสิ่งที่เรียนรู้เกิดจากการทำจริง ได้รับรู้ อะไรที่ดีก็ทำซ้ำ อะไรไม่ดีก็เรียนรู้ที่จะไม่ทำ
ดังนั้นกรุณาอย่าวิจารณ์พวกเราดังเกินไป ถ้าคุณไม่เคยมีประสบการณ์การเรียนรู้จากงาน จตุรมิตรสามัคคี