fbpx

จากเบียร์โรงงาน สู่เบียร์ต้มข้างบ้าน: ท่องเที่ยวเพื่อหารสชาติแห่งพรายฟอง

เรื่อง: อภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

ผมเองเดินทางบ่อยมาก…ส่วนใหญ่มีที่มาที่ไปจากเรื่องงานเป็นหลัก ทำให้มุมมองที่ได้จากการเดินทางส่วนใหญ่จึงไม่ใช่การเดินทางเพื่อพักผ่อน หรืออธิบายความสวยงามของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เป็นการหาเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่เห็น หรือพินิจพิเคราะห์กับสิ่งนั้นให้ลึกกว่าเดิม…และกับเรื่องที่จะเล่าครั้งนี้เป็นการใส่หมวกของคนสอนวิชาบริหารธุรกิจ

ผมเชื่อว่าหลายคนเมื่อไปญี่ปุ่น มักจะเข้าไปหาอะไรรับประทานในร้านสะดวกซื้อหรือในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งผมเองก็เช่นเดียวกัน เพราะมันสนุกจากการเลือก เพลิดเพลินกับของอร่อย และตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่บ้านเราไม่ค่อยมี โดยเฉพาะกับเรื่องความหลากหลายของเครื่องดื่ม ซึ่งจะว่าไปแล้วที่ญี่ปุ่นนั้นแข่งขันกันดุเดือดมากๆ โดยตัวเลขของสถาบันวิจัย Yano รายงานว่าปี 2020 ตลาดเครื่องดื่มในญี่ปุ่นมีมูลค่าตลาดถึง 5 ล้านล้านเยน

ทีนี้จะบอกว่า ตอนไปที่ญี่ปุ่นเมื่อ 4-5 ปีก่อน ผมเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างในชั้นที่ขายเบียร์…จากเดิมที่เคยเห็นแค่ 4 ยี่ห้อให้เลือก ไม่ว่าจะเป็น คิริน อาซาฮี ซันโตรี และ ซัปโปโร ซึ่งอาจจะมีเบียร์ยี่ห้ออื่นแซมมาบ้างเล็กน้อย แต่ในวันนี้…ถ้าให้ทุกท่านลองสังเกตกันดีๆ จะเห็นว่าในเมืองใหญ่ เบียร์ยี่ห้อหลักเหลือบนชั้นวางเครื่องดื่มน้อยลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง โดยอีกครึ่งหนึ่งที่หายไปกลายเป็นคราฟต์เบียร์ของค่ายต่างๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าย Yona หรือค่ายอื่นๆ ซึ่งเบียร์นอกกระแสเหล่านี้สังเกตไม่ยากครับ เพราะไม่มีบุคลิกที่คมเข้ม น่าเชื่อถือแบบเดิม แต่ว่ามาในรูปลักษณ์ของแมว หมา นกฮูก ปลาวาฬ หรือรูปอื่นๆสุดแท้จะสร้างสรรค์กันได้

ถามว่าเกิดจากอะไร? มันเกิดจากการถูกดิสรัพต์ (Disrupt) ก็ว่าได้ครับ …ผมเขียนไม่ผิดครับ ดิสรัพต์ในทางทฤษฎีมันเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเทคโนโลยีครับ …สายการบินต้นทุนต่ำราคาถูกยังเคยมาฆ่ารถทัวร์จำได้หรือเปล่าครับ ในทำนองเดียวกันไวน์ยี่ห้อเยลโลเทลของออสเตรเลียก็เข้าสู่ตลาด โดยไม่ได้แข่งกับลูกค้าที่เคยดื่มไวน์ แต่เขาเป็นไวน์ที่ทำตัววัยรุ่นเพื่อต้องการแย่งตลาดคนดื่มเบียร์ที่มีประชากรมากกว่าครับ

แล้วจะโยงมาที่คราฟต์เบียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ญี่ปุ่นยังไง? …คืออย่างนี้ครับ คนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นส่วนหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าเบียร์ที่ขายกันอยู่นี้เป็นเครื่องดื่มของคนสูงวัยไปแล้วครับ ทำให้คนรุ่นใหม่หันไปดื่มไวน์มากขึ้น เพราะราคาไม่ต่างกันแต่ดูดีกว่า ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังติดใจในรสชาติเบียร์ แต่รู้สึกไม่สูงวัยที่จะดื่มเบียร์ยี่ห้อดั้งเดิม ก็หันมาดื่มคราฟต์เบียร์กันมากขึ้น …ซึ่งกระแสที่พลิกเร็วและแรงมาก จึงเกิดปรากฏการณ์คราฟต์เบียร์ยึดพื้นที่ในร้านค้าเกินกว่าครึ่งนั่นเองครับ

แล้วเบียร์ค่ายต่างๆ เขายอมไหม? ไม่ยอมครับ ซึ่งคงยอมไม่ได้จริงๆ …สิ่งที่เขาทำ คือทำแบรนด์ลูกออกมา และติดฉลากว่าเป็นคราฟต์เช่นเดียวกัน โดยสร้างบุคลิกใหม่ที่กระฉับกระเฉงมากขึ้น เซ็กซี่ขึ้น ซึ่งบางยี่ห้อก็ไปได้ดีกับแนวทางนี้ ขณะที่บางยี่ห้อก็ฉีกตัวเอง หรือสร้างตลาดใหม่แบบไฮบริดไปเลยก็มี เช่น ไปเน้นน้ำผลไม้ที่มีแอลกอฮอล์ หรือเบียร์ผสมน้ำหวานที่เน้นผู้หญิงไปเลยก็มี นอกจากนี้ค่ายเบียร์ทั้งหลายก็เร่งรักษาตลาด โดยออกมาปัดฝุ่นทำตลาดเบียร์เฮาส์กันมากขึ้น อย่างคิรินก็มีสาขามากมายในเมือง เช่นในย่านชินจุกุ มีไม่ต่ำกว่า 3 สาขา ซึ่งถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว

แต่…ยังไม่จบแค่นี้ครับ เพราะเมื่อเบียร์หลักมาทำร้านให้ดูดีมากขึ้น …หนึ่งในเบียร์สายคราฟต์ก็มาทำร้านเช่นเดียวกัน …อย่าง Yona ก็เลือกชนในย่านชินจุกุเช่นเดียวกัน แต่ทว่ากลับสร้างสีสันในการดื่มเบียร์ให้ฉีกไปอีกแบบ เพราะแทนที่จะเน้นการดื่มเบียร์กับอาหารเช่น ไก่ หรือ ขาหมูจานใหญ่ๆ กลับใช้ความหลากหลายของเบียร์คราฟต์ เสิร์ฟคู่กับสแน็กที่เหมาะสมกับเบียร์แต่ละชนิดเพื่อความสนุกสนานไปอีก

พูดถึงเบียร์ที่ญี่ปุ่นยังมีหลายมิติที่เล่าได้อีกเยอะครับ …เรื่องที่ขอเก็บไว้วันหน้าคือ ‘เบียร์บ้านๆ’ หรือ ‘นาโนบริวเวอรี’ ครับ

…คืออะไรเหรอครับ? ก็คือคอนเซปต์ที่ว่าแต่ละชุมชนมีข้าวแกงข้างทางได้ ทำไมจะมีร้านเบียร์ประจำถิ่นไม่ได้

…ฝรั่งแวะผับดื่มเบียร์ก่อนเข้าบ้านได้…ปากซอยบ้านเขาจะต้มเบียร์รอคุณมาแวะดื่มก่อนเข้าบ้านไม่ได้หรือ?

…ซึ่งมันมีมากมายซ่อนตัวตามที่ต่างๆโดยเฉพาะในโตเกียว …โดยที่กฎหมายเขาไม่ได้ห้าม และถ้าคุณเป็นนักท่องเที่ยวกระแสหลัก ก็อาจไม่รู้ว่าร้านเบียร์เหล่านั้นซ่อนอยู่ตรงไหน วันหลังมาเล่าให้ฟังครับ

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ