fbpx

ITTHIRIT TECHNOLOGY มากกว่า IOT แปลภาษาจักรกล สู่โซลูชันอัจฉริยะ

คงจะดีหากเครื่องจักรหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถพูดกับมนุษย์ได้และบอกได้ว่าฉันเสียตรงไหน? ฉันกินไฟตรงไหน?

หากใครยังสงสัย อยากรู้ว่าเครื่องจักรอยากบอกอะไร? ในเมื่อเราก็ดูกันได้อยู่แล้วบนแผงหน้าจอ

ลองให้นึกดูว่าถ้าเป็นอุตสาหกรรม โรงงาน หรือ ธุรกิจของคุณ ต้องขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรนับร้อยตัว คุณคงไม่เดินไปดูแลทุกเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง แต่หากเครื่องจักรสามารถรายงานได้เองว่าจุดไหนใช้พลังงานเปลือง มาเป็นข้อมูลช่วยในการปรับแก้และประหยัดไฟได้เดือนละเป็นล้านบาท หรือเครื่องจักรแจ้งเตือนจุดเสียเพื่อให้ซ่อมแซมก่อนที่จะหยุดทำงานไปดื้อๆ ช่วยให้คุณไม่พลาดการผลิตสินค้าล็อตใหญ่ได้

ฉายภาพประมาณนี้คงทำให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจเริ่มเห็นความสำคัญที่จะสื่อสารกับเครื่องจักรของคุณขึ้นมาบ้างแล้ว

อิทธิฤทธิ์ เนรมิตได้ด้วยเทคโนโลยี IOT

จากการยกตัวอย่างนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ที่เทคโนโลยีปัจจุบันนี้ทำได้จริง และสามารถทำได้มากกว่านี้อีกหลายร้อยกระบวนท่า ชนิดไม่ต้องรอโลกอนาคต โดยหนึ่งในผู้ให้บริการเทคโนโลยีคล้ายๆ กันนี้ คือ ITTHIRIT TECHNOLOGY ที่ริเริ่มและก่อตั้งโดย ณัฐนันท์ กุลวัฒน์ฐกรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อิทธิฤทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด ที่นำระบบ IOT (The Internet of Things) มาพัฒนาเพื่อบริหารจัดการข้อมูลภายในโรงงานอุตสาหกรรม โดยนำข้อมูลต่างๆ มาเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้

“ปัจจุบันนี้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเรา โดยกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานแล้ว เหมือนโรงงานอุตสาหกรรมยุค 3.0 ก็ต้องการเครื่องจักร แต่ทุกวันนี้ถ้าจะก้าวไปสู่ยุค 4.0 ต้องหา IOT”

“ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการต้องไปหาอุปกรณ์ 4.0 มาใช้ แต่อุปกรณ์ที่คุณมีและลงทุนไปแล้วหลายร้อยล้านจะอยู่ในยุค 2.0 หรือยุค 3.0 เราสามารถเปลี่ยนให้มาอยู่ในยุค 4.0 ได้เหมือนกัน โดยไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่” ณัฐนันท์เผยถึงอีกหนึ่งจุดเด่นของ ITTHIRIT กับสามารถในการเขียนโปรแกรมเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่หลากหลาย เพื่อดึงข้อมูลเหล่านี้มาอยู่ในศูนย์กลางเดียวกันได้ 

เริ่มต้นจากศูนย์ กับ 7 ปีที่ฟันฝ่า

สำหรับณัฐนันท์ที่พา ITTHIRIT เติบโตมากว่า 7 ปี คลุกคลีงานพัฒนาระบบ IOT มาแล้วทุกอุตสาหกรรม ทั้ง Smart Energy, Smart City, Smart Farm, Smart Building และ Smart Factory บวกกับพื้นฐานของเขาเกิดในสายงานโปรแกรมเมอร์จึงมั่นใจว่าไม่ว่าอุปกรณ์แบบไหน ยุคใด ก็สามารถเชื่อมโยงความหลากหลายของข้อมูลจากอุปกรณ์ได้

กว่ามาถึงจุดนี้ของ ITTHIRIT บอกเลยว่าไม่ง่าย สำหรับเด็กหนุ่มคนหนึ่งจากครอบครัวยากจน ทุกอย่างจึงเริ่มต้นจากศูนย์ ย้อนไปตั้งแต่สมัยเรียนจบคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณัฐนันท์เริ่มเส้นทางชีวิตการทำงานจากพนักงานโปรแกรมเมอร์ในบริษัทสัญชาติอเมริกัน เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ 5-6 ปี ก็พกความมั่นใจเปิดบริษัทของตัวเองในชื่อ Infogrammer พัฒนาซอฟต์แวร์ให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ช่วยบริหารร้านค้า (POS) ให้ร้านอาหาร ลุยตลาดเชียงใหม่ก่อนขยายสาขามาที่กรุงเทพฯ

เมื่อมาเจอตลาด Red Ocean อย่างกรุงเทพ ที่มีลูกค้าและยูสเซอร์หนาแน่น เกิดตัวแปรภายนอกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ให้บริการซอฟต์แวร์เกี่ยวกับร้านอาหารมากมาย มีการแข่งขันกันดุเดือด ทำให้ไม่สามารถเก็บค่าบริการการใช้ซอฟท์แวร์ได้สูง

จาก Pain Point นี้ทำให้ผู้บริหารไฟแรงเริ่มมองหาช่องทางธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องมียูสเซอร์จำนวนมาก เพื่อกระจายความเสี่ยง ประกอบกับช่วงนั้นกระแสของ IOT กำลังมา แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก ทำให้เขาเบนเข็มมาศึกษา IOT ที่ใช้กับอุตสาหกรรมโรงงานอย่างจริงจัง หวังเปิดตลาดใหม่

“ผมมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าประเภทอุตสาหกรรม เพราะเขามีงบเยอะกว่ารีเทล และโซลูชันโรงงานให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เร็วกว่า ยกตัวอย่างโรงงานอุตสาหกรรม ค่าไฟราว 2 ล้านบาท ถ้าลงทุนระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management) เรานำข้อมูลไปช่วยลดค่าไฟได้เดือนละ 10% ราว 5 เดือนก็คืนทุนแล้ว”

เปิดโลกใหม่ จากการทรานส์ฟอร์มเข้าวงการ IOT

ถึงโตบนเส้นทางโปรแกรมเมอร์ แต่ไม่พ้นต้องต่อยอดความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ดี โดยหลังจากณัฐนันท์มุ่งไปที่การพัฒนาระบบ IOT ประเภทเทคโนโลยีอุปกรณ์ตรวจวัด, คอนโทรลเลอร์ ตลอดจนการแปลงสัญญาณจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัล ก่อนลงสนามจริงสั่งสมประสบการณ์จากการออกแบบระบบ IOT ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และภาครัฐต่างๆ

“เวลาทำแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมที่สามารถพูดคุยกับเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ต่างๆ ทีวี, ตู้เย็น จะต้องมีตัวกลาง หรือเกตเวย์เป็นตัวเชื่อม ผมก็ศึกษาและพัฒนา ซึ่งเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วเรื่องนี้ถือเป็นการเปิดโลกสำหรับผมมาก”

“ผมโตมาจากสาย Software Development บน Workstation เวลาพอมาเจอ IOT เราต้องมีความรู้ด้านวิศวกรรม, วิศวกรรมสื่อสาร, วิศวกรรมไฟฟ้า และระบบอัตโนมัติ (Automation) เหมือนผมไปเรียนวิศวะไฟฟ้าใหม่ เพราะถ้าไม่เข้าใจจะไม่สามารถผลิตแอปฯ ไปสู่ลูกค้าได้ ลูกค้าจะไม่เชื่อใจเรา” ณัฐนันท์เล่าถึงอุปสรรคเมื่อเข้ามาทรานส์ฟอร์มธุรกิจใหม่

ช่วงตั้งหลักของ ITTHIRIT เน้นจับโครงการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) ออกแบบระบบหลากหลายรูปแบบตามแต่ลูกค้าต้องการ ไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management) , การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) และ การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance)

สร้างมาตรฐาน Energy Management ก่อนโกอินเตอร์

มากกว่า 100 โครงการที่เข้ามาก่อเกิดการเรียนรู้และความชำนาญ ทำให้ณัฐนันท์ตกผลึกโซลูชันของธุรกิจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยโฟกัสไปที่การพัฒนา IOT เพื่อสนับสนุนระบบ Energy Management

“จากทุกๆ อุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นจะต้องมีการพูดถึงพลังงาน (Energy) และเราสามารถประหยัดพลังงานให้ลดต้นทุนได้ชัดเจนในขณะที่ลงทุนไม่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นอาคารพาณิชย์ ตึกระฟ้าทั่วกรุงเทพฯ ที่มีการมอนิเตอร์การใช้พลังงานอย่างมีเหตุและผล อย่างน้อยเราต้องมีข้อมูลก่อน นี่คือสิ่งที่เราทำเพื่อให้ลูกค้าประหยัดพลังงานได้ถูกจุด”

บริการหลักของ ITTHIRIT มีตั้งแต่การวางพื้นฐานระบบ IOT รวมไปถึงการดีไซน์โครงสร้างและเครือข่าย IOT ทั้งหมด คอยรับข้อมูลจากอุปกรณ์วัดค่าใช้พลังงาน (Power Meter) ซึ่งแต่ละโรงงานหรืออาคารจะมีอยู่แล้ว โดย ITTHIRIT จะติดตั้งระบบและเกตเวย์ต่อเชื่อมกับอุปกรณ์เหล่านั้น เพื่อให้ส่งข้อมูลมาที่ API ที่อยู่บนคลาวด์ โดยมีแอปพลิเคชันทำหน้าที่แสดงผล แยกตามประเภทต่างๆ ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ฉะนั้นระบบจะสามารถดูความสิ้นเปลืองการใช้พลังงานได้อย่างละเอียดและตรงจุด

นอกจากนั้น ITTHIRIT ยังพัฒนาระบบบ่งชี้ดัชนีพลังงาน (Energy Index Indicator) เพื่อดูความคุ้มค่าการใช้พลังงานกับการผลิต และระบบควบคุม Preventive Maintenance ตลอดจนการใช้ AI วิเคราะห์คุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร โดยออกแบบระบบให้เป็นมาตรฐาน เผื่ออนาคตหากผู้ประกอบการต้องการยกระดับองค์กรไปสู่การจดทะเบียน ISO 50001 (มาตรฐานการระบบจัดการพลังงาน) ก็สามารถนำรายงานนี้ไปดำเนินการได้เลย

“ในคอนเซ็ปต์การทำงานเราคิดว่าแทนที่จะเพิ่มเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เปลี่ยนมาเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรเดิมดีกว่า เพราะเครื่องจักรอาจไม่ได้ทำงานได้ 100% ประสิทธิภาพอาจอยู่แค่ 50-60 % แต่ถ้าเราเพิ่มประสิทธิภาพได้ถึง 80% ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องใหม่”

“เราสามารถทำ Preventive maintenance โดยวิเคราะห์จากค่าระยะเวลาที่ระบบขัดข้อง (Downtime) หรือปัจจัยต่างๆ และประสบการณ์ที่เราเก็บเกี่ยวมา หาจุดร่วมของแต่ละอุตสาหกรรมที่มี Pain Point แล้วเราสร้างมาตรฐานใหม่ให้เป็นต้นแบบ หลังจากนั้นถ้าลูกค้าต้องการอะไรเพิ่มเติม เราก็มีบริการออกแบบเฉพาะให้ได้ตามต้องการ”

ไม่เพียงแค่กลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทยเท่านั้น ITTHIRIT ยังได้รับความไว้วางใจจากองค์กรต่างประเทศในการเป็นที่ปรึกษาให้โครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศ อาทิ การวางระบบควบคุมสั่งการไฟฟ้าแสงสว่าง (Lighting Management) บริเวณเกตของสนามบินสิงคโปร์ชางงี ที่ได้ชื่อว่าทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การออกแบบระบบมอนิเตอริ่งให้กับขบวนรถไฟฟ้า Bombardier ของสิงคโปร์ เป็นต้น

ความสำเร็จ ไม่มีทางลัด แลกด้วยการลงมือทำ

ถึงวันนี้ ITTHIRIT มาไกลมากจากจุดแรก ผ่านอุปสรรคทั้งปัญหาด้านเงินทุน การพัฒนาองค์ความรู้ และอีกสารพัดรูปแบบ เมื่อมองย้อนกลับไปในฐานะผู้ก่อตั้งณัฐนันท์เองก็ไม่คาดฝันจะมาถึงตรงนี้ มองว่าตัวเองยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ทำ เพราะถึงชีวิตจะทุ่มเทกับแพลตฟอร์ม ITTHIRIT แต่บริษัทแรกที่เขาบุกเบิกก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่ โดยอัพสเกลมาให้บริการซอฟต์แวร์ซัพพอร์ตร้านอาหารระดับเชน

“ผมเป็นคนลุยๆ กล้าเสี่ยง และลงมือทำเร็ว คิดแล้วลงมือทำทันทีไม่รอช้า ทำวันนี้ก็รู้ผลวันนี้ ทำพรุ่งนี้ก็รู้ผลพรุ่งนี้ ถ้ามองแล้วว่ามีโอกาส มีช่องทาง แต่ถ้าไม่โฟกัสจะไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นจริง ฉะนั้นต้องโฟกัส ตั้งเป้า ตกหลุมรัก ใส่ใจ และทำให้เต็มที่เท่านั้นเอง”

“ทุกวันนี้ผมว่ายังอยู่ในการเดินทาง ผมอายุยังไม่ถึง 40 ยังทำได้อีกเยอะ ส่วนตัวผมไม่ได้มีฐานะมาก่อน เริ่มจากศูนย์ตั้งแต่บริษัทแรก พอมาบริษัทที่ 2 ก็มีทุนน้อยนิด 2 ปีแรกคือหาข้อมูลอย่างเดียว นอกนั้นหาวิธีเอาตัวรอดเอา ปีที่ 3 เงินที่ลงทุนถึงค่อยๆ กลับมา เพราะการวางระบบ IOT เป็นโครงการที่มีราคาสูง วันนี้ ITTHIRIT ก็ยังไปช้าๆ และให้ความสำคัญกับทีม R&D ที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและเชื่อว่า ณ วันนี้ไม่มีแอปพลิเคชันไหนที่เราทำไม่ได้ในทางของ IOT”

ยกระดับ IOT ให้ทุกสเกลทุกอุตสาหกรรมเข้าถึงได้ง่าย

ความเป็นคนขาลุยประเภทเป้าหมายมีไว้พุ่งชน เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 แน่นอนว่าณัฐนันท์ไม่มีคำว่าท้อ แม้ ITTHIRIT จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทุกอุตสาหกรรม หลายโครงการชะลอการดำเนินงานไม่สามารถเข้าไปติดตั้งระบบในพื้นที่ได้ พนักงานเข้าโหมด Work from Home

แต่ณัฐนันท์ยังมองในแง่ดีว่า หลังจากสถานการณ์นี้อุตสาหกรรมต่างๆ จะตระหนักในประสิทธิภาพและประโยชน์ของ IOT มากขึ้น เพราะเมื่อเกิดโรคระบาดหรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด พนักงานไม่สามารถเข้าไปดูแลเครื่องจักรเองได้ การสั่งการหรือทำงานผ่านมือถือและแพลตฟอร์มระยะไกล ผ่านเทคโนโลยี IOT จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

“ความจริงเทคโนโลยี IOT มีนานแล้ว แต่ในอดีตจำกัดการใช้งานอยู่แค่ในอุตสาหกรรมใหญ่ๆ แต่ปัจจุบันโรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลางต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ และนำมาประยุกต์ใช้ในหลายๆ ด้าน เพียงแต่ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่ คนที่มีทักษะด้านนี้ก็ยังมีน้อย เราอยากทำ IOT ให้เป็นมาตรฐานใหม่ ที่ให้ทุกอุตสาหกรรมเข้าถึงได้ง่ายๆ ในราคาที่ถูกลง เป็น Economy of Scale”

“ทุกวันนี้เป็นยุคข้อมูล 4.0 ฉะนั้นเราต้องพยายามเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด เมื่อมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ วันใดที่อุตสาหกรรมอยากนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อต่อยอด เราจะมีข้อมูลสถิติตรงนี้เยอะมาก ซึ่งตัวข้อมูลจะบอกว่าคุณทำแบบไหนดีที่สุด” ผู้บริหารคนเดิมกล่าวถึงแนวทางการเติบโตในอนาคตของ ITTHIRIT

ทั้งนี้ในมุมมองของณัฐนันท์ ถ้าทำให้ทุกอุตสาหกรรมเข้าถึง IOT ได้ง่าย ประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่แค่ธุรกิจ แต่จะมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศชาติด้วย

“ผมคิดว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใด อย่างงานจากสิงคโปร์ งานจากเยอรมัน ทำไมเขามาจ้างเรา นั่นเพราะเรามีศักยภาพพอ” ณัฐนันท์กล่าวอย่างภาคภูมิ โดยหวังว่าสิ่งที่เขาตั้งใจให้เกิดกับวงการ IOT จะมาถึงไม่นานเกินรอ…

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ