fbpx

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์

คุยทุกเรื่องในขีวิติที่ผ่านมา ผมเคยใช้ชีวิตแบบ ‘เยอะ’ และ ‘มาก’ มาก่อน ซึ่งต่อมาผมพบว่าชีวิตอย่างนั้นมัน ‘เหนื่อย’ และ ‘รกรุงรัง’ เกินไป ผมจึงค่อยๆ ลองลดทอนและปรับเปลี่ยนชีวิตกลับคืนสู่ความเรียบ-ง่าย-น้อย ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้ผมรู้สึกเบา สบาย ไม่วุ่นวาย และมีความสุข จากบทส่งท้ายในหนังสือ Try โดย วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์

ไม่น่าเชื่อ! ชายหนุ่มตรงหน้าเรา คนที่เคย ‘เยอะ’ และ ‘มาก’ คนนี้กำลังพูดถึงเงื่อนไขในการมีความสุข 4 ข้อของอัลแบร์ต กามูส์ ถ้าคุณจำได้ 10 กว่าปีก่อน เขายังเคยบอกใครๆ ว่าเขาเหมือน เจอร์รี่ แม็คไกวร์ ตัวละครที่แสดงโดย ทอม ครูซ ชายหนุ่มผู้ตกงานกะทันหัน และต้องพยายามไขว่คว้าดิ้นรน เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ชั่วลัดนิ้วมือ จากเจอร์รี่ แม็คไกวร์ เขาจะกลายเป็นอัลแบร์ต กามูส์ ไปได้อย่างไรกัน?

เงื่อนไขที่จะมีความสุขของกามูส์ มีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือให้อยู่ในที่โล่ง, พ้นจากความทะเยอทะยาน, ทำงานสร้างสรรค์ และรักใครสักคน ในภาพยนตร์ เจอร์รี่ แม็คไกวร์ แทบไม่เคยอยู่ในที่โล่ง แน่ละ, เขารักใครสักคนและทำงานสร้างสรรค์ แต่เรื่องปลอดพ้นจากความทะเยอทะยานนั้นดูเหมือนจะไม่ใช่เลย เรื่องเล่าของ เจอร์รี่ แม็คไกวร์ ทาบทับกับ ‘เรื่องเล่า’ ในการก่อกำเนิด a day นิตยสารที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘นิตยสารเด็กแนว’ เล่มสำคัญ ส่งผลให้ชื่อของผู้ชายคนนี้-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, มักมีสร้อยต่อท้ายว่า ‘ศาสดาเด็กแนว’ หรือไม่ผู้คนก็เรียกชื่อเล่นของเขาพร้อมสร้อยต่อท้ายว่า ‘โหน่ง อะเดย์’ มันคือเรื่องเล่าของคนทะเยอทะยานโดยแท้! “ผมเริ่มต้นมาจากความทะเยอทะยานมากๆ เลย” วงศ์ทนงยอมรับอย่างนั้น แต่ในช่วงถัดมาของชีวิต เขาก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า “เมื่อมองย้อนกลับไป ผมก็ไม่รู้นะว่าทำไมตอนนั้นถึงต้องทะเยอทะยานขนาดนั้น” ความทะเยอทะยานผลักดันให้เขาพบกับความสำเร็จ แต่ความสำเร็จก็แลกมาด้วยปัญหา ความขัดแย้ง และการสะบั้นขาดของมิตรภาพหลายครั้ง โดยเฉพาะปัญหาทางธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเชี่ยวชาญของคนทำงานหนังสือ แต่กระนั้น วงศ์ทนงก็เลือกจะพูดอย่างหมดเปลือกกับ GM ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ รวมถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตเมื่อคราวต้องปิดตัวนิตยสาร a day weekly อันถือได้ว่าเป็นช่วงชีวิตที่มืดมนที่สุดของเขาด้วย

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์

จาก เจอร์รี่ แม็คไกวร์ ถึง อัลแอร์ต กามูส์

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ อาจเป็นอะไรหลายอย่าง ทั้งผู้ก่อตั้ง a day, นักเขียน, บรรณาธิการ, พิธีกรรายการโทรทัศน์ อย่าง The Idol และ ‘เจาะใจ’ นักธุรกิจ และแม้กระทั่งนักพูด แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ประภาส ชลศรานนท์ เคยเรียกเขาว่า ‘เด็กชายโหน่ง’ และความเป็น ‘เด็กชาย’ ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ก็สะท้อนให้เราเห็นในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ In My Life ในหนังสือเล่มนี้ วงศ์ทนงเล่าถึง ‘เด็กชายในห้องใต้หลังคา’ ที่มีความอ่อนไหว ช่างรู้สึกรู้สา แม้มีบาดแผลและความหมองเศร้าบางอย่างในชีวิต แต่ความทุกข์ก็สอนให้เด็กชายคนนั้นเข้มแข็งได้ในท้ายที่สุด เขายืนยันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องแต่ง แต่เมื่อได้อ่าน เราพอจับสัมผัสได้ว่ามีเค้าลางชีวิตจริงของใครคนหนึ่งอยู่ในนั้นไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทะเยอทะยานแบบ เจอร์รี่ แม็คไกวร์ หรือเป็นชีวิตที่แสวงหาความสุขแบบ อัลแบร์ต กามูส์ บางทีคุณอาจต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง…อย่างน้อยก็จากบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้!

ถ้าอยากรู้จัก วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ มากขึ้น ติดตามเขาได้ทางเว็บไซต์ wongthanong.com และทวิตเตอร์ @wongthanong

GM: ช่วงนี้ชีวิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

วงศ์ทนง : สบายๆ ครับ 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ผมพยายามผ่อนคลายตัวเอง เพราะช่วงก่อนหน้านี้ เอาว่าตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้ง a day ผมทุ่มเทชีวิตจิตใจไปกับงานอย่างมาก เป็นช่วงที่ทำงานหนักจริงๆ เรียกว่าพวกบ้างานก็ได้ ใช้พลังงานทั้งร่างกายและจิตใจไปกับมันอย่างมหาศาล จนกระทั่งหลายปีมานี้ สิ่งที่ผมก่อตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร สำนักพิมพ์ หรือแม้กระทั่งรายการโทรทัศน์ และมูลนิธิ a day Foundation ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง แข็งแรงแล้ว อยู่เองได้ ไม่ต้องห่วงอะไรมาก ผมเลยพอมีเวลามาใส่ใจดูแลชีวิตตัวเองได้มากขึ้น

GM: แล้วอย่างไรล่ะ คือวิธีการดูแลชีวิตของคุณ

วงศ์ทนง  ช่วงหลังๆ ผมเพิ่งจะมาเข้าใจคำพูดของ อัลแบร์ต กามูส์ ที่ว่าความสุขที่แท้จริงของชีวิต มีองค์ประกอบ 4 อย่างด้วยกัน หนึ่ง, อยู่ในที่โล่ง สอง, พ้นจากความทะเยอทะยาน สาม, ทำงานสร้างสรรค์ และสี่, รักใครสักคน เมื่อก่อนไม่ค่อยเก็ตเท่าไหร่ แต่พอมาถึงวันหนึ่ง วัยหนึ่ง ผมก็เริ่มเห็นจริงตามนั้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ผมพยายามพาชีวิตเข้าใกล้นิยามความสุขแบบกามูส์ หลักปฏิบัติไม่มีอะไรมากหรอกครับ ก็แค่รักษาสมดุลให้ดี ระหว่างเร็ว-ช้า เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตึง-หย่อน ผมพยายามอยู่ตรงกลางให้ได้มากที่สุดในทุกๆ เรื่อง

GM: ให้อยู่ในที่โล่ง คุณก็เลยไปอยู่บ้านต่างจังหวัดใช่ไหม

วงศ์ทนง : ผมใช้ชีวิตแบบคนเมืองมาตลอด เมืองมากๆ ด้วย เกิดในเมือง โตในเมือง เรียนหนังสือในเมือง จบมาก็ทำงานและใช้ชีวิตในเมือง ก็รู้ความจริงว่ายิ่งเมืองเจริญมากขึ้นเท่าไร คุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองก็ยิ่งตกต่ำลงเท่านั้น ผมเลยพาตัวเองให้ออกไปจากเมืองบ้าง หนีไปต่างจังหวัดบ้าง ผมไปเช่าบ้านอยู่ที่เพชรบุรี นี่ก็เข้าปีที่ 7 แล้ว อยู่ที่นั่นเหมือนได้ไปอยู่อีกสถานที่หนึ่งที่มันช้าลง เบาลง ก็รู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจดี นอกนั้นก็พยายามเดินทางไปต่างประเทศให้บ่อยขึ้น ไกลบ้าง ใกล้บ้าง ล่าสุดนี่ก็เพิ่งกลับจากสิงคโปร์

GM: แต่สิงคโปร์นี่ไม่ค่อยโล่งนะ

วงศ์ทนง : ใครว่าล่ะ ผมว่าสิงคโปร์โล่งจะตาย สิงคโปร์เป็นประเทศที่ผมชอบมากเลยนะ เมื่อก่อนก็คิดว่าประเทศนี้งั้นๆ น่ะ ตอนเด็กๆ สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ผมไป แม่กับพี่ชายพาไปเที่ยว ตอนนั้นตื่นเต้นมาก เดินถนนออร์ชาร์ด เห็นเซ็นโตซ่าก็ตื่นเต้นแล้ว (หัวเราะ) แต่หลังจากนั้น พอได้ไปสิงคโปร์บ่อยเข้าก็ไม่ค่อยตื่นเต้น ก็คิดเหมือนคนทั่วไปว่าเมืองมันเล็กนิดเดียว เที่ยววันเดียวก็ทั่ว แต่ปีที่แล้ว ผมเผอิญต้องไปทำธุระที่สิงคโปร์หลายวัน ได้ไปซอกแซกในสถานที่มากมายที่ไม่เคยไป ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีร้านกาแฟที่โคซี่มาก นั่งได้ทั้งวันอยู่ที่ย่านนี้ มีร้านหนังสือที่เจ๋งมาก ตั้งอยู่บนถนนสายเล็กๆ หรือออกไปนอกเมืองหน่อย คุณจะเจอย่านเก่าที่รื่นรมย์มาก แล้วทั้งเมืองเขาเต็มไปด้วยต้นไม้ อากาศสะอาด หายใจได้เต็มปอด อยู่ที่นั่นผมเดินได้ทั้งวันไม่เหนื่อย ทั้งที่อยู่กรุงเทพฯ แค่ไปหน้าปากซอยยังขี้เกียจเดิน ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ไป ผมจึงชอบเมืองนี้มาก ชอบถึงขนาดคิดว่าแก่ๆ ไป ผมอาจย้ายไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่สิงคโปร์ก็ได้

GM: แล้วเรื่องความทะเยอทะยานล่ะ ตอนนี้ธุรกิจอยู่ตัวแล้ว

คุณก็จะพ้นจากความทะเยอทะยานแล้วใช่ไหม

วงศ์ทนง : นี่เป็นเรื่องที่ทำได้ยากนะครับ ก็อย่างที่รู้กัน ว่าตัวผมนี่ประกอบสร้างมาจากความทะเยอทะยานล้วนๆ

GM: เมื่อก่อนคุณเคยบอก ว่าชอบตัวละคร เจอร์รี่ แม็คไกวร์ตอนนี้คุณจะเปลี่ยนมาเป็นแนว อัลแบร์ต กามูส์ ได้อย่างไร

วงศ์ทนง : นั่นสิ (หัวเราะ) ผมเริ่มต้นมาจากความทะเยอทะยานมากๆ เลย ตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย เริ่มทำงานหนังสือ ก็มีความใฝ่ฝันอย่างเดียวว่าอยากเป็นบรรณาธิการที่ประสบความสำเร็จ แต่ละช่วงวัยของชีวิตก็ตั้งใจทำงานทุกงานด้วยความทะเยอทะยาน และความทะเยอทะยานนี่มันมาพีคที่สุดตอนทำ a day นี่แหละ ผมเกทับหมดหน้าตัก รีดพลังทั้งหมดในชีวิต

เพื่อก่อกำเนิดนิตยสารเล่มหนึ่ง ที่ไม่มีแต้มต่ออะไรเลย มันต้องอาศัยความทะเยอทะยานอย่างยิ่งยวดเลย จนถึงตอนนี้ เมื่อมองย้อนกลับไป ผมก็ไม่รู้นะว่าทำไมตอนนั้นถึงต้องทะเยอทะยานขนาดนั้น อาจจะเพื่อต้องการพิสูจน์ตัวเอง หรือประกาศศักดา ประมาณว่ากูเจ๋ง อะไรทำนองนั้นมั้ง จากนั้นพอ a day ประสบความสำเร็จ มันก็ยิ่งไปผลักความทะเยอทะยานให้สูงขึ้น จนไปพีค

อีกทีตอนที่ทำ a day weekly สารภาพแบบไม่อายเลย ว่าตอนนั้นผมอยากเป็น Tycoon นิตยสาร เป็นเจ้าพ่อสื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทย จำได้ว่าเคยมีนิตยสารเล่มหนึ่งมาสัมภาษณ์ผม แล้วเขาไปพาดหัวเรื่องว่า ‘วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ The Next Tycoon’ อะไรประมาณนี้ ผมอ่านแล้วเคลิ้มเลยนะ ตอนนั้นคิดไปไกลถึงการสร้างตึกเลย (หัวเราะ) ตึกโมเดิร์นสีขาวๆ มีโลโก้ a day อยู่ตรง

มุมขวา ผมคิดว่าผมอาจจะถูกจารึกชื่อไว้ในสารบบเดียวกับ ขรรค์ชัย บุนปาน (มติชน) สุทธิชัย หยุ่น (เนชั่น กรุ๊ป) สนธิ ลิ้มทองกุล (ผู้จัดการ) ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ (เครืออมรินทร์) และ ปกรณ์ พงศ์วราภา (GM Group) ตอนนั้นแอบฝันไว้อย่างนี้ แต่สุดท้ายก็อย่างที่ทราบกัน ผมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทำ a day weekly ปีเดียว หมดไปประมาณ 16 ล้านบาท เทียบง่ายๆ ก็เฟอร์รารี่คันหนึ่งน่ะ นอกจากนั้นยังถูกด่าเละ ถูกวิพากษ์วิจารณ์แหลกเลย ก็รู้สึกแย่มาก

Jerry Maguire (1996) Director : Cameron Crowe

ทอม ครูซ เป็นเอเย่นต์นักกีฬาตกงาน ที่พยายามกอบกู้ชีวิตกลับมาอีกครั้ง ด้วยการทำงานแบบเอาใจใส่ผู้อื่น และมีความรักในงานอย่างแท้จริง Albert Camus (7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913 – 4 มกราคม ค.ศ. 1960) เป็นนักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้รับรางวัลโนเบลจากนวนิยายเรื่องคนนอก (L’Etrenger) ในปี ค.ศ. 1957

GM:การขาดทุน 16 ล้าน กับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไหนเจ็บปวดกว่ากัน

วงศ์ทนง : พอๆ กัน การที่บริษัทเงินหายไปทีเดียวขนาดนี้ ก็ส่งผลกระทบแน่นอน ส่วนการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็มีกรณีที่ผมทะเลาะกับบรรณาธิการ คุณอธิคม คุณาวุฒิ ซึ่งผมไล่เขาออก ภาพพจน์ของผมตอนนั้นมันเลยเป็นผู้ร้าย เป็นนายทุนใจโหด ซึ่งผมรู้สึกแย่นะ เพราะผมรู้ตัวดีว่าผมไม่ได้เป็นนายทุนประเภทนั้นแน่ๆ เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงสมัยที่ผมทำงานเป็น บ.ก. อยู่ Trendy Man ตอนประมาณปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทก็เข้ามาปรับเปลี่ยนนิตยสารเรื่องการตลาด มีเรื่องค้าขายเข้ามาพัวพันกับกองบรรณาธิการเยอะมาก ทำให้คนทำงานอย่างเราอึดอัดใจ จำได้ว่าผมเคยเขียนบทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งตัดพ้อต่อว่าบริษัท พอหนังสือออก คุณสุภาวดี โกมารทัต (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน) ก็เรียกไปคุย แล้วถามผมว่า โหน่งคิดอย่างที่เขียนลงไปจริงๆ หรือเปล่า ผมไม่พูดอะไร ได้แต่ก้มหน้า พี่สุก็พูดขึ้นมาว่า ถ้าโหน่งคิดอย่างนั้นจริง เราก็อยู่ด้วยกันลำบากนะ ตอนนั้นผมจุกเลยนะ ผมคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ตอนที่คุณอธิคมเขียนบทบรรณาธิการต่อว่าบริษัทตัวเองลง a day weekly มันน่าแปลกใจนะ ผมทำอย่างที่คุณสุภาวดีทำเป๊ะเลย ผมเรียกเขามาคุย แล้วถามว่าคุณคิดแบบที่เขียนลงไปในบทบรรณาธิการหรือเปล่า แต่ผมทำสิ่งที่แรงกว่านั้นอีก คือผมไล่เขาออก นี่ก็เป็นสิ่งที่บอกว่า บางทีเราอยู่ในสถานะหนึ่ง เราไม่เข้าใจคนอีกสถานะหนึ่งหรอกครับ พูดง่ายๆ ว่าคุณเป็นลูกจ้าง คุณไม่มีวันเข้าใจการเป็นนายจ้างหรอก ถ้าคุณไม่ได้ลองมาเป็นเจ้าของบริษัทเอง

GM: ทุกวันนี้ คุณได้คุยกับอธิคมหรือยัง

วงศ์ทนง : ไม่เคยเจอกันอีกเลยครับ นับจากวันที่ a day weekly ปิดตัวลงไป แต่ผมคิดว่า ถ้าผมเจอเขา ผมจะทักเขาก่อนนะ เพราะเรื่องมันก็ผ่านไปนานแล้ว วันเวลาที่ผ่านมา คงพอจะสร้างความเข้าใจให้กับเขาที่มีต่อผมได้บ้าง ทุกวันนี้ ผมเห็นอธิคมแล้วก็รู้สึกยินดี ที่เขาได้เจอวิถีทางที่เหมาะกับตัวเขา (ปัจจุบัน อธิคม คุณาวุฒิ เป็นบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร way)

ผมยังสมัครสมาชิกนิตยสาร way ให้โรงเรียนต่างจังหวัดด้วยเลย สมัยก่อนนั้นพวกเรามันเป็น Angry Young Man ด้วยกันทั้งคู่น่ะ เลยสาดใส่กันแบบไม่ลืมหูลืมตา ผมเคยเจอพี่ชาติ กอบจิตติ หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น พี่ชาติถาม “เฮ้ย! เรื่องเป็นไง เห็นลงข่าวใหญ่โตในหนังสือพิมพ์” ผมก็เล่าๆ บ่นๆ ให้แกฟัง พี่ชาติพูดมาประโยคหนึ่งว่า “เฮ้ย! โหน่ง ลูกผู้ชายมันต้องยอมกลืนเลือดบ้าง” คิดดูมันก็จริงอย่างที่พี่ชาติว่า

GM:ความล้มเหลวทำให้ความทะเยอทะยานคุณหายไปเยอะไหม

วงศ์ทนง : น่าจะหายไปเกินครึ่ง ตอนนั้นผมเหมือนบอลลูนลูกหนึ่ง ที่ถูกสูบลมความทะเยอทะยานเข้าไปจนกระทั่งพองโต ผมคิดว่าถ้ายังดื้อทำ a day weekly ต่อไปเรื่อยๆ บอลลูนลูกนี้คงขยายขนาดออกไปจนกระทั่งแตกระเบิด ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมและบริษัทคงบาดเจ็บสาหัสกว่านี้เยอะมาก เพราะฉะนั้นมันจึงดีมากเลยที่ผมได้ปลดปล่อยความทะเยอทะยานออกไป แล้วก็ค่อยๆ กลับมา Shape ตัวตนขึ้นมาใหม่ ให้อยู่ในขนาดที่กำลังพอดีกับตัวเอง ก่อนหน้านั้นผมเคยแม้กระทั่งเขียนไว้ในบทบรรณาธิการ ของ a day ฉบับหนึ่ง ว่า ‘เขตคามเล็กๆ ให้ความรื่นรมย์แก่ชีวิตมากกว่าอาณาจักร’

แต่ผมดันลืมสิ่งที่ตัวเองเคยเขียนเอาไว้ คือคนเรา พอถูกยกย่องมากๆ ได้รับความชื่นชมมากๆ มันก็มีโอกาสที่จะเคลิ้มๆ หลงๆ น่ะ แล้วสุดท้ายก็ต้องถูกตักเตือนซะบ้าง ด้วยความล้มเหลวครั้งใหญ่

แต่ผมยังยืนยันว่าความทะเยอทะยานเป็นสิ่งที่มีประโยชน์พอสมควร โดยเฉพาะกับคนที่เป็นนักบุกเบิก เป็นผู้ก่อตั้ง แต่ประเด็นอยู่ที่คนจำนวนมาก พอทำอะไรสำเร็จแล้วก็มักเผลอไปทำอะไรเกินตัว อย่างทีมฟุตบอลที่เคยได้แชมป์ในประเทศแล้ว ก็ควรมีความทะเยอทะยานต่อไป อยากจะได้แชมป์นอกประเทศ อยากไปชูถ้วยทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ บ้าง พูดง่ายๆ อยากพิสูจน์ความเก่งกาจ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เราแพ้มาอย่างยับเยิน เราจึงจะรู้ได้ถึงขนาดของความทะเยอทะยานที่เหมาะสมกับเรา ในฐานะผู้นำองค์กร ตอนนี้ผมบอกได้เลยว่า ผมไม่มีความทะเยอทะยานในเรื่องที่ว่า ปีนี้บริษัทผมจะโตขึ้นเท่านั้นเท่านี้ บิลลิ่งเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ มีคนทำงานกี่ร้อยคน เพราะตอนนี้ผมรู้ขนาดที่เหมาะสมกับผมแล้ว หลายปีมานี้ สิ่งที่ผมใส่ใจมากกว่า คืออยากให้คนที่ทำงานกับผมมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กมากเลยนะ แต่นี่แหละหน้าที่หลักผม งานผมในบริษัทตอนนี้คือเป็นพีอาร์และเป็นฝ่ายบุคคลน่ะ

GM: คุณเป็นฝ่ายบุคคลแบบไหน

วงศ์ทนง : ก็ดูแลทุกเรื่องเลย ความจริงอย่างหนึ่งที่ผมค้นพบในการเป็นเจ้าของบริษัท คือการบริหารจัดการงานนี่ไม่ยากหรอกครับ มันมีสเต็ป 1-2-3-4 มีกระบวนการของมันอยู่ แต่เรื่องที่ยากที่สุด คือเรื่องการบริหารบุคคล เพราะมนุษย์มีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ความรู้สึก มีท้อแท้ มีนอยด์ มีน้อยใจ ซึ่งส่งผลกระทบกับงานได้ ผมเลยต้องดูแลจิตใจพวกเขาหน่อย ฟังดูตลกๆ แต่ผมทำอย่างนั้นจริงนะ ผมเติบโตมาจากคนทำงานเล็กๆ ผมไม่ใช่คนที่ได้มรดกจากตระกูลแล้วหอบเงินมาลงทุนทำธุรกิจ แต่ผมโตมาจากการเป็นพนักงานระดับที่เล็กที่สุดขององค์กร จนกระทั่งวันหนึ่งได้มาเป็นเจ้าของ

ผมเลยรู้ว่าอะไรคือความสุขและความทุกข์ของพนักงาน พอผมมาเป็นเจ้านายบ้าง ผมก็ทำสิ่งที่ทำให้คนทำงานแฮปปี้ และไม่ทำสิ่งที่ทำให้พวกเขาอึดอัดใจ ผมจะไม่ไปจุกจิกกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ โอเคว่าผมอาจต้องดุบ้าง ต้องเข้มบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเราเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ เราไม่ใช่พวกมือสมัครเล่น เพราะฉะนั้นระเบียบวินัยและความรับผิดชอบในงานเป็นเรื่องจำเป็น อย่างเช่นการออกหนังสือให้ตรงเวลา การทำหนังสือให้ดี มีสาระ ผู้อ่านมาอ่านแล้วได้อะไร ส่วนเรื่องเงินๆ ทองๆ ยกให้เป็นหน้าที่ปิงปอง (นิติพัฒน์ สุขสวย บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา และบรรณาธิการภาพ นิตยสาร a day) รับไปดูแล คุณเชื่อไหม ทุกวันนี้ผมไม่รู้นะว่า บิลลิ่งบริษัทผมนี่เดือนนึงเท่าไร ปีนึงเท่าไร

GM: การทำงานร่วมกับนิติพัฒน์เป็นอย่างไรบ้าง

วงศ์ทนง : ผมเชื่อว่าทุกๆ ความสำเร็จ ต้องมีคนที่คอยสนับสนุนคุณอยู่ข้างหลังหรือข้างๆ เสมอ อยู่ที่ว่าคุณจะนึกถึงเขาหรือเปล่า นิติพัฒน์ สุขสวย ก็เป็นคนนั้นสำหรับผม เขาเป็นหัวใจห้องหนึ่งของ a day เราร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน ผมกับเขาเป็นส่วนผสมที่ลงตัว จุดอ่อนของผมคือเรื่องตัวเลข ผมอ่อนเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่การทำธุรกิจ การบริหารกำไร-ขาดทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งปิงปองจะช่วยดูแลเรื่องนี้ได้ดี ส่วนผมก็ดูในส่วนครีเอทีฟ พีอาร์ เอชอาร์ อย่างที่ว่า ผมเชื่อว่าที่บริษัทเราประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ มากกว่าครึ่งมาจากการดูแลของปิงปอง ส่วนความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผมกับปิงปอง ผมรักเขาเหมือนเพื่อนสนิท เหมือนพี่น้อง เรามีความเข้าใจกันสูงมาก เรียกว่า มองตีนก็รู้ใจน่ะ (หัวเราะ) คนเราพอผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน ก็จะเห็นใจและเข้าใจกัน ผมรักเขานะ แต่ไม่เคยบอกเขาหรอก เรามันพวกปากแข็งทั้งคู่ (หัวเราะ) สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมอยู่กับปิงปองได้ยาวนานคืออะไรรู้ไหมครับ เราเป็นคนมีอารมณ์ขัน เป็นอารมณ์ขันแบบดาร์คคอเมดี้ เรามักพูดจาทะลึ่งตึงตัง หยาบคาย ประชด-ประชันแดกดันแม้กระทั่งกับตัวเราเอง เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนดีมาก เพราะบางทีเราสองคนก็แอบเ-ี้ยอยู่เหมือนกัน ระยะหลังผมจะครั่นเนื้อครั่นตัวเวลาเห็นใครประกาศตัวว่าเป็นคนดี มีจริยธรรม เป็นแบบอย่างของสังคม คือผมไม่ค่อยเชื่อ ผมชอบที่เราสองคนยังเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ อยู่ เป็นมนุษย์ที่ดีบ้าง ไม่ได้เรื่องบ้าง

GM: ที่คุณบอกว่าตอนนี้ไม่ได้ฝันจะเป็น Media Tycoon อะไรนั่นแล้ว อยากรู้ว่าแท้จริงแล้ว ‘ความฝัน’ มีความจำเป็นกับเราในฐานะคนหนุ่มสาวแค่ไหน

วงศ์ทนง : ผมว่ามันก็ขึ้นอยู่กับคุณแต่ละคนนะ ว่าคุณตีค่ามันแค่ไหน สำหรับผมเอง ผมยังคิดว่าการมีความฝันเป็นสิ่งที่ดีและมีคุณค่า โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว อย่างน้อยมันก็เป็นแรงจูงใจให้เราอยากพาตัวเราไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม แต่ส่วนใหญ่ผมมักเห็นคนจำนวนมากเอาแต่ฝันไง ฝันแล้วไม่เรียนรู้ ไม่เสาะแสวงหาโอกาส ไม่ลงมือทำ และที่สำคัญ ไม่อดทนพอ สุดท้าย

ความฝันสวยหรูของเขาก็กลายเป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ ที่ลอยปะปนไปกับฝุ่นผงไร้ค่าในอากาศ ผมมักพูดประโยคหนึ่ง จนบางครั้งคุณอาจจะรู้สึกว่ามันซ้ำซาก (หัวเราะ) แต่มันก็เป็นเรื่องจริงนะครับ นั่นคือวิธีจัดการกับความฝันที่ดีที่สุด คือลงมือทำให้มันเป็นจริง นอกจากนั้น เวลาฝันอะไร ก็ควรประเมินดูด้วยว่าเราฝันเกินตัว ฝันเกินกำลังเราไปหรือเปล่า ผมคิดว่าความฝันที่ดี

ไม่ควรทำให้เราทุรนทุรายเกินไปนัก และสิ่งสุดท้ายที่ผมพอจะบอกคุณได้คือ ชีวิตที่ไม่มีความใฝ่ฝันอะไรเลย เป็นชีวิตที่จืดชืดแล้วก็แห้งแล้งชะมัด

GM: คุณยังเข้าออฟฟิศทุกวันไหม

วงศ์ทนง : เกือบทุกวันครับ ถ้าไม่ติดธุระหรือถ่ายรายการอะไร ผมชอบเข้าออฟฟิศนะ ถ้าไม่มีงานอะไรทำ อย่างน้อยได้มาทักทายพนักงานสักหน่อย เวลามาออฟฟิศผมไม่รู้สึกว่ามาทำงาน ถ้าจะพูดให้ดูเท่ๆ คือ งานที่ผมทำกับชีวิตผม มันกลมกลืนกันจนเป็นเนื้อเดียว เพราะฉะนั้นการทำงานสำหรับผม ก็เหมือนการกินข้าว หายใจ ออกไปใช้ชีวิตประจำวัน ผมไม่รู้สึกว่าการทำงานเป็นภาระ เพราะผมได้ทำงานที่ผมรักมาก แต่มันก็มีบางช่วงเหมือนกันที่เกิดอารมณ์ประมาณเด็กที่ตื่นเช้ามาแล้วไม่อยากไปโรงเรียนน่ะ

GM: ไม่อยากไปแล้วทำอย่างไร

วงศ์ทนง : ก็ไม่ต้องไปสิครับ บริษัทผมเอง (หัวเราะ) งานผมต้องใช้ความคิดเยอะ ใช้พลังงานเยอะ บางครั้งมันก็เลยล้าๆ บ้าง วิธีแก้ก็ต้องทำตัวขี้เกียจบ้าง ผมนี่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องศาสตร์แห่งความขี้เกียจเลยนะครับ เวลาผมขี้เกียจนี่ใครก็สู้ไม่ได้ ผมสามารถเรื่อยเปื่อยอยู่บนเตียงนอนได้ทั้งวัน นอนดูทีวี อ่านหนังสือ สั่งดีลิเวอรี่มากินบนที่นอน

GM: ยังชอบไปดูหนังรอบบ่าย 2 อยู่ไหม

วงศ์ทนง : หลังๆ เปลี่ยนเป็นรอบเที่ยงแล้ว (หัวเราะ) ก็ยังทำอยู่เสมอครับ บ่อยครั้งมากที่ผมเป็นคนดูเพียงคนเดียวในโรงหนัง ดูเสร็จเดินออกจากโรง บางทีเกรงใจมากอยากจะเพิ่มตังค์ให้เขาอีกสักสองร้อย คือถ้าคุณไม่อยากขุ่นข้องหมองใจกับชีวิตคนเมือง แล้วคุณพอจะสามารถเลือกได้ ผมแนะนำว่าคุณควรใช้ชีวิตสวนทางกับแมส เพราะความเป็นแมสมันเต็มไปด้วยความไม่สะดวก

ไม่สบาย เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยน่าเบื่อ ดังนั้นชีวิตผม ช่วงเทศกาลต่างๆ นี่ไม่ได้กินเงินผมเลยนะ วาเลนไทน์ สงกรานต์ คริสต์มาส ปีใหม่ ผมจะหมกตัวเงียบๆ ไม่ออกไปปะปนกับฝูงชน ผมไม่อยากให้ชีวิตต้องไปเผชิญกับความวุ่นวายกับคนหมู่มากน่ะ ผมว่าคนที่รถติดอยู่บนทางด่วน 3 ชั่วโมงคงเข้าใจ ว่าแม่งเป็นโมเมนต์ที่ไร้สาระสุดๆ เลย โอเคว่าตอนทำงานใหม่ๆ เลือกไม่ได้ ผมก็ต้องยอมทนไปก่อน ผมเคยเป็นคนทำงานที่ยอมไปอัดอยู่บนรถเมล์แน่นๆ 2 ชั่วโมงตอนเช้า เพื่อเดินทางไปออฟฟิศน่ะ ตอนนั้นก็คิดในใจว่าวันหนึ่งกูต้องออกไปจากสภาพนี้ให้ได้

ทุกวันนี้ผมพยายามดีไซน์การทำงานในบริษัทผมให้มันสบายๆ เข้าไว้ งานที่ดีต้องเกิดจากคนทำงานที่ใจสบายเสียก่อน ผมเชื่ออย่างนั้น

GM: ความเป็นอินดี้ของคุณเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตสวนกระแสแมสใช่ไหม ไอเดียต่างๆ ความคิดสร้างสรรค์ มาจากออกไปดูหนังรอบบ่ายสองโมงใช่ไหม

วงศ์ทนง : บางคนมันก็ชอบสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองแบบนั้นแหละ อาจมีส่วนบ้าง แต่ก็ไม่เสมอไปหรอกครับ บางครั้ง ความเร่งรัดหรือลำบากขาดแคลนก็ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้

GM: พวกอินดี้อย่างคุณ มองกระแสแมสและป๊อปคัลเจอร์อย่างไร

วงศ์ทนง : ผมโตมากับเพลงแกรมมี่ อาร์เอสเลยนะ ผมชื่นชอบความป๊อปปูลาร์ แล้วก็ไม่มีอคติกับมันเลย ตรงกันข้าม ผมให้ค่ามันด้วยซ้ำ ความป๊อปปูลาร์ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ มันยากนะ เพียงแต่ว่าตอนที่ผมทำ a day ผมเริ่มต้นด้วยความเป็นแมสแบบนั้นไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดของทุน ของขนาด ของกำลังที่ผมมีอยู่ มันทำให้ผมทำได้แค่นั้น แล้วก็ออกมาเป็นอินดี้อย่างที่คุณเรียก ถ้าตอนนั้นผมมีเงินสัก 20 ล้านมาเริ่มต้น ผมก็อยากจะเป็นอย่าง GM หรือ แพรว หรือ IMAGE บ้างเหมือนกัน แต่ตอนนั้นผมมีแค่ล้านเดียวไง ผมก็ต้องทำแมกกาซีนพิมพ์ขาว-ดำ เย็บแม็กมุงหลังคากันไป ผมไม่ได้มีปัญหากับกระแสหลักนะ เพียงแต่ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้เริ่มต้นแบบเล็กๆ

GM: ที่ผ่านมา คุณมีหลักการทำงานอย่างไร

วงศ์ทนง : ผมพยายามผลักดันให้คนทำงานของผมใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานให้มากที่สุด คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์นี่ ผมเชื่อว่า คนบางคนเกิดมาพร้อมพรสวรรค์บางด้าน เช่น ด้านดนตรี กีฬา คณิตศาสตร์ ผมไม่แน่ใจว่ามันมาจากพันธุกรรมหรือจากอะไร ผมมีเพื่อนบางคนที่เล่นดนตรีได้ทุกชนิด แม่นเรื่องเมโลดี้มาก มีเพื่อนที่ไม่ว่าจะเล่นกีฬาอะไร มันเล่นได้ดีไปหมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเรื่องธรรมชาติให้มานี่ผมเชื่อ อย่างนักวิ่งระยะไกล ทำไมเคนยาหรือเอธิโอเปียเก่งมาก เพราะสรีระกล้ามเนื้อเขาเป็นมาตั้งแต่เกิด เมื่อบวกกับความอัตคัด สภาพแวดล้อมและการฝึกฝน เขาก็สามารถเก่งกาจขึ้นมาได้ เหมือนพวกนักคิดต่างๆ ผมเชื่อว่าเขาได้มาจากธรรมชาติส่วนหนึ่ง อีกส่วนอาจมาจากสภาพแวดล้อมและพัฒนาการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยของชีวิต อย่างผมก็ไม่ได้มีพ่อเป็นครีเอทีฟ ไม่ได้มีแม่เป็นนักเขียน แต่ผมคิดว่าความไม่สมบูรณ์บางอย่างในครอบครัว ทำให้ผมเป็นเด็กช่างคิด อีกอย่าง ผมขยันเติมตัวเองมากนะ เดือนนึงๆ หรือปีนึงๆ ผมหมดเงินไปกับการซื้อหนังสือ ซื้อหนัง หรือเดินทางเยอะมาก หลักๆ ผมคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ของผมเกิดมาจากการได้อ่าน ได้ดู ได้เห็น ได้ฟัง ได้พูดคุยสนทนา กิจกรรมเหล่านี้หลายอย่างก็ต้องจ่ายไปเพื่อให้ได้มา ผมพยายามให้คนทำงานของผมหมั่นเติมตัวเองอยู่เสมอ คนทำหนังสือจะรู้น้อยกว่าคนอ่านไม่ได้

GM: คุณคิดว่าพลังของนิตยสาร ในการจะบอกเรื่องต่างๆ ให้กับสังคมมันลดน้อยลงไปไหม เพราะตอนนี้คนติดตามโซเชียลมีเดียมากขึ้น

วงศ์ทนง : โซเชียลมีเดียเป็น New Media ที่มาแย่งคนที่เคยเสพ Old Media แน่นอน หลายปีมานี้คุณคงได้เห็นข่าวการปิดตัวลงของหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ยุโรป หรือเอเชีย นิวส์วีคก็ไปแล้ว วันก่อนก็เห็นข่าว รีดเดอร์ส ไดเจสท์ เพิ่งประกาศล้มละลาย ปรากฏการณ์เหล่านี้มันฟ้องว่าความสนใจเสพสื่อของผู้คน มันเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปที่สื่อใหม่จริงๆ เอาง่ายๆ ตัวผมเอง เดี๋ยวนี้ผมแทบไม่อ่านหนังสือพิมพ์รายวันเลย ตื่นเช้ามาก็มอนิเตอร์ข่าวจากทวิตเตอร์ของเนชั่น มติชน ซีเอ็นเอ็น บีบีซี อัล จาซีราห์ ฮัฟฟิงตัน โพสต์ ซึ่งข่าวเขาเร็วขนาดนาทีต่อนาที เรียกว่าเร็วกว่าทีวีเสียอีก ขณะที่ข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันคือข่าวเมื่อวาน เพราะฉะนั้น ต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียตอบสนองไลฟ์สไตล์การเสพสื่อของคนยุคใหม่ โดยเฉพาะในแง่ที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นหรือปฏิกิริยาโต้ตอบกับมีเดียได้ทันที ซึ่งสื่อเก่าไม่มีเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สื่อสิ่งพิมพ์ยังให้ได้มากกว่า คือเรื่องของความสัมพันธ์และความผูกพันที่มีต่อกันมายาวนานระหว่างคนอ่านกับหนังสือ ผมยังเชื่อว่าหนังสือเล่ม รวมไปถึงนิตยสารมันยังไม่หายไปจากโลกในเร็ววันนี้หรอกครับ

GM: เท่าที่เล่นมา คุณสนใจปรากฏการณ์อะไรบ้างในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์

วงศ์ทนง : ถ้ารู้จักใช้ดีๆ ผมว่ามันเป็นพลังที่มหาศาล สามารถสร้างผลกระทบ เขย่าบัลลังก์ หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ได้เลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการปฏิวัติดอกมะลิในกลุ่มประเทศอาหรับ นอกจากนั้น มันยังเป็นชามอ่างใบยักษ์ของความรัก โลภ โกรธ หลง เป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมาก และผมก็เชื่อว่าคนที่คิดเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือยูทูบ คงนึกไม่ถึงหรอกว่าสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา มันจะไปไกลถึงขนาดนี้ ผมมักนึกถึงคำพูดของ แอนดี้ วอร์ฮอล ที่ว่า “ในอนาคต ทุกคนจะมีชื่อเสียงคนละ 15 นาที” ผมว่าสภาพทุกวันนี้ใกล้เคียงเข้าไปทุกที เผลอๆ อาจไม่ใช่ 15 นาทีแล้วก็ได้ อาจจะแค่ 10 นาทีหรือ 5 นาที มันทำให้คนธรรมดาๆ สามารถกลายเป็นเซเลบริตี้ขึ้นมาได้ ทั้งจากความสามารถและจากการทำอะไรบ้าๆ บอๆ เมื่อก่อนกว่าคุณจะมีชื่อเสียง มีสื่อมาให้ความสนใจ คุณต้องพิสูจน์ตัวเองพอสมควรเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นคนดังได้ในชั่วข้ามคืน นี่คือผลพวงของโซเชียลมีเดีย ซึ่งในแง่หนึ่งก็ดี มันทำให้ความนิยมไม่ถูกผูกขาดไว้กับใครหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ในอีกแง่ ผมก็สงสัยเรื่องการให้ค่าของคนที่มันเปลี่ยนไปอยู่เหมือนกันผมเคยคุยกับเด็กมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมถามเขาว่า ชีวิตนี้ ถ้าให้เลือกเจอคนสำคัญได้คนหนึ่ง คุณอยากเจอใคร เขาตอบทันทีว่า อยากเจอ คิม คาร์ดาเชียน คือตอนที่ถามไป ผมไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะอยากเจอ ออง ซาน ซูจี หรือใครหรอกนะ แต่ผมผิดหวังนิดหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต คุณเจอใครก็ได้ในโลกนะครับ สำหรับผมคิดว่า ชีวิตของ คิม คาร์ดาเชียน มีสาระน้อยไปหน่อย เธอถูกสื่อประโคมจนมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา แต่ถามว่าเธอทำอะไรที่มีคุณค่าให้กับสังคมหรือเปล่า ก็ไม่ค่อยมีนะ ผมว่าโซเชียลมีเดียในแง่หนึ่งมันทำให้เราเป็นแบบนี้ คือด่วนให้ค่าคนโดยไม่ได้ประเมินคุณค่าที่แท้จริงของเขา เพราะฉะนั้นทุกวันนี้คุณจะเห็นคนแบบนี้เยอะเลย คนที่ผลัดกันดังขึ้นมาวูบหนึ่ง แล้วก็หายไปในเวลารวดเร็ว แล้วก็มีคนใหม่มาแทน มีคนที่ถูกเรียกว่าไอดอลเต็มไปหมด สิ่งหนึ่งที่ผมอดรู้สึกไม่ได้คือ คนที่โด่งดังในชั่วข้ามคืนมันอันตรายนะ จากโนบอดี้เป็นซัมบอดี้ มันชวนให้เคลิ้มๆ เหมือนกันนะ ยิ่งชื่อเสียงที่ว่ามันมาเร็วไปเร็ว บางทีคนเหล่านี้ก็ตั้งรับไม่ทัน แล้ววันที่เขาตกลงมาหรือถูกลืมเลือนไปเหมือนไม่เคยมีตัวตนนี่แหละ ผมว่าเป็นวันที่โคตรเคว้งคว้างเลย

GM: แล้วตัวคุณเองล่ะ การที่คุณเป็นไอดอล เป็นศาสดา จริงๆ แล้วคุณเป็นอย่างนั้นไหม

วงศ์ทนง : คุณจะบอกว่าผมเป็น ‘ศาสดาเด็กแนว’ ใช่ไหม คำคำนี้อยู่กับผมมา 12 ปีแล้ว (หัวเราะ) ผมเคยดู เอริค คันโตนา ให้สัมภาษณ์ว่า เราทุกคนล้วนอยู่ในโลกของการสร้างภาพด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่ภาพของผมก็ไม่ต่างไปจากตัวจริงของผมสักเท่าไรหรอก ผมคิดว่าผมเองก็คงคล้ายๆ อย่างที่คันโตนาพูด ตัวจริงผมไม่ค่อยต่างจากภาพพจน์ที่คุณรับรู้มา ถ้าสมมุติตัวผมเป็นหนังเรื่องหนึ่ง ผมก็อาจเป็นหนังที่ในวัยหนึ่ง คุณเคยดูแล้วประทับใจมาก ดูแล้วไฟลุก หัวใจพองโต แต่หลังจากนั้น พอคุณโตขึ้น ได้ดูหนังเรื่องใหม่ๆ หลากหลายแนวมากขึ้น คุณอาจจะพบว่าตัวคุณถูกจริตกับหนังเรื่องอื่นมากกว่าหนังผม ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แล้วถ้าสมมุติมีคนมาถามว่า หนังเรื่องโปรดของคุณคือเรื่องไหน ถ้าคุณจะไม่ตอบว่าคือหนังของผมแล้ว ผมก็จะไม่เสียใจเลย เพราะผมเองก็เคยเป็นอย่างนั้น มีพี่บางคนที่ตอนเด็กๆ ผมรู้สึกว่า เขาเป็นไอดอลของผมมากเลย เขามาพูดที่มหา’ลัย ผมไปจองที่นั่งแถวหน้าเลยนะ แต่พอผมโตขึ้น มีวุฒิภาวะมากขึ้น ได้รู้จักคนมากขึ้น ความคิดความสนใจเปลี่ยนไป หันไปมองเขาแล้วผมรู้สึกว่าเขาธรรมดาว่ะ เขาก็ไม่ใช่ไอดอลของผมต่อไปแล้ว แต่ถึงอย่างไรผมก็ยังจดจำเขาในแง่ที่ว่า เขาเคยเป็นแรงบันดาลใจ เป็นคนที่ผมเคยให้ความชื่นชม

GM: ทำไมคุณยังสามารถคุยกับเด็กๆ ได้ ทั้งที่คุณก็ไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว

วงศ์ทนง : อาจเพราะคาแร็กเตอร์ผมดูเป็นพี่มั้งครับ พี่โหน่ง อะเดย์ ขนาดวันก่อนมีเด็ก ม.3 ขอลายเซ็น ยังเรียกผมพี่โหน่งเลย (หัวเราะ) ก็ดีนะ ยังได้เป็นพี่ตลอดเวลา อีกเหตุผล ผมคิดว่าเพราะผมยังสื่อสารกับพวกเขาได้ ยังพูดจากับพวกเขารู้เรื่อง คือผมเป็นคนไม่รำคาญพวกวัยรุ่นน่ะ ผู้ใหญ่บางคนชอบคิดว่าพวกวัยรุ่นมันไร้สาระ บ้าๆ บอๆ แต่นึกย้อนกลับไปสิ ผู้ใหญ่ทุกคนก็เคยเป็นวัยรุ่นที่ทำอะไรบ้าๆ บอๆ มาก่อนทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้น ผมไม่ดูถูกพฤติกรรมความคิดของพวกเขา ไม่ดูถูกว่าเขาเป็นติ่งเกาหลี เพราะผมเองก็เป็น (หัวเราะ) ผมยังฟังเพลง Big Bang ยังรู้จัก 2NE1, Super Junior, Girls’ Generation ผมเลยคิดว่าผมคุยกับพวกเขารู้เรื่อง ไม่เกิดช่องว่างระหว่างรุ่น แล้วสื่อที่ผมทำก็สื่อสารกับคนกลุ่มนี้เสมอ ไม่ว่าหนังสือ นิตยสาร รายการโทรทัศน์ หรือสื่อสารโดยตรงอย่างการไปพูดที่มหาวิทยาลัย คุณอาจไม่รู้ว่า ผมไปพูดตามมหาวิทยาลัยบ่อยมากนะครับ ปีละ 10-20 ครั้งได้ ผมเป็นมือวางอันดับต้นๆ ในเรื่องการพูดปฐมนิเทศ ปัจฉิมนิเทศเลยนะ บางคนมาฟังผมพูด แล้วเขาร้องไห้เลยนะ นี่เรื่องจริง!

GM: คุณไปพูดเรื่องอะไร เขาถึงร้องไห้

วงศ์ทนง : ก็พูดเรื่องชีวิตพวกเขานี่แหละครับ แต่พูดในฐานะคนที่เคยผ่านช่วงเวลานี้มาก่อน ผมเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาที่ยังสับสนกับชีวิต ยังจับต้นชนปลายกับชีวิตไม่ถูก ต้องเรียนหนักไปทำไมไม่รู้ บางคนก็ต้องทนเรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ชอบ แต่เรียนเพราะครอบครัวหรือค่านิยมทางสังคมบอกให้เรียน คำถามที่ผมได้รับเสมอเลยคือ พี่โหน่งคะ พี่โหน่งครับ หนูไม่รู้ว่าหนูชอบอะไร ผมไม่รู้จักตัวผมเอง ผมยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ซึ่งเป็นคำถามที่ทำให้ผมแปลกใจมาก ว่าไอ้การค้นหาตัวเองนี่มันยากตรงไหนวะ ผมว่ามันง่ายกว่าการค้นหาคนอื่นตั้งเยอะ แต่ผมเข้าใจว่าเด็กไทยไม่ได้ถูกหล่อหลอมมาให้เป็นเด็กที่คิดเอง ตัดสินใจเองตั้งแต่เด็ก เลยกลายเป็นว่าเราต้องทนเรียนในสิ่งที่เราไม่ได้ชอบ ไม่ได้เลือก สุดท้ายเด็กเหล่านี้ก็เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ทำงานที่ตัวเองสนใจ ไม่มีความสุขกับการทำงาน ได้แต่ทำงานไปวันๆ แล้วก็บ่นบริษัท ด่าเจ้านายไปเรื่อย รอเวลาให้พลังชีวิตหมดไป ซึ่งผมว่าเป็นสภาพที่น่าอนาถใจ เมื่อผมมีโอกาสพูดกับพวกเขาเนิ่นๆ ผมก็จะแนะนำให้พวกเขาค้นหาความเชื่อความชอบของตัวเองให้เจอเร็วๆ เพราะยิ่งเจอเร็วเท่าไร คุณก็ไม่ต้องเสียเวลาไปทำสิ่งที่ไม่ใช่ ไม่ชอบเร็วเท่านั้น ผมกระตุ้นให้พวกเขากล้าเลือกแล้วก็กล้าแลก บอกย้ำให้พวกเขาเชื่อว่าเขามีสิทธิในชีวิตของเขาอย่างเต็มที่ คำพูดหนึ่งที่ผมมักบอกพวกเขาคือ อย่ายอมมีชีวิตชนิดที่ต้องทนอยู่กับมันไปทั้งชีวิต

GM : ในฐานะศาสดาเด็กแนว คุณคิดว่าแนวความคิดของคุณ ได้เปลี่ยนเด็กไทยไปมากแค่ไหน

วงศ์ทนง : ไม่แน่ใจนะครับ ผมยังไม่เคยเห็นใครทำรีเสิร์ชเรื่องนี้เป็นเรื่องเป็นราว แต่มีนิสิตนักศึกษาหลายคนทำวิทยานิพนธ์ในแง่ที่ว่า a day เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อน Pop Culture ของสังคมไทยและพฤติกรรมของวัยรุ่น แล้วก็มีฟีดแบ็กจากผู้อ่านมาถึงพวกเราอยู่เสมอว่า a day หรือ a book ทำให้เขาชอบอ่านหนังสือมากขึ้น หนังสือบางเล่มของเราช่วยให้เขาค้นหาตัวเองเจอ นักศึกษาบางคนเดินมาบอกกับผมว่า เขาตัดสินใจเปลี่ยนคณะเพราะหนังสือ ‘มัชฌิมนิเทศ’ แล้วพบว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง คนทำงานบางคนบอกผมว่าเปลี่ยนงาน เปลี่ยนชีวิตเพราะหนังสือ ‘No More No Less’ ที่ผมเขียน อะไรเหล่านี้น่าจะพอบอกได้ว่า เราทำหน้าที่สื่อของเราได้ดีพอสมควรแต่มันก็อันตรายนะ การพูด การสื่อสารของผมดูเร้าใจ แต่ผมก็พยายามเตือนน้องๆ อยู่เสมอ เช่น โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด การลงทุนมีความเสี่ยง (หัวเราะ) อะไรประมาณนี้ เพราะชีวิตของแต่ละคนมีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน ผมไม่ได้ไปบอกทุกคนว่าต้องแหกคอก ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ ผมแค่อยากให้คุณได้ทบทวนชีวิตตัวเอง สิ่งที่คุณทำไปในทุกวันนี้ ทำเพื่ออะไร ทำไปเพราะถูกชักนำโดยสังคมหรือเปล่า โดยไม่รู้ตัวว่าวิถีชีวิตแบบนี้ มันเหมาะกับตัวเองจริงหรือเปล่า

ผมเห็นค่านิยมของเด็กจำนวนมาก เป็นค่านิยมแบบเดียวกับสมัยที่ผมเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ค่านิยมที่ว่า ชีวิตที่ดีคือการต้องเรียนได้เกรดดีๆ ได้คะแนนแอดมิชชั่นสูงๆ แล้วสื่อก็มักนำเสนอว่า เด็ก ม.6 คนไหนทำคะแนนสอบได้สูงสุดของประเทศ ซึ่งสิงคโปร์เลิกทำแบบนี้แล้ว เพราะเขาเห็นว่ามันไปสร้างความกดดันให้เด็ก เราถูกสอนให้ต้องชนะเลิศตลอดเวลา พอโตขึ้นมา คุณภาพชีวิตที่ดีคือคุณต้องมีบ้าน มีคอนโดฯ กลางเมือง มีรถขับ ก้มหน้าก้มตาทำงานหาเงินให้ได้เยอะๆ เพื่อเอาไปเป็นค่าใช้จ่าย ผมคิดว่าโมเดลชีวิตแบบที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าดีแบบนี้ มันอยู่กับเรานานเกินไปแล้ว

หลายปีที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอะไรหลายๆ อย่างรอบตัว มันได้บอกเราว่า อุดมคติที่เราเคยเชื่อมันไม่ถูกต้องเสมอไป บ้านเรามีคนป่วยเยอะมาก ป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เราเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุบนถนนติดอันดับโลก คนของเราบริโภคกันมโหฬาร เราอยู่ในสังคมที่คนถูกโน้มน้าวชักจูงได้ง่ายมาก ขณะที่หลายประเทศตื่นตัวแล้ว

แต่เรายังหลงทางกันอยู่ ผมไม่ค่อยเห็นความจริงใจที่จะทำให้พลเมือง

มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากผู้บริหาร ไม่ว่าระดับเมืองหรือระดับประเทศ

อย่างล่าสุด ผมอ่านบทความเกี่ยวกับเมืองโบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบีย ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเมืองที่มีปัญหาสังคมและมีอาชญากรรมเยอะมาก แต่วันหนึ่ง เขามีนายกเทศมนตรีที่ลุกขึ้นมาประกาศว่าจะทำให้ชีวิตของพลเมืองดีขึ้น

เขาเอาตัวเข้าไปชน หางบประมาณมาเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองให้เป็นเมืองจักรยาน ซึ่งแน่นอนว่ามีอุปสรรคปัญหาต่างๆ นานาเยอะแยะ แต่เขาก็สู้แล้วก็ทำจริง สุดท้ายก็สำเร็จ ทุกวันนี้โบโกตากลายเป็นต้นแบบเมืองจักรยานที่หลายเมืองในโลกเอาไปทำตาม ประชาชนหันมาขี่จักรยานเพิ่มขึ้น 20 เท่า สถิติอาชญากรรมลดลง 4 เท่า คุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้นอย่างชัดเจน หรืออย่าง

คลองชองกเยชอนที่กรุงโซล เมื่อก่อนพื้นที่นั้นเป็นสลัมใต้ทางด่วน แต่ผู้ว่า

การกรุงโซลสมัยนั้นชื่อ ลี มยอง-บัก ประกาศว่าจะทำคลองสายนี้ให้สวยงาม ปรากฏว่าโดนต่อต้านแหลกเลยเพราะไปกระทบผลประโยชน์ชาวบ้าน แต่ด้วยความมุ่งมั่นเอาจริง สุดท้ายคลองเส้นนี้ก็กลายเป็นแลนด์มาร์คที่ใครไปเกาหลีใต้ต้องแวะไป แล้วคุณคิดดูสิ บ้านเราเคยมีนักการเมืองฮีโร่แบบนี้ไหม

GM: การพัฒนาประเทศ เราควรจะพัฒนาจากระดับบนลงล่าง หรือควรจะพัฒนาแบบล่างขึ้นไปข้างบน

วงศ์ทนง : บ้านเราแต่ไหนแต่ไร โครงสร้างการพัฒนาส่วนใหญ่มาจากบนลงล่าง รัฐบาล ภาครัฐ เป็นคนสั่งการแล้วก็จัดการหมดเลย เราแทบไม่รู้เลยว่าเงินภาษีของเราที่เสียไปแต่ละปี เขาเอาไปเป็นงบประมาณทำอะไรบ้าง แต่หลายปีมานี้ผมเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นความคิดความอ่านที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ถูกจุดประกายขึ้นมาโดยคนเล็กๆ โดยภาคประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากเลย การปฏิวัติที่ถูกต้อง ต้องเกิดขึ้นจากประชาชนคนเล็กๆ ผมชอบที่ผู้คนเริ่มรู้สึกถึงสิทธิของตัวเอง เข้าใจเรื่องเสรีภาพ เข้าใจว่าเขาสามารถมีปากมีเสียงในการเรียกร้องความยุติธรรมหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ไม่คิดว่าการแก้ปัญหาสังคมเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอย่างเดียว อย่างกระแสการขี่จักรยานที่กำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และหลายๆ จังหวัด ก็เกิดมาจากผู้คน ไม่ได้เกิดจากไอเดียของภาครัฐ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและดูจริงมากกว่าอย่างบริษัทผม พนักงานประมาณ 100 คน ตอนนี้ก็มีที่ขี่จักรยาน 30-40 คนแล้วนะ แล้วนับวันก็ดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระแสจักรยานที่กำลังทวีความสำคัญมากขึ้น ผมให้เครดิตกับคนที่ลุกขึ้นมาขี่จักรยานทุกคน อย่างที่ a day ทรงกลด บางยี่ขัน กับน้องๆ ของเขาก็จัดกิจกรรมเกี่ยวกับจักรยานอยู่เสมอ มีไปออนทัวร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อปีกลายเราทำ a day Bike Fest ครั้งแรก ก็เป็นเทศกาลจักรยานที่ได้รับความสนใจมากจนเราคิดแล้วว่าจะจัดทุกปี ผมเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นในเรื่องนี้ อย่างคุณเห็นนโยบายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมามั้ย ทุกคนมีเรื่องจักรยานหมดเลย ซึ่ง 4 ปีที่แล้วยังไม่มีเลยนะ

GM: เมื่อ 10 ปีก่อน เคยมีผู้ใช้นามแฝงว่า ‘ธดา’ เขียนบทความวิจารณ์นิตยสาร a day ว่าเป็นพวกสุขนิยม มอมเมาให้คนอ่านหันไปเห่อกระแสอะไรเล็กๆ น้อยๆ มาจนถึงวันนี้ เรื่องจักรยานที่ a day พยายามรณรงค์อยู่ มันเป็นคำตอบของบทความชิ้นนี้ไหม

วงศ์ทนง : ตอนที่บทความชิ้นนั้นเผยแพร่ออกมา จำได้ว่าผมเพิ่งทำ a day ออกมาได้แค่ 2-3 ฉบับเองนะ แต่ช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่า a day ก็ได้พิสูจน์ตัวเองพอสมควรแล้วล่ะ ว่าเราเป็นสื่อที่ไม่ได้เลวร้ายอะไร ตรงกันข้าม เราเป็นสื่อที่พยายามให้ความรู้ความคิดกับผู้คนและสังคมนะครับ ผมคิดว่าบทความนั้นเป็นกรณีตัวอย่างของการรีบร้อนด่วนสรุปคนด้วยข้อหาที่เบาบางเกินไป ซึ่งหลายคนชอบทำอย่างนี้ บางเรื่องบางคนมันต้องดูกันยาวๆ และให้เวลาเขาพิสูจน์ตัวเองบ้าง ผมเชื่อว่าถ้าประเด็นของเราแข็งแรงพอ และเราได้ทำหน้าที่อย่างมุ่งมั่น เต็มที่ และจริงใจ ก็จะสามารถเป็น Agenda Setting ของสังคมได้ ไม่ว่าจะเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม กระทั่งเรื่องการเมือง ซึ่งถูกจุดประกายโดยสื่อมาตลอดอยู่แล้ว ผมเชื่อในพลังอำนาจของสื่ออยู่เสมอ ว่ามันมีอยู่จริง เพราะฉะนั้นคนทำสื่อจะปฏิเสธความรับผิดชอบตรงนี้ไปไม่ได้ ไม่นานนี้มีวารสาร ระพีเสวนา มาสัมภาษณ์ผม เขาถามผมว่าสื่อที่ดีต้องเป็นอย่างไร ผมตอบสั้นๆ ไปว่า สำหรับผมแล้ว สื่อที่ดีต้องพัฒนาตัวเองในเรื่องความรู้และที่สำคัญ ต้องมีความรับผิดชอบ ผมคิดว่าคำตอบสองข้อนี้ครอบคลุมทุกอย่าง

GM: แล้วถ้าเป็นประเด็นการเมือง อย่างเรื่องมาตรา 112 คุณจะแตะเรื่องนี้แค่ไหน

วงศ์ทนง : สื่อมีหลายประเภท แต่ละประเภทก็โฟกัสไปในแต่ละเรื่องที่เขาสนใจ หรือให้ความสำคัญ บริษัทผมไม่ได้เป็นสื่อที่เน้นหนักไปด้านการเมือง แต่โดยพื้นฐาน เราให้ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการประกาศจุดยืนทางการเมือง พนักงานบริษัทผมมีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี โดยส่วนตัวผมก็แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่บ้าง แล้วก็โดนด่ากลับมาทุกที (หัวเราะ) เสื้อแดงก็บอกผมเสื้อเหลือง เสื้อเหลืองก็บอกวงศ์ทนงนี่เสื้อแดง จริงๆ คือ บางเรื่องผมก็เห็นอย่างเดียวกับเสื้อเหลือง บางเรื่องผมก็เห็นด้วยกับเสื้อแดง และบางเรื่องผมก็ไม่เห็นด้วยกับฝ่าย

ไหนเลย ความหมายของผมคือ ผมแยกเป็นกรณีๆ ดูเหตุผลเป็นประเด็นๆ มากกว่า ผมเห็นว่าบางประเด็นของแต่ละสียังมีข้อบกพร่อง ยังมีสาระไม่สมบูรณ์พอที่จะทำให้ผมเห็นคล้อยตามด้วยทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าถามผมว่า ผมสีอะไร พรรคไหน ผมไม่มี ผมไม่มีพรรคการเมืองที่จงรักภักดี ชนิดที่ต้องไปลงคะแนนให้ทุกครั้งเวลามีเลือกตั้ง เหมือนเป็นรีพับลิกัน เป็นเดโมแครต หรือเป็นเลเบอร์ เป็นคอนเซอร์เวทีฟ เพราะพรรคการเมืองไทยมักเปลี่ยนอุดมการณ์เพื่อผลประโยชน์ของตนเองอยู่บ่อยๆ จนผมไม่ค่อยเชื่อใจและไว้ใจ ทุกวันนี้ผมไม่พาตัวเองเข้าสังกัดอะไรเลย จุดยืนพื้นฐานของผมในทางการเมืองคือยึดถือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเป็นสำคัญ และผมไม่เอารัฐประหารไม่ว่ากรณีใด ผมให้ความสำคัญกับเรื่องอิสระทางความคิด

มันเป็นเรื่องดีมากนะครับ ถ้าวันหนึ่งคุณลุกขึ้นมาเห็นต่างกับศาสดาของคุณบ้าง คนจำนวนมาก เวลาปักใจยึดถือใครเป็นศาสดา มักจะเทความไว้เนื้อเชื่อใจไปให้เขาทั้งหมด ทั้งๆ ที่ในโลกของความเป็นจริง ไม่มีใครหรอกที่มันจะถูกต้องไปเสียทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นผมเลยมักบอกว่า คุณไม่ต้องเชื่อผมหรอก ผมไม่ได้แฮปปี้ที่ทุกคนเชื่อความคิดผม เด็กบางคนอาจคิดว่าผมเป็นศาสดา แต่ผมจะดีใจกว่า ถ้าเขาสามารถมีความเชื่อของตัวเอง หรือเห็นค้านกับสิ่งที่ผมบอกพวกเขา ผมว่านั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของการมีปัญญา ซึ่งแปลว่าการสามารถคิดเองได้ แต่ตอนนี้สิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเมือง มันกลายเป็นว่า พอเราปักหลักอยู่ข้างไหนแล้ว เราจะแสดงออกอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งผมว่ามันทำให้เราขาดปัญญา และอาจรวมถึงขาดสติด้วย ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไร สิ่งที่น่าจะเป็นมากกว่า คือคุณควรจะมีสติและปัญญาพอที่จะมองฝ่ายที่คุณสังกัดอยู่อย่างเป็นธรรม ถ้าฝ่ายเราทำอะไรไม่ถูกต้อง คุณต้องกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาตำหนิ และถ้าฝ่ายตรงข้ามทำถูก คุณก็ต้องกล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาชื่นชม ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น

GM: แล้วข่าวที่ว่าคุณไปทะเลาะกับคนในโลกทวิตเตอร์มากมาย มันเกิดอะไรขึ้น

วงศ์ทนง : (หัวเราะ) ตอนที่ผมเริ่มเล่นทวิตเตอร์แรกๆ มีคนตามสักหมื่นสองหมื่นคน โลกของผมยังปกติอยู่ พวกเขาคงเป็นคนที่ชอบๆ ผม

แต่พอถึงวันที่คุณมีคนตามขึ้นหลักแสนเมื่อไร โลกของคุณก็ไม่มีทางสงบสุขเหมือนเดิมหรอกครับ เพราะแน่นอนว่าแสนคนนั้นย่อมไม่ใช่คนที่รักชอบคุณอย่างเดียวเท่านั้น มันต้องมีคนไม่ชอบ มีคนหมั่นไส้เป็นธรรมดา เรื่องนี้ โดม-ปกรณ์ ลัม หรือพระคุณเจ้าบางรูปก็เจอ บางทีผมเจอฟีดแบ็กประเภทด่าพ่อล่อแม่ ทั้งจากพวกสุดโต่งทางการเมือง หรือพวกที่เป็นซัมบอดี้จากความเกรียน ความหยาบคายน่ะ ด่าไม่เป็นไรหรอก แต่บางทีมันเอาข้อมูลผิดๆ มาบิดเบือน ใส่ร้ายกัน แล้วคนดันเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง อย่างนี้ผมว่าไม่ยุติธรรมเท่าไร สิ่งที่ผมทำได้ตามสิทธิของผม คือบล็อกคนเหล่านี้เสีย ผมไม่ให้คุณอ่านผมล่ะ อยู่คนละโลกแล้วกัน แต่พวกนี้มันแปลกอยู่อย่าง คือกูด่ามึงได้ แต่มึงห้ามบล็อกกูนะ เอาแต่ได้มั้ยล่ะ (หัวเราะ) แต่คนส่วนใหญ่น่ารักนะครับ ไม่ค่อยมีอะไรหรอก คนประเภทนี้มันแค่ส่วนน้อย หมดจากผม เขาก็ไปหาเรื่องทะเลาะกับคนอื่นต่อ ลองคิดดูด้วยคอมมอนเซ้นส์แล้วกัน ถ้าคุณพูดคุยกับผมดีๆ ผมจะไปเสียเวลาบล็อกคุณทำไมล่ะ แต่ผมไม่อารมณ์เสียกับเรื่องพวกนี้หรอกนะครับ ผมว่ามันไร้สาระ เผอิญคนจำนวนหนึ่งชอบไปให้ความสำคัญกับเรื่องไร้สาระ มันเลยดูเป็นประเด็นขึ้นมา

GM: แล้วคุณเตรียมธุรกิจให้รับมือกับสื่อใหม่พวกนี้อย่างไร

วงศ์ทนง : ข้อดีของบริษัทผมคือเราเป็นองค์กรสมัยใหม่ คนทำงานเป็นคนรุ่นใหม่ เราจึงมักเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อนใครๆ เฟซบุ๊คของ a day มีแฟนมากเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทยในกลุ่มสื่อชนิดเดียวกัน และเราสามารถใช้เครือข่ายของเราในการทำประชาสัมพันธ์อย่างได้ผล ทุกวันนี้จำนวนแฟนเฟซบุ๊ค ฟอลโลเวอร์ทวิตเตอร์ ของหน่วยงานต่างๆ ในบริษัทผม รวมทั้งที่เป็นของส่วนตัว รวมกันมีเกือบ 8 แสนราย ในส่วนของธุรกิจ เราแปรรูปคอนเทนต์ไปเป็นดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่น หนังสือดิจิตอลให้ดาวน์โหลดได้ทั้งฟรีและเสียตังค์มาพักใหญ่แล้ว เรามี E-Magazine ที่ได้รับความนิยมชื่อ Monday อะไรเหล่านี้เป็นตัวบอกว่าเราปรับตัวรับเรื่องนี้ได้เร็วและบางอย่างก็ทำไปล่วงหน้านานแล้ว โดยสรุปผมคิดว่าเราคงทำสื่อใหม่กับสื่อเก่าควบคู่กันไป เพราะผมเองก็เติบโตมาจาก Old Media เลยยังรักและผูกพันกับมันอยู่ ในขณะที่ผมมีชีวิตอยู่จนมาถึง New Media ก็เห็นความสำคัญของมัน หลายปีก่อน หากมีคนมาถามผม ว่า Positioning บริษัทผมคืออะไร ผมมักตอบว่าเราเป็น Magazine Maker แต่ทุกวันนี้เวลาใครมาถาม ผมจะตอบว่าเราเป็น Content Provider ผมชอบเปรียบเปรยว่ามันก็เหมือนกับเมื่อก่อนเราทำสื่อกระดาษ แต่ตอนนี้เราทำสื่ออากาศเพิ่ม

ขึ้นด้วย สิ่งสำคัญคือ เรามั่นใจในตัวคอนเทนต์ของเรา ว่าเราสามารถผลิตคอนเทนต์ที่ดี มีคาแร็กเตอร์ แล้วก็ป๊อปปูลาร์ได้

GM: คุณสัมภาษณ์ผู้คนมามากมาย คุณค้นพบอะไร ประทับใจอะไรบ้าง

วงศ์ทนง : ผมชอบ Passion ในตัวของพวกเขา มันเป็นสิ่งสำคัญมากและมีค่ามาก มันทำให้ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างจากคนทั่วไป ผมเห็นความสุขในสิ่งที่พวกเขาทำ ผมเคยดูหนังสารคดีเรื่องหนึ่งชื่อ ‘Man On Wire’ เป็นเรื่องของนักไต่ลวดชาวฝรั่งเศสที่เขาชอบไต่ลวดมาตั้งแต่เด็ก พยายามฝึกฝนอย่างจริงจังมาตลอด ความปรารถนาอย่างเดียวของเขาคือการไต่ลวด และความฝันสูงสุดของเขาคือได้เดินไต่ลวดระหว่างตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์สองตึก เล่าอย่างนี้

คุณอาจคิดว่า ทำไปเพื่ออะไรวะ ไร้สาระ ทำไมไม่เอาเวลาไปเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือทำอย่างอื่น แต่ถ้าถามเขา เขาจะบอกว่านี่แหละสาระสำคัญของชีวิตเขา การไต่ลวดมันคือศาสนาของเขาเลย เพราะฉะนั้น เราสรุปไม่ได้หรอกว่าสาระสำคัญของชีวิตทุกคนคืออะไร คนเราแต่ละคนก็มี Passion ที่แตกต่างกันไป

ผมเชื่อว่า คนที่ได้พูดคุยกับชีวิตตัวเองบ่อยๆ จะทำให้มี Passion ขึ้นมาได้ คนจำนวนมากทั้งชีวิตไม่เคยคุยกับตัวเองเลย ว่าชอบอะไร เชื่ออะไร อยากเห็นตัวเองทำอะไร อยู่ที่ไหนในปัจจุบันและอนาคต บั้นปลายชีวิตจะเป็นอย่างไร คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบไหลไปตามกระแส ผมชอบมองตัวเองแล้วก็พูดคุยกับตัวเองอยู่เสมอ ถ้าเป็นนิยายแนว Magical Realism ผมก็อาจถอดร่างแล้วไปมองตัวเองในช่วงที่ไม่ปกติ ผมชอบตัวเองตอนที่ไม่ปกติ ช่วงที่ชีวิตไม่ราบรื่น ชอบช่วงที่เศร้ามากๆ เหงามากๆ แพ้มากๆ มันเหมือนได้ปอกเปลือกตัวเอง ได้สังเกตและวิเคราะห์ตัวเองว่า เราจัดการกับตัวเองในสถานการณ์นั้นอย่างไร

เมื่อก่อนก็อย่างที่บอก ผมมัน Angry Young Man แองกรี้แม่งไปซะทุกเรื่อง ชอบบริภาษสังคม ชอบวิพากษ์ผู้คน มั่นใจในตัวเองมาก ชอบประกาศตัวตน สมัยเรียนมหาวิทยาลัยผมเคยประกาศว่าผมเป็นคนไม่มีศาสนา เคยถึงขนาดบอกกับใครๆ ว่าผมไม่นับถือศาสนาอะไรเลย แต่ทุกวันนี้เชื่อไหมผมนับถือทุกศาสนาเลย ทุกวันนี้ผมใจเย็นลง มีเหตุมีผลมากขึ้น ไม่ค่อยเรื่องมากกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ในระดับอุดมการณ์นี่ค่อยว่ากัน หลังๆ ผมมีมอตโต้อันหนึ่ง Complain Less, Appreciate More ผมชื่นชอบและชื่นชมได้ง่ายขึ้น และผมรู้สึกสบายใจที่ผมเป็นอย่างนี้

Man On Wire (2008)

Director :

James Marsh

GM: เราจะพบ Passion ของเร“ได้จ“กง“นอด‘เรก หรือจ“ก

ของสะสม อะไรท”นองนั้นได้ไหม

วงศ์ทนง : ก็ไม่แน่นะ (หัวเราะ) เรื่องของสะสมเนี่ยะ! ผมเพิ่งถูกสั่งสอนด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา สิ่งที่มันสอนผมคือ บางทีคนเราสะสม

สมบัติบ้าไปทำไม แล้วความยึดติดกับสิ่งของบางอย่างนี่มันใช่สาระของ

ชีวิตหรือ น้ำท่วมคราวที่แล้ว ผมสูญเสียของที่ผมสะสมไปเยอะมาก บางอย่างผมเคยคิดว่ามันสำคัญมากเลยนะครับ ยกตัวอย่างเช่น บทสัมภาษณ์ผมในนิตยสารต่างๆ ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งผมซื้อเก็บไว้ ลงสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับไหนนี่ผมจะตัดเก็บไว้อย่างดี แต่พอน้ำท่วม หนังสือ

พังหมด เกียรติประวัติในการทำงานของผมที่ผ่านมามันละลายไปกับน้ำ

หมดเลย ตอนแรกผมก็เสียดายมาก แต่สุดท้ายมันเปลี่ยนความคิดของผมอย่างสิ้นเชิงเลย ทุกวันนี้ผมไม่สะสมอะไรเลย ผมพยายามปลดปล่อย

ทิ้งมันไป ยกให้คนอื่นไป ผมไม่ยึดติดกับมันแล้ว ที่พูดนี่ไม่ใช่แค่สิ่งของนะครับ แต่หมายถึงทุกอย่างเลย ผมเชื่อว่าอีกหน่อยชีวิตผมจะ Minimalism มาก

GM: แล้วในวัยนั้น Passion ของคุณคืออะไร

วงศ์ทนง : ผมเริ่มทำ a day Foundation มาได้ 2 ปี ผมรู้สึกว่าผมมีความสุขนะครับ มีความสุขที่ได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสว่าสิ่งที่ผมทำ มันเกิดประโยชน์

ที่เป็นรูปธรรมจริงๆ อย่างผมเป็นนักเขียน เป็นบรรณาธิการ งานของผมก็คือ พยายามให้ความรู้ความคิดกับผู้คน ซึ่งบางทีมันดูเป็นนามธรรม แต่ผม

ทำ Volunteer นี่มันเห็นชัดเลย ยกตัวอย่าง ปีที่แล้วผมทำโปรเจ็กต์ชื่อ

‘1,000 Dolls’ ขอรับบริจาคตุ๊กตา 1,000 ตัวไปให้เด็กในโรงพยาบาลและ

สถานสงเคราะห์ ที่ผมทราบมาว่าเขาไม่ค่อยได้ของขวัญปีใหม่ ผมก็แค่ใช้

ทวิตเตอร์ของตัวเองประกาศออกไป ปรากฏว่า 1 เดือนผ่านไปมีคนส่งตุ๊กตามาให้ผม 3,000 ตัว คุณนึกภาพตุ๊กตา 3,000 ตัวถูกส่งมาจากที่ต่างๆ กองเต็มบริษัทผมสิ มันมีพลังมากเลย จากนั้นก็มีคนอาสาเอาตุ๊กตาไปซักให้ แล้วก็มีคนเสนอตัวเดินทางเอาตุ๊กตาไปให้เด็กๆ ตามที่ต่างๆ สุดท้ายตุ๊กตาเหล่านั้น

ก็ไปถึงมือเด็กๆ ทั่วประเทศเลย ล่าสุดผมทำโปรเจ็กต์ ‘1,000 Children Books’ ขอหนังสือเด็กไปให้เด็กๆ ในโรงเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อยากได้

1,000 เล่ม จบโครงการมีคนส่งหนังสือมาให้ผมรวมทั้งสิ้น 9,000 เล่ม อะไร

อย่างนี้ มันคือของจริงที่ผมทำแล้วรู้สึกดี

GM: คุณตั้งใจจะเป็นเหมือนอย่าง บาล เกตส์ กับ วอร์เรน

บัฟเฟตต์ หรือเปล่า พอแก่ๆ ไปแล้วก็หันไปท”ง“นก“รกุศล

วงศ์ทนง : โลกมันก็เป็นเช่นนั้นเอง โอเค มันอาจจะมีมนุษย์ประเภทที่เกิดมาแล้วปฏิญาณตนว่า ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ แต่สำหรับคนทั่วไป

โดยเฉพาะคนที่เป็นนักธุรกิจ ในเบื้องต้น ในวัยหนุ่ม ในวันที่เริ่มต้นบุกเบิก เขาก็ต้องดิ้นรนทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จเสียก่อน แต่พอถึงจุดหนึ่ง

ถ้าเขารู้สึกพอ คิดว่าได้มากพอแล้ว อยากแบ่งส่วนที่เหลือให้คนอื่นบ้าง

แล้วลุกขึ้นมาทำ คิดแบบนี้ผมถือว่ายังน่าชื่นชมกว่าคนที่ทั้งชีวิตไม่เคยแบ่งอะไรให้คนอื่นเลย ในแง่นี้ผมจึงยกย่อง บิล เกตส์ มากกว่า สตีฟ จ๊อบส์

นะครับ ถึงเกตส์จะดูเชยกว่า ไม่เท่ ไม่ศาสดาเท่าจ๊อบส์ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เขาทำในระยะหลังๆ มันคือการให้ที่มหาศาล รวมทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่คุณว่า

เขาก็ดูเป็นคุณลุงที่เจ๋งดีนะ ผมว่า (หัวเราะ)

GM: แล้วคุณเองล่ะ คุณอยากเป็นลุงโหน่งแบบไหน

วงศ์ทนง : (หัวเราะ) ผมเป็นคนรักเด็กนะครับ แล้วผมมีเซ้นส์เรื่องนี้ เชื่อไหมว่าความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของผมคือ ถ้ามีเด็กเล็กๆ มานั่งอยู่ข้างๆ นี่

ผมขอเวลาสัก 10 วิ ผมทำให้เขายิ้มให้ผมได้

GM: รักเด็กแบบนั้น แล้วคุณจะมีลูกไหม

วงศ์ทนง : คงไม่มีของตัวเอง แต่วันหนึ่งในอนาคต ผมจะรับลูกบุญธรรม

นะครับ อันนี้เป็นความคิดหนึ่งที่ค่อนข้างจริงจัง

GM: คุณคาดหวังอะไรกับเด็กรุ่นต่อไป

วงศ์ทนง : ผมไม่เคยคาดหวัง หรือฝากความหวังกับใคร ผมรู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับเขา ที่อยู่ดีๆ เราจะไปยกภาระการเป็นความหวังไปให้เขา ผมแค่อยากให้คนรุ่นต่อไปรู้สึกดีกับชีวิต แล้วก็เข้าใจชีวิตด้วยตัวเขาเอง มีความสุขตามอัตภาพ มีจิตใจในการช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง ยึดถือความยุติธรรม ไม่เอาเปรียบคนอื่น พอแล้วครับ มนุษย์คนหนึ่งจะไปคาดหวังอะไรกับเขามากมาย

GM: โลกในอนาคตของคนรุ่นลูกหลานเรา จะสวยงามเหมือนวันคืนเก่าๆ ของคนรุ่นเราหรือเปล่า

วงศ์ทนง : ผมว่าเป็นเรื่องปกตินะ ที่ว่าวันคืนในอดีตมักจะสวยงามสำหรับเรา เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว มันจำได้ แต่เรื่องราวในอนาคตมันยังไม่เกิดขึ้น มันจึงดูน่าหวาดหวั่น น่ากลัวเกรงเพราะเราเดาไม่ออก มองไม่เห็น แต่จริงๆ แล้วผมว่าวันคืนเก่าๆ มันก็ไม่ได้เป็น Good Old Days ไปเสียหมดหรอก เพียงแต่เรามักจะมีนิสัยคัดเลือกแต่ความทรงจำดีๆ เก็บไว้ในลิ้นชักตัวเอง ช็อตที่มันเท่ๆ อะไรทำนองนั้น ส่วนพวกเรื่องเลวๆ ห่วยๆ ในชีวิตเราก็ทำเป็นลืมๆ มัน (หัวเราะ) แต่ผมเป็นคนที่มีความหวังอยู่เสมอนะครับ ผมเชื่อว่าในทุกยุค

ทุกสมัย มันจะเกิดพวกฮีโร่ขึ้นเสมอ ฮีโร่ที่ว่าอาจไม่ใช่คนใหญ่คนโต แต่อาจเป็นคนเล็กๆ ที่จิตใจดี ยอมเสียสละ อยากช่วยเหลือผู้คนและสังคม ซึ่งผมก็เห็นแนวโน้มพวกนี้เยอะนะครับ พวกคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัคร แม่ชีเทเรซ่าเคยกล่าวว่า “ชีวิตที่ไม่ได้ช่วยเหลือใครเลย คือชีวิตที่ไม่มีคุณค่า”

ในอนาคตข้างหน้า ปัญหาในโลกเราคงมีมากขึ้นนั่นแหละ แต่ผมก็เชื่อว่ามันจะถูกเยียวยาจากคนเล็กๆ เหล่านี้ มนุษย์เล็กๆ ที่จริงใจและไม่หวังสิ่งตอบแทน

GM: ถ้ามาเวลาสัก 1 ชั่วโมง คุณอยากสัมภาษณ์ใคร

วงศ์ทนง : (นิ่งคิดอยู่นาน)… แปลกนะ ผมไม่ได้คิดถึงผู้นำประเทศหรือคนดังอะไรทำนองนั้น นาทีนี้ผมนึกถึง มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถาน

ที่ถูกกลุ่มตาลีบันยิงหัว ผมสะเทือนใจกับเรื่องนี้มาก ผมอยากทำสกู๊ปเรื่องของเด็กคนนี้ ถ้าได้สัมภาษณ์เธอก็คงดี เพื่อจะได้เป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่

ต่อต้านความรุนแรงในยุคสมัยของเรา คือการยิงหัวเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เพียงเพราะเธอมีความคิดเห็นขัดแย้งกับอุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มตัวเอง นี่เป็นเรื่องที่ต่ำช้าและน่าสลดใจที่สุดในโลกที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเรานะ

Malala Yousafzai เด็กหญิงชาวปากีสถาน

GM: วง Green Day ร้องไว้ในเพลง 21st Century Breakdown ว่า พวกเรากำลังอยู่ในศตวรรษแห่งความเศร้า

วงศ์ทนง : ก่อนอื่นเราต้องไม่ปฏิเสธว่าสิ่งที่อยู่ในเนื้อเพลงนี้มันไม่เคยเกิด

ขึ้นจริง เพียงแต่ว่าถ้าคุณย้อนกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์ของโลก หรือของมนุษยชาติในแต่ละยุคแต่ละสมัย คุณจะเห็นว่าไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์

มันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่อาจจะในรูปแบบที่ต่างกันไป ความเลวร้ายมันอยู่คู่มนุษย์มาตั้งแต่มนุษย์เราก่อกำเนิดแล้ว เราฆ่ากันในสงครามที่ไร้สาระไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร ผมไม่ได้บอกให้คุณมองข้ามสิ่งชั่วร้ายเหล่านี้นะครับ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราควรทำ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คือเราควรจะลุกขึ้นมาเยียวยามัน แก้ไขมัน นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้โลกไม่แตกดับ และเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ ถ้าเราตระหนักว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ไม่ว่าระดับจุลภาคหรือมหภาค เราแต่ละคนล้วนมีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น เมื่อนั้น เราจะคิดได้ว่าหน้าที่ในการแก้ปัญหา มันไม่ใช่เป็นภาระของภาครัฐหรือผู้ปกครองฝ่ายเดียว แต่เราทุกคน

นั่นแหละสามารถช่วยทำให้โลกมันดีขึ้นได้

GM: พักหลังๆ คุณออกทีวีเลยไม่ค่อยออกหนังสือใหม่

วงศ์ทนง : ผมไม่ได้คิดจะทำทีวีเป็นล่ำเป็นสันหรอกครับ แค่คิดว่ามันเป็นช่องทางที่จะได้สื่อสารกับผู้คน นอกเหนือไปจากงานหนังสือที่ผมทำอยู่ รายการแต่ละรายการที่ผมทำ ไม่ว่ารายการ The Idol รายการไทยเท่ หรือช่วงของผมในรายการเจาะใจ ผมพูด Message เดียวกับที่ผมพูดผ่านหนังสือหรือนิตยสารแหละ พูดเรื่องความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ ต่างกันแค่พูดผ่านกระดาษกับพูดออกอากาศ เมื่อก่อนผมเขียนคอลัมน์หรือออกหนังสือ อาจจะมีคนอ่านที่ผมเขียนสักหมื่นคนหรือแสนคน แต่พอพูดออกทีวี มันมีคนเห็นเป็นแสนหรืเป็นล้านคน ซึ่งในแง่ของรับการรู้หรือรีแอ็คชั่นมันก็เป็นเรื่องดี แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าผมไม่ใช่คนทีวีนะ วันก่อนผมไปเติมน้ำมัน เด็กปั๊มเรียก พี่พิธีกร ผมรู้สึกว่ามันไม่คุ้นเลย ผมยังชอบที่จะให้คนรู้จักในฐานะนักเขียนหรือบรรณาธิการมากกว่า งานหนังสือเป็นงานที่ผมรักมาก ผมภูมิใจกับการเป็นนักเขียนมาก ความฝันในชีวิตผมคือการเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ คิดทบทวนมาถึงวันนี้ ผมอยากเป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับ มากกว่าเป็นไทคูนสื่อมวลชน มากกว่าเป็นศาสดาเด็กแนว มากกว่าเป็นเจ้าพ่ออินดี้ ผมอยากเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ได้เขียนหนังสือดีๆ ให้คนอ่าน คุณอาจไม่รู้ว่าที่ผ่านมผมพยายามทำงานเขียนอยู่เสมอ ผมพยายามมีคอลัมน์ประจำอยู่ใน a day ผมมีไอเดียหนังสือที่ผมอยากจะเขียนอีกหลายเล่มเลย แต่งานบริหารก็แย่งเวลาพวกนี้ไป 20 ปีในวงการ ผมออกหนังสือมาแค่ 11 เล่มเอง น้อยไปหน่อยนะ ผมรู้สึกว่าถ้าอยากเรียกตัวเองว่านักเขียน ผมก็ควรผลิตผลงานออกมามากกว่านี้ ปลายปีที่แล้วผมเขียนหนังสือเล่มล่าสุดออกมา ชื่อ ‘In My Life’ มันเป็นงานเขียนที่มีค่า

ต่อผมมาก ทั้งในแง่ความรู้สึกส่วนตัว และในแง่ของคนทำงาน เขียนเล่มนี้เสร็จ ผมเหมือน Reborn การเป็นนักเขียนขึ้นมาใหม่อีกครั้งเลย

GM: เรื่องราวใน In My Life เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เลย

วงศ์ทนง : ดูเหมือนจะใช่ แต่ความจริงคือมันเป็น Fiction เป็นเรื่องแต่งนะครับ มีหลายคนอ่านแล้ว บอกว่าคล้ายกับเป็น Biography ของผมหรือเปล่า ผมยืนยันว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่เป็นเรื่องแต่งที่บางชิ้นส่วนมาจากชีวิตจริงของผม เรื่องของคนในครอบครัว เรื่องของคนที่ผมรัก ซึ่งมีตัวตนจริงๆ มันเลยดูอีโมชั่นนอลมากๆ เรื่องนี้อยู่ในใจผมมาประมาณ 10 ปีแล้ว ผมคิดโครงเรื่องไว้นานมากแล้ว

GM: คุณเขียนเอง แล้วร้องไห้เองด้วยหรือเปล่า

วงศ์ทนง : (หัวเราะ) หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในคืนหนึ่งที่ผมนอนไม่หลับ คืนนั้น

เที่ยงคืนก็แล้ว ตีหนึ่งก็แล้ว ผมยังนอนไม่หลับ เลยลุกมาเขียนหนังสือ ซึ่งน่าแปลกใจว่าผมเขียนมันอย่างพลุ่งพล่านมากเลย เขียนไป น้ำตาไหลไป ความรู้สึกเหมือนตอนเด็กๆ ที่ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง‘ต้นส้มแสนรัก’ ผมเขียนรวดเดียวถึงตี 5 เสร็จออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ซึ่งดูเผินๆ เป็นหนังสือที่มีตัวหนังสือไม่มาก แต่มันบรรจุเรื่องราวและความรู้สึกไว้มากมาย ผมเป็นคนเซ็นซิทีฟ และเรื่องที่

เซ็นซิทีฟกับผมมากคือเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องครอบครัว ผมดีใจมากที่ได้รับฟีดแบ็กจากผู้อ่านว่า อ่านหนังสือเล่มนี้ของผมแล้วมันทำให้เขาย้อนกลับไปนึกถึงคนในครอบครัวมากขึ้น ได้ทบทวนว่าอะไรหรือใครที่มีความหมายกับชีวิตเราจริงๆ

GM: ล่าสุดดูหนังเรื่องอะไรแล้วร้องไห้

วงศ์ทนง : ‘Being Flynn’ คุณเคยดูหรือยัง เรื่องของพ่อลูกนักเขียน โรเบิร์ต เดอ นีโร เล่นกับ พอล ดาโน ดูแล้วผมคิดถึงพ่อ … (นิ่งอึ้งไป) … ผมเพิ่งซื้อเสื้อโปโลให้เขาตัวหนึ่ง อยู่ดีๆ ก็นึกอยากซื้อเสื้อให้เขาขึ้นมา ไม่รู้สิ เรื่องราวตอนเด็กๆ ของผม ผมอาจคิดไปเองก็ได้นะว่าครอบครัวไม่ค่อยอบอุ่น ผมมีปมกับพ่อหนักมาก ทะเลาะกับพ่อแล้วไม่พูดกัน ผมเคยเกลียดพ่อ และก็คิดว่าเขาก็เกลียดผมด้วยเช่นกัน แต่มันเป็นเรื่องของวัยน่ะ ตอนนั้นผมมันวัยรุ่นใจร้อน แต่มาถึงทุกวันนี้ ผมรักพ่อผมมาก ล่าสุดผมไปหาเขา กล้าที่จะกอดเขา ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยทำ นั่นน่าจะนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผมกอดพ่อ

Being Flynn (2012)

Director : Paul Weitz

เรื่องของช“ยชร“นักเข’ยนท’่ก”ลัง

สิ้นไร้ไม้ตอก และลูกชายของเขาที่ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญที่สุดในชีวิต

GM: กอดพ่อแล้วรู้สึกอย่างไร

วงศ์ทนง : รู้สึกดีมากนะ ขับรถกลับบ้านผมก็น้ำตาไหล ตอนวัยรุ่นผมเคยทะเลาะกับพ่อแล้วไม่พูดกันอยู่นาน จนเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว เขาป่วยด้วยโรคหัวใจ เข้าโรงพยาบาลผ่าตัดบายพาส ก่อนหน้านั้นผมไม่ได้เจอเขาเลย พอเขาล้มป่วย ต้องเข้าผ่าตัด แม่โทรศัพท์มาหา บอกให้ไปเยี่ยมพ่อหน่อย ผมก็เดินเข้าไปในห้องพักคนป่วย ภาพที่ผมเห็นคือ ชายสูงอายุคนหนึ่งที่เจ็บป่วยแล้วอ่อนแอมากๆ นอนอยู่บนเตียง ผมไปยืนอยู่ข้างๆ เขา ความรู้สึกตอนนั้นมันปะปนกันไปหมด พอพ่อตื่นขึ้นมาแล้วเห็นผมยืนอยู่ คำแรกที่เขาพูดกับผม คืออะไรรู้ไหมครับ เขาบอกว่า คุณหมอมาถามเขา ว่าลุงเป็นอะไรกับ

โหน่ง วงศ์ทนง…

GM: ประมาณ 7 ปีก่อน นั่นก็เป็นช่วงที่มีปัญหา a day weekly พอดีเลยใช่ไหม

วงศ์ทนง : เออจริงด้วยนะ นั่นอาจจะเป็น Coming of Age ของผม ตอนนั้นผมแม่ง Loser มากเลย แพ้ทั้งในเรื่องการงาน แพ้ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัว หลายเรื่องประเดประดังเข้ามาพร้อมๆ กันจนผมยวบเลย จำได้ว่ามีหลายเช้าที่ผมตื่นมาชงกาแฟแล้วนั่งอยู่ที่โต๊ะนานเป็นชั่วโมงเลย นั่งใจลอย คิดอะไรเรื่อยเปื่อย บางทีก็น้ำตาไหลออกมา ช่วงนั้นผมคิดว่าผมคงเป็นโรคซึมเศร้า ผมจมอยู่กับมันพักใหญ่ ก็พยายามหาทางออกมาจากสภาพนั้น สุดท้ายผมก็ตัดสินใจลางานแล้วไปขับรถทั่วประเทศไทยเดือนนึง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมชอบมากเลย ทุกวันนี้บรรยากาศและความรู้สึกในช่วงเวลานั้นยังติดอยู่ในใจ คือตอนนั้นผมคุยกับผู้คนน้อยมาก มันเป็นธรรมชาติของผมด้วยมั้งที่เวลาเจอปัญหาจะไม่ค่อยแชร์กับใคร ผมไม่ใช่เป็นคนที่เวลามีเรื่องกลุ้มใจแล้ววิ่งไป

ให้คนช่วยปลอบ เพราะคิดว่ามันดูอ่อนแอไปหน่อย ผมคิดว่าคนเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำไม่ควรแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น ได้แผลอะไรมาก็ควรทำแผลของตัวเองไปเงียบๆ ไม่ต้องโอดครวญให้ใครได้ยิน

GM: ช่วยเล่าถึงผลงานหนังสือเล่มถัดๆ ไปของคุณหน่อย

วงศ์ทนง : ผมตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือ 3 เล่ม ชื่อ In My Life, Stand By Me แล้วก็ Let It Be ตอนนี้เขียนเล่มแรกไปแล้วเป็น Graphic Novel สองเล่มที่เหลืออาจเป็นนวนิยายหรือไม่ก็เรื่องสั้น ผมมีพล็อตเรื่องจดใส่สมุดบันทึกไว้แล้ว อีก 3 ปี หรือ 5 ปี น่าจะเขียนได้ครบ

GM: สมุดบันทึกเล่มนั้น ถ้ามีคนแอบเปิดอ่าน เขาจะเห็นอะไรในนั้นความหยาบคายหรือความอ่อนหวาน

วงศ์ทนง : (หัวเราะ) อาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง ส่วนใหญ่ผมจะบันทึกถ้อยคำที่มันอ่อนไหวและก็เต็มไปด้วยพลัง อ่านแล้วถ้าไม่รู้สึกว่าเซ็นซิทีฟ ก็รู้สึกฮึกเหิมไปเลย สองอย่างนี้จะว่าไปมันคือหยิน-หยาง ถ้าดูตัวผมจะมีส่วนผสมของสองด้านนี้อยู่ ดูภายนอกผมเป็นคนเข้มแข็ง มีพลัง เป็นผู้นำ แต่อีกด้านหนึ่ง ผมก็ยวบยาบมากเลยนะ

GM: ย‘่งอ“ยุม“กขึ้น ก็จะย‘่งยวบย“บง่ายขึ้นหรือเปล่า

วงศ์ทนง : ผมเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว นิสัยเข้มแข็งข้างนอก อ่อนไหวข้างใน ผมเป็นหัวหน้ามาตั้งแต่เด็กจนโต เป็นหัวหน้าห้อง เป็นกัปตันทีมฟุตบอล เป็นประธานชมรม ผมชอบการเป็นหัวหน้า ผมคิดว่าผู้นำที่ดี ควรจะมีความอ่อนไหวอยู่ในตัว ความอ่อนไหวไม่ใช่ความอ่อนแอนะ แต่หมายถึงการมีชีวิตจิตใจ ผู้นำไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราดอย่างเดียว แต่ควรรู้จักที่จะโอบอุ้มหรือประคับประคองคนอื่นด้วย ผมโตมาแบบลูกผู้ชาย พ่อสอนผมแบบยุให้ผมไปต่อยกับคน แล้วผมก็ทำแบบนั้น ผมคิดว่าการจะเอาชนะใครได้ ต้องต่อยมันให้คว่ำ แต่แม่เป็นคนที่สอนผมว่า บางครั้งการเอาชนะคนไม่จำเป็นต้องใช้กำลังหรอก ใช้ความดี ใช้ความอ่อนโยนก็ชนะใจคนได้

GM: ขอย้อนกลับไป สมัยการเข้ามาของทราฟฟากคอร์นเนอร์

เมื่อหลายปีก่อน เปลี่ยนแปลง a day ไปจ“กยุคเริ่มต้นแค่ไหน

วงศ์ทนง : เราร่วมกับทราฟฟิกฯ มา 7-8 ปีแล้ว เหตุผลในตอนนั้นก็เพื่อนำเงินมาลงทุนขยายกิจการ ซึ่งก็คือนิตยสารรายสัปดาห์ a day weekly นั่นแหละ และตลอดเวลาที่ผ่านมา คุณสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ผู้บริหารทราฟฟิกฯ ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทำอย่างเดียวกับที่เขาคุยกับผมวันแรก ตอนมาจอยต์ เวนเจอร์ เขาว่าคุณทำของคุณไป ผมไม่ยุ่ง แล้วเขาทำอย่างนั้นจริงๆ ให้อิสระผมในการทำงาน ในการบริหารธุรกิจ สิ่งที่เขาทำคือช่วยซัพพอร์ตเวลาผมมีปัญหาเรื่องเงินทอง ส่วนเรื่องธุรกิจเขาไม่เคยมาก้าวก่ายอะไรเลย ไม่เคยแม้กระทั่งมาขอหน้าโฆษณา น่าแปลกมาก ผมเองต่างหาก

ที่เป็นฝ่ายโทรฯ ไปถามเขา พี่ทำไมไม่เอารายการนี้มาลงโฆษณาที่เราบ้าง ผมว่าเขาเป็นคนที่ใช้ได้คนหนึ่งนะ หลายปีที่ผ่านมา เราอาจมีความเห็นต่างกันบ้าง แต่ในที่สุดคุณสุรพงษ์ก็ได้พิสูจน์ให้ผมเห็นแล้วว่า เขาทำอย่างที่เขาบอกกับผมตอนวันแรกจริงๆ

GM: แล้วตอนนี้สถานะของ“เป็นหุ้นส่วนในนิตยสาร a day ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น เป็นอย่างไร

วงศ์ทนง : ทุกคนยังเป็นหุ้นส่วนอยู่ในเดย์ อาฟเตอร์ เดย์ เหมือนเดิม

ทุกประการ บริษัทเดย์ โพเอทส์ คือบริษัทร่วมทุนกันระหว่างเดย์ อาฟเตอร์ เดย์ กับทราฟฟิกคอร์นเนอร์ ส่วนหุ้นในเดย์ อาฟเตอร์ เดย์ เกิดขึ้นจากการร่วมลงขันระหว่างคนทำหนังสือกับคนอ่านเกือบพันคน มีบางคนเข้าใจผิดว่าถูกซื้อหุ้นคืนแล้ว จริงๆ ไม่ใช่เลยครับ ความจริงคือในครั้งแรกของการปันผล เราตัดสินใจปันผลให้คนที่ร่วมลงขันร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เพราะอยาก

ให้เขาดีใจ ใครลงมาพันได้ปันผลกลับไปพัน ลงหมื่นได้หมื่น ลงแสนได้แสน ปันผลร้อยเปอร์เซ็นต์ คือผมอยากให้คนที่มาลงขันกับผมตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ได้รู้สึกดีใจ ลงไปเท่าไร ได้คืนแล้ว ที่เหลือต่อจากนี้ไป คุณสามารถเก็บกินได้ตลอดชีวิต ผมอธิบายไว้ในจดหมายที่ส่งไปให้ผู้ถือหุ้นชัดเจน แต่มีคนบอกว่าผมกลืนมันเข้าไปแล้ว ยึดหุ้นและก็คืนเงินเขาไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่เลย

ทุกวันนี้คนที่ลงหุ้นไว้ ยังมีหุ้นอยู่ในบริษัท เดย์ อาฟเตอร์ เดย์ ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่เราร่วมตั้งกันขึ้นมา พอไปร่วมกับทราฟฟิกฯ ก็เปิด เดย์ โพเอทส์ มันอาจจะมีบางปี มีบางช่วง ที่เราไม่ได้ปันผล เพราะบางช่วงธุรกิจเจ๊ง คือหลังจากที่เจ๊ง a day weekly ผมไม่มีเงินปันผลไป 3-4 ปี ผมก็อธิบายไป ผมก็ยังพยายามสื่อสารกับผู้ลงขันอยู่ ส่งหนังสือไปให้ พอมาถึง 4-5 ปีหลังมานี้

ผมกลับมาปันผลอีกครั้ง ปันผลทุกปีเลย 10 เปอร์เซ็นต์ ใครลงแสนหนึ่งได้หมื่นหนึ่ง ใครลงหมื่นหนึ่งได้พันหนึ่ง มันนาน 12 ปีนะ บางคนที่ลงขันกับ a day ก็เปลี่ยนบัญชี ย้ายที่อยู่ ติดต่อไม่ได้ มีจดหมายหลายฉบับที่เราแจ้งข่าวสารไปถูกตีกลับมา แสดงว่าข่าวจากเราไปไม่ถึงเขา แต่ผมก็พยายามสื่อสารอยู่เสมอ เรื่องนี้สำคัญมากเพราะเกี่ยวกับภาพพจน์ของผมโดยตรงเลย ผมยืนยันว่าผมโปร่งใสมาก คนที่ถือหุ้นกับบริษัท เดย์ อาฟเตอร์ เดย์ ผมจะดูแลไปตลอดชีวิต

GM: ทุกวันนั้นคุณไปแฮ็งเอาต์กับเพื่อนกลุ่มไหนบ้าง เป็นอย่างที่เขาบอกว่ายิ่งสูงยิ่งหนาวแบบหรือเปล่า

วงศ์ทนง : ผมเป็นคนที่มีเพื่อนสนิทไม่มาก แต่เวลาคบใครก็คบยาว แล้วปกติผมเป็นคนชอบเก็บตัว ผมได้บัตรเชิญให้ไปงานทุกวันเลยนะ แต่คุณจะเห็นว่าผมไม่ค่อยไปงานไหน ผมไม่ชอบงานสังคม เลือกได้ผมชอบนั่งกินข้าวเงียบๆ กับเพื่อนที่คุยภาษาเดียวกันมากกว่า

GM: เป็นเพราะคุณระวังภาพลักษณ์หรือแบรนด์ตลอดเวล“ หรือเปล่า

วงศ์ทนง : พูดตรงๆ ก็คือ ผมรู้นะครับว่าตัวผมก็เป็นแบรนด์ อย่างที่คนเรียกผมว่า โหน่ง อะเดย์ ไม่มากก็น้อย มันบอกว่าผมเป็นแบรนด์ของหนังสือและของบริษัท เพราะฉะนั้นถามว่าจำเป็นต้องรักษาภาพพจน์ของแบรนด์หรือเปล่า ในแง่หนึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธว่ามันสำคัญ เพราะตัวผมกับองค์กรของผมมันเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก สมมุติถ้าผมทำอะไรชั่วๆ ขึ้นมา เช่น เล่นยาไอซ์ หรือซื้อบริการเด็กแล้วเป็นข่าวไปลงไทยรัฐ ไปออกรายการสรยุทธ ทั้งหมดของผมที่สร้างมานี่จบเลยนะ แต่ในแง่หนึ่ง ผมไม่ถึงกับเอาแต่ Protect ตัวเองหรอกนะครับ หรือถ้าบอกว่าผมสร้างภาพนี่ผมขอปฏิเสธทันที ผมไม่เคยทำ แต่ถ้าบอกว่าต้องรักษาภาพไหม ก็จำเป็นอยู่บ้าง

GM: มันเหนื่อยแค่ไหน สำหรับคนทำเป็นแบรนด์ และต้องแบกแบรนด์ไว้ตลอด

วงศ์ทนง : ไม่เหนื่อยหรอก ถ้าตัวเราเป็นแบบนั้นจริงๆ เราก็ใช้ชีวิตไปตามปกติของเรา ไม่ต้องเสแสร้ง ไม่ต้องประดิษฐ์ ถ้าจะให้สารภาพสักอย่าง มันก็มีช่วงหลังๆ ที่ผมไปทำทีวี แล้วมันมีอะไรบางอย่างที่ผมไม่ค่อยชอบ รู้สึกว่ามันไม่ค่อยเป็นตัวผมเท่าไร แล้วก็อึดอัดอยู่บ้าง นั่นคือทีวีคนมันเห็นเยอะ คนเจอแล้วจำได้ ก็ขอลายเซ็น ขอถ่ายรูปโดยที่คนเหล่านั้นเขาไม่รู้หรอกว่าผมเป็นนักเขียน เป็นคนทำหนังสือ ผมไม่ใช่เป็นคนที่หลงใหลได้ปลื้มกับอะไรแบบนี้ ผมว่าการมีชื่อเสียงแบบดาราๆ มันเป็นสิ่งที่ชั่วคราวมากๆ ในบรรดาสิ่งชั่วคราวในโลกนี้ ผมคิดว่าชื่อเสียงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชั่วคราวที่สุดเลย เพราะฉะนั้น ผมจะไม่ไปหลงติดอยู่กับมันเด็ดขาด

GM: ใน 5 ป’ข้างหน้า คุณจะเป็นอย่างไร?

วงศ์ทนง : อืมม์… ผมคิดว่าคงไม่ต่างไปจากวันนี้ ที่เรากำลังนั่งคุยกันสักเท่าไหร่หรอกครับ คือมันเป็นอย่างนี้นะ ในช่วงชีวิตของคนเราตอนอายุยังน้อยๆ คนเราจะเปลี่ยนแปลงบ่อย เปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งในด้านกายภาพและความคิด แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง ในช่วงชีวิตที่คุณได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ได้เคี่ยวกรำชีวิตมาพอสมควร คุณจะรู้สึกมั่นคงข้างใน จนรู้สึกว่ามันไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว นั่นอาจคือความหมายของคำว่า ‘การมีวุฒิภาวะ’ ก็ได้ครับ ผมคิดว่าทุกวันนี้ผมอยู่ในจุดที่เรียกว่ามันคงที่แล้ว

GM: อยากให้คุณพูดถึงเรื่องความรักบ้าง ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายเกี่ยวกับความสุขในชีวิตของ อัลแบร์ต กามูส์

วงศ์ทนง : ปกติผมไม่ค่อยคุยเรื่องนี้ให้ใครฟังเท่าไหร่ เพราะผมคิดว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว แล้วผมก็ไม่คิดว่าเรื่องราวความรักของผมจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ผมเป็นคนรักอิสระ โตมากับความอิสระ ผมเลือกชีวิตตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ ผมไม่ชอบและไม่ยอมให้ใครมาบงการชีวิต พูดง่ายๆ ผมไม่อยากให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปจากชีวิตที่ผมชอบ เพราะฉะนั้น การแต่งงานจึงไม่อยู่ในความคิด แต่โอเค ชีวิตจริงผมก็มีคนรักนะครับ และคนรักก็เป็นกำลังใจ เป็นพลังใจที่ดีสำหรับผมในทุกเรื่อง ผคิดว่าความรักเป็นแรงผลักดันที่ดี แต่บทสรุปของความรักไม่จำเป็นต้องจบลงที่การแต่งงานเสมอไป ผมคิดอย่างนี้นะ แล้วก็เชื่อว่าคนรักของผมจะเข้าใจและคิดเหมือนผม

GM: คุณเป็นเหมือนพวกพระเอกหนังไทยสมัยก่อนใช่ไหม ทำไม่ยอมเปิดเผยว่าตนเองมีคนรักอยู่แล้วเพราะกลัวความนิยม จะลดลง

วงศ์ทนง : บ้าเรอะ! (หัวเราะ) ไม่ได้คิดขนาดนั้นหรอกครับ ผมไม่ใช่ดารา เรื่องของเรื่องคือผมไม่คิดว่าการเปิดเผยว่าผมมีคนรักหรือไม่มีคนรัก มันให้แง่คิดหรือเป็นประโยชน์ต่อชีวิตใครน่ะ ผมแค่อยากรักษาความอิสระในเรื่องนี้ไว้

GM: ผู้ชายอย่างคุณ จะเป็นโสดไปได้อีกนานแค่ไหน คุณคาดไหม

ว่าคุณเหมือนตัวละคร จอร์จ คลูน’ย์ ในหนัง Up in the Air

วงศ์ทนง : มีเพื่อนไม่ต่ำกว่า 3 คนแล้ว ที่บอกผมว่า หนัง Up in the Air นี่มันสร้างจากชีวิตมึงนี่หว่า (หัวเราะ) ผมเป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็กๆ น่ะครับ รักอิสระ ชอบอยู่คนเดียว พอเป็นวัยรุ่น ก็ไปเจอหนังสือของซาทร์ กามูส์ เฮสเส เฮมิงเวย์ สไตน์เบ็ค พวกแมนๆ ทั้งนั้น ผมชอบอ่านหนังสือในตระกูล Existentialism พวกนี้เขาให้ความสำคัญกับเสรีภาพในความคิดและการใช้ชีวิต มันก็อาจจะซึมๆ เข้ามในความรู้สึกนึกคิดของผมมั้ง

Up in the Air (2009)

Director : Jason Reitman

จอร์จ คลูน’ย์ รับบทเป็นหนุ่มโสด

GM: การอยู่อย่างโดดเดี่ยวไปจนแก่ชรา มันเป็นเรื่องน่าเศร้า

ไม่ใช่เหรอ ถ้าสักวันหนึ่ง คุณแก่ต“ยไปโดยไม่ม’คนรู้

วงศ์ทนง : ต้องรออีก 3 วัน กว่าจะมีคนเจอศพใช่ไหม (หัวเราะ) ผมอาจตายอย่าง ไมเคิล คอร์ลิโอเน่ ใน The Godfather ภาคสุดท้ายก็ได้ ไม่เห็นเป็นไรเลย เกิดมาเดียวดาย ตายไปคนเดียว เป็นเรื่องธรรมดา ผมไม่กลัวเรื่องความโดดเดี่ยวในบั้นปลายชีวิต ผมเชื่อว่าผมสามารถเอนจอยกับมันได้ ผมไม่กลัวว่าผมจะเป็น Lone Wolf หรอก ผมชอบ ผมว่าความโดดเดี่ยวมันเท่ดี

The Godfather : Part III (1990)

Director : Francis Ford Coppola

GM: วันที่จากโลกนี้ไป อยากให้คนจารึกบนหลุมศพคุณว่าอย่างไร

วงศ์ทนง : (นิ่งนึก) Less is More ก็แล้วกันครับ ผมมักเซ็นหนังสือให้ผู้อ่านด้วยคำพูดนี้ เอาว่าผมเซ็นให้ทุกคนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วกัน

GM: ขอถามข้อสุดท้าย สงสัยมานานแล้ว ว่าทำไมหลายปีมานี้คุณถึงไว้หนวด

วงศ์ทนง : เฮ้ย! นี่เป็นคำถามสัมภาษณ์ด้วยเหรอ (หัวเราะ) ไม่รู้สิ ผมก็จำไม่ได้แล้วว่าทำไมถึงไว้หนวด แล้วผมก็เชื่อว่าถ้าคุณไปถาม เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, เช เกวาร่า, ฌอน เพนน์, จอห์นนี่ เดปป์ หรือ เดวิด เบ็คแฮม ว่าทำไมถึงไว้หนวด พวกเขาอาจตอบว่า ต้องการให้มันเป็นสัญลักษณ์ อยากให้เป็นภาพจำ มีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลอะไรก็ตามไม่รู้นะ แต่สำหรับผม ผม

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ