fbpx

ดร. วิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์พเนจร

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก และท่ามกลางความร้อนแรงของเศรษฐกิจไทย ที่หลายคนกำลังเฝ้ามองด้วยสายตาหวาดระแวงบทความเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่อ่านเข้าใจง่ายหลายชิ้น จากคมความคิดของ ดร. วิรไท สันติประภพ ได้ถูกกล่าวถึง และถูกส่งต่ออย่างแพร่หลายอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง บทเรียนจาก Mugabe, คำตอบจากสแกนดิเนเวียนโมเดล, Need or Greed? คำถามสำคัญจากองค์ทะไลลามะ

ดร. วิรไท สันติประภพ เป็นนักเศรษฐ-ศาสตร์หนุ่มรุ่นใหม่ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘นักเศรษฐศาสตร์พเนจร’ ให้สอดคล้องกับชื่อคอลัมน์ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เขาเคยมีประสบการณ์การทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หลังจากที่จบปริญญาเอกมาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนที่จะกลับมาทำงานในเมืองไทย เป็น Think Tank ให้กับ ธารินทร์ นิมมาน-

เหมินท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยที่ประเทศไทยกำลังจมจ่อมอยู่ในวิกฤติต้มยำกุ้ง

หลังจากนั้นเขามีประสบการณ์ทำงานในภาคเอกชนมาอย่างโชกโชน จนล่าสุด เขาลาออกจากงานประจำเหล่านั้นมาเกือบครึ่งปีแล้ว โดยยังเหลืองานพาร์ตไทม์ ช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนบางแห่งและที่ทีดีอาร์ไอ นอกจากนี้ก็ทำงานเพื่อสังคม ให้กับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิอานันทมหิดล หอจดหมายเหตุพุทธทาส เป็นกรรมการให้แอร์เอเชียฟาวน์เดชั่น ที่มาเลเซีย และเป็นกรรมการกำกับดูแลกิจการขององค์การอนามัยโลก ที่กรุงเจนีวาเขาบอกว่าการได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์พเนจรแบบนี้ อาจจะช่วยให้เขาสามารถค้นหาคุณค่าที่แท้จริงของการเป็นนักเศรษฐ-ศาสตร์ เป็นโอกาสที่เขาจะได้ใช้ความรู้ทางด้านนี้ มาทำงานวิชาการที่มีประโยชน์อย่างแท้จริงกับโลกและผู้คนรอบตัว

GM: งานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มีความสำคัญอย่างไรกับโลกของเรา

ดร. วิรไท : สำคัญสิครับ วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรทุกอย่างในโลก เพราะทรัพยากรเรามีจำกัด จะจัดสรรอย่างไรให้สมดุล ยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น วิชาเศรษฐศาสตร์จึงสามารถนำเข้าไปประยุกต์ได้กับแทบทุกเรื่องในชีวิตของเรา ในสังคมของเราเลย หลายคนคิดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือนโยบายระดับประเทศเท่านั้น แต่จริงๆ กว้างกว่านั้น แม้แต่เรื่องส่วนตัวของแต่ละคน เช่นเรื่องการจัดสรรเวลาในแต่ละวันของเรา ก็เอาเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ได้ จะจัดสรรเวลาอย่างไรล่ะ เพราะเวลาก็คือทรัพยากร ในระดับประเทศ ก็ต้องใช้เศรษฐศาสตร์นโยบายในการจัดการปัญหาทุกอย่าง ประชาชนต้องแย่งทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ตั้งแต่งบประมาณรัฐบาล ที่ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม ปัญหาหนึ่งตอนนี้ก็เป็นอย่างที่เราพูดกันว่า “เอาเงินในอนาคตมาใช้” เป็นการพูดถึงการใช้ทรัพยากรข้ามเจเนอเรชั่น ข้ามช่วงอายุคนกันไปแล้ว ส่วนเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาคก็มีความสำคัญมาก เพราะตัวแปรต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ถูกกำหนดโดยความเป็นไปของเศรษฐศาสตร์มหภาค ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน ล้วนถูกกำหนดด้วยตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์ และการบริหารเศรษฐศาสตร์มหภาค

จะเห็นได้ว่าเศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตเราทุกด้าน ทุกระดับ แต่ในเมืองไทยเราให้ความสำคัญกับการอ่านออกเขียนได้ทางเศรษฐศาสตร์กันน้อยเหลือเกิน ปัญหาที่ตามมา ตัวอย่างหนึ่งก็คือปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะคนบริหารจัดการเงินของตัวเองไม่เป็น คนคิดว่าบัตรเครดิตใช้แล้ว ไม่ต้องใช้คืน เพราะหมุนไปได้เรื่อยๆ ซึ่งมันไม่ใช่ เมื่อมีปัญหาหนี้ครัวเรือน ก็กระทบไปสู่ศักยภาพการทำงานของคน เช่น ปัญหาหนี้ครูกระทบไปสู่ระบบการศึกษาของประเทศ นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนเปิดโอกาสให้นโยบายประชานิยมเฟื่องฟู เพราะคนสนใจเงินที่ได้รับในระยะสั้น การบริหารจัดการเงิน ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สุด คือเงินของเรา เงินของครอบครัวเรา ไม่ใช่เรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจ ในหลายประเทศจะสอนเรื่อง Financial Literacy ตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน ถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าใจวิชาเศรษฐศาสตร์บ้าง ก็จะทำให้สภาพของสังคม สภาพของเศรษฐกิจ มีความยั่งยืน มีความเป็นธรรม และความสามารถที่จะมีความสุขร่วมกันในสังคม มันจะดีกว่าสังคมที่ไม่ให้ความสำคัญกับวิชาเศรษฐศาสตร์เลย

GM: เท่าที่เขียนบทความในกรุงเทพธุรกิจ มีเสียงตอบรับจากผู้อ่านมากน้อยแค่ไหน

ดร. วิรไท : ขึ้นอยู่กับประเด็นด้วยครับ ผมพยายามเอามิติด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบางเรื่องก็ยาก เอาหลักของแต่ละเรื่องออกมาให้ชัด เวลาเขียนก็ไม่ให้มีตัวเลขอยู่ในบทความมากนัก แต่จะพูดเรื่องหลักการ มิติของการมอง ว่าควรมองประเด็นนี้ในมิติไหนบ้าง มุมนี้ดี มุมนี้ไม่ดี วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่บางคนเบื่อ เพราะนักเศรษฐศาสตร์ไม่ยอมฟันธง ข้างหนึ่งมองแบบหนึ่ง แต่อีกข้างหนึ่งมองแบบ

ตรงกันข้ามก็ไม่ผิด ต้องชั่งน้ำหนักแล้วเลือกว่าจะตัดสินใจเชื่อไปทางด้านไหน แต่ประเด็นสำคัญคือ คนไทยไม่ค่อยมองว่าปัญหาเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน เมื่อทรัพยากรมีอยู่จำกัด เอาไปให้คนหนึ่งได้ประโยชน์ อีกคนก็ต้องเสียประโยชน์ เว้นเสียแต่ว่าเราต้องทำเค้กก้อนนี้ให้ใหญ่ขึ้น ทุกฝ่ายก็จะได้ส่วนแบ่งมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พอเวลาแบ่งเค้กจะมีข้างหนึ่งที่ได้น้อยกว่าเสมอ แล้วก็จะบ่น

คนตัดสินใจแบ่งเค้กก็อาจจะเอียงไปข้างที่เสียงดังกว่า

ผมเขียนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์พเนจร เพราะอยากให้ผู้อ่านได้เห็นว่ามีมิติอะไรบ้างที่เราต้องมอง หลายครั้งจะทวนกระแส เพราะสังคมมองไปด้านหนึ่งมากไป ทำให้มิติอื่นที่ควรมองด้วยหายไป ผมจะยกประเด็นนั้นขึ้นมาให้คนเห็นและเข้าใจ เห็นกรอบของปัญหาชัดเจนมากขึ้น เข้าใจมากขึ้นว่า ต้องมองให้รอบด้าน เพราะการตัดสินใจที่ดีที่สุด เป็นการตัดสินใจที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Informed Decisions คือการตัดสินใจที่มองและพิจารณาอย่างรอบด้าน มองให้ครบถ้วนทุกมิติที่สำคัญแล้วจึงตัดสินใจ มีหลายบทความที่ผมพยายามเสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรมจากปัญหาต่างๆ นำเสนอกรณีตัวอย่างที่เอามาเป็นบทเรียนให้สังคมไทยใช้ประโยชน์ได้ คิดต่อร่วมกันได้ เพราะไม่อย่างนั้น เราจะเสียเวลามากในสังคมไทยคุยกันแต่เรื่องปัญหา ในสมัยนี้ เราคุยเรื่องการแบ่งเค้ก

เยอะมาก แต่เราไม่ค่อยคุยกันว่าจะทำให้เค้กก้อนนี้โตขึ้นได้อย่างไร ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกอย่างมาโฟกัสอยู่ที่การแบ่งเค้ก อย่างเรื่องสองมาตรฐานก็เกี่ยวกับการแบ่งเค้ก เพราะคนมองว่าคนกลุ่มนี้ได้เปรียบ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเสียเปรียบ ไม่มีใครพูดว่าทำอย่างไรให้เค้กก้อนนี้ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นวิน-วิน ถ้าทำให้เป็นวิน-วินได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

GM: มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่าบทความของคุณ แสดงความเห็นไปในทางต่อต้านนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลปัจจุบัน

ดร. วิรไท : ผมไม่ได้ยึดติดกับการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ว่าผมจะต้องแย้งนักการเมืองคนไหน แย้งพรรคใด ผมเขียนบทความมา 5-6 ปีแล้ว จะเห็นว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ถ้าผมเห็นว่าทำเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ ไม่มองรอบด้าน ผมจะยกประเด็นเหล่านั้นขึ้นมา บางช่วงอาจแรงไปหน่อย อาจเป็นเพราะว่านโยบายหรือสิ่งที่เขาทำขัดแย้งกับหลักวิชาการที่ควรจะเป็นอย่างมาก ทำให้มีประเด็นที่ต้องเขียนถึงมากกว่าสมัยอื่น อย่างบทความชิ้นหนึ่งที่ผมเขียนถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศซิมบับเว บทความชิ้นนั้นผมเขียนตั้งแต่ปี 2551 แล้วนะ ซึ่งไม่ใช่ความตั้งใจที่ผมจะนำมาเปรียบเทียบกับสภาพในวันนี้เลย แต่มันยังถูกอ่านอยู่ และถูกนำมาแชร์กันอยู่ในวงโซเชียลมีเดีย

ซิมบับเวเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก ตอนที่ผมจบปริญญาเอกเข้าทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เขาถามว่าสนใจไปทำงานที่ไหน ผมเชื่อว่าถ้าจะให้ท้าทายและได้เห็นปัญหาจริงๆ ต้องไปทวีปแอฟริกา เพราะแอฟริกาเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของไอเอ็มเอฟในเวลานั้น จึงขอไปอยู่ฝ่ายแอฟริกา และถือเป็นโชคดีที่ถูกมอบหมายให้ไปทำงานที่ซิมบับเว ซึ่งเคยเป็นประเทศ

ชั้นดีมากของแอฟริกา เป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่เห็นชัดเลยว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด ทำให้ประเทศไหลลงเร็วมาก และไม่กลับขึ้นมาอีกเลย จนถึงวันนี้ผ่านไป 15-16 ปีแล้ว ซิมบับเวก็ยังไม่สามารถกลับมาได้

สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดกัน เวลาผมวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจว่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศ คนมักมองว่าประเทศไทยไม่มีทางหายไปไหนได้ เศรษฐกิจเป็นแค่เรื่องสมมุติ เดี๋ยวเราก็กลับมาเหมือนเดิมได้ แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่สูญหายไป Lost Generation ลองดูพม่าสิครับ คนที่มีอายุในช่วง 40-60 ปีในวันนี้ เป็นคนรุ่นที่ความรู้ ประสบการณ์ที่ทำมาทั้งชีวิตของเขากำลังจะหายไป สูญเปล่าไป ถือเป็นช่วงชีวิตที่ทนทุกข์ทรมาน อย่างฟิลิปปินส์ก็เคยมี Lost Generation แบบนี้ในช่วงที่เป็นเผด็จการ ดังนั้น ถ้าประเทศไทยมีนโยบายเศรษฐกิจในทิศทางที่ไม่ควรเป็น ชีวิตของคนทั้งรุ่นอาจจะหายไป โดยเฉพาะรุ่นผม ถ้ารัฐบาลสร้างความผิดพลาดต่อเนื่องในวันนี้ อีกประมาณ 15-20 ปีข้างหน้า ตอนที่คนรุ่นผมอายุ 60 ปีครบเกษียณ เงินออมที่เราเก็บไว้ทั้งชีวิตก็อาจไม่มีค่า ความเป็นธรรมในสังคมอาจจะหายไป ศักยภาพของประเทศตกต่ำ การใช้ชีวิตในวัยแก่ก็จะลำบาก

GM: คนหนุ่มสาวเมื่อปี 2540 ยุคที่ฟองสบู่แตก และเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง รุ่นนั้นถือว่าเป็น Lost Generation หรือเปล่า

ดร. วิรไท : นั่นยังไม่ถือว่า Lost เท่าไรนะครับ เพราะเศรษฐกิจไทยกลับมาเร็วมาก ปี ’40 ผ่านไป 3-4 ปี เราก็กลับมาโตได้ใหม่ เพราะมีการปฏิรูปหลายเรื่อง คนที่ Lost มากๆ ในช่วงนั้นก็จำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่ขาดทุนในหุ้น ถูกยึดบ้าน ตกงานตอนปี ’40 ครอบครัวมีปัญหา ล้มละลาย มีเจ้าของธุรกิจหลายคนผูกคอตาย แต่อย่างในสหรัฐอเมริกาตอนนี้ เกิด Lost Generation แล้วครับ เป็นรุ่นที่เพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆ เขาไม่สามารถหางานได้ เพราะวิกฤตินี้นาน ใช้เวลายาวกว่าจะฟื้นตัว ส่วนในยุโรปยิ่งหนัก คนอายุ 20-30 ปีมีมากถึง 50% ที่ไม่มีงานทำ คนรุ่นหนุ่มสาวที่จบมหาวิทยาลัยมาใหม่ๆ ไม่มีงานทำ ในระหว่างที่ว่างงาน ก็มีเด็กรุ่นใหม่กว่าจบมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ถามว่านายจ้างจะจ้างใคร ระหว่างคนที่อายุมากแล้วนั่งเฉยๆ มา 4-5 ปี กับคนที่เพิ่งจบใหม่ พวก Lost Generation เช่นนี้กลายเป็น Permanently Unemployed ไปเลย คือชีวิตนี้ไม่รู้จะไปหางานอะไรทำได้อีกแล้ว ด้วยทักษะ ด้วยวัย อะไรๆ จะตามเขาไม่ทัน อเมริกาจึงให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดอัตราการว่างงานมาก

สิ่งที่สำคัญคือต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้ได้ เมื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจได้จะปลดล็อกทรัพยากรที่ถูกล็อกเอาไว้ ให้กลับมามีศักยภาพได้ ไม่มีทางที่รัฐจะสามารถดูแลคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ต่อเนื่องในระยะยาว ตัวอย่างในประเทศสเปน อุปสรรคสำคัญคือโครงสร้างตลาดแรงงาน ตลาดแรงงาน

ของเขาไล่คนออกยากมาก คนที่มีงานทำอยู่แล้วในตอนนี้ ก็ต้องรักษาตำแหน่งงานตัวเองไว้อย่างเต็มที่ ไม่ยอมให้มีการแก้กฎหมาย ฉันไม่สนใจว่าคนรุ่นลูกหลานของฉันที่จบออกมาใหม่แล้วไม่มีงานทำ บริษัทก็ไม่สามารถไปจ้างคนใหม่ได้ เพราะถูกล็อกตำแหน่งโดยคนเหล่านี้ไว้แล้ว เช่นเดียวกันกับเรื่องสวัสดิการต่างๆ ที่ต้องมีการปฏิรูป เพราะถ้าไม่ปฏิรูปก็จะไปล็อกทรัพยากรไว้อยู่กับคนกลุ่มหนึ่ง ล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจไว้กับคนกลุ่มหนึ่ง

ประเทศไทยอยู่รอดวันนี้ได้ ได้รับผลกระทบน้อยจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ส่วนหนึ่งก็เพราะการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติปี ’40 ผมจำได้ว่าในวันนั้น หลายคนออกมาต่อต้านนโยบายของคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ บางคนเรียกว่าเป็นกฎหมายขายชาติด้วยซ้ำไป ทั้งที่หลายเรื่องเป็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ และปฏิรูปอย่างรุนแรงเสียด้วย คุณลองดูระบบสถาบันการเงินของเราในวันนี้ จะเห็นว่าแทบไม่มีปัญหาเลย มีความเข้มแข็ง จนอาจจะเข้มแข็งเกินไปด้วยซ้ำ คือมีความสามารถในการทำกำไรสูงมาก จนสวนทางกับธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโลก หลังปี 2540 บริษัทใหญ่ๆ ก็ผ่านระบบการปฏิรูปด้วย วันนี้บริษัทไทยจึงเข้มแข็ง ออกไปซื้อกิจการบริษัทในต่างประเทศได้ กฎหมายเศรษฐกิจที่สำคัญๆ หลายเรื่องก็เกิดขึ้นในช่วงนั้น แต่ตอนนี้เราอยู่ในช่วงกินบุญเก่า เพราะหลังจากนั้น เราแทบจะไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจอีกเลย ปัญหาใหม่ที่เราจะเผชิญเป็นเรื่องที่ปล่อยสะสมไว้ให้เป็นปัญหาสำหรับอนาคต เช่นอีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมจะร่อยหรอลงเรื่อยๆ เราไม่ได้ปฏิรูปสวัสดิการที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังจะเป็นปัญหา เป็นภาระใหญ่หลวงให้กับรัฐบาล นอกจากนี้ เราไม่ได้ปฏิรูประบบการศึกษาเลย ที่จะให้เท่าทันกับความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่ เท่าทันพัฒนาการของระบบการศึกษาของประเทศอื่นในโลก ทุกวันนี้ การแก้กฎหมายหรือออกกฎหมายทำได้ยากมาก ยกเว้นกฎหมายที่รัฐบาลตั้งว่าเป็นเรื่องพิเศษที่อยากทำ การออกกฎหมายเศรษฐกิจอย่างเร็วต้องใช้เวลา 2-3 ปี บางครั้งออกมาแล้วก็ใช้ไม่ได้ เพราะไปถูกดัดแปลงแก้ไขโดยคนที่ไม่รู้เรื่องระหว่างทาง กฎหมายสำคัญๆ หลายฉบับที่ออกมาได้ในช่วง 5 ปีหลังคือ กฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจที่ออกสมัยที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยุค คมช. กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาได้ช่วงนั้น ผู้ว่าการฯ จึงถูกปลดไม่ได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง ถ้าเราไม่ปฏิรูประบบกฎหมายที่สำคัญๆ ก็จะเป็นปัญหา

GM: ทำไมในสังคมประชาธิปไตยอย่างบ้านเรา กลับมีการปฏิรูปกฎหมายที่ดี ในช่วงที่มีรัฐบาลจากการรัฐประหารล่ะ

ดร. วิรไท : ผมคิดว่าการปฏิรูปมักจะเกิดในช่วงที่ประเทศมีวิกฤติ ผู้คนเห็นพร้อมกันว่าต้องเปลี่ยน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะจริงๆ แล้ว การปฏิรูปควรต้องเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในสมัยของ คมช. เขาตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สามารถเลือกเอาคนที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และในจำนวนนั้นก็มีพวกนักวิชาการเข้าไปด้วย จึงมีเรื่องการเอาความรู้เข้าไปในกระบวนการออกกฎหมายมากขึ้น ต้องยอมรับว่าคุณภาพของสภายังไม่เป็นอย่างที่เราปรารถนาอยากจะให้เป็น คุณภาพของนักการเมืองบ้านเรา ไม่ทันกับกฎหมายต่างๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อย่างกฎหมายฟอกเงิน ทุกคนก็รู้ว่าต้องออก แต่ก็ออกไม่ได้จนประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลิสต์ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงิน ทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นมหาศาล กระทบนักธุรกิจและชาวต่างชาติที่จะทำธุรกิจกับคนไทย

ตลอดช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เราไม่ให้ความสำคัญกับทิศทางสำหรับอนาคตมากเท่ากับการแก้ปัญหาทางการเมืองร่วมสมัย ดีเบตต่างๆ ที่เกิดขึ้น กฎหมายปรองดอง กฎหมายนิรโทษกรรม การแก้รัฐธรรมนูญ หรือการเอาผิดซึ่งกันและกันกลายเป็นโฟกัสของนักการเมือง น้ำหนักที่จะไปให้กับการมองอนาคตแทบจะไม่มี ดูง่ายๆ ในช่วงหลังเราไม่เห็นนโยบายเศรษฐกิจแบบเป็นองค์รวม แต่เราจะเห็นการบริหารเศรษฐกิจด้วยมาตรการ แล้วมาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ออกตอนหาเสียง เช่น รถคันแรก จำนำข้าว ค่าแรง 300 บาท ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท พอรัฐบาลได้รับเลือกตั้ง ก็ต้องทำในเรื่องที่ไปหาเสียงไว้ แต่ผมสงสัยว่านโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยในวันนี้คืออะไร นโยบายตลาดแรงงานของประเทศอยู่ตรงไหน ตอนนี้ขึ้นค่าแรง 300 บาท โครงสร้างตลาดแรงงานเป็นเรื่องสำคัญ เราจะทำอย่างไรกับแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยหลายล้านคน แรงงานภาคเกษตรที่มีปัญหาอยู่เราจะทำอย่างไร เราไม่ค่อยได้ยินเกี่ยวกับนโยบาย แม้กระทั่งนโยบายการเปิดเสรี การทำ FTA / TPP ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ประเทศไทยจะเอาหรือไม่เอา ถ้าเราจะเอา เราต้องแลกด้วยอะไร เราจะตกขบวนรถไฟได้ง่ายๆ เพราะเราไปติดกับมาตรการที่หาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง

GM: ถ้ามองว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตัดสินใจเลือกมาตรการหาเสียงแบบประชานิยม มันจะกลายเป็น Invisible Hand ที่นำพาเศรษฐกิจของเราให้รุดหน้าไปได้เองหรือเปล่า

ดร. วิรไท : มันไม่ใช่ Invisible Hand แบบนั้น หลายคนชอบบอกว่านักเศรษฐศาสตร์มีนิสัยวิตกจริต ผมว่าเป็นหน้าที่ เป็นวิชาชีพ ถ้าเราเห็นว่ามีเรื่องอะไรที่จะเป็นปัญหา ก็ควรต้องเตือนสังคม ผมมักถูกตั้งคำถามว่า คุณจะให้รัฐบาลทำนโยบายที่ประชาไม่นิยมเหรอ คุณถึงออกมาติติงนโยบายประชานิยม ผมต้องบอกว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าคุณมองย้อนกลับไปถึงนโยบายประชานิยมในช่วงแรกๆ สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 หลายเรื่องเป็นเรื่องสำคัญ ตอบโจทย์สำคัญของประชาชน เป็นสวัสดิการพื้นฐาน เช่น นโยบายเรียนฟรี นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการตอบโจทย์ที่สำคัญของชีวิต แต่นโยบายช่วงหลังๆ มานี้ มันเกินสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรให้ความสำคัญ ต้องแยกว่าที่พูดถึงนโยบายประชานิยมในภาพกว้างๆ มีนโยบายประชานิยมที่ตอบโจทย์สวัสดิการขั้นพื้นฐานจริงๆ พวกนั้นผมเห็นด้วย ถ้าไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว และนโยบายเหล่านี้ช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับคน แต่ที่หวังเพียงแค่หาเสียงเพื่อชนะการเลือกตั้งในช่วงหลังๆ คำว่านโยบายไร้ความรับผิดชอบอาจเหมาะกว่านโยบายประชานิยม

อดัม สมิท นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นคนแรกที่นำคำนี้มาใช้ในวงการเศรษฐศาสตร์ โดยปรากฏในหนังสือชื่อ The Wealth of Nation ใน ค.ศ. 1776 ต่อมามีผู้ร่วมขยายความ เกิดเป็นแนวคิดว่า เนื่องจากมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง หากมีเสรีภาพในการหาผลประโยชน์ส่วนตน มนุษย์ก็จะตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจด้วยเหตุด้วยผลเพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะกลายเป็นผลประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยไม่ตั้งใจ เสมือนมีมือที่มองไม่เห็นมาชักนำไป ‘มือที่มองไม่เห็น’ นี้ หมายถึง พลังตลาดหรือกลไกตลาด เป็นตลาดที่มีการแข่งขันเสรีของวิสาหกิจเอกชนขนาดเล็กจำนวนมากมาย และปราศจากการแทรกแซงของรัฐ ในตลาดที่มีเงื่อนไขดังกล่าวผู้บริโภคและผู้ผลิตจะถูกมือที่มองไม่เห็นชักนำให้มีการปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าตลาดนั้นสามารถกีดกันการแสวงหาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของสังคมได้อยู่แล้ว  – ข้อมูลจากสนุก! พีเดีย  –

GM: มีการปฏิรูปอะไรที่ไปกันได้กับนโยบายประชานิยมบ้างไหม

ดร. วิรไท : ก็คือเรื่องสวัสดิการพื้นฐาน ผมเพิ่งเขียนบทความเรื่องสแกนดิเนเวียน โมเดล เพราะอาจจะเป็นคำตอบหนึ่งที่คนไทยควรศึกษา ถึงแม้เขาห่างไกลกับเรามากในเรื่องระดับการพัฒนา เรื่องคุณภาพคน แต่ผมคิดว่าเป็นทิศทางที่น่าสนใจ สแกนดิเนเวียนให้ความสำคัญกับสวัสดิการ การพัฒนาที่ผ่านมาของเขา จะบอกว่าเป็นมิดเดิล เวย์ ทางสายกลาง ไม่ได้เป็นทุนนิยมแบบสุดโต่ง แต่ให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการ และกึ่งๆ สังคมนิยมด้วย เขาเก็บภาษีสูงมาก จนมาถึงยุคที่มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงมาก จนคนกังวลว่าจะไปไม่รอด เขาจึงเปลี่ยนวิธีการ อันหนึ่งคือเรื่องสวัสดิการ แทนที่รัฐจะต้องเป็นคนกำหนดนโยบายเองและให้บริการเอง

เขากลับให้มีการแข่งขันกันเป็น Choice and Competition คือประชาชนมีทางเลือกว่าจะไปใช้บริการของใคร สมมุติคุณมีลูก คุณได้คูปองค่าเทอมลูกปีละหนึ่งหมื่นบาท คุณมีสิทธิเลือกเองว่าจะเอาคูปองอันนี้ไปใช้กับโรงเรียนไหนก็ได้ที่อยากส่งลูกไปเรียน โรงเรียนรัฐหรือโรงเรียนเอกชนก็ได้ ดังนั้น ก็แปลว่ารัฐไม่ต้องลงทุนสร้างโรงเรียนเอง ซึ่งโดยทั่วไป พอเป็นอะไรที่รัฐทำ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มันมักจะสู้ภาคเอกชนไม่ได้ วิธีนี้ทำให้เกิดการแข่งขันทั้งระบบ โรงเรียนรัฐจะอยู่ไม่ได้ถ้าโรงเรียนเอกชนดีกว่า รัฐก็ต้องพยายามปรับตัว ถีบตัวเองให้ดีขึ้นตลอดเวลา เราเริ่มเห็นสิ่งนี้ในประเทศไทย โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งร่ำรวยจากการให้บริการผู้ป่วยประกันสังคมนะ เพราะเขาทำได้ดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐ เขาก็ควรจะต้องได้กำไรไป หลักการสำคัญคือ เรื่องสวัสดิการรัฐอุดหนุนได้ กำหนดได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของผู้ให้บริการ เราไม่ได้ยินเรื่องปฏิรูประบบราชการเลยในช่วงที่ผ่านมา ถ้าจะคิดแบบสแกนดิเนเวียน โมเดล เราต้องปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปวิธีการที่ราชการให้บริการประชาชน ปฏิรูปวิธีที่รัฐดูแลประชาชน

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือประเทศมาเลเซียทำนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ Mission 2020 ที่เขาจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ในปี 2020 เขาชัดเจนเลยว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ปฏิรูประบบราชการเสียก่อน เขาประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจพร้อมกันสองแผนใหญ่ คือปฏิรูประบบราชการ และปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่ไปพร้อมกัน ผมคิดว่าการที่เราจะหลุดออกจากกับดักประชานิยม และหลุดจากปัญหาที่สั่งสมมาตลอด การปฏิรูประบบราชการเป็นเรื่องสำคัญ เราจะเจอปัญหาแน่นอนเมื่อเราทำประชานิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลให้สวัสดิการมากขึ้นเรื่อยๆ รายจ่ายประจำของภาครัฐจะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่เพิ่มประสิทธิภาพของข้าราชการ ไม่เพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการ รายจ่ายประจำของภาครัฐจะบานปลาย งบลงทุนที่จะมาเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนประเทศจะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะต้องไปจ่ายเป็นงบเงินเดือนข้าราชการ งบสร้างโรงเรียนเพิ่ม งบอุดหนุนประกันสังคม เหล่านี้มันจะบานปลายขึ้นเรื่อยๆ

GM: การปฏิรูปครั้งใหญ่ของไทย ที่จะกู้เงินมาลงทุนกับระบบรางในการคมนาคม คุณว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ไหม

ดร. วิรไท : ผมไม่คิดว่าเป็นการปฏิรูปนะ แต่เป็นการลงทุนเพิ่ม ถ้าทำได้สำเร็จ ก็จะช่วยเปลี่ยนโครงสร้างบางเรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาระบบลอจิสติกส์ การขนส่งทางถนนจะเปลี่ยนมาใช้ระบบรางแทนมากขึ้น ระบบรางช่วยลดต้นทุน ช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่มันยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องคิด ไม่ใช่แค่การกู้เงินจำนวนมหาศาลที่เราถกเถียงกันอยู่ เรายังต้องคิดว่าจะให้หน่วยงานไหนเป็นคนทำรถไฟความเร็วสูง ถ้าให้การรถไฟทำ แล้วจะกลายเป็นแอร์พอร์ตเรลลิงค์หรือเปล่า ลงทุนไปตั้งเยอะแต่ไม่มีคนใช้บริการ ใครจะเป็นคนมาบริหารจัดการ จะจ้างคนแบบไหนให้มาทำงานนี้ หรือถ้าเก็บเงินไว้มาทำรถไฟรางคู่เพิ่มขึ้นอาจจะได้ผลดีกว่าหรือไม่ ดีเบตที่คนถกกันเยอะตอนนี้ ก็คือว่าเราควรทำอะไรก่อนหลัง ทำอะไรแล้วคุ้มค่ากว่า ซึ่งพวกเราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร มันไม่ค่อยมีรายละเอียดออกมาให้ชัดเจน เช่น ควรทำรถไฟความเร็วสูง หรือควรทำรถรางรอบเมืองสำคัญๆ ก่อน ภูเก็ต เชียงใหม่ ซึ่งกำลังจะเกิดปัญหารถติดตามอย่างกรุงเทพฯ หรือเอาเงินทำรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นสั้นๆ มาทำเส้นเดียวยาวไปเลยให้เสร็จหนึ่งเส้น ไปถึงหนองคาย ต่อไปเมืองจีน สมัยนี้ การถกเถียงมันไปเร็วมาก โดยเรายังไม่มีหลักฐาน ไม่มีเอกสารที่ทำให้การถกเถียงเรื่องพวกนี้เป็นไปอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถดูตัวเลขแล้วคุยกันได้อย่างสร้างสรรค์ พอรัฐบาลเสนอขอกู้เงิน 2.2 ล้านล้าน ก่อนที่คนจะเห็นรายละเอียด ลำดับของการนำเสนอ จึงทำให้เกิดปัญหา

GM: ถ้าเราคิดเสียว่าเป็นการโยนเงินก้อนใหญ่ลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจล่ะ ยังไม่ต้องไปกังวลเรื่องรายละเอียดของโครงการพวกนั้น

ดร. วิรไท : มันไม่ได้ คุณโยนไป 2.2 ล้านล้านบาท แล้วก็จะรั่วไหลออกไปหมด สมมุติว่าทุกคนรวยขึ้นมาพร้อมกันหมด เราก็ไปซื้อรถเบนซ์ หรือกระเป๋าหลุยส์ วิตตองกันใช่ไหม แล้วถามว่าประเทศไทยจะได้อะไรในปีถัดไปล่ะ คนได้ประโยชน์ช่วงสั้นๆ อาจจะทำให้ราคาที่ดินพุ่งขึ้นมาช่วง 2-3 ปี แล้วก็ทรุดลงพร้อมกัน ทุกคนมีหนี้หมดแล้ว เพราะว่าไปเล่นกับฟองสบู่ราคาที่ดิน ราคาอสังหาริมทรัพย์ เรื่องความยั่งยืนถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เงิน 2.2 ล้านล้านบาทไม่ใช่เงินฟรีๆ ที่ตกมาจากสวรรค์นะ เป็นเงินที่เราไปก่อหนี้มา อย่าลืมว่าเราต้องผลิตอะไรก็ตามที่จะทำรายได้ให้กับเรา เพื่อจะได้เอาเงินไปคืนชดใช้หนี้ ดอกเบี้ยคิดทุกวัน ความสามารถในการหารายได้กลับคืนมาอยู่ตรงไหน รัฐบาลอาจมองที่การกู้เงิน ให้สามารถกู้เงินก้อนใหญ่ได้ เอาการกู้เงินเป็นสาระสำคัญมากกว่า แทนที่จะให้คนถกเถียงว่าโครงการเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เอาง่ายๆ ถ้าคุณลองไปประกาศว่า 5 ปีนี้ครอบครัวของคุณมีแผนกู้เงินซื้อบ้าน และจะซื้อรถใหม่อีก 3 คัน มีเจ้าหนี้รายไหนได้ยิน แล้วอยากจะปล่อยกู้ให้คุณเพิ่มไหม ถ้าจะปล่อยกู้ เขาต้องมองว่าคุณมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปอีก เพราะอีก 3 ปีหนี้ของคุณจะขึ้นมหาศาล มันกระทบกับเครดิตของคุณแล้ว กรณี 2.2 ล้านล้านบาท ก็กระทบเครดิตของประเทศแล้ว เรื่องนี้ถ้าทำไปตามกรอบงบประมาณปกติ ทำไปทีละโครงการ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าก็สร้างได้ต่อเนื่อง รถไฟใต้ดินก็สร้างได้ต่อเนื่อง เพราะอยู่ในงบของรัฐวิสาหกิจ การที่ต้องมารวมเป็นแพ็คเกจใหญ่ ไม่แน่ใจว่าทำอย่างนี้ไปทำไม ที่สำคัญ ควรให้ภาคเอกชนมารับความเสี่ยงด้วยในเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่เอกชนจะมารับความเสี่ยงได้ ไม่จำเป็นที่รัฐบาลต้องกู้เงินมาลงทุนเองทั้งระบบ รัฐบาลควรเก็บความสามารถในการกู้เงินไว้ เพื่อไปลงทุนในโครงการที่จำเป็นจริงๆ โดยเฉพาะโครงการที่ไม่สามารถมาทำเชิงพาณิชย์ได้ เช่น เรื่องการศึกษา ความมั่นคงของประเทศ หรือสาธารณสุขพื้นฐาน เช่น โรงพยาบาลตำบล โครงการเชิงพาณิชย์ควรใช้กลไกให้เอกชนเข้ามารับความเสี่ยง พอมาประกาศว่ารัฐบาลจะกู้เองทั้งหมด จึงเกิดข้อสงสัย ข้อถกเถียงกันเยอะ

GM: ก็ถ้าเราไม่กู้ แล้วเมื่อไรเราจะรวย แล้วเมื่อไรเราจะมีรถไฟความเร็วสูงใช้ อย่างผมเดินดูทีวีตามแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้างฯ เดี๋ยวนี้เขาไม่แปะราคาเต็มกันแล้ว เขาแปะราคาผ่อนกันทั้งนั้น สมัยนี้ใครๆ ก็กู้กันทั้งนั้น

ดร. วิรไท : ก็ย้อนกลับมาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน ตัวอย่างที่คุณพูดมา ถ้าประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการเงิน ก็ไม่เป็นปัญหา แต่อย่างเรื่องบัตรเครดิต หลายคนคิดว่าสามารถหมุนเงินไปได้เรื่อยๆ เอาเงินอนาคตมาจ่ายไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีเงินนั้นจริงๆ หรือคนที่เล่นหุ้น ก็ชอบถามแต่ว่า ซื้อหุ้นตัวอะไรจะรวยเร็ว ไม่สนใจว่าปัจจัยพื้นฐานของหุ้นคืออะไร สนแค่ว่าหุ้นตัวนี้ใครเล่นอยู่ ความคิดแบบนี้น่ากลัวมาก อาจจะดีเสียกว่าด้วยซ้ำ ถ้าจะเป็นพวกอนุรักษนิยม ถึงแม้แบ็คกราวนด์ผมจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในภาคธุรกิจมามากกว่า 10 ปี อยู่ในโลกของทุนนิยมจัดๆ อยู่ในแบงก์พาณิชย์ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะฉะนั้น มุมมองของผมจึงค่อนข้างไปในทางภาคธุรกิจด้วยซ้ำ ลองไปถามนักธุรกิจทั่วไปก็ได้ ว่าจำนำข้าวนั่นควรทำไหม ถ้าเป็นเงินของเขาเอง แม้กระทั่ง โครงการลงทุนของภาครัฐที่เราไม่เห็นรายละเอียดชัดเจน นักธุรกิจเขาก็สงสัยว่าธนาคารไหนจะปล่อยกู้บ้าง สิ่งที่เราไม่ต้องการเห็นเลยคือการเอาประเทศมาพนันว่าเชื่อผมเถอะ ประเทศเราจะโชติช่วงชัชวาล เวลาพนันเมื่อไร ก็จะมีอีกข้างหนึ่ง คือความเสี่ยงด้วยเสมอ เราต้องตามมาชดใช้กันถ้าเกิดไม่โชติช่วงชัชวาลจริง เหมือนการตัดสินใจของเราเอง คุณจะกู้เงินมาซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง คุณจะใช้วิธีพนันกับอนาคตไงล่ะ ว่าอีก 3 ปี ราคาต้องขึ้นแน่นอนอีกเท่าตัว ซื้อไปเถอะ หรือคุณจะคิดให้รอบคอบ เพราะถ้าคุณหวังจะไปตายเอาดาบหน้า อย่างวัฒนธรรมเงินผ่อนที่คนไทยหลายคนติดกัน แบบนี้น่ากลัว

GM: การกู้ 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ก็เปรียบเหมือนวัฒนธรรมเงินผ่อนของชาวบ้านหรือครับ

ดร. วิรไท : ก็อาจมีบางส่วนที่เป็นกระจกเงาสะท้อนสภาวะของสังคมไทย เรื่องการให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน ซึ่งไม่ได้อยู่เพียงแค่เรื่องความรู้ความเข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์ หรือความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการเงิน เรื่องจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทำอย่างไรให้คนเข้าใจความพอ ความพอในเรื่องการบริโภค ความพอในเรื่องความโลภ ทีวีเครื่องที่ 2 ของบ้านเราจำเป็นต้องมีไหม รถคันแรกจำเป็นต้องมีไหม หลายคนผ่อนกันมาโดยไม่คิดว่าเป็นความต้องการที่แท้จริงของเราหรือเปล่า ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคำสอนของท่านทะไลลามะ ท่านสอนว่า คำว่า Need or Greed ออกเสียงศัพท์เหมือนกันมากเลย ความต้องการ หรือความโลภ ถ้าคนส่วนใหญ่สามารถแยกได้ว่านี่คือ Need จริงๆ เป็นความต้องการที่จำเป็นของชีวิต กับ Greed ความต้องการที่มีมิติของความโลภ อยากได้โดยที่ไม่ใช่ความจำเป็นของชีวิต ถ้าสามารถแยกได้ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรก็ตาม จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองมหาศาล สร้างความยั่งยืนให้กับตัวเองมหาศาล แต่ความยั่งยืนไม่ใช่ปฏิเสธการพัฒนา การลงทุน การใช้จ่าย ความยั่งยืนไม่ใช่ว่าเราไม่ทำอะไรเลย หรือไม่รับความเสี่ยงอะไรเลย เพราะการไม่ทำอะไรเลย ก็คือความเสี่ยงแบบหนึ่งเหมือนกัน การที่เราไม่ลงทุนวันนี้ คือความเสี่ยงที่จะทำให้ไม่ยั่งยืนได้ในอนาคตเหมือนกันนะ ประเด็นอยู่ที่ความสมดุลมากกว่า การคิดไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ ตรงนั้นเป็นหัวใจที่นำไปสู่ความยั่งยืนมากกว่า ความสมดุลและความพอในใจเป็นเรื่องสำคัญ

GM: คุณสนใจเรื่องศาสนาด้วยหรือ

ดร. วิรไท : ผมสนใจพุทธศาสนามาสักระยะหนึ่งแล้ว เพราะเป็นคำตอบในหลายๆ เรื่อง ถ้าลองมองดูอะไรก็ตามในโลกนี้ จะเห็นว่าไม่ค่อยมีอะไรที่มีอายุเกิน 2,600 ปี ระบบทุนนิยมที่เราพูดกันอยู่ อดัม สมิธ เขียนเรื่อง Wealth of the Nation มาเมื่อ 240 กว่าปีเองนะ แทบจะไม่มีประเทศไหนที่คงความเป็นประเทศอยู่ต่อเนื่องมา 2,600 ปี แต่พุทธศาสนาอยู่มาได้อย่างไรกว่า 2,600 ปี เป็นหลักสำคัญในการดำรงชีวิตของคนจำนวนมาก สามารถเป็นคำตอบให้กับระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ ได้ กลับมาเรื่องปัญหาทุนนิยมที่คนวิจารณ์เยอะ ถ้าเราเอาพุทธศาสนามาไว้อยู่ข้างบนเป็นกรอบใหญ่ แล้วเอาทุนนิยมมาไว้อยู่ข้างล่าง ก็จะกลายเป็นทุนนิยมที่เป็นธรรม ซึ่งหมายถึงเป็นทุนนิยมที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน การสร้างความสมดุลในระบบเศรษฐกิจ การสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคม สร้างความมีเหตุมีผลในระบบเศรษฐกิจ แต่เรามักติดกับดัก เอาทุนนิยมไปครอบพุทธศาสนา จนกลายเป็นพุทธพาณิชย์

ผมเชื่อว่าพุทธศาสนาเป็นคำตอบให้กับปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ในระบบทุนนิยม ทุนนิยมเป็นกลไกที่ต้องถูกกำกับดูแล ทุนนิยมไม่ใช่ใครจะทำอะไรเสรีตามใจ ทุนนิยมที่ดี ภาครัฐต้องกำกับดูแล เช่น ไม่ให้ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ไม่ให้คนที่ใหญ่กว่าเอาเปรียบคนเล็กกว่า มีกฎหมายแข่งขันทางการค้า เราเห็นปัญหาวิกฤติระบบสถาบันการเงินในต่างประเทศในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะว่ากลไกกำกับดูแลของภาครัฐ ยังไปไม่ทันกับความซับซ้อน ความโลภที่ฝังตัวอยู่ในการบริหารจัดการสถาบันการเงิน ตอนปี 2540 ที่เกิดปัญหาในบ้านเรา ก็เพราะหน่วยงานที่กำกับดูแลตามความซับซ้อนไม่ทัน ไม่มีภาครัฐไหนตามความซับซ้อนของภาคเอกชนทัน เพราะว่าค่าตอบแทนก็ต่างกัน คนเก่งไปอยู่ในภาคเอกชนหมด ในภาคสถาบันการเงินจึงเกิดฟองสบู่เป็นรอบๆ ไป นอกจากกลไกการกำกับดูแลของภาครัฐจะสำคัญแล้ว อีกด้านหนึ่ง คนที่เป็นสมาชิกของสังคม ต้องเข้าใจที่จะกำกับดูแลตัวเองด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ เรื่องจิตวิญญาณเป็นสิ่งสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธศาสนาก็ได้ เป็นศาสนาอะไรก็แล้วแต่ มีหลักที่จะบอกได้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำสมเหตุสมผลไหม พอประมาณไหม เบียดเบียนตัวเองทั้งในปัจจุบันและในอนาคตหรือเปล่า การที่คุณไปมีหนี้เกินควร อาจจะถือว่าเป็นการไปเบียดเบียนตัวเองในอนาคตก็ได้ คุณอาจต้องวิ่งรอกทำงานหลายที่ เพื่อมาผ่อนหนี้

จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้ขึ้นอยู่กับกรอบของชีวิต กรอบของกระบวนการคิด การเลือกใช้ชีวิตของแต่ละคน ตัวเขาต้องตัดสินว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของเขา ส่วนพุทธศาสนาและเศรษฐศาสตร์ จะให้น้ำหนักกับปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ผมเพิ่งกลับมาจากจังหวัดน่าน ไปทำโครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระ เจอปัญหาว่าชาวบ้านยากจนมาก มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว คือข้าวโพดเป็นหลัก เจอราคาขึ้น-ลง เขาก็มีปัญหา เป็นหนี้สินเยอะ ต้องซื้อข้าวกิน ตัดไม้ทำลายป่า เผาป่าเพิ่มขึ้นจนภูเขาโกร๋นไปหมด และใช้ยาฆ่าหญ้าสูงจนมีปัญหาสุขภาพ มูลนิธิปิดทองหลังพระได้ไปทำงานที่นั่นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเริ่มจากคิดว่าจะช่วยเขาอย่างไร ที่ทำให้เขามีทางเลือกของชีวิต ที่จะทำให้เขามีชีวิตแตกต่างไปจากชีวิตในรูปแบบเดิม คุณชายดิศนัดดา ดิศกุล ประธานโครงการฯ วางหลักการที่ชัดเจนมาก ให้เขา Survive ให้ได้ก่อน ถ้าเขาอยู่รอด มีข้าวกิน หนี้ไม่เพิ่มขึ้น เริ่มที่จะลดหนี้ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคง มีอาหารกิน ขั้นต่อมาคือทำให้เขาเข้าใจความพอเพียงในการใช้ชีวิต หรือ Sufficient เริ่มเห็นประโยชน์ของการลดหนี้ เริ่มปลูกพืชเศรษฐกิจผสมผสานเพื่อออกมาขายได้ด้วย กินเองได้ด้วย และในขั้นสุดท้าย ก็คือขั้นของความยั่งยืนในอนาคต ในหมู่บ้านที่เราไปทำงาน 3-4 หมู่บ้าน เห็นชัดเจนว่าคนหนุ่มสาวเริ่มกลับไปอยู่ที่บ้าน ถึงแม้เขาได้เงินเดือนน้อยกว่า แต่มีเงินออม มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นกว่าที่ต้องมาเป็นแรงงานอยู่ในกรุงเทพฯ กลับไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน เป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งในชุมชน การบริหารจัดการกองทุนต่างๆ ครอบครัวมีความสุข อยู่กับลูก เป็นครอบครัวจริงๆ เป็นตัวอย่างของการสร้างทางเลือกในการใช้ชีวิตให้แก่คนในชนบท ผมเห็นว่าคนที่มีโอกาสทางสังคมและมีทรัพยากรมากกว่าต้องมาช่วยกันสร้างทางเลือก สร้างโอกาสให้คนที่ด้อยกว่า

GM: ตอนนี้เรามีโอกาสจะเกิดเรื่องแบบปี 2540 อีกไหม

ดร. วิรไท : ผมคิดว่าไม่มีแบบนั้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่ปัญหาประเทศไทยตอนนี้มีลักษณะซึมลึก กัดกร่อน ค่อยๆ ถูกบั่นทอนลงเรื่อยๆ ตอนปี 2540 มีความไม่สมดุลทางโครงสร้างหลายอย่างที่ระเบิดขึ้นมาพร้อมกัน ปัญหาค่าเงินบาทที่ไป fix ค่าเงิน วันนี้เราก็ไม่ได้ fix ค่าเงินแล้ว จึงไม่มีอะไรที่อั้นๆ ไว้แล้วระเบิดออกมาอีก วันนี้ไม่ได้ไปกู้เงินจากนอกประเทศเข้ามามากเกินควร ต่างกับตอนนั้นที่มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเมื่อเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศแล้วสูงกว่าหลายเท่านะ วันนี้เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศมากกว่าหนี้ระยะสั้นต่างประเทศหลายเท่า สถาบันการเงินตอนนี้ก็ไม่ได้มีหนี้เสียรุงรัง ตอนปี 2540 พอระเบิดลูกหนึ่งระเบิด ก็เป็นการจุดชนวนให้ระเบิดลูกอื่นๆ ระเบิดตามกันไปหมด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือความสามารถในการแข่งขันของประเทศเราลดลงแทบจะทุกด้านเลย เรื่องความเข้มแข็งขององค์กรภาครัฐที่เป็นเสาหลักของประเทศก็ถูกบั่นทอน ถูกกัดกร่อนลงไปเรื่อยๆ เรื่องค่านิยมของคน ค่านิยมของสังคม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมถูกกัดกร่อนลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่รอบบ้านเราเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เราหยุดอยู่กับที่ ก็เหมือนกำลังยืนอยู่บนทรายดูด ถูกดึงลงให้ลึกลงไปเรื่อยๆ หนี้สาธารณะที่เรากลัวกันว่ากู้ 2.2 ล้านล้านบาทจะทำให้เกิดปัญหานั่นนี่ มันจะยังไม่เกิดใน 3-5 ปีนี้หรอก จะเกิดก็ต่อเมื่อถ้าคุมไม่อยู่ เกิดช็อกแรงๆ แต่ระยะยาวในอีก 10 ปีไปแล้ว นั่นละอาจจะเป็นปัญหา

GM: ยุคสมัยของทุนนิยมใกล้สิ้นสุดหรือยัง

ดร. วิรไท : ผมเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุดของมนุษย์ก็คือระบบทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจใดก็ตามที่ไปขัดแย้งกับสัญชาตญาณของคนจะไปไม่ได้ในระยะยาว ทุนนิยมคงอยู่ได้และจะคงอยู่ต่อไปเพราะคนมี Greed แต่ประเด็นคือ Greed แบบไหนที่ยั่งยืน ที่พอเพียง ที่เหมาะสม ถ้าเป็น Greed ที่ทำให้ระบบทั้งระบบพัง กลายเป็นว่าคนที่ใหญ่ๆ เจ้าเดียวได้ประโยชน์ ปลาใหญ่กินปลาเล็กหมดเลย ถึงจุดหนึ่งจะไม่ยั่งยืน ถ้าไปดูระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น เช่น สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ หรือระบบศักดินา มันไปไม่รอด เพราะขัดกับสัญชาตญาณของคน ทุนนิยมเป็นระบบที่สะท้อนสัญชาตญาณของคนมากที่สุด ทำให้ศักยภาพของคนถูกนำออกมาสร้างประโยชน์ได้เต็มที่ ส่งเสริมการทำงานที่ตัวเองถนัดที่สุด เกิดการแบ่งงานกันทำ ทำให้เกิดการค้าและการแข่งขันกันอย่างเสรี ทุนนิยมไม่ล่มสลายหรอก แต่มันมีแนวโน้มว่าทุนนิยมที่สุดโต่งข้างหนึ่ง กำลังจะกลับมาเป็นทุนนิยมที่สมดุลมากขึ้น ผมถึงให้ความสำคัญกับทุนนิยมที่เป็นธรรม เมื่อก่อนผมเคยไปทำงานประเทศแถบรัสเซีย ไปในหมู่บ้านเห็นป้ายขนาดใหญ่เขียนไว้ว่า ต้องผลิตยางรถยนต์กี่ชิ้นในแต่ละเดือน หมู่บ้านนั้นก็ผลิตแต่ยางรถยนต์นะ เพื่อจะส่งไปผลิตเป็นรถยนต์ในอีกเมืองหนึ่ง ตื่นเช้ามา คนก็มานั่งผลิตแต่ยางรถยนต์

GM: ชีวิตแบบนั้นไม่ดีหรือ ตื่นเช้ามาก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก

ดร. วิรไท : คงไม่ดีหรอกถ้าคุณมีศักยภาพที่มากกว่านั้น ทำไมคุณต้องไปอยู่ในกรอบแค่นั้น ในระบบแบบนั้น

คนที่ได้ประโยชน์คือคนใหญ่คนโต คนที่เป็นศูนย์กลางของประเทศ ว่าเขาจะไปจัดสรรว่าจะเอาอะไรไปให้ใครผลิต เอาอะไรไปให้ใครบริโภค ระบบแบบนั้นมี Deadweight Loss ที่สวนกับตลาด จุดไหนที่ดีมานด์-ซัพพลายตัดกัน จุดนั้นคือการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด แต่เมื่อใดก็ตามที่ไปแทรกแซงกลไกตลาด จะเกิด Deadweight Loss ขึ้นมา ก็ย้อนกลับไปว่ามันเหมือนกรณีการจำนำข้าว แทรกแซงกลไกตลาดด้วยราคาที่สูงเกินควร รัฐบาลขายข้าวไม่ออก โรงสีไม่ใช่ได้กำไรจากการสีข้าวนะ แต่ได้กำไรจากการสร้างไซโลเพื่อมารับจ้างรัฐบาลเก็บข้าว เกิดการลงทุนสร้างไซโลจำนวนมากที่จะทำให้เสียทรัพยากรไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะเป็นระบบที่วางแผนการแทรกแซงมาจากส่วนกลาง แตกต่างจากระบบทุนนิยมที่จะช่วยให้คนมีโอกาสที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของ

ตนได้ แต่ที่สำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกันมากเกินควร ความเป็นอยู่ของคนที่ดีขึ้นจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ต้องกระจายอย่างทั่วถึง อย่าปล่อยให้เป็นทุนนิยมสุดโต่ง

การสูญเสียอย่างเปล่าประโยชน์ Deadweight Loss นั้นมีอยู่แทบทุกโอกาส ในการประกอบธุรกรรมของสมาชิกในระบบเศรษฐกิจ เช่น การเก็บภาษี (ผู้จ่าย จ่ายราคาสูงขึ้น และผู้ขายอาจได้รับเงินน้อยลง โดยรัฐได้ภาษีไปจนผู้คนขาดความพอใจ) การให้เงินอุดหนุนของภาครัฐ (โดยแท้จริงก็คือภาษีนั่นเอง) เพียงแต่กลับด้านกัน คือเป็นทรัพยากรที่ไหลจากภาครัฐ สู่ประชาชน การเลือกสนับสนุนสินค้าใดสินค้าหนึ่งโดยภาครัฐ (หากแทงม้าผิด ทรัพยากรที่ใช้ไปในการสนับสนุนนั้นก็สูญเปล่า) และในการดำเนินชีวิตประจำวัน ฯลฯ – คัดลอกจากบทความของ วรากรณ์ สามโกเศศ มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2545

GM: เหมือนที่ออกคิวพาย วอลล์ สตรีท ออกมาประท้วง ช่วงที่เศรษฐกิจอเมริกาล้ม

ดร. วิรไท : เป็นผลสะท้อนออกมาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แบ่งอย่างไม่เป็นธรรม ถามว่าคนไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นไหมช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คิดว่าดีขึ้นนะ อายุขัยเฉลี่ยก็ดีขึ้น ระดับการศึกษา การอ่านออกเขียนได้ก็ดีขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็ลดลง ชาวนาทุกวันนี้ก็มีรายได้ดีกว่าชาวนาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีคุณภาพชีวิตดีกว่า เกษตรกรใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเกษตร แต่ปัญหาของเราคือความร่ำรวยโดยเปรียบเทียบ เจ้าของทุนยังได้เปรียบอยู่ ถ้าไปดูรายได้ประชาชาติของเรา แบ่งเป็นผลตอบแทนที่ให้กับค่าจ้าง กับผลตอบแทนที่ไม่ใช่ค่าจ้าง ซึ่งคือที่ไปให้กับเจ้าของทุน เป็นกำไร ค่าเช่า หรือดอกเบี้ย จะเห็นชัดเลยว่าตั้งแต่วิกฤติปี 2540 ผลตอบแทนที่ไปเป็นส่วนค่าจ้างมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ผลตอบแทนในส่วนทุนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์มากกว่าคือเจ้าของทุนที่เป็นคนที่เป็นส่วนน้อยของประเทศ ขณะที่แรงงานต้องแบ่งส่วนของค่าจ้างที่มันมีสัดส่วนน้อยลงเรื่อยๆ หลังปี 2540 คนใหญ่ก็ใหญ่ขึ้นๆ เร็วมาก ในขณะที่คนที่ด้อยกว่าไม่สามารถที่จะรวยได้เร็วเท่า จึงเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ประเด็นสำคัญคือรัฐบาลนี้อยากจะทำอะไรระยะยาวๆ บ้างหรือเปล่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ถ้าอยากจะทำ เขาก็ต้องมาเริ่มที่เรื่องภาษีทรัพย์สินก่อน แล้วมันจะช่วยในเรื่องฐานะการคลัง ตอนนี้ภาษีของเราไปอยู่ที่ภาษีรายได้เสียเป็นส่วนใหญ่

ปัญหาอยู่ที่การ Corrupt มากกว่านะ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบไหน สมัยก่อนที่ประเทศคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ก็เพราะว่ามัน Corrupt มีผู้นำเป็น Absolute Power และในที่สุดก็ Corrupt ทั้งนั้น อย่างตอนนี้เราเห็นประเทศจีนก็มีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ลูกหลานผู้นำร่ำรวย ขับรถสปอร์ต ใช้เงินอย่างที่คนสงสัยว่าไปเอาเงินมาจากไหน สิ่งสำคัญคือการสร้างความเท่าเทียมด้านโอกาส

ผมให้ความสำคัญกับเรื่องโอกาสมากกว่าเรื่องรายได้ เมื่อไรก็ตามที่เราไปบอกว่า ทุกคนต้องมีความเท่าเทียมด้านรายได้ ด้านทรัพย์สิน ผมว่าแบบนี้ขัดแย้งกับธรรมชาติของคน และขัดแย้งกับศักยภาพของแต่ละคน เราต้องการระบบที่จะมีส่วนทำให้ชีวิตของคนคนนั้น สังคมที่คนคนนั้นอยู่ดีขึ้น ผมเชื่อในศักยภาพของคน แต่ละคนศักยภาพไม่เท่ากัน จะไปหวังให้ทุกคนมีรายได้เท่ากันได้อย่างไร มีสินทรัพย์เท่ากันได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือโอกาสต่างหาก ทำอย่างไรให้คนมีโอกาสเท่ากัน ให้คนที่อาจเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน เขามีโอกาสสามารถโตขึ้น ก้าวขึ้น ใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่

เรื่องปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นจุดที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางด้านโอกาส ทุกวันนี้ คนรวยสามารถส่งลูกเรียนในโรงเรียนที่มีการสอนระบบความคิด การพัฒนาความคิด ทำให้ศักยภาพของความเป็นคนก้าวหน้ากว่าเด็กทั่วไป ยิ่งไปตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอนาคต พอพวกนี้กลับเข้ามา จะยิ่งทำให้เกิดการแบ่งขั้วชัดเจน สมัยผมเรียนที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ในยุคนั้นเพื่อนในห้องเรียนมีตั้งแต่ลูกเจ้าของแบงก์ ลูกภารโรง ลูกคนที่อยู่ในชุมชนแออัด สมัยที่ผมมาเรียนธรรมศาสตร์ ผมก็ยังไปบ้านเพื่อนในชุมชนแออัด ทำให้เราสามารถเห็นความแตกต่างได้ และแสดงให้เห็นว่าเด็กแต่ละคนยังพอมีโอกาสได้รับความเท่าเทียมกันทางการศึกษา แต่สมัยนี้เด็กที่เกิดมาในครอบครัวดี ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ เด็กถูกหลอมไปในความคิดแบบเดียวกัน มีเพื่อนที่มีความคิดแบบเดียวกัน อยู่ในฐานะสังคมใกล้เคียงกัน เทียบกับเด็กส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ในระบบการศึกษาปกติ ซึ่งอาจไม่ได้รับการพัฒนาที่ดีพอ เป็นปัญหาให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นต่อไปในอนาคต

GM: การตัดสินใจแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก ในสมัยนี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ

ดร. วิรไท : เรื่องนี้คงเป็นความคิดและความเชื่อส่วนตัว ผมไปบวชเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ที่วัดป่าม่วงไข่ ภูเรือ จังหวัดเลย ทำให้คิดว่า อยากมีชีวิตที่ไม่มี Attachment เพิ่มขึ้น ทุก Attachment ทำให้เรามีความทุกข์ ถ้าเราสามารถละ Attachment เหล่านี้ได้ จะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้ชีวิตทุกข์น้อยลง แต่อีกด้านหนึ่ง ก็กำลังกังวลว่าชีวิตการอยู่คนเดียววัยแก่จะเป็นอย่างไร เพื่อนผมหลายคนก็เริ่มมีไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กัน ได้แต่หวังว่าจะเกิดระบบในประเทศไทย ที่จะรองรับเราซึ่งเป็นผู้สูงอายุในอนาคต เดี๋ยวนี้เริ่มเห็นบ้านพักดูแล

คนแก่ ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผมคิดไว้แล้วว่าควรไปใช้ชีวิตวัยเกษียณในต่างจังหวัด เงินเราไปได้ไกลกว่า เพราะค่าครองชีพในต่างจังหวัดถูกกว่า และมีบ้านที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลสักหน่อย

GM: คนเราทำงานเพื่ออะไร

ดร. วิรไท : สำหรับผม งานแบ่งเป็น 2 ประเภท คืองานหาเงิน กับงานที่ทำเพื่อให้ชีวิตตัวเองมีประโยชน์ มีคุณค่า ไม่เสียดายโอกาสของชีวิตที่เกิดขึ้นมา การเกิดขึ้นมาเป็นเรื่องที่ดีมาก ก็แล้วแต่สมดุลของแต่ละคน ที่ผ่านมา ผมเสียเวลาไปเยอะกับการทำงานเพื่อหารายได้ สร้างความมั่นคงด้านการเงิน ใช้เวลากับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น การบริหารจัดการในองค์กรต่างๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าน้ำหนักไม่สมดุลอย่างที่เราอยากให้เป็น อายุเราก็มากขึ้น สิ่งเดียวที่เราไม่เคยมีสมัยที่เป็นผู้บริหาร และไม่สามารถหามาเพิ่มได้อีก

คือเวลา เวลาเราน้อยลงทุกวันๆ ทุกอย่างเราหาใหม่ได้หมดนะ เงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน ปีนี้จึงตัดสินใจ Take a Break สัก 1 ปี เพื่อจัดสมดุลเวลาตัวเองให้ดีขึ้น แต่ยังไม่แน่ใจว่าสมดุลที่คิดไว้จะยั่งยืนหรือเปล่า ถ้าทำงานในองค์กรเพียงอย่างเดียว วันหนึ่งพอเราพ้นองค์กรไป อายุ 55-60 ก็ไม่รู้ว่าชีวิตจะต้องทำอะไรต่อไป นิสัยผมคือชอบทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ความสนใจหลากหลาย ได้ผลตอบแทนทางจิตใจ

GM: งานแบบไหนที่ทำแล้วมีคุณค่า ทำแล้วคุ้มกับที่ได้เกิดมา

ดร. วิรไท : งานที่ไม่ปล่อยโอกาสที่มีให้ว่างไปเฉยๆ  แต่ทำให้ตัวเองมีพัฒนาการก้าวไปข้างหน้า พัฒนาการที่ทำให้ตัวเองมีศักยภาพมากขึ้น ใช้ศักยภาพเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และประโยชน์ของสังคมได้มากขึ้น

GM: ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เวลามองเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นระดับหัวกะทิมาด้วยกัน ถึงตอนนั้นบางคนอาจได้เป็นรัฐมนตรี หรือเป็น

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คุณเสียดายโอกาสไหม

ดร. วิรไท : (หัวเราะ) ไม่ครับ ชีวิตคือเรื่องกายกับใจ อย่างอื่นเป็นเรื่องสมมุติหมด

GM: ความสำเร็จในชีวิตคืออะไร

ดร. วิรไท : คงไม่จำเป็นต้องวัดความสำเร็จในชีวิตด้วยจุดใดจุดหนึ่ง ผมไม่คิดว่าชีวิตต้องมีเป้าหมายอะไรแบบนั้น บางทีเราไปเสียเวลาเยอะกับเป้าหมาย ทำให้เราลืม Process ระหว่างทาง ถ้าเชื่อหลักพุทธศาสนา เชื่อการอยู่กับปัจจุบัน ความเชื่อมต่อกันของเหตุและปัจจัย Process อาจสำคัญมากกว่า Goal สุดท้ายก็ได้ เราควรมีบทบาทอย่างไร ควรใช้ชีวิตอย่างไร ผมถูกสร้างมาเป็นนักวิชาการ ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล จุดมุ่งหมายสำคัญของทุน คือการสร้างนักวิชาการสาขาต่างๆ ให้กับประเทศ ผมพยายามดูว่าในสาขาที่ผมได้โอกาสไปเรียนมา อะไรคือสิ่งที่ควร อะไรคือสิ่งที่ไม่ควร ต้องนำหลักวิชาเหล่านั้นมาทำให้คนเข้าใจ ถ้าไปยึดติดว่าเราต้องมีตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ ถ้าทำงานแบบหวังผล ความอิสระทางวิชาการจะหายไป เพราะมัวแต่ไปคิดถึง Goal สุดท้าย มากกว่า Process ระหว่างทาง ว่าอะไรคือความถูกต้อง

GM: คุณคิดแบบนี้มาตั้งแต่หนุ่มๆ เลยไหม

ดร. วิรไท : ก็สนใจตั้งแต่อยู่ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ให้รากฐานความสนใจเรื่องพวกนี้ไว้เยอะมาก จำได้ตอนเรียนอยู่ท่าพระจันทร์ บริเวณสามแยกหน้าคณะเศรษฐศาสตร์ จะมีบอร์ด มีเรื่องที่เป็น Hot Issue มาแปะไว้ทุกวัน และก็จะเปิดให้ใครมาเขียนแสดงความคิดเห็นได้ ผมได้รับการปลูกฝังจิตวิญญาณแบบนี้มาตั้งแต่สมัยนั้น จากวิธีการสอน และบทความของอาจารย์หลายๆ ท่าน ทำให้มองเรื่องที่ไกลไปกว่าเรื่องของตัวเอง มองสังคม และอีกด้านคือได้จากคุณพ่อ จะทำอะไรก็ตาม ต้องเอาความถูกต้องขึ้นมาก่อนความถูกใจ

GM: วิชาเศรษฐศาสตร์นี่เรียนยากไหมครับ

ดร. วิรไท : สมัยโบราณ เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของสังคมศาสตร์ ประวัติ-ศาสตร์ แต่สมัยหลังมานี้ เศรษฐศาสตร์เริ่มใช้คณิตศาสตร์มากขึ้น และเป็นคณิตศาสตร์ขั้นสูงเลย ตอนไปทำปริญญาเอก ต้องอ่านตำราคณิตศาสตร์เยอะมาก พื้นเราไม่แน่น ก็ต้องไปนั่งเรียนกับพวกที่เรียนคณิตศาสตร์จริงๆ เพื่อพิสูจน์แนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ไปเสียเวลากับคณิตศาสตร์ มากกว่าที่จะเอาเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์กับปัญหาของโลก พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในยุคหลังๆ มานี้ ก็มีคนพูดกันว่ามันเป็นความล้มเหลวของการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์แบบกระแสหลัก เพราะไปเน้นการใช้คณิตศาสตร์ การพิสูจน์โมเดลต่างๆ มากกว่าการเข้าใจเศรษฐศาสตร์ในเชิงพฤติกรรมของคน

ของหน่วยธุรกิจ ที่กระทบกับเศรษฐกิจและสังคมโดยตรง

GM: การใช้คณิตศาสตร์และการใช้โมเดลคำนวณต่างๆ จะช่วยให้เศรษฐศาสตร์มีความเป็นกลางมากกว่าหรือเปล่า ทำให้

นักเศรษฐศาสตร์ปลอดจากคำครหาว่ามีอคติทางการเมือง

ดร. วิรไท : ถึงคณิตศาสตร์จะดูเหมือนเป็นกลาง แต่พวกสูตรโมเดลที่สร้างขึ้นมา ก็ต้องสร้างจากสมมุติฐาน การตั้งสมมุติฐานก็ต้องมาจากตัวคนอยู่ดี ถ้าเรามีสมมุติฐานที่เป็นอคติ โมเดลก็มีอคติ เราจะสามารถบิดเบือนโมเดลเอามาใช้ได้ง่ายมาก เวลาคำนวณความคุ้มค่าของโครงการอะไรสักอย่าง ถ้าเราปรับอัตราดอกเบี้ย อาจเปลี่ยนโครงการนั้น จากที่ไม่คุ้มค่ากลายเป็นคุ้มค่าไปเลยก็ได้ หรือการสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณสามารถจะเลือกเอาตัวแปรอะไรมาใส่ในโมเดล ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน เรื่องสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยโมเดลหรือไม่ แต่อยู่ตรงที่ว่าเราต้องมองความคิดเห็นต่างๆ โดยเอาอคติวางไว้ก่อน ความเป็นพวกเดียวกัน ความเห็นด้วยกัน เอาวางไว้แล้วมานั่งคุยกัน จะใช้หรือไม่ใช้โมเดลก็ได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการใช้วิจารณญาณแบบไม่มีอคติ เวลาจะทำอะไรพยายามเตือนตัวเองว่าทำใจให้เป็นกลางเสียก่อน บทความที่ผมเขียนในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ก็มีคนบอกว่าไม่เป็นกลาง แต่ในทุกวันนี้ มีที่ไหนเป็นกลางบ้าง เราถูกแยกข้างกันหมด นักวิชาการก็ถูกแยกข้างเหมือนกัน คนให้ความสำคัญกับการแบ่งข้างของนักวิชาการมากกว่าสิ่งที่เขาพูด ทำให้กระบวนการตัดสินใจเป็นเรื่องของการแบ่งข้างอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรให้มีการเปลี่ยนวัฒนธรรม

GM: เวลาเขียนหนังสือ คุณสนุกกับมันไหม

ดร. วิรไท : เหมือนได้ผลิตงานศิลปะเลย แต่ผมเขียนน้อยนะ แค่เดือนละครั้งเอง เพราะต้องใช้เวลาคิดเยอะก่อนที่จะเขียน เขียนหนังสือไม่สามารถผลิตออกมาเหมือนโรงงานได้ ใช้เวลาพอสมควร จะเขียนเรื่องอะไรใช้เวลาคิดล่วงหน้าพอสมควร เวลาเขียนจึงจะพรั่งพรูออกมาได้ ที่ตั้งชื่อ เศรษฐศาสตร์พเนจร เพราะผมชอบเดินทาง อยากเอาประเด็นทางเศรษฐกิจที่ได้จากต่างประเทศหรือจากต่างจังหวัดมาเป็นกระจกเงาสะท้อน เลยตั้งชื่อคอลัมน์ว่า เศรษฐศาสตร์พเนจร งานเขียนช่วงแรกๆ จึงเป็นเรื่องต่างประเทศเสียเยอะ

ไปที่ไหนมา ก็เอามาเล่าให้ฟัง วิธีคิด วิธีมอง

อย่างตอนที่ไปแอมะซอน น่าจะเมื่อปี 1992 ตอนนั้นเรียนอยู่ที่อเมริกา ผมไปกับเพื่อน นั่งเรือกัน 7 วัน เข้าไปในป่าตามแม่น้ำแอมะซอน เห็นธรรมชาติที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นกแก้วบินกันเป็นร้อยๆ ตัว อีกทริปหนึ่งคือ ลาดัก อินเดีย มีภูมิประเทศที่แปลกมาก สูง 4,000 กว่าเมตร จนถึง 5,500 เมตร ไปมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นเมืองที่วัฒนธรรมทิเบตยังอยู่ พุทธศาสนาแบบดั้งเดิมยังอยู่ เพราะลาดักอยู่ติดกับอินเดียและทิเบต เห็นศรัทธาของคนซึ่งน่าสนใจมาก ตอนไปอิหร่านก็ชอบมาก ไปแล้วถึงเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงภูมิใจในประวัติศาสตร์ของเขา กล้าที่จะเอามาต่อสู้กับจักรวรรดินิยมตะวันตก ประวัติศาสตร์ของเขายาวนานมาก ผู้คนเป็นมิตรมากเลย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด มีอีกหลายเมืองหลายประเทศที่ประทับใจมากๆ เช่น เยรูซาเลม โอมาน จอร์แดน หรือแม้แต่อินเดีย ซึ่งกลายเป็นไปบ่อยสุดเลยในช่วงหลัง

ผมชอบสังเกตสังคมที่แตกต่างจากเรา เมื่อก่อนสมัยไปทำงานไอเอ็มเอฟ ระหว่างทางจะแวะประเทศที่ไม่เคยไป บางทีไปนั่งดูคน นั่งดูสังคม สิ่งที่ผมสนใจในการท่องเที่ยวมี 2 อย่างคือธรรมชาติกับประวัติศาสตร์ ผมสนใจเรื่องที่มีที่มาที่ไป ไม่ค่อยได้ไปเที่ยวเมืองใหม่ๆ เท่าไร อย่างคนชวนไปนิวยอร์กก็จะเฉยๆ ไม่ค่อยตื่นเต้น แต่ถ้าคนชวนไปเมืองที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ จะสนใจมากกว่า ถ้ามี ภูเขา ทะเล ภูมิประเทศแปลกๆ ชีวิตของผู้คนจริงๆ ตอนที่ไปลาดัก ทำให้เห็นว่าปัญหาชีวิตที่เราเจอในบ้านเรา มันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก พอไปเห็นชีวิตของคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนความสูง 4,000-5,500 เมตร หิมะปกคลุมปีละ 6-7 เดือน ชีวิตเขายากลำบากกว่าเราเยอะ

จริงๆ แล้วเกิดเป็นคนไทยนี่สบายมากนะ ปัญหาที่เราเจอเป็นเรื่องเล็กน้อย สมัยทำงานจะเจอประเทศแปลกๆ เยอะ ที่แย่สุดคงเป็นไลบีเรีย หลังสงครามกลางเมืองที่รบกัน 7-8 ปียุติลง ผมเข้าไปเป็นกลุ่มแรกๆ ของไอเอ็มเอฟ ไปดูว่าเขาจะเริ่มใช้เงินระบบไหน ควรจะพิมพ์เงินของตัวเองขึ้นมาใหม่ไหม เห็นคนผ่านสงครามมา 7-8 ปี ไม่มีความเชื่อมั่นต่อกัน เดินชนกันกลางถนนก็ชกกันเลย มีเสียงด่ากันตลอดเวลา แย่งกันแม้กระทั่งของเล็กๆ น้อยๆ เพราะขาดแคลนขนาดหนัก การเดินทางทำให้ผมเห็นเรื่องราวเหล่านี้ และเกิดความคิดขึ้นมา ว่าคนเรานี่เกิดมาแล้วทำอย่างไรให้มันดีขึ้นในวิสัยที่เราทำได้ ทำอย่างไรให้ชีวิตดีขึ้น สังคมดีขึ้น เป็นการเดินทางที่เข้าใจชีวิตและใช้โอกาสที่ชีวิตมีดีกว่าปล่อยให้อยู่กับที่หรือล่องลอยไป

เรื่องสองมาตรฐานก็เกี่ยวกับการแบ่งเค้ก เพราะคนมองว่าคนกลุ่มนี้ได้เปรียบ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเสียเปรียบ ไม่มีใครพูดว่าทำอย่างไร

ให้เค้กก้อนนี้ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นวิน-วิน ถ้าทำให้เป็นวิน-วินได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

สิ่งที่เราไม่ต้องการเห็นเลย คือการเอาประเทศมาพนันว่าเชื่อผมเถอะประเทศเราจะโชติช่วงชัชวาล เวลาพนันเมื่อไร ก็จะมีอีกข้างหนึ่ง คือความเสี่ยงด้วยเสมอ เราต้องตามมาชดใช้กันถ้าเกิดไม่โชติช่วง-ชัชวาลจริง

เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่เงินฟรีๆ ที่ตกมาจากสวรรค์นะ เป็นเงินที่เราไปก่อหนี้มา อย่าลืมว่าเราต้องผลิตอะไรก็ตาม ที่จะทำรายได้

ให้กับเรา เพื่อจะได้เอาเงินไปคืนชดใช้หนี้ ดอกเบี้ยคิดทุกวัน

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ