fbpx

วีรพร นิติประภา

ขุดไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

deconstructing the labyrinth

จู่ๆ เธอก็โผล่เข้ามาในแวดวงวรรณกรรม พร้อมกับนวนิยายที่ทำให้หลายคนอ่านจบแล้วต้องร้องว้าว! และถามว่า “เธอเป็นใคร”

ว่ากันตามจริง วีรพร นิติประภา ไม่ใช่คนแปลกหน้าของเรา เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน

เธอคือบรรณาธิการของนิตยสารเกย์ในตำนานอย่าง ‘นีออน’ ซึ่งอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันกับนิตยสาร ‘หนุ่มสาว’ ที่ ปกรณ์ พงศ์วราภา ปลุกปั้นมากับมือ และเป็นผู้ชักชวนเธอเข้าสู่วงการ

หลังจากวนเวียนอยู่กับเรื่องราวของชายรักชายจนอิ่มตัว วีรพรออกไปหาความท้าทายใหม่ในสายงานโฆษณา

ซึ่งในภายหลังเธอก็ทนกับงานพร็อพพาแกนดาแบบนั้นไม่ได้ จึงกลับมาดำรงตำแหน่ง ‘คุณนาย บ.ก.’ ให้กับนิตยสารเด็กแนวผู้มาก่อนกาล ซึ่งนั่นถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตของเธอ

จากนั้นมีอันต้องไปทำมาหาเลี้ยงชีพ และเป็นแม่บ้านสมองใส เลี้ยงลูกและเลี้ยงแมวอยู่กับบ้าน ก่อนที่เธอจะนั่งลงใช้เวลา 3 ปี กับงานอดิเรกในการสร้างสรรค์ ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ อันเป็นนวนิยายเรื่องแรก

เสียงตอบรับดีเกินคาดสำหรับผู้เขียนหน้าใหม่ มันป่าวประกาศตัวเองว่าเป็นนวนิยาย ‘น้ำเน่า’ ซึ่งดูทรงแล้ว มันก็น้ำเน่าจริงๆ นั่นแหละ เพียงแต่ถ้าคุณอ่านลงไปมากกว่านั้น คุณก็อาจจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมนวนิยายน้ำเน่าจะต้องพร่ำบอกย้ำๆ ซ้ำๆ ว่าตัวเองเป็นนวนิยายน้ำเน่าขนาดนั้นด้วย

…นวนิยายน้ำเน่า…โฆษณาพร็อพพาแกนดา…มายาคติในวัฒนธรรมร่วมสมัย…และไส้เดือนตาบอดที่กินดิน ขี้ออกมาเป็นดิน กองพอกพูนจนกลายเป็นเขาวงกต ให้ไส้เดือนตาบอดตัวอื่นๆ เข้ามาเดินเตร็ดเตร่วนเวียน

วีรพร นิติประภา ปรากฏตัวที่ออฟฟิศของเรา เธอหันไปทักทายกับคนเก่าคนแก่ในออฟฟิศ GM หลายคน ก่อนจะมานั่งจับเข่าคุยสัมภาษณ์อย่างลึกซึ้ง

ในรูปลักษณ์ที่ชวนให้นึกถึง โรเบิร์ต สมิธ หัวหยิกๆ ฟูๆ แต่งดำทั้งชุด มาดแบบสาวพังค์ร็อครุ่นลายคราม จะถือว่าเป็นบาปกรรมมาก ถ้าหากเธอไม่ใช่แฟนเพลงของวง The Cure ซึ่งต่อเมื่อเธอเล่าว่าเธอไล่ล่าอัลบั้มของ The Cure จากร้าน Tower Records สมัยที่มาเปิดในบ้านเราใหม่ๆ จนครบเซต เราจึงค่อยรู้สึกโล่งใจ

สาวพังค์ร็อค อดีตบรรณาธิการนิตยสารเกย์ นิตยสารเด็กแนว นักโฆษณา แม่ของเด็กหนุ่มและแมว ผู้เขียนนวนิยายน้ำเน่าร้าวราน

ซึ่งเดินเรื่องด้วยรายละเอียดอันท่วมท้นของเพลงคลาสสิก ดอกไม้นานาพรรณ อาหารนานาชาติ ผู้ที่จะมาเผยความจริง ว่าโลกนี้ก็แค่มายาคติ  ทั้งหมดนี้เป็นเลเยอร์ที่ซ้อนทับกันอยู่หลายต่อหลายชั้น อันเปรียบเสมือนเขาวงกตของเธอที่เชื้อเชิญให้เราเข้าไปขุดหาไส้เดือนด้วยกัน

“เราทุกคนก็มีเขาวงกตที่เราอยากอยู่ เราก็ขุดของเราเอง แล้วเราก็แฮปปี้ที่จะอยู่ในนั้นของเราไป”

GM: อ่านหนังสือของคุณแล้วรู้สึกว่ามันสนุกแบบน้ำเน่าจนวางไม่ลงเลย คุณต้องการจะสื่อสารอะไรกันแน่

วีรพร : คุณกำลังอ่านเรื่องของคนที่ค่อยๆ สูญเสียตัวเองไปในระหว่างทาง แต่ละคนก็สูญเสียตัวเองไปในแต่ละทาง เรื่องราวของทุกคนจะวิ่งมุ่งตรงไปทางเดียว ลุงออกตามหาผ้าบ้าบอ ชารียาซึ่งนั่งอยู่ในสวนของตัวเอง ส่วนปราณ ในที่สุดแล้ว “มึงอยากให้กูลืมใช่มั้ย? โอเค! กูจะลืมละนะ” มันคือแต่ละคนกำลังจะหลงทางเข้าไปในสิ่งที่ตัวเองชอบ เมื่ออ่านไปก็จะเกิดความสะเทือนใจสั่งสมมาเรื่อยๆ แหม่มเขียนหนังสือค่อนข้าง Single-minded คือมุ่งไปสู่ประเด็นเดียว แต่พยายามให้มีหลายเลเยอร์ ทบซ้อนๆ กันอยู่ ในแง่มุมต่างๆ แล้วก็มีความรักเป็นตัวดึงเรื่อง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เล่าเรื่องความรัก เล่าเรื่องความขัดแย้ง

เรื่องนี้จริงๆ จะบอกว่ามันไม่ได้รวดร้าวอะไรมากเลย จริงๆ จบแฮปปี้เอนดิ้งเสียด้วยซ้ำ แฮปปี้กันทุกคนเลยนะ แต่ว่าด้วยวิธีการเขียน นักเขียนก็จะซ่อนอะไรพวกนี้ไว้ เพราะว่านี่เป็นหนังสือที่ว่าด้วยมายาคติไงล่ะ   ฉะนั้นพวกคุณก็จะถูกดึงให้มารู้สึกอย่างนี้ ในโครงเรื่องความรักน้ำเน่าแบบนี้ อยากเศร้านักใช่มั้ย โอเค เดี๋ยวจะทำให้ดู ว่าคุณจะเศร้าได้แค่ไหน ไอเดียคล้ายๆ กับการไปดูไททานิก คือเราทุกคนจะร้องไห้เป็นบ้าเป็นหลัง แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับเรื่องพรรค์นี้ เพราะเรามีมายาคติอยู่ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่ามีฉากหนึ่งในหนังเรื่องหนึ่ง เก้าอี้วางอยู่หนึ่งตัว มีผ้าพันคอพาดอยู่ แสงสาดเข้ามาเป็นทาง ทันทีที่คุณเห็นฉากนี้ คุณจะรู้สึกเหงา คุณเห็นกี่ครั้งๆ ในหนังกี่เรื่อง คุณก็จะรู้สึกเหงา มันเป็นภาษาของการสื่อสาร เหมือนกับการพร็อพพาแกนดาในวงการโฆษณา

ถ้าคุณลองกลับไปอ่านมันอีกครั้งหนึ่งนะ จะบอกให้ว่า แท้จริงแล้วในเรื่องนี้พระเอกคือนทีนะคะ แต่บอกให้ตายยังไงคุณก็ไม่เชื่อ ทั้งที่ผู้เขียนบอกเลยว่านทีคือพระเอกนะ เราให้เขาพูดด้วยเสียงทุ้มนุ่ม และเขาทำทุกอย่างที่พระเอกควรจะทำ คือดูแลนางเอกอย่างดี และจะบอกคุณอีก ว่าแท้จริงแล้วนางเอกคือชลิกาค่ะ ต่อให้บอกล้านหนว่าเธอเป็นนางเอก คุณก็บอกว่าไม่ใช่อีก เพราะคุณจะพุ่งไปที่ชารียา แต่เปล่าเลย ชารียาเนี่ยคือตัวร้ายนะ คำถามคือทำไมคุณไม่เห็น? คำตอบคือคุณไม่เห็นเพราะว่าคุณไม่อยากเห็น เพราะว่าด้วยวิธีการเขียนที่นักเขียนให้พื้นที่กับชารียาเยอะมาก จนคนอ่านรู้สึกว่านี่คือตัวเอก ซึ่งมันไม่มัน นี่เป็นอีกตัวอย่างของมายาคติ

GM: แฟนหนังสือของคุณหลายคน สนใจอยากรู้ว่าคุณคือใคร ทำไมจู่ๆ จึงโผล่มาเขียนหนังสือเล่มนี้

วีรพร : ก็ไปทำมาหากินอย่างอื่นที่ได้เงินเยอะกว่าเขียนหนังสือไง (หัวเราะ) คือ จริงๆ แล้วเราชอบเขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สมัยเด็กนักเรียนใส่เสื้อคอซองด้วยซ้ำ ต่อมาก็เขียนเรื่องสั้นส่งมาที่นิตยสารหนุ่มสาว มาขอรับเงินกับคุณปกรณ์ (พงศ์วราภา) แล้วพอเรียนจบมา ก็เคยทำงานกับคุณปกรณ์อยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นก็เปลี่ยนไปทำงานในวงการโฆษณา ทำโน่นทำนี่ แล้วก็แต่งงาน มีลูก แล้วทำอย่างอื่นเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่ก็คิดอยู่ในใจเสมอมาว่าอยากเขียนหนังสือ จนกระทั่งลูกโตเป็นหนุ่ม เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เราก็มีเวลามากพอจะมานั่งทำงานเขียนหนังสือสมใจ

GM: คุณเรียนจบทางด้านการตีความวรรณกรรม สัญวิทยา หรืออะไรทำนองนั้นมาเหรอ

วีรพร : เปล่าค่ะ แหม่มจบเลขานุการ แต่ว่าเพราะชอบอ่านหนังสือด้วยมั้ง และในเวลาหลายๆ ปีที่ทำโฆษณามา ก็ได้มองเห็นกลวิธีอะไรพวกนี้เยอะ เข้าไปยุ่งกับการถ่ายหนังด้วย เพราะเป็นคนชอบดูหนัง ถ้าคุณดูหนังอาร์ตๆ ประมาณพวก ไมเคิล ฮาเนเก้ อะไรแบบนั้น ก็จะเห็นถึงสัญลักษณ์เพียบ เพียบขนาดที่คุณเดินออกมาจากโรงแล้วงงๆ ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จะดูมันทำไม อย่างเรื่อง The White Ribbon (2009) ชอบมากที่สุด ดูไปก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่ารำคาญมาก คือดูไม่รู้เรื่อง เรื่องมันปะติดปะต่อไปเรื่อยๆ แต่เลิกดูไม่ได้ เพราะเราถูกเขาถูลากไปจนจบเรื่อง โดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรอยู่ดี

ในหนังสือเล่มนี้ก็ใช้กลวิธีคล้ายกับหนังอาร์ตพวกนั้น คุณจะเห็นว่าเริ่มต้นด้วยการแฟลชแบคเลย กว่าจะเข้าเรื่องจริงๆ ก็ปาเข้าไปบทที่ห้า เล่นกันอย่างนั้นเลย กลับดำเป็นขาว กลับขาวเป็นดำ แต่คุณอ่านไปโดยไม่รู้สึกอะไร ซึ่งจริงๆ แล้ว ในฐานะคนเขียน ก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนจะอ่านแล้วตีความได้ตรงกับความตั้งใจของเราทุกคน เราก็ทำงานเขียนไป ตั้งใจว่าจะวางเลเยอร์หนาๆ เขียนถึงนวนิยายรักธรรมดาๆ ถ้ามันมีเลเยอร์ที่หนาพอ ก็เชื่อว่ามันจะเป็นนวนิยายที่ดีขึ้นมาได้ ส่วนคนอ่านคนไหนจะเสพในระดับไหนก็เสพไป

GM: จริงๆ แล้ว ไมเคิล ฮาเนเก้ อาจจะแค่ทำหนังออกมามั่วๆ ก็ได้ แล้วเราก็ตีความกันไปเอง

วีรพร : อันนี้ก็แล้วแต่นะ อย่างเมื่อคืนก่อน ก็เพิ่งมีคนเปิดประเด็นพูดคุยถึงหนังสือเล่มนี้กันในเฟซบุ๊ค มีบางคนเอาไปเทียบกับอินาร์ริตูร์ (Alejandro González Iñárritu) อาจจะเป็นเพราะเล่าเรื่องคล้ายๆ กัน คือเล่าถึงตัวละครแต่ละตัวๆ แบ่งแยกกัน แล้วในที่สุดก็มาเกี่ยวข้องกัน อย่าง 21 Grams (2003) ซึ่งถ้ามาถามเรื่องนี้ แหม่มก็จะบอกว่าโคตรเกลียดไอ้หมอนี่เลย ทำ Babel (2006) ได้น่าเบื่อมาก แต่ชอบ 21 Grams นิดหน่อย ซึ่งก็เพิ่งได้มาดู 21 Grams เมื่อเร็วๆ นี้เอง หลังจากเขียนหนังสือเสร็จไปแล้วด้วยซ้ำ ถ้าจะอธิบายลักษณะการเล่าเรื่อง น่าจะได้จากเฌอเนต์ (Jean-Pierre Jeunet) มากกว่า คือคนที่ทำ A Very Long Engagement (2004) เขาก็เล่าเรื่องกระจัดกระจาย แล้วก็ชอบคนนี้มากกว่าอินาร์ริตูร์เยอะ อีกอย่างที่คิดว่าแตกต่างจากอินาร์ริตูร์ คือการเดินเรื่องเร็ว หนังสือเรื่องนี้คนแก่อ่านไม่ได้นะ คนแก่บ่นกันเลยละ มันค่อนข้างจะเร่งสปีดกว่าหนังสือทั่วๆ ไป

GM: คุณเขียนไว้ว่าเราเป็นไส้เดือนที่กินดินแล้วก็ขี้ออกมาเป็นดิน เปรียบเหมือนกับการดูหนังเหล่านี้ แล้วก็ขี้ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ใช่ไหม

วีรพร : (หัวเราะ) แน่นอน หนังก็เป็นส่วนหนึ่ง เราต่างก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันทุกคน คุณ แหม่ม เราทุกคนมีส่วนร่วมกันอยู่ จริงๆ แล้วเราทุกคนก็มีเขาวงกตที่เราอยากอยู่ เราก็ขุดของเราเอง แล้วเราก็แฮปปี้ที่จะอยู่ในนั้นของเราไป ตามท้องเรื่องเซตไว้ในช่วงทศวรรษ 1990 ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่านั่นเป็นเขาวงกตของชีวิตตัวเอง มันคือจุดเริ่มต้นของโลกาภิวัตน์ สมัยนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ค แต่เชื่อว่า ณ รอยต่อของยุค 90s …อันนี้ขอพูดความหลังด้วยภาษาคนแก่หน่อยนะ คือมันเป็นช่วงที่ทุกอย่างไหลบ่าเข้ามา จู่ๆ คุณก็เห็นร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารแขก ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มี เราไม่มีแบรนด์นอกเข้า เราไม่มีอะไรจนกระทั่งปี 1990 แล้วก็มีอินเตอร์เน็ตเข้ามา ดูเหมือนว่าโลกก็ยุบเข้าหากัน และในที่สุดแล้ว เราทุกคนก็หลงไปในอินฟอร์เมชั่นตั้งแต่ตอนนั้น

GM: ทศวรรษ 1990 สำคัญอย่างไรกับปัจจุบันของเรา และที่คุณบอกว่ามันเป็นเขาวงกตในชีวิตของคุณ หมายความว่าอย่างไร

วีรพร : อาจจะเป็นเพราะตอนนั้นยังสาวอยู่ (หัวเราะ) ก่อนหน้านั้น แหม่มใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตกับการตัดแปะอาร์ตเวิร์กหนังสือ พวกคุณเกิดไม่ทันใช่ไหม สมัยที่เราต้องพิมพ์ออกมา แล้วตัดกระดาษแปะเป็นอาร์ตเวิร์ก แต่แล้วจู่ๆ เราก็ได้เห็นเครื่องคอมพิวเตอร์ครั้งแรก จู่ๆ เราก็มีร้านเทปใหญ่โตอย่างทาวเวอร์ เรคคอร์ด ฟีลลิ่งแรกคือ เฮ้ย! เราเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในโลกใบนี้นี่นา แล้วช่วงนั้นเพลงก็ดีๆ ทั้งนั้น แหม่มเป็นคนฟังร็อค อยู่ๆ เราก็มี Suede เรามี The Cure มี Depeche Mode มีวงบ้าอะไรไม่รู้ บรรเจิดทั้งนั้นเลย ณ ช่วงนั้นดูเหมือนทั้งโลกกำลังปรับตัวพร้อมๆ กัน แล้วก็เชื่อมคอนเนคกัน

ในขณะที่ก่อนหน้านั้น ในช่วงทศวรรษ 1980 ทุกอย่างมันยังไม่มีอะไรแบบนี้มาก่อนเลย ณ จุดนั้นของกาลเวลา คือหมายถึงยุค 90s มันได้เตรียมพร้อมให้เรารับมือกับสภาพในทุกวันนี้ เราไม่รู้หรอกว่า ในวันนี้จะมาเจออินสตาแกรม เจอเฟซบุ๊ค หรือไลน์ เราทนกับอะไรพวกนี้ได้อย่างไร อินฟอร์เมชั่นจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามาหาทั้งวัน ไม่เคยคิด ว่าวันหนึ่งทาวเวอร์ เรคคอร์ดจะถูกฆ่าตายอนาถขนาดนั้น หลังจากยูทูบมา มันโค่นทุกอย่าง ทศวรรษ 1990 โลกมีเงิน เทียบกับยุค 80s เป็นยุคที่โลกเรายังไม่มีเงิน เพราะว่าอเมริกาเพิ่งเสร็จจากสงครามเวียดนาม มันมีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกันอยู่ จนกระทั่งมาถึงยุคสหัสวรรษ ปี 2000 ดิฉันคิดว่าโลกก็ซบเซาลงมา

GM: แล้วในยุค 80s ตอนที่คุณเริ่มมาทำนิตยสาร ตอนนั้นไม่มีอะไรน่าจดจำเลยเหรอ

วีรพร : ตอนนั้นก็หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเดทผู้ชายค่ะ (หัวเราะ) ยุคนั้นนิตยสารหนุ่มสาว เป็นเวทีสำหรับเรื่องสั้นที่ดีที่สุด ในท่ามกลางหมู่ ‘นม’ กลับมีเรื่องสั้นฉลาดๆ คุณปกรณ์ก็ถามว่าอยากทำหนังสือไหม แหม่มก็ถาม หนังสืออะไรเหรอ แกก็ตอบว่าหนังสือเกย์ แหม่มคิดว่าในยุคนั้น ความเป็นไลฟ์สไตล์แบบเกย์ยังไม่เข้มแข็งพอ ทั้งที่จริงแล้วเรื่องความเป็นเกย์ เป็นเรื่องของเพศสภาพ แต่ในยุคนั้นพอพูดถึงนิตยสารเกย์ปุ๊บ มันก็จะตีว่าเป็นหนังสือเรื่องเพศไปเลย แหม่มทำได้ 2 ปีก็คิดว่าไม่มีอะไรให้ทำมากไปกว่านี้ ก็ไปทำงานในวงการโฆษณาช่วงรุ่งๆ รู้สึกสนุกสนานพอสมควร ประมาณปี 1985-1986 ได้มั้ง ทำไปได้สักพักหนึ่งเราก็ออกมาเปิดบริษัทโฆษณาเอง คือกร่างมาก นึกว่าเก่งแล้ว ปรากฏว่าเจอลูกค้าเป็นบริษัทกะปิ น้ำปลา คุณเอ๊ย! มันไม่เก๋แล้วไง ชีวิตก็ต้องเผชิญกับตรงนั้นไป

แล้วก็กลับมาสู่วงการนิตยสารอีกครั้ง ทำนิตยสารชื่อ Extreme เกี่ยวกับ Youth Culture เป็นหนังสือร็อคเลยละ มีแฟชั่นข้างในเล่ม เราตั้งใจทำให้เหมือน The Face ผสม ID พอออกมาได้ 2 เล่ม นายทุนยุบเลย นั่นน่าจะปี 1990 แล้ว หลังจากนั้นก็ไปทำนิตยสารอีกเล่มชื่อ Hyper เป็นหนังสือขนาดแท็บลอยด์ ไซส์ใหญ่เลยละ หนังสือสวยเชียว เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะได้กล่อง ก็มั่นใจว่าพวกเราร้ายกาจมากในแง่แฟชั่น ซึ่งเป็นสตรีทแฟชั่น ไม่ได้เป็นแบรนด์เนมแฟชั่น ซึ่งนั่นก็กลายเป็นจุดบอดของมันเอง คือทำให้มันไม่มีแอด ทำ Hyper อยู่ได้ 2 ปี พอหนังสือปิดตัวก็กลับไปทำโฆษณาอีกสักพัก แล้วก็ออกมาทำสร้อยขาย เพราะว่าทนงานโฆษณาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว อาจจะด้วยในใจลึกๆ ไม่ชอบการโฆษณาเลยก็ได้ มองเห็นว่ามันพร็อพพาแกนดา โฆษณาทำให้คุณอยากได้สิ่งที่คุณไม่อยากได้ แต่ประเด็นมันไม่ได้อยู่แค่นั้นหรอกนะ ประเด็นมันกลายเป็นว่า ในที่สุดแล้วคุณไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ว่าจริงๆ แล้วคุณอยากได้อะไร หรือคุณคือใคร ซึ่งอันนี้เลวร้ายมากนะ เราไม่สามารถเชื่อมโยงกับอะไรได้อีกแล้ว

ในหนังสือใช้ช่วงเวลาทศวรรษ 1990 เพราะเรายังเชื่อมโยงกันและกันได้อยู่ พวกเราเชื่อมกับชนบทที่เงียบๆ ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเซตเวลาตามท้องเรื่องไว้หลังปี 2000 จะสูญเสียภาพชนบทไป เพราะว่าตอนนี้มันไม่มีชนบทอีกแล้ว ริมน้ำนครชัยศรีตอนนี้มีแต่สวนอาหารเต็มไปหมด ตลอดระยะเวลาที่พวกเราเติบโตขึ้น จะมีความผูกพัน มีอดีต มีเรื่องเล่า แต่พอถึงจุดหนึ่ง คุณก็จะสูญเสียเรื่องเล่าเหล่านี้ไป ลองนึกดูสิ เมื่อก่อนเราเคยคุยกันเรื่องอะไร เรื่องละครเมื่อคืน แต่เดี๋ยวนี้เราคุยกันไม่ได้ ไม่มีเรื่องอะไรที่เราเชื่อมโยงกันแบบนั้นอีกแล้ว แถมยังมีเรื่องการเมือง คุณเหลืองใช่มั้ย ฉันแดง เอาสากกะเบือเขวี้ยงก่อนแล้วค่อยเคลียร์ มันเป็นเรื่องที่เราถูกพร็อพพาแกนดาปั่นขึ้นมา จริงๆ แล้วเราไม่ได้เกลียดกันมากขนาดนั้น

GM: หลังสหัสวรรษเป็นต้นมา พวกเรายังเหลือรากฐานอะไรร่วมกันอยู่ไหม และเราจะย้อนกลับไปหารากฐานเหล่านั้นได้อย่างไร

วีรพร : เข้าใจว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์เรายังแชร์รากฐานบางอย่างด้วยกันอยู่

ด้วยเหตุฉะนี้ก็ยืนยันว่าความขัดแย้งทางการเมือง เป็นแค่เรื่องของความสุดโต่ง มายาคติ และพร็อพพาแกนดา สิ่งที่ยังเหลือเป็นรากฐานร่วมกันอย่างเช่น  เราชอบกินอะไรเหมือนกัน สังเกตว่าในหนังสือเล่มนี้ เรารู้สึกว่าพระเอกนางเอกรักกันจังเลย แต่วันๆ พวกมันไม่ทำอะไรเลย มันกินๆ มันเดินๆ แล้วก็มานั่งแหมะ ฟังเพลง นอน กิน เล่นกับแมว แท้จริงแล้วเรามีพื้นฐานร่วมกันแบบนั้น เราเคยอยู่ด้วยกันโดยไม่เรียกร้องกัน ฉากรักยังไม่ค่อยอยากเขียนลงไปในหนังสือเลย เพราะมันจะกลบกิจกรรมง่ายๆ เหล่านี้ไปหมด จนกระทั่งเราถูกผลักดันโดยอะไรก็แล้วแต่ ให้ไม่เหลืออะไรที่ร่วมกันได้อีกแล้ว

ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองตอนนี้คลี่คลายลง สาบานได้เลยว่ามันต้องคลี่คลายแน่ๆ อีกห้าปี สิบปี มันไม่มีทางเป็นแบบนี้ไปตลอด เมื่อถึงเวลานั้น คุณก็จะกลับมาอยู่ในสภาพที่มีรอยแผลเป็นจากกันและกัน แล้วก็จะกลับมาอยู่ร่วมกันบนรากฐานเหล่านี้เหมือนเดิม เพราะเรื่องนี้มันไม่เคยเป็นสงครามของเรา ทั้งหมดที่เราเผชิญอยู่จริงๆ ก็คือปัญหาปากท้อง ส่วนเรื่องอื่นๆ มันมีเลเยอร์เยอะเกินไป ซับซ้อนเกินไป จนไม่มีทางมองเห็นเลยว่ามีคอนสปายเรซีอะไรบ้าง แล้วมันจะหยุดได้อย่างไร ถ้าคิดแบบนักโฆษณา เราก็คงต้องกลับไปถึงรากฐานแรกสุด เหมือนกับการย้อนกลับไปอ่านหนังสือเล่มนี้อีกรอบ ลองนึกดูดีๆ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งโตในตู้ปลา แล้วเธอจะอยากได้อะไร เธอก็คงอยากนับญาติกับแมวหนึ่งตัว อยากมีผู้ชายแบบนทีหนึ่งคน ลองค่อยๆ ย้อนกลับไปแต่ละเลเยอร์ ตามหาเบสิกสำคัญๆ แก่นสารที่สำคัญ สิ่งที่เป็นรากฐานที่สุดในชีวิตของคุณ

GM: นวนิยาย นิตยสาร และงานโฆษณา ในสมัยนี้ มีเลเยอร์มากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้นหรือเปล่า

วีรพร : โฆษณานี่ไม่ได้ตามมาสักสิบปีแล้วมั้ง แทบจะพูดอะไรไม่ได้ ส่วนนิตยสาร ในยุคก่อนนั้นมันมีไม่กี่หัวเอง แล้วก็โชคดีว่าโตมาในยุคของนิตยสารลลนา ซึ่งสอนมาอย่างหนึ่งว่า ในทุกๆ อย่าง มันมีภาษาของมันเอง ลลนามีภาษาของตัวเอง มีหางเสียงของตัวเอง ตอนนี้เท่าที่อ่านอยู่ ก็รู้สึกว่ามีแค่พลอยแกมเพชรเท่านั้นมั้ง ที่ยังมีหางเสียงของตัวเองอยู่   นิตยสารอื่นๆ ไม่มีหางเสียงแล้ว ลลนาจะเป็นผู้หญิงที่มีหางเสียงแบบอาร์ตๆ หน่อย เป็นผู้หญิงห้วนๆ เก๋ๆ แต่ก็นุ่มนวล เพราะว่าบรรณาธิการคือ สุวรรณี สุคนธา บรรณาธิการมีน้ำเสียงอย่างไร นิตยสารก็จะเป็นแบบนั้น มันเป็นกลุ่มของคำ มันเป็นวิธีการเรียงประโยค มันเป็นหลายๆ อย่าง เราก็อธิบายไม่ถูก

GM: หางเสียงของนิตยสารมีความจำเป็นแค่ไหน

วีรพร : ไม่จำเป็นเท่าไรหรอกค่ะ เพียงแต่ว่ามันแสดงให้เห็นว่าเราดีลกับผู้อ่านคนใด กลุ่มใด มันเป็นเซกเมนเทชั่นมากกว่า ในยุคก่อนนั้น เป็นยุคที่ไม่ใช่ ‘ของสิ่งหนึ่งสำหรับทุกคน’  แต่พอมายุคนี้ คิดว่าสิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่นี้ ก็คือของ ‘ของสิ่งหนึ่งสำหรับทุกคน’  สมัยนี้ทุกอย่างดูดีหมดเลย มีดีไซน์หมดเลย แต่ว่าเป็นดีไซน์กลางๆ สำหรับทุกคน มันเป็นการดีลกับทุกคน จึงไม่มีหางเสียงเฉพาะ เวลาที่อ่านลลนาหรือพลอยแกมเพชร คุณจะรู้สึกว่าเขากำลังคุยเฉพาะกับคุณ ตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มทำหนังสือ ก็ไม่รู้หรอกว่าบรรณาธิการเขาทำได้อย่างไร ที่แน่ๆ คือมันไม่ใช่แค่การรีไรต์ แต่ว่าคือการที่เขาสามารถสร้างระบบคิดขึ้นมาในหมู่กองบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ ซึ่งก็มีทั้งคนนอก คนใน เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้แหละ ทั้งหมดจะไปในทางเดียวกัน พอเป็นแบบนี้แล้ว ถ้าคุณชอบ คุณก็จะชอบไปเลย แต่ถ้าไม่ชอบ ก็ไม่ชอบไปเลยเหมือนกัน

GM: เหมือนหนังแต่ละเรื่อง เพลงของแต่ละวง หนังสือของแต่ละคนเขียน จะสื่อสารกับคนเฉพาะกลุ่มของเขา

วีรพร : ใช่ แต่ว่าหลังๆ มานี้ ในที่สุดแล้วเราก็มาถึงยุคที่ทุกอย่างสำหรับทุกคน หนังสือก็ไม่มีหางเสียง ดนตรีก็ไม่มีหางเสียง คุณแทบไม่เจอวงที่ ‘เฮ้ย! นี่วงอะไรวะ’ ไม่ได้ร้องว้าว! อย่างนี้นานมากแล้ว เดี๋ยวนี้เวลาฟังเพลงจะรู้สึกว่า วงอะไรก็ช่างเถอะ มันเหมือนกันอยู่ดี ยังจำได้เลย วันที่ไปเจอ The Cure ชุด Disintegration วันนั้นไม่ต้องทำงานทำการกันแล้ว โดดงานนอนฟังอยู่บ้านเป็นวันๆ ฟีลลิ่งแบบนี้ที่มันหายไป เราจะเรียกมันว่าออริจินัลก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเพลงสมัยนี้ไม่มีอะไรดีเลยนะ เพราะเดี๋ยวนี้คุณไม่เจอวงเหียกๆ แล้ว เพราะวงเหียกๆ ไม่สามารถโผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้ เพียงแต่ว่าคุณก็ไม่เจออะไรที่พีคๆ ยุค 90s ทุกอย่างที่มันใหม่ บรรเจิด และก็เยอะ

GM: ถ้าอยากจะมีหางเสียงในงานบ้าง เราจะตามหาหางเสียงของตัวเองได้อย่างไร

วีรพร : เพราะคุณไม่ได้เกิดยุคพังค์ แบบพวก Sex Pistols ในยุคพังค์ ทุกคนมีหางเสียงหมดเลย  โคตรเฝือเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นโลกเรามีทุกอย่างที่โคตรจะมีหางเสียง เพราะว่าต้นทุนของการทำอะไรต่อมิอะไรยังไม่แพงมาก        ไม่แพงจนคุณต้องทำอะไรจำนวนมากๆ เพื่อคนหมู่มาก   คุณไม่จำเป็นต้องทำโทรศัพท์หนึ่งเครื่องออกมาสำหรับทุกคน   คุณสามารถทำโทรศัพท์สำหรับวีรพรและผองเพื่อนของหล่อน ทำแค่นี้คุณก็อยู่รอดได้ แต่พอเวลาผ่านไป ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นๆ ในที่สุด คุณก็ต้องหันมาหามาร์เก็ตติ้ง มีโจทย์ว่าต้องขายได้ 30 ล้านเครื่อง ทีนี้พอต้องทำ 30 ล้านเครื่อง คำถามคือคุณจะทำอะไรตามใจได้อีกไหม คำตอบคือไม่ได้แล้ว คุณต้องทำกลางๆ ทุกอย่างปานกลาง สวยแต่ไม่สวยเกิน บางแต่ไม่บางเกิน หนักแต่ไม่หนักเกิน นี่คือสิ่งที่ทำให้หางเสียงของคุณสูญหายไปในที่สุด

GM: แล้ววงการวรรณกรรมล่ะ คุณได้รับอิทธิพลมาจากใคร มีคนบอกว่านวนิยายของคุณมีกลิ่นมูราคามิด้วย

วีรพร : เกลียดมูราคามิค่ะ ได้ยินคนพูดแบบนี้มาสองสามคนแล้ว เพราะว่ามันมีตัวละครที่แหว่งวิ่น แล้วก็หมกมุ่น หลงใหลกับอะไรบางอย่าง การเดินทางตามหาไม่จบไม่สิ้น คือจริงๆ เข้าใจว่าคนเขาพยายามเปรียบเทียบเพราะว่าเป็นหน้าใหม่ ในความเป็นจริงแล้ว มูราคามิกับแหม่มก็คงต้องฟังเพลงเดียวกันมาบ้างแหละนะ จึงคงมีอะไรคล้ายกันอยู่บ้าง มันแล้วแต่บริบทที่เราจะใช้ด้วย

เรื่องที่จะเล่า เผอิญเรื่องนี้มันต้องใช้ตัวละครแบบนี้ ก็ไปรีเฟล็กซ์ตัวละครของมูราคามิออกมา แต่ไม่ได้ชอบเขา แหม่มว่าเขาน่าเบื่อออก เทียบกับอีกคนที่เขียนหนังสือได้น่าเบื่อมาก แต่อ่านแล้วกลับชอบ คือ มิลาน คุนเดอรา มีความรู้สึกว่าตัวละครของมูราคามิมันคล้ายๆ กันไปหมดทุกเรื่อง คือคุณอ่านจบไปเล่มหนึ่งแล้ว ก็ไม่ต้องอ่านเล่มอื่นอีกแล้ว พูดแบบนี้ใจร้ายกับเขามากเกินไปหรือเปล่า เพียงแต่ว่าขี้เกียจอ่าน ไปอ่านคนอื่นดีกว่า

GM: แต่เดาว่าคุณน่าจะได้จาก กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เยอะเหมือนกัน

วีรพร : ของมาร์เกซต้องได้อยู่แล้ว เพราะเขาเป็นคนโปรด ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ นี่อ่านหลายรอบ จึงไม่ปฏิเสธว่ามันไม่มีส่วน แต่งานของแหม่มคงจัดได้แค่ Impressionism ไม่ถึงกับเป็น Magical Realism แบบมาร์เกซ ตอนเขียนก็พยายามคุมน้ำหนักให้การบรรยายที่มหัศจรรย์หรือเหนือจริง มันอยู่แค่การแสดงอารมณ์ เช่น เพลงเพราะจนดอกไม้บาน แต่สำหรับของมาร์เกซ ทุกอย่างที่เหนือจริงขึ้นมานั้น ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อแสดงอารมณ์ แต่ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อเรื่องราว อ่านไปดีๆ คุณก็จะรู้ว่าต้นไม้บนผนังของชารียาไม่มีอยู่หรอก หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนกำแพงวัดสุทัศน์ก็ไม่มีอยู่ มันเป็นแค่ความมหัศจรรย์ระหว่างคนสองคน

เรื่องนี้เป็นนวนิยายที่ใช้คำว่ารักน้อยมาก การแสดงความรู้สึกผ่านคำอธิบายด้วยประโยคยาวๆ ระหว่างสองคนนอนมองกำแพง แล้วเห็นปลาวาฬถล่มเรือด้วยกัน ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ว่างั้นเถอะ คือสิ่งที่คู่รักเท่านั้นที่จะเห็น ฉะนั้นมันใช้แค่อธิบายความรู้สึกเท่านั้น ถ้าเป็น Magical Realism มันจะต้องส่งผลต่อเรื่องด้วย นักเขียนรุ่นใหม่ๆ อายุต่ำกว่า 30 เขียนหนังสือเป็น Magical Realism หมดแหละ คือเขาจะไม่เขียนกันระนาบเดียวแล้ว จะต้องมีอะไรเหนือจริงโผล่ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ส่วนหนังฮอลลีวูดนี่ไม่ต้องพูดถึงมันเหนือจริงทุกด้านจริงๆ อีกเหตุผลหนึ่งที่เอาแนวทางมาใช้ก็คือ ถ้าคุณเขียนหนังสือเรียบๆ คงไม่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ดูหนังฮอลลีวูดแล้ว พวกงานเขียนรุ่นใหม่ๆ ก็เลยจะเป็นอย่างนี้หมด

GM: อย่างเพลงคลาสสิกซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่องนี้ มาจากตัวคุณหรือเปล่า

วีรพร : เป็นของใกล้ตัว เพื่อที่จะไม่ยากต่อการแฮนเดิลตัวละคร แต่ถ้าถามว่ามันเป็นตัวตนของคนเขียนมั้ย มันไม่เป็นขนาดนั้น เพราะว่าพอเปลี่ยนเรื่อง ก็คงไม่ใส่เพลงคลาสสิกเข้าไปแบบนี้แล้ว ไม่เหมือนนักเขียนบางคน ที่เขาจะมีสไตล์เพลงประกอบของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างมูราคามิ ก็จะมีเพลงแจ๊สในเกือบทุกเรื่อง แต่เขามี 1-2 เพลงต่อเรื่อง เพื่อที่จะดึงมู้ดหรืออะไรสักอย่าง แต่ว่าที่เราเลือกเพลงคลาสสิกเพราะว่าสังคมตัดสินกันแล้วว่า มันสุดยอด ดีเลิศ

ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณหมกมุ่นกับมันมากเกินไป แล้วมันจะมีผลดีกับชีวิตคุณ ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้เป็นมายาคติ ที่พยายามจะบอกก็คือ คุณกำลังนั่งใช้ชีวิตที่เป็นความทุกข์ของบีโธเฟ่น เป็นความขมขื่นของบราห์ม คุณไม่ได้ใช้ชีวิตของคุณเอง คุณเสพสิ่งเหล่านี้จากคนที่ตายไปแล้วสองร้อยปี คุณใช้ชีวิตของเขา จริงๆ ชารียาก็ปกติสบายดี ถ้าไม่ฟังคลาสสิกมาก อ่านจดหมายพ่อเยอะไป เธอก็คงไม่ร้องไห้ปี่แตกปี่แตนขนาดนั้น ถ้าเราไม่เสพวัฒนธรรมเหล่านี้เข้าไป เราจะใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่งไหม ก็ไม่รู้ แต่ดราม่านี้มันผ่านลงมาจากคนอื่น นั่นต่างหากที่อยากพูดถึง แต่จริงๆ แหม่มก็ฟังคลาสสิก ฟังทุกอย่าง ร็อค แจ๊ส ไทยเดิมก็ฟัง อะไรน่าฟังก็ฟัง คนส่วนใหญ่มักจะให้โอกาสสิ่งต่างๆ น้อย แต่แหม่มให้โอกาสทุกอย่าง

“แหม่มเป็นคนไม่สุดโต่งขนาดนั้น ไม่เห็นอะไรมีค่ามากพอที่คนจะยอมตาย เป็นพังค์นี่ก็ดีนะ คือเราจะถุยๆ เอา เราไม่ค่อยเศร้าหรอก มึงถุย กูก็ถุย มันเป็นเกราะให้เรากับความงี่เง่าของชีวิต”

GM: คุณเล่าถึงเพลงร็อค เพลงคลาสสิก อาหาร ฯลฯ พอได้มานั่งคุย จึงรู้สึกว่าจักรวาลของคุณกว้างมากเลย คุณเสพอะไรเหล่านี้เข้าไปหมดได้อย่างไร

วีรพร : ก็แค่แก่เท่านั้นเองค่ะ (หัวเราะ) คุณก็แค่รักษาตัวไว้อย่าให้ตาย พอถึงในวัยห้าสิบ คุณก็จะหยิบอะไรมาใช้ได้แบบนี้ คลังแสงใหญ่มาก คุณเห็นมากขึ้น รู้มากขึ้น ตกเย็นก็นอนดูช่องดิสคัฟเวอรี่ ก็ได้โน่นได้นี่มาเขียน ไม่ลำบากถ้าจะทำจริงๆ ซึ่งแน่นอนว่านวนิยายเล่มหน้าก็อาจจะไม่สามารถทำได้เยอะๆ อย่างนี้อีกแล้ว เพราะไม่ได้พูดเรื่องความเยอะแล้ว จะพูดเรื่องอื่นแล้ว เรื่องหน้าไม่มีบริบทกว้างๆ เหมือนเล่มนี้ จะไปยัดเข้ามาทำไมให้มันรก จริงๆ แล้ว คนรุ่นก่อนมีของให้ดูน้อย อย่างที่บอกว่าก่อนยุค 90s ประเทศเราไม่มีอะไรเลย ระหว่างที่ไม่มีอะไรเลย สมมุติคุณได้ดูหนังสักเรื่อง คุณจะดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนคุณสามารถเข้าใจวิธีการสื่อความหมายแบบนี้ นอกจากหนัง ไม่ว่าจะเป็นเพลง หนังสือ เพลงคลาสสิก หรืองานศิลปะ คุณเชื่อเถิด ถ้าคุณดูมันนานๆ ดูมันบ่อยๆ คุณจะเข้าใจเอง ต่อให้แอบสแตร็กต์แค่ไหน ศิลปินเขาก็ทำมาจากหัวใจ มันจึงสื่อสารถึงกันได้ คุณแค่ใช้เวลา คุณไม่เข้าใจชิ้นนี้ คุณก็ดูอย่างอื่นก่อน พอถึงเวลา คุณก็กลับมาดูใหม่ คุณผ่านชีวิตไปอีกนิดหนึ่ง คุณกลับมาคุณก็ต้องเข้าใจ

GM: ความเยอะแยะมากมายของป๊อปคัลเจอร์ในยุคนี้ คือเขาวงกตของตัวมันเองใช่มั้ย

วีรพร : ใช่ๆ หนังสือเล่มนี้จึงมีทุกอย่างเข้ามา พยายามจำลองความรู้สึกของคนในยุคนี้ ฉะนั้นเวลาอ่าน ถ้าคุณโกงด้วยการลอยขึ้นมาอยู่เหนือเขาวงกตนี้ คืออ่านแบบคร่าวๆ ผ่านๆ คุณจะพลาด เพราะว่าจริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ ตั้งใจเล่าเรื่องผ่านรายละเอียดที่เยอะ ถึงได้บอกไว้ตั้งแต่ต้น ว่านี่คือเรื่องรักน้ำเน่า ถ้าคุณสนใจแค่โครงเรื่อง มันก็จบตามสูตรน้ำเน่า อย่างที่คุณเคยเห็นมันจบแบบนี้มาแล้วล้านครั้ง ถ้าคุณอ่านแบบละเอียด คุณถึงจะได้ ประเด็นสำคัญคือความเยอะของยุคสมัยเราจะถูกเล่าผ่านรายละเอียด

GM: แต่คนในยุคปัจจุบัน อดทนอ่านอะไรยาวๆ ไม่ได้ เพราะว่าเราติดอยู่กับวรรณกรรม 140 ตัวอักษรทางทวิตเตอร์

วีรพร : ก็ไม่เห็นว่าคนรุ่นใหม่จะอดทน-่าอะไรได้เลย (หัวเราะ) ไม่ใช่แค่อดทนอ่านไม่ได้ มันคงเป็นความผิดของวิธีคิดแบบ One Click Away อ่านอะไรผ่านตาแล้วก็คลิกผ่านไป มันเป็นปัญหาของเทคโนโลยีเลย ทุกคนต้องพยายามทำทุกอย่างให้เร็วหมด

GM: โลกอนาคตที่เต็มไปด้วยคนที่เกิดมาในยุค One Click Away จะเป็นอย่างไร

วีรพร : แหม่มเป็นคนโพสิทีฟติงกิ้งนะ ทุกอย่างต้องมีทางออกของมันเองในที่สุด นั่นหมายความว่าพอไปถึงข้างหน้าแล้ว คุณอาจจะโยนโทรศัพท์ทิ้งทั้งหมด คุณอาจจะตัดการสื่อสารทั้งหมด เพื่อที่จะรู้ว่าคุณเป็นใคร คุณอาจจะเริ่มต้นวิถีชีวิตแบบใหม่ๆ แบบอื่นๆ อีก โลกเราใกล้ถึงจุดอิ่มตัวในหลายๆ แง่ ทั้งในแง่การเมือง คนก็พยายามหาระบอบใหม่ ในแง่สังคม คนก็พยายามหาวิถีชีวิตใหม่ๆ เริ่มมีคนไปทำนา ทำบ้านดิน เริ่มกลับมาขี่จักรยาน คือมันมีทางออกเสมอ ด้วยความเบื่อหน่ายนี่แหละที่จะพาเราไป

อย่างเจเนอเรชั่นของลูกชาย (ภู-พีรจุฬา จุฬานนท์ กำลังศึกษาด้านปรัชญา ที่ Bard College Berlin ประเทศเยอรมนี) ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ แปลกประหลาดมาก เขาเริ่มเฉพาะเจาะจงลงไปในเรื่องที่สนใจ เขามีชีวิตที่สะอาดขึ้น ทั้งที่เป็นเด็กผู้ชาย แต่กลับสะอาดกว่าคนรุ่นก่อน ไม่ค่อยจะอยู่ในโหมดฟรีเซ็กซ์หรือฟรีดรัก โดยนี่คือสิ่งที่ตัวของเขาเองเลือกเลย ก็ไม่ได้สอนหรือบังคับ เทียบกับ

คนรุ่นพ่อแม่ที่เสื่อมศีลธรรมที่สุดแล้ว (หัวเราะ) เขาบอกว่าเขาเป็น Kantianism คือเชื่อตามสำนัก อิมมานูเอล คานต์ เชื่อมั่นในความดีงามอันติดตัวมาแต่กำเนิดของมนุษย์ แล้วก็ได้เจอเพื่อนฝูงของเขา ได้เห็นทัศนคติของพวกเขาต่อการมองโลก ซึ่งค่อนข้างจะโพสิทีฟ ในท่ามกลางสงครามกลางเมือง ท่ามกลางเรื่องราวแบบในซีเรีย เทียบกับพวกเราที่รู้สึกว่าซีเรียนี่แ-่งทำให้กูเสื่อมศรัทธาต่อมนุษย์ว่ะ เขากลับบอกว่า เปล่าครับแม่ ที่สุดแล้วเดี๋ยวก็จะผ่านไป มีหลายๆ แง่ที่ได้เรียนรู้จากลูก

GM: โดยส่วนตัวคุณสนใจสำนักปรัชญาแบบไหน คุณเป็นเฟมินิสต์ด้วยมั้ย

วีรพร : ไม่เลยค่ะ แหม่มเรียกร้องสิทธิสตรีให้ผัวเลี้ยง (หัวเราะ) ต้องการกลับไปเป็นช้างเท้าหลัง คิดว่าผู้หญิงเราเคยมีเพาเวอร์เยอะแยะ แต่พวกเราก็ทิ้งเพาเวอร์นั้นไป แล้วก็ออกมาทำงานนอกบ้านกันแบบทุกวันนี้ บ้าที่สุด! ฉันเกลียดคนที่ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิสตรีคนแรกของโลก

“ตอนที่ทำหนังสือเกย์ตอนนั้น ถือเป็นยุคศาลาคนเศร้า เป็นยุคต้นๆ ของเกย์ มีแต่คนเขียนเรื่องราวอกหักรักคุดเข้ามาหา การเป็นเกย์คือความเศร้า ในขณะที่พอมายุค 90s พวกเขาเป็นพระราชินีกันแล้ว”

GM: แล้วสิทธิเกย์ล่ะ ในฐานะที่คุณเคยทำนิตยสารนีออน

วีรพร : หลังจากออกจากหนังสือเกย์ ก็ไม่ได้ยุ่งกับอะไรตรงนี้อีกเลย นอกจากจะข้องเกี่ยวกับช่างแต่งหน้าทำผม เวลาทำแฟชั่นในแมกกาซีน ช่วงปี 1990 อย่างที่เล่าให้ฟังว่าทำ Hyper ก็ไปเจอช่างแต่งหน้าทำผมมากมาย คิดว่ามันเป็นยุคสมัยที่พวกเขาเป็นพระราชินีแห่งโลกแฟชั่นแล้วนะ คือพวกเขาพ้นจากยุคศาลาคนเศร้ามาได้แล้ว ตอนที่ทำหนังสือเกย์ตอนนั้น ถือเป็นยุคศาลาคนเศร้า เป็นยุคต้นๆ ของเกย์ มีแต่คนเขียนเรื่องราวอกหักรักคุดเข้ามาหา การเป็นเกย์คือความเศร้า ในขณะที่พอมายุค 90s พวกเขาเป็นพระราชินีกันแล้ว วันก่อนได้เห็นชายหนุ่มหน้าตาขาวๆ เหมือนคุณนี่แหละ ไม่ได้กระตุ้งกระติ้ง แต่พวกเขาเดินจูงมือกัน แล้วก็ไม่ได้กระหนุงกระหนิง ไม่ได้อะไรเยอะ แค่เดินจูงมือกันเฉยๆ ก็คิดว่าสังคมเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

GM: เพียงแค่สังเกตว่าคุณแต่งตัวด้วยชุดเสื้อผ้าผู้ชาย ใส่กางเกง ผูกเนกไท ผมเผ้ากระเซิงๆ

วีรพร : ก็นี่ไง เพราะต้องทำมาหากินเองไง ถ้าไม่ต้องทำมาหากินเอง ป่านนี้คงนุ่งกางเกงลิงกับยกทรงอยู่บ้านสบายๆ เคยคุยกับพวกเพื่อนเฟมินิสต์ เกือบโดนมันตบปาก ตอนนั้นเมาก็เลยพูดไป บอกว่า มึงคิดดูแล้วกัน คลีโอพัตราไม่เคยจับดาบอะไรที่ไหน มันแค่ขึ้นคร่อม มาร์ค แอนโทนี แล้วก็ได้ครองพื้นที่ครึ่งยุโรป มือไม่ต้องเปื้อนเลือดเลย เทียบกับผู้หญิงสมัยนี้น่ะเหรอ ดินแดนก็ไม่มี แถมนอนกับผัวยังต้องอยู่ข้างบนเหมือนกัน (หัวเราะ) ฉันไม่เฟมินิสต์ แค่คิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือสิทธิมนุษยชน มนุษย์จะต้องได้รับสิทธิเท่ากัน ถ้าคุณบอกว่าสิทธิการศึกษา ก็แปลว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เป็นเกย์ กะเทย เป็นเด็ก เป็นคนแก่ ก็ต้องได้รับการศึกษาเท่ากัน

GM: อีกอย่างหนึ่ง คือเห็นว่าในหนังสือ คุณสร้างตัวละครผู้ชายให้ดูงี่เง่ามากๆ

วีรพร : อ้าว! หรือไม่จริง ผู้ชายไม่งี่เง่าเหรอคุณ? (หัวเราะ) พูดเล่นนะคะ คือจริงๆ ไม่เกี่ยวหรอก เพศสภาพในนี้ไม่เกี่ยว ชารียาก็งี่เง่า นทีก็งี่เง่า เราทุกคนต่างก็งี่เง่าด้วยกันทั้งนั้น แต่แหม่มเชื่อว่าคนเราไม่ได้งี่เง่าเพราะตัวเราเอง ความงี่เง่าขึ้นอยู่กับมายาคติที่เรายึดถือ นทีไม่ได้แกล้งชารียา แต่นทีสร้างจูเลียตขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้เป็นโรมิโอ เขายึดอยู่กับมายาคติความรักแบบโรมิโอแอนด์จูเลียต ส่วนชารียามันเมา เมาดอกไม้ ชารียาจะเหมือนคนรุ่นใหม่ที่ติดกับมายาคติบางอย่าง ต้องการหนีออกจากตัวเอง หนีจากสภาพเดิมแท้ของตัวเอง จึงต้องตามหานี่นั่นโน่นไปเรื่อยๆ คุณเองก็อาจจะเป็นคนแบบเธอ แฟชั่นใหม่มา โทรศัพท์ใหม่ ลิปสติกใหม่ ชารียาเป็นแค่นั้นเอง ดิฉันพบว่าเราพยายามที่จะหนีจากตัวเอง ชารียาหนีจากสภาพแรกเกิดในตู้อบ เธออยากมีญาติเยอะๆ นับญาติกับแมว กับดอกไม้ ต้นไม้ หาตัวตนจากคนอื่น เพราะคนไม่ได้เป็นคน คนเป็นครอบครัว คนเป็นสังคม

จะอธิบายอย่างไรดีนะ คือคุณไม่ได้เป็นคุณ แต่คุณเป็นคนที่แหม่มรู้จัก และนับจากนี้เป็นต้นไป คุณคือคนที่มาสัมภาษณ์ โดยก่อนหน้านี้คุณไม่ได้เป็นใครมาก่อนเลย แหม่มก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ใครเลย จนกระทั่งคุณมาอ่านหนังสือเล่มนี้ ฉะนั้น เราได้สร้างสถานภาพในชีวิตของกันและกัน อย่างที่แหม่มพยายามจะบอกว่าเราก็ต่างเป็นเขาวงกตของกันและกัน ในรูปแบบต่างๆ ที่ซ้อนทับกันหลายเลเยอร์ ไม่ใช่แค่ในหนังสือเล่มนี้ แต่หมายรวมถึงทุกเรื่อง เป็นเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งอันนี้พูดถึงมิติทางการเมืองด้วย

อย่างเช่นไปเจอตำรวจรีดไถ คุณก็เอามาใช้เป็นข้อโจมตีฝั่งตรงข้าม ฝั่งตรงข้ามไปตั้งเวทีใกล้วัง คุณก็เอามาโจมตี คือมันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่พอมันซ้อนทับกันหลายๆ เรื่องเข้า คุณก็เลยเกลียดกันฉิบหาย ฉะนั้นเราต่างก็กำลังหลงกันอยู่ในนี้ ในเขาวงกตนี้ ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ หรือกระทั่งในกันและกัน คุณหลงอยู่ในคนคนหนึ่ง หรือคุณหลงอยู่ในเมืองเมืองหนึ่ง เมืองฝันสลาย กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ครอบครัวหนึ่ง

GM: สภาพเดิมแท้ที่สุดของตัวผม ก่อนที่ผมจะมาสัมภาษณ์คุณ ผมคือใคร

วีรพร : Nothing! คุณไม่ได้เป็นใครเลย แต่ทันทีที่รู้จักกับคุณ คุณก็เป็นนักเขียน คุณเป็นบรรณาธิการ เราต่างก็สร้างสถานภาพขึ้นมาผ่านความสัมพันธ์ สำหรับคุณ แหม่มคือคุณวีรพร แห่งไส้เดือนตาบอดฯ แต่คนแถวบ้านเรียกว่าแม่ไอ้ภู ฉะนั้นสถานภาพของการเป็นผู้เขียนหนังสือก็ไม่ใช่ทั้งหมด ในโลกเล็กๆ ของฉัน ฉันเป็นแม่ไอ้ภู ปกหลังยังเขียนเลย อาชีพแม่ เพราะว่านั่นคือสถานภาพในโลกเล็กๆ

GM: ชีวิตในสภาพเดิมแท้ การที่เราไม่ได้เป็นอะไรสำหรับใครเลย เราจะมีความสุขกว่าหรือเปล่า

วีรพร : มันก็ไม่แน่ นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณแฮปปี้กับการเป็นมิสเตอร์เอ็กซ์ได้มั้ยล่ะ เราทุกคนล้วนถูกสอนมาว่าต้องเป็นอะไร ของใคร ถึงบอกว่าทุกอย่างล้วนเป็นมายาคติ คุณถูกสอนว่าคุณต้องเรียนจบมหา’ลัยนะ แน่นอน คุณก็กลายเป็นนักศึกษา มีสถานภาพบัณฑิตเมื่อคุณเรียนจบ แต่คำถามก็คือว่า เราสามารถอยู่โดยไม่เป็นอะไรเลยได้มั้ย ก็คงจะไม่สามารถหรอก ทำไมคุณต้องมีคนรัก ทำไมคุณต้องตามหาคนอื่นมาเพื่อที่จะรักคุณ แทนที่จะเป็นคนที่ไม่มีใครรัก ฟังแล้วจะงงหรือเปล่า มันโพสต์โมเดิร์นเนอะ แล้วก็ต้องย้ำกับคุณด้วยเหมือนกัน ว่าทำไมเราถึงต้องมีมายาคติ เพราะว่าถ้าเราไม่มีเลย ทุกอย่างก็ว่างเปล่า บางทีคุณอาจจะไม่สามารถลุกจากเตียงในตอนเช้าได้ด้วยซ้ำ มันว่างเปล่าขนาดนั้น ไม่รู้ว่าจะตื่นขึ้นมาทำอะไร เพื่ออะไร

GM: แล้วสถานภาพของแม่ล่ะ มันเจ็บปวดร้าวราน หรือว่ามีความสุข

วีรพร : (หัวเราะ) ขอแนะนำเลย คุณมีลูกหรือยังคะ? คือแหม่มเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ โตมากับเพลงพังค์ ใช้ชีวิตผ่านมาเยอะ จนมาถึงวัยหนึ่งก็เจอปัญหาขี้นมา คือพบว่าตัวเองไม่สามารถคอนเนคกับชีวิตได้ เราคิดว่าเรารู้อะไรๆ เยอะแยะนะ แต่พอได้มาเป็นแม่คน วินาทีนั้นรู้สึกว่าได้คอนเนคกับชีวิตที่แท้จริง คนมักจะพูดกันไป ว่าวินาทีที่เราเห็นหน้าลูก แล้วเรารักเขาจังเลย มันไม่ใช่แค่นั้น มันคือวินาทีที่คอนเนคกับพื้นฐานที่สุดของชีวิต ของการกินเมื่อหิว ขี้เมื่อจะขี้ นอนเมื่อง่วง เผชิญหน้ากับชีวิตทุกแง่มุมในลักษณะที่เบสิกสุดๆ โดยไม่ผ่านมายาคติ มันทำให้ตื่นเต้นมาก ไม่ใช่แค่ตื่นเต้นเท่านั้น มันยังเปลี่ยนตัวเองไปเยอะมาก

ช่วงแรกเกิดมา 3-5 ปีแรก แหม่มเพิ่งรู้สึกว่าได้มีชีวิต เหมือนว่าก่อนหน้านั้นแค่ใช้ชีวิต แต่ไม่เคยเข้าถึงมันได้อย่างแท้จริง เพียงแต่รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เหมือนเป็นคนนอก เหมือนผู้สังเกตการณ์ เหมือนเป็นชีวิตของคนอื่น จนกระทั่งวินาทีนั้น จู่ๆ ตื่นขึ้นเช้าวันหนึ่ง คุณรู้ว่าชีวิตคืออะไร มีค่าแบบไหน หรือไม่มีค่าแบบไหน คุณเพิ่งจะคิดกลัวตายขึ้นมา หลังจากที่ตอนสาวๆ คุณแ-่งเมาฉิบหาย พอมีลูก คุณจะเผชิญหน้ากับความกลัวแปลกๆ คุณกลัวว่าจะไม่ได้กลับบ้านไปหาเขา นับว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ ขอแนะนำเลยนะคะ แล้วคุณจะพบว่าทั้งหมดในชีวิตที่คุณใช้มา ทุกความผิดพลาด ทุกความสำเร็จ ทุกสิ่งที่คุณคิด ทุกอย่างที่คุณทำ คุณจะมองมันแตกต่างไปหมดเลย มันเป็นคอนเนคชั่นใหม่ที่แปลกประหลาดมาก เป็นคอนเนคชั่นที่คุณไม่มีกับพ่อแม่ของคุณ ไม่ว่าคุณจะสนิทกับพ่อแม่แค่ไหน คุณไม่มีกับแฟนคุณ ไม่ว่าคุณจะรักกันมากแค่ไหน

GM: คุณรู้ได้อย่างไรว่าความรู้สึกนี้จริงแท้ คุณมั่นใจได้อย่างไรว่ามันไม่ใช่มายาคติอีกอัน

วีรพร : แหม! คุณมาถามแบบนี้กับพังค์ ถ้าถามพังค์ ก็จะตอบว่านี่มันสุดๆ แล้วค่ะ คือปกติแล้วเป็นคนมายาคติน้อยนะ เป็นคนประเภทที่ไม่สนใจว่าต้องจบมหา’ลัย ไม่สนใจว่าต้องทำงานดีๆ มีรถใหญ่ๆ ถ้าเป็นตอนสาวๆ จะตอบประมาณว่า กูไม่สนเ-ี้ยอะไรทั้งนั้น

GM: แล้วเรื่องความรักล่ะ พังค์ที่มายาคติน้อยอย่างคุณ ถ้าจะรักผู้ชายสักคน คุณรักได้อย่างไร

วีรพร : รักได้สิ ความรักมีส่วนที่เป็นธรรมชาติอยู่ มีส่วนที่เป็นรากฐานอยู่ แต่ว่านอกเหนือจากนี้ แต่ละคนจะดราม่ากันไปแค่ไหนนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ในหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายความรักไว้แปลกมาก มันคือความรู้สึกเหมือนผ้าที่เก็บเข้ามาจากแดดจัดจ้าน มันคือความรู้สึกพิเศษเฉพาะตัวที่คุณรู้สึกกับใครคนหนึ่ง

GM: ผ้าที่ตากแดดคือสัญลักษณ์แทนครอบครัวของคุณใช่ไหม

วีรพร : คุณเคยรู้สึกไหม ความรู้สึกอุ่นๆ ของผ้าที่คุณเพิ่งเอาเข้าบ้านมาจากแดดจัดๆ ใหม่ๆ มันอุ่นๆ สว่างๆ เหมือนกับเก็บรังสีอะไรไว้ภายใน คือเราพยายามอธิบายความรู้สึกของคนกับคน บางทีเราอาจจะต้องการความรู้สึกเพียงแค่นี้เองกับคนบางคน แล้วก็พอ คุณต้องการสามีเป็นเจ้าแห่งตลาดหุ้นมั้ย หรือว่าอยากให้สามีเป็นณเดชน์มั้ย ณเดชน์อาจจะมีทุกอย่างเลยที่ผู้หญิงอยากได้ แต่เขาอาจจะไม่มีกลิ่นผ้าเก็บมาจากแดดสำหรับดิฉัน

GM: พังค์อย่างคุณ มีทัศนคติเกี่ยวกับความรักที่เรียบร้อยมากเลยนะ

วีรพร : (หัวเราะ) จริงๆ แล้วระหว่างที่เขียนหนังสือ คิดถึงหนังเรื่องไททานิกเยอะมาก ดูออกมาร้องไห้ตาบวมเลย ทั้งที่เรื่องมันไม่มีอะไร เหมือนผู้กำกับบอกว่า มึงอยากได้เศร้าใช่มั้ย มาๆ เดี๋ยวจัดให้ แล้วเราก็รู้อยู่ตลอด ว่าความรักแบบนั้นมันไม่มีอยู่จริง แต่เราก็อยากจะสวมบทชีวิตแบบนั้น มันเป็นชีวิตของคนอื่น เหมือนอย่างชารียา เธอใช้ชีวิตแบบสวมบทบาทของบราห์ม ของบีโธเฟ่น ดนตรีคลาสสิกที่ร้าวราน เธอเศร้าด้วยความเศร้าของคนอื่น มันไม่ใช่ความเศร้าของเธอเลยนะ ถามว่าในโลกแห่งความจริง เรามีความรักที่เข้มข้นขนาดนั้นมั้ย ความรู้สึกโรแมนติก ทุ่มเททุกสิ่งอย่างให้กับความรัก หรืออุดมการณ์อะไรบางอย่าง อย่างที่คุณอยากเป็น เราต่างใช้ชีวิตแบบสวมบทบาทของคนอื่น

GM: โดยรวมๆ แล้ว ทุกวันนี้คุณสวมบทบาทอะไรบ้าง

วีรพร : ตอนนี้เราสูญเสียบทบาทแม่ไปสักระยะหนึ่งแล้ว เพราะลูกไปเรียนหนังสือต่างประเทศ ตอนนี้ก็รับบทบาทแม่แมวมั้ง ไม่ค่อยได้ทำอะไร ไม่ค่อยได้ออกจากบ้านมา 3 ปี ออกจากบ้านน้อยมาก ก็นั่งเขียนหนังสือไป แล้วก็เข้าเฟซบุ๊คทันทีที่ว่างพักสายตา นั่นคือโลกที่ยังคอนเนคอยู่ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเล่นบทบาทอะไรอยู่บ้าง คงแค่บทบาทของนักเขียนผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งมันเป็นข้อดีของการเป็นคนเขียนหนังสือนะ คือคุณอาจจะไม่ต้องใช้ชีวิตของใคร เพราะว่าคุณสามารถใช้ชีวิตของตัวละครของคุณไปเรื่อยๆ คุณมีชารียาร้องไห้แทนแล้ว คงเป็นเพราะแบบนี้กระมัง ก็เลยไม่ค่อยแสดงบทบาทอะไรมากในช่วงหลังๆ แต่มันเป็นเรื่องปกตินะ คุณจะต้องเปลี่ยนบทกันไปตลอดเวลาในช่วงชีวิตหนึ่ง และคุณอาจจะเป็นหลายๆ อย่างพร้อมกันในทุกช่วงเวลา แต่ถ้าคุณเซตในสิ่งที่มากเกินไป อันนี้แหละปัญหา ในแง่ความสัมพันธ์หรือความขัดแย้งก็แล้วแต่ สมมุติคุณจะโค่นล้มใคร คุณจะปฏิรูปอะไร อันนี้ต่างหากที่มองว่าจะเป็นปัญหา

GM: ถ้าเราแสดงบทบาทหนึ่งจนอินไปมากๆ แล้ว เราจะกลายเป็นคนนั้นได้จริงๆ เลยไหม คนรักสถาบัน คนรักประชาธิปไตย

วีรพร : คิดว่ามีทั้งคนเป็นได้และมีคนเป็นไม่ได้ ไม่ใช่เราทุกคนเหมือนกัน ในวันที่เขาสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มีคนบอกว่าพวกเสื้อแดงรับเงินมาคนละสองพัน คำถามคือถ้ามีคนเขาให้คุณสองพัน คุณจะยอมไปวิ่งล่อลูกปืนแบบวันนั้นไหม คุณก็ไม่ยอมหรอก ใครจะไปยอม คุณไม่ได้โง่นี่ เงินแค่สองพัน แล้วคำถามต่อไปก็คือ แล้วทำไมจึงมีคนที่ออกไปวิ่งล่อลูกปืนอย่างนั้น นั่นหมายความว่าเขาจะต้องอินมากๆ เขาจะต้องสู้เพื่อสิ่งอื่นที่เหนือขึ้นไป ดังนั้นแล้ว มันจึงมีอยู่จริง คนที่ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ มีอยู่ในคนทั้งสองฝั่ง

GM: คุณยอมตายเพื่ออะไรบ้างมั้ย

วีรพร : ไม่ค่ะ ไม่มีวัน ทุกวันนี้ที่ยอมมีชีวิตอยู่นี่ ก็มากเกินไปแล้วนะ (หัวเราะ) คือแหม่มยอมมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรบางอย่าง แต่ว่าจะไม่ยอมตายเพื่ออะไรบางอย่าง เป็นคนไม่สุดโต่งขนาดนั้น ไม่เห็นอะไรมีค่ามากพอที่คนจะยอมตาย เป็นพังค์นี่ก็ดีนะ คือเราจะถุยๆ เอา เราไม่ค่อยเศร้า หรือ มึงถุย กูก็ถุย มันเป็นเกราะให้เรากับความงี่เง่าของชีวิต

GM: ถ้าเรารู้แล้วว่าอะไรๆ ก็ล้วนเป็นมายาคติ แล้วชีวิตนี้ยังเหลืออะไรที่มีค่าพอที่จะให้เราต่อสู้บ้าง

วีรพร : (ยักไหล่) เราก็คงต้องอยู่กันไปแบบนี้ไม่ใช่เหรอ ถ้าจะถามว่าตอนนี้ต่อสู้เพื่ออะไร หรือยอมตายเพื่ออะไร แหม่มคงตอบว่ายอมตายเพื่อลูก

GM: ถ้าลูกคุณเกเรเกตุง ไปยิงคนตาย

วีรพร : แน่นอน!! ถ้าเกิดเรื่องแบบนั้น ไม่สนหรอกเรื่องความถูกต้อง ไม่สนหรอกเรื่องคุณธรรม ซึ่งมันก็คงเป็นแบบนี้กันทุกคน เวลาที่คุณยึดมั่นในอะไร เข้าใจว่าเราทุกคนจะต้องมีสิ่งที่เรา ‘อยู่เพื่อ’ พอสมควร แต่ว่าอันตรายของมันอยู่ที่ว่า ในที่สุดแล้วคุณลืมไปว่าคุณอยากได้อะไร เป็นปัญหาตรงนี้มากกว่า แต่ถามว่าเราต้องมีมายาคติมั้ย แน่นอนคุณคงอยากเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง แม้แต่อยากเป็นชาวนา เป็นคนเก็บขยะ คนเราควรจะมีสิทธิ์เลือกมากขนาดนั้น แต่มายาคติในวัฒนธรรมร่วมสมัย ทุกวันนี้ทำให้เราเหลือสิทธิ์เลือกแค่ว่าอยากเป็นณเดชน์ อยากมีบ้าน อยากมีรถ ต้องยี่ห้อนี้ด้วยนะ ในขณะที่จริงๆ แล้วคนเราควรจะมีสโคปของการเลือกที่เป็นของเรา ที่ไม่ชอบงานโฆษณาก็เพราะอย่างนี้ มันทำให้คุณอยากได้สิ่งที่คุณไม่ควรอยากได้ หรือไม่เคยอยากได้ หรือไม่ใช่ของคุณ

GM: ในชีวิตนี้ คุณคิดว่ายังมีมายาคติอะไรเหลืออยู่ คุณยังมีเขาวงกตลูกไหนที่จะต้องฝ่าออกไปอีกไหม

วีรพร : (คิดนาน) มีเรื่องหนึ่งอยากจะเล่าให้ฟัง ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนที่แหม่มทำ Hyper สำหรับเราแล้ว มันเป็นหนังสือที่เก๋มากที่สุดแล้ว กราฟิกใหม่หมด ทีมงานจบนอกทั้งนั้น ณ ช่วงนั้น คิดว่าตัวเองได้ทำหนังสือที่อยากทำที่สุด นี่เป็นสิ่งที่ชอบที่สุดในชีวิตแล้ว จำได้ว่าเวลาไปเที่ยวกลางคืน เราเดินเข้าสีลมซอย 4 มันก็จะมีปาร์ตี้เก๋ๆ ทุกอย่างสดหมด พอเดินเข้าไป ทุกคนหันมาทักทาย ฉันเริด เท่ สวย สาว ใส่กระโปรงสั้นแค่คืบหนึ่ง รองเท้าบู๊ตยาวขึ้นมาครึ่งน่อง ทาปากดำ คือโคตรๆ Stunning เลยละ (หัวเราะ) แหม่มชอบชีวิตช่วงนั้นมาก ได้ทำงานอย่างที่ชอบ ได้แต่งตัวอย่างที่อยาก มีผู้คนมารายล้อม บลาๆๆ …

ทันใดนั้น หนังสือปิดลง เฮ้ย! กูต้องเปิดหนังสือขึ้นมาอีกครั้ง มันคือการติดไง ติดภาพของการที่เราเป็นผู้หญิงพิเศษ สักระยะใหญ่ๆ ตระเวนขายโปรเจ็กต์หนังสือเล่มนี้ให้กลับมาอีกครั้ง เดชะบุญที่ขายไม่ได้เลย ณ ตอนนั้น เดชะบุญที่เราโคตรจนเลยในปีนั้น แล้วก็ต้องอยู่บ้านเฉยๆ อยู่กับลูก ต้องลงมือทำกับข้าวเอง เพราะว่าไม่มีปัญญาไปซื้อเขากินแล้ว แล้วก็ไม่มีงาน พอวันหนึ่งออกไปรดน้ำต้นไม้ ดอกไม้มันออกดอก เราตกใจ โอ้โห! ชีวิตนี้มันง่ายๆ อย่างนี้เลยเหรอวะ เราก็รู้เลย เออเนอะ ไม่ต้องมีหนังสือเก๋ๆ ที่เป็นปรากฏการณ์ ไม่ต้องมีคนมารายล้อม เพราะว่าตอนนั้นไม่เห็นมีใครมาโทรฯหากูอีกเลย (หัวเราะ) นี่กูไม่มีจะกินอยู่แล้ว ก็เลยหันกลับมาหาทุกอย่างที่มีอยู่จริงๆ ความงามของชีวิตมันซิมเปิลมากๆ แค่รดน้ำ กับแสงแดด ไม่มีเงินซื้อปุ๋ยมาใส่ให้มันด้วยซ้ำ

นี่ก็คือที่จะตอบคำถามของคุณ แหม่มพบว่าตัวเองเหลือภาระอะไรน้อยมากแล้ว ที่จะละทิ้งไปตอนที่ไม่อยู่ในโลกนี้ ก็แค่มีชีวิตอยู่ไป ทุกวันนี้ถ้าไปไหว้พระ ก็จะบอกพระว่า ขอให้ฉันมีชีวิตอยู่ในศาสตร์และศิลป์ที่มีประโยชน์ คือชอบอยู่สองอย่างนี้แหละ ไม่ศาสตร์ก็ศิลป์ เขียนหนังสือ คนอ่านชอบ แค่นี้ก็แฮปปี้ ขอแค่นี้ ไม่ได้ต้องการมาก คือรู้ตัวอยู่แล้วแหละว่าเขียนดีพอใช้ได้ ไม่ได้จะพูดโอ้อวดตัวเองนะ แต่ถ้าไม่รู้ตัว ไม่มั่นใจ ก็คงไม่กล้าเขียนออกมาขนาดนี้ มันเป็นงานที่ยากมากนะ เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดที่ว่ากูเจ๋ง ถึงจะกล้าทำ

แต่ถึงเดี๋ยวนี้ ก็ยังรู้สึกอายเวลาที่ไปแจกลายเซ็น เพราะไม่รู้สึกว่ายิ่งใหญ่ เราทำสิ่งนี้ เพราะรู้ว่าตัวเองมีของอยู่บ้าง พอจะมีหางเสียงอยู่บ้าง มีวิธีการเล่า มีเรื่องที่จะเล่า แล้วก็แค่เล่า แล้วไม่คิดว่ามันจะได้การตอบรับดีขนาดนี้ เพื่อนในเฟซบุ๊คเขาก็ส่งลิงค์ต่างๆ มาให้ตลอดเวลา จากทุกทิศทุกทาง คือมีคนพูดถึงเล่มนี้ตลอดเวลา ก็เคยพูดกับลูก คนเขาคงอ่านกันโดยแค่คิดว่าเป็นเรื่องรักมั้งลูก เขาคงไม่ได้มาตีความ หรือไม่ได้สนใจอย่างลึกซึ้งอะไร ลูกชายก็ตอบกลับมา โธ่แม่! ผู้ประพันธ์น่ะตายไปแล้ว The Death of the Author อย่างที่ รอล็อง บาร์ต นักปรัชญาฝรั่งเศสบอกไว้ คือทันทีที่นักเขียนเขียนเสร็จ นักเขียนไม่ได้มีตัวตนอยู่แล้ว คุณไม่จำเป็นที่จะต้องสนใจว่า คนอ่านจะมองเห็นมันในแง่ไหน นอกเสียจากว่าคุณจะมาสัมภาษณ์ แล้วถามว่าเราคิดอะไร ตั้งใจจะบอกอะไร

ส่วนหลังจากนี้ มันจะประสบความสำเร็จแค่ไหนก็ช่างมัน ชีวิตนี้ก็มีอย่างอื่นอีกเยอะ โลกนี้ไม่ได้ต้องการคุณขนาดนั้นหรอก คุณไม่ออกหนังสือเล่มนี้ เขาก็อยู่กันได้

“ตอนเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง เปรียบเหมือนเราได้มาสเตอร์เบทอยู่คนเดียว แต่ตอนที่มันถูกอ่านน่ะนะ มันเหมือนการเอากันจริงๆ คนอ่านแทบจะเข้ามาอยู่ในหัวของคนเขียน คุณรู้หมดเลยว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร กินอะไร ผ่านอะไรมา”

GM: ถามแบบเชยๆ ถ้าอยากเป็นนักเขียนต้องเริ่มต้นยังไง

วีรพร : ก็เขียนสิ (หัวเราะ) อยากเป็นนักเขียนก็เขียน ถ้าถามคงบอกแค่นี้จริงๆ เล่าเรื่องที่คุณอยากเล่า ถ้าคุณจริงใจกับตัวเอง คุณเล่าเรื่องของคุณโดยไม่มีอคติ ว่าเอ๊ะ! คนเขาจะคิดมั้ยว่าฉันเป็นชารียา เขาจะคิดว่าฉันเน่าและโง่ไหม คือห่วงหน้าห่วงตาเกินไป คุณต้องเขียนออกมาเท่าที่คุณรู้สึก เท่าที่คุณผ่าน เท่าที่คุณเห็น มองชีวิตของคุณด้วยตาอันเป็นธรรม มองความผิดพลาด ความงี่เง่า ความอะไรต่างๆ นานาของคุณ คุณก็จะได้เรื่องที่ดีมาเขียน แต่ถ้าเกิดว่าคุณไม่สามารถจะมองย้อนชีวิตกลับไปด้วยสายตาแฟร์ๆ อย่างที่เพิ่งเล่าให้คุณฟัง ว่าเดินเข้าซอย 4 คนกรี๊ด แล้วรู้สึกว่าติดกับชีวิตแบบนี้

ถ้าไม่ยอมรับตัวเองด้วยความเป็นธรรม ว่ากูงี่เง่าว่ะ บางคนอาจจะปฏิเสธว่า ไม่หรอก ฉันไม่ได้เป็นคนหลงตัวเองแบบนั้นซะหน่อย ถ้าคุณเริ่มด้วยทัศนคติแบบนี้ คุณก็จะเขียนออกมาด้วยน้ำเสียงแบบนี้ มันจะไม่เข้าไปในใจคนอ่าน สาเหตุที่หนังสือบางเล่ม สามารถเข้าไปในใจคนอ่าน ก็เพราะว่าคนอ่านรู้สึกว่าตนเองก็เป็นแบบนี้ด้วยเหมือนกัน เขาได้มาอ่านเจอพาร์ตหนึ่งของตัวเขา หรือทั้งหมดก็แล้วแต่ ฉะนั้นตรงนี้แหละที่เราร่วมกัน ตอนเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง เปรียบเหมือนเราได้มาสเตอร์เบทอยู่คนเดียว  แต่ตอนที่มันถูกอ่านน่ะนะ มันเหมือนการเอากันจริงๆ คนอ่านแทบจะเข้ามาอยู่ในหัวของคนเขียน คุณรู้หมดเลย ว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร กินอะไร ผ่านอะไรมา ถ้าเผื่อว่าคุณอ่านแล้วร้องไห้ นั่นหมายความว่าคนข้างในคุณและคนข้างในฉัน มันเอากันแล้วละ

สมมุติคุณอ่านมาร์เกซ คุณไปนั่งในหัวของเขา ไปนั่งในชีวิตเขา คุณนั่งอยู่ขอบเตียง เหมือนกับนักเขียนแก้ผ้าให้คุณดู ฉะนั้นนักเขียนไม่ต้องทำตัวฉลาด เพราะไม่ว่าคุณจะฉลาดหรือคุณโง่ คุณปิดไม่มิด ทุกอย่างที่คุณเห็น ทุกสิ่งที่คุณเข้าใจ มันก็อยู่แค่ตรงนั้นแหละ มันยากที่นักเขียนคนหนึ่ง จะไม่เอาตัวเองออกมาใส่ในเรื่องที่เขียน มันยากที่คนอ่านจะมองไม่เห็นตัวตนคุณจริงๆ อย่างการพูดคุยสัมภาษณ์ ก็เป็นการเปลือยตัวเองเหมือนกัน ถ้าเราดังๆ กว่านี้ ก็คงไม่ให้สัมภาษณ์แล้วนะ เพราะแค่เขียนหนังสือออกมาสักเล่มหนึ่ง ก็รู้สึกว่าตัวเองโป๊มากแล้ว (หัวเราะ)

GM: ที่คุณระบุไว้ในประวัติส่วนตัว ตรงหัวข้องานอดิเรกว่า เล่นกับไฟ นี่หมายความว่าอะไร

วีรพร : เล่นกับไฟคือ ‘วอน’ แหม่มเป็นคนวอน อย่างที่บอกว่ามีออกมาทำบริษัทโฆษณาเอง ไม่มีอะไรทำก็เขียนหนังสือดีกว่า ซัดเข้าไป 3 ปี หรือเวลาทำอะไรก็แล้วแต่จะมีลักษณะของการเป็นคนรนหาที่ จริงๆ เล่มนี้อาจจะดีกว่านี้ด้วย ถ้าเขียนให้มันง่ายกว่านี้ แต่คุณก็ไม่มีทางรู้ไง เขาเรียกวอน เป็นอย่างนั้นมากกว่า ก็เลยเป็นที่มาของเล่นกับไฟ

GM: จริงๆ คนเราใช้ชีวิตอยู่ในคอมฟอร์ตโซนตลอดเวลาไม่ดีเหรอ ทำไมต้องวอนหาเรื่องใส่ตัว

วีรพร : คุณไม่เบื่อหรือไง คอมฟอร์ตโซนไม่มีอะไรเลย เราเข้าใจด้วยนะว่านี่ก็เป็นมายาคติ เราถูกสอนว่าอะไรสักอย่างที่มันโมโนโทน มันไม่ใช่ เหมือนกับนักโฆษณาที่จะบอกคุณเสมอ ว่า ‘พบความแปลกใหม่’ หรือ ‘ใหม่ล่าสุด’    เพื่อที่จะหลอกให้คุณรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องหาของใหม่ และของเก่าอะไรก็แล้วแต่มันจะต้องน่าเบื่อ คุณก็โดนหลอกมาอีกชั้นหนึ่ง หรือว่าคุณอาจจะเบื่อจริงๆ ก็ได้ กลับมาเรื่องคอมฟอร์ตโซน เราว่าคนไทยมีงานอดิเรกน้อยเกินไป ในแง่ที่จริงจัง งานที่ครีเอทของเราน้อยเกินไป เราไม่มีดับเบิลไลฟ์ อย่างน้อยๆ คุณควรได้ครีเอทบางอย่าง คนเราเกิดมาพร้อมกับความรู้สึกของการต้องครีเอท อะไรแบบนี้หรือเปล่า ไม่แน่ใจนะ แต่เรารู้สึกดีเวลาที่ได้สร้างอะไรขึ้นมา เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงลูก หรือเลี้ยงแมวสักตัวหนึ่ง รวมถึงการเขียนหนังสือแบบนี้ด้วย ถ้าคุณไม่มีงานอดิเรก ไม่ได้ครีเอทอะไรออกมาเลย ถึงเวลาคุณก็ไปเดินห้าง ซื้อสิ่งที่คุณไม่อยากได้ มันก็จะวนๆ อย่างนี้ เหมือนเป็นไส้เดือนตาบอดมากๆ เลยค่ะ

GM: นวนิยายเรื่องต่อไปของคุณ คุณจะวอนเขียนถึงอะไรอีก

วีรพร : แหม่มกำลังพยายามเล่าถึงการแสวงหาพื้นที่ในชีวิตของคน ผ่านครอบครัวคนจีนครอบครัวหนึ่ง ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงกลับตาลปัตรหลังสงคราม คงจะอ้างว้างเหมือนเคย หรืออาจจะอ้างว้างกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่น่าจะอ่านง่ายขึ้น ไม่วุ่นวายนักทั้งภาษาและการเดินเรื่อง

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

วีรพร นิติประภา / สนพ.มติชน

นวนิยายความรักของหนุ่มสาวผู้ร้าวราน ด้วยสำนวนภาษาที่สวิงสวายจนน่าเวียนหัว เหมือนจะทำให้ผู้อ่านพลัดหลงเดินเข้าไปในเขาวงกตของเรื่องราวน้ำเน่า ก่อนที่จะค่อยๆ เผยให้เห็นประเด็นทางสังคม ความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลง และมายาคติ ในสังคมร่วมสมัยที่น่าขบคิดตาม นิตยสาร Writer ยกย่องให้เป็นนวนิยายแห่งปีที่ผ่านมา

The White Ribbon | 2009 | – Michael Haneke

A Very Long Engagement | 2004 | – Jean-Pierre Jeunet

21 Grams | 2003 | – Alejandro González Iñárritu

The Cure วงดนตรีอังกฤษ ก่อตั้งในปี 1976 วงมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกหลายครั้งพร้อมกับผู้นำวง นักร้องนำ นักกีตาร์ และนักแต่งเพลงหลัก โรเบิร์ต สมิธ เป็นเพียงสมาชิกคนเดียวเท่านั้นที่ยังคงอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของดนตรีโพสต์พังก์และนิวเวฟ – วิกิพีเดีย

Sex Pistols วงอังกฤษ ก่อตั้งในปี 1975 บีบีซีกล่าวถึงเซ็กซ์ พิสทอลส์ ว่า “เป็นที่สุดของ

พังค์ร็อคในอังกฤษ” – วิกิพีเดีย

กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

(6 มีนาคม ค.ศ. 1927 – 17 เมษายน ค.ศ. 2014)

นักเขียนชาวลาตินอเมริกา ผลงานที่โดดเด่นของเขาคือ One Hundred Years of Solitude และ Love in the Time of Cholera ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวรรณคดี – วิกิพีเดีย

อิมมานูเอล คานต์

(22 เมษายน พ.ศ. 2267 – 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2347) นักปรัชญาชาวเยอรมัน แนวคิดของเขาเรียกว่าจิตนิยมอุตรวิสัย

(Transcendental Idealism)

ที่กล่าวว่ามนุษย์ใช้แนวคิดบางอย่างที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (Innate Idea) ในการรับรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวในโลก เป็นบิดาแห่งแนวคิดเรื่องสหประชาชาติ ดังที่ปรากฏในความเรียงว่าด้วยเรื่องสันติภาพถาวร ได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศขึ้นเพื่อยุติความขัดแย้งและความโหดร้ายของสงคราม – วิกิพีเดีย

รอล็อง บาร์ต

(12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1915 – 25 มีนาคม ค.ศ. 1980) นักทฤษฎีวรรณกรรม ทฤษฎีสังคม นักปรัชญา และนักสัญวิทยา    งานของบาร์ตแผ่คลุมหลายสาขาวิชา และเขามีอิทธิพลต่อการพัฒนาสำนักทฤษฎีหลายสำนัก ซึ่งรวมถึง โครงสร้างนิยม สัญวิทยา อัตถิภาวนิยม ลัทธิมาร์กซ์ และหลังโครงสร้างนิยม

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ