fbpx

วราวุธ ศิลปอาชา บทบาทด้านสิ่งแวดล้อม

เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : พิชญุตม์ คชารักษ์

  • ท่ามกลางความรุ่งโรจน์ของโลกแห่งเทคโนโลยีที่เราทุกคนล้วนถูกรายล้อมไปด้วยความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย และความเป็นสังคมทันสมัยแบบยุคดิจิทัลก็ยังมีอีกหนึ่งเทรนด์ที่เดินคู่ขนานกันมาอย่างไม่น่าเชื่อนั่นคือเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษยชาติทั้งโลกต่างหยิบยก ‘เรื่องของการฟื้นฟูธรรมชาติ’ขึ้นมาเป็นประเด็นแก้ไขอย่างเร่งด่วน
  • สำหรับประเทศไทย เรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแก้ไขเรื่องนี้โดยตรง นั่นคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันนี้ GM มีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับหัวเรือใหญ่ของกระทรวงนี้ ‘คุณวราวุธ ศิลปอาชา’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้วางแนวนโยบายต่างๆ แล้ว ยังเป็นผู้ที่ผลักดันให้เกิดพฤติกรรมการ ลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งอย่างจริงจัง

“นับถอยหลังจากวันนี้ที่เรานั่งคุยกันก็ผ่านได้เกินครึ่งปีแล้วที่เราเดินหน้ารณรงค์เรื่องการใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นปี วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งเราก็เห็นผลชัดเจนเลยว่าทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ ทุกคนพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพกกระเป๋าผ้า พกถุงใส่ของเวลาต้องไปซื้อของ ห้างร้านต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือที่ช่วยกันลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ New Normal ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งตัวผมเองก็เช่นกัน ผมกล้าพูดเต็มปากเลยว่าจะไม่มีใครเห็นผมหิ้วถุงก๊อบแก๊บแน่นอน และถ้าไม่จำเป็น ถุงกระดาษผมก็ไม่รับนะ ซึ่งการลุกขึ้นมาเปลี่ยนพฤติกรรมของผมก็ส่งผลไปถึงคนในครอบครัวและคนรอบข้างด้วยเช่นกัน”

ในขณะที่การรณรงค์เรื่องการลด ละใช้ถุงพลาสติกกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ดี ตัวเลขของขยะพลาสติกก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดก็เกิดเหตุการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกกลับมาเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 15-20%

“แม้ว่าจะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปด้วยดี แต่ผมก็เข้าใจถึงความจำเป็นที่ทุกคนต้องหันกลับมาใช้พลาสติกมากขึ้นในการใช้ชีวิตเมื่อต้องเผชิญกับโควิด-19 ซึ่งทุกคนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดมาเป็นอันดับต้นๆ ก็ต้องใช้อะไรที่มันครั้งเดียวทิ้ง การพกกล่องข้าวไปซื้ออาหารที่ร้าน หรือแม้แต่การนำแก้วน้ำส่วนตัวไปที่ร้านก็ไม่สามารถทำได้ รวมถึงการที่ต้องออกจากบ้านให้น้อยที่สุด ทำให้ต้องพึ่งบริการสั่งอาหารมาส่งที่บ้าน แน่นอนว่าร้านอาหารต่างๆ ก็ต้องใช้พลาสติกในการใส่อาหารเพื่อให้บริการลูกค้า ซึ่งหลังจากจบโควิด-19 ก็ต้องมีการโหมโรง กระตุ้นพฤติกรรมของทุกคนให้กลับมาตระหนักถึงเรื่องการใช้พลาสติกกันอีกครั้งอย่างแน่นอน”

แต่ถึงอย่างนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ได้นิ่งเฉยในเรื่องของปริมาณพลาสติกที่เพิ่มขึ้น จึงต่อยอดออกมาเป็น ‘โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ’ โครงการที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะพลาสติก ด้วยคอนเซปต์ของการรีไซเคิลและอัปไซเคิล

“สำหรับโครงการนี้เราจะเน้นที่การนำขยะพลาสติกมาทำให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มาจากบริการรับ-ส่งอาหารด้วยการรณรงค์ให้นำกลับมารีไซเคิลและอัปไซเคิล โดยจะมีจุด Drop Box ที่รับคืนขยะพลาสติกตั้งอยู่ในที่ต่างๆ ที่ทางภาครัฐกำหนดไว้ บวกกับภาคเอกชน บริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการกับเราก็จะมีบริการ Drop Box ให้ทุกคนนำเอาขยะพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาแบ่งเป็นส่วนที่สะอาดกับส่วนที่บรรจุอาหารเพื่อนำไปรีไซเคิลและอัปไซเคิล ซึ่งเราตั้งเป้าหมายว่าภายในระยะเวลา 6 เดือน ปริมาณขยะพลาสติกจะต้องลดลง 15-20% ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองในสถานการณ์ที่เราทุกคนต่างก็ต้องเผชิญไปด้วยกัน ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเรามีวินัย มีความอุตสาหะ เป้าหมายที่เราตั้งกันไว้ก็จะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้”

นอกจากเรื่องของขยะพลาสติกแล้ว อีกหนึ่งท็อปลิสต์ของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนส่วนใหญ่พูดถึงและตื่นตัวกันอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาก็คือ PM 2.5 ที่แม้จะเบาบางลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เบาใจได้ เพราะต้นเหตุของการเกิดปัญหา PM 2.5 ก็มาจากพฤติกรรมในสังคมแห่งความก้าวหน้านั่นเอง

“PM 2.5 เป็นปัญหาที่แต่ละพื้นที่มีต้นตอของปัญหาไม่เหมือนกัน สำหรับช่วงตอนบนในโซนภาคเหนือก็จะเกิดจากการเผาไหม้ การเผาป่า โซนทางภาคกลางก็จะมาจากพวกอุตสาหกรรม โรงงาน เครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถกระบะ รถบรรทุก อะไรก็แล้วแต่ที่ใช้น้ำมัน ส่วนทางตอนใต้ซึ่งปกติจะไม่ค่อยเจอกับปัญหานี้ แต่ครั้งนี้ก็มาเจอจากปัญหาไฟป่าของประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้นการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันไป และที่ยากก็คือในเมืองใหญ่ๆ ที่เกิดจากเครื่องยนต์ เราทุกคนรู้อยู่แล้ว คำถามคือเราจะทำอย่างไร ถามว่าวันนี้คนในเมืองยังนั่งรถคนเดียวอยู่หรือเปล่า ถามว่าวันนี้คนกรุงเทพฯ ยังใช้รถกันมากมายอยู่หรือเปล่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือช่วงโควิด-19 ที่คนออกจากบ้านน้อย คนใช้รถน้อย ปริมาณ PM 2.5 ก็น้อยลง พอรถกลับมา PM 2.5 ก็กลับมา

“สิ่งที่ผมอยากบอกคือ ‘คุณจะนั่งรอ PM 2.5 กลับมา หรือคุณจะทำอะไร’ เพราะไม่ว่านโยบายของภาครัฐจะทำออกมาดีแค่ไหน จะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ถ้าทุกฝ่ายไม่ให้ความร่วมมือมันก็เหมือนตบมือข้างเดียว ยังไงก็ไม่ดัง เหมือนคนอยากลดน้ำหนักแต่ยังไม่ควบคุมการกิน มันก็ไม่ได้ผลสักที เป็นคำถามที่นอกจากจะถามรัฐบาลแล้ว ก็อยากให้เราทุกคนถามตัวเองด้วยว่า เราจะทำอะไร เพราะสังคมนี้เป็นของทุกคน”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ