fbpx

ว.วชิรเมธี

“อาตมายินดีเป็นวัตถุดิบให้ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์”

คนปากร้ายบางคนขนานนามท่าน ว.วชิรเมธี ว่า ‘พระเซเลบ’

คำนี้น่าจะเป็นคำที่เกิดขึ้นมาใหม่ พร้อมกับบทบาทของการเป็นพระสงฆ์ที่ทำงานเชิงรุกในการเผยแผ่ศาสนาพุทธของท่าน โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางในเมือง ผลงานของท่านเผยแพร่ออกมามากมาย ทั้งในรูปแบบของหนังสือ สื่อวีดิทัศน์ รายการวิทยุ การบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ และแม้กระทั่งผ่านสื่อใหม่อย่างทวิตเตอร์รวมๆ กันแล้ว, บางทีสิ่งเหล่านั้นอาจทำให้พระชื่อดังอย่างท่าน ว.วชิรเมธี กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากมายทั้งในแง่บวกและลบ เนื่องจากสถานภาพของท่านแลดูไม่ต่างจากคนดัง และนาม ว.วชิรเมธี ก็กลายเป็นเสมือนยาสามัญประจำบ้านที่ไม่ว่าจะเกิดเรื่องใด ทุกคนต่างวิ่งมาหาท่าน 4 ปีที่แล้ว GM เคยสัมภาษณ์ท่านมาครั้งหนึ่งที่วัดเบญจมบพิตร ครั้งนั้น ท่านคือพระนักวิชาการรุ่นใหม่ที่กล้าพูดถึงปัญหาทั้งสังคมและการเมืองอย่างตรงไปตรงมา จนมีบางคนตั้งคำถามกับบทบาทของพระสงฆ์อย่างท่านด้วยว่า พระควรพูดเรื่องการเมืองด้วยหรือมาครั้งนี้ ถนนที่ทอดสู่ตัวท่านไม่ได้ราบเรียบเหมือนครั้งก่อน แต่คลุ้งไปด้วยฝุ่นแดงและห่างไกลจากคำว่าศิวิไลซ์อยู่มากโข สถานที่ที่เราจะไปไม่มีไฟฟ้าเสียด้วยซ้ำ ไม่มีทางลาดยางวิ่งฉิว มีแต่ทางลูกรังคดเคี้ยวไปตามสวนยางและไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน

ไร่เชิญตะวัน – คือสถานที่นัดพบในวันนี้

ไร่แห่งนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างอำเภอเมืองกับอำเภอเทิง ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงรายราว 17 กิโลเมตร โดยท่านมาพัฒนาและดัดแปลงจากไร่ข้าวโพดและป่ารกชัฏ ให้กลายมาเป็นสถานที่สำหรับปลีกวิเวกและจำพรรษา ตลอดจนการทำกิจกรรมเล็กๆ สำหรับการเจริญสติให้กับญาติโยมที่สนใจ การมาพบท่านในครั้งนี้จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับครั้งแรกที่ได้พบท่านที่กรุงเทพฯ โลกอยู่กับการเปลี่ยนแปลงเสมอ แล้วพระหนุ่มเมื่อ 4 ปีก่อน ผู้เคยตอบคำถามในเรื่องต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้งทันท่วงทีคล้ายไม่ต้องใช้ความพยายามเลยเล่า,ณ เวลานี้ มุมมองและวิธีคิดของท่านได้เปลี่ยน-แปลงไปอย่างไรหรือไม่ขอเชิญร่วมสนทนาธรรมกับท่านได้ นับตั้งแต่บรรทัดถัดจากนี้ไป…

GM : ท่านมีโอกาสขึ้นมาที่นี่บ่อยเพียงใด และแบ่งเวลาอย่างไรระหว่างการทำงานที่กรุงเทพฯ กับงานที่เชียงราย

ว.วชิรเมธี : อาตมาจะมาที่นี่ทุกเดือน สั้นยาวแล้วแต่ช่วงเวลา หากมาที่นี่ก็จะถือว่าเป็นช่วงเดินช้าของชีวิตเลยละ แผนง่ายๆ ของอาตมาก็คือ แบ่งเวลากันโดยอยู่ที่เชียงราย 70 กรุงเทพฯ 30 ตั้งใจจะทำงานเขียน พรรษาที่แล้วได้เขียนเรื่อง ‘สัมมาทิฐิ’ หนึ่งใน ‘อริยมรรค 8’ พรรษานี้ได้เรื่อง ‘สัมมาสติ’ ก็คิดว่าอาจจะใช้เวลาสัก 8 ปีเขียนทีละมรรค ทีละมรรคจนเสร็จ (หัวเราะ) คือเน้นการทดลองไปด้วย เราต้องเขียนบนพื้นฐานของการปฏิบัติ ถ้าเราไม่ปฏิบัติเราก็จะเขียนแบบฟุ้งฝันอยู่ในจินตนาการ แต่ถ้าได้ลองทำ มาลองเดินดู เอาแบบแค่5 ก้าวแบบที่ในหัวคุณไม่มีความคิดเลยนะ จะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเรียกว่าการอยู่กับปัจจุบัน ถ้าคุณทำได้ แสดงว่าคุณสามารถอยู่กับปัจจุบันขณะได้จริงๆ

ฉะนั้นกว่าที่เราจะฝึกจนสามารถทำอย่างนั้นได้อย่างมีความสุข ไม่บังคับ ไม่ฝืน แต่เป็นธรรมชาติ ต้องใช้เวลา อาตมายังใช้เวลาไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปีกว่าจะจับเคล็ดมันได้ แต่พอเราทำได้มันจะกลายเป็นเรื่องที่รื่นรมย์ที่สุดในชีวิต คือมันมีค่าพอที่จะปฏิเสธลาภยศประดามีใดๆ ในโลกได้เลย เพราะความสุขในใจมันเหมือนตาน้ำที่อยู่ในชีวิตเรา ไม่ต้องแสวงหาอะไร

อันนั้นคือแก่นธรรม ซึ่งมันจะต้องมีประสบการณ์มารองรับ ถ้าไม่มี คนเขียนก็จะเขียนไปตามคัมภีร์ เอาไปใช้จริงก็ไม่ได้ผล อะไรที่อาตมาอยากรู้ก็เอามาลองที่นี่ เช่นว่าเวลาอยู่ที่กรุงเทพฯ เราไม่กลัวผี เรามาอยู่ที่นี่เรากลัวไหม เวลาหมามันเห่า หมามันเห่าอะไรไม่รู้อยู่ไกลๆ อาตมาก็ต้องไปดู ขณะที่เราไปดู เราก็ถามตัวเองว่า ใจเราแกว่งไหม ก็ดูใจของเราไปด้วย มันมีอะไรหรือเปล่า หรือกลางคืนตอนที่อาตมาออกมาเดินอยู่คนเดียว เราอยู่ได้ไหม ของเหล่านี้อ่านคัมภีร์เฉยๆ เราไม่รู้หรอก มาอยู่ในนี้จริงๆ เราก็เห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่างมันกระจ่างขึ้นมาในใจ ได้ความรู้ดีๆ ทีหนึ่ง ก็เอาไปทดลองที่กรุงเทพฯทีหนึ่ง

ลงไปทีหนึ่ง เอาไปปล่อยของ หากมันได้ผลก็แสดงว่ามันรองรับในสิ่งที่เราค้นคว้ามาได้ อยู่ที่นี่อาตมาพบว่า คำที่พระพุทธเจ้าว่าไว้ว่า “นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง” ความสุขใดๆ เท่ากับสันตินั้นไม่มี มันชัดเจนที่สุดนะ เพราะว่าเราอยู่กรุงเทพฯ เราอยู่ท่ามกลางการแวดล้อม ไปอยู่ที่ไหนแทบจะเดินพรมแดงตลอด แต่พอเรากลับมาอยู่ในที่ซึ่งคำว่า ว.วชิรเมธี มันไม่มีความหมาย เราก็ได้เห็นว่า สันติสุข เป็นความสุขที่วิเศษที่สุด บางคนอาจจะมีความสุขกับการที่อัตตามันถูกพะเน้าพะนอนะ แล้วก็ลงจากความชื่นชมตรงนั้นไม่ได้ ไปอยู่ตรงไหนที่อัตตาไม่ได้รับการยกย่องสรรเสริญก็อยู่ไม่ได้ อย่างบางคนมาที่นี่แล้วถามว่าพระอาจารย์อินเตอร์เน็ตใช้ได้ไหม พระอาจารย์บอกไม่ได้ ยกเลิกเลย เพราะฉะนั้นการที่หลายสิ่งหลายอย่างมันไม่พร้อม มันเป็นตัวเลือกกลั่นกรองคนที่จะมาที่นี่โดยอัตโนมัติ ความวิเศษของที่นี่ก็คือความไม่มีอะไร ความธรรมดานี่ล่ะ วิเศษที่สุด

GM : ท่านเคยรู้สึกเบื่อกับการเป็น ว.วชิรเมธี ที่ในตอนนี้ มีชื่อเสียงโด่งดังจนถูกเรียกว่าเป็นพระเซเลบบ้างไหม

ว.วชิรเมธี : ไม่เบื่อ เพราะว่ามันเป็นสมมุติ มันไม่เป็นปัญหากับอาตมา โชคดีของอาตมาก็ตรงนี้แหละ ว่าอะไรคือสมมุติ และจะใช้สมมุตินั้นได้อย่างไร ฉะนั้น มันจึงไม่เคยเข้ามารบกวนใจเรา อาตมาว่า ถ้าคนเรารู้จัก เข้าใจสมมุติว่าจะใช้เมื่อไหร่ จะวางเมื่อไหร่ ชีวิตก็จะมีความสุขมาก

GM : ท่านคิดว่า ว.วชิรเมธี ที่เป็นอยู่ตอนนี้กับ ว.วชิรเมธี ที่ GM เคยสัมภาษณ์เมื่อหลายปีก่อน มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ว.วชิรเมธี : อาตมาว่าอาตมาใช้สมมุติได้เก่งขึ้น เข้าใจสมมุติได้เก่งขึ้น แล้วก็ไม่มีปัญหากับสมมุติที่คนเขาประเคนให้ ส่วนที่ยังอยู่ที่เดิมคือเรื่องของความสุขกับการได้ทำงานที่ตัวเองรัก นั่นเป็นสิ่งที่โดดเด่นชัดเจนในใจอาตมาเสมอ และเป็นเหตุที่ทำให้เราไม่รู้สึกเบื่อ อึดอัด ขัดข้อง หรือลุกขึ้นมาโวยวายกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เข้ามา

GM : ในระยะหลัง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่านมากขึ้น ทั้งในแง่บวกและลบ ท่านคิดเห็นอย่างไรกับการวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น

ว.วชิรเมธี : อาตมาว่าตัวเราเองเป็นเพียงก้อนสมมุติก้อนหนึ่ง เสียงวิจารณ์ก็เป็นมวลแห่งพลังงานก้อนหนึ่ง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ทุกอย่างเป็นสมมุติ อาตมาก็เลยไม่ได้ติดอกติดใจอะไรเลย เราก็ทำงานของเราไป บางทีมีคนวิจารณ์อาตมภาพออกทีวี ก็มี บางทีลูกศิษย์ส่งคลิปขึ้นมาให้ อาตมาก็ไม่ได้ดู บางคนก็อุตส่าห์พริ้นต์ที่คนเขาวิจารณ์อาตมาไว้ในอินเตอร์เน็ตมาให้ บางชิ้นผ่านมา 4 ปีอาตมาเพิ่งได้อ่าน ก็ช่างเถอะ ก็ถ้ามันทำให้อาตมาทุกข์ มันก็ต้องทุกข์เมื่อ 4 ปีที่แล้วสิ แต่อาตมาไม่ได้อ่านบทวิจารณ์ชิ้นนั้น พอมาถึงตอนนี้ มันไม่มีผลอะไรแล้ว อาตมาคิดว่าการถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นธรรมดาของโลก ไม่ใช่เพียงธรรมดาของประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องธรรมดาเสียจนเราไม่ต้องไปใส่ใจก็ได้ ไม่ว่าจะทางดีหรือทางไม่ดี และอาตมาไม่ใช่นักการเมือง ที่เวลาจะทำอะไรต้องไปขอประชามติ

อาตมาคิดว่าอาตมาชัดเจนว่าจะทำอะไร ก็มุ่งไปในทางนั้น ถ้ามันมีประโยชน์ มันก็มีอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ว่าคุณจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็แล้วแต่ แต่ถ้ามันไม่ดี มันก็จะเห็นผลที่ไม่ดีในช่วงชีวิตของอาตมานี้เอง ฉะนั้น อาตมาคิดว่าเราก็เหมือนดอกหญ้าแถวนี้ไง ก็บานให้ดีที่สุด GM จะมาสัมภาษณ์หรือไม่มา มันไม่เกี่ยวกับการที่ดอกหญ้ามันจะบาน ชีวิตมันสมบูรณ์แล้วในตัวของมันเอง ฉะนั้น อาตมาจึงสบายใจ และโชคดีที่รู้ว่าอะไรคือสมมุติ อะไรคือวิมุติ จึงไม่ได้ไปแบกของพวกนี้ไว้

GM : ในชั่วขณะที่รับรู้ถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ ท่านได้ดูใจของท่านว่าแกว่งอย่างไรหรือไม่

ว.วชิรเมธี : อาตมาก็ฟังเสียงหัวใจของตัวเองเหมือนกันนะ ฟังว่าเข็มไมล์หัวใจของอาตมากระดิกไหม อาตมาฟังตลอด และทุกวันนี้ อาตมารู้สึกกับความเป็นบวกกับคำวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะอะไร เพราะว่าคนเหล่านั้นกำลังเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการขัดเกลาอัตตาของเราเอง ต้องขอบคุณเขาเสียด้วยซ้ำ เวลาใครจะชมเรา เขาไม่ต้องคิดมาก โพล่งออกมาเลย

แต่ใครที่เขาวิพากษ์วิจารณ์เรา เขาต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะเราก็เป็นบุคคลสาธารณะคนหนึ่ง มีลูกศิษย์ลูกหาพอสมควร ฉะนั้น ใครที่ลุกขึ้นมาทำเช่นนั้นก็แสดงว่าเขาก็คงจะปรารถนาดีกับเรามาก บางทีเขาก็อาจวิพากษ์วิจารณ์เราด้วยความทุกข์พอสมควร ก็รู้สึกขอบคุณเขาจนทุกวันนี้ แต่ถามว่ามันมีผลกับชีวิตไหม มีน้อยมาก เพราะพูดอย่างตรงไปตรงมา ปีนี้เป็นปีที่ 9 แล้วที่อาตมภาพเรียนจบและลุกขึ้นมาทำงานเผยแผ่ศาสนา ซึ่งก็อยู่ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา ไมว่าจะจากเสื้อเหลือง เสื้อแดง นักวิชาการปัญญาชน ทั้งตัวเล็กตัวน้อย หรือว่าตัวพ่อของปัญญาชน อาตมาถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ปัญญาชนหลายคนให้ราคาอาตมาไว้สูงมาก จนอาตมารู้สึกว่าบางคนที่วิพากษ์วิจารณ์อาตมาไม่ได้วิจารณ์ตัวอาตมา เขาวิจารณ์อุปาทานที่สมมุติว่าเป็น ว.วชิรเมธี ชุดหนึ่ง มันไม่ใช่สิ่งที่อาตมาเป็น มันเป็นฟูมฟองก้อนหนึ่งของสิ่งสมมุติที่เขาให้อาตมาเป็น แล้วเขาก็ไปวิจารณ์ก้อนอุปาทานก้อนนั้น ในขณะที่ตัวของอาตมาเองไม่ได้เป็น มันคนละเรื่อง ฉะนั้นเราไม่ได้อินังขังขอบอะไร เพราะเขาไปวิจารณ์ภาพมายาชุดหนึ่งเท่านั้น ตัวของเรามันก็เป็นอย่างที่โยมเห็น มันง่ายจะตาย แล้วไม่ได้คิดว่าตัวเองสลักสำคัญอะไรด้วยซ้ำ สิ่งที่อาตมามี แค่ขอให้มีวัน Lazy Day ได้นั่งทอดหุ่ย อ่านหนังสือดีๆ สักเล่มหนึ่ง ไม่เช่นนั้นก็ได้เดินทอดน่องอยู่ตามป่าเขาแถวนี้ ได้คุยกับโยมพ่อ ไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างหนึ่งเพื่อต่อยอดไปสู่อีกอย่างหนึ่ง พอเราเข้าใจเรื่องนี้ ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรไม่ต้องไปขอประชา- มติใคร คุณจะใช้อย่างไร ใช้ไปเลย

อาตมาคิดว่าชีวิตเป็นอย่างนั้น มันง่ายจะตาย พอเราเข้าใจเรื่องแบบนี้ เรารู้สึกว่ามันสนุกที่จะใช้ชีวิต และมีความสดชื่นรื่นเย็นอยู่ในตัวของเราเอง อยู่ไปทุกวันอย่างมีความสุข ในชีวิตอาตมามีฝันอยู่ 4 เรื่องเท่านั้น หนึ่ง, มีที่พำนักเล็กๆ สักแห่ง สอง, ได้ทำงานที่เรารัก สาม, มีอิสรภาพในการใช้สติปัญญา สี่, มีสุขภาพดี ชีวิตอาตมาขอ 4 เรื่อง เมื่อได้ครบ 4 อย่างนี้ไม่ต้องการอะไรอีก ที่เหลือเป็นกำไร ชื่อเสียงหากพอมีอยู่บ้างก็ชวนคนมาสร้างความดี อาตมาบอกลูกศิษย์เสมอว่า ต้องเปลี่ยนความดังมาสร้างความดี เพราะชื่อเสียงเป็นสิ่งสมมุติ แต่ความดีที่เราสร้างกับคนอื่นเป็นเรื่องจริง ถ้าเรามีชื่อเสียง เรามีเงินมีทอง มันก็อยู่แค่นั้นใช่ไหม แต่หากว่าเรามีชื่อเสียงและเรื่องเงินทอง เราก็รู้แล้วใช่ไหมว่ามันเป็นของสมมุติทั้งหมด เราเปลี่ยนชื่อเสียงนี้ มาพูด มาเขียน มาทำในสิ่งที่ทำให้เกิดเรื่องดีขึ้นบนโลก ให้มันดีขึ้น อาตมาว่าชื่อเสียงพอจะมีประโยชน์อยู่บ้างก็ตรงนี้ เพราะถ้าชื่อเสียงไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครรู้จัก มันก็จะไม่มีความหมาย

หลายปีก่อนอาตมาเคยไปแจกลายเซ็นอยู่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คนรอเป็นพันที่ยังไม่ได้หนังสือ แต่พอกลับมาที่นี่ หมาในไร่สี่ห้าตัวมันยังไม่เห่าทักอาตมาสักตัว จิตมันจึงสว่างโพลงขึ้นมาว่า ไหนล่ะความเป็น ว.วชิรเมธี ของเธอ เธอไม่มีค่าแม้แต่หมาจะลุกขึ้นมาเห่า เราก็ได้เห็นชัดเจนเลยว่ามันสมมุติมากๆ ถ้าเราไปบ้าบอคอแตกกับมัน ไปยกหู ชูหางกับมัน ต้องทุกข์กับการปกป้องสมมุติ และเมื่อวันหนึ่งที่มันลดลง คุณก็จะรู้สึกไม่เชื่อมั่น ฉันไม่ดังเท่าเก่าแล้วนะ คุณจะต้องตะเกียกตะกายให้ขึ้นมาอยู่ ณ จุดเดิมให้ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจ ชื่อเสียงก็อาจจะทำให้เราเป็นทุกข์ แต่พอเราเข้าใจ เราจะใช้มันก็ได้ ไม่ใช้มันก็ได้

ความสามารถในการตีความมันเป็นสิทธิของทุกคน และในพุทธศาสนาก็ไม่ได้เรียกร้องให้ใครมาเข้าใจผิดหรือใครมาเข้าใจถูก พระพุทธเจ้าเองเวลาที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านไม่ได้ใช้คำว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านแค่ค้นพบความจริงชุดหนึ่ง และเห็นว่ามันดับทุกข์ได้ ใครสนใจท่านก็เล่าให้ฟังเท่านั้นเอง แต่ศาสนาในรูปสถาบันเกิดขึ้นหลังจากนั้นนับพันปี เพราะฉะนั้นเราไม่ควรไปยึดติด แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า แม้กระทั่งคำสอน หรือกระทั่งสถาบันที่เราก่อตั้งกันขึ้นมา ถ้าเราจับแก่นของพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นมาถูกต้อง คุณก็เอามาจัดการบริหารชีวิต แล้วหลังจากนั้น หากคุณเอามาพูดมาเขียน แล้วมีคนมาฟังคุณก็เป็นเรื่องที่ดี คนไม่ฟังคุณก็แล้วไป ถ้าเราไม่หลงตัวเองว่าตัวเองเป็นคนสำคัญที่ต้องแบกหามพระพุทธศาสนาเอาไว้ เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ก็ทำหน้าที่ของเราไปให้ดีที่สุดเท่านั้น แต่ถ้าเราไปคิดว่าเราคือคนสำคัญมากเลยของพุทธ-ศาสนาในยุคนี้ เราก็คงจะต้องแบกอนาคตของพุทธศาสนาไว้บนบ่า แล้วคงจะต้องมานั่งแคร์คนแคร์สื่อกันอย่างไม่จบไม่สิ้น ถ้าเช่นนั้นจะมีความสุขได้ยังไง

GM : ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์การทวิตเตอร์ของท่านชิ้นหนึ่งเป็นอย่างมาก นั่นคือการทวิตที่บอกว่า ‘ฆ่าเวลา บาปกว่าฆ่าคน’ อยากให้ท่านอธิบายว่า แท้จริงแล้วทวิตนี้มีความหมายที่แท้จริงอย่างไร

ว.วชิรเมธี : จริงๆ แล้ว เรื่องนี้มันไร้สาระเสียจนอาตมาไม่อยากพูดอะไร อาตมากำลังสอนเรื่องคุณค่าของเวลา โดยยกตัวอย่างเรื่องราวขององคุลีมาลว่าพระองคุลีมาลฆ่าคนมาแล้ว 999 คน วันหนึ่งท่านพบกัลยาณมิตร คือพระพุทธเจ้า ท่านก็ได้มาบวช กลับตัวกลับใจ จนกลายมาเป็นพระอรหันต์ได้ สรุปได้ว่า องคุลีมาลยังกลับใจ แล้วคุณทำไมไม่กลับตัว นั่นคือเรื่องของการฆ่าคนยังมีโอกาสที่คนคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เมื่อเขาสำนึกผิด แต่เวลาทุกวินาทีเมื่อมันไหลผ่านเราไปแล้ว มันจะผ่านเราไปครั้งเดียวเท่านั้น ในชีวิตหนึ่ง คุณมีเงินหมื่นล้านแสนล้าน คุณไปต่อรองซื้อเวลากลับมาไม่ได้ เช่นวันนี้ที่เราคุยกัน คุณสามารถคุยกับอาตมาแบบนี้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในอนันตจักรวาลนี้ คุณไม่สามารถรีไซเคิลวันเวลานี้กลับมาได้อีกแล้วในชีวิตของคุณ ฉะนั้น เราควรจะใช้เวลาทุกวินาทีของคุณให้คุ้มค่าที่สุด ในเวลาที่อาตมาเทศน์หรือให้สัมภาษณ์ อาตมาก็พูดเท่านี้ละ

แต่ก็มีนักวิชาการ ซึ่งคงจะอยากงับอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วก็ไปเล่นงานใครสักอย่างหนึ่ง สอยเอาบางท่อนบางประโยคไป แล้วก็ไปบอกว่า ว.วชิรเมธี เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคนของรัฐบาล อาตมาได้อ่านนักวิชาการสรุปเช่นนี้แล้วก็เห็นว่า ทำไมนักวิชาการเดี๋ยวนี้ทำงานกันง่ายจังเลย คุณไม่ลองคิดดูหรือว่า พระรูปหนึ่งที่บวชมาตั้งแต่อายุ 13 จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ฝึกปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ไม่เคยมีประวัติเห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคน จู่ๆ จะลุกขึ้นมาบอกว่าการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ดี มันเป็นการสรุปที่มักง่ายจนอาตมาไม่อยากจะไปใส่ใจ

เมื่อเราอ่านเนื้อใน เราได้เห็นบทสรุปที่แสนจะตื้นเขิน ดูเสมือนว่านักวิชาการเหล่านั้นกำลังแสดงความคิดเห็นต่อบ้านนี้ เมืองนี้ แต่ถ้าเราอ่านดูจริงๆ มันเป็นเรื่องของการแสดงความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นต้องมีรากฐานทางวิชาการรองรับอย่างแน่นหนาเป็นหลักฐาน ส่วนการแสดงความรู้สึก แค่คุณไม่พอใจอะไรใคร คุณก็โพล่งหรือสบถออกมาแค่นั้น แล้วทุกวันนี้เราได้เห็นนักวิชาการหรือปัญญา-ชนทำแบบนี้กันมาก แล้วก็เรียกว่าฉันกำลังทำงานวิชาการ แล้วมันขายดีนะ ติดตลาด เพราะวัฒนธรรมของสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมของความเชื่อ ไม่ใช่วัฒนธรรมแห่งการแสวงหาความรู้ นั่นทำให้นักวิชาการจำนวนมากสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาท่ามกลางซากปรักหักพังของเพื่อนร่วมชาติ

ถ้าลองใช้ความคิดกันหน่อย ศึกษาประวัติของอาตมาดูหน่อย เขาไม่มีทางที่จะสรุปว่า ว.วชิรเมธี เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคน บางคนก็บอกว่าผู้ที่รัฐประหารอาศัยชุดความคิดของ ว.วชิรเมธี ไปทำรัฐประหาร รัฐบาลก็อาศัยชุดความคิดของพระบางรูปนี่แหละมาบริหารราชการแผ่นดินและเบียดเบียนประชาชนอย่างไม่รู้สึกผิด เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำอยู่มีความชอบธรรมทางศาสนาและศีลธรรมรองรับพอสมควร แต่ทำไมคนเหล่านั้นจะต้องอาศัยพระเด็กๆ รูปหนึ่งเพื่อทำงานทางการเมือง มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นอาตมาจึงรู้สึกว่า ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นปัญญาชนหรือนักวิชาการสรุปอะไรง่ายเกินไป พูดง่ายๆ คือปัญญาชนสมัยนี้ทำงานด้วยจินตนาการมากกว่าทำงานด้วยความรู้

GM : แต่ไม่เคยเห็นท่านออกมาโต้ตอบหรือชี้แจง

ว.วชิรเมธี : อาตมามองว่านี่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องจริง มันก็จะอยู่ อะไรที่ไม่จริง เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป ส่วนตัวเราไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไรหรอก อยากวิจารณ์ก็ว่ากันไป อาตมาก็เป็นแค่ก้อนรูปธรรมนามธรรมก้อนหนึ่ง เดี๋ยวก็แตกดับลับไป ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์มันทำให้บรรยากาศของประชาธิปไตยในบ้านนี้เมืองนี้มันดีขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้และเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา เพราะอาตมภาพเองก็โหยหาในเรื่องเสรีภาพในการใช้ปัญญาเหมือนกัน ในจุดนี้เป็นสิ่งที่อาตมายอมรับได้ แต่หากคุณวิพากษ์วิจารณ์โดยขาดความรับผิดชอบ อาตมาก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไร เพราะคนอ่านคนฟังเขารู้ว่าคนไหนสติปัญญาแค่ไหน ทำงานตื้นลึกหนาบางอย่างไร เราก็ไม่ต้องไปทำอะไร แต่ถ้าหากไม่เชื่อก็ต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้

GM : ช่วงที่ผ่านมา มีการใช้วาทกรรม ‘คนดี’ กันมาก แต่บางส่วนก็เป็นการใช้คำคำนี้อยู่ด้านหน้า แต่ด้านหลังมีความฉ้อฉล หรือไม่ก็พยายามใช้ความเป็น ‘คนดี’ เพื่อควบคุมคนอื่นในสังคม ท่านคิดอย่างไรกับคำว่า ‘คนดี’ ในปัจจุบันนี้

ว.วชิรเมธี : หากดีจริงก็ดีไป แต่หากดีไม่จริงก็สมควรที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ขณะเดียวกัน คนที่วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ก็ควรมีมาตรฐานพอที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นได้เหมือนกัน ไม่ใช่คุณคาดหวังจากคนทั้งโลก แต่ตัวคุณเองกลับไม่มีอะไรให้คนทั้งโลกคาดหวังเลย ใช่ไหม ฉะนั้น ขณะที่เรากำลังรังเกียจคนดี รังเกียจการแสดงออกว่าเป็นคนดี รังเกียจสิ่งที่คนดีทำ ในทางกลับกัน คุณมีอะไรที่เหนือกว่าเขาไหม ไม่ใช่ว่าอยากวิจารณ์ก็วิจารณ์ส่งๆ ไม่ต้องรับผิดรับชอบอะไร ซึ่งเดี๋ยวนี้เราทำงานแบบนี้กันมากขึ้น ความดีมันมีปัญหา เพราะว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมาหลายคนผูกขาดการสัมปทานความดี ผูกขาดการนิยามความดี แล้วก็เอาความดีที่ตนเองสัมปทานนั้นไปใช้เป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมือง ฉะนั้น ความดีจริงๆ มันไม่เป็นปัญหา แต่ความดีที่ถูกนิยามด้วยคนบางกลุ่มต่างหากที่เป็นปัญหา อาตมาคิดว่าบ้านเมืองในภาวะเปลี่ยนผ่านมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ เสาทุกเสาของสังคมล้วนถูกสั่นคลอน แล้วเสาไหนที่มีแก่นสารที่สุดก็จะอยู่ได้ ฉะนั้น มองในอีกมุมหนึ่ง นี่เป็นบรรยากาศที่ดีที่เกิดการสันดาปทางสติปัญญาและทุกสังคมถูกตรวจสอบ

GM : ท่านไม่กังวลว่าการตรวจสอบจะเป็นไปด้วยการใช้ความรุนแรง ?

ว.วชิรเมธี : มันจะรุนแรงอย่างไรก็ตาม หากเกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ที่ดีและการทำการบ้านอย่างหนักหน่วงของผู้วิจารณ์ สิ่งนั้นจะเป็นพัฒนาการที่ดีของประชาธิปไตย นักวิชาการ ปัญญาชนก็ดี ก็คงต้องทำการบ้านให้มากๆ ถ้าหากอยากให้บรรยากาศของการเมืองไทยไปได้ไกลกว่านี้ แต่ไม่ควรจะสวมเสื้อคลุมของนักวิชาการแล้วทำงานสั่วๆ ออกมา แล้วก็อาศัยจังหวะความชุลมุนวุ่นวายแบบนี้ตีกินไปวันๆ อาตมาเห็นว่า

ไม่ถูกต้อง มันเป็นการเหยียบไหล่คนอื่นขึ้นไปทำให้ตัวเองสูงขึ้น เป็นการทำงานที่ไม่แฟร์ ตัวการวิพากษ์วิจารณ์เองไม่ใช่เป็นสิ่งที่อันตรายต่อสังคมมนุษย์ ตรงกันข้าม เมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์รังเกียจการวิพากษ์วิจารณ์ต่างหาก นั่นแสดงถึงความตกต่ำย่ำแย่ของมนุษย์ ขออย่างเดียวว่าในการทำงานต่างๆ นั้นขอให้เป็นการทำงานที่เต็มไปด้วยความจริงใจ และด้วยความรับผิดชอบ อย่างแท้จริง ไม่ใช่การตั้งธงอยู่ในใจ แล้วหาใครมาเป็นแพะ แล้วก็สับจนเละ แล้วก็เรียกมันว่างานวิชาการ ซึ่งมันไม่ดีกับทุกฝ่าย

GM : ท่านคิดอย่างไรกับลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่ชอบมองอะไรเป็นแบบทวิลักษณ์สองข้าง ขาวกับดำ ท่านจะอธิบายในทางธรรมะอย่างไร

ว.วชิรเมธี : ก็ต้องบอกว่ามันเป็นลักษณะของเรา ซึ่งเป็นสังคมศรัทธาจริต หนักไปในทางศรัทธา ชื่นชอบใครก็ยกเป็นไอดอลแล้วก็เฮตามเขาไป พร้อมที่จะมองข้ามทุกข้อบกพร่อง มองแต่ด้านดี ในวันหนึ่งที่คุณเบื่อ คุณก็พร้อมที่จะทิ้งอย่างไม่ไยดี อย่างง่ายดายด้วย ถ้าเราเข้าใจจริตสังคมไทย เราก็จะเห็นชัดว่า ไม่ควรจะไปยึดติดถือมั่นอะไร ถ้าหากวันหนึ่งคุณจะได้รับการยกย่องว่าเป็นไอดอลทางใดทางหนึ่ง เพราะวันหนึ่งสังคมนี้ก็จะทิ้งคุณ เมื่อเขาเคี้ยวคุณจนกระทั่งหมดหวานแล้ว เขาก็จะคายคุณทิ้งเหมือนชานอ้อย จุดแข็งของจริตอย่างนี้คือมันทำให้ใครคนใดคนหนึ่งดังได้ชั่วข้ามคืน และถ้าคนคนนั้นเป็นคนที่เจ้าเล่ห์เจ้ากล ก็จะสามารถฉวยประโยชน์ได้ แต่จุดอ่อนก็คือ มันทำให้คนเด่นคนดังในสังคมเราไม่ใช่ตัวจริงเสียส่วนมาก แต่คนในสังคมเราก็ชอบฝากความหวังไว้กับคนแบบนี้ เราถึงผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เลยเหวี่ยงกลับ สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้คนดีเปลืองมากนะ คนจำนวนมากที่รู้ไม่เท่าทันจริตสังคมแบบนี้ก็ชอกช้ำ

ครั้งหนึ่งท่านนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ก็เคยหันหลังให้สังคมไทย เพราะถูกกระทำอย่างมากในช่วง 14 ตุลาฯ แล้วท่านก็หันหลังให้จริงๆ กว่าท่านจะกลับมาก็นานมาก เพราะท่านได้เห็นแล้วว่าจริตสังคมเป็นอย่างนั้น ถึงทีรัก รักหมดใจ ถึงทีเกลียด เกลียดหมดใจ ถึงทีทิ้ง ก็ทิ้งเหมือนชานอ้อยที่ไร้ประโยชน์ ไม่เพียงแต่คายทิ้งนะ เดินไปเหยียบซ้ำด้วย สังคมไทยเป็นแบบนี้

GM : อะไรจะช่วยเปลี่ยนจริตนี้ได้บ้างไหม ให้สังคมไทยไม่มองอะไรเป็นขาวกับดำไปเสียหมด

ว.วชิรเมธี : อาตมาคิดว่าเราจะเปลี่ยนได้ เราต้องยอมรับวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีของนักวิชาการตัวจริงทั้งหลาย แต่ต้องสร้างตัวจริงก่อนนะ นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้อาตมาไม่รังเกียจการวิพากษ์วิจารณ์ อาตมายินดีเป็นวัตถุดิบให้ทุกคนมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยซ้ำ ถ้าคุณเป็นตัวจริง เพราะอะไร เพราะด้วยวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดกว้างนี่แหละ เราถึงจะทำลายสังคมแบบศรัทธาจริตให้กลายมาเป็นสังคมแบบพุทธิจริต คืออยู่กันด้วยความรู้ ไม่ใช่อยู่กันด้วยความเชื่อ พอเราอยู่กันด้วยความเชื่อ เราจะปฏิสัมพันธ์กันด้วยความรู้สึก

แต่ถ้าเราเปิดกว้างสำหรับบรรยากาศทางวิชาการ เสรีภาพในการใช้ความคิดความเห็นอย่างเต็มที่ และทุกๆ สถาบันทางสังคมยอมรับว่าเป็นพัฒนาการปกติของสังคมของมนุษย์ที่กำลังจะก้าวไปสู่ความเป็นอารยะ วันหนึ่งสังคมศรัทธาจริตก็จะหายไป สังคมแบบพุทธิจริตก็จะเกิดขึ้น เราต้องช่วยกันถักทอบรรยากาศที่ทำให้บ้านนี้เมืองนี้มีเสรีภาพทางวิชาการเกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ ทำเช่นนี้ได้เมื่อไหร่ สภาวะแบบทวิลักษณ์ที่มองทุกอย่างเป็นขาวเป็นดำ เป็นขวาเป็นซ้าย เป็นเหลืองเป็นแดงจะลดลง เพราะว่าคนในสังคมจะเอาปัญญามากองรวมกัน แล้วเอาชุดที่ดีที่สุดมาใช้ ประเทศที่เจริญแล้วล้วนเป็นแบบนี้ เราก็ต้องช่วยกันสร้างสรรค์บรรยากาศเช่นนั้น

แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นได้ ปัญญาชนทั้งหลายต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า เรามีเจตนารมณ์ที่ดีกับบ้านนี้เมืองนี้ ไหม หรือว่าเราก็แค่ใครคนหนึ่งที่แสวงหาโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว ท่ามกลางวิกฤติเท่านั้น ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น ตัวปัญญาชนทั้งหลายนั่นเองต่างก็มีส่วนร่วมในการทำร้ายประเทศนี้อยู่ด้วย และบางทีอาตมาคิดว่า การทำร้ายด้วยการผลิตชุดความคิดที่ผิดๆ ให้สังคม มันอันตรายยิ่งกว่าระเบิด เพราะชุดความคิดผิดๆ แบบนี้มันกระจายไปได้อย่างไร้ขอบเขต ทะลุทะลวงไปทุกหนทุกแห่ง และหากมันเข้าไปฝังอยู่ในสมองของคนที่พร้อมจะเชื่อด้วยแล้ว เขาพร้อมจะกลายเป็นระเบิดพลีชีพทุกเมื่อ ฉะนั้น ในเวลานี้ สุดยอดของความรุนแรงก็คือการมีชุดความคิดผิดๆ แบบนี้อยู่ในสังคม

GM : แต่ไม่มีใครคิดว่าชุดความคิดของตนผิดไม่ใช่หรือ ทุกคนต่างก็เชื่อว่าชุดความคิดของตัวเองถูกเสมอ

ว.วชิรเมธี : อันนี้ก็เป็นปัญหา ในพระพุทธศาสนาจะมีธรรมะอยู่ข้อหนึ่งที่ชื่อว่า สัจจานุรักษ์ คือทำอะไรให้ความจริงเป็นที่ตั้ง ให้นึกถึงความเป็นจริง พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ว่า “อิทเมว

สัจจัง โมฆมัญญัง” แปลว่า “สิ่งนี้เท่านั้นที่จริง อย่างอื่นไร้สาระทั้งสิ้น” ชุดความคิดแบบนี้กำลังกลายเป็นชุดความคิดกระแสหลักของปัญญาชนไทยจำนวนไม่น้อย และนั่นเป็นเหตุให้เราฟังกันไม่จบ และไม่ศรัทธาที่จะฟังคนที่คิดต่างไปจากเรา และคิดไปว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง เพราะเราสัมปทานว่าชุดความคิดของฉันนั้นถูกต้องที่สุด

ซึ่งไม่ใช่ พระพุทธเจ้าบอกว่าเราอย่าไปคิดว่าความจริงที่อยู่ในมือเราเป็นความจริงที่ถูกต้องที่สุดแม้แต่พระพุทธเจ้าเองท่านก็ระมัดระวังมาก ท่านเรียกสิ่งที่ท่านทรงสอนว่า “ปูรา ณ มรรคา” แปลว่า “ทางสายเก่า

ซึ่งฉันนั้นค้นพบ” และบางครั้งพระองค์ก็ตรัสว่า ความจริงนั้นมีอยู่แล้ว หลักการแห่งความเป็นจริงนั้นมีอยู่แล้ว ฉันแค่เป็นเพียงผู้ค้นพบและนำเอาชุดความจริงนั้นมาบอกเธอ การลงมือปฏิบัติธรรมเป็นหน้าที่ของเธอทั้งหลาย เราตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ท่าทีเช่นนี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าพยายามแยกความจริงออกจากตัวของพระองค์เอง ฉะนั้นใครที่จะเฝ้าฟังพระองค์ก็อย่าติดอยู่แค่พระองค์นะ ไปจนกระทั่งถึงความจริงที่เป็นสภาวะสัจจะ คือความจริงที่มันจริงของมันเอง ที่ไม่ขึ้นต่อกาลเทศะบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เราต้องก้าวไปให้ถึงความจริงที่จริงโดยตัวของมันเอง ไม่ใช่จริงโดยพระพุทธเจ้าตรัส ท่าทีที่เปิดกว้างทางความคิดแบบนี้มันหายไปจากสังคมไทยนะ เพราะสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะผูกขาดความเชื่อกันมากขึ้น เช่น คนดีต้องถูกนิยามโดยสำนักนี้เท่านั้น คนเลวจะต้องถูกนิยามโดยสำนักนี้เท่านั้น ปัญญาชนจะต้องมีบุคลิกภาพและอยู่ในค่ายของพี่ใหญ่คนนี้เท่านั้น ถึงจะเป็นปัญญาชนชั้นดี หรือพระก็ต้อง

มาจากสายนี้เท่านั้น ถ้าไม่ใช่ละก็ปลอมทั้งนั้น เห็นไหมว่า ลักษณะการผูกขาดสัจจะนั้นเกิดขึ้นในทุกวงการของไทย และอาตมาคิดว่านี่เป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะทำให้คนไทยลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากัน มนุษย์เวลาที่จะแบ่งข้าง มันไม่ได้แบ่งข้างเพราะสีเสื้อ

มันแบ่งเพราะความคิดก่อน เพราะฉะนั้นเราต้องหาวิธีที่จะให้คนไทยคิดอะไรในลักษณะองค์รวมให้ได้ การมององค์รวมคือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘อิทัปปัจจยตา’ คือการที่ไม่ไปมองอะไรว่าเป็นจุดเริ่มและจุดจบของสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากเหตุปัจจัยเพียงแค่สองอัน ในอิทัปปัจจยตาแห่งความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านเริ่มสอนโดยยกเรื่องอวิชามาก่อน แต่พอเล่าจนจบ ท่านจบด้วยประโยคที่ว่า แท้ที่จริงอวิชาจะเริ่มจากสัมผัสก็ได้ เริ่มจากตัณหาก็ได้ แต่ที่ยกอวิชาขึ้นมาก่อนก็เพื่อจะเอามาสื่อสารกันให้รู้เรื่องเท่านั้นเอง เหมือนกับเราจะเดินทางมาเชียงใหม่ เราจะมาทางเครื่องบินก็ได้ รถยนต์ก็ได้ ทางเรือก็ได้ เข้าทางพม่ามาก็ได้ เข้าทางสุโขทัย ลำปาง ทางเท้าก็ได้ ขุดดินมาก็ได้ แต่คนส่วนใหญ่พอบอกว่าไปเชียงใหม่ ก็จะนึกถึงเครื่องบิน รถยนต์ รถไฟ เชียงใหม่เข้าได้แค่สามทาง เพราะเราไม่รู้จักการมององค์รวม เราเลยคิดว่ามันมีเท่านั้น

แต่ทางพุทธศาสนาจะสอนให้เราเรียนรู้ที่จะมองอะไรในลักษณะองค์รวม สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สังเกตว่าพระพุทธเจ้าใช้คำว่าสิ่ง เพราะสิ่งเป็นคำที่ใช้แทนสภาวะสัจจะที่พอจะสื่อสารกันรู้เรื่อง การมองอะไรในลักษณะแบบนี้ มันจะไม่เปิดโอกาสให้เราตัดตอนความจริงเลย เพราะจะเห็นว่าปัจจัยแต่ละปัจจัยย่อมไปขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เสมอไป โลกใบนี้อยู่ในสภาวะงูกินหางทั้งหมด ถ้าเรามองอย่างนี้ สังคมไทยจะไม่ไปยึดติดถือมั่นกับการตามหาคนผิด และอีกข้างก็จะไม่ไปอุปโลกน์ให้ใครสักคนหนึ่งเป็นอภิมหาคนเลวของบ้านนี้เมืองนี้ เพื่อที่จะรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่าง การมองสุดโต่งอย่างนั้นจะไม่มีหากเราเข้าใจ อภิปีศาจ อภิทรราชจะไม่มีในเมืองไทย ไม่ว่าจอมพลถนอมหรือว่าคุณทักษิณ ทุกคนล้วนเป็นองค์รวมขององค์รวมใหญ่อีกทีหนึ่ง ทุกคนเป็นเพียงกระแสเหตุปัจจัยของความวุ่นวายในประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่ง และประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งก็เป็นเพียงเหตุปัจจัยเล็กๆ ของโลกใบหนึ่ง ก็เท่านั้นเอง ด้วยวิธีมองแบบนี้ เราจะเข้าใจคนมากขึ้น คนผิดพลาดกันได้ แล้วเวลามองคน เราจะไม่มองแบบเจาะจงไปว่า เขาเปลี่ยนไม่ได้ แท้ที่จริงคนมันเปลี่ยนกันได้

ปัญญาชนบางคนบอกว่าอาตมากำลังเข้าใจเรื่องประชา-ธิปไตยผิดไป อาตมาก็บอกว่า ถ้าอาตมากำลังเข้าใจอะไรผิดไป ถ้ามีข้อมูลใหม่มาอาตมาเปลี่ยนได้ อาตมาคิดแบบอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นขอโทษถ้าที่ผ่านมาอาตมาเข้าใจผิด จากนี้เป็นต้นไป ถ้ามีข้อมูลใหม่อาตมาพร้อมเปลี่ยน เพราะชีวิตของอาตมาเป็นอีกกระแสของอีกปัจจัยหนึ่งๆ เท่านั้น

ถ้าเรามองโลกที่พ้นจากทวิลักษณ์ขึ้นไป เราก็ให้อภัยต่อโลกใบนี้ได้มาก แล้วเราก็จะมีความกรุณาที่ล้นพ้น มองโลก มองคน มองสังคมอย่างเข้าใจ ไอ้อาการยึดติดในอัตตาเราจะลดน้อยถอยลงไปโดยอัตโนมัติ แล้วตัวตนของเรามันจะเล็กลง เพราะเรามองเห็นสัจธรรมที่ว่า ทุกอย่างมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุปัจจัยที่ไหลเนื่องหนุนส่งกันไปตามเหตุ ตามปัจจัยเท่านั้นเอง ด้วยวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตาแบบนี้ เราจะออกจากความรุนแรงทางความคิดได้ เราจะออกจากสภาวะสุดโต่งทางปัญญา และเราจะสามารถหลุดออกมาสู่ทุ่งโล่งของระบบความเชื่อ สามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็นจริง

ทุกวันนี้สังคมไทยมองสังคมแบบที่เราอยากให้มันเป็นเท่านั้น ใครเห็นต่างจากเรา เราก็กล่าวโทษเขา แล้วเราก็ไปลดทอนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของคู่ตรงข้ามของเรา พร้อมจะลุกขึ้นมาฆ่ากัน เมื่อเราเชื่อมั่นเสียแล้วว่าเราถูกต้อง การฆ่าคนอื่นจึงไม่เป็นบาป นั่นคือชุดความคิดที่เราถืออยู่ในมือตอนนี้ แต่ต้องบอกก่อนว่าชุดความคิดแบบนี้ ไม่ออกไปจากปากอาตมาแน่นอน

GM : นับตั้งแต่ทำงานเผยแผ่ พระพุทธศาสนามา 9 ปี ท่านเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทยบ้าง

ว.วชิรเมธี : ก็เห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องแรกคือสัมมาปฏิบัติ หรือการเจริญสติภาวนา กรรมฐาน ซึ่งแต่เดิมเราสงวนกันไว้ว่าเป็นของสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะพ้นโลก แต่ทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป ปรมัตถธรรม กลายเป็นเรื่องปกติของคนในสังคม ข้อสอง, ทัศนคติในเชิงบวกต่อธรรมะ พระและวัดได้เกิดขึ้น และแพร่กระจายทั่วไป สาม, ธรรมคลี่คลาย เข้าใกล้ เข้าใจ และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับชนทุกชั้น คนอ่านหนังสือก็อ่านหนังสือธรรมะกันมากขึ้น สี่, พระสงฆ์มีบทบาททางสังคมได้มากขึ้น มีพระหนุ่มเณรน้อยออกมาเผยแผ่พุทธศาสนากันมากขึ้น อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งในวัฒนธรรมเดิมนั้น

จะออกมาเทศน์มาสอนอย่างอาตมานั้น ต้องรอให้แก่ก่อน

เราไม่เชื่อมั่นพระเด็กๆ พระหนุ่มๆ เราไปฝากความหวังไว้กับพระที่สูงอายุมากๆ แล้วนั่นเป็นเหตุให้สังคมไทยมีตัวเลือกแต่หลวงพ่อปัญญาและหลวงพ่อพุทธทาส แต่มาวันนี้ไม่ใช่ ซึ่งเป็นด้านที่ดี สังคมเองก็เอาหลักธรรมไปปรับประยุกต์ใช้ได้กว้างขวาง มากกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา กว่าทุกช่วงประวัติศาสตร์ที่คนไทยรู้จักพุทธศาสนามาก็ว่าได้

GM : การเกิดศูนย์วิปัสสนามากขึ้น มีคนไปปฏิบัติธรรมมากขึ้น อาจแปลว่าสังคมไทยขาดที่พึ่งมากขึ้นได้ไหม

ว.วชิรเมธี : ก็เป็นได้ทั้งสองอย่าง คือในแง่ดี ก็สะท้อนว่า

คนไทยเข้ามาหาแก่นพระศาสนามากขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งก็ต้องระวังให้ดี ไม่ให้มันกลายเป็นวิปัสสนาพาณิชย์ อันนั้นน่ากลัวที่สุด ฉะนั้นเห็นอะไรที่มันบูมๆ ขึ้นมาก็อย่าเพิ่งไปคิดว่ามันดีนะ ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน

GM : ในกระแสการปฏิรูปทุกวันนี้ ท่านคิดว่าสถาบันศาสนาของเราต้องการการปฏิรูปด้วยไหม

ว.วชิรเมธี : ต้องการอย่างมาก เพราะเป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณของคน ฉะนั้นมันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการปฏิรูป อาตมาคิดว่าต้องลดเรื่องการเป็นศูนย์รวมของอำนาจ องค์กรสงฆ์มีความเข้มแข็งมากในแง่การจัดองค์กรให้มีความมั่นคง แต่ความมั่นคงมันเบี่ยงเบนออกจากวัตถุประสงค์เดิม คือการจัดองค์กรให้มีความมั่นคงเพื่อการศึกษาและพัฒนาคน แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นความมั่นคงเพื่อสนองอำนาจ มีลักษณะเป็นอำนาจนิยม ผลก็คือ พระของเราฝักใฝ่อำนาจ และวัดการเจริญเติบโตทางศาสนาด้วยการถือครองยศชั้นขุนนางพระ

ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากชุดความคิดของชาวโลก คือมุ่งหมายไปที่ ยศ ทรัพย์สิน และอำนาจ จนถึงขนาดถามกันว่า ถ้าหากอยากรู้ว่าพระรูปไหนมีความก้าวหน้าทางศาสนา ก็ให้ดูว่ามียศชั้นขุนนางพระแล้วหรือยัง นั่นทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสอย่างมากต่อการจะได้รับประโยชน์จากพระศาสนา เพราะสงฆ์จำนวนมากที่เอาความเจริญของตัวเองไปผูกกับยศทรัพย์อำนาจ โดยมากจึงไม่กล้าเทศน์ ไม่กล้าสอน รักษาตัวอยู่นิ่งๆ เงียบๆ สบายๆ แล้วก็ได้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปตามลำดับ ก็ดูดีกว่ากันมาก ออกมาพูดมากไปเทศน์มากไป เดี๋ยวก็แป้ก ไม่ได้ไปไหนเสียที

ด้วยชุดความคิดแบบนี้ ทำให้พระจำนวนมากซึ่งมีสติปัญญาไม่กล้าทำงาน เพราะว่าถูกล็อกเอาไว้ด้วยระบบอำนาจนิยม ซึ่งกลายมาเป็นเกณฑ์วัดความก้าวหน้าของสงฆ์กระแสหลักไปแล้วเรียบร้อย มีพระไม่กี่รูปที่รู้ว่าการเป็นเจ้าคุณนี่มันเป็นกากเดนของศักดินา นั่นเป็นเหตุให้พุทธศาสนากระแสหลักในบ้านเรามุ่งเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจและมุ่งประจบผู้มีอำนาจ ฟังส่วนบน แล้วทอดทิ้งประชาชน หนักหน่อยก็ถึงขั้นไม่สนใจประชาชนเลยก็มี นี่เป็นลักษณะที่ควรได้รับการปฏิรูปอย่างยิ่ง

พอเราเกรงกลัวผู้มีอำนาจ การทำงานของพระหนุ่มเณรน้อยก็น้อย ผลที่ตามมาก็คือพุทธบริษัททั้งหลายก็ได้รับประโยชน์น้อยลง ชุดคำสอนจำนวนมากจึงถูกผลิตออกมาในลักษณะประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจต่างๆ แทนที่จะเทศน์ตรง สอนตรง ให้สอดคล้องกับพระพุทธองค์ทรงสอน พุทธ-ศาสนาในไทยเลยเคลื่อนตัวออกจากแก่นแท้มากขึ้นทุกที จนกลายเป็นพุทธปนไสย เป็นพุทธที่ประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจ กลายเป็นพุทธที่ถูกนำไปอ้างอิงเพื่อรับใช้การเมือง หรือลัทธิชาตินิยมบ้าง ทุนนิยมบ้าง ซึ่งนับวันก็ทำให้เราเหินห่างจากแก่นสารมากขึ้น

ทุกวันนี้เรามีวัดมากกว่าเซเว่นอีเลฟเว่นนะ เรามีกว่าสามหมื่นวัด แต่วัดที่ทำบทบาทของวัดในฐานะองค์กรทางสังคม สร้างคนให้รู้ ให้ตื่น ให้เบิกบานน้อยมาก เรียกว่ามากปริมาณแต่ประสิทธิภาพต่ำ หากพูดในเชิงการตลาด วัดมีสาขามากกว่าเซเว่นอีเลฟเว่น แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพ พระและวัดไม่เป็นแรงบันดาลใจของคนในสังคม นี่คือสิ่งที่คณะสงฆ์ต้องตื่นตัว และหากไม่ปฏิรูป อยู่กันไปอย่างนี้เรื่อยๆ วันหนึ่งก็คงถูกทิ้งให้กลายเป็นสิ่งปรักหักพังทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถึงแม้จะมีประโยชน์อยู่บ้างแต่ก็คงไม่ใช่ประโยชน์โดยตรงอย่างที่สังคมควรได้จากองค์กรศาสนา หากเป็นเพียงผลพลอยได้อย่างผิวเผินเต็มที

GM : ในตอนนี้เริ่มมีการขับเคลื่อนบ้างไหม

ว.วชิรเมธี : ก็มีมาตลอดแต่ก็ไปไม่ถึงฝั่ง เพราะสุดท้ายคงไม่มีใครอยากไปทุบหม้อข้าวตัวเอง ฉะนั้น การปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง ไม่ค่อยได้ผล เราจึงเห็นว่าท่านพุทธทาสก็ดี พระมหาสมณเจ้าก็ดี พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็ดี ปราชญ์ทั้งสามท่านของเรานี่เป็นพระนักปฏิรูป และท่านเริ่มปฏิรูปที่ตัวของท่านเองก่อนเป็นสำคัญ ด้วยเชื่อว่าการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างนั้นคงต้องรออีกหลายชั่วคน อาตมภาพเองก็เชื่ออย่างนั้นนะ ถ้าหากเราอยากปฏิรูปสถาบันศาสนา ปฏิรูปตัวเองก่อนน่าจะดีที่สุด เพราะตัวเราเองก็เสมือนรูปธรรมหนึ่งของศาสนาเหมือนกัน เราก็เป็นแขนเป็นขาของศาสนาเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าเราเริ่มจากตัวเราเองก่อน อาตมาคิดว่าถ้าตัวเราเองเปลี่ยน สถาบันศาสนาก็ได้รับการปฏิรูปแล้ว เพราะเราได้รับบทเรียนว่า หลายคนที่พยายามไปเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง โดยมากก็ไปไม่รอด หรือพอเชื้อเชิญเข้าไปอยู่ในระบบก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะโครงสร้างมันเทอะทะและถักทอกันด้วยเหตุปัจจัยที่หลากหลายซับซ้อนมาก ในชั่วชีวิตของคนคนหนึ่งที่มัวคิดว่าจะไปเปลี่ยนโครงสร้างอาจจะไม่ทันเห็นผลเลย แต่ถ้าเราตระหนักรู้ว่า ถ้าเราเปลี่ยนตัวเอง อะไรก็จะเปลี่ยนได้

มหาตมะคานธีเคยบอกว่า คุณอยากเห็นโลกเป็นอย่างไร คุณก็จงเปลี่ยนตัวเองไปในทิศทางนั้น อาตมภาพเองก็เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าหมดศรัทธาในการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง เพราะว่าบ้านทั้งหลังจะเป็นอย่างไร มันขึ้นอยู่กับโครงสร้าง แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วว่าวันเวลาในชีวิตของเรามีไม่มาก เราก็ควรเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนเป็นเบื้องต้น แล้วหลังจากนั้นถ้ามีศักยภาพมากพอก็ช่วยสร้างสรรค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอนาคต คือต้องเปลี่ยนทั้งสองอย่าง แต่อะไรทำได้เลย ก็ทำอันนั้นก่อน พอคนคนหนึ่งเริ่มเปลี่ยน และเขามีพลังมากพอ มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้เช่นกัน

อาตมาไม่ได้หมายความว่าคณะสงฆ์ไม่พยายามปรับตัวเอง คณะสงฆ์พยายามปรับตัวมาโดยตลอด แต่ธรรมชาติของสงฆ์แบบเถรวาทไม่ค่อยทำอะไรแบบฉับไว โฉ่งฉ่าง ค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ในอนาคตอาตมาเชื่อว่าสถาบันสงฆ์ของเราจะดีขึ้นกว่านี้ เพราะเราได้เห็นปัญหาที่สั่งสมมานาน แล้วปัญหาเหล่านั้น มันก็คือวัตถุดิบชั้นดีทำให้พระสงฆ์รุ่นใหม่เติบโตจากปัญหาเหล่านั้นและหาทางเปลี่ยน เวลานี้มีพระที่ทำงานในเชิงปฏิรูปกระจายอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง อาตมาเป็นแค่ปลายอ้อปลายแขมของพระเหล่านั้น มองไปข้างหน้าก็ถือว่าถึงอย่างไรสถาบันสงฆ์ก็ต้องเปลี่ยน ไม่มีทางที่จะไม่เปลี่ยน เพราะว่าแนวโน้มของสังคม แนวโน้มของโลกมันไปอย่างนั้น

GM : ท่านได้เข้าไปร่วมกิจกรรมกับท่านติช นัท ฮันห์ ที่หมู่บ้านพลัม ท่านเห็นความเหมือนหรือต่างอย่างไร ระหว่างพุทธที่เป็นมหายาน กับพุทธที่เป็นเถรวาทบ้าง

ว.วชิรเมธี : อาตมาคิดว่าพระสงฆ์รุ่นใหม่ก็เปิดกว้าง และพระมหาเถระสมัยใหม่ก็เปิดกว้าง ถ้าเป็นสมัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วคงลำบากที่พระเถรวาทกับพระมหายานจะมาร่วมงานกัน แต่เดี๋ยวนี้เราก็ได้เห็นโลกทัศน์ที่เปิดกว้าง ในยุคท่านพุทธทาสไม่ได้ ท่านพยายามทำแต่ไม่สำเร็จ ก็ต้องถือว่าช้าหน่อย แต่ก็มีพัฒนาการที่น่าสนใจยิ่งขึ้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เถรวาทไม่ปรับตัวมาก เพราะประวัติและพัฒนาการของเถรวาทนั้นอิงอยู่กับพระพุทธศาสนาเดิมแท้อย่างแยกกันไม่ออก หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์หลังพระพุทธ-เจ้าเสด็จปรินิพพาน ก็มีพระสงฆ์ 500 รูป โดยการนำของพระมหากัสสปะเถระ นิมนต์พระสงฆ์ที่คัดกรองมาแล้วว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น มาร่วมประชุมทำสังคายนาให้เป็นระบบ เสร็จสังคายนาครั้งนั้น เราก็มีพระธรรมวินัยที่แตกออกมาเป็นพระสูตร พระวินัย และพระอภิ-ธรรม แล้วเราก็เชื่อมั่นกันว่า พระธรรมวินัยที่เกิดจากการสังคายนาครั้งที่ 1 นี้มีความบริสุทธิ์ครบถ้วนมากที่สุด จากนั้น ก็ถ่ายทอดสืบต่อกันมา

ด้วยประวัติแบบนี้ พุทธ-ศาสนาสายเถรวาทจึงเชื่อว่า พุทธธรรมคำสอนของตนดีที่สุด ครบถ้วนที่สุด จึงต้องพยายามรักษาเอาไว้ให้สมบูรณ์แบบที่สุด ถึงขนาดมีชุดความคิดกันว่า อักษรหนึ่งที่ใช้จารึกพระปริยัติ-ธรรมมีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่งๆ ด้วย ชุดความคิดแบบนี้ทำให้พระไตรปิฎกได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดียิ่ง นั่นเป็นเหตุให้สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ เมื่อพระมหากษัตริย์สามารถสร้างบ้านแปงเมืองสำเร็จเรียบร้อยจนมีความมั่นคง สิ่งหนึ่งที่พระมหา-กษัตริย์ต้องรับเป็นพระราชภาระก็คือ การนิมนต์พระสงฆ์ร่วมกัน เพื่อทำการสังคายนาพระธรรมวินัย โดยอาศัยชุดความคิดแต่เดิมว่า ถ้าสิ่งนี้บริสุทธิ์มั่นคงพระพุทธศาสนาก็จะมั่นคง

ขณะเดียวกัน สถาบันกษัตริย์ก็ได้ประโยชน์จากศาสนาด้วย เพราะราชธรรมของกษัตริย์ก็มาจากพระพุทธศาสนา พูดได้ว่าความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์มีทศพิธราชธรรมในพุทธศาสนาเป็นตัวรับรองหรือสร้างความชอบธรรมให้กับสถาบันกษัตริย์ นั่นเป็นเหตุให้สถาบันทั้งสองถูกเชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน ซึ่งถ้าเป็นการเชื่อมร้อยที่มีโยนิโสมนสิการก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าสถาบันสงฆ์รู้ไม่เท่าทันก็จะเป็นโทษ เพราะจะถูกสถาบันกษัตริย์ใช้เป็นเครื่องมือในทางเสียหายได้เหมือนกัน

ด้วยประวัติที่เป็นมาแบบนี้ เราจึงมีความเชื่อมั่นว่าเถรวาทมีความบริสุทธิ์ ดังนั้น เราไม่พยายามไปสังสรรค์กับนิกายอื่น เพราะถือว่าลัทธินิกายอื่นเป็นพุทธที่ประยุกต์ไปแล้ว เถรวาทจะถือว่าเราบริสุทธิ์ทั้งในแง่พัฒนาการ ประวัติศาสตร์ และคำสอน ทั้งในแง่ผลของการปฏิบัติที่เรานำมาใช้ได้อย่างดีที่สุด ซึ่งตรงนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเราสามารถสืบต่อจิตวิญญาณเอาไว้ได้อย่างดี แต่ข้อเสียคือทำให้เราเกิดอหังการในทางจิตวิญญาณ ‘อิทเมว สัจจัง โมฆมัญญัง’ พุทธเถรวาทนี้จริงแท้แน่นอน พุทธนิกาย อื่นนั้นว่างเปล่าหรือมีแก่นสารน้อยกว่า เถรวาทในแง่ของวัตร-ปฏิบัติ เราจึงไม่ค่อยปรับตัวเราให้สอดคล้องกับโลกเท่าไหร่

แต่ในทางจิตวิญญาณ หนักกว่านั้นคือเมื่อเราเชื่อว่าเราดีที่สุด เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้จากใครอีกเลย ผลก็คือพระของเราสถิตอยู่ในที่เดิม ไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองให้สามารถขับเคลื่อนงานพุทธศาสนาให้ตอบโจทย์ชาวโลกซึ่งเปลี่ยนไปทุกวินาที นี่จึงทำให้เถรวาทของไทยมีลักษณะคล้ายๆ ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ รักษาของดีไว้ แล้วก็หลงภูมิใจอยู่อย่างนั้นเหมือนพ่อแม่ให้แหวนประจำตระกูลเอาไว้ให้ลูกรักษา ให้ใครเห็นก็ไม่ได้ แล้วตัวเองก็ไม่ใส่แหวนนั้นด้วย พอตัวเองจะตายก็ฝากลูกฝากหลานไว้ให้ดูต่อ แล้วก็ไม่มีใครได้เห็นแหวนนั้นเลย ไม่มีใครเอาออกมาใช้ ไม่มีใครนำมาประดับ แต่เรารู้นะว่าตระกูลนี้มีแหวนเพชรที่ทรงค่าที่สุดอยู่ อาตมาจึงคิดเสมอว่าสิ่งที่อาตมาควรทำไม่ใช่การเขียนคัมภีร์ อาตมาคิดว่าบูรพาจารย์ของเราไช้เวลากับการสร้างคัมภีร์เยอะมาก พอมาถึงรุ่นของเรา เราควรจะนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เท่าที่ศักยภาพของเราจะทำได้

GM : อะไรคือสิ่งที่เถรวาทควรเรียนรู้จากเซนบ้าง

ว.วชิรเมธี : การเรียนรู้การปรับตัวเพื่อสื่อสารกับชาวโลก และการปรับตัวเพื่อเป็นผู้ที่จะสามารถเคลื่อนตัวไปพร้อมกับชาวโลก และขณะเดียวกันก็สามารถนำชาวโลกในทางจิตวิญญาณได้ด้วย เซนอย่างท่านติช นัท ฮันห์ เป็นเซนที่มีชีวิตชีวา แล้วเป็นเซนที่มีความรับผิดชอบทางจริยธรรมในระดับโลก จะเทศน์อย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น และสามารถชี้นำทางจิตวิญญาณให้กับทางโลกได้อย่างไร

ให้ประชาคมโลกกลับมาสู่ร่องรอยให้ได้ ท่านทำถึงขนาดเขียนจดหมายไปหา จอร์จ บุช ท่านเข้าไปทำคอร์สสมาธิภาวนาในรัฐสภาของสหรัฐฯ ผลก็คือพุทธศาสนาสายท่านติช นัท ฮันห์ ได้รับการตอบรับในระดับโลกอย่างดีมาก ไม่ใช่พุทธศาสนาที่อยู่นิ่งๆ แล้วหลงภูมิใจว่าเราดีที่สุด

ปีที่แล้วอาตมามีโอกาสได้ไปร่วมงานกับท่านราว 2 สัปดาห์ มีฝรั่งที่มาอยู่กับท่านราว 800 กว่าคน และทุกคนสามารถปฏิบัติร่วมกันอย่างมีความสุข ปฏิสัมพันธ์กันด้วยหัวใจแห่งความเป็นคน อาตมาคิดว่าศาสนาของโลกในอนาคตต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง รู้ร้อนรู้หนาวกับชาวโลก และต้องสามารถผลิตชุดคำสอนที่เป็นเข็มทิศให้กับคนที่กำลังหลงผิดได้ด้วย

GM : ตัวคำสอนของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ว.วชิรเมธี : ในวันที่อาตมาไปกราบหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ท่านเล่าให้อาตมาฟังว่า หลวงปู่เป็นพระสายมหายานที่โชคดีมากที่ได้มาอ่านพระสูตรของเถรวาท พระสูตรนั้นคือ อานา-ปานสติสูตร ซึ่งเป็นสูตรที่ว่าด้วยปาฏิหาริย์แห่งการหายใจ

ซึ่งในเซนหรือในมหายานต่างๆ ก็มีพระสูตรต่างๆ แต่พระสูตรที่ดังๆ ก็จะเป็นวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร วัชรเฉทิกปรัชญาปาร-มิตาสูตร ลังกาวตารสูตร แต่ว่ามหาสติปัฏฐานสูตรก็ดี หรืออานาปานสติสูตรก็ดี เป็นพระสูตรแม่บทของพุทธศาสนาเถรวาท อยู่ในพระไตรปิฎกเถรวาท ท่านติช นัท ฮันห์ ท่านไม่ยึดติดถือมั่นว่าลัทธินิกายเซนของท่านเป็นสุดยอด ท่านจึงเรียนรู้ทั้งจากฝั่งมหายาน ทั้งจากเถรวาท ท่านเรียนรู้ภาษาจีน ฝรั่งเศส อังกฤษ เวียดนาม บาลีและสันสกฤต จนสามารถใช้ภาษาเหล่านี้ได้อย่างเป็นนาย ก่อนอาตมาจะเดินทางกลับ ท่านเล่าให้อาตมาฟังว่า พรรษานี้ท่านจะสอนเรื่องธรรมบท ซึ่งรวมบทกวีนิพนธ์ของพระพุทธเจ้าซึ่งรวมอยู่ในบทพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 ของพระไตรปิฎกของเถรวาท แต่พรรษานี้ท่านจะสอนด้วยภาษาบาลีสันสกฤต แล้วแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษด้วย นี่คือครูบาอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ทางจิตวิญญาณ ที่ก้าวข้ามลัทธินิกายแล้วเลือกเอาแต่สิ่งที่เป็นมธุรสของศาสนาออกมาหยิบยื่นให้กับประชาคมโลก

ในเมืองไทยของเรา พระสงฆ์ที่มีวิสัยทัศน์ขนาดนี้ยังหาได้น้อยมากๆ เพราะเรายังไปติดกับยศชั้นขุนนางพระ แล้วเราก็หลงลืมงานหลักของเราไปว่าคืองานศึกษาพระธรรมวินัย นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน จากนั้นก็นำมาสร้างสรรค์ภูมิปัญญาใหม่ให้กับชาวโลก อาตมาว่าหากเราสามารถก้าวข้ามลัทธินิกายได้ เถรวาทกับมหายานจะช่วยกันทำงานในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะอาตมามองว่าเถรวาทก็ดี มหายานก็ดี ก็คือปีกทั้งสองของนกตัวเดียวกัน คือพุทธศาสนา นกจะบินได้ดีก็ต้องอาศัยปีกทั้งสองข้าง แต่เวลานี้ ต่างคนต่างคิดว่าปีกของตัวเองพอแล้ว

จริงๆ แล้วลักษณะการดูหมิ่นถิ่นแคลนลัทธินิกายอื่นมีมานานมาก มีการกล่าวถึงไว้ในประวัติศาสตร์เรื่องที่เถรวาทถูกกล่าวอ้างโดยถูกเรียกว่าสาวกยาน หรือหีนยาน คือเป็นยานเล็กๆ ยานกระจอก ไม่เหมือนมหายานซึ่งขนคนเข้านิพพานได้มากกว่า การดูถูกแบบนี้มีมานาน จนต่อมาเมื่อมีการประชุมที่ประเทศศรีลังกา ผู้รู้ทางพุทธศาสนาทั้งสองนิกายประชุมกันแล้วบอกว่า จากนี้เป็นต้นไป ทั้งสองนิกายอย่าไปดูถูกกันด้วยคำว่ามหายานหรือหีนยานเลย ให้เรียกใหม่ว่า เถรวาทกับอาจารยวาทแทนเถรวาทมาจากการสังคายนาพระไตรปิฎก ส่วนอาจารย-วาทมาจากการสืบสายต่างๆ ของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ตัดคำในเชิงดูหมิ่นทิ้งเสีย นี่คือความพยายามในการลดความดูหมิ่นถิ่นแคลนกัน ลักษณะคับแคบและตีบตันในทางจิตวิญญาณนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น มีในหมู่สงฆ์ไทยด้วย

ซึ่งอาตมาว่าอันตรายกว่าระเบิดทุกลูกประดามี เพราะเรามีลักษณะการผูกขาดทางจิตวิญญาณ เราก็จะศรัทธาเฉพาะความจริงชุดที่อยู่ในมือเราเท่านั้น เช่นเดียวกัน ใครที่ไม่เอากับเราด้วย เราก็ไปลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นคนของเขาลง และนั่นเป็นช่องทางที่ทำให้เราทำร้ายเพื่อนมนุษย์ที่เห็นไม่ตรงกับเรา โดยที่ไม่รู้สึกผิด ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่าทุกอย่าง การฆ่าคนโดยที่ไม่รู้สึกผิด อาตมาคิดว่าเป็นยาพิษที่น่ากลัว ที่สุดในโลก เพราะเราจะคิดว่าตัวเองไม่ได้ทำบาป ซ้ำยังรู้สึกว่าเรากำลังพิทักษ์รักษาสิ่งที่ถูกต้องที่สุดอยู่ ฉะนั้น การฆ่าในนามของพระเจ้าหรือศาสนาหรือความถูกต้องคือการฆ่าที่อันตรายที่สุด เพราะมันเป็น การฆ่าที่ผู้ลงมือไม่รู้สึกว่ากำลังทำความผิด ลักษณะเช่นนี้เกิดจากการผูกขาดความจริง

GM : เข้าใจว่าท่านติช นัท ฮันห์ ยังหยิบจับแก่นของศาสนาอื่นเข้ามาผสมด้วย เช่นเรื่องความรักในศาสนาคริสต์ ซึ่งเรื่องแบบนี้น่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในพุทธของไทยด้วยเช่นกัน

ว.วชิรเมธี : อาตมาคิดว่าหลวงปู่ท่านหลุดออกจากทุกๆ ลัทธินิกาย ในศีล 14 ของหมู่บ้านพลัม ศีลข้อแรกก็คือ ขอให้เธออย่าได้ไปยึดติดถือมั่นในชุดความเชื่อ ตลอดจนลัทธินิยมอุดมการณ์ต่างๆ ทุกรูปแบบ แม้กระทั่งลัทธิความเชื่อนั้นจะชื่อว่าพระพุทธศาสนาก็ตามเซนจึงมีนิทานปรัชญาอยู่เรื่องหนึ่ง คือลูกศิษย์ถามอาจารย์ว่า ถ้าหากพบพระพุทธเจ้าแล้วจะทำอย่างไร อาจารย์ตอบว่า ถ้าพบก็ฆ่าเสียสิ หลวงปู่ประยุกต์คำสอนมาจากนิทานเรื่องนี้ เพราะว่าเราไปยึดติดถือมั่นอยู่ในชุดของความเชื่อต่างๆ ซึ่งคนเราผลิตออกมาแล้วเผยแพร่ไปทั่วโลก ทำให้เราพลาดจากความจริง พอเราพลาดจากความจริง เราก็เลยทะเลาะกันด้วยความเชื่อ แล้วคนที่อยู่กับความเชื่ออย่างเข้มข้น ในทางปฏิบัติก็คือจะมีความรู้สึกสูง แต่เหตุผลต่ำ รักง่าย หลอกง่าย เกลียดง่าย และฆ่ากันง่าย ท่านจึงพยายามเรียนรู้ภูมิปัญญาทั่วโลก

วันหนึ่ง ขณะที่กำลังนั่งเรียนรู้อยู่กับท่าน ท่านเอาหนังสือเล่มหนึ่งคือหนังสือ ‘วินนี่ เดอะ พูห์’ ฉบับสมบูรณ์มาอ่านในที่ประชุม ลองคิดดูว่าผู้นำทางจิตวิญญาณอายุ 84 ปี ท่านมาอ่านวรรณกรรมเด็ก แล้วท่านก็สรุปว่าโลกทั้งโลกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ในลักษณะสรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน หรือ Interbeing ฉะนั้น เวลาที่เราปฏิสัมพันธ์กับอะไรก็ตาม เราควรเรียนรู้ที่จะเห็นทั้งหมด เพราะเมื่อเราเห็นเฉพาะจุดที่เราเห็นตรงหน้าของเรา มันก็เป็นแค่ซับเซตของความจริงทั้งหมด ทำให้เราหลุดออกจากความคับแคบในทุกรูปแบบ

พุทธศาสนาในอนาคตควรเป็นพุทธศาสนาที่เปิดกว้างเหมือนมหาสมุทร พร้อมจะรองรับน้ำจากทุกลำธาร พุทธ-ศาสนาแบบท่านทะไลลามะ แบบท่านติช นัท ฮันห์ ที่สำเร็จในระดับโลกก็เพราะว่าเปิดกว้าง แต่ขณะเดียวกันก็มีความแม่นยำในเชิงวิชาการที่เชื่อถือได้ อาตมาโชคดีมากที่ได้มีโอกาสรู้จักทั้งสองรูป เราได้สัมผัสท่านด้วยการศึกษางานที่ท่านเขียนและได้ไปร่วมใช้ชีวิตกับท่าน ได้เห็นชัดว่าทั้งสองท่านมีมาตรฐานทางวิชาการ มาตรฐานทางจริยธรรม และขณะเดียวกัน มีอัจฉริย-ภาพในการประยุกต์คำสอนที่สูงมาก นี่คือสิ่งที่เราควรเรียนรู้จากท่าน เมื่อไหร่ก็ตามที่เถรวาทไทยพยายามเรียนรู้จากทุกๆ แหล่ง แล้วปรับคำสอนของเราด้วยวิธีการนำเสนอสมัยใหม่ สังคมไทยก็จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากพระพุทธศาสนา

ทุกวันนี้เรามีพุทธศาสนาไว้บูชามากกว่าปฏิบัติ และเรากำลังทำให้พุทธศาสนาของเราเป็นศาสนาที่เข้าไม่ถึง แตะต้องไม่ได้ เราผูกขาดศาสนาไว้กับตัวเอง วันหนึ่งคนรุ่นใหม่จะทิ้งศาสนาไป แนวโน้มแบบนี้เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก คนที่บอกว่าตัวเองไม่มีศาสนามีกว่าร้อยละ 30 ฉะนั้นเมื่อไหร่ที่ศาสนาไม่ปรับตัวเอง คนรุ่นใหม่จะทิ้งศาสนาเอาไว้ แล้วเขาก็จะไปแสวงหาที่พึ่งทางจิตวิญญาณอื่น ในเมืองไทยของเราก็เห็นชัดมาก ตอนนี้มหายานมาแล้วนะทั้งฮ่องกง ไต้หวัน หรือแบบจีนมาแล้ว มหายานสังคมสงเคราะห์อย่างฉือจี้มาแล้ว มหายานสายวัชรญาณมาแล้ว แล้วได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มหายานสายเซนแบบท่านติช นัท ฮันห์ ก็มาแล้ว

ผลก็คือถ้าพุทธเถรวาทไทยยังหลงอยู่ในความวิเศษเดิมๆ ที่ว่าเราเจ๋งที่สุด ดีที่สุด เราไม่ต้องเรียนรู้อะไรแล้ว หรือแลกเปลี่ยนอะไรกับใคร ในอนาคตเราก็จะมีพุทธศาสนาไทยที่ดีที่สุดในเชิงคัมภีร์ แต่เราจะทำประโยชน์ให้กับโลกได้น้อยลง เพราะเราไม่ค่อยรู้ร้อนรู้หนาว ขณะที่เราจมจ่อมในที่ตั้งและคิดว่าเราเจ๋งที่สุด วันหนึ่งทางเลือกเหล่านี้อาจเข้ามาเป็นศาสนากระแสหลักของคนไทย

GM : ในระยะหลังดูเหมือนสังคมไทยจะมี ‘ผู้รู้’ และ ‘ผู้ตื่น’ มากขึ้น แต่ดูเหมือน ‘ผู้เบิกบาน’ จะมีอยู่น้อย และบางครั้ง ผู้รู้ผู้ตื่นเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันเอง

ว.วชิรเมธี : อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรานิยมศึกษาพุทธ-ศาสนาในเชิงคัมภีร์มาก เราทำวิจัยเรื่องพระพุทธศาสนาเยอะมากในมหาวิทยาลัย แล้วเราก็ถกเถียงประเด็นทางศาสนาเยอะมาก ที่รู้มาก ตื่นมาก เป็นการรู้ในระดับหัวสมอง แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงหัวใจ นั่นทำให้คนที่รู้มาก เถียงเก่ง อัตตามาก สามารถถกเถียงในวงวิชาการได้อย่างแพรวพราว แต่ในชีวิตจริงไม่ค่อยเบิกบานเท่าไหร่ เพราะเป็นการศึกษาในระดับหัวสมอง

ในบ้านเรามีคณาจารย์ที่สอนเรื่องศาสนาอยู่เต็มไปหมด

แต่ในเวลาที่เกิดวิวาทะทางสังคม ก็จะมีไม่กี่คนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยมากก็เลือกที่จะรักษาตัวเองอยู่ สบายกว่ากันมาก มีน้อยคนมากที่จะเอาจิตวิญญาณของตัวเองจุ่มลงในการปฏิบัติ แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในวิถีชีวิตของตัวเอง จนเป็นประจักษ์พยานให้คนเห็น

GM : บางทีเราเห็นวิวาทะของผู้ที่หลายคนถือว่าเป็นผู้รู้ผู้ตื่น แต่วิวาทะนั้นกลับไม่เหมือนสมัยก่อนที่ท่านพุทธทาส มีวิวาทะทางปัญญากับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กลับกลาย เป็นวิวาทะเรื่องผลประโยชน์

ว.วชิรเมธี : เราศึกษาพุทธศาสนาเพื่อเป็นผู้รู้ แต่ไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาเพื่อที่จะเป็นผู้ตื่นขึ้นมา ฉะนั้น ถามว่าทำไมผู้ตื่นน้อยกว่าผู้รู้ เพราะเจตนาในการศึกษานั้นแตกต่างกัน เวลานี้เราศึกษาพุทธศาสนาเพื่อการสอบได้ หรือการได้สอบ หรือปรับวุฒิ หรือเพื่อการทำมาหากิน มากกว่าที่จะนำมาเปลี่ยนคุณภาพชีวิต พอเจตนาในการศึกษาพุทธศาสนาเบี่ยงเบนแบบนี้ ผลมันก็เลยผิดสำแดงอย่างที่เห็น ฉะนั้น การศึกษาพุทธศาสนา หากอยากได้ผล ต้องตั้งเจตนารมณ์ ฉันศึกษาเพื่อจะเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของฉันเอง ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้สามารถอธิบาย หากได้มาก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ แต่ทุกวันนี้เราไปติดผลพลอยได้ ทำให้เราจับประเด็นพลาด และศาสนาซึ่งพยายามอย่างเหลือเกินที่จะไม่ให้คนทะเลาะกัน บางทีก็กลายเป็นสาเหตุให้คนทะเลาะกัน ปีหนึ่งไม่รู้กี่หนนะ เพราะผู้ศึกษาเองไม่ตื่น คือไม่มีสติ พอไม่มีสติ ก็พยายามปกป้องชุดความคิดที่ตัวเองสร้างขึ้น และบางทียิ่งรู้พระพุทธศาสนามาก ก็ยิ่งเกลียดคนอื่นได้มากขึ้น เพราะอัตตามันวิจิตร ความโกรธเกลียดชิงชังก็เลยถูกสร้างมาอย่างวิจิตรและแนบเนียนด้วย นี่ก็เป็นอันตรายที่แฝงมากับการศึกษาพุทธศาสนาในระดับอิทัปปัจจยตา คุณไม่สามารถแยกศาสนาก้อนหนึ่ง สังคมก้อนหนึ่ง การเมืองก้อนหนึ่ง ปัจเจกบุคคลก้อนหนึ่งได้เลย แท้ที่จริงในคนหนึ่งคน คุณสามารถค้นพบทุกอย่างบนตัวเขา มีทั้งมิติทางจิตวิญญาณ มิติทางการเมือง สังคม มิติศาสนา หรือน้ำหนึ่งขวดที่อยู่ในมือเรา เราสามารถเห็นมิติทางจิตวิญญาณ ถ้าเราดื่มน้ำอย่างมีสติ น้ำนี้เป็นเครื่องมือการเจริญสติ เราสามารถเห็นการเมือง เพราะว่ากว่าจะได้สัมปทานบ่อน้ำแร่ตัวนี้ อาจจะต้องจ่ายใต้โต๊ะให้นักการเมืองคนไหนบ้าง เราสามารถเห็นมิติทางสังคม บริษัทไหนทำและบริษัทนี้ให้หรือเบียดเบียนสังคมเท่าไหร่ บริษัททำการตลาดเท่าไหร่เพื่อให้คนมาซื้อน้ำขวดกิน และในแง่ของปัจเจกบุคคล ถ้าเขาศรัทธาแบรนด์นี้ เขาก็จะอยู่กับแบรนด์นี้ไปตลอด ไปดื่มยี่ห้ออื่นก็คงไม่อร่อย

เห็นไหมว่าในน้ำหนึ่งขวดเราเห็นอะไรได้มากมาย เราไม่สามารถแยกอะไรออกเป็นกองๆ หรือส่วนๆ ได้หรอก ในสังคมไทยเราเห็นวิธีคิดแบบแยกส่วนเยอะมาก บางคนบอกว่าคุณเป็นหมอ มาวุ่นวายกับการเมืองทำไม คุณเป็นพระมาวิจารณ์การเมืองทำไม คุณเป็นครู คุณสอนหนังสือไปสิ มาออกทีวีทำไม นี่สะท้อนให้เห็นว่าวิธีคิดแบบแยกส่วนซึ่งแทรกอยู่ในความคิดของคนไทย เราพยายามจะให้ทุกคนอยู่ในสายพานการผลิตที่ตัวเองสังกัดเท่านั้น พระอย่าพูดเรื่องสังคม พระต้องพูดเรื่องธรรมะ หมอรักษาคนไข้ อย่ามาช่วยปฏิรูปบ้านเมือง ครูอาจารย์อยู่ในโรงเรียนโน่น อย่ามาวุ่นวายกับชาวโลกเขา นักเขียนก็เขียนหนังสือไปสิ มาวิพากษ์คนอื่นทำไม นี่เป็นวิธีคิดแบบแยกส่วนที่เราเห็นอยู่ในหมู่คนไทยทั่วไป เห็นอยู่ในบรรดาคนที่ไปโพสต์ไว้ในบล็อก อินเตอร์เน็ต ในมายสเปซ ในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค วิธีคิดของคนมันกองอยู่ในพื้นที่เหล่านี้เยอะมาก แล้วเราก็ได้เห็นว่า ส่วนมากเป็นวิธีคิดแบบแยกส่วน

พอเราคิดแบบนี้เราจึงไม่สามารถเห็นความจริงได้ทั้งหมด ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะเราเห็นปัญหาทีละส่วนเท่านั้นเอง ก็ต้องตามทยอยแก้กันไป จริงๆ จะบอกแค่ว่าในบ้านในเมืองเราไม่ได้หรอก มันเป็นทั้งโลก ช่วงที่อาตมาไปอยู่กับท่านติช นัท ฮันห์ ท่านใช้เวลาเทศน์เฉพาะเรื่องอิทัปปัจจยตาถึงสองสัปดาห์ พออาตมาไปลากลับ ซึ่งเหลือเวลาอีกหนึ่งสัปดาห์จะจบคอร์สปฏิบัติ ท่านก็บอกว่ากลับได้แล้ว เพราะส่วนที่สำคัญที่สุด หลวงปู่ได้เทศน์ไว้หมดแล้ว ท่านใช้เวลากับเรื่องนี้มาก

GM : เวลาท่านติช นัท ฮันห์เทศน์ ท่านเทศน์อย่างไรบ้าง ทราบว่าส่วนมากท่านมักจะมีเรื่องเล่า

ว.วชิรเมธี : ใช่, ท่านติช นัท ฮันห์ เวลาท่านเทศน์ ท่านมักมีเรื่องเล่าและมีอุปกรณ์ประกอบ เช่นท่านอาจจะรินชามาถ้วยหนึ่ง สอนเรื่องอิทัปปัจจยตา เช่นว่าให้เรามองดูเมฆ ให้เรามองดูต้นไม้ ให้เรามองดูก้อนหิน ให้เรามองดูพ่อค้าคนกลาง ให้เรามองดูสิ่งรอบตัว มองดูคนที่อยู่ในกระบวน- การของคนที่อยู่ในกระแสบริโภคนิยม ให้เห็นระบบพ่อค้าคนกลาง ระบบของการกดขี่แรงงานในถ้วยชานั้น พอท่านสอนให้เรามองอย่างนี้ ในชาหนึ่งถ้วย เราก็เห็นโลกทั้งใบ บางครั้งท่านก็เอาไม้ขีดขึ้นมาจุด แล้วท่านก็บอกว่าไฟนี้มาจากสภาวะที่ไม่ใช่ไฟ เพราะอะไร เพราะว่ากล่องไม้ขีดก็อย่างหนึ่ง ไม้ขีดก็เป็นอย่างหนึ่ง การขีดไม้ขีดก็เป็นอย่างหนึ่ง พลังงานก็เป็นอย่างหนึ่ง ทั้งบอกว่าโลกทั้งโลกนี้เกิดจากสภาวะที่ไม่ใช่ตัวเองมาแต่เดิมทั้งนั้น แล้วมันเกิดจากอะไร ในเมื่อมันไม่ได้เกิดจากสภาวะเดิม ท่านก็บอกว่ามันก็เกิดจากสภาวะที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่ไหลเลื่อนต่อมาตามลำดับ เสร็จแล้วท่านก็จุดไม้ขีด แล้วท่านก็พูดว่า ไฟมาจากส่วนที่ไม่ใช่ไฟ

หรือบางทีท่านก็ถือหนังสือของอัลแบร์ กามูส์ แล้วท่านก็อ่านเรื่องสั้นให้ฟัง วิเคราะห์ว่าในเรื่องนี้มีชุดความคิดเรื่องพุทธ-ศาสนาอะไรอยู่ในนั้น วันหนึ่งที่อาตมาไปอยู่กับท่าน ท่านเอาฟอร์เวิร์ดเมลซึ่งเป็นสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา มาอ่านให้ที่ประชุมฟัง แล้วท่านก็บอกว่า โอบามาไม่ธรรมดา สามารถเป็นธรรมาจารย์ได้ เพราะวิธีพูดของโอบามานั้นเป็นการพูดแบบองค์รวม โอบามาบอกว่า “เขาเองก็เป็นผลผลิตของสังคมอิสลาม ขณะเดียวกันก็ได้รับอิทธิพลคำสอนของพระเยซูคริสต์ และผมเองชื่นชอบวิธีคิดของพระพุทธองค์มาก ที่สอนให้มองโลกเฉพาะสิ่งที่สร้างประโยชน์กับโลกเท่านั้น เพราะชีวิตเราสั้น” พอท่านอ่านจบแล้วท่านบอกว่า วิธีคิดแบบโอบามาเป็นวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา และท่านสรุปว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเกิดมาจากสัดส่วนของสิ่งที่เรียกว่าเป็นตัวเขาที่แท้จริง โอบามาก็มาจากสภาวะที่ไม่ใช่โอบามา นี่คือ Interbeing ฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวท่าน สามารถเป็นวัตถุดิบในการเรียนการสอนของท่านได้หมด เมื่อเราไปอยู่กับท่านติช นัท ฮันห์ เรากำลังอยู่กับครูผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งสามารถคลี่คลายเรื่องที่แสนยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายในพริบตา ด้วยวัตถุดิบอะไรก็ได้ที่อยู่ตรงหน้าท่าน

GM : สำหรับชาวบ้านทั่วไป การมองเห็นแบบองค์รวมจะช่วยทำให้เขาหมดทุกข์ได้อย่างไร ทั้งที่ยังต้องพบกับทุกข์เชิงโครงสร้างอยู่

ว.วชิรเมธี : ในระดับความคิด การเห็นอิทัปปัจจยตาจะทำให้เขาเป็นคนใจกว้าง เขาจะไม่ทุกข์กับการต้อนทุกคนให้คิดเหมือนเขา นี่เป็นผลที่เห็นชัดมาก แต่ระดับจิตวิญญาณ เขาจะหลุดออกจากอัตตาอย่างถาวรเลย เพราะอัตตาคือมวลแห่งอุปาทานก้อนหนึ่งซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นมาซ้อนลงไปในสมมุตินี้ ซึ่งไม่มีตัวจริงแม้แต่น้อย

ถ้าหากเราหลุดจากก้อนนี้ได้ เราก็จะมีอิสระมาก เรายังคงรับรู้สิ่งต่างๆ ในทางประสาทสัมผัสเหมือนเดิม แต่ปฏิกิริยาการตอบสนองจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เรายังคงกิน ดื่ม ง่วง เวลามีใครด่าเรา ชมเรา เราก็ยังรู้สึก แต่ว่าท่าทีในการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่มากระทบจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คุณยังคงกระทบอยู่ เพราะคุณอยู่ในโลก แต่ไม่กระเทือน เพราะคุณรู้แล้วว่ามันไม่มีตัวตนของคุณซึ่งมารับสิ่งที่กระทบอีกแล้ว คือหลุดออกมาจากการ

ยึดติดถือมั่นในภาพรวมแห่งอัตตา เขาจะไม่แบกโลก และเขาจะรับใช้เพื่อนมนุษย์อย่างเต็มใจ เพราะเขาไม่มีเรื่องที่ตัวเขาจะต้องทุกข์อีกแล้ว ฉะนั้นผู้ที่สภาวะหลุดจากอัตตา แล้วเข้าสู่อิทัป-ปัจจยตานั้น จึงมีคำพรรณนาคุณสมบัติไว้อย่างหนึ่งว่า ไม่มีกิจที่จะต้องกลับมาทำอย่างนี้อีก หรือบางครั้งก็มีคำบรรยายว่าเป็นผู้ที่อยู่จบพรหมจรรย์ คือจบเรื่องที่จะต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว เพราะคุณถึงฝั่งแล้ว วันเวลาที่เหลือก็ให้โลกทั้งหมด พระพรหมคุณาภรณ์ ใช้คำว่า ‘อยู่ใน ใจเหนือ เกื้อโลก’ คืออยู่ในโลกท่ามกลางรูป รส สัมผัสทั้งหลาย ใจเหนือคือคุณเป็นอิสระจากรูปรสสัมผัสขึ้นไป เวลาที่เหลือเกื้อกูลชาวโลก นี่คือผลของคนที่หลุดออกไปแล้ว คุณจะหลุดออกจากทิฐิบรรดามีทั้งหมด คุณไม่ต้องแสวงหาความสุขที่ไหน เพราะคุณเป็นตาน้ำแห่งความสุขเรียบร้อยแล้ว นี่ละจึงมีชีวิตที่สดชื่นรื่นเย็นอยู่ทุกวัน ยังคงทำงานและใช้ชีวิตอยู่ แต่เป็นการใช้ชีวิตและการทำงานอีกแบบหนึ่ง ซึ่งคุณจะไม่หลงโลก ไม่แบกโลกอีกต่อไป อาตมาคิดว่านี่เป็นเป้าประสงค์ของการศึกษาพระพุทธศาสนา

GM : ท่านเป็นพระที่ใช้ทวิตเตอร์ในการทวิตธรรมะเป็นรูปแรกๆ ท่านโพสต์ด้วยตัวเอง หรือใช้เวลาไปกับการทำสิ่งเหล่านี้มากแค่ไหน

ว.วชิรเมธี : ส่วนมากเลย เด็กๆ เขาจะไปสอยเอามาจากสิ่งที่อาตมาบรรยาย คัดมาแล้วก็เอาไปลง อาตมาไม่ได้ทวิตเอง มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและสื่อสร้างสรรค์เอาไปทำ แต่เขาจะเอามาให้อาตมาเลือกบ้างว่าชิ้นไหนใช้ได้ เช่นเขาจะเอามาทีละ 10 ข้อความ พอพระอาจารย์เคาะ เขาก็จะเอาไปโพสต์ เราไม่ต้องทำเองทุกอย่าง แบ่งงานกัน ทำแล้วถูกด่าก็มาก ถูกชมก็มาก อย่างที่บอก เอาไปตีความว่าเราเห็นดีเห็นงามกับการฆ่าคน อาตมาถือว่าไม่เมกเซนส์แล้ว เพราะเราพูดในบริบทหนึ่ง แล้วเอาไปอ้างอีกบริบทหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปตอบโต้ ใครเอาไปเขียนผิดๆ ก็สะท้อนความตื้นเขินของเขาเอง เพราะใช้ตรรกะสามัญธรรมดาๆ ก็รู้แล้วว่ามันไม่ใช่ อาตมาจะพูดแบบนั้นได้ก็ต่อเมื่ออาตมาวิกลจริตไปแล้วเท่านั้น

GM : ในช่วงนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นจากภัยธรรมชาติต่างๆ ท่านมาอยู่กับธรรมชาติอย่างนี้ ได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติไหม และถ้ามองในแง่ธรรมะ เรารับมือกับมันอย่างไร

ว.วชิรเมธี : อาตมาคิดว่าถ้าเราจะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกทุกวันนี้ เราต้องตื่นขึ้นมามองดูว่า มันเกิดอะไรขึ้นระหว่างคนกับธรรมชาติ แล้วเราก็ต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมบางอย่าง อย่างอาตมามาอยู่ที่แถบนี้ตั้งแต่อาตมาจบเปรียญ 9 แต่ไม่ได้บอกใคร ทุกๆ เดือนจะมาปักกลดอยู่บนเขาฝั่งโน้น กว่าจะตัดสินใจว่าจะอยู่ที่นี่ อาตมามาตั้งแต่ปี 2545 แต่เป็นการอยู่แบบเข้าเงียบ เราก็ได้เห็นว่าฤดูหนาวที่นี่ลดลง ปกติอาตมาคิดว่าฤดูหนาวที่เชียงรายนี่อ้อยอิ่งมากเลย ตั้งแต่พฤศจิกายนจนถึงกุมภาพันธ์ พอเดี๋ยวนี้ปลายกุมภาพันธ์ก็ร้อนมาก ร้อนเร็ว เห็นชัดมาก และทุกปีนกเป็ดน้ำจะอพยพมาที่นี่ แต่เดี๋ยวนี้อาตมาสังเกตว่าเขาจะกลับเร็วขึ้น อาตมาคิดว่าสารที่ธรรมชาติส่งมาถึงเรานี่ เราคงต้องอ่านให้ออกว่ามันเกิดอะไรขึ้น ระหว่างมนุษย์กับตนเอง มนุษย์กับสังคม และมนุษย์กับธรรมชาติ

อาตมาเริ่มเห็นความผิดปกติของคนกับคน คือคนเราเองเดี๋ยวนี้ให้เวลากับตัวเองน้อยลงมาก โยมรู้ไหมว่ายิ่งธุรกิจสปาเติบโตมากเท่าไหร่ คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์สนใจตัวเองน้อยลงทุกที คุณไปสปา คุณอยากจะทำเพื่อตัวเอง แต่คุณใช้บริการคนอื่นทั้งนั้นเลย ถ้าคุณให้เวลาตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว คุณจะไม่ต้องไปอะไรแบบนั้นเลย เห็นไหม นี่คนกับตนเองนะ คนเราให้เวลาสนใจกับเทคโนโลยีมากขึ้น บางทีอยู่ด้วยกันแต่นั่งก้มหน้าเล่นไอโฟน บีบี นั่นแสดงว่าเราปฏิสัมพันธ์ด้วยหัวใจน้อยลง แต่ปฏิสัมพันธ์ด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น บางทีเราเขียนบีบี กับการคุยทางโทรศัพท์ อะไรมันดีกว่ากัน แต่เพราะเราไปบริโภคอุปาทานของแบล็คเบอร์รี่ เราก็เชื่อไปว่าสิ่งนั้นดีกว่า อาตมาเรียกว่าเป็นสัมพันธพลาดไปแล้ว

ส่วนคนกับสังคม อาตมาคิดว่าคนกับสังคม คนเองเริ่มเห็นค่าสังคมน้อยลงทุกที มีวิธีคิดในเชิงปัจเจกชนนิยมมากขึ้น คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองรวย อย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่อาตมาอ่านเจอไม่นานมานี้ บอกว่า 78.3% ของนักธุรกิจไทยหากินกับการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ข้าราชการ และน่ากลัวยิ่งกว่านั้น 80% ของนักธุรกิจเหล่านั้นบอกว่ายินดีที่จะทำอย่างนั้นต่อไป เพราะมันทำให้การทำธุรกิจง่ายมาก คุณคิดถึงสังคมไทย แล้วคนเหล่านี้ ต่างเป็นส่วนหัวของผู้ที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งนั้นเลย แล้วมีวิธีคิดแบบนี้ เห็นไหมว่าคนคิดถึงสังคมกันไหม วิธีทำธุรกิจของคนในสังคมไทยเดี๋ยวนี้ถือเป็นการกัดกินสังคมไทยไปในตัวด้วย

แล้วทีนี้คนกับธรรมชาติ เราสูบดินสูบฟ้ามาปรนเปรอกันมากเกินความจำเป็น ผลิตเกิน บริโภคเกิน เราบริโภคอุปาทานของปัจจัย 4 ไม่ใช่ปัจจัย 4 ฉะนั้น ธรรมชาติจึงสึกหรอเร็วมาก เราเห็นได้ชัดว่าทุกอย่างเสื่อมเร็วมาก พอเราเห็นได้ชัด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราคงต้องหันมาถามตัวเองว่าวิถีชีวิตของคนเรามีส่วนในการเบียดเบียนธรรมชาติหรือไม่ เบียดเบียนสังคม เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์หรือไม่ ถ้าเราตื่นก่อน เราก็จะใช้ชีวิตไปอีกทางหนึ่ง เราไม่สามารถใช้ชีวิตไปทางเดิมได้แล้ว เพราะเราจะสงสารเพื่อนมนุษย์ ปัญญาที่แท้จะมาพร้อมกับความสงสาร

คิดแต่จะช่วยคนอื่น เหมือนน้ำที่มันล้นสันเขื่อนยังไงมันก็ต้องล้น แต่ปัญญาที่ไม่แท้จะมาพร้อมกับสงครามว่าเราเหนือคนอื่น เราต้องช่วยกันให้ทุกคนตื่นรู้ในระดับองค์รวม การตื่นรู้ในระดับปัจเจกไม่พอที่จะเกื้อกูลโลกนี้ มันต้องอาศัยการตื่นรู้ร่วมกันของคนทั้งโลก ถึงจะเห็นทางรอด ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ อัล กอร์ ทำให้ดูแล้ว

ฉะนั้นถ้าวกกลับมาดูสังคมไทย สังคมไทยต้องหาคนที่มาสร้างความตื่นรู้ร่วมกันทั้งสังคม ในระดับประเทศ ให้เรารู้ว่าเราจมอยู่ในอะไร ทำไมยิ่งพัฒนามากขึ้นยิ่งล้าหลัง รัฐบาลไม่สามารถสร้างความตื่นรู้ในระดับสังคมได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ในขณะนี้ คือพยายามทำให้คนหลับหูหลับตาทั้งสังคม ซึ่งเป็นอันตรายมาก แต่ในขณะเดียวกัน คนที่พยายามจะทำให้สังคมเกิดการตื่นรู้ร่วมในระดับสังคม ก็จะต้องไม่ใช้วิธี

ที่ผิดด้วย คุณถามหาความเป็นธรรม วิธีการของคุณก็จะต้องชอบธรรมด้วย เพราะไม่เช่นนั้นคุณก็จะเป็นตัวปัญหาที่ทำให้อธรรมรุ่งเรืองขึ้นเหมือนกัน

อย่างอาตมาอยู่กับธรรมชาติยิ่งทำให้เราเห็นชัด อาตมา

คิดว่าสิ่งที่อาตมาทำได้ดีที่สุดก็คือช่วยกันเผยแพร่แนวคิดเหล่านี้ที่เป็นสัมมาทิฐิไปให้สังคมเยอะๆ แล้วสื่อต้องใช้มากๆ ให้เป็นประโยชน์ อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา อาตมาเพิ่งเห็นว่าสื่อใช้ตัวเองเป็นก็คราวนี้ เพราะฉะนั้นสรยุทธที่เป็นกรรมกรข่าวมาทั้งหมด เขาขึ้นถึงจุดสูงสุดก็ตอนที่เขาลงไปช่วยน้ำท่วมนี่ล่ะ สื่อต้องมีความเป็นคนในหัวใจ ถ้าสื่อมีความเป็นพ่อค้าแล้วก็ทำให้ตัวเองร่ำรวยอยู่แค่นั้น อาตมาคิดว่าเขายังไม่ใช่สื่อมวลชนที่แท้หรอก สื่อที่แท้ต้องมีมนุษยธรรมแล้วใช้ศักยภาพของสื่อในการเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ถ้าทำอย่างนี้ได้ สื่อทั้งโลกก็จะน่ารักมาก และเราสามารถใช้เครื่องมือที่เรามีอยู่คือสื่อมวลชนในการสร้างการตื่นรู้ในระดับสังคมได้

GM : มีผู้เข้ามาพบท่านมากในแต่ละวัน ส่วนใหญ่แล้ว คนที่พบกับพระมักเป็นผู้ที่มีทุกข์ คนที่เข้ามาหาท่านมีทุกข์ เรื่องไหนมากที่สุด

ว.วชิรเมธี : เท่าที่สังเกตมาหลายปี เรื่องที่มาเป็นอันดับแรกเลยคือ ทุกข์เพราะครอบครัว ถูกสามีทำร้าย ถูกกดดันจากพ่อแม่ ให้ทำตามความฝันของพ่อแม่ สอง, คือคนที่ทุกข์จากงาน คือต้องทนทำในสิ่งที่ตนเองไม่ได้รักชอบ เพราะไม่มีทางเลือก สาม, คือคนที่ทุกข์เพราะความคิด คนที่มีทุกอย่างพร้อมหมดเลย แต่รู้สึกข้างในมันว่างมันโหวง เป็นทุกข์ของเทวดานะ เพราะกลุ่มนี้จะทุกข์เพราะความคิดมากกว่าอย่างอื่น เพราะ

พื้นฐานเขาพร้อมหมด เขาทุกข์เพราะว่าสลัดบางอย่างออกจากหัวไม่ได้ บางคนนั่งเครื่องบินมาถามอาตมาคำถามเดียวเท่านั้น แล้วก็ฝากประโยคไว้กับอาตมาประโยคเดียวเท่านั้น “ท่านช่วยพูดเรื่องนี้หน่อยสิ มันอัดอั้นอยู่ในนี้ พูดไม่ได้” เสร็จแล้วก็นั่งเครื่องบินกลับเลยก็มี นี่คือทุกข์ความคิด เรียกว่าทุกข์เพราะแบกก้อนอุปาทานไว้ในหัว

GM : ใกล้จะถึงปีใหม่แล้ว ท่านมีอะไรอยากเตือนคนไทยไว้ล่วงหน้า สำหรับปีใหม่ที่จะมาถึง

ว.วชิรเมธี : อาตมาคิดว่าสิ่งที่ต้องระมัดระวังในปีหน้า คือต้องระวังเรื่องของการปะทะกันของกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอำนาจใหม่ ซึ่งตอนนี้แต่ละฝ่ายอยู่ในช่วงสะสมเสบียงกรัง นี่คือความรุนแรงแบบเปิดเผย เรื่องที่สองคือความรุนแรงเชิงความคิด

ซึ่งแต่ละสำนักต่างมีชุดความคิดของตัวเองแล้วพยายามหาสมาชิก ให้มากที่สุด เพราะเดี๋ยวนี้แต่ละสำนักคิดมีศาสดาตัวเป้งๆ ทั้งนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง และน่ากลัวว่าจะเกิดการปะทะกันของชุดความคิดที่แตกต่างกันอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกลุ่มก้อนของความจงเกลียดจงชัง แล้วก็แยกขาวแยกดำให้กับคนในประเทศนี้อย่างลงลึกถึงจิตวิญญาณ แล้วถ้าถอนไม่ได้มันก็จะกลายเป็นตราบาปที่เกิดขึ้นในสมัยของเราเอง ชุดความคิดที่อันตรายมากคือการคิดแบบสองขั้ว ไม่ขาวก็ดำ ไม่ดีก็ชั่ว ไม่กูก็มึง แล้วการเสนอชุดความคิดแบบไม่เกรงกลัวใดๆ แบบนี้ก็สุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกันและกัน ที่สำคัญ หากเรายังไม่สามารถทำให้สถาบันตุลาการเป็นสถาบันแห่งความศักดิ์สิทธิ์และสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนได้จริงๆ อาตมาเกรงว่าอาจจะเกิดสงครามกลางเมือง โดยมีตุลาการภิวัตน์เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่จะหยิบมาเป็นข้ออ้างในการฟาดฟันกัน

ฉะนั้น เราต้องช่วยกันรักษาก้อนเส้าก้อนนี้ไว้ให้ดี เพราะถ้าก้อนเส้านี้ถูกทำลาย จนไม่มีสถาบันใดให้เชื่อถืออีกแล้ว มีสิทธิ์ที่จะเกิดภาวะโกลาหลในสังคมได้ แล้วความรุนแรงแบบนี้จะกลายเป็นความรุนแรงที่เราหาคนกลางไม่พบ เพราะว่าสถาบันตุลาการกำลังทำหน้าที่เป็นคนกลางอยู่ แต่ถ้าหากวันหนึ่งสถาบันตุลาการถูกทำให้ไม่มีความน่าเชื่อแล้ว ก็จะไม่เหลือใครให้ทำหน้าที่คนกลาง

GM : ท่านคิดอย่างไรกับการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยทั้งสองคณะ

ว.วชิรเมธี : ถ้าคณะกรรมการปฏิรูปไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้คนเห็น อาตมาเกรงว่าสังคมจะทนกับสภาวะพะอืด-พะอมอย่างนี้ไม่ไหว ก็อาจจะทำให้คนที่อยากฉวยโอกาสชี้ชวนให้เราจงเกลียดจงชังกันได้ง่ายขึ้น ในเวลานี้ คณะกรรมการปฏิรูปไม่ควรไปเสียเวลากับงานวิจัยในระดับมหากาพย์ คุณควรจะคิดทางออกที่เป็นรูปธรรมและทำได้เลยกับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ คุณยังต้องการงานวิจัยอีกหรือ ใช้สามัญสำนึกธรรมดาก็ได้ว่ามันคืออะไร ถอดเสื้อคลุมทิ้งเลยว่ามันเป็นอะไร แล้วมาเป็นนักปฏิบัติการกันดีกว่า ถ้าคณะกรรมการปฏิรูปไม่สามารถทำอย่างที่พูด อาตมาคิดว่าถ้าเช่นนั้นก็อย่าเป็นให้เสียเวลาประเทศเลย สังคมคาดหวังจากคุณมาก แต่ถ้าไม่มีทางออก ก็เห็นชัดว่าคุณก็คือปัญหา ฉะนั้น คณะกรรมการปฏิรูปต้องรีบนำเสนอทางออกเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด ก่อนที่กลุ่มพลังต่างๆ จะฉวยโอกาสนำเอาคนไทยออกมาเข่นฆ่ากันบนท้องถนน นี่เป็นเรื่องที่อาตมาอยากจะให้ระวัง

GM : ดูเหมือนปีใหม่นี้เรามีเรื่องให้กังวลมากกว่าเรื่องดี

ว.วชิรเมธี : เรื่องที่น่ายินดีก็พอมี อาตมาคิดว่าเดี๋ยวนี้คนไทยเริ่มหันมาสนใจเรื่องจิตสาธารณะกันสูงขึ้น อยากให้ช่วยกันหล่อเลี้ยงกระแสนี้ หากเรามีจิตอาสาแบบนี้มากขึ้น จะทำให้สังคมไทยเกื้อกูลกันไปได้เรื่อยๆ จะพบวิกฤติหนักหนาแค่ไหนก็ตาม เราก็จะสามารถเชื่อมโยงกันได้ด้วยหัวใจของความเป็นคน เรื่องดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราเริ่มเห็นวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ที่เปิดกว้างมากขึ้น รัฐบาลก็ดี สื่อก็ดี คนสาธารณะก็ดี ควรเปิดใจกว้าง เพราะการยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นหลักไมล์ที่สำคัญของประชาธิปไตย สิ่งที่อันตรายไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ การปิดกั้นต่างหากที่เป็นอันตราย ฉะนั้น ถ้าเราเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายได้มีโอกาสในการทำงานทางปัญญาของเขาอย่างเสรีและมีความรับผิดชอบ สิ่งนี้ก็เหมือนกับรูระบายขนาดใหญ่ ให้คนเขาได้หายใจหายคอ อาตมาคิดว่ารัฐต้องไม่กลัวการวิพากษ์วิจารณ์ และคนไทยไม่ว่าจะคนเล็กคนน้อย ก็ไม่ควรจะกลัว ด้วยการเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ให้มากๆ

เรื่องดีเรื่องที่สามคือสื่อมวลชนที่เริ่มมีหัวใจมากขึ้น หากสื่อมีหัวใจของการสร้างสรรค์ ไม่เอาแต่ขายของ สื่อก็จะเป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะทำให้คนไทยหูตาสว่างมากขึ้น อีกความหวังหนึ่งก็หวังว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรง ทั้งจากผู้เรียกร้องความยุติธรรม และจากผู้ที่เป็นฝ่ายที่ถูกเรียกร้องด้วย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ