fbpx

เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน หลุดลูปการศึกษาที่ทั้งฆ่า ทั้งทำร้ายเรา

เรื่อง : สุธามาส ทวินันท์ / ภาพ : ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม 

หากการศึกษาเป็นแหล่งบ่มเพาะต้นกล้าทางปัญญา การศึกษาไทยก็คงเป็นโรงบ่มที่ขาดปัญญาในการบำรุงให้กล้าเหล่านั้นเติบโตไปเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง สามารถต้านลม พายุ และฝน อันโหมกระหน่ำได้     

เด็กไทยไม่รู้กี่ล้านคนที่ต้องติดอยู่บนกับดักของระบบการศึกษาไทยที่ไม่ต่างจากหลายสิบปีก่อน การศึกษาเรายังคงขาดความเท่าเทียม การศึกษาเรายังไร้ประสิทธิภาพ และการศึกษาเรายังนำไปปรับใช้ไม่ได้ในโลกของความเป็นจริง 

แต่ความเจ็บปวดของคนที่ติดอยู่ในระบบ อาจจะไม่มากเท่าคนที่สามารถพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นได้แล้ว เพราะไม่รู้จะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นความโชคดี หรือเป็นความทรมาณที่ต้องทนเห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมติดกับอยู่ระบบการศึกษาที่ฆ่าพวกเขาให้ตายไปอย่างช้าๆ เหมือนกับหนูที่โดนวางยาบนก้อนเค้กชิ้นโต 

‘เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน’ บรรณาธิการและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ SPACETH.CO ที่เล่าเรื่องอวกาศและวิทยาศาสตร์อันเข้าใจยากให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายฉบับข้อมูลแน่นปึ้ก แต่แฝงไปด้วยความยียวนชวนขบคิด 

แม้โลกการทำงานของเขาจะเริ่มตั้งแต่มัธยมและเว็บไซต์ที่ปลุกปั้นมาก็ไปได้สวย แต่เขาเองก็เป็นหนึ่งในเด็กไทยหลายล้านคนที่ถูกการศึกษาฆ่า และก็เป็นไม่มีกี่คนที่สามารถหลุดพ้นออกจากวังวันนั้นได้ 

วันนี้เราจึงไม่ได้อยากชวนเขามาคุยเรื่องอวกาศหรือวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการนั่งคุยกับเขาในฐานะเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ถูกระบบการเรียนการสอนในไทยทำร้ายเขา ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยถึงสองหน และเลือกเดินเส้นทางใหม่ที่เขาเชื่อ โดยไม่ทอดทิ้งคนที่ยังอยู่ไว้ข้างหลัง 

ทำไมถึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยถึงสองครั้ง ในตอนนั้นเจอปัญหาอะไรหรือสิ่งไหนที่ไม่ตอบโจทย์ตัวเอง

เติ้ล : ต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนว่าตอน ม.6 เทอม 1 ตอนนั้นยังไม่มีที่เรียน ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปเรียนที่ไหน แต่คิดว่าตัวเองเป็นสายเขียนโปรแกรม ก็เลยคิดว่าจะไปที่ Computer Science จุฬาฯ แต่ปรากฏว่าคะเเนนตัวเองไม่น่าจะถึง เพราะคะเเนนค่อนข้างสูงพอสมควร เพื่อนก็เลยเเนะนำว่าให้มาลงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งที่นี่เขามีโปรเเกรมที่ชื่อว่า Active Recruitment 

ก็คือเราสามารถเอาความสามารถพิเศษของเรายื่นเข้าไปได้เลย เราก็เอาคะเเนนความสามารถของเรายื่นเข้าไป ซึ่งก็ได้ แต่ประเด็นคือคณะนี้มันเป็นคณะอินเตอร์ ดังนั้นค่าเทอมก็จะสูงมาก เราก็เลยต้องใช้ช่วงเวลาทั้งเทอม 2 ในการหาค่าเทอม ซึ่งตอนนั้นมันประมาณ 5-6 หมื่นบาท ก็ถือว่าค่อนข้างเยอะสำหรับเด็ก ม.6 เเต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เราก็หาได้ เเล้วก็เข้ามาเรียนได้สักพักหนึ่ง 

ช่วงนั้นเราเริ่มต้นเป็นโรคซึมเศร้า อาจจะเพราะเรื่องหาเงินก่อนหน้านี้ก็ได้ที่ทำให้เป็น เเต่ตอนนั้นด้วยหลายๆ ปัจจัยที่มันผลักดันให้เราต้องเลือกที่จะเดินต่อ หรือว่าเลือกที่จะต้องทิ้งอะไรสักอย่างไป เเล้วก็มีเรื่องให้คิดหลายเรื่องมาก ทั้งเรื่องตัวเองว่าจะดูเเลตัวเองยังไง จะหาเงินยังไง จะทำงานไหวไหม ไหนจะเรื่องการเดินทาง เรื่องค่าใช้จ่าย คือตอนนั้นเราก็มาเริ่มทำ SPACETH.CO ด้วย ก็เลยมีปัญหาหลายที่มันปนกันมาก ถ้าให้เลือกตัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งออก เราจึงเลือกที่จะดรอปเรียนไว้ก่อน ซึ่งตอนนั้นไปเรียนได้เเค่ 3 อาทิตย์ แต่เราคิดว่ามันไม่โอเคเเล้วอ่ะ ก็เลยลาออกดีกว่า เราอยากที่จะตั้งหลักของตัวเอง 

เรารู้สึกว่าเราใช้เวลาเกือบจะหนึ่งปีที่ผ่านมาทำอะไรบางอย่างโดยที่เราไม่รู้ เรารู้เเค่ว่าเราต้องทำอย่างนี้ เรารู้เเค่ว่าเราต้องมีเงินเรียน เราต้องมีงานดีๆ ทำ ทุกอย่างมันมารวมกันหมด ณ จุดๆ นั้น เเล้วพอมันมาถึงจุดหนึ่งมันรู้สึกว่า ไม่ไหวเเล้ว

หมายความว่าการลาออกมีสาเหตุมาจากปัญหาส่วนตัวของคุณใช่ไหม ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับระบบการศึกษา

เติ้ล : ตอนเเรกเราคิดว่ามันเกี่ยวกับตัวเราเอง เเต่พอมาเจอครั้งที่สอง เราเริ่มรู้สึกเเล้วว่ามันไม่ใช่ปัญหาของตัวเราล่ะ คือใช่ มันอาจจะเป็นปัญหามาจากตัวเราส่วนหนึ่ง เเต่มันส่งผลมาจากการศึกษานั่นแหละ หลังจากที่ลาออกจากมหาวิทยาลัยครั้งแรก เราก็มาทำ SPACETH.CO เต็มรูปแบบ ซึ่งเราก็รู้สึกว่าชีวิตมันแฮปปี้ขึ้น เราพร้อมที่เริ่มอะไรหลายๆ อย่างใหม่อีกครั้งหนึ่ง ตอนนั้น SPACETH.CO ก็ไปได้ดีด้วย ได้รางวัล Best New Blog ในงาน Thailand Best Blog Award 2017 by CP All มา เราก็ได้ไปทำนู่นทำนี่เยอะมาก ได้รู้จักกับคนนู้น คนนี้เต็มไปหมด เลยรู้สึกว่าตอนนี้ทางเดินที่เราเลือกจะเดินไปไม่ใช่เรื่องของคอมพิเตอร์เเล้ว แต่เป็นเรื่องของการสื่อสารหรือการทำ Journalists และเราก็รู้สึกว่าโลกของวารสารศาสตร์มันต้องสนุกมากเเน่เลย ก็เลยยื่นคะเเนนเข้าไปที่จุฬาฯ ซึ่งเขาก็รับเรา ทุกอย่างมันดูเพอร์เฟกต์มาก คิดว่าชีวิตดีแล้วตอนนั้น 

แต่ปรากฏว่าพอเรียนไปเรียนมา มันมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ความรู้สึกว่าเราทำอะไรอยู่ เรากำลังวิ่งไล่ตามอะไรอยู่ ซึ่งตอนนั้นงานของ SPACETH.CO ก็เข้ามาเยอะ งานอื่นๆ ก็เข้ามาเยอะเหมือนกัน เเละมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราต้องไปทำงานใหญ่ที่ MIT Media Lab ซึ่งเป็นเเลปทำเรื่องงานวิจัยระดับโลก งานนั้นมันทำให้เราได้ไปเห็นอะไรที่เหนือกว่าการศึกษาเเบบไทยๆ ของเดิม ก่อนหน้านี้เราบ่นเรื่องระบบการศึกษา เเต่เราก็ไม่รู้ว่าไอ้ระบบที่ดีจริงๆ มันเป็นยังไง เราเองก็ยังไม่เคยได้ไปสัมผัส เราเพียงเเค่เคยได้อ่านในหนังสือ ได้ดูใน YouTube อะไรเเบบนี้ แต่เมื่อเราไปเจอกับตัวเองเเค่อาทิตย์เดียว ซึ่งจริงๆ มันสั้นมากนะ เเต่ว่ามันเปลี่ยนวิธีการคิด เปลี่ยนมุมมองของเราต่อการศึกษาทันที คือกลับมาเราไม่ไปเรียนเลย เพราะเรารู้สึกว่าการเรียนการสอนปัจจุบันมันไม่ได้โฟกัสสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องใช้จริงๆ 

เเล้วเรารู้สึกว่าเวลา 4 ปี ที่เราจะต้องหมดไปกับมหาลัย มันเป็น 4 ปี ที่เปลี่ยนชีวิตเรามากนะ แล้วมันเป็น 4 ปี ที่เราเลือกเอง ไม่ได้มีใครมาเลือกให้ ทีนี้พอเรามองไปข้างหน้า เราก็มองออกเเล้วว่าเราต้องเรียนอะไรบ้าง จะต้องเจออะไรบ้าง ปี 3 จะต้องไปฝึกงาน จะต้องทำโปรเจกต์ ซึ่งมันเป็นทางที่เราก็เห็นอยู่เเล้วว่าเป็นยังไง เพราะเราเริ่มทำงานมาตั้งแต่มัธยม แต่เราเเค่รอเวลาที่จะเข้าไปถึงตรงนั้นเท่านั้นเอง ซึ่งเป้าหมายจริงๆ ของเรามันไกลกว่าทางนี้หรือเปล่า 

ตอนนั้นกลับมาเราก็เลยตัดสินใจอะไรหลายๆอย่าง สุดท้ายก็เลือกที่จะลาออกโดยมองภาพรวมในระยะยาว ซึ่งตอนนี้ที่เรากำลังโฟกัสอยู่ก็คือตัวเอง โอกาสของตัวเอง ความรู้สึกของตัวเอง เเละก็เป้าหมายของตัวเองที่จะทำให้เรามีความสุขในอนาคต 

ตอนที่ไปดูงานมา เจออะไรบ้างที่ดีกว่าไทยมากจนทำให้ความคิดของคุณมันเปลี่ยนไปแทบจะในทันทีเลย

เติ้ล: ผมแเค่ไปดูงานนะ แต่ที่นั่นเขามีการเรียนการสอนกันในเเบบที่ไม่มีคลาส เป็น Project base หมดเลย เหมือนกับว่าคุณเอาเด็กเข้ามาอยู่ในสภาพเเวดล้อมที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เเล้วเด็กก็สามารถเลือกจะทำอะไรก็ได้ โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนความคิดนั้นของเด็ก เเละเอาไปปรับใช้ เอาไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมของตัวเองต่อไป ซึ่งเรารู้สึกว่าโมเดลเเบบนี้ไม่เหมือนกับในไทยที่พอบอกว่าเอกชนมาสนับสนุนการวิจัย มันเเปลว่าคุณเอาเงินมาก้อนหนึ่ง เเล้วมหาลัยเอาเงินไปสั่งให้เด็กทำวิจัยเรื่องนั้น ประเด็นนั้น ซึ่งคุณเองก็รู้อยู่เเล้วว่าผลลัพธ์จะออกมาเเนวไหน เเบบนั้นมันคือการใช้มหาลัยเป็น Research and Development ขององค์กร แต่ที่เราไปเห็นมาเขาไม่ได้เอาองค์กรใหญ่มาเป็นคำสั่งว่าคุณต้องทำนวัตกรรมเเบบนี้นะ จะต้องทำ AI จะต้องทำ Smart Farming อะไรแบบนี้ เเต่สิ่งที่เราไปเห็น เราเห็นกระบวนการที่การเกิดความคิดสร้างสรรค์ เเละการเกิดการเรียนรู้ของเด็กว่าต้องมาจากตัวเด็กเอง ต้องมาจากสิ่งที่ตัวเด็กคิด สิ่งที่เด็กเชื่อ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ความเจ๋งของวิชาการ ไม่ใช่จำนวนของการวิจัย เเต่มันคือความสามารถในการคิดเเล้วก็สร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาจากตัวเด็กเอง เเล้วอาจารย์ต่างๆ เเค่ช่วยพาให้เด็กอยู่ในทางที่ถูกต้อง 

ตอนนี้รู้สึกว่าทางที่ตัวเองเลือกเดินนั้นชัดเเล้วใช่ไหม หรือยังเป็นช่วงค้นหาตัวเองอยู่

เติ้ล: (นิ่งคิด) ค่อนข้างชัดกับทางที่ตัวเองเลือก คือเรารู้สึกว่ามันสองครั้งเเล้วที่เราลาออก ไม่รวมตอนมัธยมที่เรารู้สึก Suffer มากๆ กับการที่บางอย่างเราเองก็ไม่รู้ว่า เราเรียนไปเพื่ออะไร เเต่ต้องเล่าก่อนว่าตอนที่เรียนมัธยมเราไม่ได้เป็นเด็กแบบตั้งใจเรียนอะไรขนาดนั้น สิ่งนั้นมันจบไปตั้งเเต่อยู่ ม.3 แล้ว เราเลิกเรียนพิเศษ เลิกสนใจเกรด ไม่สนอะไรทั้งสิ้น เราสนเเค่ว่าเราทำอะไรที่มันมีความสุข เเล้วเราสามารถทำมันไปได้ตลอดชีวิต ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร เเต่เรารู้สึกว่าเราต้องตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกก่อน ก็คือการรักษาเกรด ช่วงม.ปลาย เราจึงไม่ได้ตั้งใจเรียน แต่เลือกที่จะฟังอาจารย์ที่เขาสอนดีจริงๆ ที่เขาตั้งใจสอนจริงๆ 

เเม้กระทั่งเกรดดาราศาสตร์ที่เราทำเว็บดาราศาสตร์ เว็บอวกาศเนี่ย ตอนนั้นเรายังได้เกรดเเค่ 2.5 เอง เเต่สิ่งที่เรารู้สึกว่าเราต่างจากเด็กคนอื่นเลยก็คือ เราตั้งใจฟังว่าอาจารย์เขาพูดอะไร ตั้งใจที่จะจับผิดหรือพยายามที่จะหาหลักฐานมาซัพพอร์ตว่าสิ่งนี้มันถูก ดังนั้น สภาพเราเวลานั่งเรียนก็จะเป็นแบบ Active Learning สูงมากตั้งเเต่ ม.ปลาย แล้วถ้าอาจารย์ท่านไหนที่เขาให้ความสำคัญกับเด็กรุ่นใหม่หน่อย เขาก็จะเเนะนำเรา หรือบางอย่างที่เราถามไปเเล้วเขาตอบไม่ได้เขาก็จะไปหาข้อมูลมาให้เรา หรือสามารถชี้นำเราได้ว่าเรื่องนี้ในหนังสือเรียนมันยังไม่มีนะ เเต่ว่าอาจารย์เคยไปอ่านเจอในวารสารนี้ๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าการเรียนแบบนี้มันเป็นประโยชน์ และเราชอบการเรียนแบบนี้มาก ตั้งเเต่ ม.ปลาย ยิ่งพอเข้ามหาลัยเราก็ยิ่งคาดหวังว่าการเรียนทุกอย่างมันต้องเป็นอย่างนั้น ต้องมีความ  Active Learning  สูงมากเเน่ๆ มีความเป็นเเบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเหมือนที่เขาพูดกัน เเต่พอมาเรียนจริงๆ เราก็พบว่าบางอย่างมันก็ไม่ต่างจากมัธยมเลย 

การเรียนการสอนในไทยหลายๆ คลาสเราถูกสอนให้จำ ไม่ได้ถูกสอนให้คิด มันจะมีทฤษฎีอันหนึ่งที่ชื่อว่า Bloom’s Taxonomy คือทฤษฎีนี้เขาบอกไว้ว่าการเรียนในระดับตื้นๆ มันทำให้คนเข้าถึงได้เเค่ขั้น จดจำเท่านั้น เช่น จำปี จำ พ.ศ. จำชื่อคน จำสิ่งที่เกิดขึ้น เเต่ว่าการเรียนที่มันมีประสิทธิภาพจริงๆ นั้นต้องทำให้คนสามารถที่จะวิเคราะห์ หรือเเม้กระทั่งสร้างสรรค์อะไรบางอย่างขึ้นมาได้จากความคิดที่มันเกิดขึ้นในหัวของเราเอง ไม่ใช่ดึงเอาความรู้ที่ใส่ไว้ในหนังสือ เเล้วก๊อปมาวางไว้ในหัวเราเเบบนั้นไม่มีประโยชน์ ซึ่งสิ่งนี้มันคือกระบวนการที่เราใฝ่หามาโดยตลอด

เเล้วจากที่เราทำงานเขียนเว็บนู้น เว็บนี้ เราเอากระบวนการนี้มาใช้ในการเขียนด้วย ก็คือไม่ใช่เเค่เล่าเเต่เราจะชวนคิด ชวนวิเคราะห์ ชวนคนอ่านให้ลองนึกในมุมที่ต่างออกไปว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์อีกเเบบหนึ่งขึ้น เหตุการณ์ต่างๆ มันจะเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า แล้วเปลี่ยนไปแบบไหน ซึ่งเรารู้สึกว่ากระบวนการคิดเเบบนี้มันควรถูกผลักดันทั้งตั้งเเต่ระดับอนุบาลด้วยซ้ำ เริ่มตั้งเเต่อนุบาล ประถม มัธยม ไปจนถึงตลอดชีวิตเลย เรารู้สึกว่าคนเราควรคิดได้มากกว่าเเค่จดจำเหตุการณ์ 

นอกจากเรื่องรูปแบบการสอน คิดว่าสิ่งไหนในระบบการศึกษาไทยที่ไม่ตอบโจทย์คุณอีก

เติ้ล: เรารู้สึกว่าการเรียนการสอนแค่ขั้นของการจดจำนี่แหละที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่ก้าวข้ามการปฏิบัติอุตสาหกรรม เรามองว่าเป็นแบบนั้นเพราะว่าเมื่อก่อนมันไม่มีวัยเรียน คือทุกคนโตมาเเล้วก็ทำงานเลย ซึ่งกระบวนการเรียนมันจะเกิดขึ้นตอนคุณทำงาน คือถ้าคุณเรียนไม่เป็น ทำงานไม่เป็น คุณก็ตาย แต่ประเด็นก็คือ พอมันเกิดสังคมเมือง เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น มันก็เกิดการควบคุมคุณภาพของมนุษย์ เพราะว่ามนุษย์เมื่อก่อนทำงานตามภูมิปัญญาของตัวเอง เเต่ปัจจุบันคือมนุษย์ต้องมาทำงานร่วมกับเครื่องจักร มาทำงานในโรงงาน มาทำงานกับกระบวนการสายผลิต ดังนั้น จึงต้องมีสิ่งหนึ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะบอกว่ามนุษย์คนนี้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเข้ามาสู่อุตสาหกรรม เเล้วสิ่งนั้นเรารู้สึกว่ามันคือปริญญา เรารู้สึกว่ามันคือระบบการศึกษา 

พอผ่านจากระบบการศึกษาออกมาคุณก็มาเริ่มทำงาน เเล้วถามว่าอะไรเกิดขึ้นต่อจากนั้น คำตอบก็คือคุณก็ต้องเริ่มทำงานต่อไปตลอดชีวิต การก้าวหน้ามากที่สุดในหน้าที่การงานก็คือเงินเดือนสูงขึ้น ตำแหน่งอาจจะสูงขึ้น เเต่คุณก็ยังอยู่ในลูปเดิมๆ ของการทำอะไรซ้ำๆ เเล้วสุดท้ายคุณก็จะถูกสอนให้มีความสุขกับสิ่งที่คนอื่นเขาคิดให้ จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ทำไมเราถึงต้องมีการสร้างมาตรฐานของสื่อที่ทำให้คนมีความสุขกับของเหมือนๆ กัน จนเกิดเป็น Popular culture คนต่างถิ่นต่างที่มาทำงานด้วยกันอาจจะชอบนักร้องศิลปินคนเดียวกันอะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่าการศึกษาก็เป็นการสร้างมาตรฐานเหมือนกันว่า คุณต้องรู้สิ่งนี้ เเล้วจบไปคุณจะมีงานทำ เเต่ถามว่าโลกทุกวันนี้มันเป็นอย่างนั้นไหม เรารู้สึกว่าไม่ เพราะว่าหลายอย่างมันถูกทำให้ข้าม ณ จุดนั้นไปได้

คิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้การศึกษาของเรามันหลุดออกจากการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ไม่ได้ 

เติ้ล : (นิ่งคิด) เรารู้สึกว่ามันเหมือนลูป เพราะการศึกษามันไม่ดี ก็เลยไม่มีเจเนอเรชั่นที่ทำให้การศึกษามันพัฒนาขึ้น ซึ่งถามว่าเราจะเริ่มเเก้ตรงไหน เราว่าต้องเริ่มเเก้ด้วยการทำสิ่งที่เราทำอยู่นี่เเหละ พยายามผลักดันให้หน่วยงานเขาเห็นว่ามันควรมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ต้องเกิดขึ้น รัฐบาลต้องเห็น เอกชนต้องเห็น ว่าควรเข้ามาเเก้ปัญหาอย่างจริงจัง เเล้วถ้าทำได้เนี่ยมันจะเกิดผลดีในระยะยาว การศึกษามันเป็นสิ่งที่เราต้องลงทุนกันในระยะยาว เเต่ว่าในหลายๆ อย่างยังมองการศึกษาในระยะสั้นๆ ใน 5 ปี หรือ 10 ปี อยู่ 

วิธีแก้ปัญหาที่เราคิดออก คือต้องกล้าที่จะลงทุนในระยะยาว คุณมานั่งคิดกันเลย เอานักวิชาการมาช่วยกันคิดระบบการศึกษาใหม่ เอาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่เขาทำเเล้วประสบความสำเร็จมา ซึ่งหลายอย่างมันจะเป็น Chain reaction ที่ตามมาเลยว่า คุณมีระบบการศึกษาที่ดี คุณมีประชากรที่มีคุณภาพ คุณมีระบบเศรษฐกิจที่ดี พอมีระบบเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนก็จะมีความสุข มีความคิดความอ่านที่ดีขึ้น รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ลองคิดดูว่าเราเเก้ปัญหาการศึกษาเเค่เรื่องเดียวคุณเเทบจะไม่ต้องเเก้ปัญหาด้านอื่นเลย เเต่คุณต้องกล้าที่จะลงทุนในระยะยาว คุณอย่าเเค่โยนเงินให้เด็กไปก้อนหนึ่งเพื่อไปเรียน เเล้วกลับมาเป็นพนังงานออฟฟิศ เรารู้สึกว่านั่นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง

ทุกวันนี้ยังมีเด็กไทยหลายคนที่ยังติดอยู่ในกับดักของการศึกษา โดยเชื่อมั่นว่าต้องมีใบปริญญาก่อนเราถึงจะได้ทำงานดีๆ แต่ที่คุณคิดต่างจากนั้น เป็นเพราะว่าคุณเข้าสู่โลกของการทำงานตั้งแต่สมัยมัธยมเลยเห็นโลกความเป็นจริงตั้งแต่ตอนนั้นแล้วหรือเปล่า 

เติ้ล: จริงครับ เรารู้สึกว่าโลกจริงๆ มันไม่ได้ถูกจำลองขึ้นมาให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต่ออนาคต และการทำงานมันก็คือของจริงที่เราเจอมาเเล้ว ในตอนเเรกที่เราไปทำงาน ไม่ใช่เพราะว่าเรา เก่ง หรืออะไรหรอก เเต่เพราะว่าที่บ้านไม่มีเงิน แล้วเราต้องหาเงินเรียนเอง พอเราเข้าไปทำงานจากความเก่งของเราที่เราเคยอยู่ชมรมคอมพิวเตอร์อะไรแบบนี้มันหายไปเลย เพราะว่าเราจะถูกใช้ให้ทำงานที่ตอนนั้นเราคิดว่ามันเป็นงานโง่ๆ ก็คือโพสขายกล้องวงจรปิดบนอินเทอร์เน็ต หรือว่าคุยโทรศัพท์กับลูกค้า ซึ่งมันเป็นความรู้สึกว่าทำไมเราต้องทำด้วย แต่เมื่อคิดกลับว่าถ้าเราไม่ทำเเล้วใครจะทำ ก็ต้องมีใครสักคนที่นั่งอยู่ในออฟฟิศทำมันอยู่ดี ในขณะที่ตอนนั้นประสบการณ์เราเป็นศูนย์เเล้วพี่ๆ เขามีประสบการณ์อย่างน้อยเป็นปี มันแปลกอะไรที่เขาจะให้เราทำอันนี้เพื่อที่จะให้เรารู้ธรรมชาติของการทำงานก่อน พอเราคิดเเบบนั้น เราก็คิดได้ว่างานมันมีไว้ให้ทำ มันไม่ได้มีไว้ให้เลือก ถ้าคุณอยากจะเลือกงานนั้นจริงๆ คุณต้องรีบทำงานนั้นให้เสร็จ เเล้วคุณไปทำสิ่งที่คุณอยากทำดีกว่า 

Mindset การทำงานของเรามันเกิดขึ้นมาจากตอนนั้น เเล้วเรารู้สึกว่ากระบวนการนี้มันทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของการทำงาน ถึงเนื้องานเปลี่ยนไปแต่ว่าปรัชญาของการทำงานก็ยังคงเหมือนเดิม คือทำยังไงก็ให้งานเสร็จ โดยที่ไม่สนวิธีการ ไม่สนว่าใครจะเป็นคนทำ ถ้าคุณเก่งคุณก็ไปบริหารจัดการกันเอง เเต่ผู้บริหารไม่สามารถทำทุกอย่างคนเดียวพร้อมกันทุกอย่างได้อยู่แล้ว ถึงต้องมีคนลูกน้องในทีมที่ช่วยกระจายงานออกไป และน้องในทีมนั้นก็จะต้องเติบโตมาเพื่อที่จะบริหารอย่างมีศักยภาพในการทำงานให้สำเร็จเพิ่มเยอะขึ้น นี่คือปรัชญาในการทำงานสำหรับเรา

สังคมในระบบการศึกษามักจะมีรุ่นพี่หรืออาจารย์บอกเราว่า “จบไปแล้วโลกของการทำงานมันยิ่งกว่านี้อีกนะ” แต่คุณที่เห็นการทำงานมาแล้ว มีอะไรที่ได้ยินแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่อย่างที่เขาพยายามบอกกับเราบ้าง 

เติ้ล :เรารู้สึกว่ามันเป็นคำที่พูดไปก็ไม่มีประโยชน์นะ มันไม่ได้สอนให้เขาเข้าใจโลกในเเบบที่มันเป็นจริงๆ มันทำให้เกิดภาวะที่ทำให้เด็กเกิดติดลูปอยู่ในระบบการศึกษา เช่น จบป.ตรีมาเเล้ว ก็ไปเรียนป.โท เพราะกลัวว่าระบบการทำงานมันต้องโหดร้าย เราก็เลยเลือกที่จะเรียนจบสูงๆ เพื่อจบมาเราจะได้กลายเป็นผู้บริหารเลย ปรากฎว่ามันไม่ใช่ คุณจบ ป.เอกกลับมาคุณจะมาเป็นผู้บริหารเลยมันไม่ใช่ อย่างเก่งๆ อาจจะเป็นผู้ช่วยผู้บริหาร หรืออาจจะเป็นลูกน้องของผู้บริหารที่เขาสร้างทุกอย่างขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ดังนั้น มันไม่ได้เเปลว่าโลกของการเรียนไม่ได้ยากกับการทำงานเสมอไป เรามองว่าอะไรก็ตามที่เป็นชีวิต มันยากหมด เเล้วไม่ว่าจะเรียนหรือทำงาน เราต้องการการวางแผนที่ดี เราต้องการกระบวนการคิดที่ดี หรือ Mindset ที่มีประโยชน์จริงๆ

บางทีเราคิดว่าการศึกษามันเป็นเรื่องของเรา เเต่บางครั้งมันก็คือความฝันของพ่อเเม่ด้วย นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลทำให้หลายคนไม่สามารถละทิ้งจากระบบการศึกษาได้อย่างที่ตัวเองตั้งใจ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร 

เติ้ล: ด้วยความที่ว่าพ่อเเม่อาจจะโตมาในยุคที่ยากลำบาก คือ เขาโตมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเลยด้วยซ้ำ เราไม่ปฏิเสธว่าวิธีการคิดของเขาคือการทำเพื่อความอยู่รอด เเล้วเรายกย่องคนในเจนนี้นะที่ทำให้เราเข้มแข็งและใช้ชีวิตได้สะดวกสบายอย่างทุกวันนี้  ดังนั้นสิ่งที่เราจะเเนะนำคือ เราต้องสื่อสารให้คนเจนก่อนหน้าเรา หรือพ่อเเม่ของเราเข้าใจว่าสังคมยุคปัจจุบันที่เราเจออยู่ มันอาจจะไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้มันเร็วมาก เราต้องปรับตัวเเทบจะทุกวัน ในขณะที่ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะต้องคิดกันหลายๆ เดือน หลายๆ ปี เราต้องคุยกับเขา 

ถามว่าต่อให้ทุกวันนี้เราเรียนไปแล้ว 10 ปีข้างหน้าไม่มีตลาดรองรับ เราเองเนี่ยที่จะต้อง Suffer ไม่ใช่เขา และแบบนั้นตัวเขาจะต้อง Suffer ยิ่งกว่า เพราะสิ่งที่เขาคิดมันผิด เเล้วเขาส่งต่อความคิดเดิมๆ ที่มันไม่ได้ถูกปรับปรุงมาให้กับลูกหลานรุ่นต่อไป เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่สุดมันไม่ใช่การหักล้างความคิด ไม่ใช่การเดินไปบอกว่าเขาผิด เเต่คือการทำให้เขาเห็นภาพรวมของสังคมในปัจจุบัน 

พักหลังมานี้เราเห็นการเรียกร้องเกี่ยวกับการศึกษาในกระเเสโซเชียลเยอะขึ้น ซึ่งคนที่เรียกร้องก็คือกลุ่มคนที่ยังติดอยู่ในระบบ ตัวคุณเองมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

เติ้ล: ต้องบอกว่าธรรมชาติของเรา คือคุยกับเพื่อนวัยเดียวกันเยอะมาก หรือคุยกับน้องเยอะมาก ดังนั้นเราเเบ่งเด็กไทยที่ตอนนี้ออกเป็น 3 เลเวล อันเเรกก็คือ ยังรู้สึกว่าการศึกษาไทยที่เป็นอยู่นี้มันเมคเซนส์และตอบโจทย์ เลเวลที่สอง อยากจะหลุดออกจากระบบการศึกษา เเต่อะไรหลายๆ อย่างฉุดรั้งเขาเอาไว้อยู่ อาจจะเป็นเรื่องของครอบครัว หรืออาจจะเป็นความรู้สึกที่เขายังกลัวอยู่ว่าออกไปเเล้วมันจะมีหนทางจริงๆ หรือเปล่า และเลเวลที่สามก็คือ หลุดออกไปแล้ว ซึ่งเราเองก็มีเพื่อนที่อยู่ทั้ง 3 เลเวล เเต่ในกลุ่มเเรกเรารู้สึกว่ามันน้อยลงทุกวันๆ 

เเต่ทั้งคน 3 กลุ่มที่พูดถึงนี้ เป็นเเค่คนที่อยู่รอบตัวเรา ลองคิดดูอีกทีอาจจะยังมีเด็กอีกหลายคนที่เขาไม่ได้เห็นภาพรวมของการพัฒนาประเทศ หรือเขาไม่ได้เห็นว่าต่างประเทศเขาทำยังไงกัน เขาไม่มีโอกาสเเม้เเต่จะเห็นว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ทุกวันนี้มันเป็นสิ่งที่อาจจะเอื้ออำนวยให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตจริงๆ หรือเปล่า หรือเขาไม่ได้มีเเม้กระทั้งคอนเซ็ปต์ของการประสบความสำเร็จในชีวิต เเต่รู้ว่าเขาต้องทำงาน เขาต้องเรียน ต้องดิ้นรน ต้องใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีโอกาสเเม้เเต่จะเดินทำตามความฝันของตัวเอง เพียงเเค่เกิดขึ้นมาในสังคมเเล้วก็ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ จนมีเด็กรุ่นต่อไป แล้วก็ส่งผลให้เด็กรุ่นต่อไปใช้ชีวิตเเบบเดียวกัน ซึ่งเราไปโทษเขาไม่ได้ เราต้องโทษตัวเองที่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นบนโลกนี้เเล้ว เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นเเล้ว แต่คนอีก 70-80% ของประเทศนี้ที่อาจจะไม่ได้เห็น ซึ่งที่เขายังรู้สึกว่าการเรียนเเบบนี้มัน เมคเซนส์อยู่นั้น อาจจะทำให้เขา Suffer มากๆ ก็ได้ เเต่เขาก็ยังต้องทำมันอยู่ เพราะเขารู้สึกว่าเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เขามีชีวิตต่อในประเทศนี้ได้ 

รู้สึกว่าตัวเองโชคดีไหมที่เราได้เห็นสิ่งนั้นเร็ว หรือรู้สึกเจ็บปวดที่เราต้องทนเห็นเพื่อนคนอื่นๆ ติดอยู่กับระบบนขณะที่เราก้าวออกมาได้แล้ว 

เติ้ล: ทุกครั้งที่เรามีชีวิตที่ดี เราจะมองย้อนกลับไปว่าครั้งหนึ่งเราเคยเป็นอย่างนั้นมาก่อน ครั้งหนึ่งเราเคยเป็นเด็กที่รู้สึกว่าเรามีเป้าหมายเเค่ว่าหาเงิน เเค่มีชีวิตรอดไปวันๆ เเล้วเด็กอีกกี่เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยที่เป็นเเบบนั้น เขาไม่มีเเม้เเต่โอกาสจะได้รับความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ของเขาถูกทำลายไปด้วยสถานะของครอบครัว คือ การรวยหรือการจน สิ่งนั้นมันไม่ควรจะเป็นปัญหาของความคิดสร้างสรรค์เลย เเล้วสิ่งที่น่ากลัวในทุกวันนี้ คือประเทศเราสอนให้คนทำงานๆ โดยที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ นี่คือสิ่งที่เราเศร้าที่สุด 

เมื่อเรามีโอกาสได้เห็นอะไรไกลกว่าคนอื่นเเล้ว มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้นด้วยในฐานะที่เขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกันกับเรา เราก็เลยไปทำค่ายเกี่ยวกับการศึกษาให้คำปรึกษาน้องๆ มีการรวมกลุ่มคอมมูนิตี้ของเด็กๆ ที่อาจจะสับสนกับชีวิต เเต่ว่าเราช่วยกันปรับทางเดินเเล้วก็เดินไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่เราทำ เเล้วเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นเเค่คนที่เรียกร้องหายูโทเปียในอนาคตโดยที่ไม่ลงมือทำ เพราะสุดท้ายเเล้วถ้าเราอยากทำให้โลกนี้มันเป็นยังไง มันเป็นหน้าที่ของเรานะที่ต้องไปลงมือทำไม่ใช่สักเเต่ว่าจะพูด และมันจะเป็นความผิดของเรามากเลยนะ ถ้าเราไม่ไปช่วยคนเหล่านี้ได้เลย

แม้เราไม่สามารถไปช่วยเขาโดยตรงได้ เเต่สิ่งที่เราทำได้คือการช่วยทำให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือว่าสังคมโดยรวมมองเห็นถึงปัญหานี้ว่ามันไม่ได้เป็นเเค่ปัญหาเท่ๆ ที่จะมาบอกว่าลาออกเท่อ่ะ มันไม่ใช่เเบบนั้น เราว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดเลย คือการผลักดันให้ประเทศนี้มันก้าวข้ามไปจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมสักที เเล้วลองคิดดูว่า ถ้าสามารถก้าวข้าวไปได้จริงๆ พัฒนาจริงๆ การศึกษาขั้นพื้นฐานของเรามีคุณภาพจริงๆ คนอีกกี่ล้านคนที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้เห็นเเนวคิดที่มันมากกว่าเเค่การเรียน ทำงาน เเล้วก็ตายไปโดยที่ไม่มีใครจำคุณได้เลย

การที่เราทำ SPACETH.CO มันสอนเราอยู่อย่างหนึ่งว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในไทยมันเป็นการลงทุนในระยะยาวเหมือนกับการศึกษา ซึ่งคนอาจจะยังมองไม่เห็น เราต้องทำยังไงก็ได้ให้การลงทุนในระยะยาวนี้มันคุ้ม ดังนั้นสิ่งเเรกที่เราต้องทำเลยก็คือ เราต้องเลิกพึ่งพาความคิดจิตใจที่จะให้คนอื่นเข้ามาช่วยเรา เราต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ เราต้องวิ่งด้วยตัวเองให้ได้ เราต้องเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่น 

ตอนนี้ SPACETH.CO ก็เป็นสื่อที่เกี่ยวกับอวกาศเเทบจะเจ้าเดียวในไทยที่มีผู้ติดตามเยอะขนาดนี้ เเล้วก็ได้รับงานจากรัฐบาลจริงๆ ได้ทำงานกับเอกชนจริงๆ ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานอวกาศทั้งในไทยเเละก็ในต่างประเทศจริงๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าสิ่งนี้ เราต้องอยู่ให้ได้ เเล้วถ้าเราอยู่ได้มันจะกลายเป็น Role Model ให้กับหลายเจ้าที่อยากจะลุกขึ้นมาทำ อาจจะไม่ต้องทำเรื่องอวกาศก็ได้ เเต่ทำเรื่องที่คนเชื่อว่ามันอยู่ไม่ได้ เเต่มันจะต้องอยู่ได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือ เลิกพึ่งพาคนอื่น เลิกคิดว่าจะต้องมีใครที่ไหน หรือใครมาช่วยเรา ให้พึ่งตัวเอง มันอาจจะฟังดูน่ากลัวหน่อยเเต่ว่าอันนี้คือความจริง

มองว่ามันเป็นความโหดร้ายของโลกนี้ได้ไหม ที่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถพึ่งใครได้เลยนอกจากตัวเอง 

เติ้ล: ได้นะ เรามองว่ามันโหดร้ายเเหละ เเต่ถามว่าถ้ามองไปลึกถึงขั้นปรัชญาเลย เรามองว่า ตัวเราเองก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราอยู่ไปเพื่ออะไร ดังนั้น เราเชื่อว่าเเต่ละคนจะมีเป้าหมายในการดำรงชีวิตอยู่ หรือที่เรียกว่า Wisdom เเต่สำหรับเรา Wisdom มันคือประโยคหนึ่งในภาษาละติน ‘Cogito, ergo sum’ แปลว่า ‘I think, therefore I am.’

‘เพราะฉันคิดจึงมีฉันอยู่’ อ่านได้อีกแบบก็คือ ‘เพราะมีฉันอยู่ฉันก็เลยคิดได้’ กับอีกประโยคหนึ่งที่เราชอบมากก็คือ ‘Per aspera ad astra’ แปลว่า ‘เส้นทางสู่ดวงดาวมันไม่ง่ายนัก’ หรือถ้าอ่านย้อนกลับทีก็คือ ‘เพราะมันไม่ง่ายนักมันก็เลยพาคุณไปสู่ดวงดาว’ ซึ่งมันเป็นสองประโยคที่เรารู้สึกว่าเป็นเป้าหมายในการใช้ชีวิตของเรา 

เรารู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่สุดของเราตอนนี้คือ กระบวนการคิด เราอาจจะทำให้คนจดจำเราได้ในเเง่ของรูปร่างหน้าตาว่าเราเป็นใคร เเต่เป้าหมายจริงๆ ของเรา เราอยากให้คนจดจำเราได้ในเเง่ของความคิดว่า เราคิดอะไร เราอยากจะส่งต่อความคิดที่มันมีอยู่ในหัวสมองเราถ่ายไปให้กับคนจำนวนเยอะที่สุด เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่มันอยู่ในตัวเรา มันคือสิ่งที่ถูกส่งต่อกันมาตั้งแต่คนที่เราเคารพในรุ่นก่อนๆ อย่าง เพลโต, โสเครติส, อริสโตเติล, ไอแซค นิวตัน, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, กาลิเลโอ และ นักคิด นักอะไรต่างๆ ที่เราให้ความสำคัญเพราะเราได้อ่านงานของเขา

 เราได้เรียนทฤษฎีของเขา เราได้เรียนรู้ปรัชญาที่เขาคิดขึ้นมา เราได้รู้ว่าทำไมเขาถึงได้กล้าที่จะลุกขึ้นมาเเล้วบอกว่าโลกมันโคจรรอบดวงอาทิตย์ โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล เราอยากที่จะทำความเข้าใจความกล้าหาญนั้น เรารู้สึกว่าเนี่ยมันคือเป้าหมายจริงๆ ในชีวิตของเรา

คุณเองก็อยู่ในระบบการศึกษาช่วงหนึ่ง เเล้วก็อยู่ในวัยทำงานมาเเล้วช่วงหนึ่ง มีคำแนะนำสำหรับคนที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาไหมว่าจบมาเขาควรมีทักษะอะไรติดตัว เพราะว่าส่วนใหญ่เรียนจบไปแล้ว เมื่อเข้าสู่โลกการทำงานเราก็ต้องมาเรียนรู้ใหม่อีกครั้งอยู่ดี  

เติ้ล: คือระบบการศึกษาเเยกโลกของความเป็นจริงกับโลกของหนังสือเรียนไม่ให้อยู่ด้วยกัน เรามองว่าไม่ว่าคุณจะเรียนอะไรก็ตามระบบการศึกษาจะห่วยเเตกเเค่ไหนก็ตาม ถ้าคุณสามารถเอาโลกในหนังสือเรียนมาเป็นโลกของความเป็นจริงได้ หรือเรามองเห็นภาพเดียวกัน เเล้วเรารู้สึกว่าทักษะที่คุณจะต้องเอาไปใช้ในการทำงานจริงๆ มันจะเพิ่มพูนขึ้นเยอะมาก เเต่พอคุณไปมองโลกของการเรียนอีกอย่างหนึ่ง โลกของการทำงานก็อีกอย่างหนึ่ง มันก็เลยกลายเป็นว่าสองอย่างนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน พอคุณเรียนจบไป คุณก็ต้องไปมีทักษะใหม่ๆ อยู่ดี 

ดังนั้นถามว่าเรียนหลายเรื่อง เช่น การบริหาร การจัดการ การพูดโน้มน้าวใจ อะไรก็ตามที่เราต้องใช้ในทุกวันนี้ มันก็ถูกสอนมาตั้งเเต่สมัยมัธยม สมัยมหาลัยเเล้ว เพียงเเค่มันเป็นเเค่วิชาการ แต่คุณต้องเจอเรื่องสักเรื่องหนึ่งก่อนเเล้วค่อยมองย้อนกลับไปว่าประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา เราหยิบอะไรมาใช้ได้บ้าง ถ้าคุณเเค่ไปเรียนเพื่อที่จะบอกว่าโตไปฉันจะเก่ง เรามองว่าไม่ใช่เรื่องดี มันต้องพยายามเก็บสิ่งที่เรารู้สึกว่าอันนี้มันน่าจะได้ใช้ หรืออย่างน้อยทำตัวให้เป็นเเก้วน้ำเปล่าที่พร้อมจะรับมากกว่า เเล้ววันหนึ่งถ้าเราต้องใช้มันจริงๆ เราจะรู้ว่าเราจะย้อนกลับไปหยิบตรงไหน 

แม้ระบบการศึกษามันจะแย่ แต่มีอย่างอื่นที่ระบบการศึกษาให้เรา นอกจากความรู้ นอกจากประกาศนียบัตรไหม

เติ้ล: เรามองว่าระบบการศึกษาเป็นเกราะป้องกันอย่างหนึ่ง วันที่เรา จบม.6 เรารู้สึกว่าชุดนักเรียนที่เราใส่อยู่ที่มันเป็นผ้าธรรมดา พอเราถอดมันออก มันเหมือนกับว่าเราถอดเกราะอย่างหนึ่งออกไป เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่การศึกษาให้เราก็คือความปลอดภัย เหมือนเป็นประกันอย่างหนึ่ง ไม่ผิดนะที่เขาจะบอกว่าการศึกษาเป็นเหมือนหลักประกัน เเต่ถามว่าเราจะประกันทุกอย่างในชีวิตเลยมันก็ไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่สอนเรา นอกจากเนื้อหาทางวิชาการ เเล้วมันทำให้เรารู้จักที่จะปรับตัว รู้ว่าตัวเองตอนไหนควรจะอยู่ตรงไหน ตอนไหนควรจะวิ่งออกไปเเล้วเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง รู้ว่าตอนไหนที่เราจะวิ่งกลับมาเเล้วพักตัวเอง เพราะสุดท้ายเเล้วการที่คุณก้าวข้ามจากระบบการศึกษาไปแล้วชีวิตมีจะเเต่การทำงาน คุณจะไม่มีการได้รับการปกป้องในฐานะที่เป็นนักเรียนอีกต่อไป

การลาออกจากระบบการศึกษาให้บทเรียนอะไรที่ล้ำค่าแก่คุณที่สุด 

เติ้ล: ก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเองในโลกของความเป็นจริง ทั้งที่ตัวเองยังอายุเเค่ 20-21 ปี คือเราต้องเชื่อในตัวเองเยอะๆ ไม่มีใครจากไหนที่จะมาช่วยเราอีกเเล้ว มันอาจจะฟังดูน่ากลัว เเต่ว่ามันคือความจริง การที่เราได้ออกจากระบบการศึกษาคือสิ่งเเรกที่ทำให้เราได้สัมผัสสิ่งนี้ เเล้วอันที่สองก็คือ การที่เราได้ศึกษาวิธีการคิดของนักคิดต่างๆ รวมถึงการศึกษาดาราศาสตร์มันทำให้สุดท้ายเเล้วเรากลายเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตัว เราไม่ใช่คนที่ออกจากระบบการศึกษามาเเล้วบอกว่าฉันจะต้องมาเป็นนักเปลี่ยนแปลง เเต่สุดท้ายเราก็มาคิดได้ว่าสิ่งที่จะช่วยเราเองได้ มีเเค่ตัวเราเอง ไม่มีใครจากไหนจะมาช่วยเรา 

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ