fbpx

ธนา เธียรอัจฉริยะ เปลี่ยนมุมคิด ชีวิตเปลี่ยน

85 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านในตอนเช้า ยอมเสียเวลากลับไปเอาที่บ้าน…รวมทั้งผมด้วยโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ?

ถ้าให้เด็กสมัยนี้นึกภาพสมัยที่คนรุ่นก่อนนัดกันแบบไม่มีเครื่องมือสื่อสารใดๆ เลย คงนึกกันไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้โทรศัพท์เคลื่อนที่กลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดแขนงหนึ่งของโลก ทั้งเรื่องของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ความนิยมของผู้ใช้แปรผันตามกันไปกับความก้าวหน้าของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีมากเสียจนคนรุ่นก่อนอาจตกใจว่าโทรศัพท์สมัยนี้ทำได้แทบจะทุกอย่าง  

ในบ้านเรา สงครามระหว่างค่ายมือถือเป็นเรื่องชวนติดตามไม่แพ้พล็อตละครหลังข่าว เรื่องราวของการแย่งชิงที่นั่งในตลาด การเข้าไปพัวพันกับเรื่องการเมือง โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ของบางค่ายที่กลายเป็นข่าวระดับปรากฏการณ์ เรื่องพวกนี้ไม่เคยห่างหายจากหน้าหนังสือพิมพ์ของเรา ฉะนั้น คงเป็นการดีไม่น้อยหาก GM จะหาโอกาสไปคุยกับคนเก่งๆ ในแวดวงนี้ดูบ้างสักหน

ธนา เธียรอัจฉริยะ เป็นคนหนึ่งที่น่าสนใจ ด้วยวิธีการคิดที่แตกต่าง ทำให้แบรนด์อย่างแฮปปี้ที่เขาปลุกปั้น ติดตลาดได้อย่างรวดเร็ว และด้วยยอดผู้ใช้บริการของแทคที่เพิ่มทะลักในช่วง 2 ปีหลังอีก ไหนจะเป็นผู้บริหารตั้งแต่อายุยังหนุ่มแน่น (Chief Commercial Officer) เป็นนักเขียนตัวจริงที่ยอดขายหนังสือ ‘Happy คนพลิกแบรนด์ แบรนด์พลิกคน’ ที่ขายไปแล้วกว่า 20,000 เล่ม ซึ่งทำให้เรารู้ว่า ธนามีลูกบ้าใช้ได้ แคมเปญล่าสุด Impossible Race ที่จับเอาผู้บริหารระดับวีไอพี 100 คนของแทคมาวิ่ง 10 กิโลเมตรโดยตั้งเป้าว่า 80 คนในนั้นต้องวิ่งให้ได้ อาจเป็นสิ่งที่ย้ำว่า ธนายังมีลูกบ้าอีกหลายลูกที่จะตามมา

ปีที่ผ่านมาตลาดโทรศัพท์มือถือบ้านเราเริ่มส่อเค้าให้เห็นถึงการอิ่มตัว ว่ากันว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภายในประเทศโดยเฉพาะความล่าช้าของการออกกฎหมาย ท่ามกลางตลาดที่กำลังหดตัว แต่ตัวเลขผลประกอบการของแทคกลับโตขึ้น พร้อมๆ กับการตัดสินใจเปลี่ยนโฉมใหม่ของแทคในรอบ 7 ปี นี่จะเป็นสัญญาณชักธงรบระลอกใหม่ของอุตสาหกรรมมือถือหรือไม่ ผมไม่รู้แต่ผมเชื่อว่า ธนา เธียรอัจฉริยะ รู้ !

GM : ปีนี้เราจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คนไทยควรจะเตรียมตัวรับมือไหม

ธนา : จริงๆ เมืองไทยเป็นประเทศเกือบท้ายๆ มากเลยในการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามา คือมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเราได้เทคโนโลยีที่นิ่ง ในราคาที่ไม่แพงมากอย่าง 3G แต่ข้อเสียก็คือเราช้ามากเกินไป ตอนนี้เราไม่ใช่ประเทศโลกที่ 3 แล้ว เราเป็นประเทศโลกที่ 3.5 อย่าง 3G ถามว่าตอนนี้มีโอกาสได้ใช้ไหม ก็ใกล้แล้วแต่ก็ไม่ใช่ในปีนี้แน่นอน

GM : ในมุมของประชาชนคนไทยล่ะ บ้านเราพร้อมที่จะรับหรือยัง

ธนา : ผมว่าเราไม่ควรถามว่าพร้อมหรือเปล่า เหมือนไฟฟ้า บางหมู่บ้านเราเห็นว่าเขาไม่มีไฟฟ้าเขาก็อยู่ได้ งั้นก็อย่าให้มันเลย ไม่ใช่อย่างนั้น มันควรจะมีเหมือนกันหมด แต่การใช้หรือไม่ใช้นั่นอีกเรื่อง รัฐควรจัดหาในการเข้าถึงสื่อเสรี ให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึง ให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการอ่าน เขียนความคิดเห็นของตัวเองออกมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะเราคือประเทศประชาธิปไตย แล้วรัฐก็ต้องจัดการด้วย อย่างอินเตอร์เน็ตมันก็มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี อย่าลืมว่ายังไงๆ เราก็อยู่ในสังคมที่ต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ อยู่ดี ประเทศอื่นๆ เขาไปถึงไหนต่อไหน สิงคโปร์ประกาศว่าทั้งเกาะมีไวร์เลสให้ใช้ฟรี กัวลาลัมเปอร์ก็มีใช้แล้ว แต่เมืองไทยยังไม่มีอะไรเลย นึกภาพไม่ออกด้วยว่าจะมีได้ยังไง ในเมื่อกฎระเบียบยังมีมากมาย ภาครัฐก็ยังพึ่งไม่ได้ แต่ถามว่ามันจะตายไหมถ้าไม่มี มันก็คงไม่ตายหรอก มันก็คงอยู่ได้ แต่ก็ช้ากว่าชาวบ้านเขา ผมว่าภาครัฐควรส่งเสริมให้เอกชนแข่งกันเยอะๆ อย่าให้มีไม่กี่ราย อย่าให้มีการผูกขาดราคาอะไรแบบนี้ พ.ร.บ. โทรคมนาคมที่เราใช้อยู่ตอนนี้มีเจตนารมณ์ที่ดีก็คือ ทุกอย่างต้องมีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม แข่งขันกันเอง เอกชนจะเจ๊งก็เรื่องของเอกชน เดี๋ยวราคามันก็ถูกลง คุณภาพมันก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ

GM : เห็นมีข่าวว่าจะมีให้ทดลองใช้ 3G ได้ประมาณมีนาคมนี้

ธนา : พูดอย่างนี้ก็คงต้องรอไปอีกปีหนึ่ง (หัวเราะ) คือที่ประเทศเราช้ากว่าที่อื่น ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องกฎหมายที่มีความซับซ้อน ตัวละครที่มีอำนาจในตัวบทกฎหมายนี้มีมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีไอซีที, กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง เอกชนที่เกี่ยวข้อง ไหนยังจะกฎหมายที่ยังไม่เคลียร์กับผู้ให้บริการอีก แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้ครับ ถ้าถามว่า 3G จำเป็นอย่างไร มันก็เหมือนกับการพัฒนาโทรศัพท์ไปอีกขั้น แต่จริงๆ 3G ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ ดูวิดีโอ ถ่ายรูปได้ เล่นอินเตอร์เน็ตได้อะไรแค่นั้น แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่จะมาพร้อมกันก็คืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่ไม่มี Fix Line Internet ซึ่งถือเป็นปัญหาของชาติอย่างหนึ่ง เพราะเรามีประชากรอินเตอร์เน็ตน้อยมากแค่ 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ประเทศอื่นๆ นี่เข้าไป 50 เปอร์เซ็นต์กันแล้ว เวิลด์แบงก์ถือว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็น 1 ใน 10 ของดัชนีชี้วัดการแข่งขันของประเทศนั้นๆ เพราะการที่คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตหมายถึงการเข้าถึงข้อมูลซึ่งประชาชนสามารถเอามาต่อยอดได้ ถ้าประชากรเราเข้าถึงน้อย ก็มีวัตถุดิบในการคิดน้อยกว่าคนอื่น เห็นน้อยกว่าคนอื่น การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมันจะทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาการในหลายๆ ด้านของสังคม เช่นข่าวหนึ่งที่ผมอ่านในเว็บไซต์ ที่ประเทศจีนมีบล็อกเกอร์คนหนึ่ง ถ่ายรูปเทศกิจกำลังซ้อมคนจนตาย เขาก็เอาไปโพสต์ไว้บนอินเตอร์เน็ตแล้วคนก็เข้ามาดู ตอนนี้มันกลายเป็นความเคลื่อนไหวใหญ่เลยในโลกอินเตอร์เน็ตที่เมืองจีนว่า ต้องเอาไอ้เทศกิจคนนี้มาลงโทษให้ได้ อินเตอร์เน็ตมันมีประโยชน์อย่างนี้ มันทำให้เกิดความเท่าเทียมแม้ในประเทศที่เราเรียกว่าคอมมิวนิสต์ มันเป็นการเพิ่มสิทธิของคน ผมว่าถ้าคนไทยอยากหลุดจากวงจรน้ำเน่า เช่นการเมือง น้ำเน่าอะไรแบบนี้ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าเราเข้าถึงเรื่องพวกนี้ต่ำ ปรากฏการณ์ทางสังคมแบบนี้ก็จะไม่เกิด หาก 3G มา เราสามารถใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือได้เร็วขึ้น และในพื้นที่ห่างไกลที่สายเคเบิลไปไม่ถึง เราสามารถติดคล้ายๆ กับตัวรับสัญญาณตามจุดต่างๆ ก็สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้เลย ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังทดสอบอยู่ที่มหาสารคาม

GM : พูดได้ไหมว่าแทคเองก็พร้อมแล้ว

ธนา : เทคโนโลยีเราพร้อมอยู่แล้ว แต่ติดเรื่องของกฎหมาย ตามขั้นตอนก็คือตอนนี้เราอาศัยคลื่นความถี่ของเราแต่เดิมคือเวิลด์โฟน 800 เอามาปัดฝุ่นใช้ ซึ่งความถี่ ณ ปัจจุบันที่สามารถใช้ได้เลยมีอยู่ 2 เจ้า คือเรากับการสื่อสารฯ ซึ่งเราก็ทำเรื่องขึ้นไปขอใช้ตามขั้นตอนแต่ก็คงอีกนานกว่าจะสามารถเข้าไปถึง ครม. ได้ ไม่เร็วแน่ๆ อย่างเร็วก็น่าจะได้ใช้ปีหน้า ตอนนี้ 3G ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนยุ่งยากอะไรแล้ว ถ้าพูดเมื่อ 6 ปีที่แล้วนั่นก็คงใช่ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว บ้านเรายังใช้กฎหมายเก่ามันก็เลยมีปัญหายุ่งยาก ทุกประเทศเขาก็ใช้กันแล้ว ในเขมรก็มีแล้ว ลาวกำลังจะมีใช้ปีหน้า ถ้าลาวไปแล้ว เขมรไปแล้ว ผมว่าเราก็คงใกล้ๆ กับพม่า เกาหลีเหนือ แล้วก็ปากีสถานซึ่งกำลังเละกันอยู่เรื่องการเมือง (หัวเราะ) คือเราก็ไม่ได้จนหรือล้าหลังอะไรขนาดนั้น แต่เรื่องกฎระเบียบบ้านเราค่อนข้างมาก ซึ่งผมก็เห็นใจภาครัฐอยู่เหมือนกัน เพราะอุตสาหกรรมไอซีทีเป็นอุตสาหกรรมใหม่ มีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเอกชน ทั้งต่างชาติด้วย รัฐวิสาหกิจอีก แล้วยังมีกระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นรัฐวิสาหกิจอีก ตัวกระทรวงไอซีทีเองซึ่งดูเรื่องนโยบาย ก็ยังมีการสื่อสารแห่งประเทศไทย มีองค์การโทรศัพท์ฯ เขามาเอี่ยวอีก ทั้ง กทช. อีก ผลประโยชน์มันมหาศาล จะทำอะไรทั้งหมดนี้ต้องเห็นด้วย แล้วถ้าพยายามรอให้ทุกคนเห็นด้วยหมด มันก็ยากที่จะเกิดขึ้น

GM : เราควรทำอย่างไร ถึงจะเดินหน้าได้เร็วกว่านี้

ธนา : ประเทศไทยช่วงนี้มันเป็นเทรนด์ คือนึกอะไรไม่ออกก็ไปศาล (หัวเราะ) ซึ่งกระบวนการศาลสำหรับผม น่าจะเป็นกระบวนการสุดท้าย เพราะใช้เวลาพิจารณานาน แต่เรื่องของเทคโนโลยีนี่ช้าไม่ได้ เราต้องเริ่มที่จุดใดจุดหนึ่งก่อน มองง่ายๆ ตอนนี้มีส่วนที่สำคัญอยู่สองฟาก ส่วนแรกคือต้องลุ้น กทช. ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็น กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) อีก ก็อีหลักอีเหลื่อกันอยู่เพราะขนาด กสช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) จะตั้งมา 10 ปีแล้วก็ยังตั้งไม่ได้เลย อีกส่วนหนึ่งก็ต้องลุ้นในเรื่องการเมืองว่าเราจะได้รัฐมนตรีไอซีทีที่รู้เรื่องหรือไม่ ถ้าไม่รู้เรื่องนี่สลบเลย

GM : ใครพอจะมีหน่วยก้านดีบ้าง

ธนา : 3 คนที่ผมเห็นว่าพอรู้เรื่องบ้าง ก็มีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หมอเลี้ยบ-สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แล้วก็คุณนาฬิกอติภัค แสงสนิทจากพรรคชาติไทย 3 คนนี้พอไหวครับ แต่ถ้าได้คนจากที่ไหนก็ไม่รู้มารันกระทรวงไอซีทีเหมือนกับรันกระทรวงพัฒนาสังคมฯ อันนี้ตายแน่ๆ แล้วมันคงไม่ไปไหน แต่เราคนไทยอาจจะต้องยอมรับนะว่าอาจต้องเป็นแบบนั้น เพราะจากประสบการณ์ของผม ครั้งแรกที่ผมตื่นเต้นกับแผนแม่บทของภาครัฐเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ. โทรคมนาคม คือปี พ.ศ. 2540 ตอนนั้นก็รู้สึกว่า ดีใจโว้ย บ้านเรากำลังจะเปลี่ยนแปลง ผ่านมา 12 ปี ก็เริ่มเข้าใจว่า ประเทศของเรามันก็ประมาณนี้แหละ (หัวเราะ)

GM : เหมือนคุณจะปลง

ธนา : มันก็ไม่ได้ปลงทีเดียว แต่มันเข้าใจมากกว่า ผมว่าประเทศไทยเราไม่เคยผ่านวิกฤติเหมือนประเทศอื่นๆ เป็นประเทศที่โชคดีมาก

GM : แต่ไม่เจริญ

ธนา : ใช่, ไม่เจริญ เพราะเราไม่เคยผ่านวิกฤติ เมื่อวานผมยังคุยเรื่องนี้กับซิคเว่ (เบรคเก้) อยู่เลย เขาเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อปี ค.ศ. 1930 นอร์เวย์เป็นประเทศที่จนที่สุดในยุโรป ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกเยอรมนียึดไป 50 ปี พอเป็นอิสระก็จนมากเลย ตอนนั้นพวกเขาก็เลยตัดสินใจว่าจะเลือกผู้นำที่มีความเข้มแข็งมากๆ คนเดียว ให้อำนาจเยอะๆ เพื่อพาประเทศไปในทางเดียวกัน ซิคเว่บอกว่าช่วงแรกๆ ถึงกับมีการรณรงค์กันว่าห้ามกินกล้วย เพราะถือว่าฟุ่มเฟือยเพราะมันต้องนำเข้า ผมว่าทุกประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติจะสามารถนำพาตัวเองไปได้ ตอนนี้นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีเยี่ยมที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง แถมคนของเขาก็ไม่ฟุ้งเฟ้อมาก เป็นสังคมแบบพอดีๆ น่าอยู่ คุณไปนอร์เวย์นี่คุณจะเห็นรถยนต์แพงๆ น้อยมากเลยนะ เกิดคุณซื้อจากัวร์มานี่ เพื่อนบ้านมองค้อนคุณตายเลย เพราะวิกฤติความจนทำให้คนมันไม่ฟุ้งเฟ้อ ทุกวันนี้นอร์เวย์ก็ยังใช้รถคันเล็กๆ เกียร์ก็ยังเป็นเกียร์กระปุกกันอยู่เลย ซึ่งผมว่าดีนะ  

GM : เมืองไทยไม่เคยมีวิกฤติที่ทำให้เรารวมชาติได้แบบนั้น

ธนา : ผมอ่านงานของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านว่า วิกฤติที่ทำให้เรารวมชาติได้ครั้งสุดท้ายน่าจะเป็นสมัยที่เราแพ้พม่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 ตอนนั้นไทยก็คงอายด้วย แล้วก็รู้ว่าสิ่งเดิมๆ ที่เราทำมามันผิด รัชกาลที่ 1 เลยย้ายเมืองหลวง สังคายนากฎหมายใหม่ สังคายนาพระไตรปิฎก รับต่างชาติมากขึ้น ต่อมาก็เริ่มส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศแล้วก็กลับมาพัฒนาบ้านเมืองจนถึงช่วงรัชกาลที่ 5 เราเจริญมาก แต่ผมว่ามันก็เป็นสมดุลของโลกที่เราเป็นแบบนี้ อย่างอเมริกา รวยจะตายก็ยังมีปัญหาเรื่องซับไพรม์เรื่องต่างๆ อาหรับมีแต่ทะเลทรายเขาก็ให้น้ำมัน เมืองไทยบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ไม่มีภัยธรรมชาติเขาก็เลยเอานักการเมืองมาใส่ (หัวเราะ) คือจริงๆ มันก็เป็นบาลานซ์ของธรรมชาติ ไม่งั้นเราคงเป็นมหาอำนาจไปแล้ว ทุกวันนี้ผมคิดว่าเราคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมายถ้าเราไม่มีวิกฤติ ถามว่ามันจะมีผลกระทบรุนแรงมากไหม มันก็อาจจะไม่มาก แต่มันก็จะมีผลทางอ้อม เช่นว่า หากเราต้องแข่งขันกับคนอื่นๆ ในมุมหนึ่งเราก็จะแข่งขันได้ยากขึ้น เช่นในเรื่องของเทคโนโลยี ตอนนี้เขากำลังตื่นตัวเรื่องการพัฒนาแอพพลิ-เคชั่นบนมือถือเราก็ไม่รู้จะไปแข่งกับเขาได้ยังไง นักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็พัฒนาได้ไม่มากเพราะไม่รู้จะไปทดสอบกับอะไร ไม่มี 3G ให้ใช้ ทางไกลต่างประเทศของที่อื่นก็ถูกกว่าบ้านเราเพราะบ้านเราไม่มีการแข่งขันเต็มที่ เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องต้นทุนที่ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนต้องคิด พอต้นทุนมันมากกว่า ผมก็ไปตั้งอินเดีย ไปตั้งจีนไม่ดีกว่าเหรอ แต่ที่ผมว่ามันบาลานซ์กันก็คือเราโชคดีที่มีอาหารอร่อย ผู้หญิงสวย มีหาดทรายสวยๆ เมืองไทยมี direct investment ก็เพราะมันมีเสน่ห์ เพียงแต่ infrastructure เราล้าหลัง

GM : ถ้าดูเรื่องดูระบบการศึกษาของบ้านเราล่ะ เราเตรียมพร้อมมากแค่ไหนกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

ธนา : ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณกระทิง พูนผล คนไทยไม่กี่คนที่ทำงานในกูเกิล ซิลิคอนวัลเลย์ แคลิฟอร์เนีย แล้วก็อยู่ในตำแหน่งสูงด้วย เก่งเลยละ เขาอีเมลมาหาหลังจากที่ได้อ่านหนังสือของผม เขาบอกผมว่าในแง่ของไอที เมืองไทยไม่อยู่ในแผนที่เลย คือถ้าจะลงทุนก็จะกระโดดข้ามไปที่เวียดนาม คือเราไม่มีอะไรเลย ไม่มีบุคลากร ไม่มีการพัฒนา ภาษาเราก็แย่กว่าเขา infrastructure เราก็แย่กว่าเขา

GM : เทียบกับเวียดนามเราก็แย่กว่าหรือ

ธนา : แย่กว่าครับ เพราะอย่างน้อยเวียดนามมันก็โต ถึงเข้าไปมั่วๆ หน่อยก็ยังโตได้ แต่เมืองไทยไม่มีเลย ในบ้านเรา ผมว่าเราคงหวังพึ่งเซกเตอร์นี้คงไม่ได้ ในแง่ของการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ มันก็น่าเวทนาในระดับหนึ่งนะ ที่เรารู้ว่าเราต้องรับอย่างเดียว เคยมีเรื่องเล่ากันในหมู่พวกเราว่า มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งไปงานเปิดตัวโทรศัพท์มือถือ แล้วก็พูดว่า “ทำไมบ้านเรามีแต่เทคโนโลยีต่างประเทศ ผมน่ะอายมากเลย ทำไมคนไทยผลิตเองไม่ได้” อ้าว!  ท่านมันจะผลิตเองได้ไง ในเมื่อไม่เห็นมีใครสนับสนุนอะไรเลย สเกลก็ไม่ได้ ภาษาก็ไม่ดี ผลิตมาก็ไม่รู้ว่าจะทดสอบกับอะไร ตลาดก็เล็ก จะทำเอาถูกแข่งกับเมืองจีนก็ไม่มี infrastructure รัฐก็ไม่เคยทำอะไรเลย ฉะนั้น เราก็เลยต้องไปเน้นส่งข้าวออกให้มากที่สุด ส่วนไอ้เรื่องไอทีนี่ เอาพอแค่ให้ใช้ได้อยู่ได้ก็พอแล้ว อย่าไปคิดว่าเราทำกรุงเทพฯเมืองไอทีให้เหมือนกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น แบบนั้นไม่มีทางเป็นไปได้

GM : มันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในบ้านเราด้วยไหม ที่ไม่ค่อยชอบลองอะไรใหม่ๆ

ธนา : มันก็มีส่วน หนึ่ง, คือตลาดบ้านเรายังเล็กมาก การลงทุนอาจไม่คุ้มค่า สอง, ลักษณะการบริโภคของคนไทยก็คือ ค่อนข้างฉาบฉวยไม่ได้ลึกซึ้ง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่าง hi5 บ้านเราจะมีคนใช้มากเพราะมันไม่ซับซ้อนเท่ากับ Facebook ซึ่งจะวุ่นวายกว่า แต่ Facebook คนทั้งโลกใช้กันมากกว่า ปัญหาอีกอย่างคือเรื่องภาษาเป็นเรื่องสำคัญ ทำอะไรขึ้นมาจะไปขายเขาก็ยากละ เพราะโม้ไม่เป็น ต่อรองไม่เก่ง อย่างที่แทคก็เหมือนกัน พอเราทำงานกับฝรั่งปุ๊บคนที่มีอุปสรรคเรื่องภาษาก็จะมีโอกาสน้อยลง บางคนเขาเก่งนะ แต่พอภาษาไม่ได้มันก็ยากขึ้น ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องยอมต่างชาตินะครับ แต่พอเราติดต่อสื่อสารไม่ได้มันก็เสียเปรียบ อีกอย่างหนึ่งมันอาจจะเป็นทั้งข้อดีหรือข้อเสียก็ได้นะครับว่า เมืองไทยมันสบาย ถามผมเองผมก็ไม่อยากไปทำงานต่างประเทศเท่าไหร่ อยู่ที่นี่มันสบ๊ายสบาย ที่นี่มีแต่คนอยากมาอยู่ แต่การสบ๊ายสบายมันทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ช้า เราไม่ได้มีปัญหารุนแรงอย่างเรื่องความขัดแย้งเรื่องชนชาติรุนแรงเท่ากับประเทศอื่นๆ

GM : แล้วคุณไม่รำคาญหรือที่เห็นคนไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอ ถนนหนทางไม่ดี นักการเมืองโกงกินชาติ หรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

ธนา : สมัยหนึ่งก็เคยคิดแบบนั้น แต่พอคิดมากๆ แล้วมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา อันนี้ผมเรียนรู้จากการอ่านหนังสือของพี่ตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ (หนุ่มเมืองจันท์) แกเขียนเรื่องที่มีคนไปถามปัญหากับพระรูปหนึ่งเรื่องปัญหานี่ละ ว่ากลุ้มใจแก้ไม่ได้สักที พระท่านก็บอกว่าปัญหามันมีสองอย่าง คืออย่างที่แก้ได้กับแก้ไม่ได้ ที่แก้ได้ ก็แก้ไป ส่วนแก้ไม่ได้ก็วางลงซะ มันหนัก ประโยคสั้นๆ อันนั้นเอง มันทำให้ผมนอนหลับมาจนถึงวันนี้เลย สมัยก่อนผมจะเป็นคนคิดมาก เรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องประเทศเลย แค่เรื่องบริษัทมันก็มีหลายเรื่องที่เราไม่สามารถแก้ได้ แต่พอได้อ่านคอลัมน์นี้ไปก็เข้าใจว่า บางอย่างมันก็ต้องยอมรับว่ามันแก้ไม่ได้ อย่าบ้าไปกับมัน ไม่งั้นตายแน่นอน คิดแค่ว่าคุณสมัคร เป็นหรือไม่เป็นนายกฯ คิดอยู่แค่นี้ก็บ้าแล้ว ฉะนั้น ลองลดสโคปลงมา เราทำอะไรได้ก็ทำไปตามหน้าที่ อย่างผมพูดเรื่องโทรคมนาคมมีคนฟัง ผมก็จะกระตุ้นเรื่องนี้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ผมก็จะไม่พยายามเอามาใส่ใจมาก จริงๆ มันมีอยู่คำหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเราต้องยอมรับมันให้ได้ เป็นคำอมตะของวงการธุรกิจ แต่ผมว่ามันเป็นคำอมตะของโลกเลยก็ว่าได้ นั่นคือคำว่า Change บารัก โอบามา ก็ใช้คำนี้อยู่ Change คือการเปลี่ยนแปลง คือความไม่แน่นอน คืออนัตตา ดังนั้น เมื่อเราดูว่าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง หากเราค่อยตีวงให้แคบลงเรื่อยๆ เราจะพบว่า คนเรามักเหมือนกับคำที่ ลีโอ ตอลสตอย เคยพูดว่า “เรามักอยากที่จะเปลี่ยนแปลงโลก แต่ไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง” คราวนี้พอผมถอยตัวเองออกมาจากเรื่องใหญ่ๆ เราต้องเปลี่ยนตัวเราก่อน ถ้าอยากให้น้องๆ ที่ทำงานด้วยกันเปลี่ยน ไม่งั้นเขาก็จะว่าได้ว่า ‘ดูสิพี่ยังไม่เปลี่ยนอะไรเลย แล้วจะหวังให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงได้ยังไง’ มันก็เลยถอยกลับมาที่ตัวเราว่า เออ… แล้วเราจะเปลี่ยนอะไร

GM : แล้วคุณกำลังจะเปลี่ยนอะไร

ธนา : ตอนนี้ผมพยายามเปลี่ยนแปลงอยู่สองอย่าง คือหนึ่ง, ผมพยายามจะวิ่งให้ได้ 10 กิโลเมตร และสอง, พยายามลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัม แต่การเปลี่ยนสำหรับผมมันมีอยู่สองแบบ หนึ่งคืออยากเปลี่ยน อีกแบบคือถูกบังคับให้เปลี่ยนอย่างที่อยากเปลี่ยนของผมคือการวิ่ง การวิ่งของผมมันเริ่มจากที่ว่า ชีวิตมันสบายไป เราน่าจะทำอะไรกับชีวิตให้มันแข็งแรงขึ้น ตอนนี้ผมมีลูกเล็กๆ ผมก็เริ่มกลัวตาย เลยเริ่มวิ่ง แต่วิ่งยังไงมากสุดก็ได้แค่กิโลฯเดียวก็เหนื่อยแล้ว วิ่งมาเดือนหนึ่งก็ยังไม่ไปถึงไหน ผมก็สงสัยว่าผมจะวิ่งมากกว่านี้ได้ไหม จนกระทั่งได้คุยกับซิคเว่ เขาก็บอกว่าเขาวิ่ง 10 กิโลฯได้สบายมาก ผมก็คิดว่า เออ…ซิคเว่เก่งว่ะวิ่งได้ตั้ง 10 กิโลฯ แต่ทำไมผมวิ่งไม่ได้ ใจผมมันอาจไม่ได้น่ะ บางทีก็แบบ วิ่งๆ ไปสักพัก แค่นี้พอแล้ว ขี้เกียจอะไรแบบนั้นมีวันหนึ่งผมคุยกับซิคเว่ว่า ตอนนี้แทคของเราอยู่ในจุดที่สบายเกินไปแล้วนะ เราอยู่ในจุดที่ถ้าเราผ่านตรงนี้ไม่ได้ เราจะกลับไปวิกฤติอีกครั้งหนึ่ง เพราะปกติที่แทค พอเริ่มสบาย เริ่มรวยแล้ว ก็จะเริ่มทำอะไรที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีการเมือง ทำตัวเองดิ่งลง เท่าที่ผมทำงานกับซิคเว่มา 5 ปี เรามีวิกฤติมา 4 ครั้ง ทีนี้ถ้ามีครั้งที่ 5 นี่ แสดงว่าเราเป็นองค์กรที่ไม่ดีแล้วละ ฉะนั้น เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองในตอนที่มันโอเคให้ได้ ซิคเว่ก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นเราต้องตั้งเป้าหมายว่าเราจะทำอะไร เป้าหมายของเราคือ เราอยากเป็นแบรนด์ที่ดีที่สุด ไม่ใช่ในด้านโทรคมนาคมน่ะดีที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย เออ…แล้วจะทำยังไง ผมก็มานั่งคิดว่า แบรนด์ไม่ใช่เป็นเรื่องของโฆษณาแต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะเคลื่อนไปด้วยกัน ทำอะไรให้มันดีนิดหนึ่ง ดีขึ้นอีกนิดหนึ่งกับทุกฝ่าย ซึ่งผมว่าถ้าเรียกประชุมกัน คนก็คงมาฟัง กลับไปคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก คือถ้าว่างก็ทำ จะทำยังไงให้ทุกคนรู้สึกว่ามี commitment ร่วมกัน เพราะในองค์กรแต่ละคนก็มีบทบาทแตกต่างกัน ผมมีบทบาทอย่างหนึ่ง น้องคอลเซ็นเตอร์ก็มีบทบาทอย่างหนึ่ง

จนตอนที่ผมเริ่มไปวิ่ง ก็คิดได้ว่าการสร้างแบรนด์ มันก็คล้ายๆ กับวิ่งนี่หว่า วิ่งให้เห็นผลก็คือต้องทำสม่ำเสมอ สร้างแบรนด์ก็เหมือนกัน แบรนด์ไม่สามารถสร้างได้ภายในสองสามวัน มันต้องว่ากันเป็นปี วิ่งนี่ก็เหมือนกัน ก็ต้องวิ่งหลายเดือน ถ้าอยากวิ่งให้ได้ไกลขึ้น ต้องทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน แบรนด์ก็ต้องหมั่นปรับปรุงตัวเองตลอดเวลา ต้องอาศัยวินัยอย่างมาก และมันจะต้องไปในทิศทางเดียว ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมก็เลยคิดไอเดียเรื่องของ Impossible Race คือการท้าทายตัวเอง โดยเอาผู้บริหาร 100 คนระดับวีไอพีอัพ ซึ่งก็แก่บ้าง ลงพุงบ้าง อะไรแบบนี้มาวิ่ง 10 กิโลฯ ซึ่งตอนนั้นผมก็กะแล้วว่าไม่น่าเกิน 3 คนน่ะ (หัวเราะ)

ผมก็เลยเอาไอเดียนี้ไปเสนอกับผู้บริหารเมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้วว่าเอาไหม เราจัดวิ่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมตรกัน เป้าหมายคือผมอยากเปลี่ยน 100 คนระดับผู้บริหารให้ได้ ถ้าเราเปลี่ยนได้มันก็จะเกิดความเชื่อมั่นว่า เราทุกคนทำได้ พอตกลงว่าเอา ก็กางปฏิทินกันเลย ก็เอาเป็นวันที่ 3 กุมภาพันธ์หลังปีใหม่ มีเวลาให้ฝึกซ้อม ตั้งเป้าว่า 80 จาก 100 ต้องทำให้ได้ภายในเวลาชั่วโมงครึ่งตามมาตรฐานสากล ซึ่งถือว่าเป็นเป้าที่สูงมาก

ซิคเว่บอกผมว่าหมู เขาวิ่งได้ แต่ผมบอกว่างานของซิคเว่ไม่ใช่การวิ่งให้ถึงเส้นชัย แต่เขาต้องโค้ชให้คน 80 หรือ 100 คนวิ่งให้ได้ แล้วมันจะเกิดการเรียนรู้ขึ้น เช่น คน 20 คนที่วิ่งไม่ได้เขาก็จะรู้สึกประทับใจกับความพยายามของ80 คนที่วิ่งได้ ซึ่งเขาก็ต้องพยายามช่วยกันให้ถึง แล้วผมคิดว่าเราจะประกาศภายในไม่พอ เพื่อกดดันตัวเองให้มากขึ้น เพื่อให้ตัวเองเข้าสู่วิกฤติ พอดีเราจะมีงานแถลงข่าวงานหนึ่งอยู่แล้ว ผมก็ขอแทรกประกาศโครงการนี้ออกไปเลย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครวิ่งได้นะ ผมก็วิ่งไม่ได้ ผมวิ่งได้กิโลฯเดียวเอง (ขณะสัมภาษณ์ เหลือเวลาอีกประมาณ 20 วันจะถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์)

จากนั้นเราก็เปิดรับสมัครพนักงานเพิ่มเติม คนที่สนใจอยากวิ่งกับทีมผู้บริหาร เริ่มทำแคมเปญ ถ้าดูที่ข้างล่างตึก จะเห็นเรามีทีวี บิลบอร์ด ทำกันเป็นเรื่องเป็นราวมาก ตอนนี้มีพนักงานมาสมัครแล้วประมาณ 700 กว่าคน แล้วก็ยังมีพาร์ตเนอร์ของเราอีกที่อยากมาวิ่งด้วย ทั้งจากไอบีเอ็ม จากอาร์เอส พี่ตี๋-แม็ทชิ่ง คุณพาที สารสิน จากนกแอร์ก็ขอมาแจม กลายเป็นแคมเปญที่ใหญ่มาก บางคนก็วิ่งได้อยู่แล้ว แต่บางคนก็อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเหมือนผม หาจังหวะบีบตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต บางคนอาจมองว่านี่เป็นเรื่องฮาๆ นะ แต่สำหรับผมมันยากมาก แต่ถ้าเราเปลี่ยนตัวเองได้ในเรื่องแบบนี้ เราก็จะเชื่อมั่นในตัวเราเองมากขึ้นว่าเราเปลี่ยนได้ และเราก็จะบอกน้องๆ ได้ว่า เฮ้ย! ผมยังเปลี่ยนได้เลย คุณก็ทำได้ ลองดูสิไม่ต้องเปลี่ยนอย่างผมก็ได้ เปลี่ยนอย่างอื่น นิดๆ หน่อยๆ การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มันก็เกิดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ปฏิวัติฝรั่งเศสมันก็เกิดจากคนไม่กี่คนทีละนิดทีละหน่อย เปลี่ยนมุมคิดไปเรื่อยๆ

GM : คุณได้อะไรบ้างจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลง

ธนา : ผมได้ความเข้าใจ ทุกทีเราจะพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบลอยๆ ตามทฤษฎีอะไรแบบนั้น แต่เราอาจไม่ได้เข้าใจมันจริงๆ ว่าเป็นยังไง แต่เมื่อไหร่ที่เราปฏิบัติจริงเราจะเข้าใจมันเลย แล้วมันเปลี่ยนจริงๆ นะ มันเปลี่ยนมุมมองไปเลย อย่างที่นี่มีผู้ใหญ่อยู่คนหนึ่งเขาทำงานด้านการเงิน เราก็มีโอกาสได้แชร์ประสบการณ์เรื่องการวิ่งด้วยกัน เขาก็เล่าให้ผมฟังว่าสมัยก่อนเขาไม่เคยวิ่ง เพื่อนๆ ก็พยายามโทรฯมาชวนเขาเหมือนกันให้ไปวิ่งตอนเช้าวันอาทิตย์ที่สวนลุมฯ จนวันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจไปสวนลุมฯตอนเช้า พอเห็น เขาก็บอกว่ามีคนบ้าเต็มสวนลุมฯเลย! เช้าวันอาทิตย์แทนที่จะนอนสบายๆ พวกนี้มันออกมาวิ่งให้เหนื่อยทำไม ว่าแล้วพี่คนนี้เขาก็เดินแบบเซ็งๆ แล้วก็กลับบ้าน จนเขามาโดนเรื่องที่ต้องวิ่ง เขาก็เลยต้องไปซ้อมจริงจัง ทีนี้ก็กลับไปสวนลุมฯใหม่ คราวนี้ไปถึงเขาบอกว่า เขาวิ่งไม่ออกเลย ไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง จะยกขาไหนก่อน คนจะมองเขาไหม คือเขินมาก จนตัดสินใจวิ่งตามคู่หนึ่งที่วิ่งอยู่ก่อน พอวิ่งครบรอบ เขาบอกว่าโลกเขาเปลี่ยนไปเลย คือเขาเข้าใจเลยว่า อ๋อ! คนพวกนี้มาทำไม มาทำอะไร เป็นการเปลี่ยนทัศนคติเลย แล้วผมเองก็รู้สึกเลยว่า ช่วงสองเดือนมานี้เขาเปลี่ยนไปเยอะมาก จากเป็นไฟแนนซ์ที่เข้มๆ ตอนนี้กลายเป็นคนมองโลกในแง่ดี นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า แค่เราเปลี่ยนกิจกรรมบางมุมของชีวิต เราก็จะเห็นมุมใหม่ๆ ของชีวิตมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมวิ่งนี่มันก็น่าขนลุกนะ เพราะตอนนี้มันสามารถสร้างสปิริตในองค์กร มีการช่วยกัน มีซ้อมใหญ่ เวลาไปสัมมนาหรือไปเยี่ยมลูกค้าต่างจังหวัด ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะกินเหล้า ตื่นกันสายๆ เดี๋ยวนี้ 4 ทุ่มนอน นัดกันมาวิ่งตอนเช้า ล่าสุดผมกับซิคเว่ไปที่เชียงใหม่ก็นัดผู้บริหารตื่นไปวิ่งกันที่ห้วยตึงเฒ่า กลายเป็นว่าผู้บริหารวิ่งกันเป็นบ้าเลย (หัวเราะ) มันกลายเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเอนจอยด้วยกัน คนที่เข้าลิฟต์ด้วยกัน ไม่มีอะไรคุยก็คุยเรื่องวิ่ง แม้กระทั่งคนที่เราเคยดูถูกเขาไว้ว่าคนนี้ทำงานไม่ดีมั้ง เพราะไม่เคยได้ทำงานกับเขาแล้วเราก็ดูจากท่าทางว่าไม่น่าจะเก่ง แต่ผมมีโอกาสเห็นเขาไปซ้อมวิ่ง ซ้อมหนักมาก แสดงว่าคนคนนี้ต้องมีอะไรสักอย่าง ก็เลยลองใช้เขาดู ปรากฏว่า เฮ้ย! ทำงานดีเว้ย ซึ่งผมว่าการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เป็นเรื่องดีมาก

GM : หลังจากผ่าน 3 กุมภาพันธ์ไปแล้ว มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ธนา : เราจะเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง หนึ่ง, เราจะได้ความเชื่อมั่นมามาก แล้วเราจะกล้าที่จะตั้งเป้าหมายยากๆ และเรียนรู้ว่าเราจะจัดการกับมันยังไง ไม่ใช่แค่วิพากษ์วิจารณ์แล้วก็ไม่ทำ อีกอย่างคือคราวนี้พอเราต้องการทำอะไร พอเราจะ relate กันก็ง่ายขึ้น จะเห็นภาพใกล้เคียงกันว่า เฮ้ย! เหมือนวิ่งไง เราต้องซ้อม แล้วมันจะเข้าใจกันง่ายขึ้น

GM : แล้วถ้าหากไม่เป็นอย่างที่คิด

ธนา : ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยๆ ผมก็ได้ผู้บริหารสุขภาพดีเพิ่มขึ้น ทำงานอึดขึ้น จริงๆ ผมว่าเราได้อยู่แล้ว มันได้อะไรหลายอย่าง ได้รู้จักคนใหม่ๆ ทุกคนได้มุมมองใหม่ๆ ผมรู้มาว่าหลายฝ่ายเอาจริงเอาจังมาก ฝ่ายวิศวกรนัดกันไปซ้อม การเงินนัดกันไปซ้อม แค่นี้เราก็ได้แล้ว

GM : การวิ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรีแบรนดิ้งแทคด้วยหรือเปล่า

ธนา : ก็มีส่วนครับ โลโก้มันมีแค่เปลือก แต่จริงๆ การรีแบรนดิ้งเที่ยวนี้ เราต้องการก้าวไปอีกระดับหนึ่ง ต้องทำงานเซอร์วิสให้ดีกว่านี้มากๆ เพราะว่าตลาดมันเริ่มเต็ม คำว่า feel good ไม่ใช่ตั้งเก๋ๆ แต่เราต้องการให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้นจริงๆ การที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้น ตัวเราเองต้องเปลี่ยน แปลงอะไรเยอะมาก เพื่อให้ลูกค้ารู้สึก feel good ฉะนั้น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงเป็นเรื่องใหญ่ การใส่เรื่องวิ่งก็เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนเห็นการเปลี่ยนแปลง การเห็นเจ้านายแก่ๆ 100 คนมาทรมานตัวเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงเนี่ย มันจะเป็นพลังขับเคลื่อนอย่างหนึ่งขององค์กร

GM : อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เต็มใจจะเปลี่ยน แล้วที่บอกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกบังคับเป็นอย่างไร

ธนา : เรื่องที่โดนบังคับให้เปลี่ยนก็คือเรื่อง การลดน้ำหนัก เมื่อก่อนผมน้ำหนักเยอะมากขนาด 90 กิโลฯเลย เป็นคนที่กินไม่ระวัง กินล้างกินผลาญ อย่างเวลากินขาหมูนี่ก็ต้องขาหมูมันล้วน ดูมันแมนๆ ดี (หัวเราะ) กินฟัวกราส์ก็ต้องบุฟเฟ่ต์ฟัวกราส์เลย ผักนี่เขี่ยออกไม่กิน พูดง่ายๆ คือกินของไม่ดีมาชั่วชีวิต มีอยู่วันหนึ่งทั้งวันวันนั้นผมกินมาเยอะ ตอนเย็นก็ต้องไปกินบุฟเฟ่ต์กับพี่ตี๋-แม็ทชิ่ง ระหว่างที่กินๆ ผมรู้สึกไม่ค่อยดี เพลียๆ หัวใจมันเต้นเร็ว ผมก็เลยขอตัวกลับก่อน ระหว่างทางรู้สึกอาการมันเริ่มแย่ลง ก็เลยเลี้ยวเข้าไปบำรุงราษฎร์ ที่นี่เขาก็ตรวจแหลก ทีแรกผมกลัวว่าผมเป็นโรคหัวใจรึเปล่า แต่หมอโรคหัวใจไม่อยู่ เขาก็เลยจับผมนอนที่ CCU (Cardio Care Unit) ซึ่ง CCU นี่มันก็เป็นคนไข้หนักระดับ ICU เลยนะ ผมโทรฯไปบอกที่บ้านทุกคนจะเป็นโรคหัวใจตามผมหมด จนตอนหลังพ่อผมก็มาโจ๊กใส่ผมว่า นี่ถ้าอยู่โคราชนะ หมอเขาเอายาหม่องป้ายจมูก แล้วปล่อยกลับบ้านแล้ว (หัวเราะ) สุดท้ายก็คือไม่เป็นอะไร หมอบอกว่าอาจจะมาจากอาหารเป็นพิษ

ช่วงที่ผมนอนอยู่ ผมก็เริ่มคิดว่า เออ…ชีวิตผมมันไม่น่าจะมาจบแบบนี้ ทุกอย่างในชีวิตเรามันก็โอเคนะ ผมก็เลยมานึกได้ว่า เพราะผมกินไม่ดีมันถึงเป็นอย่างนี้ ก็เลยเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผมจะกินผัก ลดแป้ง ลดน้ำตาล ตอนนี้ผมกินผักจนภรรยาบอกกินเป็นบ้าเลย (หัวเราะ) ผมว่าทุกเรื่องของคน มันเป็นเรื่องของทัศนคติจริงๆ นะ มันเป็นเรื่องการคิดได้กับไม่ได้เท่านั้น ซึ่งบางทีเราต้องเข้าไปอยู่ในวิกฤติก่อนถึงจะคิดได้ เที่ยวนี้ผมว่ามันเป็นวิกฤติที่น่ารักมากสำหรับผม กำลังพอดีเลย คือถ้าผมไม่เข้าโรงพยาบาลผมก็อาจจะยังคิดไม่ได้ หรือว่าถ้าเป็นอะไรขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะซวย ไม่มีโอกาสได้เปลี่ยน ตอนนี้มุมมองเรื่องการกินของผมเปลี่ยนหมดเลย สมัยก่อนผมกินฟัวกราส์เพราะอร่อย เดี๋ยวนี้ผมเห็นฟัวกราส์ผมไม่กล้ากิน ผมกลัวป่วย อย่างบุหรี่เลิกหรือไม่เลิก เดี๋ยวนี้สลัดบาร์ในพารากอนนี่เป็นที่สิงสถิตของผมเลย (หัวเราะ) แล้วก็รู้สึกดี ร่างกายก็เปลี่ยน แค่ 3 สัปดาห์จากคอเลสเตอรอล 200 กว่าเหลือ 144 สองเดือนน้ำหนักผมลดไป 9 กิโลฯ มันทำให้ผมเห็นมุมมองใหม่ๆ ว่าเราน่าจะลองเปลี่ยนชีวิตของตัวเองไปในหลายๆ มุมดูบ้าง ลองอะไรใหม่ๆ อย่างตอนนี้ผมก็ลองมาใช้ Mac จากที่เคยใช้ PC มาทั้งชีวิต ลองเปลี่ยนดูสิว่ามันจะเป็นยังไง

ผมว่าคนเรามักพยายามเปลี่ยนคนอื่น แต่ทำไมเราไม่เริ่มจากตัวเองก่อน ลองถอยกลับมาที่ตัวเอง จากเรื่องใหญ่ๆ ของโลกที่เราอยากเปลี่ยน ลองเปลี่ยนตัวเองให้ได้ก่อน แล้วต้องทุ่มเทจริงๆ คือสำหรับผมนะ ผมว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เราเปลี่ยนตัวเองได้ เราก็จะมี

น้ำหน้าไปบอกคนอื่นให้เปลี่ยนได้ ไม่งั้นเราจะไปบอกเขายังไง มันเป็น hard way มันไม่ได้ง่าย แต่ว่าพอเปลี่ยนได้แล้วมันก็คุ้ม  

GM : การทำงานในองค์กรใหญ่ๆ แบบนี้ให้อะไรกับคุณบ้าง

ธนา : จริงๆ ที่แทคนี่ ผมมีสองช่วงของชีวิตนะ ผมทำงานที่นี่มา 11 ปี ช่วงแรกกับช่วงที่สองนี่อย่างละครึ่งพอดี ช่วงแรกเป็นช่วงของคิดไม่ได้กับช่วงหลังเป็นช่วงของคิดได้ ช่วงแรกเป็นช่วงของการต่อสู้ ฟาดฟัน เล่นการเมือง อีโก้เยอะ สร้างอาณาจักร จุดเปลี่ยนของผมก็คือช่วงที่เทเลนอร์มาปุ๊บ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับผู้บริหาร มีทั้งทีมผู้บริหารเดิม ผู้บริหารของทีมคุณบุญชัย (บุญชัย เบญจรงคกุล อดีตประธานกรรมการบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นฯ) ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ แล้วมีการรับผู้บริหารใหม่จากข้างนอกเข้ามาอีก คือมันหลายก๊กมาก ตอนนั้นผมก็เป็นประมาณ เฉลิม อยู่บำรุง ในนั้น จะมึงมาพาโวยอะไรไปเรื่อย แต่ผมก็เป็นดาวรุ่ง คือเก่ง พูดอะไรผู้ใหญ่ก็เชื่อ คิดดูตอนนั้นอายุ 29 ผมเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทแล้ว เพราะไม่มีใครทำ มันยิ่งทำให้เรามีอีโก้เยอะ ถือว่าเก่งอะไรแบบนั้น จนอายุ 31 พอดีเขารับฝรั่งคนหนึ่งมาเป็นหัวหน้าผม ซึ่งผมก็ย้ายจากการเงินมาดูฝ่าย product and service ผมไม่ชอบเขา ก็เลยคิดว่าไปดีกว่า ตอนนั้น อีโก้เยอะ คิดว่าออกไปนี่แทคต้องเดือดร้อนแน่นอน เพราะเราเจ๋ง ไม่มีเราที่นี่ต้องเสียใจแน่นอน ตอนนั้นผมไปฮัทช์ พอออกไป 3 วัน ผมรู้เลยว่าคนลืมเราแล้ว สุดท้ายแทคก็ต้องเดินหน้าต่อไป ชีวิตทุกคนก็ดำเนินไป ห้องของผมที่เคยมีเขาก็ให้คนอื่นไป ลูกน้องที่เคยมี เขาก็ทำงานของเขาไป ของทุกอย่างก็คืนหมด มันทำให้ผมรู้เลยว่าชีวิตมันก็แค่นั้น ผมก็เริ่มคิดได้ว่าจริงๆ ชีวิตมันก็เท่านี้เอง

โชคดีของผมที่ได้โอกาสครั้งที่สอง คือคุณบุญชัยชวนผมกลับมาทำที่แทค ซึ่งผมก็อยากกลับอยู่แล้ว เพราะตอนที่ผมไปทำงานที่ฮัทช์ แค่ 7 วันแรกผมก็อยากลาออกแล้ว แต่หัวหน้าผมเขาบอกให้ผมอยู่ถึง 3 เดือน ก็อยู่ไป พอครบ 3 เดือนก็ลาออก เพราะผมไม่เชื่อในโมเดลธุรกิจของเขา อีกอย่างหนึ่งคือผมว่าคนเราอาจจะเก่งในสิ่งแวดล้อมหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเปลี่ยนไปอีกสิ่งแวดล้อมหนึ่งเราอาจทำได้ไม่ดีก็ได้

GM : ตอนที่กลับมาใหม่ เข้ามาทำในตำแหน่งอะไร

ธนา : ครับ, ก็กลับมาอยู่แทค กลับมาทำในส่วนของ product and service มาเป็นหัวหน้า เพราะคนที่เขารับมานั้นเขาออกไปแล้ว กลับมามุมมันก็เปลี่ยนเลย ผมมาแบบไม่มีอีโก้เลย เพราะคิดได้แล้วว่า ทุกอย่างมันไม่ใช่ของเรา พอเราออกไปทุกอย่างเขาก็ยึดคืน ไม่มีอะไรเป็นของเรา เราจะถูกให้ออกไปตอนไหนก็ได้

GM : กลับมาก็มาปลุกปั้นกับแฮปปี้

ธนา : เขาก็ชวนให้ผมมาทำ pre-paidให้กับแทค ซึ่งตอนนั้นมันก็เริ่มมีบ้างแต่ว่าก็ยังไม่ชัดเจน พอเขาให้ผมรับผิดชอบโปรเจ็กต์นี้ผมก็บอกเลยว่า ผมอยากคิดใหม่ ผมขอลูกน้องแค่ 4 คนพอ ซึ่งถ้าเป็นก่อนหน้านั้นที่ผมมีอีโก้เยอะผมคงไม่ยอม บทเรียนในการออกครั้งนั้นมันทำให้เราเรียนรู้ว่าบริษัทมันใหญ่กว่าตัวเราเยอะ เมื่อเราอยู่ในทุนนิยม มันมีกำไรมีขาดทุน มันก็ต้องเล่นเกมทุนนิยมไป เราเป็นเพียงปัจจัยการผลิต เป็นนอตตัวหนึ่ง เมื่อไหร่ก็ตามที่เขามาทวงสิทธิ์ไป เราก็ต้องคืนให้เขา จะมาคร่ำครวญว่าเรามีบุญคุณมาเยอะ ไม่เกี่ยวหรอก เขาดูความสามารถ เขาดูผลประกอบการเป็นควอร์เตอร์ พอเข้าใจแล้วชีวิตมันง่ายขึ้นเยอะ ผมก็จะพยายามสอนน้องๆ ว่าให้มองแบบนี้นะ มองผ่านซิคเว่ขึ้นไปเป็นบอร์ดผู้บริหารนะ ผ่านบอร์ดไป ก็เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นที่อยู่นอร์เวย์ อยู่นิวยอร์ก หลายคนไม่เคยมาเมืองไทยด้วย แล้วเขาจะไปสนใจทำไม มันเป็นเงินของเขา มันไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ฉะนั้นเวลาคนถามผมว่าผมมีแผนระยะยาวไหม ผมบอกเลยว่าผมมีแผนแค่ปีสองปีเอง อย่างตอนนี้ผมก็แฮปปี้กับการที่ได้ทำงานกับซิคเว่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องเปลี่ยนเป็นคนอื่น ถึงตอนนั้นก็ว่ากันอีกที เพราะเกิดคนที่มาเขาทำงานคนละสไตล์กับซิคเว่ เราก็ต้องลองทำกับเขาดู ถ้าทำได้ก็ดี ถ้าเขาไม่ใช้เรา เราก็พอ ดังนั้นช่วงนี้มีอะไร ใส่หมดเลย มีไอเดียอะไรอย่าไปกั๊ก เป็นวิสัยทัศน์ระยะสั้น ไปทีละนิด ทีละนิด คิดแบบนี้มันก็ทำให้เราไม่มีห่วงเยอะ ไม่มีอาณาจักร ไม่มีความผูกพัน ไม่ยึดติด ทุกวันนี้ห้องทำงานผมก็ห้องเล็กๆ ผมไม่เอาแล้วห้องใหญ่ๆ อายลูกน้องมันด้วย ลูกน้องยังไม่มีห้องเลย

GM : การทำงานกับคนต่างชาติ อย่างเทเลนอร์ เมื่อเทียบกับการบริหารงานแบบไทยๆ สมัยคุณบุญชัย แตกต่างกันอย่างไร

ธนา : มันก็ต่างกัน โดยธรรมชาติของผู้ถือหุ้นก็ต่าง เพราะหากเป็นแฟมิลี่ เราถึงตัวได้เลย แล้วก็มีลักษณะแบบหยวนๆ ประนีประนอม แต่พอเปลี่ยนผู้ถือหุ้นเป็นทุนนิยมเต็มรูปแบบมันคือ growth อย่างเดียว เขาไม่สนใจหรอกว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นยังไง แบรนด์ดียังไงต้อง growth และต้องไม่บ๊วยในประเทศด้วย และในบรรดากลุ่มเทเลนอร์ 10 ประเทศ เราก็ต้องไม่บ๊วยใน 10 ประเทศนั้นด้วย ซึ่งทำให้เราทำงานเป็นระบบมากขึ้น มีการวัดประสิทธิภาพที่เป็นมาตรฐานสากล ถึงวันนี้ผมว่าแทคเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แน่นอนว่าแทคมีทั้งช่วงดีและแย่ แต่พอแย่ทีหนึ่ง เราก็ได้รู้อะไรใหม่ๆ และโชคดีที่วิกฤติไม่ทำให้เราเจ๊ง ซึ่งโชคดีที่เทเลนอร์เขาไม่ค่อยเข้ามายุ่งวุ่นวายอะไรกับเรื่องการทำงานมากนัก ยกเว้นเรื่องของตัวเลข ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

GM : ในบรรดาที่เทเลนอร์ถือหุ้นอยู่ 10 ประเทศ แทคอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่

ธนา : ถ้าขนาดนี่ เราอยู่ในอันดับต้นๆ ยูเครน นอร์เวย์ ไทย สเกลน่าจะสูสีกัน ถึงบอกว่าถ้าเราเป็นหวัดนี่ก็ติดทั้งกลุ่ม เราไอหน่อยทุกคนก็ต้องหันมามองแล้ว เรื่องของเพอร์ฟอร์แมนซ์เราก็อยู่ในระดับกลางๆ ค่อนข้างดี เพราะฉะนั้น เรื่องของผลงานเป็นเรื่องสำคัญ

GM : ว่าไปแล้วเรื่องของการจัดการคนเป็นเรื่องใหญ่

ธนา : ใช่, เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด มีคนเคยพยายามถามแผนงานของผม ผมบอกเลยว่าผมไม่มีแผน หัวใจของผมก็คือเลือกคนให้ถูกงาน ถ้าเอาคนดีใส่แผนเลว เดี๋ยวคนดีมันไปแก้แผนเอง แต่ถ้าเอาคนไม่เก่งไปใส่แผนดีขนาดไหน ยังไงก็เจ๊ง ดังนั้น คนเก่งคนดีนี่ต้องมาก่อน ที่เหลือมันมาเอง การทำงานของผมก็เลยไม่มีแผนอะไรจริงๆ จังๆ กินข้าว

นั่งคุยกัน เอาปากกามาวาดประมาณนี้นะ แล้วก็ลงมือแยกย้ายกันไปทำ ช่วยกันทำ

แป๊บเดียวมันก็ออกมา มันเหมือนการทำกิจกรรมสมัยมหา’ลัย แต่ถ้าเราจัดเป็นโครงสร้างแล้วก็เอาคนอีโก้แยะๆ เข้ามาดีเฟนด์กัน อย่างนี้เหนื่อย แบบนี้เร็วกว่า เอาคนที่มีทัศนคติคล้ายๆ กัน เก่งแล้วก็ไม่มีการเมือง ถ้าไปดูฝ่ายผมตอนนี้ ทุกคนไม่มีหน้าที่ชัดเจน มันก็มั่วๆ กันไป แต่เราก็ช่วยกัน

GM : ปีที่ผ่านมาผลประกอบการแทคน่าพอใจไหม

ธนา : ก็ดีครับ ถ้าเทียบกับคู่แข่งเราดีมาก มาร์เก็ตแชร์โตประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์

จาก 31 มาเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าดู growth ก็ปานกลาง อุตสาหกรรมโดยภาพรวมในประเทศติดลบ แต่เราโตประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้ดีมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเทเลนอร์

GM : คุณเคยพูดไว้ว่า อุตสาหกรรมมือถือปีนี้มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง ทำไมคุณถึงกล้าฟันธงลงไปขนาดนั้นว่ามันจะแย่

ธนา : ในแง่ของอุตสาหกรรมโดย

ภาพรวมนะครับ ไม่ได้หมายถึงแทค แทคอาจจะดีก็ได้ แต่อุตสาหกรรมคงเจ๊ากับเจ๊งแน่นอน เจ๊าในแง่ที่ว่ามันคงไม่มีอะไรใหม่ๆ ฉะนั้น เราเจ๊า แต่ขณะที่ประเทศอื่นเดินหน้า นั่นหมายถึงเราก็ต้องเจ๊ง ต้องเป็นธรรมชาติ สำหรับแทค เมื่อเรารู้ว่าไม่มีเพลเยอร์ใหม่ๆ มาแย่งแชร์เรา เราก็รู้อยู่แล้วว่าคู่แข่งเราคือใครและเราก็พร้อมในเรื่องของการทำตลาด ฉะนั้นเราก็มีโอกาสที่จะโตได้

GM : โอกาสที่ประเทศไทยจะมีโทรศัพท์มือถือเจ้าใหม่ๆ เข้ามานี่ไม่มีเลยหรือ

ธนา : ตีศูนย์ไปเลย ง่ายๆ เลย หากเป็นคู่แข่งใหม่ที่จะมา ต้องเป็นต่างชาติแน่นอน แต่กฎหมายแบบนี้ นอมินีติดคุกแบบนี้ใครจะมา (หัวเราะ) ส่วนถ้าเป็นนักลงทุนคนไทย ต่อให้เป็นคุณเจริญ (สิริวัฒนภักดี) แม้ว่าแกจะมีเงินแต่แกก็คงไม่โง่พอที่จะเอาเงินมาลงทุนแบบนี้ (หัวเราะ) ธุรกิจนี้เกหน้าตักกันทีว่ากันเป็นห้าหกหมื่นล้าน ฉะนั้นยากมาก

GM : เมื่อเทียบกับคู่แข่ง แทคเองมีความคิดในการลงทุนส่วนต่างๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของแบรนด์ไหม

ธนา : ถ้าถอยกลับมาดูแทคเอง แทคเป็นบริษัทที่ไม่ค่อยมีจุดแข็ง ดูอย่างคู่แข่ง เอไอเอสมีเครือข่ายที่ดีกว่า ทรูมูฟก็ถูกกว่าแล้วก็มีญาติเยอะ เรานี่หัวเดียวกระเทียมลีบ มีโปรดักท์อันเดียว ถ้าดูกันจริงๆ แทคไม่น่ารอดมาถึงวันนี้ด้วยซ้ำ คือถ้าจะซื้อเครือข่ายไปซื้อเอไอเอสดีกว่า หวือหวาก็ซื้อทรู แต่เราก็รอดมาได้ ฟีลลิ่งแบบนี้ผมก็พยายามถ่ายทอดให้น้องๆ ว่าเราคือมวยรอง เราด้อยกว่าเขาทั้งคู่ ฉะนั้น ถ้าจะอยู่รอดคือเราก็ต้องทำงานหนักกว่าเขา ผมยกตัวอย่างอย่างการดิสทริบิวชั่น ทรูมีเซเว่น-อีเลฟเว่น แต่ตอนนี้ผมกล้าพูดว่าดิสทริบิวชั่นของเราแข็งกว่าทรู เพราะเราวางตามเอาต์เลตเทเลคอมมานานแล้ว เราใช้รถ cash van ของเราเอง วิ่งไปเยี่ยมร้านค้าย่อยเอง ส่งของเองทุกวัน เราทำมา 2 ปีแล้วใช้คนกว่าร้อย เพราะเราไม่มีอย่างเขา เราก็ต้องลงแรง

GM : อย่างนี้ต้นทุนไม่สูงขึ้นหรือ

ธนา : ต้นทุนลดลงด้วยซ้ำ เพราะสมัยก่อนเราต้องผ่านยี่ปั๊วซึ่งเขาเก็บหัวคิวอะไรเยอะแยะไปหมด อันนี้เราทำเองควบคุมง่ายกว่า คือพอเรายอมรับว่าตัวเองเป็นมวยรอง เราก็จะมองเห็นมุมใหม่ๆ อย่างเอไอเอส เขาแข็งเรื่องเครือข่าย ถ้าผมจะสู้เรื่องเครือข่ายบอกว่าของผมดีกว่าเอไอเอส ไม่มีใครเชื่อผมหรอก ฉะนั้น เราก็จะไปเป็นจุด เราไม่พูดว่าเราดีกว่าเอไอเอสโดยรวม แต่บางที่ของเราดีกว่าเอไอเอสจริงๆ ผมก็ไปทำกิจกรรมเฉพาะจุดนั้นๆ คือมันต้องใช้ลูกขยัน ผมว่าเวลาที่เราคิดแบบมวยรองเราจะได้ไอเดียอะไรสนุกๆ เยอะ เหมือนเราต้องจีบผู้หญิงแข่งกับพานทองแท้ แล้วเราไม่มีตังค์ แล้วถ้าเราจะสู้พานทองแท้ได้นี่ เราจะทำยังไง ถ้าพานทองแท้พาสาวไปกินร้านอาหารอิตาเลียน ผมต้องไปกู้เงินควิกแคชพาสาวไปเลี้ยงอย่างนั้นรึเปล่า ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นผมก็ต้องเป็นหนี้แล้ว สาวก็ไม่เชื่อว่าเรารวยจริงเพราะมันไม่ใช่ตัวตนของเรา ฉะนั้น ก็ต้องสู้ด้วยวิธีอื่น สู้โดยไม่ต้องใช้เงิน เช่นว่า เข้าทางพ่อแม่ เรียนรู้กิจกรรมอะไรที่ไม่ใช้เงิน หัดดูหมอ หัดเล่นกีตาร์ หัดเล่นกล พยายามหามุกเล่นที่แสดงถึงความจริงใจ พานทองแท้อาจขับรถมาส่งหน้าบ้าน เราอาจจะนอนเฝ้าถังขยะหน้าบ้าน 7 วันเพื่อโชว์ วันวาเลนไทน์พานทองแท้อาจซื้อดอกไม้ 999 ดอก ไอ้คนที่ไม่มีเงินอาจจะเอาดอกกุหลาบมาดอกเดียว แต่บอกสาวว่า “นี่ผมปลูกเอง” พอเราเริ่มเข้าใจว่าเราเป็นมวยรอง เราก็จะเริ่มรู้สถานภาพของตัวเอง ต้องพยายามทำงานหนักกว่า โอกาสชนะอาจไม่เยอะ แต่ถ้าทำเหมือนเขาเลยนี่ยังไงก็แพ้

GM : ทำไมตลาดถึงอยากเชียร์มวยรอง

เปลี่ยนมุมคิด ชีวิตเปลี่ยนมันเป็นธรรมชาติของคน วิญญาณของการเป็นมวยรองมันมีเสน่ห์เพราะมันมีสตอรี่ มันต้องสู้ ต้องมีความตั้งใจจริง มีความพยายามแบบ เฮ้ย! เอาอีกนิดหนึ่ง เอาอีกนิดหนึ่ง เราต้องล้มแชมป์เพื่อที่จะลืมตาอ้าปากได้สักที อะไรแบบนั้น  อีกอย่างหนึ่งผมว่าคนชอบเชียร์มวยรองเพราะ 99 เปอร์เซ็นต์ของคนบนโลกนี้เป็นมวยรอง คนส่วนใหญ่ก็ต้องเชียร์คนที่มีตำหนิเหมือนๆ เรา

GM : เกิดในอนาคตแทคได้เป็นแชมป์โลกขึ้นมา แทคก็ยังจะคิดแบบมวยรอง?

ธนา : ต้องคิดแบบนั้นเลย คือถ้าเมื่อไหร่ที่คิดแบบแชมป์นี่เราเจ๊งแน่ๆ เพราะเราไม่ได้มีอะไรที่เหนือกว่าคู่แข่งเลย ผมถึงบอกว่าเราไม่สามารถให้แทคเกิดวิกฤติครั้งที่ 5 ได้ เราต้องเปลี่ยนตัวเองให้ได้ตอนที่มันโอเค อย่างล่าสุด เราได้แบรนด์อันดับ 12 ของการสำรวจของ Y&R ที่เซอร์เวย์ในเมืองไทยจาก 3,000 กว่าแบรนด์ 11 อันดับแรกนี่เป็นชื่อแบรนด์อินเตอร์เนชั่นแนลทั้งนั้น เราเป็นโลคอลแบรนด์ที่อยู่ในอันดับสูงสุดของไทย เรื่องนี้มันมองได้สองมุม อย่างแรกเราอาจมองว่าเจ๋งเว้ย อันดับ 1 ของโลคอลแล้ว ปักธงแล้ว เก่งมาก ฉลอง! คิดอย่างนี้ ฉิบหายแน่นอน มันจะเป็น beginning of the end แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง อันดับ 12 นี่สูงกว่าที่เราคิดไว้เยอะ แสดงว่าคนคาดหวังกับเราสูงมาก ความคาดหวังนี่น่ากลัว เพราะเมื่อคนคาดหวังกับเรามาก เราจะมาทำเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ไม่งั้นคนก็จะไม่รักเราอีก ดังนั้น ต้องรีบปรับปรุงตัวเอง

GM : ปัญหาเรื่องการฟ้องร้องกับภาครัฐของแทค ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ธนา : ก็อยู่ในขั้นตอนของศาลครับ ในการพิจารณา เรื่องของเรื่องก็คือสมัยก่อนนั้นมันยังไม่มีอะไรชัดเจน ตอนนั้นมีหน่วยงานรัฐสององค์กรคือองค์การโทรศัพท์ฯกับการสื่อสารฯ แทคได้สัมปทานจากการสื่อสารฯ แล้วเราอยากต่อเชื่อมกับองค์การโทรศัพท์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ องค์การโทรศัพท์ฯก็เรียกราคามาว่าขอค่าเชื่อมต่อสัญญาณ 200 บาทต่อเบอร์ ซึ่งเราก็ต้องยอมจ่าย เพราะไม่อย่างนั้นลูกค้าของเราก็โทรฯไม่ได้ก็ต้องยอมเพราะมันเป็นเรื่องของอำนาจต่อรอง ก็เซ็นสัญญากันธรรมดาไม่ได้เกี่ยวกับสัมปทาน เหมือนกับสัญญาเช่าบ้านอย่างนั้น

พอยุคสมัยเปลี่ยนตอนนี้มีกฎหมายใหม่ของ พ.ร.บ. โทรคมนาคมซึ่งมีเรื่องของ international connection charge กำหนดมาให้ เราก็เห็นว่าเป็นกฎสากลที่ทุกประเทศใช้กัน เราก็บอกองค์การโทรศัพท์ฯว่าเราขอยกเลิกสัญญาอันเก่านะ เพราะเราจะใช้กฎใหม่ที่ออกมาแทน แล้วองค์การโทรศัพท์ฯเล็กลงเยอะเมื่อเทียบสัดส่วนจากเบอร์ทั้งหมดที่มีในตลาด ฉะนั้น หากจะจ่าย 200 บาทต่อเบอร์ก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผล แต่ทางองค์การโทรศัพท์ฯบอกว่ายกเลิกไม่ได้เพราะรัฐเสียประโยชน์ ซึ่งในสัญญาก็ไม่ได้ระบุว่า ยกเลิกได้หรือไม่ได้ยังไง เราก็คิดว่ามันน่าจะยกเลิกได้ เพราะโดยลอจิกของผมก็คือ มันก็เหมือนผมฝากเงินกับแบงก์กรุงไทยแล้วผมถอนไม่ได้เพราะเดี๋ยวรัฐเสียประโยชน์ มันก็ใช่ที่ ดังนั้น พอความเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องไปที่ศาลซึ่งผมว่าเป็นทางออกที่สวย เพราะสุดท้ายศาลว่าอย่างไร เราก็ว่าตามนั้น แต่จะให้เราจ่ายทั้งกฎเก่าและกฎใหม่ไม่ได้ ไม่งั้นเราเจ๊ง ในขณะที่ตอนนั้น

เอไอเอสไม่ต้องจ่าย คือในสมัยนั้น เราก็ยอมรับว่าอำนาจการต่อรองไม่เหมือนกัน แต่เราต้องยอมรับว่าเราเลือกเอง การต่อสัญญาณทำให้มีลูกค้าซื้อเรา เราถึงรอดมาได้ แต่ก็รอดแบบเสียเปรียบ ซึ่งผมว่าไปจบที่ศาลก็ถือว่าดีแม้ว่าจะช้าหน่อย เพราะหากว่าถ้ารอให้เรายอมกันเองคงไม่มีทาง เพราะหากองค์การโทรศัพท์ฯยอมเขาก็ต้องโดนบอร์ดฟ้องอีกว่าเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ซึ่งไอ้คำนี้ทำให้ไม่มีใครกล้าทำอะไร ผมมองว่าบางทีเราก็ต้องยอมกันบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า ไม่ได้หมายถึงการคอร์รัปชั่นหรืออะไรอย่างนั้นนะครับ ต้องดูกันตามความเหมาะสม เมืองไทยมักเป็นแบบนี้ มองอะไรมีแค่ขาวกับดำ ทั้งที่ในชีวิตจริง มันมีทั้งเทาแก่ เทาอ่อน

GM : แล้วปัญหาของการมีเลขหมายไม่พอในประเทศที่มีประชากรแค่ 60 กว่าล้านคน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

ธนา : ผมว่ามันก็เป็นเรื่องของความเข้าใจอีกนั่นแหละ ช่วงที่ขาดแคลนเบอร์ เราก็จ้างบริษัทมาทำการศึกษาสำรวจว่าประเทศอื่นมันมีอย่างนี้ไหม ปรากฏว่าไม่มีประเทศไหนเป็น เพราะเบอร์โทรศัพท์ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องประหยัดเหมือนน้ำมัน มันสามารถเพิ่มหลักได้ มันมีอีกหลายร้อยล้านเบอร์มากที่เราสามารถเอามาใช้ได้ แต่ไม่ยอมเอาออกมาใช้ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจ พอมีอำนาจมากก็อยากจะตรวจสอบเยอะ คือเหมือนกันกับผมเวลาที่มีคนมาพรีเซ้นต์งาน ผมก็จะถามว่าถ้าผมฟังแล้วผม

คอมเมนต์ได้ไหม แก้งานได้ไหม คนมีอำนาจมักเป็นแบบนี้คือ ไม่อยากปล่อยอะไรง่ายๆ เรื่องเบอร์ก็เลยเป็นเรื่องตลก เพราะประเทศอื่นๆ มีแต่สนับสนุนให้คนใช้เบอร์เยอะๆ เพราะเบอร์หนึ่งสามารถทำให้เงินหมุนเวียนได้ เราขายเบอร์ได้ การสื่อสารก็ได้ส่วนแบ่งรายได้ กทช. ได้ค่าเบอร์ เรามีรายได้ไปเสียภาษี แต่ถ้าเอาไว้เฉยๆ เลขมันก็เป็นแค่เลขตัวเดียว มันไม่ใช่ถ่านหินด้วยนะ มันไม่มีค่าอะไรเลย แล้วจะเก็บไว้ทำไม เรามีเบอร์อยู่เหลือเฟือทำไมไม่เอาออกมาใช้ เพราะยังไงๆ ในตลาดอีกปีสองปีก็แทบไม่ต้องการเบอร์ใหม่เพิ่มแล้วเพราะตลาดมันเต็ม แต่คนก็ชอบพูดว่าชอบเอาไปแจกกัน แล้วผมถามว่ามันผิดอะไร จะให้ไปขายซิมละ 500 เหรอ ก็ไม่ใช่ จริงๆ เบอร์เหล่านี้ถ้าแจกไปแล้วไม่มีใครใช้เบอร์ก็จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่อยู่ดี ถ้าจะจำกัดผมนะทำไมไม่จำกัดกระดาษที่เอาไปทำฟรีก๊อบปี้แจกตามรถไฟฟ้าด้วยล่ะ อันนั้นผมว่าทำลายทรัพยากรมากกว่าเบอร์อีก

GM : ตลาด pre-paid กับ post-paid ในเมืองไทยเป็นอย่างไร

ธนา : อันนี้มันแล้วแต่วัฒนธรรมของแต่ละประเทศจริงๆ บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น แทบไม่มี pre-paid เลย น้อยมากๆ เพราะ 2 ประเทศนี้มองว่ามันเป็นเรื่องของความไม่สะดวก ผมเคยคุยกับคนญี่ปุ่น เขาบอกว่า pre-paid ไม่สะดวก จ่ายแบบบิลสะดวกกว่ากันตั้งเยอะ ส่วนเกาหลีใต้เขาก็จะมีวันหนึ่งของทุกเดือนที่จะเป็นวันจ่ายบิลทั้งประเทศ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นวันที่ 22 ของทุกเดือน ส่วนอิตาลี pre-paid ทั้งประเทศเพราะเขาชอบกันแบบนั้น อเมริกา pre-paid ก็เริ่มมาก เมืองไทยนี่ pre-paid 90 เปอร์เซ็นต์มีแต่คนชั้นกลางอายุ 30 อัพเท่านั้นที่จะใช้ post-paid ทั้งตลาดมีอยู่ประมาณ 4 ล้านจากทั้งหมด 50 ล้านคน ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า pre-paid สะดวกกว่ายังไง อย่างผมทำ pre-paid แต่ก็ใช้ post-paid (หัวเราะ)

GM : ดูชีวิตคุณจะง่วนอยู่กับงานตลอดเวลา ความฝันของคุณมีไหมหากไม่ใช่เรื่องการทำงาน

ธนา : ตอนนี้ชีวิตผมดีขึ้นเยอะนะลูกน้องเก่ง ทำให้ผมมีเวลามากขึ้น ส่วนเรื่องความฝัน พูดไปคนก็ชอบขำผม แต่จริงๆ ผมเป็นอย่างนั้น เวลามีคนมาถามความฝัน ผมตอบสั้นๆ เลยคือผมอยากอยู่บ้าน บางคนชอบมาชวนผมบอก  “เสาร์-อาทิตย์อยู่บ้าน งั้นพี่ก็ว่างสิ ไปตีกอล์ฟกัน” ผมก็บอกผมไม่ ผมไม่ว่างผมอยู่บ้าน (หัวเราะ) ความฝันผมคืออยากอยู่บ้าน เล่นกับลูก ทำอะไรที่ตัวเองแฮปปี้มีความสุข แค่นี้เอง เป็นความฝันง่ายๆ

อีกอย่างคือผมกำลังสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง ผมก็จะมีความสุขกับการหาอะไรใหม่ๆ ทำ อย่างตอนนี้ผมกำลังสนใจเรื่องไคเซน ซึ่งเป็นหลักคิดแบบญี่ปุ่นที่องค์กรใหญ่ๆ อย่างโตโยต้านำมาใช้กัน หลักการของมันก็คือการทำวันนี้ให้ดีขึ้นอีกนิด อย่างเช่นว่าแคชเชียร์ที่ญี่ปุ่นเขาก็จะไม่คิดว่าในอนาคตเขาจะไปเป็นหัวหน้าแคชเชียร์ แต่เขาจะคิดว่าเขาจะคีย์ให้เร็วขึ้นได้อย่างไร ชั่วโมงนี้คีย์ได้ 50 คน ชั่วโมงข้างหน้าขอให้ได้ 51 คน นี่คือหลักการของไคเซน ก็อยากจะลองหาวิธีการหลายๆ อย่างที่จะมาปรับใช้กับแทคดูครับ

GM : แล้วเรื่องเขียนหนังสือ ยังอยากเขียนอีกไหม หลังจากเล่มแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ธนา : เป็นเรื่องที่ผมงงเหมือนกัน จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมก็เคยเขียนนะ เป็นคอลัมน์ แต่เขียนห่วยมาก (หัวเราะ) ผมว่าผมเป็นคนที่เขียนคอลัมน์ได้ไม่ดีนะ โชคดีที่ตอนนั้นใช้นามแฝง แต่พอเขียนเป็นเล่ม มีเวลากับมันมากหน่อย รู้สึกว่าทำได้ดีกว่า ทีแรกที่เขียนผมกะว่าจะเขียนแจกให้น้องๆ อ่านกันเฉยๆ กลายเป็นว่าพอผมให้พี่ตุ้มอ่านดู แกก็ชอบ แล้วก็ชวนทำ ก็เลยทำ ซึ่งถ้าทำใหม่ก็ต้องดูก่อนครับว่าจะเขียนอะไรดี ซึ่งก็เพิ่งรู้นะว่านักเขียนกว่าจะได้เงินนี่ ยากเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

“อย่างอเมริการวยจะตายก็ยังมีปัญหาเรื่องซับไพรม์อาหรับมีแต่ทะเลทรายเขาก็ให้น้ำมัน เมืองไทยบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ เขาก็เลยเอานักการเมืองมาใส่”

“การสร้างแบรนด์คล้ายกับการวิ่ง วิ่งให้เห็นผลก็คือต้องทำสม่ำเสมอ แบรนด์ไม่สามารถสร้างได้ภายในสองสามวัน ต้องว่ากันเป็นปี”

“แทคเป็นบริษัทที่ไม่ค่อยมีจุดแข็ง ถ้าดูกันจริงๆ แทคไม่น่ารอดมาถึงวันนี้ด้วยซ้ำ แต่เราก็รอดมาได้ เราคือมวยรอง ฉะนั้น ถ้าจะอยู่รอดเราก็ต้องทำงานหนัก”

“ผมกำลังสนใจเรื่องไคเซน ซึ่งเป็นหลักคิดแบบญี่ปุ่ที่องค์กรใหญ่ๆ อย่างโตโยต้านำมาใชหลักการของมันก็คือการทำวันนี้ให้ดีขึ้นอีกนิด”

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ