fbpx

ทวีศักดิ์ ศรีทองดี โลกของโลเล

1

บ่ายวันพุธ ร้านสตาร์บัคส์ใจกลางถนนสีลมเสียงโหวกเหวกของบรรดาลูกค้าแสนกระหายที่ง่วนอยู่กับการสั่งกาแฟและเครื่องดื่มประดามีของสตาร์บัคส์ ปลุกให้บรรยากาศยามบ่ายวันทำงานดูมีชีวิตชีวาอีกครั้ง การนัดเจอกันที่ร้านกาแฟ ดูเป็นกิจกรรมที่ผู้คนทั่วไปทำกันเป็นกิจวัตร ร้านกาแฟมีเสน่ห์ทั้งยามที่มันเงียบ และยามที่คนเยอะเช่นนี้ แม้ว่าเราจะแปลกหน้าต่อกันก็ตามที  วันนี้เราก็มาเจอคนแปลกหน้าเช่นกัน…เป็นคนแปลกหน้าที่เรารู้จักเขาข้างเดียวมานาน โดยผ่านงานของเขาตามหน้านิตยสาร ตามนิทรรศการ และตามกิจกรรมทางศิลปะต่างๆ คนแปลกหน้า คนนี้มีชื่อแปลกๆ ที่ชวนจดจำว่า ‘โลเล’ คุณคงคิดเหมือนกันว่า คน’ไรวะ ชื่อโลเล !และท่ามกลางคนแปลกหน้าที่ยืนออกันอยู่หน้าพนักงานขาย ผมสังเกตว่ามีชายที่ชื่อโลเลอยู่ในกลุ่มนั้น เราฉวยวันเวลาและบทสนทนาของคนแปลกหน้าเริ่มต้นด้วยการถามถึงสิ่งง่ายๆ เช่น กาแฟ รถติด อากาศ อาหาร ศิลปะ และเลยไปถึงเรื่องงาน (ขอโทษจริงๆ ที่เราไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องนักการเมือง)

2

“ตัวละครในนวนิยายของผม น่าจะเป็นคนที่ดูภายนอกนิ่งๆ แต่ภายในเป็นมนุษย์ขี้สงสัย คิดมาก ชอบทบทวนสิ่งที่คิดอยู่ในใจเสมอ หน้าตาธรรมดา มีบุคลิกเฉพาะ” โลเล หรือ ต๋อย หรือ ทวีศักดิ์ ศรีทองดี (ในที่นี้เราขอเรียกเขาว่าโลเล) ชื่อเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณรู้จักกับเขาในสถานะไหน ตอบกับเราอย่างนั้นเมื่อบทสนทนาพาไปถึงงานที่เขาอยากทำในอนาคต โลเลบอกว่า เขาอยากลองเขียนนวนิยายดูสักเรื่อง หลังจากที่ทดลองทำงานศิลปะมาแล้วในหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานเขียนภาพ งาน Installation งานดนตรี และภาพเคลื่อนไหวโลเลเริ่มแสดงงานเดี่ยวของตัวเองในฐานะศิลปินครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540 ในชื่อ ‘Dream’ หลังจากนั้นเพียง 3 ปี เขาก็ก้าวกระโดดไปแสดงงานในต่างประเทศ ทั้งในอัมสเตอร์ดัม เบอร์ลิน ลอนดอน ญี่ปุ่น และอีกหลายๆ เมืองใหญ่ทั่วโลกสิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำงานของเขาได้ คงหนีไม่พ้นรูปวาดเปลือยเปล่าของชายหญิงบนผืนผ้าใบขาวสะอาด ท่วงท่าที่ดูแปลกตาของรูปสมมุติที่อยู่ในรูป บอกเล่าเรื่องราวบางอย่างที่ชวนให้ผู้ที่ได้พบเห็น ต้องยืนคิดครุ่นอยู่ครู่ใหญ่ Happyland ผลงานการวาด ครั้งล่าสุดของเขา ก็ยังไม่ทิ้งร่องรอยของงานที่เราคุ้นเคย แต่มีโจทย์ใหม่ๆ ไว้ให้เราสงสัย พูดได้ว่าในบรรดาศิลปินรุ่นใหม่ โลเลน่าจะเป็นหนึ่งในศิลปินที่ผลิตงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในศิลปินที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในวงกว้างคนหนึ่ง มีคนตามเก็บสะสมงาน งานของเขาถูกเลือกให้แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ มีผลงานแสดงในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง และไม่แปลกใจว่าทำไมราคาภาพเขียนของเขาในตลาดงานศิลปะ ไม่มีชิ้นไหนเลยที่ราคาต่ำกว่า 6 หลัก !

3

คำถามที่อยากรู้ก็คือ แม้โลเลจะดูเป็นที่รู้จักของคนหมู่มาก แต่ชีวิตของศิลปินก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสัมผัส ยังมีด้านอื่นที่เรายังไม่รู้อีกมาก โดยเฉพาะการดำรงตนในวิถีของศิลปินและการหาเลี้ยงชีพในโลกของจินตนาการ ในแง่นี้แล้วปุถุชนอย่างเราก็ถือเป็นคนแปลกหน้าของศิลปิน… “ตัวละครตัวนั้นเป็นตัวแทนของผมหรือเปล่า…ผมไม่แน่ใจ เพราะผมเองบางทีก็สับสน ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นคนใจร้อนหรือใจเย็น บางทีคิดมาก บางทีก็คิดน้อยไป” โลเลพูดถึงตัวละครตัวเดิมในจินตนาการที่เราถามค้างไว้ ก่อนจะหันมาสนทนาท่ามกลางเสียงปั่นกาแฟของร้านสตาร์บัคส์และบ่ายวันพุธกลางสีลม คนแปลกหน้าก็เริ่มมีบทสนทนาต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ

GM : การที่คุณเติบโตมาในสภาพครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย มีส่วนหล่อหลอมให้คุณทำงานศิลปะได้ดีขึ้นหรือไม่

โลเล : จริงๆ แล้วเราไม่ได้รู้อะไรเยอะแยะหรอก แต่อาจจะมีส่วนช่วยในเรื่องของการทำงานอยู่บ้าง ตรงที่เราได้เห็นความหลากหลาย เหมือนเราได้เจอโลกหลายๆ โลก ครอบครัวเราต้องย้ายที่อยู่บ่อยๆ เพราะพ่อเป็นตำรวจ ตั้งแต่เด็กก็เลยย้ายโรงเรียนบ่อย อยู่ในหลายจังหวัด อยู่ในโลกที่มีหลายบริบท ตอนนี้ก็ยังบอกไม่ได้ว่าเราเป็นคนจังหวัดไหนกันแน่ แต่ถ้าหากถามว่าอยู่นานที่สุดก็คงเป็นหัวหิน แต่ชีวิตก็ไม่ได้ลำบากอะไรนะ การย้ายบ้านบ่อยๆ สำหรับผมถ้ามองอีกแง่ก็เป็นเรื่องดี ที่มีโอกาสได้เห็นวิถีชีวิตที่หลากหลายมากกว่าคนอื่นๆ ได้มีเพื่อนหลายๆ แบบ เรามีเพื่อนอยู่ในครอบครัวชาวนาก็มี ก็ไปอยู่กับเพื่อน ไปเดินป่า เที่ยวทุ่ง พอมาอยู่อุดรฯก็ฝึกภาษาอีสาน กินอาหารอีสาน กินแจ่ว เลยทำให้เราได้เห็นหลายๆ ชีวิต มันทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น พอโตมาหน่อยก็มีความสนใจที่หลากหลาย ผมเรียนศิลปะแต่ก็สนใจดนตรี สนใจโลกของการอ่าน พอเรียนจบก็ได้ทำงานหลายๆ แบบ ทั้งทำงานประจำ ทั้งสอนหนังสือ ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองสนใจ ก็ถือเป็นเรื่องที่โชคดีของผมเรื่องพวกนี้เป็นประสบการณ์ที่ดี

ในการทำงานศิลปะ สมมุติเราสนใจเรื่องความอดอยาก เราก็จะอินง่าย เพราะเราเคยเห็นแบบนั้น เห็นชาวบ้านที่เขาไม่มีจะกินจริงๆ เข้าใจถึงความรู้สึกที่โดนพลัดพรากว่าเป็นยังไง ผมเป็นคนที่ไวต่อความรู้สึกอะไรแบบนี้มากกว่าจะสนใจเรื่องของวัตถุ

GM : แล้วโลกศิลปะของคุณเริ่มจากอะไร เพราะเท่าที่รู้พ่อคุณเป็นตำรวจ แม่เป็นแม่บ้าน แล้วอิทธิพลทางศิลปะมาจากไหน

โลเล : ผมว่ามันก็คงเป็นเพราะผมเป็นลูกคนกลาง มันมีอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่ เพราะพี่สาวผมก็มีคนสนใจเยอะ ย่าชอบเล่นด้วย น้องชายผมปู่ก็รัก ผมเป็นคนกลางซึ่งแม่จะให้เวลาด้วยค่อนข้างมาก อยู่กับแม่มาตลอด พอแม่ไม่รู้จะให้ผมทำอะไร ก็จะหาอะไรมาให้เล่น พวกของประดิษฐ์อะไรพวกนั้น ผมก็สนใจ ชอบเอามันมาแกะดูว่ามันทำยังไง แล้วก็มาประกอบใหม่เอง หรือไม่ผมก็ต้องทำเอง เพราะผมจำได้ว่าบ้านเราไม่สะดวกเรื่องของเล่นเท่าไหร่ คือถ้าอยากเล่นก็ต้องทำเอง อย่างเช่นอยากเล่นว่าวก็ต้องไปดูเพื่อนทำ ไปดูโรงงานที่เขาพับกระดาษแก้วทำว่าว เราก็จำมาทำ ก็ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ทำเอง ทากาวเอง ประกอบเอง เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆของเล่นส่วนใหญ่ของผมก็ไม่ได้ซื้อ ทำตุ๊กตุ่นตุ๊กตาเอง เอาดินน้ำมันมาปั้น หรือถ้าไม่เล่นของเล่นแบบนี้ ก็จะอยู่ในครัวกับแม่ ดูแม่ทำครัว เป็นลูกมือแม่ มานึกถึงตอนนี้ ผมว่าการทำอาหารเหมือนกระบวนการทำงานศิลปะ จริงๆ มันใช่ศิลปะเลยละ ทำข้าวผัดจานหนึ่ง เราต้องเอาหลายส่วนประกอบมารวมกัน มีจังหวะการรอ ทำขนมชั้น ก็ต้องค่อยๆ ทำทีละชั้น ราดทีละชั้น

GM : แล้วคุณมาตัดสินใจตอนไหนว่าจะเอาดีทางนี้แน่ๆ

โลเล : คือก็เรียนๆ ไป แม่เห็นเราสนใจเรื่องขีดๆ เขียนๆ ก็บอกว่า เราน่าจะไปเรียนเพาะช่าง เข้าศิลปากร ตอนนั้นผมก็ไม่รู้อะไรหรอก ผมก็เรียนหนังสือของผมไป จนกระทั่งถึงวัยที่ต้องเลือกทางเดิน ตอนจบมัธยมฯ 3 ก็ตัดสินใจเข้ามากรุงเทพฯ ก็เริ่มเข้าเรียนศิลปะ

GM : แต่กลายเป็นว่าพอคุณเรียนจบ คุณต้องไปทำงานบริษัท ดูเหมือนมันจะไม่ใช่ชีวิตศิลปินอย่างที่คุณฝันไว้

โลเล : ตอนนั้นเศรษฐกิจไม่ดี ที่บ้านต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งมันทำให้เราจำเป็นต้องหางานประจำทำ ก็ไม่ได้ตั้งรับไว้ก่อนกับชีวิตการทำงานแบบนี้ เพราะเราเรียน Fine Art มา แทบไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องความคิดที่เป็นระบบ การเรียนมันมุ่งให้เราใช้อารมณ์หาประเด็นต่างๆ ที่เราสนใจแล้วทำออกมาเป็นงาน แต่สิ่งที่เราจะไปทำคืองานดิสเพลย์ของห้าง มันเป็นงานที่ต้องทำเพื่อลูกค้า คือทำยังไงให้สินค้าของห้างขายได้ แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกไม่ดีกับงานนะ จริงๆ เราชอบงานออกแบบอยู่แล้ว เคยคิดเหมือนกันว่าถ้าเราจะหาเงินเลี้ยงชีพ งานออกแบบก็น่าจะเป็นงานหนึ่งที่เราทำได้แล้วงานทำดิสเพลย์ก็ดูน่าสนุก ผลตอบแทนก็โอเคผมทำที่ห้างเซน มีหลายสิ่งหลายอย่างมากที่ได้เรียนรู้จากการทำงานประจำ รู้เรื่องการบริหาร เรื่องบริหารเวลา เรื่องงบประมาณ บริหารคน มีลูกน้อง ต้องดูแล ต้องเรียนรู้โครงสร้างของห้างหนึ่งห้าง ต้องรู้จักสินค้าทุกแผนก เพราะมันเกี่ยวกับงานที่เราต้องทำ ไล่มาตั้งแต่เครื่องเขียน ชุดชั้นใน เสื้อผ้า ของแต่งบ้าน ดูเหมือนจะไม่ได้อะไร แต่จริงๆ ได้อะไรมามาก แล้วมันก็ซึมซับไปเรื่อยๆ ในระยะเวลา 2 ปีที่ทำ ทำให้เรารู้จักการจัดการตัวเองได้ดีขึ้น

GM : มันเป็นเรื่องสนุกหรือว่าเป็นเรื่องทุกข์สำหรับคุณ

โลเล : มันสนุกนะ มันได้เรียนรู้หลายๆ เรื่อง แต่ตอนทำงานประจำ ใจเราก็ยังรักงานศิลปะมากไม่อยากจะทิ้งเลย เรารู้สึกว่าโลกศิลปะเรามันพัฒนาไปทุกที ฉะนั้นก็ต้องแบ่งเวลาทุกวัน กลับบ้านก็จะทำงานศิลปะตั้งแต่ 5 ทุ่มถึงเที่ยงคืน บางทีอาจจะเลยไปตี 1 ทำอย่างนี้ทุกวัน แล้ว 4 วันใน 1 เดือนก็ต้องลาไปสอนหนังสือ ก็ต้องถูกหักเงินเดือน ซึ่งผมคิดว่ามันดีกับผม คือเราได้อยู่ทั้งในโลกของศิลปะ ได้อยู่กับเพื่อนๆ ได้คุยกับนักศึกษา เกี่ยวกับศิลปะ ผมทำอย่างนี้อยู่ 2 ปี สุดท้ายก็ได้งานเอาไว้แสดง Exhibition ของผม ได้ทำอย่างที่เราต้องการ

GM : ดูเหมือนคุณก็ไม่ได้เป็นคนที่มีอีโก้อะไรมากมาย

โลเล : อีโก้แบบไหน

GM : แบบที่ผู้คนมักเข้าใจเมื่อพูดถึง ‘ความเป็นศิลปิน’ ที่ต้องมีตัวตน

โลเล : อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ จริงๆ เราไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย หลายปีแล้วที่คิดได้ว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องเป็นอะไรดีกว่า เรื่องนี้มีคนที่เรียนศิลปะส่วนมากพยายามจะสร้างตัวตนหรืออาจจะเรียกว่า ‘สไตล์’ ของตัวเองก็ได้ แต่ผมเองคิดว่าไม่ต้องไปทำอะไรหรอก ถ้าเราทำงานของเรา งานจะเป็นเงาตามเราไปเอง เราหนีเงาตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว เวลาผมเขียนรูปทำไมคนยังรู้ว่าผมเขียนรูปแบบนี้ ทั้งๆ ที่ผมพยายามจะทำอะไรใหม่ๆ ตลอด ทำงานหลากหลาย ผมคิดว่าเราปล่อยดีกว่า อย่าไปใส่ใจเรื่องอัตตาให้มากนัก

GM : เราเห็นงานของคุณตลอด 3-4 ปีที่คุณเริ่มเป็นที่รู้จัก ดูเหมือนคุณชอบทดลองทำงานใหม่ๆ สร้างงานศิลปะที่หลุดออกจากกรอบเดิมๆ

โลเล : เวลาผมทำงาน ผมไม่เคยคิดว่าจะทำให้มันเหมือนเดิมหรือไม่เหมือนเดิม ส่วนใหญ่ผมคิดแค่ว่าเราชอบที่จะทำแบบนั้น-ก็ทำ วิถีของงานศิลปะจริงๆ คือความอิสระ ศิลปินควรมีอิสระที่สุดที่จะสามารถแสดงสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาโดยไม่ต้องอยู่ในมาตรฐานไหน เช่นว่าผมมีความคิดต่อเรื่องความหิว ผมก็ทำความหิวเป็นศิลปะโดยผ่านรูปแบบใดๆ ก็ได้ที่เราสนใจ เช่นเสนอความหิวผ่านดนตรี เป็นเรื่องสั้น หรือทำความหิวให้ออกมาในรูปแบบของการ์ตูน

GM : เหมือนคุณกำลังท้าทายให้คนที่ดูงานศิลปะ ก้าวข้ามพรมแดนของการรับรู้ในการดูงานศิลปะว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่บนเฟรมรูป แต่ศิลปะเป็นไปได้มากกว่านั้น

โลเล : จริงๆ มันเป็นเรื่องความสนใจของผมในตอนนั้นมากกว่า ว่าอยู่ในวาระไหน คือไม่ได้คิดเรื่องว่าจะท้าทายใคร อย่างช่วงไหนผมสนใจการ์ตูน สนใจลายเส้น ผมก็จะทำงานนั้นออกมา เราก็จะดูว่าในหมวดของลายเส้นมีอะไรบ้างที่เราทำได้ อาจมีการวาดภาพแบบการ์ตูนหรือทำออกมาเป็นแบบกราฟิก สมมุติผมสนใจงานกราฟิก ลายเส้นออกมามันก็มีรูปแบบของการทำงานแบบกราฟิก

GM : แสดงว่าในความคิดอ่านของศิลปิน ศิลปินไม่ได้คิดในแง่ที่ว่าจะต้องทำอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา จริงๆ เพียงแค่พวกคุณอยากทำเท่านั้น

โลเล : อาจเป็นเพราะผมมีสิ่งสนใจหลายอย่าง อย่างผมสนใจดนตรี ผมก็จะทำดนตรี แต่ก็ไม่ได้ขึ้นกับมาตรฐานของดนตรีที่มันเป็นอยู่ คิดแค่ว่าเราสามารถสร้างเสียงสักอันหนึ่งขึ้นมา ในแบบที่ไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับอะไรมากมาย

GM : งานศิลปะแบบหนึ่งที่เราเห็นมากขึ้นก็คือ การเล่นกับความคิดของคน อย่างเช่นงานของคุณฤกษ์-ฤทธิ์ ตีระวนิช หรืออย่างเช่นศิลปินในกลุ่มดาดาอิซึ่ม (Dadaism) การสร้างสรรค์งานศิลปะแบบนี้มันห่างไกลกว่าจากความเข้าใจของคนไทยหรือเปล่า คนดูจะเข้าใจความคิดแบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร

โลเล : มันไม่จำเป็นเลยที่เราจะบอกว่าเราทำทุกอย่างหรือว่าเราทำอะไรบ้างและเขาเข้าใจอะไรกับสิ่งที่เราทำบ้าง การมองงานศิลปะก็เป็นแบบนั้น เคยมีคนเข้ามาคุยกับผมว่า เขาตามอ่านงานเขียนของผม แต่เขาไม่เคยรู้ว่าผมทำงานศิลปะ เขาก็จะจำภาพว่าเราเป็นนักเขียน บางคนเห็นเรามีงานเขียนภาพประกอบแล้วก็บอกเราว่าเป็นแฟนภาพประกอบของเรา เขาก็ไม่เคยรู้อีกว่า เราทำงานศิลปะด้วย พวกเพื่อนๆ หรือน้องๆ ศิลปากรก็อาจไม่รู้เลยว่าผมเขียนหนังสือด้วย…บางครั้ง สิ่งที่คนดูรับรู้ จะรู้จากสิ่งที่เขาเห็นก็เท่านั้น

GM : คนเสพไม่จำเป็นต้องรู้หรือเข้าใจทุกอย่างเหมือนศิลปิน

โลเล : ใช่, เหมือนกับที่เรารู้จัก แอนดี้ วอร์ฮอล คุณจะบอกเขาเป็นอะไรล่ะ ก็แล้วแต่คุณมองเขาว่าเขาทำอะไร เขาทำงานโฆษณา เขาออกแบบได้

ทำวงดนตรีเป็นเจ้าของคลับ แถมยังเป็นเจ้าของนิตยสารอีก

GM : โลกของศิลปะตอนนี้มันไปถึงไหนแล้ว คนรุ่นใหม่ๆ หรือนักศึกษาศิลปะในบ้านเรามีความเข้าใจ หรือนึกคิดกับงานศิลปะมากน้อยแค่ไหน

โลเล : ผมว่าทุกวันนี้เราค่อนข้างมีโอกาสมาก เพราะเรามีอินเตอร์เน็ต เรารับรู้ข่าวสารได้พร้อมๆ กันทั่วโลก เราอาจจะไม่ได้ไปดูงานจริงๆ แต่เราก็รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ความคิดใหม่ๆ ที่มองศิลปะในมุมมองใหม่ ก็สามารถรับรู้ได้พร้อมกัน สมัยก่อน อย่างเช่นในสมัยของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี นั่นเป็นยุคที่เราเพิ่งเริ่มรู้จักศิลปะตะวันตก เราเพิ่งเริ่มรู้จักงานของปิกัสโซ เราเริ่มอยากเขียนรูปแบบคิวบิซึ่ม เพิ่งเริ่มรู้จัก แล้วก็ทำตามเขา ปัจจุบันมันไม่เหมือนสมัยก่อน ศิลปินสามารถทำงานศิลปะได้หลากหลายขึ้น ถ้ามองโลกของศิลปะแบบกว้างๆ จะบอกว่าใครพัฒนาหรือไม่พัฒนา ก็ต้องบอกว่าตอบยากเหมือนกัน มันอยู่ที่ว่าศิลปินในบ้านเราที่สร้างสรรค์งานขึ้นมา มีคนสนใจมากน้อยแค่ไหน มีคนรับรู้ในวงกว้างมากน้อยแค่ไหน อย่าง คุณฤกษ์ฤทธิ์หรืออย่างคุณนาวิน (นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล) นั่นถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเผยแพร่ศิลปะ ในแง่ที่ว่าประเทศไทยเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น

GM : แสดงว่าคุณมองในแง่ดีว่าศิลปะกำลังไปได้ เพราะโอกาสมีมากขึ้น แต่จะมีกี่มากน้อยที่นักเรียนศิลปะจะสามารถขึ้นมาเป็นศิลปินแบบโลเล หรือแบบคุณฤกษ์ฤทธิ์ สังคมมันเปิดกว้างมากน้อยแค่ไหน

โลเล : มันพอเห็นช่อง สมัยก่อนเมื่อประมาณสัก 10 ปีที่แล้ว ช่องทางก็จะมีอยู่ไม่เท่าไหร่ เช่น การหาโอกาสแสดงงานตามแกลเลอรี แต่ตอนนี้นักศึกษาศิลปะเพิ่มมากขึ้น มีสถาบันศิลปะเพิ่มมากขึ้น แกลเลอรีแม้จะเปิดมากขึ้นก็คงตามไม่ทัน เด็กใหม่ๆ ก็ต้องต่อสู้กันสำหรับที่ทางในการแสดงงานซึ่งมีจำกัดจำเขี่ย ตอนนี้โลกอินเตอร์เน็ตเปิดกว้างขึ้น เร็วมากด้วย สามารถสร้างบล็อกของคุณเองได้ สามารถโชว์ผลงานของคุณเองได้ คุณสามารถส่งผลงานของคุณไปให้ไดเร็กเตอร์ของมิวเซียมไหนๆ ก็ได้ที่คุณสนใจ อยู่ที่ว่าคุณจะทำหรือเปล่า นั่นหมายถึงมันเปิดกว้างขึ้นทางหนึ่ง

GM : หากสวมหัวโขนเป็นอาจารย์ การทำงานศิลปะในบ้านเราเป็นยังไงบ้างที่คุณมีโอกาสได้ดู กระแสศิลป์ในต่างประเทศ ศิลปะในต่างประเทศกับในบ้านเรา ในบ้านเราได้รับความสนใจมากน้อยแค่ไหน รัฐบาลส่งเสริม มากน้อยแค่ไหน บุคลากรที่มีอยู่ ได้มาตรฐานไหม

โลเล : ตอนนี้คนเรียนศิลปะมีเยอะมากขึ้น สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนศิลปะก็มากขึ้น แต่ว่าอาจจะแค่บางแห่งที่มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญจริงๆ มีประสบการณ์ ในการทำงานในช่วงปัจจุบัน ก็จะทำให้เด็กได้รับอะไรที่ทันสมัยตามทันโลกมากขึ้น แต่ถ้าเป็นอาจารย์ที่ทำงานแบบตามหน้าที่ ก็อาจจะไม่ได้อะไรเท่าไหร่ ส่วนเรื่องรัฐบาลบ้านเรา ไม่ต้องไปหวัง หวังไม่ได้จริงๆ ต้องหวังพวกเด็กๆ หรือพวกอาจารย์เองดีกว่า ที่มีบทบาทกับการสร้างความเคลื่อนไหวเอง อย่างเราเอง ตอนนี้ก็ไม่ได้คิดจะทำให้ตัวเองได้รับความสนใจ แต่เราคิดว่าทำยังไงที่จะทำให้เกิดชุมชนศิลปะขึ้นมาจริงๆ… ง่ายๆ แค่ว่าเรามองตามแผงหนังสือยังไม่ค่อยเห็นหนังสือเกี่ยวกับศิลปะเท่าไหร่เลย ทั้งๆ ที่เรามีนักเรียนเรียนศิลปะเยอะขึ้น จากเดิมนักศึกษารุ่นหนึ่งๆ ก็แค่ 50 คน แต่นี่ปาเข้าไป 200 กว่าคน นี่แค่มหาวิทยาลัยเดียวนะ แต่เมื่อเด็กนักเรียนเรียนศิลปะเยอะมาก แล้วพอจบมาไปทำอะไรกันล่ะ แล้วทำไมเมื่อ

นักศึกษาเพิ่มขึ้น แต่สื่อศิลปะมันน้อยหรือแค่ข่าวสารที่ทำให้รู้จักมันน้อย ฉะนั้นถ้าหากเรามีนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะ หรือมีรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะมากกว่านี้ ก็คงจะทำให้โลกแห่งศิลปะกว้างมากขึ้น หรือไม่ก็มีการพูดคุยเรื่องศิลปะกันมากขึ้น

GM : การมีหอศิลป์ช่วยได้ไหมครับ

โลเล : หอศิลป์ช่วยได้แต่ยังไม่มีระบบทางสังคมรองรับ มันไม่ใช่แค่มีงานมาแสดงแล้วจบ แต่มันต้องมีการเรียนรู้เกิดขึ้นด้วย หอศิลป์ทุกวันนี้ดูจะเป็นแค่วัตถุ แต่ไม่มีจิตวิญญาณ เราต้องเอาสิ่งที่อยู่ข้างในออกมาพูดว่ามันคืออะไร ต้องมีการแลกเปลี่ยน พูดคุย หากหอศิลป์มีงานดีมาก แต่ขาดการพูดถึงมันก็ไม่มีประโยชน์ เอาง่ายๆ สมัยนี้มันมีสื่อมากมาย ทำไมไม่ค่อยมีศิลปะเท่าไหร่ ศิลปะไม่ใช่แค่วาดรูป มันอาจเป็นงานออกแบบก็ได้สถาปัตยกรรมก็ได้ เป็นงานกราฟิกดีไซน์ก็ได้ หรือแม้แต่งานวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางศิลปะ แต่ทั้งหมดมันไม่มีพื้นที่ ไม่มีชุมชนให้ได้แลกเปลี่ยนพูดคุย ไม่ว่าจะแขนงใดๆ ก็ยังไม่มี ก็ต้องรอ รอดู เราเชื่อว่าคนที่เป็นศิลปินทำงานจนถึงจุดที่ว่าพอใจแล้วก็จะเริ่มมองที่จะทำเพื่อสังคมมากขึ้น อย่างตัวผมเอง ผมก็อยากทำรายการโทรทัศน์นะ หรือเอานักคิดหรือศิลปินมานั่งคุยกัน ในประเด็นที่น่าสนใจอย่าง โพสต์โมเดิร์นคืออะไร อะไรแบบนี้ แล้วก็มีทั้งรายการที่จริงจังหน่อย กับรายการที่ดูสนุกๆ หน่อย

GM : ตอนที่คุณไปแสดงงานต่างประเทศ เห็นสภาพสังคม วัฒน-ธรรม ผู้คนที่ต่างๆ แตกต่างจากบ้านเราเยอะไหม สิ่งแวดล้อมเขาเอื้อกว่าไหม หรืออะไรอย่างไร

โลเล : ผมว่ามันเป็นเรื่องของการสั่งสอนของคนในสังคมนั้นๆ พื้นฐานของการเรียน อย่างคนญี่ปุ่นจะให้ความสนใจกับเรื่องของรายละเอียด ความหวือหวาจะน้อยหน่อย เวลาเขาดูงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เขาจะดูเพื่อความเข้าใจ คือตั้งใจไปดู

GM : อาจจะเป็นที่โอกาสเข้าถึงงานศิลปะไม่เท่ากัน

โลเล : ผมว่าจริงๆ มันอยู่ที่ว่าคนไทยให้เวลากับการเรียนรู้น้อย เมื่อเราให้เวลากับเรื่องพวกนี้น้อย ความสนใจหรือจะมาเข้าใจเรื่องเหล่านี้ก็จะยาก

GM : โลกธุรกิจของวงการศิลปะเป็นอย่างไรบ้าง ดูเหมือนเป็นโลกที่ลี้ลับ ไม่ก็เป็นโลกที่ไม่มีใครจะพูดถึงมากนัก ไม่ค่อยมีใครรู้เท่าไหร่ว่า เขาทำงานกันยังไง ศิลปินดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไรในการประกอบอาชีพแบบนี้

โลเล : ถามผม ถ้าในแง่ของการดำรงชีพแบบศิลปิน ผมจะแบ่งเป็น 2 โลก ซึ่งก็ทำอย่างนี้มานานแล้ว คือโลกหนึ่งทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ อีกโลกหนึ่งคือโลกของการทำงานศิลปะ เวลาเราทำงานศิลปะเราจะไม่คิดถึงเรื่องรายได้หรือผลกำไร ขอให้เราทำแล้วเราได้แสดงความรู้สึกนึกคิดของเราออกมาให้ได้มากที่สุด ส่วนโลกของการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ก็อย่างเช่น การสอนหนังสือ ทำภาพประกอบ ทำงานออกแบบต่างๆ ส่วนนี้ก็จะเป็นรายได้ เงินจากโลกหนึ่งก็จะเอามาต่อยอดโลกศิลปะ จริงๆ เราก็คิดเรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่ค่อยเป็นเหมือนกัน

GM : โลกของศิลปินดูเหมือนอยู่บนความไม่แน่นอนมากกว่าอาชีพอื่นๆ

โลเล : ความแน่นอนขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไร ผมพบสัจธรรมเรื่องนี้ตอนที่ทำงานประจำ บริษัทที่เราคิดว่ามั่นคง มีเงินเดือนให้เราทุกเดือน แต่หากวันหนึ่งบริษัทเขาขาดทุน เขาก็ต้องให้คุณออกอยู่ดี ถ้าคุณบอกว่าการทำงานบริษัทเป็นอาชีพที่มั่นคงกว่าศิลปิน ผมคิดว่าก็คงไม่ใช่

GM : แต่ศิลปินมีเงื่อนไขของการซื้อ- ขายเข้ามาเกี่ยว เมื่อคุณสร้างสรรค์ผลงาน ก็ต้องคาดหวังให้มีคนมาซื้อ

โลเล : เพราะฉะนั้นผมถึงแบ่งโลกเป็น 2 โลกไง โลกของศิลปะไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ว่าเราจะได้อะไรจากมัน เอาแค่ผมได้ทำสิ่งที่ผมคิดก็พอ ส่วนเรื่องได้เงิน ผมก็หาจากส่วนอื่นๆ ทำงานออกแบบ ไปบรรยาย ไปสอนหนังสือ พอทำหลายๆ อย่าง เดือนหนึ่งมันก็ได้เป็นเงินก้อน ก็เหมือนๆ กับที่ทุกคนได้เงินเดือนกันเดือนละหมื่นสองหมื่น ผมก็ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนั้น ส่วนโลกศิลปะผมก็ทำไปเรื่อยๆ ทำเสร็จได้แสดงงาน ถ้าขายได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี การทำงานศิลปะผมไม่เคยคิดเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง ไม่ได้คิดว่าต้องขายให้ได้อะไรแบบนั้น

GM : การตั้งค่าของงานศิลปะ ศิลปินเขาใช้หลักอะไร หรือว่าอยู่ที่ความพอใจของตัวศิลปินเป็นหลัก

โลเล : ยกตัวอย่างก็แล้วกัน สมมุติว่าผมเขียนรูปขึ้นมารูปหนึ่ง แล้วผมชอบรูปนี้มาก ประมาณว่ารูปนี้มันจะต้องให้อะไรกับโลกมากเลย ผมก็ตั้งราคาไว้ สมมุติว่า 1 แสนบาท แบบนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องของความพึงใจของศิลปินล้วนๆ แต่การตั้งมูลค่าของงาน ส่วนมากเกิดจากระยะเวลาที่ศิลปินใช้เวลากับงานนั้นมากน้อยแค่ไหน บวกกับความน่าสนใจของงาน และส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับตลาดงานศิลปะ มาตรฐานของตลาดอาจจะดูที่บริษัทประมูลใหญ่ๆ ที่มีอิทธิพล เช่นว่างานคุณได้รับการยอมรับจากบริษัทรับประมูลอย่างโซเทบีส์ (Sotheby’s) หรือว่าบริษัทคริสตี้ (Christy) รู้จักและรับประมูล แสดงว่างานของคุณเป็นที่ต้องการ ของตลาดระดับหนึ่ง หรือถ้างานศิลปะชิ้นใดๆ ของศิลปินคนใด มีพิพิธภัณฑ์ซื้อไปสะสมไว้ งานของศิลปินคนนั้นก็จะเพิ่มมูลค่าขึ้นทันที เหมือนได้ใบการันตีระดับหนึ่ง งานคุณก็จะเพิ่มมูลค่า

GM : ตอนนี้งานของคุณก็มีแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศแล้ว

โลเล : ครับ ก็มีอยู่ที่เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น และที่สิงคโปร์

GM : นั่นทำให้งานของคุณตอนนี้ เช่นงาน Happyland ที่จัดแสดงอยู่ แต่ละรูปราคานั้นไม่ต่ำกว่า 6 หลัก

โลเล : การตั้งราคางานศิลปะ มันมีหลายอย่างที่เราต้องคิด เราต้องรู้จักความพอใจของเรา ต้องประเมินประสบ-การณ์ชีวิตว่ากว่าจะผ่านมาถึงตรงนี้ต้องแลกอะไรมาบ้าง ราคาของงานก็จะเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์ชีวิตและเรื่องราวที่เราถ่ายทอดออกมาในงาน แต่ก่อนสมัยที่เรายังเด็ก รูปของเราประมาณ 1 เมตร ตั้งไว้ประมาณ 25,000 บาท นี่เราพูดเฉพาะเรื่องของการขายงานเพ้นติ้งนะครับ ถ้าเป็นงานศิลปะรูปแบบอื่นๆ เช่นงานวิดีโอ หรืองาน installa-tion ก็จะอีกอย่าง คือโลกของตลาดศิลปะมันก็มีระบบของมัน เช่น ตลาดการค้างานศิลปะประเภทงานจิตรกรรม เขาก็จะมีสายแยกออกไปอีกว่าสายไหนถนัดการขายงานศิลปะกลุ่มไหน อย่างงานของเราอาจจะจัดอยู่ในกลุ่มงานที่เป็นโมเดิร์นอาร์ต ป๊อปอาร์ต เป็นโพสต์โมเดิร์นอาร์ต บุคคลที่อยู่ในโครง-ข่ายของตลาดนี้เขาจะรู้กัน

GM : ส่วนใหญ่งานของคุณตอนนี้ นักสะสมจะอยู่ในประเทศหรือนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่

โลเล : มีครับ ก็มีบางคนซื้อไปทั้งชุดก็มี มีทั้งคนไทยแล้วก็ต่างชาติ ส่วนมากงานที่ขายได้ของผมจะเป็นงานเพ้นติ้งนะ เพราะว่าซื้อ-ขายง่าย ก็ขายได้เรื่อยๆ ผมแทบจะไม่ค่อยเหลืองานเก็บไว้ อย่างงานนี้เป็นโปรเจ็กต์หนึ่งที่ทำร่วมกับแกลเลอรีที่ทำขายข้างบน

GM : แล้วคุณเก็บงานศิลปะของศิลปินคนอื่นบ้างไหม

โลเล : ผมมีโอกาสซื้อผลงานศิลปะไว้บ้างเหมือนกัน เป็นงานวาดเส้นสไตล์นาอีฟ เนี้ยบๆ ละเอียด ผมซื้อไว้เพราะอยากสนับสนุนมากกว่า ไม่ได้สะสม

เป็นเรื่องเป็นราว แต่จะชอบซื้อหนังสือ ผมมีหนังสือที่เป็นผลงานภาพถ่ายเยอะ อาจเรียกว่าสะสมก็ได้ ของ Araki, Helmut Newton, Richard Kern และอีกอย่างก็ดีวีดีการแสดงของวงดนตรีโปรด เช่น The Who, Jimi Hendrix, The Beatles, Led Zeppelin และวงอื่นๆ

GM : คุณเคยทำงานศิลปะด้านอื่นๆ เช่น วิดีโออาร์ต หรืองาน Installa-tion การทำงานของทั้งสองแบบ มีการซื้อ-ขายกันไหม ศิลปินดังๆ ที่ทำงานด้านนี้นอกจากศิลปินไทยที่เรารู้จักกันแล้ว ศิลปินต่างประเทศคนไหนบ้างที่มีงานน่าสนใจ ยกตัวอย่างให้ด้วยได้ไหมครับ

โลเล : ในความคิดของผม รูปแบบการสร้างผลงานศิลปะที่เราได้เรียนรู้จากโลกศิลปะมีมากมาย เราก็ติดใจในบางรูปแบบและได้ศึกษาทดลองทำงานในลักษณะนั้นๆ เหมือนกัน ผลงานในรูปแบบงานจิตรกรรม เป็นสิ่งที่ผมเลือกทำในช่วงเริ่มต้น เพราะความชอบ ถนัด เมื่อทำแล้ว ก็สามารถตอบสนองต่อความคิดของเราได้ และก็ทำเรื่อยมาจนวันหนึ่งผมพบว่ารูปแบบของงานศิลปะ ไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะยึดติดและอยู่กับมันตลอดไปกับรูปแบบใด รูปแบบหนึ่ง ความคิดต่างหากที่สำคัญหลังจากนั้น ผมก็พยายามทดลองทำงานในรูปแบบอื่นๆ ตามความอยากแสวงหา เช่น ทำหนังสือ ทำการ์ตูน ทำเป็นเรื่องเล่า แม้กระทั่งงานวิดีโอ หรืองานแบบศิลปะจัดวาง หลังจากได้ทำแล้ว ผมได้พบว่ามันสนุกมากผลงานวิดีโอและผลงานศิลปะแบบจัดวาง มีการซื้อ-ขายนะครับ มีศิลปินคนไทยหลายคนที่ผมรู้จัก ผลงานของเขาถูกซื้อไปโดยนักสะสมและมิวเซียมต่างประเทศ เช่นผลงานของคุณคธา แสงแข, คุณนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ศิลปินที่ทำงานด้วยวิดีโอและงานที่หลากหลายรูปแบบมีเยอะมากครับ ถ้าสนใจผมแนะนำให้ลองเข้าไปดูที่เว็บนี้ครับ www.theworldsbestever.com/category/arts/

GM : คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า ศิลปินคือคนลวงให้เราสุข

โลเล : ลวงความสุข หมายความว่า สร้างภาพให้ดูสวยงาม แต่ความจริงซ่อนนัยยะและความหมายที่ดูจริงจังและซีเรียสใช่ไหม ยกตัวอย่างเช่น บ่ายวันหนึ่งที่อากาศสดชื่น ลูกโป่งสีชมพูจำนวนมาก ลอยอยู่ในสนามเด็กเล่นที่มีเด็กเยอะแยะ กำลังเล่นสนุกกัน…ทำไมลูกโป่งลอยอยู่ได้ ก็เพราะลูกโป่งเหล่านั้นบรรจุด้วยแก๊ส ถ้ามีคุณพ่อของเด็กในกลุ่มสักคน หยิบบุหรี่ออกมาจากกระเป๋าและจุดไฟ บังเอิญลูกโป่งทั้งหมดระเบิด ผมว่าบางครั้งผลงานศิลปะ ก็แฝงซ่อนเพื่อสื่อความหมายบางอย่างที่สะท้อนถึงความปลอดภัย และชวนให้เราสำรวจตนเองด้วยความเข้าใจแรกเมื่อเห็นผลงานศิลปะ กับความเข้าใจในท้ายที่สุด หลังจากพิจารณามันแล้ว…มักแตกต่างกันเสมอ

GM : แล้วในความหมายของคุณ ศิลปะหมายถึงอะไร

โลเล : ศิลปะเป็นพื้นที่หนึ่งที่อิสระที่สุด ที่ผู้สร้างจะใช้มันได้

GM : ทำไมคนเราจำเป็นต้องเสพศิลปะ คุณคิดว่าศิลปะเป็น ‘ความจำเป็น’ ของชีวิตไหม

โลเล : ต้องถามว่าเข้าใจศิลปะอย่างไร และรู้สึกว่ามันเป็นศิลปะหรือเปล่า เช่น เราเดิน เรารับประทานอาหาร เราแต่งตัวออกจากบ้าน เราจัดบ้าน จัดโต๊ะอาหาร เรานั่งมองแก้วกาแฟ ดูไก่เดินที่สนาม แล้วเราก็คิดถึงมัน…เราสงสัย เราตั้งคำถาม เราคิดอะไรต่อมิอะไรต่อจากนั้น…ถ้ามองเห็น รู้สึก และเชื่อว่าทุกสิ่งรอบตัวเราเป็นศิลปะ เราก็จะรู้ด้วยตัวเองว่า ศิลปะมีความจำเป็นหรือเปล่า

GM : การที่เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ตัวตนคุณเปลี่ยนไปไหม คุณกร่างขึ้นบ้างไหม หรือมันมีอะไรที่เปลี่ยนแปลง ในจิตใจคุณ

โลเล : ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องดังหรือยิ่งใหญ่ และก็ไม่เคยคิดด้วยว่าจะต้องรักษาสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ แต่ถามว่ารู้สึกดีไหมที่มีคนชื่นชมผลงานของเราสมัยก่อนอาจจะมีบ้างที่มีคนมาสัมภาษณ์ เรา เห็นรูปของเราลงหนังสือ ก็ดีใจ แต่มันไม่ใช่ความรู้สึกของการกร่าง ถึงวันนี้มันผ่านมา 3 ปี ตอนนี้ตายไปก็ไม่เสียดาย พอแล้ว เราได้ทำทุกอย่างที่เราอยากทำมาหมดแล้ว วิดีโอเราก็ได้ทำแล้ว เพลงก็ทำแล้ว เขียนหนังสืออาจจะไม่ค่อยดี แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำ ที่เหลือ ก็แค่ขอสิ่งที่เราอยากพูด ไม่ขอพิสูจน์อะไร

GM : เท่าที่เห็นงานของคุณ เบื้องหลังความคิดในงาน คุณสนใจเรื่องของความสัมพันธ์ของคน หรือเรื่องเพศอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะดูเหมือนข้อความนี้จะถูกแทรกอยู่ในงานของคุณทุกแบบ อะไรทำให้คุณสนใจเรื่องพวกนี้

โลเล : งานพูดถึงเรื่องเพศโดยตรงมีแค่ 2-3 งาน แต่จริงๆ หลักๆ คิดถึงเรื่องเหล่านี้น้อยมาก งานของเรามองไปที่เรื่องของความเป็นมนุษย์มากกว่า การไม่แบ่งแยก เพียงแต่ภาพหรือรูปแบบที่แสดงออกมามักเป็นคนไม่ใส่เสื้อผ้า คนดูก็ต้องคิดแล้วว่ามันเป็นเรื่องของเพศ จริงๆ ไม่ใช่ เราใช้รูปมนุษย์เป็นตัวสื่อในเรื่องที่เราอยากนำเสนอมากกว่า อย่างสมมุติว่าเราอยากเล่าเรื่องของความเศร้า ความเศร้าอยู่ในตัวมนุษย์ใช่ไหม เราก็สามารถส่งความรู้สึกเศร้าได้จากหน้าตา หรือพูดถึงเรื่องความแตกต่างของมนุษย์ที่อยู่ในโลก เราก็เสนอภาพผ่านรูปมนุษย์ได้ พูดถึงเรื่องสงครามมันก็มีสัญลักษณ์ของบุคคลที่สามารถเชื่อมไปสู่ตรงนั้นได้ อย่างเช่น ใบหน้าของฮิตเลอร์ งานส่วนใหญ่ของเรา มักคิดถึงเรื่องอิสระ เสรีภาพบนโลกนี้ มากกว่าเรื่องเพศ

GM : ดูคุณเป็นคนสบายๆ มองโลกในแง่งาม แต่พอดูงานคุณแล้ว เรากลับรู้สึกถึงความประชดประชันเสียดสีสังคมที่ซ่อนอยู่ในงาน ยกตัวอย่างเช่นงานชุด ‘สตรอเบอร์รี่’ ของคุณ การใช้คำว่า ‘สตรอเบอร์รี่’ และอธิบายในความหมายทางวิทยาศาสตร์ แต่นำเสนอรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่ได้เกี่ยวโยงกับความหมายของ ‘สตรอเบอร์รี่’ ในแบบที่คุณเล่า ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งเวลาที่ดู

โลเล : เป็นเทคนิคของการสื่อสารอย่างหนึ่ง เหมือนสร้างความย้อนแย้งในงาน เพื่อให้เกิดการตั้งคำถามและคิดต่อ สมมุติว่าเรามีตัวเลข 1-10 เป็นตัวเลขแบบสามัญที่ทำให้คนเข้าใจ แต่เราไม่ได้นำเสนอแบบ 1-10 เรียงกัน เราเอาเลข 5 ออก เอาเลข 3 ออก เอาเลข 6 ออก ที่เหลือให้คนดูเติมเอา เชื่อว่าจะมีคนเข้าใจได้ว่าต้องเติมลงไป กับคนที่ไม่เข้าใจว่าเขาทำอย่างนี้ทำไม ผมว่าการที่คนไม่เข้าใจและสงสัย เป็นวิธีการหนึ่ง

ที่ทำให้คนมีเวลาอยู่กับมัน อยู่กับชิ้นงานนั้นๆ นานขึ้น เพราะว่าถ้าเกิดดูแล้วไม่มีอะไรให้สงสัยเลย คนก็คงไม่ทำความเข้าใจกับมัน อย่างเช่นงานชุด Happy land จริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องของคนที่ไม่มีความสุขกับในพื้นที่ แต่ก็ใช้ชื่อ Happyland ก็ทำให้เกิดคำถามแล้วว่า ‘ทำไม’

GM : เวลาที่เราเตรียมงานศิลปะชิ้นหนึ่ง กับการทำงานเล็กๆ อย่างการทำภาพประกอบ คุณตีโจทย์แตกต่างกันไหม หรือใช้วิธีคิดในการทำงานเหมือนกันหรือเปล่า

โลเล : งานศิลปะมีเนื้อหา มีเรื่องที่เราอยากจะพูด แต่ภาพประกอบแทบจะไม่มีอะไรแบบนั้นเลย เพราะเป็นงานที่มีโจทย์อยู่แล้ว เราก็ต้องทำตามโจทย์ มันไม่ถือว่ามีคุณค่ามากนักในแง่ของศิลปะ แต่ก็เป็นงานศิลปะแบบหนึ่ง ภาพประกอบก็เป็นงานศิลปะในเชิงออกแบบ ไม่ได้รับใช้ใคร รับใช้สิ่งที่เราเขียน

GM : คุณเคยหวั่นไหวกับความรู้สึกแบบต้องตามใจตลาดบ้างไหม เช่นว่าตลาดชอบงานของเราแบบนี้ เราก็ควรจะทำงานแบบนี้ออกมาเพื่อให้มันขายได้ อย่างนั้นหรือเปล่า

โลเล : สำหรับเรา น้อยมากที่เราจะมานั่งสนใจว่า การคิดแบบนี้มันเวิร์ก มันขายได้ เวลาทำงานศิลปะก็ทำไปเรื่อยๆ เราตามใจเรื่องที่เราสนใจมากกว่า อย่างเช่น หลังจากที่เราทำงานที่ญี่ปุ่น เราสนใจจะทำงานในแบบคอนเซ็ปชวลอาร์ต วิดีโออาร์ต เราก็ทำทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเราก็ทำงานเพ้นติ้งแล้วเราก็ขายได้ เราก็ไม่ได้สนใจ สนใจเรื่องที่เราใช้ความคิด

ณ ตอนนั้นๆ มากกว่า

GM : แล้วสมมุติว่าทำงานขึ้นมา แล้วไม่ได้เลยสักชิ้นจะรู้สึกแย่ไหม

โลเล : งานที่เราทำอย่างเช่น วิดีโออาร์ต หรือคอนเซ็ปชวลอาร์ต มันก็ขายไม่ได้อยู่แล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร

GM : แล้วถ้าเป็นงานเพ้นติ้ง

โลเล : งานเพ้นติ้งยังไงๆ ก็ขายได้ ไม่เคยที่ทำมาแล้วยังขายไม่ได้ จริงๆ การทำงานศิลปะ สำหรับผมงานมันจบตอนที่เราทำเสร็จแล้ว ส่วนที่เหลือมันจะเป็นยังไง ก็ปล่อยให้มันดำเนินไป การขายเป็นเรื่องอื่น เพราะตอนที่เราทำ เราไม่มานั่งคิดหรอกว่าทำแล้วจะขายได้ แต่แค่เราอยากทำ ส่วนใหญ่คนที่มาซื้อรูปจิตรกรรมหรือเพ้นติ้ง เขาไม่มานั่งคิดหรอกว่าศิลปินคิดอะไร เขาอาจจะมองแค่ว่ารูปนี้สวยดี หน้าตามันซาบซึ้งเว้ย ก็ซื้อ แล้วเราก็ไม่ได้ไปตามด้วยว่า คนอื่นซื้อไปแล้ว เขาคิดยังไงกับงานของเรา หรือว่าเข้าใจมันหมดไหมที่ซื้อไป

GM : เราทำอะไรหลายๆ แบบ มีงาน ศิลปะแบบไหนบ้างที่อยากลองทำ

โลเล : คืออยากเขียนหนังสือ เขียนหนังสือเรื่องของความคิด เรื่องของการตั้งข้อสังเกต อยากทำเล่มหนาๆเราอยากลองเขียนเหมือนนวนิยายขนาดยาว เป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็แทรกความคิดบางช่วงในไดอารี่ของเราเข้าไปด้วย เช่นภาพตัวละคร สมมุติว่าเขายืนอย่างโดดเดี่ยวบนสะพาน ยืนอยู่คนเดียว มโนภาพของเราประมาณนั้น แล้วเราจะมีความคิดในเชิงตั้งคำถามกับความเชื่อบ้าง กับสิ่งต่างๆ รอบตัว เอามาใส่ในตัวละคร

GM : เริ่มทำบ้างหรือยังครับ

โลเล : ก็มีโน้ตแปะกระจัดกระจายเต็มไปหมด อยากจะลองนั่งเขียนไปเรื่อยๆ  เขียนหนังสือไป ทำภาพประกอบไปก็คงดี แต่ยังไม่ได้ลงมือทำอย่างเป็นจริงเป็นจัง อยากมีเวลา

GM : มีศิลปินคนไหนที่เป็นแรงบันดาลใจ และคุณชื่นชอบเป็นพิเศษ

โลเล : แอนดี้ วอร์ฮอล เขาทำทุกอย่าง…ทำทุกอย่างจริงๆ เขาคงเป็นแรงบันดาลใจให้เราด้วย ความเป็นตัวเองของเขา คาแร็กเตอร์ ความน่าสนใจ อย่างอื่นก็คงนึกไม่ออก เราไม่ได้รู้ เราก็ไม่ได้มีเวลาอยู่กับเขานะ ถ้าเราใกล้ชิดเขา มีเวลาอยู่กับเขา เราอาจจะไม่ชอบก็ได้ แต่เราชอบเขาทำหนังสือ ชอบถ่ายรูป ทำหนัง ถ้าทุกวันนี้เราได้ทำแบบนั้นนะ พอละ

GM : แต่คุณคงไม่สุดขั้วขนาดเขา

โลเล : ยาก…สมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน สมมุติว่าเราจะหมกมุ่นไปได้เรื่อย มีอะไรดึงความสนใจไปได้เยอะ การที่เราขังความคิดเราไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง แค่คิดเรื่องเวลา เวลามันก็ถูกแบ่งพื้นที่แล้ว ความสนใจเราถูกแบ่ง ถ้าเราอยู่ในอินเตอร์เน็ต เราดูยูทูบ เราเริ่มต้นวงดนตรีวงหนึ่งที่เราดูแล้วมันก็ต่อไปเรื่อยๆ บางทีเป็นหลายๆ ชั่วโมงก็ยังดูอยู่ เหมือนกับว่าพอความรู้มันมีมาก ความสนใจใคร่รู้ของเราก็มีมากขึ้น พอเราจะใช้เวลาเพื่อทำอะไรอย่างหนึ่งบางทีมันไม่พอ จริงๆ ผมอยากสร้างสเปซ อยากสร้างชุมชน จะเล่นเป็นแนวดิบๆ อีกสเปซหนึ่งสร้างพื้นที่นั้นห่อความรู้สึกดนตรีแล้วก็อยู่กับคนชอบแนวเดียวกัน คุยกัน แต่ยังทำไม่ได้

GM : แล้วศิลปินที่คลาสสิกกว่านั้นล่ะครับ

โลเล : สนใจครับ อย่าง แวนโก๊ะห์ (วินเซนต์ แวนโก๊ะห์) เราก็ชอบ ศิลปินคลาสสิกพวกนี้ ผมชอบเรื่องราวและเทคนิคในการสร้างงานของเขามากกว่า และการเรียนรู้ชีวิตของเขาทำให้เราซึมซับเทคนิคของเขาเพิ่มไปด้วย เช่น แวนโก๊ะห์ เวลาดูงานเขา เราก็จะอินไปกับเรื่องราวในชีวิตของเขาที่ไม่ค่อยปกตินัก หรืออย่างปิกัสโซซึ่งมีปัญหาเรื่องของการใช้ความรุนแรง แล้วใช้สิ่งเหล่านี้มาเป็นแรงขับเคลื่อนงานของเขา ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะเป็นเรื่องของความชื่นชอบในเทคนิคการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก แต่ในเรื่องความคิด หรือเบื้องหลังที่มาอาจมีไม่มาก แต่เราก็สนใจเรื่องคนที่ดูงาน แล้วมีความคิดมากกว่า

GM : เช่น เดเมียน เฮิร์ซ

โลเล : ใช่, หรืออย่างพี่ฤกษ์ฤทธิ์ บางทีดูแล้ว เฮ้ย! ทำได้ไงวะ เจ๋งว่ะ โดยที่ไม่ได้ไปมองตัวงานของเขา อย่างงาน ‘ผัดไทย’ เราไม่สนใจผัดไทยหรอก แต่สนใจว่า ที่มาของวิธีคิด ทำให้คนเสพมองต่อไปได้อีกกว้างขวางมาก

GM : การทำงานของคุณฤกษ์ฤทธิ์ ที่ไม่ได้มีงานเพ้นติ้งที่เป็นของ ‘ขายได้’ ของศิลปิน แล้วศิลปินอย่างเขา ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยกลไกอะไร

โลเล : คนที่ทำงานระดับนี้เขาต้องมีทุนอยู่ไม่น้อย เขาอาจจะได้ Artist Fee อยู่ไม่น้อยก็ได้ อย่างคราวที่ผมไปทำงานที่ฟูกูโอกะ เขาก็จะมีค่าตัวศิลปินที่จะให้กับศิลปินในการทำงาน ซึ่งศิลปินหลายๆ คนก็ทำงานโดยการเสนอผลงานของตัวให้กับพิพิธภัณฑ์ หรือกลุ่มทุนสนับสนุนเพื่อทำงาน ศิลปินที่ทำงานรูปแบบนี้มีอยู่มากในยุโรปและอเมริกา แต่บ้านเรายังไม่แพร่หลาย

GM : ในเรื่องความรัก คุณมองความรักที่มีต่องานกับคนรักแตกต่างหรือเหมือนกันไหม อะไรคือแง่งามของทั้งสองสิ่งนี้ แล้วอะไรคือแง่ที่ทำให้คุณทุกข์ใจ

โลเล : ทั้งสองสิ่งเป็นเส้นทางขนาน วิ่งควบคู่กันไปพร้อมๆ กัน ไม่แยกจากกัน มีตัวผมวิ่งไปด้วย มีบางช่วงบางเวลา ทั้งหมดก็วิ่งมาบรรจบกัน และรวมตัวกัน งานทำให้ผมมีความสุขและสนุก จากการได้คิด ค้นคว้า และทดลอง ส่วนความรัก คนรักทำให้เรามีความสุขเช่นกัน เป็นคู่คิด เป็นทั้งคนรัก เป็นทั้งเพื่อน เราไปที่ไหน ทำอะไร ก็ทำด้วยกันตลอด ไม่เคยแยกจากกัน ขำกันตลอด ในแง่ที่ทำให้ทุกข์ใจ ไม่ค่อยมีครับ ผมเชื่อในวิธีการคิดบวกและมองไปข้างหน้า ทุกสิ่งที่ผิดพลาดเป็นบทเรียนให้เรา

GM : แสดงว่าคุณไม่ได้เป็นคนชอบสันโดษ ศิลปินส่วนหนึ่งมักจะพูดเสมอว่าพวกเขาต้องการโลกส่วนตัว

โลเล : ก็ไม่นะ ผมก็มีคนรัก มีความสุขกับการเดินทางไปไหนมาไหนด้วยกัน ผมก็มีภาพของครอบครัวในแบบของผม ภาพแบบคู่รักขับรถไปด้วยกัน บนถนนโล่งๆ คุยกัน แล้วก็ร้องเพลงกัน ภาพที่แบบยืนอยู่ตรงหน้าผาที่ไหนสักแห่งลมพัดเย็นๆ จริงๆ มันเป็นภาพที่ดีใช่ไหม

GM : ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ในมโนภาพของคุณไม่มีลูก หรือว่าคุณไม่ได้มีความคิดอยากที่จะมีลูก

โลเล : ที่จริงเราก็มีภาพนะ เป็นภาพแบบเรากับแฟนเดินอยู่บนถนนปูกระเบื้อง มองย้อนแสงมา เห็นเราเดินจูงมือเด็ก จริงๆ เราชอบเล่นกับเด็กนะ เด็กน่ารัก ชอบมากๆ เลย แต่พอนึกถึงระยะเวลาที่เราต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูเขา ก็เป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงมาก ก็เลยยังไม่มีภาพนั้น แต่ก็ไม่แน่ แค่ตอนนี้ไม่ได้มีภาพนั้นอยู่ อนาคตอาจจะเปลี่ยนก็ได้ ตอนนี้เรามีหลาน ซึ่งก็อาจจะพอแทนความรู้สึกนั้นได้

GM : เห็นว่าในงานนี้คุณมีงานศิลปะที่คุณทำร่วมกับคุณแม่ด้วย มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

โลเล : เป็นความสนใจของแม่เอง เราไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้สอนอะไรแม่เลย คงมาจากการที่แม่เห็นเราทำ วันหนึ่งขับรถไปอีสานด้วยกัน รถเสียกลางทางแล้ววันนั้นรถไปอยู่ที่ศูนย์ฯแล้ว ต้องไปพักที่โรงแรมแถวปากช่อง วันรุ่งขึ้นก็ต้องมานั่งรถ เขาซ่อมรถในศูนย์บริการ แล้วเราก็นั่งวาดรูปไป แม่ก็อ่านหนังสือไป สักพักเขาก็ไม่มีอะไรทำ ขอลองวาดบ้างได้ไหม วาดเป็นหน้าคนก็วาดไป และหลังจากนั้นพอกลับมาบ้าน เขาก็เริ่มวาด วาดหน้าคนเต็มไปหมดเลย เห็นแม่วาดเราก็รู้สึกดีนะ ช่วงนั้นหลานสาวปิดเทอม เขาอยู่บ้านหลานสาวก็วาดรูปเล่น โดยเอาสีมาจุดๆ บนเฟรมของหลาน แต่ยังไม่เสร็จ แม่เห็นก็มาเติมต่อ จนกลายเป็นภาพแรกที่แม่ทำ พอเห็นแม่เพลินกับการวาดรูป เราก็เลยซื้อเฟรม ซื้อสีไปกองไว้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่แม่วาด

GM : รู้สึกอย่างไรบ้าง

โลเล : ดีเลย เพราะเรา…สำหรับคนที่มีอายุ ถ้าเกิดว่ามีบางสิ่งที่สามารถทำให้เขามีสมาธิ แล้วก็มีความสุขในการทำงาน เราก็ดีใจ ดีกว่าจะมัวนั่งคิดว่า ลูกคนนี้จะเป็นยังไง พอเขาทำ เขามีอิสระมากเลย เวลาทำเขาก็จะมีสมาธิ ซึ่งเราก็รู้สึกดี แล้วฝันมานานแล้วว่า ถ้าแม่มีอายุมากขึ้น แม้กระทั่งแม่เพื่อน หรือเพื่อนแม่ ถ้ามีงานศิลปะ แล้วอินกับมัน มันก็จะดีกับเขานะ

GM : แล้วฝีมือคุณแม่เป็นยังไงครับ

โลเล : ก็ดีนะ ถ้าตามมาตรฐานของการเรียนศิลปะ ไม่ดีหรอก แต่เป็นงานที่มีเสน่ห์ในแง่ที่ว่า เป็นศิลปะแบบนาอีฟ คือ ใสซื่อ บริสุทธิ์ เพราะงานแบบนี้เป็นงานที่ต้องขยัน ตั้งใจทำ อย่างแม่เนี่ย เขาตั้งใจทำมาก นั่งจุด จุด จุด ความตั้งใจนี่แหละยิ่งทำเยอะก็ยิ่งดี มันให้ความรู้สึกเหมือนศิลปะพื้นถิ่นของพวกอะบอริจินส์แบบนั้น ซึ่งทุกคนทำได้นะ ไม่ยากด้วย

GM : มีคนอ่าน facebook ของ GM ฝากถามมาว่า ถ้าให้โลเลเขียนการ์ตูนสักเล่ม การ์ตูนเล่มนั้นจะมีเนื้อเรื่องอย่างไร จะจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งหรือเปล่า

โลเล : เรามีปัญหาเวลาเราเขียนการ์ตูน มักจะจบไม่ได้ ไม่สามารถมีข้อสรุปชัดเจนได้ มันต้องมีการทิ้งท้ายให้สงสัย แต่ไม่มีคำตอบให้ จริงๆ แล้วเราก็มีคำตอบของเราอยู่ แต่เราจะไม่บอกแบบนั้น เรามักเปิดประเด็นไว้ และให้คนคาดเดาไปต่างๆ นานา

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ