fbpx

สมบัติ บุญงามอนงค์ ปรเมศวร์ มินศิริ

the politi of social

@nuling

สมบัติ บุญงามอนงค์

สองหนุ่มตอบเมสเสจของ GM กลับมาอย่างรวดเร็ว หลังจากที่เราติดต่อไปเพื่อขอให้มาร่วมพูดคุยกัน เกี่ยวกับเรื่องการเมืองในทรรศนะของคนหนุ่มผู้เป็นกูรูด้านไอที คนหนึ่งคือ ปรเมศวร์ มินศิริ หนุ่มนักธุรกิจออนไลน์ที่ได้เป็นเศรษฐีเงินล้านตั้งแต่อายุยังน้อย มีบางคนถึงกับเปรียบเขาเหมือน มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ของเมืองไทย ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน เว็บไซต์สนุกดอตคอมเป็นเว็บพอร์ทัลที่มีผู้เข้าชมมากเป็นอันดับหนึ่ง และสามารถขายต่อให้นักลงทุนต่างชาติในราคาสูงลิบลิ่ว หลังจากนั้นเขายังวนเวียนอยู่ในวงการไอที ด้วยการปลุกปั้นเว็บกระปุกดอตคอมขึ้นมาจนกลายเป็นเว็บไซต์อันดับต้นๆ ของไทยตอนนี้ นอกจากนี้ยังทำกิจกรรมเพื่อสังคมอีกหลากหลายเรื่อยมา จนถึงการจัดทำเว็บไซต์ thaiflood.com และทีมงานอาสาสมัครเตือนภัยน้ำท่วม

cal power

@iwhale

ปรเมศวร์ มินศิริ

แล้วกลายเป็นข่าวขัดแย้งรุนแรงกับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเมื่อปีกลาย หลายคนด่วนสรุปทันทีว่าเขาเป็นพวกเสื้อเหลือง ในขณะที่หลายคน บอกว่าเขาดูคลุมเครือ ขอเรียกว่า ‘สลิ่ม’ เอาไว้ก่อน ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เขาบอกกับ GM ว่า “เพื่อไม่ให้ชีวิตนี้มีต้นทุนสูงเกินไป” เขาใช้ทวิตเตอร์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพื่อผลักดันสังคมไปในทิศทางที่เขาเชื่อมั่น ตอนนี้เราคุ้นเคยกับเขาในนาม @iwhale อีกคนหนึ่งคือ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือที่คนทั่วไปเรียกขานด้วยนามแฝงว่า บ.ก. ลายจุด เมื่อสิบกว่าปีก่อนเขาเป็นเอ็นจีโอไฟแรง ที่เริ่มนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาใช้ในงานเพื่อสังคม

เขาคือผู้ก่อตั้งกลุ่มกระจกเงา สร้างเว็บไซต์บ้านนอกดอตคอม ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชนบ้านนอกทีวี รณรงค์ปัญหาภัยของไอทีที่มีต่อเด็กและเยาวชน เรียกร้องสิทธิเพื่อคนไร้สัญชาติ ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลคนหาย ฯลฯ ขอให้ลิสต์มาเถอะ เขาหยิบจับมาแล้วหลากหลายประเด็นปัญหา ทุกกลุ่มชนนั้น ตัวเขาเองเคยหนีหายจากกรุงเทพฯ เพราะเหนื่อยหน่ายเมืองฟ้าอมร แล้วในที่สุดก็กลับมา เพราะพบว่าในกรุงเทพฯ นี่แหละ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เขาจะผลักดันสังคมไปในทิศทางที่เชื่อมั่น

เขากลายเป็นที่จับตามากขึ้นเรื่อยๆ กับบทบาทด้านการเมือง ในยุคที่สังคมไทยกำลังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เขาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มเสื้อแดงมาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าเราฟันธงลงไปได้เลยว่าเขาเป็นพวกเสื้อแดง แต่กลับมีหลายครั้งที่เขาออกมาวิพากษ์เสื้อแดง รวมไปถึงตำหนิการทำงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จนพวกเดียวกันหลายคนเริ่มคลางแคลงสงสัย ว่าหมอนี่จะเอายังไงกันแน่ ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เขาบอกกับ GM ว่า “ผมคิดว่าผมเป็นคนเสื้อแดง ที่คนที่ไม่ใช่เสื้อแดงอยากคุยด้วยมากที่สุด” เขาใช้ทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารการเมืองไปยังกลุ่มคนที่เห็นต่างอย่างเป็นมิตร และตอนนี้เราคุ้นเคยกับเขาในนาม @nuling เขาสองคนยืนยันว่านี่ไม่ใช่การดีเบต หรือการทวีตเหน็บแนมกันไปมาให้เจ็บปวดใจ แต่เป็นการมานั่งคุยกันดีๆ ตามประสาเพื่อนเก่าแก่ที่โคจรกลับมาพบกันอีกครั้ง ในโลกแห่งการสื่อสารสมัยใหม่

GM : คุณสองคนคงไม่ได้เจอกันมานานหลายปี พอมาเจอกันอีกทีในโลกทวิตเตอร์ที่กำลังบูม หลายคนมองว่าคุณอยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันไปแล้ว

ปรเมศวร์ : คนส่วนใหญ่มองว่าผมเป็นพวกเสื้อเหลืองไปแล้ว ตั้งแต่ที่ผมมีเรื่องกับ ศปภ. เมื่อปลายปีที่แล้ว

สมบัติ : เรื่องธรรมดา (เน้นเสียง) คนในทวิตเตอร์ก็เป็นแบบนี้ และก็ไม่ใช่แค่ทวิตเตอร์ด้วย คนเราเดี๋ยวนี้ก่อนจะคุยกัน ต้องดูท่าทีกันก่อน ว่าอีกฝ่ายมีจุดยืนทางการเมืองยังไง เพื่อที่เราจะทำความเข้าใจเขาได้ง่ายๆ พอมีเหลือง มีแดง มันก็ง่ายที่คนจะใช้ชุดความคิดนี้บีบคนอื่นให้แคบไว้ก่อน ปัญหามันอยู่ที่ข้อจำกัดของเราเอง เวลาเราวางกรอบใคร หรืออะไรก็แล้วแต่ มันแคบเกินไป

ปรเมศวร์ : และบางทีมันก็ผิดด้วยไง ขอยกกรณีที่เกิดขึ้นกับผมจริงๆ ว่าโดนตัดสินเร็วไปหน่อย คือเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน ผมไปเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง เขากำลังอยากใช้โซเชียลมีเดียเป็น ตั้งแต่ผมไปบรรยายให้กับหน่วยงานราชการพวกนี้มา รู้สึกว่าหน่วยงานนี้จะกล้าๆ กลัวๆ ที่สุด เทียบกับที่อื่น ซึ่งที่อื่นก็กล้าๆ กลัวๆ นี่แหละ คือถ้าไม่เข้าไปเลย ก็กลัวว่าจะไม่มีช่องทางสื่อสารกับประชาชน แต่พอจะเข้าไป ก็กลัวว่าจะเข้าไปเจออะไร ถ้าเป็นเฟซบุ๊ค เดี๋ยวก็มีใครมาคอมเมนต์มาอะไร แล้วเราจะทำยังไง อะไรแบบนี้ พอผมบรรยายเสร็จ เขาก็พาไปกินข้าว เราก็คุยกันไปเรื่อยๆ เขาเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งผมเคยติดแบล็คลิสต์ของเขา เพราะว่ามีชื่อผมเป็นที่ปรึกษาเว็บข่าวประชาไท คือเขาฟันไปเลยว่าผมเสื้อแดง เขาบอกว่าทีแรก ก็จะไม่เชิญมาอยู่แล้ว เพราะคิดว่าผมเป็นพวกเสื้อแดง

สมบัติ : (หัวเราะ) หลายคนคงจะแปลกใจ ว่าอย่างคุณไปแดงตั้งแต่เมื่อไหร่

ปรเมศวร์ : ใช่ๆ คือเว็บประชาไทตอนเกิดมาก็ไม่มีสีนะ เขาไปขอทุน สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) แล้ว สสส. ก็เชิญผมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ต้องเชิญคนนอกมาตรวจงาน เพราะผมทำเว็บกระปุกดอตคอมอยู่ ผมก็ไปตรวจ พอฟังคอนเซ็ปต์แล้วก็คิดว่าดีมาก แค่นี้ชื่อผมก็ไปอยู่ในนั้น แล้วหลังๆ ผมก็ไม่ค่อยได้เข้าไปดูอีกเลยว่ามันเป็นยังไง เห็นว่าเนื้อหาบางส่วนก็ไปติดอยู่ในหน่วยงานด้านความมั่นคง

ชื่อผมก็เลยเข้าไปอยู่ในนั้นเรียบร้อย แล้วเขาก็เชื่อกันไปตามนั้นด้วยนะ ในขณะที่บางคนก็มองว่าผมเป็นพวกเสื้อเหลือง ทั้งที่ผมไม่เคยไปชุมนุมกับพันธมิตร อย่างหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ นี่ผมไม่เคยเจอเลย และก็ไม่รู้ด้วยว่าพวกคุณทั้งหลายนิยามเสื้อเหลืองไว้อย่างไร ถ้านิยามว่าเป็นกลุ่มทางการเมืองแบบเสื้อแดง ผมก็บอกว่าผมไม่ได้เข้าข่ายนั้น และถึงผมจะทวีตข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเยอะกว่าคนทั่วไป ใช่, เพราะผมมีความเห็นในฐานะประชาชน แต่ทวิตเตอร์ที่วิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณนี่ผมแทบไม่มีเลย ผมเป็นคนประเภทที่ไม่ค่อยซ้ำเติมใครด้วยแหละ มีแต่รัฐบาลที่ถูกผมวิจารณ์เยอะหน่อย และผมก็เลี่ยงที่จะไม่วิจารณ์สีไหนเลย แต่ผมก็จะชอบแซวบ้างเป็นคนคนไป ไม่ได้เป็นทั้งหมด

ประชาไท http://www.prachatai.com

หนังสือพิมพ์อิสระบนเว็บ เกิดขึ้นจากกลุ่มนักกิจกรรมสังคม

นักวิชาการ โดยมาจากการริเริ่มของ จอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภา

GM : ทำไมบรรยากาศในโซเชียลมีเดียตอนนี้ เหมือนเราทุกคนกำลังมีอารมณ์ และจะกระโจนเข้าห้ำหั่นกัน

สมบัติ : ก็เพราะมันคือรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง เมื่อก่อนถ้าเป็นการต่อสู้ทางกายภาพ ก็คือการรบกันใช่ไหม ต้องชิงพื้นที่กัน เอาชีวิตกัน ผมควบคุมคุณด้วยชัยชนะทางการทหาร แต่ว่าถ้าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองสมัยนี้ กลายเป็นการต่อสู้ทางความคิด ผมว่าคนใช้เฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ ก็ไม่ได้ต้องการเอาชนะเพื่อจะได้เป็นเจ้าพ่อเฟซบุ๊คหรือเจ้าพ่อ

ทวิตเตอร์อะไรแบบนั้น แต่เขาใช้เพื่อการช่วงชิงความคิดกัน เพราะในโซเชียลมีเดีย เราทุกคนเท่าเทียม และไม่มีทางที่ใครจะไปบล็อกแอ็คเคานต์ของใครได้ คุณทำให้เขาหายไปไม่ได้ แต่คุณสามารถมีพื้นที่ของคุณเองได้ มีคนรับฟังคุณได้ ดังนั้น ก็ขึ้นกับว่าชุดความคิดของใครจะอยู่ และได้เป็นชุดความคิด หลักในสังคมออนไลน์ ผมไม่รู้คนอื่นมองเฟซบุ๊คกับทวิตเตอร์อย่างไรนะ

แต่ทั้งโลกที่กำลังปะทะกันด้วยเหตุผลกันแบบนี้แหละ ต่างฝ่ายต่างก็จะไม่ยอมให้ตรรกะหรือข้อมูลอีกชุดที่เขาคิดว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อความคิดของเขา ได้ปรากฏออกมาง่ายๆ ได้โดยไม่ถูกปะทะ เวลาเปิดเข้าไปดูก็เลยกลายเป็นแบบที่เห็นตอนนี้ มันตลกดีนะ ต่างคนต่างเขียน แต่เหมือนกำลังรบกันเลย มีดาบ มีไฟแลบแปลบๆ

GM : เหมือนทฤษฎีการเมืองแบบหนึ่ง ที่กล่าวถึงการช่วงชิงการนำทางความคิด แทนที่จะไปต่อสู้ด้วยปืน ก็เปลี่ยนมาต่อสู้ด้วยการเผยแพร่อุดมการณ์

สมบัติ : ผมไม่รู้เรื่องวิชาการอะไรพวกนั้น แค่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่เสียงเล็กเสียงน้อยจะได้มีที่ทางของเราบ้าง นี่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในระบอบประชาธิปไตย ขั้นแรกคือทำให้เสียงเล็กเสียงน้อยที่ทวีตออกมา ได้มีที่ทางก่อน ไม่ใช่เราทำได้แค่นั่งดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์อย่างเดียว ขั้นที่สอง จะทำอย่างไรให้เสียงเหล่านี้กลายเป็นเสียงหลักได้ กลายเป็นพายุทวิตเตอร์ได้

เมื่อเสียงทวีตเล็กๆ ของนก เมื่อทวีตไปในทางเดียวกัน มันจะรวมเป็นพายุเลย หลายๆ ครั้งที่เราเห็นปรากฏการณ์พายุโซเชียลมีเดียหมุนเป็นลมหมุนเลย เพราะมันเกิดการเคลื่อนไปในทางเดียวกัน ผมเชื่อว่าเราสามารถกำหนดสังคมได้จากสิ่งนี้ แทนที่ต้องรอให้สื่อมวลชนบ้าง เอ็นจีโอบ้าง นักการเมืองบ้าง ออกมาอ้างความเป็นตัวแทนของประชาชน เทคโนโลยีพวกนี้ทำให้เราเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยทางตรงได้เลย และจะมากขึ้นเรื่อยๆ

GM : ตอนนี้ปริมาณคงเยอะมากแล้ว แต่เรื่องคุณภาพล่ะ

สมบัติ : ยังๆ ปริมาณยังไม่มาก ถ้าเยอะมากจริง คุณต้องเห็นทวิตเตอร์จากชาวบ้านต่างจังหวัดเข้ามาร่วมด้วย ถ้าคุณจะถามว่า แล้วพื้นที่ไหนที่เยอะมากจริง และใกล้เคียงกับทุกชนชั้นในสังคมมากที่สุด ผมว่ามันคือเอสเอ็มเอสในทีวี แต่ในความเป็นจริงตอนนี้ มันถูกกรองแล้วนะ แต่ด้วยตัวเทคโนโลยี ผมคิดว่ามันเข้าถึงแล้ว ชาวบ้านส่งเอสเอ็มเอสเข้าทีวีไปแสดงความคิดเห็น ถือว่ามากแล้วในเชิงปริมาณ ไม่อย่างนั้นผมว่ามันน่าตลกสิ้นดี พวกคุณทวีตคุยกันเรื่องนโยบายจำนำข้าว แต่พวกคุณแ_่ง!! มีแต่พวกไม่เคยปลูกข้าวทั้งนั้น อย่างปัญหาเรื่องเขาพระวิหาร หรือชายแดนไทย

ตอนนี้เรายังต้องรอจนกว่านักข่าวทีวีจะเอาไมค์ไปจ่อปากคนชายแดน ทำไมคนชายแดนเหล่านั้นยังไม่ทวิตเตอร์เข้ามาถึงเราล่ะ ก็เพราะมันยังไม่ทั่วถึง ทุกวันนี้คุณไปดูประเด็นในทวิตเตอร์สิ มีแต่ประเด็นของพวกชนชั้นกลางทั้งนั้น ประเด็นปัญหาของคนข้างล่างไม่ค่อยปรากฏ ไม่เคยถกเถียง มันตื้นจนไม่รู้จะตื้นยังไง ไอโฟนรุ่น 5 จะเป็นอย่างไร คนอย่างสตีฟ จ็อบส์ กลายมาเป็นคนสำคัญได้ ก็เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมของชนชั้นกลาง

GM : แต่ในที่สุดแล้ว เทคโนโลยีก็จะต้องแพร่ไปได้ทั่วทุกคน ทุกชนชั้นอยู่แล้วใช่ไหม

สมบัติ : แน่นอน อย่างปลายปีนี้มีข่าวว่า Huawei ยี่ห้อของจีนจะออกสมาร์ทโฟนราคาถูกมากๆ หรือการประมูล 3G รอบนี้ พอมี 3G ปุ๊บ สังคมเราก้าวกระโดดทันทีเลย ผมว่าไม่เกิน 1-2 ปี ก็จะเป็น 4G ให้เวลาอีก 2 ปี มือถือในประเทศไทยเกินครึ่งต้องเป็นสมาร์ทโฟนแน่นอน ถ้า 3G หรือ Wi-Fi ราคาถูกมากๆ ทีวีที่เราไปนั่งดูตามร้านขายก๋วยเตี๋ยวข้างถนนหรือข้าวมันไก่

ตอนกลางคืน ก็จะไม่ใช่ทีวีแฟมิลี่เครื่องเล็กๆ อีกแล้ว แต่มันจะเป็นทีวีจากหน้าจอแท็บเล็ตราคาถูก

ปรเมศวร์ : พวกทีวีแฟมิลี่นี่นึกออกเลย เพราะเขาต้องนั่งขายของ แล้วก็เปิดทีวีพวกนี้ไว้เป็นเพื่อน เพื่อตามข่าวสาร แล้วผมก็เริ่มเห็นพฤติกรรมการดูทีวีในยุคนี้ หลังๆ เขาก็ไม่ได้ดูสดด้วย เขาก็จะดูละครในยูทูบ ตอนนี้ผมก็เริ่มมีแท็บเล็ตเข้ามาตั้งในร้านข้าวแล้ว แทบจะไม่เห็นพวกเครื่องทีวีแฟมิลี่แล้ว พฤติกรรมการดูรายการทีวีกำลังเปลี่ยนไป เขาไม่ได้ดูจากทีวีอย่างเดียว เขาดูจากอุปกรณ์พวกนี้แหละ

GM : แล้วเขาอินเตอร์แอ็คทีฟกันมากน้อยขนาดไหน

ปรเมศวร์ : คือผมอยู่ในธุรกิจนี้เลยตอบได้ ส่วนใหญ่คนไทยเราไม่ค่อยอินเตอร์แอ็คทีฟกันอยู่แล้ว พวกที่เราเห็นคุยโต้กันไปมาในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค เว็บบอร์ด นั่นคือส่วนน้อยนะ พวกมีแอ็คเคานต์เฟซบุ๊คเพื่อเข้าไปเล่นเกมเนี่ยเยอะกว่า ทวิตเตอร์ก็หลัก 1-2 แสนคน แต่คนที่คุยกันจริงๆ มีถึง 10% หรือเปล่ายังไม่รู้เลย คนไทยเราออกแนวชอบมุง มีเรื่องอะไรใหม่ๆ ก็มุงเอาไว้ก่อน แต่ไม่ต้องพูดอะไรนะ แค่มามุงจะได้ไม่ตกข่าว อย่างผมทำเว็บกระปุกอยู่ทุกวันนี้ อย่างน้อยต้องมีเรื่องให้เขามุง อาจจะเข้ามาเถียงกันบ้าง แต่เห็นชัดว่าส่วนใหญ่จะเข้ามามุง

GM : ดูจากยอด Page View ของแต่ละหัวข้อข่าวได้เลยใช่ไหม

ปรเมศวร์ : ใช่ครับ ตัวเลข Page View มันฮึ่มมาก แต่จำนวนความเห็นยังไม่ขนาดนั้น แล้วก็ไปถามเว็บอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนี้ คือเข้าไปอ่านข่าว อ่านคอมเมนต์คนอื่นเถียงกัน ก็เพลิดเพลินไป แต่ที่คุยกันเป็นเนื้อเป็นหนังจริงๆ มีไม่กี่คนที่แลกเปลี่ยนกัน ก็เลยมีประเด็นของการสร้างกระแส อย่างเช่นมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีพวกรับจ้างโพสต์ในพันทิป

ดอตคอม ทำกันเป็นทีมเพื่อจูงกระแส ซึ่งก็อาจใช้ได้ผลในช่วงหนึ่ง กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่อาจจะใช้ไม่ได้เลยกับในโลกเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ เพราะต้องคุยกัน ต้องเถียงกันด้วยเหตุผล เคยเจอมั้ย สมมุติเพื่อนคนหนึ่งเอียงข้างใดข้างหนึ่ง เอียงกะเท่เร่มาเลย ช่วงแรกๆ อาจจะมีคนไปเถียง แล้วคุณหรือเธอคนนั้นก็ยังคงยืนยันความเอียงข้างนั้นต่อ สักพักหนึ่งก็จะไม่มีคนไปคุยด้วย

อีกต่อไป ผมกลัวมากเลยนะ ถ้าเราใส่อะไรในทวิตเตอร์แล้วไม่มีใครเถียงผมเลย มันอาจจะแปลว่าไม่มีใครเชื่อผมแล้ว

GM : มันคือวิวัฒนาการจากทีวีแฟมิลี่ มาสู่เว็บบอร์ดให้คนมุงแล้วมาสู่โซเชียลมีเดียที่ให้คนอินเตอร์แอ็คทีฟกันจริงๆ

ปรเมศวร์ : คนจะค่อยๆ ปรับพฤติกรรม เหมือนยูทูบสมัยก่อน ยูทูบนี่เป็นสิ่งที่ยากมากนะ คุณจะเอากล้องวิดีโอมาถ่ายตัวเองหรือถ่ายอะไรแล้วเอาไปลง น้อยคนที่จะทำ แรกๆ ก็เข้าไปดูอย่างเดียว ต่อมาก็จะเริ่มมีคอมเมนต์กัน จนถึงจุดหนึ่ง คุณเริ่มผลิตงานใส่ไปในยูทูบ หลังจากนั้น คุณก็จะทำไปได้เรื่อยๆ เฟซบุ๊คก็เหมือนกัน แรกๆ ก็เขียนเป็นตัวหนังสือ แต่หลังๆ ชักเริ่มมัน เริ่มทำเป็นรูป เป็นอะไร มันเป็นวิธีตะโกนแบบไทยๆ ช่วยต่อมือให้คนเล็กคนน้อย สมัยก่อนอำนาจอยู่กับคนตัวใหญ่ อยู่กับสื่อใหญ่ ถ้ามองย้อนไปสัก 10 กว่าปี หนังสือพิมพ์ก็มีไม่กี่หัว ทีวียิ่งน้อยมาก ดาวเทียมแทบไม่มี

แต่สมัยนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เราคิดอยู่ในหัวปุ๊บ เอาลงทวิตเตอร์ปั๊บ ก็เสร็จแล้ว ความคิดได้ถูกปล่อยออกไปแล้ว เป็นการนัดกันทางความคิดด้วย ผมมองว่าการเมืองภาคประชาชนจะไม่มีพลังอะไรเลย นอกจากว่าคุณจะสามารถไปล็อบบี้คนให้มาในแนวเดียวกัน แล้วสร้างฉันทามติขึ้นมาในกลุ่ม ว่าเรื่องนี้พวกเราคิดอย่างนี้ โดยที่แต่ละคนอาจจะไม่ได้เคยมีความสัมพันธ์อะไรกันมาก่อนเลย แต่ตอนนี้คุณทำการเมืองภาคประชาชนได้แล้ว ถ้าคุณมีแฟนเพจสักกลุ่มหนึ่ง ต่อไปนักการเมืองก็อาจจะมาฟังว่า Interest Group ของแต่ละคนจะเอาอะไร กลุ่มน้ำตาล กลุ่มชาวไร่อ้อย กลุ่มข้าว อันนี้คือเกิดจากการฟังคนข้างล่างจริงๆ ไม่ใช่ว่าคิดกันขึ้นมาเอง

GM : เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ คือเครื่องมือในอุดมคติของการเมืองภาคประชาชนเลยใช่มั้ย

ปรเมศวร์ : ก็ทั้งสองทางนะ นักการเมืองควรจะต้องเข้ามารับฟัง ไม่ใช่มาพ่นเพื่อหาเสียงอย่างเดียว เขาสามารถเก็บข้อมูลดีๆ แล้วเอาไปทำเป็นนโยบายที่โดนใจได้ เพราะพวกเรามีอะไรเราก็ใส่หมด ว่าอยากได้อะไร แต่ในอีกทางหนึ่ง ความรู้สึกของคนเล่นเองจะรู้สึกว่าเขาฟังเราหรือเปล่าวะ หรือก็ฟังมั้ง แต่คงไม่ได้เอาไปปรับนโยบายอะไรหรอก หรือเลือกฟังเฉพาะคนที่มี Follower เยอะๆ หรือแฟนเพจที่มียอดกดไลค์เยอะๆ ซึ่งจริงๆ มันไม่ควรเลือกฟังแค่นั้น มันยังมีพวกเสียงเล็กเสียงน้อย

GM : เทียบกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในสมัย 10 กว่าปีก่อน สมัยนี้ง่ายกว่ากันเยอะเลยใช่ไหม ทวีตนัดชุมนุมไปคลิกเดียว เดี๋ยวก็ได้ไปเจอกันที่ราชประสงค์แล้ว

สมบัติ : (หัวเราะ) ไม่ถึงขนาดนั้น ผมก็ขายไอเดียได้ง่ายขึ้น อย่างการทำงานที่มูลนิธิกระจกเงาของเราก็ง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้ไม่ต้องมีการส่ง Mailing List แล้ว เมื่อก่อนผมเคยมีเซิร์ฟเวอร์ตัวหนึ่งเป็น Mailing List เลยนะ แต่ตอนนี้ไม่ได้ใช้แล้ว ใช้เฟซบุ๊คกับทวิตเตอร์ไปเลย แล้วก็คอยเติมเมสเสจเล็กๆ ไปหาเขาเรื่อยๆ จนเขารู้สึกว่าเขาพร้อมก็ค่อยกระโดดเข้ามาร่วม ค่อยๆ เติมปริมาณไป การมีโซเชียลมีเดียทำให้เรามีสมาคมขึ้นมาเอง คุณจะเป็นกลุ่มสนใจเรื่องอะไรก็ว่ากันไป มันทำให้เกิดรูปแบบการรวมกลุ่มของประชาชนแบบใหม่ และจะส่งผลทำให้โครงสร้างที่อยู่เหนือบนนั้นทั้งหมดต้องได้รับผลกระทบ คุณต้องปรับตัวกับสิ่งที่เป็นฐาน ฐานสังคมตอนนี้เป็นแบบนี้แล้ว

เมื่อก่อนประชาชนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้อะไร คุณก็กดขี่ได้ ชี้นำได้ แต่ถ้าฐานข้างล่างคุณเปลี่ยน ข้างบนก็จะต้องขยับ ผมคิดว่าสังคมเปลี่ยนแล้ว และเปลี่ยนอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยนะ ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วย เป็นอัตราเร่งดิจิตอล เป็นการเปลี่ยนความสัมพันธ์ของคนในสังคม อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มันชัดเจนที่สุด แล้วที่เรายังทะเลาะกันอยู่นี่ ก็เป็นเพราะเรื่องอัตราเร่ง ว่าทำไมอัตราเร่งของแต่ละคนไม่เท่ากัน คนหนึ่งกำลังอยู่บนรถไฟแบบเดิม กับอีกคนอยู่ในไฮสปีดเทรน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไปในทิศทางตรงกันข้ามกันเสียทีเดียวนะครับ จึงมีคำพูดว่า ค่อยเป็นค่อยไป กับคำว่า ให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน เมื่อสุกงอมมันก็จะไปของมันเอง ทำไมต้องรีบ อะไรประมาณนี้ใช่ไหม โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าเราไม่ได้ขัดกันในเชิงทิศทาง แต่เป็นเรื่องอัตราเร่งที่ต่างกัน

GM : การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างพวก 3G จะช่วยให้อัตราเร่งที่ต่างกันอยู่ของเรา ค่อยๆ จูนเข้ามาหากันไหม

สมบัติ : มันก็ไม่ได้อยู่แค่โครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ คนกรุงเทพฯ ดูทีวีน้อยกว่าคนต่างจังหวัดอีก ด้วยเหตุผล 2 ประการ

1. ไม่มีจาน หรือ

2. ถึงคุณมี คุณก็ดูเคเบิล

ซึ่งถือเป็นการดูที่แตกต่างจากคนต่างจังหวัดมาก ในขณะคนที่ดูจานดำนี่ทั่วประเทศนะ คนต่างจังหวัดเขาดูทีวีมากกว่าคุณหลายเท่า บางคนที่กรุงเทพฯ ยังดูแค่ 6 ช่องฟรีทีวีอยู่เลย ไม่มีเคเบิลด้วยซ้ำ โอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคุณก็เลยจำกัดอยู่แค่นี้

ดังนั้นจึงตลกมาก ถ้าจะบอกว่าคนกรุงเทพฯ รู้อะไรๆ มากกว่าคนต่างจังหวัด คุณจะเห็นว่าในความขัดแย้งรอบนี้ พวกที่มาจากชนบท เริ่มเป็นฝ่ายรุก และนำเสนอสิ่งที่ก้าวหน้ากว่าคนกรุงเทพฯ คำถามคือเขาเอาเรื่องพวกนี้มาจากไหน คำตอบคือเอามาจากจานดำ เขาดู Spring News ดู Voice TV ดังนั้น พวกต่างจังหวัดจึงกลายเป็นคนกำหนดประเด็นขึ้นมา และกลายเป็นประเด็นหลักๆ ในสังคมตอนนี้ เทียบกับวัฒนธรรมของคนกรุงเทพฯ เช้ามาก็ขับรถไปทำงาน ทำงานทั้งวันจนไม่มีเวลา ดึกๆ ก็ต้องไปกินเหล้า กว่าจะกลับบ้านก็เข้านอนพอดี แต่ในขณะที่คนต่างจังหวัดเขามีเวลาอยู่บ้าน นั่งดูทีวีไปเรื่อยๆ เสร็จงานก็นั่งดูทีวี ทำงานก็นั่งดูทีวี การดูทีวีคือการมีคอมมูนิตี้ของเขา เขามีเพื่อนบ้านใช่ไหม เขาก็อาจจะมานั่งดูทีวีด้วยกัน หรืออาจจะแยกกันดู แต่พอดูเสร็จแล้วก็เดินไปมาหาสู่กัน คุยกัน ในชนบทเรื่องการเมืองจึงเข้มข้น วิพากษ์การเมืองแบบดุเดือดเลือดพล่านเลย

จานดำ

จานดาวเทียม ระบบ C-Band เช่นของ PSI DYNASAT IDEASAT THAISAT INFOSAT ATM มีขนาดของจานตั้งแต่ 4.5 ฟุต จนถึง 10 ฟุต ใช้รับชม Free TV และช่องรายการที่ต่างประเทศมาเช่าดาวเทียมจากประเทศไทย ส่งไปยังประเทศของผู้เช่า

GM : ทีวีจานดำให้ข้อมูลข่าวสารได้ดีกว่าอินเตอร์เน็ตอีกเหรอครับ

สมบัติ : ก็ไม่ได้ดีหรือแย่กว่า ผมว่าทีวีนี่ก็แย่อยู่อย่างหนึ่ง คือค่อนข้างมีชุดความคิดที่ยังเป็นของกลุ่มนำ คนที่จะพูดออกทีวีได้ คือคนที่มีความเป็นผู้นำทางความคิด มันไม่เหมือนในอินเตอร์เน็ตที่จะเท่าเทียมกัน ข้อความที่เถียงกันไปเถียงกันมาในอินเตอร์เน็ตมันไม่ปรากฏในทีวี วิธีการเถียง ตรรกะที่ใช้ ก็ไม่เหมือนกันกับที่ออกในทีวี คุณจะได้คนละอารมณ์กัน โอเค คุณอาจจะเชื่อมกันได้บ้าง เชื่อมโยงประเด็นได้ แต่วิธีการเมืองมันไม่เหมือน อย่างเช่นการวิจารณ์จากภายในของผม ก็จะไม่ปรากฏอยู่ในทีวี ไม่มีพื้นที่ให้ผมไปพูด

GM : แต่คุณก็ยังได้ออกรายการสัมภาษณ์ข่าวทางทีวีบ่อยๆ

สมบัติ : น้อยครั้งมาก เวลาก็น้อยมากด้วย เขาเอาผมไปออกเพื่อจะให้คน

ได้เห็นว่า เออๆ อย่างน้อยไอ้พวกนี้ก็ยังพอมีอยู่บ้างในสังคม ซึ่งผมไม่คิดว่าการไปออกทีวีแบบนี้มันจะไปส่งผลอะไร

GM : ทำไมคุณถึงยังให้ความสำคัญกับทีวี ทั้งที่ตอนนี้ สิ่งที่มีอิทธิพลจริงๆ ไม่ใช่สื่อหลักพวกนั้น กลับเป็นพวกอินฟลูเอ็นเซอร์ในเฟซบุ๊ค ในทวิตเตอร์อะไรพวกนี้

สมบัติ : โอ้โห! ไม่ถึงขนาดนั้นมั้ง

GM : อย่างตอนที่คุณออกมาจาก ศปภ. ทุกคนเลิกฟัง ศปภ. ในทีวี แต่กลับเปิดทวิตเตอร์มารออ่านความเห็นของคุณ

ปรเมศวร์ : เรื่องนั้นเป็นอุบัติเหตุมากกว่า ผมกะจะถอนตัวออกไปเงียบๆ แต่มีนักข่าวมาดักรอแล้วก็ขอสัมภาษณ์ไป ผมก็บอกว่าอย่าเลย ขอไปเงียบๆ ดีกว่า แต่บังเอิญวันนั้นพอมีข่าวออกไป ก็มีคนมาหาเรื่องผมทางทวิตเตอร์ด้วย แล้วเราก็เลยเถียงกันในนั้น มันก็เลยกลายเป็นประเด็น ช่วงนั้นคนต้องการข้อมูลข่าวสารเยอะจริงๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าข้อมูลจากทางการไม่ตรงกับความจริงสักเท่าไร เราเลยรอฟังจากเพื่อนในโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็คงมีอิทธิพลอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ผมเองไม่ได้อยากให้คนมาเชื่อ ผมแค่อยากให้คนมาฟัง แล้วไปช่วยกันหาข้อมูลมาเพิ่มด้วยซ้ำ อย่างทวีตล่าสุดของผมเรื่องปัญหาการใช้งานแท็บเล็ต เด็ก ป.1 ผมก็จะบอกว่าฝากนักข่าวตามประเด็นนี้หน่อย ผมเชื่อในเรื่องของการแบ่งปันข้อมูล ผมมีข้อมูลนี้ คนอื่นมีข้อมูลอะไรอีกมั้ย แล้วเราเอามาแชร์กัน สักพักก็จะมีคนเอาข้อมูลอื่นมาแชร์ให้จริงๆ ว่า

พี่เอาอันนี้ไปดู หนูไปหาข้อมูลอันนี้มาได้ ผมเชื่อในการเอาปัญญามารวมหมู่กัน แล้วเราถึงจะเห็นภาพที่แท้จริงว่า อ๋อ! มันเกิดอะไรขึ้น

GM : กลายเป็นว่าประเด็นในสังคม คนในโซเชียลมีเดียกำหนดได้เลยแทนที่จะเป็นนักข่าวหรือสื่อเก่าๆ

สมบัติ : (หัวเราะ) อย่างผมเวลาเข้าทวิตเตอร์ ผมก็จะเข้าไปดูว่ามีใครตั้งประเด็นอะไร ทีนี้คนที่จะตั้งประเด็นได้แล้วส่งผลสะเทือน มันก็ประกอบด้วย 2-3 เรื่อง

1. คุณเป็นใคร

2. คุณมี Follower เท่าไร

3. สิ่งที่คุณเสนอมาน่ะ

คมขนาดไหน แล้วก็ต้องมีองค์ประกอบจากภายนอกด้วย คือสภาพสังคมเราพร้อมรับสื่อใหม่นี้แค่ไหน เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว สังคมเราเก็บสะสมพลังงานมาต่อเนื่องหลายสิบปี เหมือนหญ้าแห้งเต็มที่แล้ว แค่มีประกายไฟดีดลงไปเท่านั้นแหละ ก็จะพรึ่บเลย แล้วก็จะลามอย่างในแอฟริกา เพราะว่าในภูมิภาคนั้นเขาเป็นเหมือนกันหมด เป็นผู้ปกครองทีสามสิบสี่สิบปี สืบทอดกันชั่วลูกชั่วหลาน พอประชาชนโตขึ้นแล้ว คุณไม่มีทางรอดหรอก คือประชาธิปไตยมันเป็นอารยธรรมมนุษยชาติ ไม่ใช่วัฒนธรรมนำเข้าแบบที่คนชอบพูดกันไป มนุษย์ทุกคนจะเริ่มรู้สึกจากอินเนอร์ภายใน ว่าเราเป็นเจ้าของสิทธิของตัวเอง สิทธิไม่ได้มาจากใครมอบให้ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เพียงแต่เพิ่งค้นพบว่า เออเนอะ! กูเป็นนายตัวเองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ใช่เกิดจากตอนที่เจ้านายมาบอกว่าเลิกทาส ทุกวันนี้ผมก็คอยเข้าไปหาประเด็นในนั้น แน่นอนว่าคนเล็กๆ อาจจะไม่สามารถส่งประเด็นออกไปได้ไกล แต่ว่าด้วยพลังของเครือข่าย เราสามารถที่จะช่วยกันได้ สมมุติผมไปอ่านเจอคนเล็กคนน้อยเปิดประเด็นขึ้นมา ผมก็ไปหยิบแล้วมาต่อยอด หรือมาช่วยรีทวีต มันก็เกิดเป็นประเด็น

ปรเมศวร์ : ผมก็ชอบรีทวีต แม้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ผมคิดว่าคนที่โต้ตอบกับผม บางคนอาจจะยังไม่คมพอ หรืออาจจะยังเรียบเรียงไม่ได้ แต่ผมจะรีทวีตเพื่อช่วยเขา แล้วหลังจากนั้น คนอื่นๆ ก็จะเข้ามาช่วยกันต่อยอดให้ความคิดนั้นคมขึ้น คนแรกอาจจะยังไม่คม คนที่ 2 อาจจะคมขึ้น คนที่ 3 เริ่มเข้าเป้าแล้ว เหมือนกับรายการของอาจารย์วีระ ธีรภัทร เวลาผมนั่งแท็กซี่แล้วคนขับชอบเปิด คนฟังก็ชอบโทรฯ ไปให้แกด่า โดนแกด่าแล้วก็จะสบายใจ (หัวเราะ) คือประมาณว่าไม่กล้าตัดสินใจเองหรอก มีเงินอยู่ 10 ล้าน ก็โทรฯ ไปถามอาจารย์ว่าจะเอาไปทำอะไรดี อาจารย์ก็ด่า เงินคุณก็ตัดสินใจเองสิวะ คนโทรฯ มาก็โอเค สบายใจแล้ววันนี้ คือถูกด่าแล้วค่อยคิดได้ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมจำได้ว่าเป็นคนขับแท็กซี่คนหนึ่งโทรฯ เข้าไป

ผมสังเกตว่าถ้าใครโทรฯ ไปในลักษณะอวดเก่ง จะโดนตบคว่ำทุกราย แต่คนที่พูดไม่เก่ง แต่พยายามจะพูด พยายามจะสื่อสาร อาจารย์แกจะช่วยปั้นให้ คือแกจะตั้งใจถามและฟัง พอถามเสร็จปุ๊บ อาจารย์ก็สรุปทวนให้อีกที จนผมฟังแล้วก็รู้เลยว่าเจตนาของอาจารย์เป็นแบบนี้ แกจะช่วยอุ้มความเห็นของคนเล็กคนน้อยขึ้นมา ผมก็รู้สึกว่าวิธีนี้เข้าท่า คือเราอย่าเพิ่งไปบี้ความคิดของคนที่ยังไม่ตกผลึก ไม่อย่างนั้นเขาอาจจะเสียความมั่นใจไปเลย ไม่มาคุยกับคุณอีกเลย ผมก็จะพยายามประคอง เพื่อให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยที่หลากหลาย นี่คือวิธีการเล่นโซเชียลมีเดียของผม

วีระ ธีรภัทร

นักเขียน พิธีกร ผู้บรรยายด้านเศรษฐกิจ และนักจัดรายการวิทยุ

มีชื่อจริงว่า วีระ ธีระภัทรานนท์

GM : ยังมีใครคอยช่วยอุ้มความเห็นของใครด้วยหรือ ผมเห็นบรรยากาศในทุกวันนี้รุนแรงขึ้นทุกทีๆ

ปรเมศวร์ : เด็กสมัยนี้แข่งกันแรง ชอบใช้ความหยาบคายเพื่อเรียกร้องความสนใจ ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นต้องแรง ไม่ต้องหยาบ แล้วคนจะฟัง ตอนเด็กๆ เราอาจจะเคยคิดเคยทำแบบนี้นะ แต่พอตกผลึกสักพัก ก็คิดว่าน่าจะอยู่ที่สารที่เราแสดงออกไปมากกว่า ถ้าสารเราคม ยังไงมันก็ใช่

สมบัติ : โซเชียลมีเดียมีความเป็นกึ่งส่วนตัว กึ่งสาธารณะ จึงยากมากที่เราจะรู้ว่าอะไรแรง อะไรหยาบ มันมีความเป็นพื้นที่ส่วนตัวอยู่ในโลกของเขา ที่เราเข้าไปไม่ได้ อันนี้ก็เป็นบทเรียนที่ผมเรียนรู้เมื่อตอนผมยังละอ่อนอยู่ สมัยนั้นไปทะเลาะกับพวกหลุดโลกบอร์ด ก็เลยโดนทั้งโลกอินเตอร์เน็ตกระทืบเอาเลยนะ หนักเลย คือพวกหลุดโลกยุคนั้นมันไม่มีกรอบ ยกเว้นเรื่องเดียวคือเรื่องสถาบัน นอกนั้นคุณจะเอารูปโป๊ห่าเหวอะไรไปใส่ได้หมด หยาบคายด่าทอยังไงได้หมด ผมก็เข้าไปด่าพวกเขาเรื่องการโพสต์รูปโป๊เด็กผู้หญิง ก็เลยถูกด่ากลับมาว่าเป็นพวกจริยธรรมสูง ทำเป็นไม่เคยดูหนังโป๊อะไรพวกนี้ มันก็เปรียบเหมือนกับทุกวันนี้ เรามีทวิตเตอร์เป็นของเรา เราอยากเขียนอะไร มันก็เรื่องของเราใช่ไหม เวลามีคนมาบอกว่าไม่ควรเขียนเรื่องนี้ ผมก็จะงง เอ้า! ไม่ควรเขียนยังไง ไม่มีสิทธิ์เขียนหรอ นี่ทวิตเตอร์กู ไม่ชอบกู ก็ไม่ต้อง Follow สิ นี่มาตามอ่าน แล้วก็มาวิจารณ์ว่าไม่มีสิทธิ์จะเขียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ นึกภาพออกมั้ย เทียบกับเมื่อก่อน โลกใต้ดินกับบนดินแยกกันชัดเจน เพราะทุกเว็บมี URL ต่างหาก

บางคนก็จะมีล็อกอิน ทำระบบป้องกัน หรือคุณจะรู้ว่าคุณเข้าไปในเขตอโคจรโดยผ่าน URL ฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรมจะไม่ไปยุ่มย่าม เมื่อก่อนก็เลยไม่มีการรวบรวมสมัครพรรคพวกถือดาบแห่งธรรมะ แล้วบุกเข้าไปในถ้ำพวกมาร ไอ้พวกนี้ต้องฆ่ามันให้หมด พวกโจรก็เหมือนกัน เขามีสิทธิ์อยู่ในที่ของตัวเอง แต่ถ้าวันหนึ่ง พวกหลุดโลกเข้าเมืองไปด่าพวกในพันทิปดอตคอมอย่างหยาบคาย แบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะพันทิปเป็นโลกบนดิน เมื่อก่อนมันเป็นแบบนี้ แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ เราไม่มีการแบ่งแยกแบบนั้น บางเรื่องถ้าคุณแหลมเข้าไป คุณพลาดแล้ว นั่นไม่ใช่ที่ที่เข้าไปได้ คุณเข้าไปละเมิดความเป็นบุคคลนั้นไม่ได้ ขอโทษนะ ถ้าเขาจะให้_วย ให้อะไร มันเป็นเรื่องของเขา เรายุ่งไม่ได้

GM : พูดง่ายๆ คือไม่ควรเข้าไปคอมเมนต์ฝ่ายตรงข้าม

สมบัติ : ถ้าเป็นเฟซบุ๊คล่ะก็ชัดเจนว่าใช่ เพราะจะมีความเป็นดินแดนของตัวเองอยู่ คือมีหน้าวอลล์ส่วนตัวของแต่ละคน ทุกคนมีพื้นที่ส่วนตัว แต่ถ้าเป็นทวิตเตอร์นี่แทบจะไม่มีดินแดนส่วนตัว ดังนั้นถ้าเป็นเรื่องการเมือง คนจึงพร้อมที่จะเข้ามาปะทะกัน เพราะวัฒนธรรมในทวิตเตอร์คือการตีแผ่ออกมาให้คนอื่นเห็นพร้อมกันหมด แค่ Mention ถึงกันก็รู้กันหมด หรือบางทีไม่ได้ Mention เลยด้วยซ้ำ แต่มันคุยกันได้ยังไงก็ไม่รู้ เราเห็นบนหน้าไทม์ไลน์บ่อยๆ ใช่ไหม สองคนนี้มันทะเลาะกันไปๆ มาๆ ไม่ได้ระบุชื่อเลยนะว่าพูดถึงใคร พูดกับใคร แต่ทะเลาะกันได้รู้เรื่อง ตลกมากเลย

GM : พวกแฟนเพจในเฟซบุ๊ค ที่พูดคุยกันด้วยคำหยาบ เราก็ตำหนิเขาไม่ได้ใช่ไหม

ปรเมศวร์ : มันเป็นรูปแบบความบันเทิงของคนรุ่นนี้ด้วย สมัยก่อนเราอาจจะดูการ์ตูนมิคกี้เมาส์ วอลท์ ดิสนีย์ แต่การ์ตูนสมัยนี้ ดูภาพการ์ตูนในเพจ 9GAG สิ วาดก็ไม่สวย เป็นการ์ตูน Rage Comic แต่เนื้อหามันโดน คนก็ชอบ มีคนไทยมาทำเลียนแบบก็ดังเหมือนกัน ไม่ต้องสวย เอารูปนู้นรูปนี้มายำ แต่มาทันเวลาพอดี แล้วก็จะเจอหลายเว็บทำแบบนี้ อย่าง ‘ความในใจของ

ไอ้นั่น’ เอาไอ้โน่น ไอ้นี่ มาคิดดังๆ คนก็จะเฮฮากัน คือไม่ต้องสวย คนไม่ได้พอใจกับอะไรที่ต้องประดิษฐ์มาอย่างดี สวย เนี้ยบ แต่ขอให้โดน

สมบัติ : ผมถึงบอกไง ว่าความหยาบขึ้นกับบริบทด้วย ทำไมภาพโป๊จึงถือว่าลามก แต่ทำไมคุณนอนกับภรรยาไม่ถือว่าลามก ในกลุ่มเพื่อนที่สนิทกันมากๆ เรียกกูมึงกัน ด่ากัน ก็ไม่ถือว่าหยาบ แต่ถ้าอยู่ดีๆ ในทวิตเตอร์ ผมไปเรียกปรเมศวร์ว่ามึง แบบนี้เดี๋ยวจะมีปัญหาแล้ว อยู่ดีๆ คนไม่รู้จักกันมาเรียกกูเรียกมึงในทวิตเตอร์ ผมก็สงสัยว่ากูไปเป็นเพื่อนมึงตอนไหน

เขาก็บอกว่าคำว่ามึงไม่หยาบนะ แหม! ทำไมดัดจริตเหลือเกิน ผมว่าเราต้องดูบริบทด้วย อย่างคำว่า ‘สัส’ ไปอยู่ในเพจ ‘โหดสัส’ ของพวกเขา อยู่ในที่ของมัน ก็เป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้กรอบอะไร

GM : เพจตลกๆ หยาบคายเหล่านี้มีเยอะมาก ในขณะที่เพจที่มีสาระ ที่จะทำให้เราเห็นความหวังของการเมืองภาคประชาชน กลับยังไม่เห็นมี เลยครับ

สมบัติ : แน่นอนว่าเราใช้เทคโนโลยี เพราะว่าบันเทิง สนุก มันนำพามนุษย์เข้าสู่ความสุข แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือเราจะหาวิธีใช้งานอย่างมีสาระอย่างไร วันก่อนยังคุยกับนักการเมืองคนหนึ่ง ว่าในโซเชียลมีเดียมีประชาชนจะเสนอความคิดเห็นกันเต็มไปหมดเลย ปัญหาคือเราจะเสนอไปทำไม ในเมื่อรู้อยู่ว่ารัฐบาลไม่เอาไปทำ แต่ถ้ากลับกันนะ ถ้ามีพรรคการเมืองสักพรรคที่บอกว่าเขามารอรับฟังสิ่งเหล่านี้ แล้วนำไปสู่การเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง แบบนี้จะกลายเป็นเรื่องเลย พรรคการเมืองนั้นอาจจะชนะขาด ครองรัฐบาลไปเลยเป็น 20 ปี แค่ปรับแค่นี้เอง ทำให้เสียงประชาชนกลายเป็นเสียงพระเจ้าจริงๆ ฟังเขาสิ แล้วจะได้รู้ว่าต้องไปช่วยเขาอย่างไร ถ้าได้แบบนี้ รับรองว่าประชาชนจะรีบกลับไปเขียนเฟซบุ๊คกันฉิบหายเลย เพื่อจะได้ล็อบบี้

นักการเมือง เพื่อผลักดันสังคมให้เป็นไปตามที่เราต้องการ ไม่ใช่แค่มานั่งเถียงกันไปมา ทะเลาะกันทางการเมืองนะ แต่ผมหมายถึงทุกเรื่องในสังคม การเสนอแนะแนวทางใหม่ๆ หมาทุกตัวต้องติดไอดี ปล่อยทิ้งไม่ได้ หมาควรถูกเอาไปทำหมัน ขยะของเราต้องรีไซเคิล อะไรพวกนี้เลย

ปรเมศวร์ : เมื่อ 3-4 วันก่อน ผมไปนั่งกินข้าวกับอดีตนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง มาจากทั้งสองฝั่งเลยนะ ผมก็ถามดื้อๆ เลยว่า อะไรที่จะทำให้นักการเมืองฟังประชาชน ถ้าเรามีข้อเสนอดีๆ เขาก็ตอบมาทันทีเลย เขาไม่ฟังคุณหรอกครับ

สมบัติ : (หัวเราะ) พูดงี้เลยเหรอ

ปรเมศวร์ : คือไม่ว่าจะดีแค่ไหน เขาไม่ฟังหรอก แต่ถ้าเป็นอะไรก็ตาม ที่จะทำให้เขาแพ้หรือชนะเลือกตั้งครั้งหน้า อันนี้เขาจะฟัง ก็เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่แค่พรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องข้อเสนอประชาชนอย่างเรา ไปทำเวิร์กช็อปตรงนั้นที ตรงนี้ที บ่นยังไงก็ตาม มันเป็นเรื่องอันดับสอง สิ่งที่เรายังติดกันอยู่คืออำนาจนิยม ทุกคนต้องแย่งกันเข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อใช้เงินภาษี แล้วไปสร้างชื่อเสียงให้พรรคตัวเอง แล้วก็ติดตราแบรนด์ของตัวเอง ว่านโยบายนี้ฉันเป็นคนคิดนะ ไม่ใช่เธอคิด ไม่ใช่มาจากประชาชน เป็นนโยบายที่ผู้นำของเราคิดขึ้นมา ในขณะที่ประชาชนก็รู้สึกเหมือนว่าเราได้รับนะ พอรู้สึกอย่างนี้ ก็จะกลายเป็นเรื่องบุญคุณกัน จะต้องรู้สึกว่าได้รับอะไร เป็นของ เป็นเงิน เป็นทุน อะไรสักอย่าง แล้วคราวหน้า

ฉันจะเลือกคนนี้ เพราะเลือกคนอื่นฉันไม่ได้รับอย่างนี้ ถามผมว่าดีมั้ย มันก็ดี แต่ดีแค่ในระดับหนึ่ง สิ่งที่ดีที่สุดจริงๆ เราอยากให้เกิดพลังในภาคประชาชน คือรับฟังพวกเราแล้วไปทำนโยบายที่มันตรงจริงๆ ไม่ใช่ให้เรารู้สึกว่าได้รับการอุปถัมภ์ เราก็แค่หนีจากการอุปถัมภ์แบบหนึ่ง ไปสู่อีกอุปถัมภ์หนึ่ง

GM : นี่คือมุมมองแบบพวกเสื้อเหลืองเลยนี่ครับ เกลียดนักการเมืองและไม่เชื่อในระบบการเลือกตั้ง

สมบัติ : (หัวเราะ) ก็ต้องยอมรับกันว่าเป็นเรื่องจริง ผมเห็นด้วยกับปรเมศวร์ ผมอยากจะแบ่งการเมืองของบ้านเราเป็น 3 ยุค เพื่อให้ล้อกับเรื่องเว็บ 1.0 หรือ 2.0 คือตอนนี้เรามีระบบปฏิบัติการอยู่ 2 ระบบในประเทศไทยตอนนี้

คือระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า อำมาตย์ 1.0 ระบบนี้เชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี มีความคิดดี สิ่งที่คิดดีแล้ว เอาไปทำสิ ไม่ต้องคอมเมนต์ ไม่ต้องพูด ต่อมา ผมขอเรียกว่านักการเมือง 2.0 ซึ่งผู้มีอำนาจการเมืองก็คิดมาให้นั่นแหละ แต่เขาก็จะฟังคุณ เปิดให้คอมเมนต์นะ เหมือนเว็บ 2.0 ไม่ชอบอย่างนู้น อย่างนี้ แล้วนักการเมืองก็เป็นคนรันงานนี้ต่อไป คอนเซ็ปต์ที่ผมกำลังคิดอยู่ในตอนนี้ ผมขอเรียกว่า ประชาชน 3.0 ประชาชนเป็นคนตั้ง อยากเห็นอะไรก็ตั้งเลย รวมกลุ่มกันผลักดัน นักการเมืองเป็นเพียงตัวแทนเข้าสู่อำนาจรัฐ เพื่อไปสนับสนุนเจตจำนงของประชาชน สิ่งที่เราอยากเห็นก็คือประชาธิปไตย และแนวโน้มก็ควรเป็นประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราไม่มีช่องทางเทคโนโลยีให้คนมารวมกันแบบนี้ ด้วยเงื่อนไขแล้วเป็นไปได้ มันไกลทั้งพื้นที่ และมีต้นทุนมหาศาลกว่าจะผลิตได้ แต่เมื่ออินเตอร์เน็ตมาถึงจุดนี้ มันทำให้เรารวมตัวกันได้ง่าย และเราตั้งลูกขึ้นมาได้เอง ตอนนี้ที่ติดขัด คือฝ่ายการเมืองที่ยังตั้งลูกเองอยู่ เป็นนักการเมือง 2.0 แบบนี้เขาเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบรับเหมาทำ คือคุณเลือกเราเถอะ เดี๋ยวหลังจากนั้นเราจะทำให้เอง ไม่ต้องห่วง แล้วก็บังเอิญว่าเที่ยวที่แล้ว เราได้คนอย่างทักษิณ ชินวัตร เข้ามารับเหมาทำ

ซึ่งก็เลยมีคนทั้งชอบและไม่ชอบ กระแสที่เคลื่อนออกมาทั้งเหลืองทั้งแดง มันมีจุดร่วมเดียวกัน คือประชาชนต้องการมีส่วนร่วม และมีปัญหาความรุนแรง ก็เพราะคนในอำนาจไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะพรรคไหนก็ตาม ต่อไปพรรคการเมืองใดที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ เป็นพรรคการเมืองที่จะทำการปฏิวัติ แต่ไม่ใช่ถึงขนาดที่โค่นล้มระบอบเดิมนะ แต่มันคือแรงเหวี่ยง นำไปสู่การเปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนไปสู่ยุคอีกหนึ่ง และก็แน่นอนว่าพรรคการเมืองพรรคเดียว จะไม่สามารถปฏิวัติได้ขนาดนั้น เขาไม่มีทางผลิตเรื่องแบบนี้ออกมาได้เอง เขาจึงต้องออกมากวาดหาประเด็นจากประชาชน หรือจากเอ็นจีโอ เพื่อเอาไปตั้งลูก ที่ผ่านมาก็เคยมีความพยายามจะทำเรื่องนี้กันมาพอสมควร แต่พอเกิดปัญหาความรุนแรงขึ้น คนที่เคยทำงานอยู่ข้างหลังก็ลำบาก มือไม้เขาถูกตัดขาดไป พวกที่เคยร่วมมือกันก็แตกแยกไปอยู่อีกปีกหนึ่ง ส่วนคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาใหม่ ก็ต้องรอจังหวะ มันไม่ง่ายเลยนะ เข้าไปต้องเปลืองตัวแสนสาหัสเลย การสู้รบของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค

ทำให้โครงสร้างภายในของแต่ละพรรคถูกทำลายไปด้วย ทำให้คนเก่งของแต่ละพรรคถูกกลาย ผมว่าคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นคนเก่งของฝ่ายนั้น แต่ฐานะของอภิสิทธิ์ในประชาธิปัตย์ก็กำลังย่ำแย่มาก กว่าจะรื้อฟื้นกัน กว่าจะเกิดเสถียรภาพ ก็ต้องดูกันในระยะยาว ถ้าคุณเห็นพรรคเพื่อไทยได้อยู่ต่อเนื่องไปจนหมด 1 ยุค ในช่วงปลายเทอม เราอาจจะเห็นศักยภาพของเขาที่เริ่มฟอร์มตัวกลับได้ นี่ผมไม่ได้พูดเอาใจรัฐบาลเพื่อไทยนะ ผมคิดแบบนี้จริงๆ

GM : ฟังคุณพูดแล้วทำให้นึกถึงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนที่อินเตอร์เน็ตเริ่มเข้ามาในบ้านเราใหม่ๆ คุณทำเว็บไซต์เอ็นจีโอมากมาย ผมจำได้ว่าคุณก็เคยพูดไว้ ว่าเมื่อมีอินเตอร์เน็ตจะเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ 10 ปีผ่านมา คุณกำลังพูดเหมือนเดิมตอนนั้นเลย

สมบัติ : ก็แน่นอน เพราะว่านักการเมืองยังไม่เปลี่ยน แต่คุณไม่เห็นเหรอ ว่าผู้คนน่ะเปลี่ยนไปแล้ว นักการเมืองเปลี่ยนช้ากว่าพวกเราอยู่แล้ว อย่างที่มีคนพูดไว้ นักการเมืองจะเป็นผลผลิตของคนเลือกตั้งใช่มั้ย ก็นี่แหละ เมื่อเราเปลี่ยนแล้ว อีกไม่นานนักการเมืองจะต้องเปลี่ยน ผมเชื่อว่าเมื่อเวลามาถึง ถ้าคุณยังขัดขวางวิวัฒนาการนี้ คุณก็จะถูกแรงดันผุดขึ้นมาจากข้างล่าง

GM : รากฐานที่สุดของสังคมมันคือเทคโนโลยีหรือเปล่าครับ

สมบัติ : ไม่ใช่ ประชาชนต่างหากล่ะที่เป็นรากฐานของสังคม โดยเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเปลี่ยน

ปรเมศวร์ : เอาเป็นว่ามนุษย์เราจะเปลี่ยนไปตามการค้นพบใหม่ๆ ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเมื่อก่อนมนุษย์เอาหินมาทำเป็นแหลมๆ แล้วก็ใช้ล่าสัตว์ได้ มนุษย์เป็นสัตว์ไม่มีเขี้ยวเล็บ เราเป็นนักล่าที่แย่ แต่พอมีก้อนหินแหลมคม เราก็เริ่มล่าเป็น ต่อมาอีกสักพัก ก็เริ่มคิดได้ว่าล่าแล้วเหนื่อย เอาสัตว์มาเลี้ยงดีไหม เริ่มทำเกษตรกรรมดีไหม คนก็เปลี่ยนอีก ตอนที่มนุษย์เริ่มจุดไฟเป็น วิธีบริโภคของเราก็เปลี่ยนจากดิบเป็นสุก แค่นี้คนก็เปลี่ยนแล้ว แต่ทั้งหมดทั้งปวง ผมมองว่าสิ่งที่ทำให้คนเปลี่ยนมากที่สุดคือภาษา ภาษาเป็นเครื่องมือที่สุดยอดมาก ถ้าไม่มีภาษา ผมรู้อะไร ผมก็บอกคุณไม่ได้ ถ่ายทอดออกไปไม่ได้ ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคุณได้ แต่พอมีภาษาปุ๊บ คราวนี้เป็นเรื่องเลย ยิ่งมีแท่นพิมพ์ขึ้นมาอีก ทุกคนก็จะขายความคิดของตัวเองได้ เผยแพร่ออกไปพร้อมกันพรวดเดียว พอคนอื่นเริ่มคิดคล้ายๆ กัน ทีนี้ก็สบายแล้ว อยากทำอะไรก็ทำได้ เพราะความคิดเราจะมีพลังมากขึ้น จนตอนนี้เรามีสื่อต่างๆ มากมายกว่าแท่นพิมพ์ โซเชียลมีเดีย

ทำให้ใครๆ ก็ปล่อยความคิดออกไปได้ มันก็อยู่ที่ว่าคนที่มีทักษะในการใช้

สิ่งนี้มากๆ มีทักษะในการควบคุมเครื่องมือนี้มากๆ เขาก็จะได้เปรียบมากกว่าคนอื่น เมื่อก่อนผมขว้างหอกได้ไกลกว่าคุณ ผมก็ล่าสัตว์ได้มากกว่าคุณแล้ว มาวันนี้ สมบัติอาจจะมีวิธีทวีตตามแบบฉบับของเขา พอทวีตปุ๊บ คนอื่นก็แห่มาร่วมม็อบกันเต็มเลย

GM : ประสบการณ์ที่พวกคุณสั่งสมมาหลายยุคนะ ตั้งแต่ยุคของเว็บพอร์ทัล เว็บบอร์ด ฯลฯ ทำให้พวกคุณได้เปรียบคนอื่นใช่ไหม เทียบกับเด็กสมัยนี้ เกิดมาปุ๊บก็เจอเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์กันเลย

ปรเมศวร์ : พูดยากนะ ว่าพวกเราจะเก่งกว่าเด็กสมัยนี้ อย่างเพจ ‘ศาสดา’ หรือเพจ ‘โหดสัส’ ผมเดาว่าคนทำคงเป็นเด็กวัยรุ่นอยู่เลย แต่เขามีสาวกเยอะกว่าผมอีก ตอนนี้เฉียดแสนแล้ว ไม่ธรรมดา เขาก็เป็นผู้นำความคิดของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผมไม่รู้ว่าผู้คนเหล่านั้นไปเชื่อเขาได้ยังไง อย่างศาสดา พอจะขายหนังสือ ก็ให้คนโอนเงินไปก่อน แล้วค่อยเอาหนังสือทีหลัง คือคุณ

เป็นใครก็ไม่รู้ แต่ผมยอมโอนเงินให้คุณ ทั้งที่ยังไม่เห็นของเลย ยังไม่รู้รายละเอียดของเลย และก็ไม่ใช่ว่าทุกๆ อย่างที่เขาเขียนจะเชื่อได้ไปซะทั้งหมดด้วยนะ

GM : ศาสดานี่น้ำเสียงเป็นเสื้อแดงเลยนะ

สมบัติ : ก็คิดว่าออกแดงนะ แต่ผมไม่ค่อยได้ตามอ่านเขา เพราะผมใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ และผมชอบบุญมี บุญมีอยู่ในทวิตเตอร์ ผมอ่านเพราะความตลกของเขาเท่านั้นเอง

ปรเมศวร์ : ผมเห็นเพจพวกนี้ที่เปิดๆ กันมา ก็เข้าใจได้เลย เขาคิดเหมือนพวกนักโฆษณา ในวงการเขารู้กันว่าถ้าคุณต้องการขายอะไรสักอย่าง ถ้าคุณไม่เสียดสี คุณก็ต้องตลก หรือไม่ก็ต้องขู่ให้กลัว เช่นจะขายแก้วใบนี้ จะทำยังไงดี คนหนึ่งบอกว่าตลกดีกว่า คนจะได้บันเทิง แล้วจดจำสินค้าได้ ผมว่าบุญมีเข้าข่ายนี้ คือขายความคิดผ่านกระบวนการตลก หรือยกตัวอย่างการเสียดสีก็ได้ โฆษณาไหนเสียดสี เรารู้สึกสะใจ เราก็จำสินค้าได้ ลุงบุญมีนี่ก็ผสมเสียดสีกับตลก ตลกเพื่อให้คนกลืนได้ง่ายๆ ถ้าเสียดสีอย่างเดียวมันจะกลืนยาก ศาสดาก็เหมือนกัน เขาจะตลกด้วย เสียดสีด้วย เป็นวิธีการของการโฆษณาตามปกติ

สมบัติ : แต่ผมไม่คิดว่าบุญมีทำเพื่อการตลาดนะ ผมคิดว่าเขาทำเพราะสนุกของเขาเอง คือเนื่องจากเขาไม่ได้ขายอะไร ยกเว้นกรณีศาสดาที่อ้อมมาขายหนังสือในตอนหลัง แต่ผมไม่เชื่อว่าศาสดามาเล่นเฟซบุ๊คเพราะต้องการขายหนังสือตั้งแต่แรกหรอก อันนั้นคงเป็นผลพลอยได้ ศาสดาเท่าที่ผมเคยอ่าน สิ่งที่เขาทำได้ดี คือเขาทำให้เกิดการฉุกคิด คุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่คุณจะฉุกคิดขึ้นมา ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดีมาก แม้แต่คนอื่นๆ ที่ผมคุยด้วยแล้วเขาคิดต่างกับผมนะ เขาก็ช่วยทำให้ผมฉุกคิด แม้ว่าผมจะยังยืนยันประกาศความคิดเหมือนเดิม แต่เมื่อได้ฉุกคิดขึ้นมาบ้าง ก็จะทำให้ความสามารถในการคิดของเราถูกขยายออก และมีมิติมากขึ้น จริงๆ ถ้าเราสามารถสร้างวัฒนธรรมฉุกคิดขึ้นมาได้ ว่าเรื่องนี้จริง เรื่องนี้ยอมรับว่าผิด เรื่องนี้ถูกอยู่แล้ว แต่โอเคยอมรับว่าคนอื่นไม่เห็นด้วย ถ้าเรามีกระบวนการฉุกคิดแบบนี้เยอะๆ มันจะทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ จะทำลายการเมืองแบบสุดโต่งลงได้

GM : การที่คุณวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มเสื้อแดงซึ่งเป็นพวกเดียวกันเอง ก็เป็นการฉุกคิด และจะช่วยให้ลดความสุดโต่งลงได้ด้วยใช่ไหม

สมบัติ : กลุ่มคนที่ผมคุยด้วยส่วนใหญ่เป็นพวกคนชั้นกลาง ผมคุยตรงนี้ได้ดีกว่า ผมเชื่อว่าถ้าทำความเข้าใจกับคนชั้นกลางได้ เรื่องนี้จะจบเร็ว

GM : คนชั้นกลางไม่เข้าใจอะไร

สมบัติ : อย่างที่เล่าสมมุติฐานในเรื่องการดูทีวี ผมคิดว่าปัญหาสำคัญคือคนชั้นกลางรู้จักคนชนบทอย่างไร เวลาไปเที่ยวก็ไปแบบฉิ่งฉับทัวร์ ผิวๆ เที่ยว 9 วัด ถ่ายรูปลงอินสตาแกรม ทวีตว่าอากาศหนาวดีจังเลย หนาว อูยยย! อยากไปสัมผัส ผมเคยไปทำงานกับชาวบ้านที่เชียงราย มันหนาวจนเหมือนผมนอนอยู่ในตู้เย็น หลังจากวันนั้น ทัศนคติที่ผมเคยมีกับหน้าหนาวเปลี่ยนไปเลย พวกเราก็ดีใจว่าหนาวดี อยากใส่เสื้อหนาว แต่ขอโทษนะ โลกทัศน์แบบนี้เป็นปัญหาของคนชั้นกลาง คุณไปดูถูกว่าชาวบ้านได้กองทุนหมู่บ้าน แล้วเอาไปซื้อโทรศัพท์มือถือกับมอเตอร์ไซค์ ผมรู้สึกว่าการวิจารณ์แบบนี้งี่เง่า ผมรับไม่ได้ ผมอยู่กับชาวเขาที่อพยพจากบนเขามาอยู่ข้างล่าง เป็นชาวเขาที่ติดแผ่นดินแล้ว การเกษตรตรงนั้นไม่มีอะไรทำ เขาดำรงชีวิตด้วยการไปรับจ้างทำการเกษตรที่อื่น เขาจึงต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปรับจ้างทำงาน มอเตอร์ไซค์จึงเป็นปัจจัยการผลิต มันไม่ได้สวยงามอย่างที่คุณถามว่า ทำไมชาวบ้านไม่ขี่ควายไปไถนา

GM : ทุกวันนี้คุณกลับมาอยู่กรุงเทพฯ เวลาเดินไปไหนมาไหนก็ต้องได้เห็น คนชั้นกลางมากมาย แล้วรู้สึกยังไงบ้างครับ

สมบัติ : ตอนอายุสัก 30 กว่าๆ ผมสุดโต่งมาก รู้สึกว่ากรุงเทพฯ งี่เง่า คนพวกนี้งี่เง่า เอาแต่ประโยชน์ตัวเอง ไม่คิดถึงคนอื่น แต่ตอนนี้ผมก็เปลี่ยนไปแล้ว ผมมองว่านี่เป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่ง และหน้าที่ของพวกเราก็ไม่ใช่การหนีไปขุดรูอยู่ที่อื่นไกลๆ หรือไปสร้างยูโทเปียที่สมบูรณ์แบบ เมื่อก่อนผมถึงกับจัดงานบ๊ายบายแบงค็อกกันเลยนะ แล้วก็ไปอยู่บนเขา สร้างเป็นอาณาจักร แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายผมก็ได้คำตอบกลับมาว่าสังคมเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ มันไม่จริงเลยที่คุณสามารถหลีกเร้นไปทำอะไรคนเดียว แล้วเรียกว่านั่นคือชีวิตที่ปกติ

ปรเมศวร์ : คนชั้นกลางเราถูกสปอยล์ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ด้วยโอกาสที่ดีกว่า อย่างเทคโนโลยีมากมาย ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมที่กว้างขึ้น คนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและข้อมูลข่าวสารก็จะได้โอกาสมากขึ้น คนชนบทก็จะเสียโอกาสไป ถ้าถามผมแบบสุดโต่ง ผมก็อยากปฏิวัติประเทศนี้ เพราะดูทรงแล้ว มันไปต่อไม่ได้แล้ว มันควรจะมีพรรคการเมืองปฏิวัติ หรือตั้งชื่อว่าอะไรก็แล้วแต่ มาพลิกให้ประเทศนี้กลายเป็นประชาชน 3.0 จริงๆ อย่างที่คุณสมบัติใช้คำเรียก

สมบัติ : เวลามีข้อเสนอทางการเมืองขึ้นมาในตอนนี้ ถ้าชนชั้นกลางอาศัยชุดความคิดแบบดูถูกคนชนบทแบบนี้ขึ้นมา จะถูกโต้อย่างรุนแรง เราสามารถโต้อยู่แล้ว ชุดความคิดแบบนี้ไปต่อไม่ได้ คนพูดจะถูกล้อเลียน อย่างซูโม่ตู้ (จรัสพงษ์ สุรัสวดี) ที่ดูถูกคนต่างจังหวัด เขาเองก็จะต้องเป็นฝ่ายที่ถูกล้อเลียนบ้าง คือคุณพูดได้ แสดงความเห็นได้ แต่ความคิดคุณไม่ใช่ความคิดนำอีกต่อไป

GM : ความคิดนำที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างไร

สมบัติ : ก็คือการเข้าถึงอำนาจ แล้วเข้าไปเปลี่ยนแปลงเลย มันก็จะส่งผลสะเทือนมา อีกแบบก็คือเริ่มต้นก่อการจากภาคประชาชน ทำสิ่งที่ภาคประชาชนทำกันเองได้ ทำไปเลย รวมกลุ่มทำกันเองก็ได้ แต่ในความเป็นจริง ถ้าลิงค์กันได้ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะบางครั้งเมื่อคุณเล็กกว่า พอเจออำนาจรัฐเขาออกกฎหมายมาคลิกเดียวว่าคุณทำไม่ได้ คุณตายเลยนะ เช่น คุณจะรณรงค์ทำพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ คุณจะจัดสรรพื้นที่ใต้ทางด่วน ปิดถนนทำถนนคนเดินศิลปะ คุณจะสร้างเขตพื้นที่ปั่นจักรยาน เรื่องพวกนี้คุณต้องเข้าไปแตะอำนาจรัฐด้วย แต่คำถามคือคนอย่างพวกเรา ใครล่ะที่จะเข้าสู่อำนาจรัฐ พวกหัวก้าวหน้าเก่งๆ กว่าผมเยอะแยะ พอเข้าสู่อำนาจรัฐก็ถูกดูดถูกกลืน มีเหลืออยู่บ้างบางคนที่เป็นเอ็นจีโอหัวซ้ายเก่า บางคนอยู่ในปีกเพื่อไทย เขาก็ยังแข็งขันอยู่ อย่าง ภูมิธรรม เวชยชัย คุณไปเรียกเขาเสี่ยอ้วนๆ เขาไม่ได้เป็นนักการเมืองแบบที่เราชอบวิจารณ์ เวลาเรามองนักการเมืองเราก็มองมันเป็นก้อนๆ เลยว่าต้องเป็นแบบนี้ เวลาเข้าไปคุยแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมก็คุยอยู่กับก๊วนนี้แหละ ภูมิธรรม จาตุรนต์ (ฉายแสง) พันศักดิ์ (วิญญรัตน์)

ตอนนี้ผมกำลังคิดว่าแทนที่เราจะเข้าไปสู่ใจกลางของอำนาจ ไปมีอำนาจเอง แต่ทำไมเราไม่ไปทำงานเป็นล็อบบี้ยิสต์ล่ะ เป็นตัวแทนเพื่อนๆ อย่างวันก่อนผมไปเจอพี่สุนี ไชยรส พี่เขาก็บอก หนูหริ่งๆ รัฐบาลนี้แย่มาก ประเด็นชาวบ้านไม่ยอมทำต่อแล้ว ผมก็บอกเขา เหรอพี่ เดี๋ยวผมเอาประเด็นนี้ส่งไปให้พี่ภูมิธรรมให้ เทียบกับสมัยประชาธิปัตย์ ผมว่านั่นก็ทำได้ดีนะ ตอนประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มีเอ็นจีโอเข้าไปเยอะมาก จริงๆ ทรงประชาธิปัตย์นี่เหมาะกับคนชั้นกลางมากเลยนะ เพียงแต่ว่าเขาหื่นอำนาจเกินไป ทำให้เสียจังหวะ เขาควรจะเป็นพรรคที่สังคมไทยเรียกร้อง เมื่อถึงยุคหลังทักษิณ คือถ้าทักษิณไปตามกระบวนการปกติ ตอนนี้อภิสิทธิ์จะได้เป็นฮีโร่แล้ว แต่ตอนนี้กลายเป็นว่ามือเปื้อนเลือด เพราะจังหวะเขมาผิดเวลา แต่ตอนที่เขาเป็นรัฐบาลดีนะ รับฟังเอ็นจีโอ ผมว่าเขาฟังมากกว่าเพื่อไทยมากๆ เลยด้วย หลายเรื่องที่เสนอเข้าไปจนเกือบผลักดันได้แล้ว หลายเรื่องก็ผลักจนออกมาได้ อย่างเรื่องที่ผมว่าดีที่สุดคือโฉนดชุมชน

ปรเมศวร์ : เรื่องโฉนดชุมชนนี่ผมว่าประชาธิปัตย์ปาดหน้าเค้กไปหน่อยนะ สิ่งที่ประชาธิปัตย์ชอบทำ คือเขาจะชอบแต่งให้มันดูเหมือนว่าเป็นเรื่องของเขา ที่จริงแล้ววิธีการที่ไปช่วยสนับสนุน โดยไม่ไปตะครุบเป็นของตัวเองมันจะดูสวยกว่าไหม

สมบัติ : ผมว่านี่เป็นปัญหาทั้งสองฝ่ายนะ ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายการเมือง ปัญหาของเอ็นจีโอในตอนนี้ คือเรามีอคติต่อฝ่ายการเมืองแรงไป เราต้องจูนทั้งคู่ คุณต้องให้เกียรติว่างานนี้เราทำร่วมกัน ฝ่ายการเมืองก็ต้องแสวงหาคะแนนเสียงแหงๆ อยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนแนวคิดของทางภาคประชาชนไปด้วย อย่างกรณี 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าหมอหงวน (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ไม่ตาย ชื่อเสียงของหมอหงวนก็คงไม่ Public ขนาดนี้

และในที่สุด มันกลายเป็นว่าเรื่องนี้เป็นเครดิตของทักษิณกับหมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) ไปหมด แต่ถามว่าทักษิณกับหมอเลี้ยบควรได้รับเกียรติไหม ผมว่าเขาควรได้รับ ในฐานะที่ทำให้เป็นนโยบายของรัฐ แต่กลุ่มหมอหงวนคือผู้เป็นรากฐาน เหตุที่เอ็นจีโอไทยมีปัญหากับรัฐ มันเป็นทรรศนะที่เกิดขึ้นมาหลังจากฝ่ายซ้ายออกจากป่า เป็นความรู้สึกติดพันออกมา คนเหล่านี้มีพัฒนาการมาจากการเกิดขบวนการปฏิวัติ มีทรรศนะล้มล้างรัฐ แย่งชิงอำนาจรัฐ หลังจากป่าแตกแล้วทรรศนะนี้ก็ยังติดออกมา สังเกตว่าพวกฝ่ายซ้ายที่อยู่บนเวที พูดด้วยท่วงทำนองเดียวกันหมด คือการยึดอำนาจรัฐทั้งนั้น แล้วท่วงทำนองนี้ก็ถูกถ่ายทอดมา ซึ่งจะทำให้คุณไม่มีวันเข้าใจรัฐ ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจ ความเข้าใจจะทำให้เราสร้างนวัตกรรม หาจุดสมดุลพอดีได้ แล้วเราก็จะเคลื่อนไปได้ แต่ไม่ว่าเราจะเคลื่อนหรือเปล่า สังคมมันก็เคลื่อนอยู่ดีนะ แต่ค่าใช้จ่ายแพง ทั้งเวลา ต้นทุน โอกาส บาดแผล ชีวิตผู้คน มันแพงเกินไป ถ้าเราจะย่นย่อค่าใช้จ่ายหรือเวลาให้กระชับขึ้น เราต้องออกแบบจากความเข้าใจ

GM : งานเอ็นจีโอจริงๆ แล้วมีความจำเป็นแค่ไหน และทำไมเราต้องเป็นเอ็นจีโอด้วย

ปรเมศวร์ : ผมคิดว่าเพื่อไม่ให้ต้นทุนชีวิตเราแพงเกินไป แน่นอนว่าเราต้องทำงานหาเงิน และขณะเดียวกัน เราตั้งเป้าอยากให้สังคมเป็นอย่างนั้น

อย่างนี้ เราควรจะได้ทำในสิ่งที่เราสนใจคู่กันไป จุดยืนผมอยากเป็นเจ้าของสื่ออินเตอร์เน็ตที่สื่อไปยังคนเยอะๆ แล้วเลี้ยงตัวเองได้ พอทำไปเรื่อยๆ มันก็ตอบกับโจทย์ที่เราอยากเห็นประเทศไปในทางที่ดีขึ้น เราก็ได้เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ผมคิดว่าผมลงตัวแล้วในจุดนี้ เหมือนกันในเรื่องภัยพิบัติ เวลามันเกิดอะไรขึ้นมา แล้วผู้คนก็ต้องการการสื่อสารที่ดี ผมก็เข้าไปช่วยงานด้านนี้ได้

GM : ปีที่แล้วที่คุณมีเรื่องมีราวใหญ่โตกับ ศปภ. แล้วปีนี้จะเป็นอย่างไร

ปรเมศวร์ : แล้งแน่ๆ เพราะปล่อยน้ำออกมาซะขนาดนั้น แล้วรัฐมนตรีก็ออกมาบอกว่าไม่เกี่ยวกับเขาแล้ว เพราะเขาดูเฉพาะเรื่องน้ำท่วม ไม่ได้ดูเรื่องภัยแล้ง (หัวเราะ) แล้วเรื่องงบประมาณ 3.5 แสนล้านที่ผมโวยวายเยอะๆ ในทวิตเตอร์ เพราะมันทำกันกลับหัวกลับหาง

สมบัติ : แล้วก็มีคนออกมาด่าในทวิตเตอร์ ว่าคุณเป็นพวกสลิ่ม ขี้โวยวาย อย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหม (หัวเราะ)

ปรเมศวร์ : ใช่ๆ (หัวเราะ) มีประโยคหนึ่งที่จี๊ดผมมาก คือคุณพูดอย่างนี้ เกรงใจ 15 ล้านเสียงบ้าง นั่นเขาเลือกมา เขาคิดมา ผมก็บอกว่าเฮ้ย! ไม่ใช่แล้ว ถึงผมจะไม่ได้เลือกเพื่อไทย แต่ผมก็มีสิทธิ์คิดนะ มีเหตุผลในการพูด ผมก็แค่บอกว่าผมมีกระบวนการคิดยังไง คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อก็ได้ ผมไม่ได้จะล้มรัฐบาล ผมแค่จะบอกว่าเรากำลังใช้เงินจำนวนมากอยู่ในมือไม่กี่คนเองเหรอ

GM : หลังจากมีปัญหากับ ศปภ. คุณทำงานด้านภัยพิบัติยากขึ้นไหม

ปรเมศวร์ : พวกเราก็พยายามไปเชื่อมกับภาคประชาชนที่มีอยู่แล้วให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วมีปัญหาอะไรก็ปล่อยให้เขาทำเอง เราไม่แย่งเลย ไปหนุนอย่างเดียว ตอนที่ผมไปทำงานให้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีหลายกลุ่มทำกันอยู่ แล้วมาจากทุกสีด้วย ทุกกลุ่มมาช่วยกันทำหมด สักพักหนึ่งคุยไปคุยมา เราจะรู้ว่าใครเก่งเรื่องไหน ส่วนผมคนจากกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนในพื้นที่ เขาก็บอกว่าโอเคงั้นคุณช่วยตรงเรื่องนี้ แล้วเดี๋ยวมาประชุมใหญ่กันอีกที อย่างนี้ผมก็สะดวก ผมก็ทำงานส่วนของผมจากกรุงเทพฯ

GM : รัฐบาลกับนักการเมืองอยู่ตรงไหนในงานนี้

ปรเมศวร์ : ก็มีภาครัฐเข้ามาร่วมกับเราด้วย

สมบัติ : รัฐนะ ไม่ใช่รัฐบาล รัฐบาลจะไปรู้เรื่องอะไร แต่ประเด็นที่สำคัญคือมันเป็นตัวอย่างของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งปัจจุบันนี้เราอ่อนมาก รัฐบาลก็เชื่อแต่บริษัทเอกชนที่มีผู้เชี่ยวชาญตัวใหญ่ๆ วิธีของปรเมศวร์อาจจะใช้ได้ก็ได้ แต่ตอนนี้เราไม่มีกระบวนการในการเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งต้องมีในทุกเรื่องด้วย

GM : กระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ว่าข้อเสนอจากประชาชนเราจะถูกหรือผิด ก็ยังดีกว่าตัดสินใจจากข้างบนอย่างเดียวใช่ไหม

สมบัติ : ใช่ครับ ในระยะยาว กระบวนการจะมีคุณค่าสูงกว่า คือมันเป็นเรื่องของประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่แค่เนื้อหา ไม่ใช่แค่เป้าหมาย สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่เนื้อหาและเป้าหมาย แต่เราต้องการกระบวนการ คือประชาชนต้องมีส่วนร่วม

GM : คำว่ากระบวนการกับรูปแบบคือสิ่งเดียวกันหรือเปล่า มีหลายคนบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยแค่ในรูปแบบ

สมบัติ : คนละอันกัน เวลาผมพูดคำว่ากระบวนการ ผมหมายถึงความเคลื่อนไหวที่อยู่ภายในนั้น

ปรเมศวร์ : วิกิพีเดียนิยามคำว่า Democracy ว่าคือการให้ประชาชนได้มีส่วนกำหนดนโยบายสาธารณะ เขาเอาเรื่องนี้นำเลยนะ ส่วนเรื่องรูปแบบการเลือกตั้งนั่นมาทีหลัง แต่ของเราพอคิดถึงประชาธิปไตยปุ๊บ ก็ต้องคิดถึงเรื่องเลือกตั้งก่อน ซึ่งแน่นอนมันต้องมีนะ แต่ว่าบางทีเราจะถูกหลอกให้คิดว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ปล่อยให้เขาไปทำ

สมบัติ : คุณอาจจะคิดว่าในฐานะ 1 เสียง คุณจะไปทำอะไรได้ เพราะคนอื่นๆ ก็อ้างความเป็นประชาชนได้เหมือนกัน มันก็โต้เถียงไปได้เรื่อยๆ สุดท้ายก็จบตรงคำว่า ‘เสียงส่วนใหญ่’ แต่คุณจะมาอ้างเสียงส่วนใหญ่แล้วเคาะจบเลยก็ไม่ได้อีก เพราะก่อนจะเกิดเสียงส่วนใหญ่ คุณจะต้องเกิดกระบวนการประชาพิจารณ์ ต้องมาโต้เถียงก่อน ก็ถกเถียงจนความคิดใครมีเหตุผลกว่า โน้มน้าวคนได้มากกว่า ก็เอาความคิดของคนส่วนมากที่ว่านั่น

ปรเมศวร์ : เหมือนฝรั่งตอนนี้ที่มี Occupy ขึ้นมา ผมคิดว่าพวกกลุ่ม Occupy ก็คือกระบวนการอย่างที่เรากำลังพูดถึงกัน มันเป็นเหมือนกลุ่มแกนนอนของคุณสมบัติ คือไม่มีแกนนำ พอมีที่ว่างที่ไหน ก็ไปชุมนุมกัน วิธีคิดแบบ Occupy สุดท้ายจะนำไปสู่ Consensus บางอย่าง ซึ่งในกลุ่ม Occupy เวลามีคนขึ้นพูด จะมีการทำสัญญาณมือบอกเลยว่า ที่คุณพูดอยู่ตอนนี้น่าเบื่อมาก ซึ่งถ้าเป็นในเมืองไทยเราคงจะไม่กล้าทำ เพราะคนไทยก็คงจะเกรงใจ

เสร็จปุ๊บ ในคลิปมันจะมีผู้ชายคนหนึ่งพูดประโยคหนึ่งดีมากว่า “ในบางประเด็น ผมก็ไม่ได้เข้าร่วม แต่ว่าพอผมรู้ว่ามีที่มาเป็นกระบวนการ ก่อนจะสรุปมาได้อย่างนี้ ผมก็เชื่อ และรู้สึกพอใจ” ผมว่าวิธีอย่างนี้น่าสนใจ มันเป็นการยกระดับจากการประท้วงเฉยๆ Occupy ต้องพยายามหาข้อสรุปให้ได้ ผมคิดว่าแผนใหญ่ของ Occupy ก็คือการปฏิวัติโลก ซึ่งเขาพยายามที่จะบอกว่าถ้ามีกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้น ต่อให้ปัญหาใหญ่แค่ไหนก็แก้ได้

GM : วิวัฒนาการของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง จะมีลำดับขั้นที่แน่นอนมั้ยครับ เราจะต้องเป็นทุนนิยมเต็มที่ เสรีนิยมเต็มที่ แบบอเมริกาก่อนหน้านี้เสียก่อน แล้วเราค่อยก่อ Occupy ขึ้นมาได้

ปรเมศวร์ : ถ้าเลือกได้ ประเทศไทยเราน่าจะมีการสร้างปัญญารวมหมู่มากกว่า คือตอนนี้คนเห็นภาพประเทศ ภาพสังคม จากคนละมุมมอง เราอาจจะมองช้างตัวเดียวกัน แต่มองคนละมุม ถ้ามีใครสักคนที่ทำให้คนเกิดปัญญาในเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วจูนความคิด ไม่ต้องคิดเหมือนกันนะ แต่อธิบายได้ว่าเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ ผมว่าวิธีนั้นจะง่ายในการก้าวข้ามหรือแก้ปัญหาอะไรที่ใหญ่ได้

GM : ปัญญารวมหมู่แบบในบล็อก เว็บบอร์ด และโซเชียลมีเดียใช่ไหม

ปรเมศวร์ : ก็อาจจะใช่ ผมเคยดูหนังซีรีส์เรื่อง Lost หนังเรื่องนี้ฉาย 6 ปี แล้วมันทิ้งปริศนาไว้เยอะมาก กว่าจะคลายในแต่ละตอน ถึงกับมีคนสร้างเว็บชื่อ Lostpedia ขึ้นมาเพื่อตามเก็บประเด็นต่างๆ และอธิบายว่ามหากาพย์ซีรีส์ที่ดูกันมาทั้งหมด อะไรคืออะไร แล้วคนโน้นคนนี้ก็เข้ามาช่วยกันเขียน ถ้าผมไม่มีเว็บนี้ ผมดู Lost แทบไม่รู้เรื่องเลยนะ เพราะบางทีมันทิ้งปมไว้

ตั้งแต่ซีซั่นโน้น เพิ่งมาคลายในซีซั่นนี้ ผมตามดูแล้วก็ลืมๆ ถ้าเราเอาแนวนี้มาใช้ในเมืองไทยบ้าง ลำดับประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยมา อะไรที่เป็นคำถามก็ตั้งไว้ก่อน ผมเคยคิดจะทำแล้วเคยเอาไปขายไอเดีย หลายๆ คนก็จะตั้งคำถามกลับมาว่าแล้วคนไทยจะรับได้หรอ เพราะสุดท้ายมันคือการตีแผ่ความจริงทั้งหมด ที่ผ่านมาสังคมเราไม่ใช่สังคมที่รับความจริง แต่เราพยายามให้คนอื่นรับความจริงอีกชุดหนึ่งที่เราขาย ถ้าเอามาตีแผ่ และไล่เรียงกันจริงๆ ไล่กันดุนะ ตีกันตาย

สมบัติ : คุณอาจจะมองว่านี่เป็นภาวะโกลาหล เราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนยุค การเปลี่ยนผ่านรอบนี้จะนำไปสู่การอภิปรายในทุกเรื่อง เพราะการจะก้าวไปสู่อีกยุค เราต้องการความรู้ชุดใหม่มาใช้แทน เหมือนเราอยู่ในยุคกึ่งกลางระหว่างฟิล์มกับดิจิตอล ช่างภาพอย่างเราจะเอาอะไร เถียงกันอยู่พักหนึ่ง จนถึงจุดที่อะไรก้าวหน้ากว่า ก็กินตลาดทั้งหมด วันนี้โกดักเจ๊งไปแล้ว

กล้องดิจิตอลเป็นผลิตผลของวัฒนธรรมที่ก้าวหน้ากว่า อารยธรรมที่ก้าวหน้ากว่า มาทดแทนของเก่า อารยธรรมทางการเมืองแบบใหม่ก็เช่นเดียวกัน

เราต้องเปิดให้ประชาชนมาคุยกัน แต่อารยธรรมเก่ากลับบอกว่า แค่ประชาชนอย่างมึงจะไปรู้อะไร พวกเรากำลังอยู่ในช่วงที่เสียงดังมาก จนคุณอาจจะต้องลดเสียงเพื่อนบางคนลงไป เพราะเขารบกวนคุณ ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาในวิวัฒนาการของประชาธิปไตย จะมียุคหนึ่งที่ปัญญาชนต้องอภิปรายกันทุกเรื่อง แล้วไม่ใช่แค่อภิปราย พวกเขาฆ่ากันด้วยนะ เรามีประชาธิปไตยในปี 2475 แต่เราไม่เคยเกิดการอภิปรายกันเลย เราต่างจากสังคมอื่น

ปรเมศวร์ : ตอนนี้ผมเห็นอยู่ 3 เว็บที่มีอิทธิพลกับโลกมาก คือ วิกิพีเดีย เฟซบุ๊ค และวิกิลีก วิกีพีเดียคือปัญญารวมหมู่ 100% สมัยก่อนบริตานิกาเคยคิดว่าตัวเองเก่ง เป็นเจ้าพ่อสารานุกรม ทำทุกอย่างเอง ปรากฏว่าเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะวิกิพีเดียมันเกิดจากการที่คนรู้คนละเล็กคนละน้อย แล้วเอามาใส่ มันไม่ได้ถูกต้องเป๊ะๆ หรอก แต่มันก็อยู่ได้ และเติบโตไปเรื่อยๆ

ส่วนเฟซบุ๊คนี่มันประกาศในเว็บเลย ว่าคือธุรกิจ Information Freedom คืออิสรภาพในการให้ข้อมูลข่าวสาร เพราะฉะนั้นคุณเป็นคนเล็กคนน้อยที่ได้รับพลังนี้มา คุณมีสิทธิ์ที่จะยัดข้อมูลไปเลย ส่วนวิกิลีกมันคือการทุบคนใหญ่ คนใหญ่ที่ไม่เคยโดนทุบ เจอวิกิลีกไปทีนี่ร้องเลยนะ แล้วก็ตามล่าใหญ่เลย เฟซบุ๊คกับวิกิลีกนี่คู่กัน เฟซบุ๊คดันขึ้น วิกิลีกก็ดึงลง มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน

คือการลดช่องว่างระหว่างคนเล็กกับคนใหญ่

GM : เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าปัญญารวมหมู่ที่ได้มานี้ถูกต้องเสมอ

ปรเมศวร์ : มีระบบ Peer Review ช่วยกันตรวจสอบ เวลามีใครแหลมเข้ามา สมมุติว่าผมใส่เรื่องนี้ คนนี้มารีวิว ผมอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ออกมามันก็จะได้ผลงาน 1 อันที่เป็นของส่วนรวม ที่ทุกคนช่วยกันตบๆ จนออกมาได้อย่างนี้ แล้วทุกคนก็พอใจในส่วนนี้

สมบัติ : แต่ต้องระวังพวกปัญญารวมหมู่ที่เป็นสำนัก ที่เขามีศาสดาประจำสำนักอยู่ แล้วก็ดื่มด่ำเอานักคิดเฉพาะในเครือข่ายตัวเองมาสร้างปัญญา

รวมหมู่ อย่างสำนักหมอประเวศ วะสี ผมเป็นเอ็นจีโอรุ่นใหม่ในวงการ แต่ไม่อยู่ในสำนักไหน เพราะผมไปถึงก็จะอาละวาด ชักใบให้เรือเขาเสีย

ปรเมศวร์ : สสส. ช่วงหลังๆ ก็โดนตั้งคำถาม คือเขาทำงานได้สำเร็จอย่างสูง อย่างทำให้บุหรี่กลายเป็นไม่เท่ไปเลย หรือกลายเป็นต้องจำกัดที่สูบ แต่หลังๆ เขาทำหลายเรื่องมาก ล่าสุดพอครบ 10 ปี ก็มีนโยบายใหม่ ซึ่งเขาเชิญผมไปฟังด้วยนะ เขาบอกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำเรื่องสุขภาพตัวคน แต่ต่อไปนี้เขาจะขยายออกสู่สังคมภายนอก แล้วย้อนเข้ามาว่าสังคมดี สุขภาพคนก็จะดีตามมา คือขยายพื้นที่ไปทำงานได้อีกเยอะมาก ถ้าเขียนด้วยศัพท์แบบนี้ คุณจะไปขอทุนมาทำอะไรแปลกๆ ได้อีกเยอะ นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามองกันต่อไป

GM : เราจะดูอย่างไรว่ากลุ่มไหนเป็นปัญญารวมหมู่ หรือกลุ่มไหนเป็นสำนัก

สมบัติ : ก็ต้องวิพากษ์ เปิดเสรี ให้ได้เสนอความคิด ไม่กีดกัน

ปรเมศวร์ : อย่างอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นี่แหละ ผมว่าเป็นคนหนึ่ง

ที่โพสต์อะไรในเฟซบุ๊คแล้วคนกดไลค์กระหน่ำ มีคนติดตามในระดับที่ไม่ธรรมดา ผมมองว่าท่านมีพื้นที่ประจำอยู่ในเฟซบุ๊ค เหมือนคุณสมบัติที่อยู่ในทวิตเตอร์ แล้วก็เป็นคนที่ผมไม่มีเรื่องที่จะไปเถียงด้วย ด้วยตรรกะที่ท่านพูดมา เราไม่รู้จะเถียงอะไรแล้ว ผมว่าถ้าคุณอยากตรวจสอบว่าความคิดอะไรถูกต้องหรือเปล่า ลองเอาเรื่องนั้นไปคุยกับอาจารย์สมศักดิ์ให้จบก่อน แค่นี้พอเลยนะ ส่งมือดีที่สุดของคุณไปเลย ไปหลายคนก็ได้

สมบัติ : ผมเคยเห็นแล้ว วันนั้นหมอตุลย์เถียงกับสมศักดิ์ สมศักดิ์ต้อนทีเดียว หมอตุลย์ติดกำแพง แต่เรื่องปัญญารวมหมู่ ผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นด้วยคนเก่งคนเดียวหรือเพียงไม่กี่คน แล้วก็มีคนอื่นๆ ไปตามนะ

ปรเมศวร์ : ประเด็นนี้ก็น่าสนใจ ผมเคยอ่านเจอในวิกิพีเดีย เรื่อง เมอริทโต-เครซี หมายความว่า สมมุติคุณจะไปผ่าตัด ให้เอาหมอมา 100 คน มาช่วยกันออกความคิดเห็นในระหว่างการผ่าตัด กับการหาหมอเก่งๆ มา 2-3 คน มาทำงานของเขาไปตามปกติในห้องผ่าตัด คุณจะเลือกวิธีไหนล่ะ ในกรณีแบบนี้ หมอ 100 คนก็ไม่ได้ทำให้ผลการผ่าตัดออกมาดีกว่า เมอริทโตเครซี คือระบบที่เอาคนที่รู้จริงเพียงไม่กี่คน มาตัดสินว่าสิ่งนี้ดี ประเด็นนี้ต้องคำนึงถึงนะ ถ้าเราเอาประชาธิปไตยไปครอบทุกเรื่อง มันอาจจะพังหมดเลย เราจะบาลานซ์เรื่องนี้ยังไง คือไม่ใช่ว่าไม่เอาตัวบุคคลเลยนะ แต่ต้องเลือกเอาตัวบุคคลที่รู้เรื่องนี้จริงๆ เข้ามา

สมบัติ : โจทย์คือเมื่อไรที่คุณภาพของโซเชียลมีเดียจะไปถึงจุดที่น้ำเดือดพอจะต้มกาแฟได้ คือตอนนี้แค่น้ำอุ่นๆ ผมคิดว่าต้องให้ถึงระดับจะชงกาแฟเลยนะ ต้องใช้เวลาในการสั่งสม แต่จะกี่ปีล่ะ อินเตอร์เน็ตก็เป็นอัตราเร่งที่เร็วมากแล้ว ถ้าจะเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ คุณก็ต้องสะสมในเชิงปริมาณเสียก่อน น้ำถึงจะเปลี่ยนจากของเหลวเป็นไอได้ มันต้องอยู่ที่ 100 องศา ถ้าคุณอยู่ที่ 99 องศา ก็ยังไม่เป็นไอ แต่ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการไล่ระดับขึ้นไป คุณก็หมั่นเติม เพิ่มไปเรื่อยๆ แต่ก่อนคนในทวิตเตอร์อย่างผมจะไปมีเสียงอะไร ถ้าไม่มีที่ในทีวีให้ผมยืน คนก็คิดว่านี่มันแค่เอาไว้เล่นขำๆ เป็นแค่แฟชั่น ไม่มีผลกระทบกับสังคม ซึ่งผมว่าไม่ใช่หรอก เราเห็นกันมาหมดแล้วทั้งผลการเลือกตั้งของ บารัค โอบามา ทั้งอาหรับสปริง หรืออย่างกรณีเสื้อแดงโดนปราบ เขาก็มุดเข้าเฟซบุ๊คกันหมด แทนที่จะมุดเข้าป่าเหมือนเมื่อก่อนใช่ไหม สิ่งเหล่านี้ส่งผลสะเทือน ประเด็นในโซเชียลมีเดียก็ไปปรากฏในแมสมีเดีย มันเกิดปรากฏการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดเวลา ผมจะไปสงสัยอะไรกับสิ่งนี้ ผมไม่สงสัยแล้ว ตอนนี้ผมหมั่นคอยเติมเข้าไป ไปเดินสาย ไปคุยกับพรรคพวก สร้างหลักเกณฑ์ องค์ความรู้ว่าเวลาจะสื่อสารทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียจะต้องทำยังไง

ปรเมศวร์ : ถ้าโซเชียลมีเดียไปผลักสื่อกระแสหลักได้ ถ้าสื่อกระแสหลักเข้าใจแล้วเข้าไปเล่นต่อ มันจะเป็นเรื่องขึ้นมา เหมือนตอนน้ำท่วม ศปภ. ซึ่งผมก็ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาแผลแตก แต่จากนั้นก็ไม่รู้มาจากไหนแล้ว ไปรุมชกเขาซะหน้าน่วมไปหมดเลย เขาก็เป๋ไปช่วงหนึ่ง คือสื่อหลักก็รอดูใช่ไหมว่ามีคนเริ่มแล้วเว้ย แล้วทุกคนตามหมด ผมประเมินว่าสื่อมวลชนเริ่มเก็ตแล้ว ในอนาคตเทรนด์น่าจะเป็นอย่างนี้ คือประเด็นในโซเชียลมีเดียจะไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าสื่อใหญ่หยิบไปเล่นเมื่อไร เป็นเรื่องเลย เหมือนอย่างเพลงกังนัมสไตล์ก็ไปออกข่าวสรยุทธ กลายเป็นอย่างนี้ไป คือโซเชียลเป็นตัวกำหนด จุดน้ำเดือดเป็นไอที่สมบัติพูด คือจุดที่สื่อมวลชนเห็นว่าถ้าฉันไม่เล่นเรื่องนี้ฉันจะล้าหลัง จุดนั้นเป็นจุดที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้มีอำนาจ เข้ามาหยิบประเด็นของเรา

GM : แล้วทุกวันนี้เว็บพอร์ทัลอย่างกระปุกดอตคอมทำงานอย่างไร ยากขึ้นไหม พอโลกเปลี่ยนเป็นเว็บ 2.0 โซเชียลมีเดีย

ปรเมศวร์ : ธุรกิจเว็บของไทยตอนนี้ก็คือมีคู่แข่งเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศนี่แหละ เขาไม่ต้องมาตั้งบริษัทที่นี่ ไม่ต้องมาเสียภาษีที่นี่ แต่เขาก็แข่งกับเราได้ แล้วก็ดึงลูกค้าจากเราไปได้ ประมาณ 6 ปีมาแล้ว ที่อันดับเว็บไทยไม่ค่อยมีคู่แข่งหน้าใหม่เพิ่มเข้ามา สภาพที่เราเป็นอยู่ ก็คือโตกันเรื่อยๆ ในระดับเว็บบนๆ ยังไม่มีว่าคนนี้หัวทิ่มลง ที่น่าสนใจก็คือเดี๋ยวนี้ไม่ว่าใคร

ก็เปิดเว็บได้ อย่างเรื่องข่าว หลังๆ ผมอ่านข่าวจากสำนักข่าวอิสลาม หรือเว็บที่ข่าวเจาะอะไรพวกนี้ ผมรู้สึกว่ามันมีทางเลือกเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด

GM : เว็บที่เปิดใหม่ๆ จะต้องทำให้เป็นโซเชียลมีเดียทั้งหมดเลยหรือเปล่า ถึงจะประสบความสำเร็จ

ปรเมศวร์ : ทำไมพวกอินสตาแกรมถึงฮิต ประเทศไทยโดยเฉพาะเด็ก เราไม่ได้สร้างให้เด็กไทยมี Self Esteem หรือมีความเชื่อมั่นในตัวเอง พอมันต่ำ เด็กช่างกลก็เลยตีกัน เพราะการตีกันคือการสร้างตัวตนให้คนยอมรับในกลุ่มของเขา หรือถ่ายรูปขึ้นอินสตาแกรมอวดว่าไปนู่น มีนั่นมีนี่ ยิ่งพอมีคนมากดไลค์ ก็ยิ่งโพสต์ใหญ่ คนที่ Self Esteem สูงๆ ผมว่าไม่ต้องมีคนมาไลค์ก็ได้ ผมไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ใครมาไลค์ผมด้วยซ้ำ คุณไม่ต้องมาชมผมด้วย ผมโอเคที่ผมเป็นอย่างนี้ ไม่ได้แปลว่าผมดีแล้วนะ แต่ผมพอใจแล้ว

สมบัติ : อันนี้ไม่ใช่ Self Esteem แต่เป็นหลงตัวเองแล้วหรือเปล่า (หัวเราะ) แซวเล่นๆ นะ

GM : ถ้ามั่นใจในตัวเองจริงๆ คงไม่มาเล่นแล้ว การเล่นโซเชียลมีเดียเหมือนเป็นการเรียกร้องเสียงสะท้อนอะไรบางอย่างกลับมา

ปรเมศวร์ : เคยมีคนมาพูดกับผม เขาสังเกตว่าในทวิตเตอร์ของผม แม้จะมีคนมาตำหนิหรือมาด่าผม ผมก็จะไม่ด่ากลับ และผมก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมจะบอกว่า ข้อแรก, ถ้าเขาจะด่าผม เขาจะไปด่าที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมาด่าในนี้หรอก กับข้อสอง, ถ้าเขาด่าผม ผมก็จะได้ข้อมูลกลับมา ผมเคยเจอเยอะมากเลยพวกชม ไปไหนชมผมตลอดเลย ผมจะลอยอยู่แล้ว แต่ผมไม่ได้

อะไรเลยจากคำชมพวกนั้น แต่ถ้าด่านี่สิ เออว่ะ ผมก็จะตอบเขาไปดีๆ แล้วก็จะไปปรับปรุงหรือไม่ปรับก็แล้วแต่ แต่ที่แน่ๆ คือไม่ควรไปด่ากลับ เพราะถ้าด่าไป เดี๋ยวคนอื่นไม่กล้ามาพูดกับเราอีกต่อไป

GM : เล่นทวิตเตอร์แล้วเคยเหลิงมั้ยครับ

ปรเมศวร์ : มีอยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงที่ประมาณว่า Follower เริ่มเยอะ แต่ยังไม่เยอะเท่าไหร่หรอกนะ ช่วงนั้นจะออกอาการเยอะมาก พอมันหลุดตรงนั้นไปแล้ว ก็จะเฉยๆ ตอนนี้ผมทวีตเหมือนมีคนตามนิดเดียว ทั้งๆ ที่จริงๆ มีตามโคตรเยอะแล้วนะ

สมบัติ : ตอนเหลิงนี่ก็จะทวีตใหญ่เลย

ปรเมศวร์ : (หัวเราะ) จะออกอาการเยอะ เพื่อจะเช็กว่าอันไหนได้รับความนิยม หลังๆ มีคนมาทักว่าช่วงนี้ทวีตน้อยลงหรือเปล่า อันนี้แสดงว่าได้หลุดพ้นแล้ว

สมบัติ : ส่วนผมเล่นทวิตเตอร์อย่างมีวัตถุประสงค์ ผมต้องการใช้มันเป็นช่องทางสื่อสารการเมือง ผมมาแบบชัด มีช่วงหลังๆ ที่เริ่มเปลี่ยน เริ่มไม่อยากสื่อสารการเมืองอย่างเดียว เริ่มมีเรื่องอื่นมากขึ้น ผมรู้สึกว่าพอสื่อสารการเมืองมากๆ มันไม่ค่อยมีความเป็นมนุษย์ คือผมมีภาพลักษณ์ของความไม่เป็นมนุษย์อยู่พอสมควร แต่ในความเป็นผมเอง ไม่ได้เป็นอย่างที่คนข้างนอกมอง อันนี้เป็นปัญหา อย่างผมวิจารณ์ภายในก็วิจารณ์อย่างตั้งใจ คุยกับฝ่ายตรงข้าม ก็คุยอย่างตั้งใจ ผมพยายามสร้างวัฒนธรรมการคุยทางการเมืองขึ้นมา ไม่ใช่ว่าชกกันไม่ได้นะ เราต้องเข้าปะทะกันบ้าง เหมือนนักมวย คุณขึ้นเวทีแล้วต้องชก คุณมีสิทธิ์ที่จะต่อยและถูกต่อย ผมจะใส่ Mention ไปวิพากษ์วิจารณ์คนนู้นคนนี้ เหมือนผมออกหมัดไป

และคนเหล่านั้นก็มีสิทธิ์อัดผมคืน เพียงแต่เราเคารพกติกากัน จะไม่ชกใต้เข็มขัด ผมได้คุยกับคนระนาบเดียวกันจริงๆ ได้คุยกับประชาชนจริงๆ มันไม่ค่อยมีนักการเมืองคุยกับผม มีบ้างนิดหน่อย พวกขำๆ เข้ามาหยอกกันไปหยอกกันมา เป็นชั้นเชิงกันพอประมาณ ผมดูออกว่าพวกนี้ไม่ได้ตั้งใจเล่นเป็นเรื่องเป็นราวนัก แต่ประชาชนด้วยกันต่างหากที่คุยกันเยอะ ผมว่าใน

แนวระนาบของเราน่าสนใจ ผมเข้าใจจุดยืน หลักการ และวิธีคิดของอีกฝ่ายมากขึ้น เพราะมันได้โต้กันเยอะ ทวิตเตอร์ดีกว่าเฟซบุ๊ค ถ้าในเฟซบุ๊ค คุณจะไม่มีโอกาสได้โต้กันเยอะแบบนี้ ดีไม่ดี พอโต้ไป ก็จะมีเพื่อนเข้ามารุมกระทืบ พอคุณพลาดเข้ามาในเพจผม คุณก็เตรียมรับพวกผมเหมือนกัน เฟซบุ๊คเหมือนเป็นถิ่นใครถิ่นมัน ทวิตเตอร์เหมือนการต่อยกันตัวต่อตัว ภายใต้

ข้อจำกัด 140 ตัวอักษรมันน่าสนุก ยิ่งสำหรับคนที่เป็นนักเขียนนะ คุณควรจะได้มาเล่น

GM : การคุยกันแบบนี้ จะทำให้เรารักกัน ปรองดองกัน หรือเราทะเลาะกันมากขึ้น

สมบัติ : คงไม่ถึงขนาดรักกัน แต่จะทำให้ประเด็นกลมขึ้น ไม่แข็ง ผมคิดว่าพวกเราได้มีโอกาสคุยกับคนต่างสีบ้างก็ดี ยิ่งได้คุยกับคนต่างสีที่มีท่าทีรับฟังและใช้เหตุผล จะทำให้เราเข้าใจ ประเด็นมันจะกลม ไม่รู้ว่าผมเคลมตัวเองสูงไปหรือเปล่านะ แต่ผมคิดว่าผมเป็นคนเสื้อแดง ที่คนที่ไม่ใช่เสื้อแดงอยากคุยด้วยมากที่สุด ช่วงหลังๆ มานี้ ผมเข้าใจมากขึ้น ผมเข้าใจความรู้สึกของคนรักในหลวงมากๆ เข้าใจจริงๆ อันที่สอง เรื่องของคนที่สนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ ผมก็คิดว่าผมเข้าใจได้ ว่าทำไมคนชั้นกลางถึงสนับสนุนอภิสิทธิ์ อันที่สามก็คือความเกลียดชังเสื้อแดง ว่าทำไมพวกนี้เผาบ้านเผาเมือง ผมคิดว่าผมเข้าใจได้หมด ถ้าเราเข้าใจได้หมด ทุกคนก็จะมีชุดอธิบายในการให้น้ำหนัก ว่าจะให้น้ำหนักกับสิ่งไหนมากที่สุด ผมคิดว่าทุกส่วนควรมีที่ทาง

GM : เทียบกับการคุยกันแบบเห็นหน้าเห็นตาจริงๆ อย่างในงานอาจารย์โคทม อารียา มีหมอตุลย์ มีเสื้อแดงมานั่งคุยกัน

สมบัติ : การได้มานั่งคุยกันนั่นดีกว่าเยอะครับ ลึกกว่า สัมผัสความเป็นมนุษย์มากกว่า หลังจบงานนั้น ผมว่าบรรยากาศดีขึ้นนะ มันไม่น่าเชื่อนะครับที่คนอย่างหมอตุลย์กับอาจารย์สมศักดิ์จะมาคุยกันได้โดยไม่ฆ่ากัน ผมจึงพบว่าในโลกแห่งความจริง เราคุยกันได้ ไม่มีอะไรค้างคากัน แต่ในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เราเหมือนแทบจะฆ่ากันได้ ในความเป็นจริงเวลา

เราเจอกัน เรามีท่วงทำนองในการพูด หมอตุลย์ก็แสดงความเป็นปัญญาชน ในแง่การตั้งประเด็นขึ้นมาโต้เถียง ไม่มีการใช้อารมณ์

GM : คิดว่าโซเชียลมีเดียทำให้คนสุดโต่งมากขึ้น หรือทำให้คนปรับความเข้าใจกันได้มากขึ้น

สมบัติ : ผมว่าจะลดความสุดโต่งนะครับ ถ้าคุณไม่อยู่แต่ภายในวงตัวเองนะ แต่เฟซบุ๊คนี่ผมว่าอันตรายกว่า ทวิตเตอร์จะดีกว่า เฟซบุ๊คนี่พอเปิดมาในวอลล์เราเจอแต่คนคิดเหมือนกันกับเราเต็มไปหมดเลย เราก็กดไลค์พวกเดียวกัน เล่นแล้วเคลิ้มเลย อันนี้ต้องระวัง ทำให้คนคิดว่าทุกคนสนใจแต่เรื่องนี้ เราจะรู้อยู่แค่นี้

GM : อย่างนี้คุณว่าคนเล่นทวิตเตอร์ฉลาดกว่าคนเล่นเฟซบุ๊คหรือเปล่า

สมบัติ : เรียกว่าหลากหลายกว่า น่าสนใจมากกว่า

GM : โลกหลังจาก เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ จะเป็นอย่างไร

ปรเมศวร์ : ผมมั่นใจเรื่องอินเตอร์เน็ตทีวีมาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคุยกันเยอะ แต่ตกม้าตายกันหมด แล้วผมว่าสักวันมันจะมา ตอนนี้มีโปรดักต์ชื่อกูเกิลทีวี มันคือแอนดรอยด์ เป็นกล่องเล็กๆ เอาไปตั้งเสียบต่อกับจอทีวี หรือจะไม่ต่อก็ได้นะ แล้วเอาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงต่อเข้าไป และมันก็จะเปลี่ยนโลกการสื่อสารไปจากทุกวันนี้ และเปลี่ยนสังคม การเมือง วัฒนธรรมอะไรๆ ของเราไปอีกมากเลย

@buunme

ลุงบุญมี ระลึกชาด ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผบทบ.ทวิตภพ ชีวิตที่เหลือ

ขออุทิศให้กับการค้นหาความหมายของคำว่าสลิ่ม และอยู่ร่วมกับพวกมัน

สารานุกรมบริตานิกา

หยุดผลิตฉบับพิมพ์เพิ่มเติม โดยฉบับปรับปรุงครั้งที่ 15

พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2010 เป็นฉบับสุดท้าย บริษัทจะหันไปเน้นเฉพาะ

ฉบับออนไลน์และอุปกรณ์การศึกษาอื่น – ข้อมูลจากวิกิพีเดียไทย

Lostpedia

http://lostpedia.wikia.com สารานุกรมสำหรับทีวีซีรีส์

เรื่อง Lost ใช้หลักการของ Wikipedia มาประยุกต์ใช้

โดยให้สมาชิกแต่ละคนเข้ามาใส่ข้อมูล บทวิเคราะห์ และความเห็นต่างๆ เพื่อช่วยกันทำความเข้าใจเนื้อหาในซีรีส์เรื่องนี้

Meritocracy

คุณธรรมนิยม ระบอบการปกครองมนุษย์ระบอบหนึ่งโดยคำนึงถึง

คุณธรรมของบุคคลเป็นสำคัญ – ข้อมูลจากวิกิพีเดียไทย

Arab Spring

คลื่นการปฏิวัติในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ การประท้วงมีรูปแบบเป็นการต่อต้านของพลเมือง โดยใช้สื่อสังคม อย่างเช่นเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ เพื่อจัด และติดต่อสื่อสาร – ข้อมูลจากวิกิพีเดียไทย

อึด_ฮึด_ฟัง

‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์…เสรีภาพในการแสดงออกและมาตรา 112’ ภายใต้โครงการเวทีสันติประชาธิปไตย จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยความร่วมมือและสนับสนุนของ โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย และ USAID ที่ห้องประชุมศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ