fbpx

ศศิน เฉลิมลาภ The Water is Wide มหาอุทกภัย !

โลกที่เต็มไปด้วยน้ำ น้ำ และน้ำ กับภาพผืนน้ำกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาในที่ราบภาคกลาง คือภาพที่คนในยุคนี้ รุ่นนี้ ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน นี่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับอะไรกันแน่ !

ในช่วงที่ผ่านมา คำว่า ‘มวลน้ำ’ กลายเป็นศัพท์ใหม่ที่ผู้คนพูดถึงมากพอๆ กับการกล่าวขวัญถึงผู้ชายไว้หนวดเคราคนหนึ่ง กับแผนที่เก่าๆ ยับย่นของเขาที่ออกมา ‘เตือน’ ผู้คนเรื่องการหลากท่วมของน้ำผ่านทาง YouTubeผู้ชายคนนี้ชื่อ ศศิน เฉลิมลาภบทบาทของเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

และงานนักอนุรักษ์ที่ทำงานกับป่ามายาวนาน ไม่ได้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของผู้คนมากเท่ากับคลิปความยาว 13 นาที กับแผนที่เก่าๆ และคำอธิบายที่ ‘เตือนภัย’ ด้วยคำพูดที่ ‘เข้าใจง่าย’ และ ‘เข้าถึงใจ’ คนจำนวนมากที่ละล้าละลังพะวักพะวน เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกับเหตุการณ์ ‘เหนือจริง’ ที่เกิดขึ้น ทั้งกับตัวภัยธรรมชาติเอง และกับการบริหารจัดการของผู้มีอำนาจที่ควรจะทำหน้าที่

‘เตือนภัย’ อย่างทันท่วงทีเมื่อสิ้นหวัง ผู้ชายคนนี้จึงก้าวเข้ามาเป็น ‘ความหวัง’ พร้อมๆ กับนักวิชาการอีกหลายคนที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ตรง ‘ใจกลาง’ ของการสั่งการตัดสิน

ด้วยเหตุนี้ คลิปอธิบายและเตือนภัยเรื่องน้ำท่วมของศศิน จึงทำให้มีคนเข้าไปดูรวมๆ แล้วมากกว่า 6 แสนคน !อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเขาไม่ได้จบแค่ในคลิป แต่การทำงานและการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในรายงานสถาน-การณ์น้ำท่วม ทำให้ใครๆ เห็นว่าผู้ชายคนนี้เอาจริง – และเขาคือ ‘ตัวจริง’ ที่นอกจากจะรู้จักออกมาเตือนภัยล่วงหน้า ยังรู้จักและกล้าหาญในการออกมายอมรับความผิดพลาดเมื่อมีบางสิ่งพลาดผิดด้วยนี่คือวิสัยของคนที่เป็น ‘ตัวจริง’ โดยแท้ !

GM นัดพบกับเขาในวันที่กำแพงกระสอบทรายยังก่อสูงรอบกรุงเทพฯ รถโฟร์วีลซูซูกิ คาริเบียนของศศินจอดอยู่หน้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร วงล้อยังมีคราบของโคลนแห้งติดกรัง แสดงว่าคงเพิ่งผ่านสมรภูมิมาไม่นานนักคลิปวิดีโอและน้ำท่วมใหญ่คราวนี้เปลี่ยนชีวิตเขาไปช่วงหนึ่ง เขาบอกผมว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ต้องนั่งอยู่หลังเบาะรถยนต์มากกว่าเก้าอี้ในห้องทำงาน การออกไปดูสถานการณ์น้ำตามจุดต่างๆ กลายเป็นกิจวัตรที่ศศินต้องทำทุกวัน แต่เขาไม่ได้รู้สึกเหนื่อยยากอะไร เพราะเป็นสิ่งที่เขาเต็มใจทำหลายๆ คนอาจไม่รู้เรื่องของเขามากนัก บ้างรู้เพียงว่าเขาเป็นอดีตอาจารย์ด้านธรณีวิทยา ที่ผันตัวเองมาทำงานอนุรักษ์ แต่เขาทำงานสำคัญๆ ไว้มากทีเดียว เช่น เคยเป็นวงล้ออันสำคัญของโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือโครงการ ‘จองป่า’ ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อันเป็นโครงการใหญ่ที่สามารถลดความขัดแย้งของคนในพื้นที่ป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างได้ผล

ทุกวันนี้ เขาถอยห่างจากป่ามารับหน้าที่หลักที่หนักกว่าเดิม กับการทำงานในฐานะเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และแม้ ‘มวลน้ำ’ จะกว้างไกลจนใกล้เกินจริง แต่ศศินก็ยืนยันว่า เขาจะทำงานอนุรักษ์เชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อเผยแพร่งานของมูลนิธิสืบฯ อันเป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจโลกและธรรมชาติ ซึ่งอาจช่วยป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ที่แลดู ‘เกินจริง’ เช่นที่เพิ่งเกิดขึ้น – เกิดซ้ำขึ้นอีกถูกละ, นั่นไม่ใช่งานที่ง่ายดายเลยแม้แต่นิดเดียวมันเหมือนผืนน้ำกว้างที่ขวางอยู่ข้างหน้า-รอให้ผู้ชายคนนี้ฝ่าข้ามไป !

GM : น้ำท่วมคราวนี้ เป็นเรื่องที่มีมาเหนือความคาดหมายของคุณไหม

ศศิน : เหนือไม่มากนัก คือถ้าคุณอาศัยอยู่ในที่ราบภาคกลาง โดยเฉพาะที่ราบแม่น้ำเจ้าพระยา มันคือ Flood Plain เป็นธรณีสัณฐานของที่ราบน้ำท่วมถึง ดังนั้น โดยธรรมชาติต้องมีน้ำท่วมเป็นเรื่องปกติ คราวนี้การสร้างเมืองขึ้นมาก็เหมือนเราสร้างกะละมัง แล้วเอาเมืองไปใส่ไว้ในนั้น เวลาผ่านไปกะละมังที่เคยเล็ก มันขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งตอนนี้กะละมังใบนี้ที่ชื่อกรุงเทพฯ จากที่เคยมีแค่กรุงเทพฯ ชั้นใน ตอนนี้ขอบมันไปไกลถึงสุดรามคำแหง ถึงมีนบุรี หนองจอกก็ยังถือเป็นกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกก็ไปถึงตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ซึ่งเมื่อก่อนที่แถวนี้เป็นที่ให้

น้ำท่วมทั้งนั้น แล้วเราก็เอาอะไรไม่รู้ไปกั้นเพื่อไม่ให้มันเปียก

เพราะว่าไม่มีใครอยากเปียก ซึ่งหากเป็นพื้นที่เล็กๆ เราคงพอทำได้ แต่พอเมืองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำยากขึ้น แล้วไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ ที่ไม่ยอมเปียก อยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ทุกจังหวัดเขาก็ไม่อยากเปียก ไปถึงเทศบาล อบต. อำเภอทุกอำเภอ ก็ไม่ยอมหมด แล้วจะให้น้ำไปอยู่ที่ไหน

GM : อะไรคือลักษณะพิเศษของธรณีสัณฐานของกรุงเทพฯ

ศศิน : หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ สมัยหนึ่งพันหรือสามพันปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีเมืองต่างๆ รายล้อม ‘อ่าว’ อยุธยาอยู่ อาณาจักรทวารวดีก็รายล้อมอ่าวอยุธยา ที่เรียก ‘อ่าว’ เพราะต่ำกว่าอยุธยาลงมา เราไม่เคยมีชุมชนโบราณในแถบนี้เกินพันปีเลย มีแต่เมืองอายุร้อยปี นั่นแสดงว่าก่อนหน้านี้น้ำมันท่วมเอ่อตลอด พื้นที่แถบนี้เราถึงเรียกว่า

ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ถ้าคุณดูจากกูเกิลเอิร์ธ จะเห็นเลยว่าที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงที่กว้างใหญ่ไพศาลที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยนะ วัดได้ง่ายๆ เลย คือไทยเราปลูกข้าวได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มันไม่ได้มีแหล่งใหญ่ที่จะปลูกข้าวได้มากนักหรอก

คราวนี้ในวงจรของน้ำ มันก็มีทั้งปีที่น้ำมาก ปีที่น้ำน้อย น้ำน้อยเรายังพอจัดการได้ด้วยระบบการระบายน้ำ การสร้างเขื่อนกักเก็บก็เป็นทางออกหนึ่ง แต่เขื่อนถูกออกแบบมาเฉพาะน้ำท่วมปกติทุกๆ ปี แต่ในปีที่น้ำมาก มันก็เกิดขึ้นได้เหมือนอย่างที่เคยเกิดเมื่อปี 2512 ปี 2516 ปี 2526 และ 2538 ก่อนหน้านั้น จะมีที่จำกันได้คือปี 2485ดูอย่างนี้ก็จะเห็นว่า มันจะมาเป็นปกติประมาณ 10-20 ปีต่อครั้ง

ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้แน่นอนนักหรอกว่าช่วงไหน แต่จะประมาณนี้ จนความเจริญมากขึ้น คนก็เลยลืมไปเลยว่าน้ำท่วมใหญ่จริงๆ เป็นเรื่องปกติ ศัพท์ทางการจัดการน้ำเราเรียกว่า ‘คาบอุบัติซ้ำ’ คือค่าความน่าจะเป็นของการเกิดซ้ำ ซึ่งอาจจะเกิดในรอบ 5 ปี 10 ปี 50 ปี หรือ100 ปีก็ว่ากันไป เช่น หากว่ามีคาบอุบัติซ้ำ 1 ใน 20 ก็คือโอกาสที่น้ำจะท่วมพ้นหัวที่อยุธยา แต่ละปีมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 1 ใน 20 คือ 20 ปีจะเกิดครั้งหนึ่ง ปีนี้ไม่เกิด ปีหน้าความเป็นไปได้ก็จะมากขึ้น และหากว่ามันไม่เกิดมาแล้ว 19 ปี ปีถัดไปมันก็มีโอกาสสูงมากที่จะเกิด หรืออาจจะไม่เกิดก็ได้ สิ่งที่ผมจะพูดก็คือ ผมไม่อยากให้ปีนี้เป็นปีแห่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากเขื่อนเหมือนที่มีคนพูดๆ กัน เพราะถ้าน้ำท่วมคราวนี้เกิดจากความผิดพลาดจากการเปิดเขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์จริงๆ แสดงว่าคาบอุบัติซ้ำจากปี 2538 มันยังไม่เกิด และตอนนี้มัน 16 ปีเข้าไปแล้ว มันก็มีความน่าจะเป็นว่าอุทกภัยครั้งใหญ่แบบปี 2538 น่าจะเกิดขึ้นอีกในระยะใกล้ๆ นี้

GM : ข้อโต้แย้งที่คุณว่า เป็นสิ่งที่หลายคนมองว่ามีการเมืองซ่อนอยู่

ศศิน : ในประเทศนี้ โครงการการวางแผนระยะยาวมันก็ถูกเบี่ยงและเปลี่ยนแปลงไปโดยการเมืองแต่ละสมัยไปอยู่แล้ว อย่าลืมว่า ก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี 2538 เราไม่มีสุวรรณภูมิ ตอนนั้น

เมื่อน้ำมา เราใช้คลองรังสิตช่วยเบี่ยงน้ำออกไปหน่อยหนึ่ง แล้วก็ตีโอบรอบคันกั้นน้ำพระราชดำริ คือบริเวณถนนหทัย-ราษฎร์ ถนนร่มเกล้า ถนนกิ่งแก้ว และบางพลี คือคันกั้นน้ำที่ผ่ากรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกออกไป เราดันน้ำสู่ทะเลจากตรงนั้น เพราะบริเวณนั้นเป็นพื้นที่รับน้ำจากกรุงเทพฯ ชั้นในออกมา แต่มาคราวนี้พอเราไปสร้างสิ่งที่เราจะไม่ยอมให้น้ำท่วม อย่างสนามบิน ซึ่งไปดักทางน้ำไว้ ก็เลยส่งผลกระทบหมดทางน้ำที่เคยเตรียมไว้ให้น้ำมา เราก็เป็นคนไปบล็อกไว้เอง

GM : ด้วยเหตุผลอะไร คุณจึงลุกขึ้นมาทำคลิป และออกมาพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ศศิน : ผมเป็นคนอยุธยา ในชีวิตผ่านประสบการณ์น้ำท่วมมาแล้ว 5 ครั้ง ผมได้สัมผัสมัน ได้ลงไปว่าย ได้ลงไปเดินลุยน้ำ และรู้เลยว่าน้ำท่วมหนนี้เป็นสิ่งที่แปลก เพราะมันมาเร็วผิดปกติ ตอนที่น้ำเริ่มมาจากนครสวรรค์ มีคนมาเตือนแม่ผมล่วงหน้าสองสามวันว่าน้ำจะท่วม ซึ่งปกติหากน้ำท่วมมันจะค่อยๆ ขึ้น แต่นี่เผลอแป๊บเดียวมันมาถึงอกแล้ว ผมไม่ได้เคืองที่น้ำท่วม แต่ผมไม่พอใจที่รัฐออกมาเตือนล่วงหน้าแค่สองสามวัน

ผมไม่ได้เรียนมาเรื่องการจัดการน้ำ ผมไม่ได้เป็นคนรันโมเดล ผมไม่มีข้อมูลในมือ ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะท่วมหรือไม่ท่วม แต่ผมคิดว่ามันต้องมีคนรู้ตั้งแต่ปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ตั้งแต่น้ำมาที่นครสวรรค์ มวลน้ำมีเท่าไหร่ จะมาทางไหน ผมคิดว่าต้องมีคนรู้ แต่น้ำก็ยังท่วมมากและประชาชนได้รับความเสียหายมากขนาดนี้ แสดงว่า หนึ่ง, คุณห่วยแตกตรงที่ไม่บอกประชาชน สอง, การที่คุณปล่อยให้พื้นที่สำคัญอย่างนิคมอุตสาหกรรมโรจนะท่วม ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้เลยที่รัฐบาลจะปล่อยให้ท่วม นั่นแสดงว่าคุณประเมินตัวเองไม่ได้ ฉะนั้นระดับฝีมือในการประเมินสถานการณ์ ประเมินสิ่งต่างๆ ของคุณต้องมีปัญหา นั่นทำให้ผมคิดว่า หากน้ำมากขนาดนี้กรุงเทพฯ เราจะรอดกันไหม ก็มาดูระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ ซึ่งเราไม่มีความรู้เลย พอมาดูปั๊บ

ก็เห็นว่าระบบระบายน้ำกรุงเทพฯ คือ ให้น้ำไหลลงทุ่งตะวันออก บริเวณหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง กรุงเทพมหานครออกมาแถลงว่า ถ้าใครอยู่ในแนวคันกั้นน้ำฯ หมายถึงคันกั้นน้ำพระราชดำริ – ก็จะรอด คนอยู่ข้างนอกอาจจะต้องเสี่ยงหน่อย แต่ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากไม่รู้หรอกว่าคันกั้นน้ำ

นอกเหนือจากในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีคันกั้นน้ำในพระราชดำริ อีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในภาคใต้ เช่น คันกั้นน้ำของโครงการมูโนะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคันกั้นน้ำของโครงการ

ปิเหล็ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

การเตือนของผมไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องท่วม ผมบอกแค่ว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเป็นอย่างนั้น เตือนให้คนเก็บของก่อน หากเขารู้ก่อนอาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่ง ก็ดีกว่ารู้ก่อน 3 วัน ซึ่ง 3 วันนี่แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย

นี่คือตรงไหน อะไร อย่างไร บ้านคุณอยู่ข้างนอกหรือว่าอยู่ข้างในก็ไม่รู้ ตอนนั้นรู้เลยว่าคนกรุงเทพฯ น่าจะเดือดร้อนแน่ๆ แล้วหากไม่มีคนเตือนเขาแต่เนิ่นๆ ทุกคนก็จะแย่ ฉะนั้นก็ต้องเตือน

การเตือนของผมไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องท่วม ผมบอกแค่ว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเป็นอย่างนั้น เตือนให้คนเก็บของก่อน ไม่ให้ของเสียหาย ดังนั้น หากเขารู้ก่อนอาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่ง ก็ดีกว่ารู้ก่อน 3 วัน ซึ่ง 3 วันนี่แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย ผมเลยตัดสินใจว่าต้องบอกคน แล้วผมจะเตือนยังไงล่ะ ก็ต้องใช้สื่อทางเลือก ตอนแรกคิดกันว่าจะทำหนังสือจากมูลนิธิสืบฯ ไปถึงท่านผู้ว่าฯ แต่ก็รู้สึกว่าช้าและเดากันเองว่ามันไม่น่าจะได้ผล

เราก็เลยคิดว่าทำในยูทูบน่าจะดีกว่า ตอนแรกกะจะเตือนคนสักร้อยคนพันคน อย่างน้อยได้ทำในสิ่งที่เราคิดว่าต้องทำ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมอยู่ดีๆ มันถีบตัวจากระดับพันเป็นระดับหมื่นในเวลาคืนเดียว

GM : คุณคิดว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไร

ศศิน : นั่นสิ แสดงว่าสังคมต้องมีอะไรผิดปกติ เพราะเราพูดด้วยแผนที่เก่าๆ แผ่นเดียว ทำไมคนถึงฟังกันมากขนาดนี้

GM : คุณเชื่อใช่ไหมว่า จริงๆ แล้ว เราสามารถป้องกันได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ศศิน : แน่นอน, ตอนนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่า มวลน้ำใหญ่ มันใช้เวลาเดินทางประมาณสองถึงสามกิโลเมตรต่อวัน ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีคนรู้นะ แต่ทำไมไม่พูด ถ้าตอนแรกผมรู้แบบนี้นะ ผมอาจจะไม่กลัวน้ำท่วมหนนี้เลย ผมอาจจะเตือนได้ดีกว่านี้ก็ได้ เพราะน้ำมันเดินทางช้ามาก ฉะนั้น ภัยพิบัติที่มันมากับความเร็วที่เรารู้ล่วงหน้าก่อนเป็นเดือน ทำไมยังยอมให้ของสำคัญคุณเปียก ทำไมให้มันมีผลกระทบเสียหายกับบ้านคุณได้ขนาดนี้ ผมว่ามันบ้ามาก

GM : คุณคิดอย่างไรกับการทำงานของภาครัฐในเรื่องนี้ ทั้งรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร

ศศิน : ช่วงแรกๆ ผมไม่ได้มีปัญหากับการจัดการน้ำของเขาเลยนะ ผมรู้สึกว่าเรื่องน้ำเขาน่าจะเก่งกว่าผม วิศวกรที่อยู่ในกรมชลประทาน คนในกรุงเทพมหานครเขาคงจะทำทุกอย่างเท่าที่มีสติปัญญาจะทำได้ จริงๆ เขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิดแผนนะ ผมว่ากรุงเทพฯ ทำได้ดี แต่ยกเว้นอยุธยา เขาจัดการเรื่องน้ำได้พอสมควร แต่ที่เขาล้มเหลวอย่างมากคือจัดการเรื่องคน การสื่อสารกับคน ถ้ามีการสื่อสารกันมากกว่านี้ จัดการคนได้ดีกว่านี้ คงจะไม่เสียหายมาก

GM : ในแง่ของนักธรณีวิทยา น้ำท่วมแบบนี้ บอกอะไรถึงการปรับตัวของโลกหรือเปล่า

ศศิน : เปล่า, ผมพูดได้แค่ว่า มันเกิดขึ้นได้เพราะว่าเราอยู่ในที่ราบน้ำท่วมถึง คือผมไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยานะ มันอาจจะมีหรือไม่มี – ผมไม่รู้ แต่ในทรรศนะของผม

มันเคยเกิดขึ้น และมันก็จะเกิดขึ้นไปอย่างนี้เรื่อยๆ อาจมีน้ำมากกว่านี้

หรือน้อยกว่านี้ ประเด็นอยู่ที่พื้นที่ที่เราต้องการปกป้องนั้น มันขยายขนาดมากขึ้นต่างหาก ดังนั้น พื้นที่รับน้ำมันจึงน้อยลง เหมือนคุณเติมน้ำแข็งลงในแก้ว เมื่อน้ำมันไม่มีที่อยู่ มันก็ต้องเอ่อ

เพราะปีนี้มันสูงกว่าปี 2538 เฉลี่ยแล้วน่าจะประมาณ 40 เซนติเมตรได้ สูงกว่าเมื่อปี 2485 น่าจะราวครึ่งเมตร ดังนั้น นี่คือน้ำท่วมหนักคาบร้อยปีหรือสองร้อยปีเลยก็เป็นได้ และถึงไม่มี Climate Change มันก็อาจจะเกิดน้ำท่วมแบบนี้ได้ สิ่งต่างๆ ในโลกนี้มันเกิดขึ้นมาเป็นวัฏจักร มันไม่เป๊ะหรอก แต่มันก็กลับมาแบบนี้เรื่อยๆ หลายอย่างใช่ว่ามันไม่เคยเกิด อย่างสึนามิก็สอดคล้องกับตำนานของชาวมอแกนที่เคยพูดถึงคลื่นสูงเท่าสองยอดมะพร้าวในรุ่นปู่ของเขา

ซึ่งเท่ากับสามเจเนอเรชั่นขึ้นไป ซึ่งก็ราว 70 กว่าปี มันตรงกับการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ว่ารอบของสึนามิจะอยู่ที่ราว 70 ปี แสดงว่ามันอาจจะเกิดขึ้นในช่วงนั้นหรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ ความรู้ของเรายังมีไม่พอหรอก เรื่องแผ่นดินไหวก็เช่นกัน เราอยู่บนความรู้ที่มีไม่พอ ผมเรียนธรณีวิทยาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในไทยมีข้อมูลรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ไม่กี่แห่งเท่านั้นเอง เราจึงไม่ได้เรียนเรื่องแผ่นดินไหว เพราะเราเชื่อว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ตอนนี้พอองค์ความรู้มันมากขึ้น เราพบว่าแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เรื่องของ Landslide หรือแผ่นดินถล่มก็เช่นกัน มันเป็นภัยพิบัติที่เพิ่งมีคนมาสนใจเพราะเราไปตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น ถามว่าเราจำเป็นจะต้องเรียนรู้ภัยพิบัติเหล่านี้ไหม ผมคิดว่าบางเรื่อง

เราก็ต้องรู้ อย่างสึนามิที่เกิดขึ้น สิ่งที่ผมแฮปปี้คือมันมีแผนผังของการหนีสึนามิเกิดขึ้น มีระบบเตือนภัยทุกหาด อันนี้ดีมาก หรืออย่างการเกิดดินถล่มที่บ้านกะทูน อำเภอพิปูน ที่นครศรีธรรมราช ก็ทำให้ชาวบ้านสร้างระบบเตือนภัยเพื่อการเอาตัวรอดเองได้ มีการจัดการ เช่นว่า หากน้ำเกินขีดของกระป๋องนี้ แสดงว่าปริมาณน้ำมาก อาจเสี่ยงต่อดินถล่ม มีการจัดการว่าต้องทำอย่างไร ต้องเตือนแบบไหน ซึ่งถือว่าโอเคมาก ไม่ต้องไปรอให้รัฐมาเตือน เพราะมันเตือนไม่ทัน

ดังนั้น ถ้าภาคประชาชนตื่นตัวและมีความรู้พอที่จะทำ แถมยังเอาไปพัฒนาต่อยอดได้ว่ามีโมเดลว่าต้องทำอย่างไร ก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจน แต่ว่าคนเราจะสนใจมากน้อยถี่ห่างมากแค่ไหน ก็แล้วแต่ความถี่ที่จะเกิด ถ้าดูตามหลักการของ Risk Management เราจะเรียนรู้เรื่องโอกาสการเกิด หากโอกาสเกิดขึ้น 50/50 เราก็ให้ความสนใจมันมากหน่อย แต่หากว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมัน 1 ใน 70 ห่างๆ ไปบ้างก็ไม่เป็นไรหรอก แต่สิ่งที่เราได้คือเราได้รู้จักมันแล้ว อย่างสึนามิ คราวหน้าถ้าเราเห็นน้ำทะเลมันลดฮวบฮาบปุ๊บ เราจะไม่มามัวเก็บหอยเก็บปลา คนก็จะไม่ตายเยอะละ

GM : คุณคิดว่ามีโอกาสเกิด Sinkhole หรือหลุมยุบขึ้นในกรุงเทพฯ เหมือนที่เกิดขึ้นในกัวเตมาลาได้ไหม เพราะมีบางคนเชื่อว่าน้ำมากขนาดนี้น่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของน้ำใต้ดินในพื้นที่ของกรุงเทพฯ

ศศิน : ไม่เกี่ยวกันครับ ปกติหลุมยุบนั้นจะเกิดในพื้นที่ที่พื้นดินมีชั้นหินเป็นหินปูนหรือเป็นชั้นเกลือที่สามารถละลายได้ด้วยน้ำ แต่ในชั้นใต้ดินของกรุงเทพฯ ไม่ใช่หินปูน จริงๆ แล้วผมคิดว่าน่าจะส่งผลดีกับกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ เพราะระดับน้ำใต้ดินที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้อัตราการยุบตัวของพื้นดินในกรุงเทพฯ ลดลง

GM : คุณคิดว่าสังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์คราวนี้บ้าง

ศศิน : ไม่แน่ใจว่าเราจะเรียนรู้อะไรหรือเปล่า เพราะเราเป็นสังคมที่ไม่ค่อยจะเรียนรู้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดและดีมาก คือคนไทยมีน้ำใจ พร้อมที่จะช่วยกัน ถ้าหากเราใส่ความรู้ไปกับน้ำใจ เช่นจะช่วยอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ประสานกับชุมชนอย่างไร มันจะดีมาก อย่างน้ำท่วมคราวนี้ ผมได้เห็นชุมชนที่เตรียมตัวกับไม่เตรียมตัว พวกที่เตรียมตัวก็จะมาช่วยกันคิดว่าถ้าหากน้ำมาถึงตรงนี้เขาจะทำอย่างไร ถ้าขึ้นสูงมาอีกเขาจะทำอย่างไร เขาไปรวมกันที่ไหน ชุมชนมีเรือกี่ลำ มีอาหารอยู่ได้กี่วัน ซึ่งผมว่าชุมชนแบบนี้รอด แม้ว่าเขาจะวางแผนผิดเขาก็จะรอด เพราะพวกเขาจะมีกลไกในการช่วยเหลือกัน มีคนจัดการ ผมว่าถ้าสังคมไทยได้เรียนรู้แบบนี้ก็โอเค แต่บางชุมชนไม่คุยกัน รอให้น้ำมาก็ทำอะไรไม่ทันแล้ว แต่ละคนก็อยู่ตามชะตากรรม แบบนี้ต้องอพยพ เพราะอยู่แล้วไม่รอด

GM : เหตุการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนภาคเอกชนและภาคประชาชนตื่นตัวและเข้มแข็งมากกว่าภาครัฐ คุณคิดว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไร

ศศิน : ก็เป็นอย่างนั้น จริงๆ บางครั้ง

เรื่องที่ผมออกมาพูด ผมว่าหลายเรื่องเขารู้กันอยู่แล้วนะ ผมยังเขินๆ เลยเวลาพูดอะไรออกไป โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการอย่างนายช่างต่างๆ ที่ทำงานหน้างานพวกนี้เขารู้ แต่บางทีผู้บริหารไม่รู้หรอก บางทีที่ผมพูดเพราะใจจริงอยากให้เกิดกระแสบ้าง ให้เขาเห็นว่ามันมีช่องอยู่ บางทีข้าราชการเขาไม่กล้าชงเรื่องแบบนี้หรอก เราก็ต้องชงบ้างเพื่อให้เกิดกระแส เพราะบางเรื่องมันอาจจะขัดต่อกฎหมาย หรือเป็นการทำงานข้ามหน่วยงาน อย่างเรื่องลอกคลอง

ที่พูดเพราะอยากให้กรมชลประทานนั่นละออกมาทำ เพราะกรมชลประทานมีหน้าที่ระบายน้ำและมีงบประมาณ ถึงอำนาจหน้าที่ในการขุดลอกอยู่ที่กรมเจ้าท่า แต่กรมเจ้าท่าไม่ได้เป็นเจ้าภาพในการระบายน้ำ เขาไม่มีงบประมาณ กรมเจ้าท่าไม่มีความสามารถในการทำสิ่งนั้น ผมก็พูดลอยๆ เพื่อไปสะกิดผู้มีอำนาจ ว่าสิ่งที่รัฐควรทำก็คือทำอย่างที่ท่านนายกฯ บอกอยู่ตลอดเวลา คือแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ซึ่งหากมองโครงสร้างของปัญหาออกว่ามันเป็นอย่างนี้ ก็จะแก้ปัญหาได้

ราชการเขาทำงานหน้างาน – ไปโทษเขาไม่ได้หรอก เราถึงต้องมีรัฐบาล เราถึงต้องมีนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อมาช่วยประสานงาน เพื่อให้ข้าราชการเขาทำงานได้ ข้าราชการเขาต้องทำตามกฎหมาย เราจะไปโทษว่า ข้อติดขัดต่างๆ มาจากราชการอย่างเดียว ผมไม่เห็นด้วยนะ นายกฯ นั่นล่ะต้องเคาะทั้งหมด หากว่ามันต้องทำงานข้ามกระทรวงกัน

ผมว่าเราต้องมองในแง่ดีของระบอบประชาธิปไตยว่าเขาจะไม่อยู่ตลอดไป ปัญหาของสังคมไทยคือเราขาดผู้นำที่เป็นผู้นำจริงๆ ที่สามารถจุดประกายความหวังให้กับประชาชนได้

ปี 2531 บ้านกะทูน อำเภอพิปูน เคยถูกดินโคลนถล่ม น้ำพัดพาเอาซุงจำนวนมากจากบนเขามาถึงหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ราบเชิงเขา ภายในคืนเดียวหมู่บ้านโดนพัดหายไป 4 หมู่บ้าน และบางพื้นที่มีโคลนและซุงสูงถมกันกว่า 3 เมตร ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อน 2 เขื่อนเพื่อป้องกันน้ำหลากเช่นในอดีต

GM : ถ้าอย่างนั้นพูดได้ไหมว่า รัฐบาลนี้ล้มเหลวในการทำงานครั้งนี้

ศศิน : คือ…เอาจริงๆ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรจากนายกรัฐมนตรีคนนี้อยู่แล้วไง ตอนแรกก็มีบ่นๆ ตามเฟซบุ๊คบ้าง แต่หลังๆ ก็เริ่มเข้าใจว่า คนที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่มีทั้งความรู้ ความมุ่งมั่น เรียกว่าความครบเครื่องไม่มี ประสบการณ์ก็ไม่มี แล้วเราจะไปว่าเขาทำไม เราจะเอาน้ำไปรดตอไม้โดยหวังจะให้มันงอกใบออกมาใหม่ทำไม มันเป็นไปไม่ได้ มันเสียเวลา เสียพลังงาน ความรู้ความสามารถเขาอาจจะมีจำกัด เขาอาจถนัดเรื่องกลไกการบริหารงานธุรกิจ หรือกลไกทางการเมืองเพื่อภารกิจเฉพาะบางอย่างมากกว่า

แต่จะทำอย่างไรได้ ประชาชนเลือกเข้ามาแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร ผมว่าเราต้องมองในแง่ดีของระบอบประชาธิปไตยว่าเขาจะไม่อยู่ตลอดไป เขาเข้ามาเป็นสมัยหนึ่ง สมัยหน้าเขาก็มีสิทธิ์ที่จะถูกเลือกหรือไม่ถูกเลือกก็ได้ ปัญหาของสังคมไทยคือเราขาดผู้นำที่เป็นผู้นำจริงๆ ที่สามารถจุดประกายความหวังให้กับประชาชนได้ ดูอย่างเวลาเลือกตั้ง เวลาเขาหาเสียง เราจะเห็นโครงการโน่นนี่เต็มไปหมด แต่เราไม่ได้ดูเลยว่าใครคนไหนที่เวลาชาติเกิดวิกฤติแล้ว เขาจะเป็นผู้นำเราในการปกป้องให้เราอุ่นใจ ไม่สำคัญหรอกว่าเราจะแพ้หรือชนะ

ในสงครามครั้งนี้ มันสำคัญว่าผู้นำจะทำให้ประชาชนหรือทหารกล้าแค่ไหน ถ้ามันไม่กลัวเสียอย่าง จะตายมันก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะรู้สึกว่า เออ…ฮึกเหิมน่าต่อสู้ หรือถ้าไม่สู้ก็บอกกันมาตรงๆ ว่าถอยนะ หนีไปก่อนเดี๋ยวผู้นำจะสู้เอง เออ…แสดงว่าผู้นำรักเราจริง แต่นี่กลายเป็นว่า สู้ได้ไม่ได้ก็ไม่รู้ แถมยังไม่บอกให้เราหนีอีก อันนี้มันก็แหม…นะ

GM : คิดว่ารัฐควรเตรียมการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดตามมาหลังน้ำลดอย่างไรบ้าง

ศศิน : ปัญหาใหญ่เลยที่รัฐต้องเตรียมการก็คือเรื่องปัญหาสังคมที่จะตามมา การเรียกร้องค่าเสียหาย ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการจ่ายค่าทดแทน การตรวจสอบเงินต่างๆ ที่รัฐบาลนำไปใช้ในช่วงน้ำท่วม ซึ่งสามารถนำไปสู่ประเด็นทางการเมืองได้ ผมว่าหากรัฐบาลจัดการได้ไม่ดี มีสิทธิ์ที่จะลุกลามขยายตัวเป็นปัญหาสังคมครั้งใหญ่ ส่วนเรื่องการลงทุนในเรื่องการซ่อมแซมอะไรพวกนั้น ผมว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำอยู่แล้ว

หลุมยุบในกัวเตมาลาเป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2551 หลุมดูดเอาบ้านนับสิบหลัง และมีคนเสียชีวิตไป 3 คนที่ถูกดูดจมหายลงไปในแผ่นดิน นักวิทยาศาสตร์

วัดความลึกของหลุมนี้ได้ถึง 100 เมตร

GM : ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนบทบาทของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร จะไม่เกี่ยวกับเรื่องน้ำเลย การกระโดดเข้ามาทำเรื่องนี้ เป็นการส่งสัญญาณอะไรไหม

ศศิน : ไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยวกันเลย ที่เราคุยกันในมูลนิธิฯ ก็คือเรามองว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของชาติ และมูลนิธิสืบฯ เองก็เป็นองค์กรสาธารณะ เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงองค์กรหนึ่ง พอมีเรื่องใหญ่ขนาดนี้ เราจะไปทำแบบรับบริจาคของมันก็คงไม่ใช่ ต้องทำอะไรสักอย่าง แล้วผมรู้สึกว่า เว็บไซต์ของมูลนิธิฯ เรา หรือระบบโซเชียลมีเดียของเราถือเป็นสื่อที่ค่อนข้างได้รับความนิยมเยอะอยู่แล้ว เราจึงใช้โอกาสนี้ในการเผยแพร่ จริงๆ ต้องบอกว่ามูลนิธิสืบฯ ไม่ได้แตะหรอก ผมทำส่วนตัว แล้วก็วานน้องๆ มาช่วยมากกว่า

โดยใช้เครื่องมือที่เรามีอยู่ในการทำมันขึ้นมา จริงๆ มันแค่เป็น ‘การเสือก’ ของผมมากกว่า คือผมก็ไม่ได้โนเนมเรื่องน้ำนักหนาหรอกนะ ก่อนหน้านั้นผมก็เป็นตัวแทนของมูลนิธิฯ อยู่ในคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์เรื่องผลกระทบเรื่องแหล่งน้ำอยู่ 8 ปี และดูเรื่องสิทธิเกี่ยวกับน้ำของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่นาน ก็อยู่ในแวดวงนี้ คลุกคลีอยู่กับปัญหา เข้าใจการทำงานกับข้าราชการอยู่พอสมควร รู้ว่าเขาทำงานกันอย่างไร เพียงแต่ว่าผมไม่ได้ทำงานโดยตรงเท่านั้น

GM : คุณทำงานกับมูลนิธิสืบฯ มานานเท่าไหร่แล้ว

ศศิน : ผมอยู่ที่นี่ 8 ปี ก่อนหน้านั้นผมเป็นอาจารย์สอนหนังสือ แต่ก็อยู่ในแวดวงของการทำงานเอ็นจีโอมาโดยตลอด การเข้ามาทำงานในมูลนิธิสืบฯ ชีวิตผมไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก…ต้องบอกว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาชีวิตแทบไม่เคยเปลี่ยนเลย ตั้งแต่โตมาเป็นวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ ผมก็ใช้ชีวิตแบบนี้เหมือนเดิม เพียงแต่เมื่อก่อนเราได้รายได้จากการรับจ้างสอนหนังสือและหาเวลาไปทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ตอนนี้เราเปลี่ยนจากงานรองมาเป็นงานหลัก ก็ยิ่งง่ายขึ้นเพราะชอบอยู่แล้ว จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมเข้ามาดูในฐานะ Project Manager เข้าไปดูเรื่องการจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management) ของคนในผืนป่าตะวันตก เขาไม่มีคนมาดูโปรเจ็กต์นี้ แล้วเผอิญว่าผมเป็นคนที่เหมาะสม เพราะอายุกำลังดี เดินป่าได้ ประชุมได้ มีความรู้พอที่จะจัดการความซับซ้อนทางการเงิน บุคลากร มีความรู้มากพอ มีวัยวุฒิ คุณวุฒิมากพอ อายุไม่มากไปน้อยไป ผมก็เลยถูกมูลนิธิฯ เลือกมา

GM : หลายคนอาจไม่ทราบว่ามูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำอะไรบ้าง

ศศิน : เราทำงานในสองสามเรื่อง เราโฟกัสตัวเองที่ห้วยขาแข้งและพื้นที่ป่าโดยรอบที่เราเรียกว่า ผืนป่าตะวันตก มีปัญหาอะไรเราก็จะไปทำทุกอย่างที่สนับสนุนกรมอุทยานแห่งชาติและกรมป่าไม้ในการรักษาป่าตะวันตก

เขามีปัญหาอะไร คนมีปัญหาอะไร เราก็พยายามเข้าไปช่วยเหลือ ตั้งแต่แจกรองเท้าเดินป่า เป้เดินทาง ข้าวสารให้ผู้พิทักษ์ป่า ไปจนถึงขั้นว่าสนับสนุนเงินให้ทำรั้วกันช้างป่า นั่นคือบทบาทของเรา รวมถึงดูแลเรื่องชุมชนที่อยู่กับป่า เพราะว่ามีความขัดแย้งกับรัฐมาก ในแง่ที่ว่ารัฐไปประกาศพื้นที่เป็นอุทยานกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทับชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมของเขา แล้วก็กลาย

เป็นว่าเขาอยู่อย่างผิดกฎหมาย แล้วก็มีนโยบายที่จะเอาเขาออกจากป่า

ซึ่งทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ก็เกิดความขัดแย้งกัน เดินเจอหน้ากันจะยิงกันท่าเดียว มันก็ไม่เกิดผลดีกับการอนุรักษ์ แต่ชาวบ้านก็ไม่ใช่ว่าถูกเสมอ

เพราะเขาก็รุกป่าตลอด เป็นความขัดแย้งที่มันลึกซึ้ง มูลนิธิสืบฯ ก็ลงไปทำงานเรื่องจัดการความขัดแย้งนานกว่าสิบปี ที่ผ่านมาทำให้คนกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้อยู่กันได้ แล้วก็ไม่ขยายเข้าไปในพื้นที่ป่าอีก เราหาทุนมาทำงานนี้มาเจ็ดแปดปีแล้ว ผมเองเป็นผู้จัดการโครงการนี้

เพิ่งเปลี่ยนคนจัดการโครงการไปไม่นาน เพราะงานยากๆ มันเสร็จแล้ว ตอนนี้ก็เหลือผลักดันให้มันเป็นนโยบายว่า หากทั่วประเทศจะใช้การแก้ปัญหาแบบนี้เป็นโมเดลก็น่าจะดี อันนี้คืองานของเราในด้านป่าตะวันตกงานด้านอื่นๆ ก็มีงานในระดับที่ใหญ่กว่านี้ อย่างงานในระดับชาติ เรามีทุนช่วยเหลือพวกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เราตั้งเป็นกองทุนผู้พิทักษ์ป่ามา 21 ปีแล้ว ช่วยคนไปเป็นร้อย ส่งเด็กที่พ่อเขาเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ตอนนี้ก็สามสิบสี่สิบคน ตั้งแต่เขาอยู่ชั้นเด็กเล็ก ไปจนจบปริญญาตรี

นี่คือหาเงินช่วยทั้งประเทศเลย อีกบทบาทหนึ่งก็คือโครงการที่มีผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า อย่างทำเขื่อนหรือการตัดถนนเข้าไปในเขตป่า เปลี่ยนกฎหมายให้เช่าอุทยาน ทำท่าเรือปากบารา เรื่องพวกนี้เราก็ไม่ยอมหรอก คัดค้านด้วยวิธีไหนได้ผมเอาหมด นี่คือบทบาทของเอ็นจีโอแบบสืบฯ ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมคราวนี้

GM : คุณคลุกคลีกับงานด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด อะไรคือปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยที่คุณคิดว่าน่าเป็นห่วงที่สุด

ศศิน : ถ้าถามเรื่องความน่าเป็นห่วง ก็คงเป็นเรื่องของพื้นที่ป่าสงวนอย่างกรณีของวังน้ำเขียว มันเห็นชัดว่ากลไกของการดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชมันเอาอยู่ ถึงจะมีปัญหาบ้างกับชุมชนกับชาวบ้าน แต่ก็ค่อยๆ คลี่คลายกันไป น่าจะช่วยรักษาไว้ได้อย่างน้อยๆ ก็ 60-70 เปอร์เซ็นต์ วิธีการจัดการของรัฐก็คือ มีซีอีโอคนหนึ่ง คือหัวหน้าอุทยานนี่ล่ะ แล้วก็มี

ลูกน้องเกือบร้อยคนในการดูแลเฉพาะพื้นที่หนึ่ง มีงบประมาณที่แน่นอน

แต่กับการดูแลป่าสงวนมันไม่ใช่เลย พื้นที่ป่ามันกว้างใหญ่ไพศาล มีหน่วยงานเล็กๆ หน่วยหนึ่ง ไม่มีขอบเขตการทำงานที่ชัดเจนว่าทำงานตรงไหน มีทรัพยากรทั้งบุคคลทั้งเงินแค่ไหน แล้วตัวผู้คนสาธารณชนก็เกิดไปมีแนวคิดแฟชั่นกันว่า ถ้าไม่ใช่ป่าอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็สามารถครอบครองได้ เพราะตัว พ.ร.บ. ป่าสงวน มันสามารถให้เช่าได้ ดังนั้น

ในที่สุดป่าสงวนก็จะหมดไป

วันนี้ป่าอนุรักษ์มีอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ป่าสงวนมีประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมด 33 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทย ดังนั้น ป่าอนุรักษ์ยังเอาอยู่ แต่ป่าสงวนนี่อีกไม่นานมันอาจจะหมดไปภายในไม่กี่ปีนี้ถ้าการจัดการยังเป็นแบบนี้ แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะจัดการอย่างไร จะให้เป็นป่าอุทยานทั้งหมดก็ไม่ถูก เพราะคุณสมบัติมันไม่ใช่อุทยาน มันไม่สวย แต่มันเป็นป่า ซึ่งพอมันไม่สวยก็ไม่ได้รับการจัดการ นี่คือปัญหาใหญ่ที่ผมเห็น

ปัญหาที่สองคือ ผมเสียดายหาดทราย ทุกวันนี้หาดทรายทางภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย มันหมดไปเรื่อยๆ จากการสร้างเขื่อนกั้นตะกอน ซึ่งปกติมันจะงอกออกเป็นสันดอน เป็นจะงอยติดปากอ่าว จะต้องไปขุดลอกออกทุกปี เรือถึงจะออกได้ เขาไปทำเขื่อนกั้นให้ทรายมันมาถมอยู่หน้าเขื่อน เพื่อให้เรือเข้า-ออกกันสบาย ไม่ต้องขุดลอก แต่งบประมาณตัวนี้

มันมากกว่าการขุดลอกไม่รู้กี่ปี

การดักตะกอนทำให้กระแสน้ำชายฝั่งเปลี่ยน และไปกัดเซาะบ้านของชาวประมงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำ แต่เพราะอยู่ห่างออกไปสักห้ากิโลเมตรสิบกิโลเมตร ชาวบ้านเขาจึงไม่มีทางรู้หรอกว่าทำไมน้ำทะเลมากัดเซาะบ้านเขาทุกวัน ดังนั้น หน่วยงานเดิมนี่ล่ะก็มาเสนอว่าจะทำโครงสร้างหินทิ้ง หรือโครงสร้างเขื่อนดักตะกอน เพื่อให้หน้าบ้านคุณมีทรายต่อ มันก็เลยกลายเป็นองค์กรที่ไปสร้างปัญหา แต่กลับมาเป็นพระเอก

แล้วก็ทำโครงการต่อเนื่องไม่สิ้นสุด นอกจากคุณไปทำลายหาดทรายแล้ว คุณยังทำลายภูเขาเพื่อจะเอาหินมาถม พอถึงฤดูมรสุม หินคุณก็โดนเซาะลงทะเลไป คุณก็ต้องไประเบิดหินใหม่อีก ทั้งๆ ที่ถ้าคุณยอมไปรื้อเขื่อนตัวนั้นแล้วขุดลอกมันประจำปีเหมือนเรากวาดบ้านถูบ้าน ระบบทุกอย่างก็จะกลับสู่สมดุล ส่วนมันจะโลกร้อน น้ำเสียสมดุล อันนั้นมันอีกปัญหาหนึ่ง อย่าเอามาปนกัน มันเกิดอย่างนั้นก็เกิดอย่างนั้น มันเป็นเรื่องระดับโลก แต่นี่มันเป็นเรื่องที่รู้ทั้งรู้ว่าเกิดปัญหานี้ แต่คุณก็รับนโยบายให้ทำต่อไป ผมเห็นสองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันถูกทำลายไปด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้

GM : นโยบายของรัฐบาลที่จะถมทะเลและสร้างเขื่อนกั้นน้ำ คุณคิดว่าจะได้ผลไหม

ศศิน : ผมไม่ทราบ แต่ถามว่าเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้ถ้าคุณมีเงิน ถ้าคุณอยากทำ

ก็ทำไปเลย ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าแม่น้ำสายหลักที่ปกติน้ำต้องลงทะเล เขาจะไปลงที่ไหน แล้วน้ำที่จะขึ้นจะลงตามธรรมชาติจะเป็นยังไง เขาก็บอกว่าจะมีประตูน้ำปิด-เปิด เลียนแบบธรรมชาติก็ว่ากันไป มันเกินความรู้ผม แต่แค่คิดผมก็เบื่อแล้ว คือเราไม่อยากเห็น แค่เขื่อนกั้นหาดทรายผมยังไม่อยากเห็นเลย แล้วคุณรู้หรือเปล่าว่า ในพื้นที่ที่น้ำทะเลหนุนขึ้นมานี่ วันนี้มีประมงรายย่อยอยู่มากมายที่เขาอยู่ได้ด้วยการทำประมงท้องถิ่น ครอบครัวที่เขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่คุณจะไปสร้างกำแพงกั้น แล้วไม่รู้ว่าผลกระทบอะไรจะเกิดขึ้น สิทธิของคนที่เขาอยู่กับหาดโคลนตรงนี้ล่ะ คนที่คิดนี่รู้จักการทำมาหากินของคนทำประมงแบบนี้หรือเปล่า รู้จักปูก้ามดาบไหม คุณรู้จักทะเลมากน้อยแค่ไหน ทะเลของคุณคือวิวที่คุณเอาไว้มองออกไปจากหน้าต่างโรงแรม รู้จักแค่นั้นใช่ไหม คุณรู้ไหมว่าทะเลที่อุดมสมบูรณ์คือทะเลที่มีโคลน ไม่ใช่ทะเลที่เป็นหาดทราย ตัวแหล่งผลิตสารอาหารคือหาดโคลน เรากลัวแค่ว่ากลัวน้ำทะเลจะขึ้น แล้วจะไปทำเขื่อน ผมไม่รู้ว่ะ มันเกินกว่าสิ่งที่เราจะตัดสินใจได้ มันไม่ใช่เรื่องหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองแล้วละ

คิดกลับกัน หากว่าพื้นที่แถบนี้จะกลายเป็นทะเลจริงๆ มันยังเป็นแผ่นดินไทยอยู่ไหม ฉะนั้นถ้ามันจะเปลี่ยนเป็นทะเล แล้วเราค่อยๆ ขยับเมืองหลวงร่นขึ้นมามันจะเป็นไรไหม ไม่รู้นะ ผมว่ามันอาจจะดีกว่าก็ได้ มันอาจจะทำได้ เราลองนึกดูว่าโลกมีน้ำอยู่ประมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ น้ำแข็งบนโลกมีอยู่ราว 2 เปอร์เซ็นต์ มีพื้นดินอยู่นิดหน่อย มีน้ำจืดอยู่นิดหน่อย ถ้าน้ำแข็ง

ขั้วโลกมันละลาย มันก็เหมือนกับน้ำแข็งสองก้อนมันละลายในกะละมัง แล้วมันจะทำให้น้ำท่วมสูงทั้งกะละมังเลยเหรอ มันอาจจะท่วมก็ได้ หรือว่าจะเป็นอย่างอื่นไปก็เป็นได้ เพราะสเกลมันใหญ่มาก เราไม่มีทางรู้ ผมไม่อาจหาญไปคิดแทนเขา แต่ในแง่ที่เราเป็นนักธรรมชาตินิยม ผมรู้สึกว่าถึงโลกมันจะร้อนขึ้นจริง น้ำทะเลขึ้นจริง มันก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาติที่มันปรับตัว

ถ้าเราเป็นมดเป็นปลวก เราก็ขยับหนี ส่วนไอ้เรื่องการจัดการที่ดินเรื่องโฉนด อันนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ มันเป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ในประวัติศาสตร์โลก เมืองใหญ่ๆ หลายแห่งก็ถูกย้าย

มาแล้วทั้งนั้น ด้วยภัยธรรมชาติ ด้วยแม่น้ำเปลี่ยนทิศ อย่างทะเลน้ำขึ้น คิดว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นหรือ มันก็เคยเกิดขึ้นเมื่อสมัยพันถึงสามพันปีที่แล้ว

ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องใหญ่หากมองในสเกลของธรณีวิทยา ที่มนุษย์จะขยับหนีภัยธรรมชาติ แต่ถ้าหากมองในช่วงชีวิตของคนเรามันอาจจะดูเป็นเรื่องใหญ่มาก แค่คิดเรื่องโฉนดที่ดินของเราที่บางขุนเทียนจะจมน้ำไปก็เครียดแล้ว แต่ผมไม่ได้หมายถึงว่าผมไม่แคร์ใครนะ เราแค่มองในสเกลของธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือธรรมชาติ ผมเพิ่งเข้าใจตอนสึนามิมาเนี่ยว่า

ผมไม่เห็นด้วยทั้งเรื่องของการปรองดองหรือว่าสมานฉันท์ เพราะทุกปัญหามันมีรากของมันชัดเจนว่าคืออะไร เราต้องไปแก้ที่รากของมันว่ามันคืออะไร อยู่ดีๆ คนโกรธกันจะเป็นจะตาย ให้มาจับมือกันแล้วบอกลืมๆ ไปซะ

มนุษย์เราตัวเล็กมากแค่ไหน เราเหมือนมดเลยละ เหมือนมีใครทำน้ำหกไปบนรังมด เราโคตรกระจอก ผมน่ะเป็นพวกไม่สู้ ใครจะสู้ก็สู้ไป

GM : ในฐานะที่คุณทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอด มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์มากน้อยแค่ไหน

ศศิน : ก็มี แต่ผมว่ามันอยู่ที่เราต้องใช้ให้เป็น ผมดีใจที่เรามีกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนะ เพราะแต่เดิมงานอนุรักษ์มันเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเขามีหน้าที่สร้างเขื่อน แต่พอมีกระทรวงทรัพย์ฯ เขามีหน้าที่ต้องค้าน หากเมื่อไหร่ที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ กับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ มาจากคนละพรรคนี่ สนุกเลย พวกผมมีลุ้น เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อนผมไม่มีสิทธิ์เลย เพราะมันเป็นคนคนเดียว แล้วยิ่งเมื่อก่อนกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ดันอยู่ในกระทรวงเดียวกับกรมชลประทาน การต่อต้านมันยากมาก

ถ้าเราหยิบใช้การเมืองให้ถูก มันก็ใช้ได้ทั้งนั้น อย่างคนที่ทำให้โครงการของเราก้าวหน้าที่สุดก็เป็นรัฐมนตรีที่มาด้วยวิธีการแปลกๆ อย่างคุณอนงค์วรรณ เทพสุทิน เราก็รู้ว่าคุณอนงค์วรรณ

ไม่ได้มีความรู้เรื่องป่า เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ผมมั่นใจว่าคนอย่างคุณอนงค์วรรณซึ่งอยู่กับการเมืองท้องถิ่นมายาวนาน เข้าใจเรื่องมิติความขัดแย้งของคน เราก็เอาปัญหาเรื่องคนไปนำเสนอ และเสนอวิธีการแก้ปัญหา เรากำลังทำอยู่ แน่นอนว่าคุณอนงค์วรรณต้องรับ พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับอธิบดีส่วนมากที่ทำงานด้านป่าไม้ เขาอาจจะไม่เข้าใจมิติเรื่องคน คุยให้ตายอย่างไรก็ไม่มีทางทำงานได้ แต่พอคุยกับคนที่มีอำนาจเคาะ ซึ่งเข้าใจเรื่องคน และเราก็เอาป่าด้วย งานก็ไปได้ การเมืองบางครั้งมันก็ช่วยเราได้ อย่าลืมว่าผมถูกจ้างมาเพื่อทำงานในเรื่องของการจัดการความขัดแย้ง โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่อยู่กับความขัดแย้งได้ ผมเป็นนักอนุรักษ์ที่ดันไปเรียนธรณีวิทยา ซึ่งเขาเอาความรู้พวกนี้ไปทำเหมืองกัน แต่ผมก็ดันไปทำงานด้านการตรวจสอบเหมืองในคณะกรรมการสิทธิฯ พี่น้องธรณีฯ อาจจะไม่ชอบผมบ้าง แต่ผมไม่สนใจ เพราะผมถือว่าผมกำลังยกระดับวิชาชีพธรณีวิทยา อาจจะไม่ถูกใจใครบ้าง ก็ว่ากันไป

GM : แล้วมองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเราซึ่งเกี่ยวพันกันไปอย่างซับซ้อนอย่างไร คุณคิดว่าจะมีทางออกสวยๆ บ้างไหม

ศศิน : ผมไม่เห็นด้วยทั้งเรื่องของการปรองดองหรือว่าสมานฉันท์ เพราะทุกปัญหามันมีรากของมันชัดเจนว่าคืออะไร เราต้องไปแก้ที่รากของมันว่ามันคืออะไร อยู่ดีๆ คนโกรธกันจะเป็นจะตาย ให้มาจับมือกันแล้วบอกลืมๆ ไปซะ เราไม่ใช่เด็กๆ เราต้องไปดูถึงรากของมันว่ารากลึกๆ คืออะไร

รากลึกๆ ของความเชื่อหนึ่งคือเรื่องของคุณทักษิณคอร์รัปชั่น นั่นก็เป็นรากหนึ่ง ลึกกว่านั้นก็มีอีกรากหนึ่ง ลึกกว่านั้นก็มีอีกรากหนึ่ง ต้องประเมินว่าคุณจะไปแก้ตรงรากไหนก่อน เพื่อให้อาการของความขัดแย้งที่มันปรากฏอยู่บนยอดเขาน้ำแข็งนั้นค่อยๆ หายไป เคลียร์เป็นเรื่องๆ ไป หรือเสื้อแดงที่ขึ้นมา

แรงๆ มันมีอะไรเป็นรากบ้าง มีเรื่องอะไรบ้าง มีกี่องค์ประกอบที่อยู่ในรากลึกของลึกของลึก มันจะไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ถึงก็แล้วแต่ เหมือนเราโกรธกับเพื่อนสักคน ที่มีความหลังฝังใจกับผมมานาน ผมก็ต้องไปเคลียร์ความหลังฝังใจอันนั้น ไม่ใช่บอกว่าให้ลืมไปซะแล้วมาเริ่มกันใหม่ มันไม่ได้ เราต้องกลับไปคุยว่าคุณรับกันได้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็ดูกันว่าจะแก้กันยังไง ผมว่าไม่ต้องรีบหรอก หลบไปสักช่วงหนึ่ง แล้วผมว่ามันก็ต้องมีทางออกสักอย่างให้เราเห็น เพราะช่วงที่ตึงมากๆ แบบนี้ มันทำอะไรมากไม่ได้หรอก

GM : อุทกภัยที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะยิ่งขีดเส้นแบ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายมิติ คุณคิดว่าจะลุกลามรุนแรงขนาดการปฏิวัติดอกมะลิแบบในตะวันออกกลางได้ไหม

ศศิน : คิดว่าไม่ ความกดดันในสังคมมันไม่มากพอ ผมเดินทางมาทั่วประเทศ ผมว่าคนไทยเราอยู่กันแบบสบายน่ะ มีเงินไม่มีเงินเราก็เฮฮาได้ คนไม่ได้ซีเรียส ไม่ได้ยึดติดกับอุดมการณ์ทางการเมืองมากมายนัก นอกจากถูกปลูกฝังบางเรื่อง แต่ลึกๆ เราไม่ใช่คนที่จะมาทำอะไรรุนแรง มันพ้นจากยุคที่เผด็จการกดขี่เขามากๆ เหมือนในยุค 14 ตุลา หรือ 6 ตุลามาแล้ว สังคมคลายตัวตั้งแต่พลเอกเปรมกับคุณชาติชายเขาสลายขั้วกัน ความเหลื่อมล้ำมันก็มี แต่มันก็ไม่ได้มีมากถึงขนาดที่ข้าราชการไปเก็บภาษีขูดรีดหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการกระทำจากรัฐ ผมว่าตรงข้ามนะ

มีแต่จะเอาโครงการไปประเคนให้ชาวบ้าน คนไม่ได้ถูกกดดันแล้วมันจะไปเกิดแบบนั้นได้อย่างไร คนในตะวันออกกลางที่เขาลุกฮือขึ้นมาเพราะถูกกดดันถึงขั้นที่เรียกว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างนั้นมากกว่า เขาเรียกร้องหาเสรีภาพ ถามว่าคนไทยไม่มีเสรีภาพตรงไหนเหรอ (หัวเราะ) เราโคตรมีเสรีภาพเลยล่ะ ขนาดจะปิด-เปิดประตูระบายน้ำไม่ให้น้ำท่วมบ้าน เอาปืนสองสามกระบอกออกไปกดดันอำนาจรัฐได้เลยนะ จะมีประเทศไหนที่ประชาชนมีเสรีภาพเท่าเราอีกไหม โคตรเสรีเลย ถึงสุดท้ายตกลงกันไม่ได้เราก็อยู่กันไป เป็นประเทศที่น่ารัก

เราก็คงอยู่กันไปแบบนี้ จนกว่าเราจะได้ผู้นำที่มาจุดประกายหรือมีแรงบันดาลใจให้ประชาชนมีจุดอะไรบางอย่างร่วมกันแล้วทำให้ประชาชนมีปัญญาแยกแยะออก ที่ผ่านมาผมว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นผู้นำที่มีโอกาสสูงมากที่สุดที่จะทำได้ แต่ขาดมิติที่แกไม่เคยเป็นเด็กบ้านนอก ถ้าคุณอภิสิทธิ์เติมอันนี้อีกนิดเดียว คุณอภิสิทธิ์จะแก้ปัญหาชาวบ้านได้สบาย และผมไม่แน่ใจว่าคุณอภิสิทธิ์ทำงานหนักขนาดไหนก่อนที่จะเป็นนายกฯ ถ้าเกิดคนที่เป็นผู้นำ มีเวลาทำครอบครัวอบอุ่นไปส่งลูกเรียนหนังสือ ยังทำหน้าที่ของคุณพ่อแบบมาสเตอร์พีซได้ ผมว่ายุ่งเหมือนกันนะ เพราะถึงเวลาหน้างานที่คุณต้องการจะเปลี่ยนอะไรสักอย่าง ผมรู้วิธีเดียวคือคุณต้องลงเกินร้อยหรือสองสามร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เป็นโอกาสเดียวเวลาเดียวที่คุณจะทำมัน ฉะนั้นคุณต้องแลกด้วยชีวิตที่คุณจะทำมัน

GM : คุณกำลังจะบอกว่าคุณอภิสิทธิ์ยังเตรียมตัวไม่ดีพอในการเป็นผู้นำ

ศศิน : ผมไม่รู้ว่าคุณอภิสิทธิ์คิดแบบนี้หรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่าวันที่คุณอภิสิทธิ์มาเป็นนายกฯ คุณอภิสิทธิ์ทำ แต่วันที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเตรียมแผนระยะยาว เพื่อที่จะเปลี่ยนทั้งประชาธิปัตย์และเปลี่ยนทั้งประเทศไทย คุณอภิสิทธิ์เตรียมตัวแค่ไหน ทั้งๆ ที่คุณรู้อยู่แล้วว่าคุณมีโอกาสแน่ๆ ในวันข้างหน้า ฉะนั้นคุณอาจต้องเตรียมตัวกว่านี้ และที่สำคัญคือคุณทำงานคนเดียวไม่ได้หรอก คุณต้องสร้างทีม ความสำเร็จของเราในการจัดการป่าตะวันตก อย่างหนึ่งคือเรามีทีมที่ดี เราทำงานกันเป็นทีม

เราคัดเลือกตัวจริงเข้ามาทำงานในพื้นที่ กว่าเราจะสร้างทีมขึ้นมาถึงขนาดได้รับรางวัลคนค้นฅน เป็นที่ยอมรับจากสังคม เราเสียเงินสำหรับการพัฒนาบุคลากรไปไม่น้อยนะ ผมชอบการทำงานของคุณทักษิณอย่างหนึ่ง คือการมีเวิร์กช็อป มีแผนปฏิบัติการ คนทำงานอยู่ด้วยกันต้องเวิร์กช็อปกันบ่อยๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นเป้าตรงกันก่อน นี่เป็นหลักของการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ แต่คุณอภิสิทธิ์ผมไม่รู้ว่าเขามีไหม ทำไมเขาไม่มีทีมที่แข็งแรงแบบที่คุณทักษิณมี ทำไมเขาไม่มีทีมแบบที่พลเอกชาติชายเคยมี อะไรคือคลังสมองของคุณ อะไรคือวอร์รูมของคุณ อะไรคือทีมของคุณ ทีมที่มีวิสัยทัศน์คล้ายกับคุณ มีวิธีคิด มีฝันเดียวกับคุณ คนเหล่านี้ช่วยคุณได้ว่าจะเดินไปทางไหน เพราะนั่นคือความรับผิดชอบของคุณ ผมสงสัยว่าคุณอภิสิทธิ์มีวอร์รูมแบบนี้หรือเปล่า แต่สำหรับคุณปู-ยิ่งลักษณ์ ผมว่าคงมีแน่นอน ไม่อย่างนั้นใครจะเขียนบทให้เธอ

GM : ถ้าเป็นคุณล่ะ คุณจะยอมเปลี่ยนชีวิตตัวเองเพื่องานขนาดนั้นไหม

ศศิน : งานคืออันดับหนึ่งของชีวิตผมเสมอ

GM : แล้วครอบครัว ?

ศศิน : เราจัดการของเราได้ แต่เราไม่ได้เป็นผู้นำครอบครัวแบบมาสเตอร์พีซ ชีวิตครอบครัวผมห่วยแตกมาก แต่เราก็ไม่ได้ไปสร้างภาระให้ใคร เพราะเราก็เตรียมตัวเพื่อจะทำงานนี้ เราต้องไม่มีลูก เราต้องไม่มีภาระด้านอื่น เราต้องไม่มีหนี้

เพราะเราจะทำงานให้พี่สืบ เพราะผมรู้ว่าเวลาผมเข้าป่าไปแต่ละครั้งผมไม่เคยรู้เลยว่าผมจะมีชีวิตรอดออกมาหรือเปล่า งูกัดผมก็ออกมาไม่ได้แล้ว ก็คงตายอยู่ในนั้น แต่ผมรับแล้วไงว่าผมจะทำงานนี้ ถ้าผมไม่ทำแบบนี้ ผมก็คงให้คนอื่นมาทำแทน ในช่วงชีวิตของคนเรามันมีโอกาสดีๆ อยู่ไม่มากนักหรอก ผมจะมาเสียเวลาอยู่ไม่ได้ ถ้าผมจะมาทำ ผมก็ต้องแลกด้วยชีวิต งานการจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมในป่าตะวันตกที่เราทำกัน เจ้าหน้าที่ภาคสนามของเรารู้ดีว่าเราเข้าไปจัดการความขัดแย้ง เราพร้อมที่จะถูกโดนยิงตายได้ตลอดเวลา ซึ่งคนทำงานทุกคนเข้าใจ ทุกคนพร้อม และเกือบทุกคนมีปัญหากับครอบครัวหมด แต่ก็ต้องมองไปที่งาน เพราะสิ่งที่เราทำเป็นสเกลที่ใหญ่กว่าครอบครัว มันเป็นสเกลที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราได้ทำเขตอภัยทานให้

สัตว์ป่าเป็นล้านๆ ตัว เราได้เห็นผู้คนที่เคยเกลียดกันขนาดที่ว่ามองหน้ากันไม่ได้ แต่ทุกวันนี้นั่งกินเหล้าแบ่งปลากระป๋องกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ แล้วเราจะมานั่งกอดเมียกอดลูกอยู่ทำไม จะเลี้ยงหมาปุย มีสนามหญ้าหน้าบ้านไปทำไม มันมีความสุขอะไรเมื่อเทียบกับที่คุณเห็นคนที่เขาโกรธกันมาดีกัน คนเป็นร้อยได้ประโยชน์จากการเสียสละชีวิตส่วนตัวของเราเพียงคนเดียว

The Flood in 10 Years

หากดูจากข้อมูลที่มีการเก็บในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าประเทศไทยเราเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายครั้งด้วยกัน

• 2544 วันที่ 4 พฤษภาคม น้ำป่าไหลทะลักจากอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยทะลักเข้าถล่มอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่

เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 23 ราย ถือเป็นอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีของจังหวัดแพร่

• 2547 เดือนพฤษภาคมเช่นกัน เกิดฝนตกหนักจนเกิดน้ำป่าไหลหลากจากภูเขา พัดเอาซุงที่มีผู้ลักลอบตัดไม้ไหลลงมาตามแรงน้ำ ครั้งนั้นทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบกว่า 6,000 คน

• 2548 สิงหาคม ไม่มีใครลืมได้กับเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นการท่วมในรอบ 50 ปี และปลายปีเดียวกันก็เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งใน 8 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่นครศรีธรรมราชจนถึงยะลา มีผู้ได้รับความเดือดร้อนราว 1.6 ล้านคน มูลค่าความเสียหายนั้นสูงถึง 600 ล้านบาท

• 2549 เกิดเหตุการณ์ใหญ่สองครั้ง ครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคมในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีผู้เสียชีวิต 75 คน จากนั้นถัดมาในเดือนสิงหาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าถล่มบริเวณจังหวัดน่าน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านสูงขึ้นถึง 9.3 เมตร ซึ่งเลยระดับวิกฤติที่ 7 เมตร เป็นน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 43 ปีของจังหวัด

• 2553 เดือนพฤศจิกายน อีกครั้งกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้ บริเวณจังหวัดสงขลา กินพื้นที่ประสบภัยกว่า 16 อำเภอ มูลค่าการเสียหายราว 1,500 ล้านบาท โดยเฉพาะสวนยางและพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านนั้นสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศตามมา และล่าสุดเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอีกครั้งที่สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ประเมินกันว่ามูลค่าความเสียหายมากกว่า 2,000 ล้านบาท

ปรากฏการณ์ ‘ร้อนสลับหนาว’

หากยังจำกันได้ ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในเขตภาคเหนือและภาคกลาง

มีช่วงหนึ่งที่เกิดปรากฏการณ์ที่อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่านั่นมีส่วนเชื่อมโยงกับเหตุน้ำท่วมด้วย จรูญ เลาหเลิศชัย ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวไว้ในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาน้ำ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รายงานไว้ว่า “ฝนที่ตกในเขตจังหวัดภาคใต้

ในช่วงวันที่ 22-27 มีนาคมนั้น เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุม

ส่งผลให้มีฝนตกหนักมากกว่าค่าเฉลี่ยฝนในเดือนมีนาคมในปี 2553 ถึง 5 เท่า และสูงกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีของภาคใต้ถึง 2 เท่า ถ้าดูจากตัวเลข ถือเป็นเรื่องไม่ปกติครับ เพราะในปีที่แล้วภาคใต้มีฝนสะสมตลอดทั้งปี 125.38 มิลลิเมตร แต่ปีนี้ผ่านมาเพียง 3 เดือนกลับมีฝนสะสมถึง 481.39 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยฝน 30 ปีกว่า 200 มิลลิเมตร นี่จึงเป็นสาเหตุของน้ำท่วม

ฉับพลัน” จรูญยังบอกอีกว่า ฝนที่ตกมากกว่าปกติแบบนี้ มีผลเกี่ยวเนื่องกับอากาศที่หนาวเย็นฉับพลันทางตอนบนของประเทศอีกด้วย

Digiqole ad

บทความที่น่าสนใจ